“…ผู้ฟ้องคดี โดยผู้ว่าการการประปานครหลวง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองในชั้นต้น จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดี ทั้งนี้ ตามมาตรา 119 แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560…”
........................................
สืบเนื่องจากกรณีที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ลับที่ มท 0101/197 ลงวันที่ 5 มิ.ย.2567 เรื่อง การตรวจสอบการดำเนินงานของการประปานครหลวงในกรณีการจัดจ้างงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
โดยมอบหมายให้คณะกรรมการการประปานครหลวง (บอร์ด กปน.) ดำเนินการ ดังนี้
1.เร่งรัดการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ หากพบว่าผู้ใดกระทำความผิด ขอให้ดำเนินการทั้งทางวินัย ทางแพ่งและทางอาญาต่อไป
2.ให้ผู้ว่าการการประปานครหลวง และคณะกรรมการ กปน. พิจารณาถึงข้อดี ข้อเสีย ของการดำเนินการตามสัญญาที่ลงนามไปแล้วว่า กปน.จะได้รับความเสียหายอย่างไร พร้อมแนวทางแก้ไขปัญหา
ต่อมาวันที่ 25 มิ.ย.2567 คณะกรรมการ กปน. มีมติให้ กปน. จัดทำรายงานผลการดำเนินงานตามข้อสั่งการฯ และรายงานความคืบหน้าผลการสอบสวนตามข้อสั่งการของ คณะกรรมการ กปน. ที่ 7/2567 และที่ 8/2567 และผลการสอบสวนทางวินัยพนักงานที่เกี่ยวข้อง เสนอต่อ รมว.มหาดไทย เพื่อทราบ
จนกระทั่งเมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการ กปน. โดย ชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ในฐานะประธานกรรมการ กปน. ได้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่กับอดีตผู้บริหารและกรรมการ กปน. ที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติให้ ITA Consortium ชนะประมูลงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ โดยไม่ชอบ (อ่านประกอบ : ประธานฯ กปน. ยื่น ป.ป.ช. สอบ อดีตผู้บริหาร-กก. เอื้อ ITA ชนะประมูลโรงงานน้ำ 6 พันล.)
ในขณะที่ก่อนหน้านี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 15 พ.ค.2567 ประทับฟ้องโจทก์ อดีตประธานกรรมการ กปน. ,กรรมการ กปน. อดีตผู้ว่าฯ กปน. และผู้บริหารของ กปน. จำนวนหนึ่ง (จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 จำเลยที่ 12 ถึง 30) ในข้อหาร่วมกันกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 91 , 83, 86, 151, 157, 368
และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 กรณีอนุมัติให้ ITA Consortium เป็นผู้ชนะการประกวดราคาก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ โดยมิชอบ นั้น (อ่านประกอบ : ‘ศาลคดีทุจริตฯ’ประทับฟ้อง คดีประมูลโรงงานผลิตน้ำ 6 พันล.-นัดสอบคำให้การ 24 มิ.ย.)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบข้อมูลว่า ในช่วงเวลาก่อนที่ อนุทิน ในฐานะ รมว.มหาดไทย จะมีคำสั่งให้คณะกรรมการ กปน. ตรวจสอบกรณีการจัดจ้างงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ และในคำสั่งดังกล่าวได้ระบุว่า “หากพบว่าผู้ใดกระทำความผิด ขอให้ดำเนินการทั้งทางวินัย ทางแพ่งและทางอาญาต่อไป” นั้น
เมือเดือน ก.พ.2567 ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำสั่งในคดีที่ กปน. (ผู้ฟ้องคดี) ยื่นฟ้องคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง (ผู้ถูกฟ้องคดี) เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนผลการพิจารณาอุทธรณ์และคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดี ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กอร) 0405.5/14496 ลงวันที่ 21 เม.ย.2565 เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั้น จำกัด (มหาชน) และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด โดยให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่ออกคำสั่งเป็นต้นไป
ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา เนื่องจากวินิจฉัยว่า กปน. ไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายฯ อันเนื่องจากการกระทำของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ พร้อมทั้งวินิจฉัยด้วยว่า คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ‘ถือเป็นที่สุด’ ตามมาตรา 119 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ
ดังนั้น ผู้ฟ้องคดี โดยผู้ว่าการ กปน. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองในชั้นต้น จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดี ทั้งนี้ ตามมาตรา 119 แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ (อ่านประกอบ : กลับไปทำให้ถูกต้อง! ‘บอร์ดอุทธรณ์ฯ’ แจ้ง ‘กปน.’ ทบทวนผลประมูลขยายโรงงานน้ำ 6 พันล.)
สำนักข่าวอิศรา จึงขอนำเสนอรายละเอียดของคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่่าว (คำร้องที่ 1113/2566 คำสั่งที่ 181/2567) มีรายละเอียด ดังนี้
@ศาลฯชี้คำวินิจฉัยคกก.พิจารณาอุทธรณ์‘ถือเป็นที่สุด’
ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า
ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง ตามมาตรา 9 และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้งนั้น ต้องมีคำบังคับตามที่กำหนดในมาตรา 72 ผู้นั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
และ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (1) พิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา 119 มาตรา 118 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่เห็นด้วยกับอุทธรณ์ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนให้เร่งรายงานความเห็นพร้อมเหตุผลไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์...
และมาตรา 119 วรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่าอุทธรณ์ฟังขึ้นและมีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีนัยสำคัญ ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์สั่งให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการให้มีการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ หรือเริ่มจากขั้นตอนใดตามที่เห็นสมควร ในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่าอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้นหรือไม่มีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีนัยสำคัญ ให้แจ้งหน่วยงานของรัฐเพื่อทำการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป และวรรคสาม บัญญัติว่า การวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดี (กปน.) ได้มีประกาศการประปานครหลวง เรื่อง ประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง สัญญา GE-MS5/6-9 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ลงวันที่ 29 ต.ค.2564
โดยมีผู้ยื่นข้อเสนอจำนวน 5 ราย ผู้ฟ้องคดีได้ตรวจคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอแล้ว มีผู้ผ่านการตรวจคุณสมบัติจำนวน 2 ราย ไม่ผ่านคุณสมบัติจำนวน 3 ราย
ต่อมา ผู้ฟ้องคดีได้แจ้งผลการจัดซื้อจัดจ้างให้ผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 5 ราย ทราบตามแบบแจ้งผลการจัดซื้อจัดจ้าง ที่ มท 5450-3-1.2/7248 ที่ มท 5450-3-1.2/7249 ที่ มท 5450-3-1.2/7250 ที่ มท 5450-3-1.2/7251 และ ที่ มท 5450-3-1.2/7253 ลงวันที่ 1 มี.ค.2565
และได้มีประกาศการประปานครหลวง เรื่อง ประกาศผู้ชนะการเสนอราคาประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง สัญญา GE-MS5/6-9 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ลงวันที่ 1 มี.ค.2565 ให้กิจการค้าร่วม ITA หรือ ITA Consortium เป็นผู้ชนะการประกวดราคา
จากนั้น ผู้ยื่นข้อเสนอที่ไม่ผ่านคุณสมบัติรายบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด และบริษัท ซิโนไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นอุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้าง ผู้ฟ้องคดีพิจารณาแล้วไม่เห็นด้วยกับอุทธรณ์ จึงรายงานความเห็นพร้อมเหตุผลไปยังผู้ถูกฟ้องคดี (คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ)
ผู้ถูกฟ้องคดี (คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ) พิจารณาอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ทั้งสองราย ประกอบกับความเห็นของผู้ฟ้องคดีแล้วเห็นว่า อุทธรณ์ฟังขึ้นและมีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีนัยสำคัญ
ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป ตามนัยมาตรา 119 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 แจ้งตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กอร) 0405.5/14496 ลงวันที่ 21 เม.ย.2565 ผู้ฟ้องคดี (กปน.) เห็นว่า ผลการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนผลการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าว
เห็นว่า ผลการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีแจ้งตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กอร) 0405.5/14496 ลงวันที่ 21 เม.ย.2565 เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายในการพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา 119 ประกอบกับมาตรา 43 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 อันเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
ผลการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าว จึงมีผลผูกพันเฉพาะคู่กรณีในอุทธรณ์ ได้แก่ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด และบริษัท ซิโน-ไทยเอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้อุทธรณ์ และผู้ฟ้องคดี ผู้ทำคำสั่งทางปกครองที่ถูกอุทธรณ์
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณามาตรา 114 มาตรา 118 และมาตรา 119 แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในหมวดการอุทธรณ์ ได้กำหนดกลไกหรือกระบวนการให้ผู้ซึ่งเข้าร่วมการเสนอราคาที่ไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาผู้ได้รับการคัดเลือก มีสิทธิโต้แย้งคัดค้านการพิจารณาดังกล่าว และขอให้มีการทบทวนการพิจารณานั้นได้
โดยหน่วยงานของรัฐเป็นผู้พิจารณาอุทธรณ์ในชั้นต้น และเสนอความเห็นไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ว่าจะวินิจฉัยไปในทางใดก็ตาม ย่อมมีผลผูกพันหน่วยงานของรัฐ ผู้พิจารณาอุทธรณ์ในชั้นต้น ให้จำต้องเคารพและปฏิบัติตาม
และโดยนิตินิตินัยแล้ว ไม่อาจถือได้เลยว่าหน่วยงานของรัฐผู้พิจารณาอุทธรณ์ในชั้นต้น เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องจากคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และมีสิทธิฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดี (คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ) ถือเป็นที่สุดภายในฝ่ายปกครองแล้ว ตามมาตรา 119 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ดังนั้น ผู้ฟ้องคดี โดยผู้ว่าการการประปานครหลวง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองในชั้นต้น จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดี ทั้งนี้ ตามมาตรา 119 แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560
ผู้ฟ้องคดี (กปน.) จึงไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดี (คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ) ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เห้เพิกถอนผลการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวได้ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ศาลปกครองสูงสุดเรียกสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 575/2566 ของศาลปกครองกลาง มาประกอบการพิจารณาในคดีนี้ นั้น เมื่อศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว จึงไม่จำต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอดังกล่าวแต่อย่างใด
“การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น” คำสั่งศาลปกครองสูงสุด คำร้องที่ 1113/2566 คำสั่งที่ 181/2567 ลงวันที่ 9 ก.พ.2567 ระบุ
จากนี้จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า การดำเนินการกับอดีตผู้บริการ และกรรมการ กปน. ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุมัติให้ ITA Consortium ชนะประมูลงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ มูลค่ากว่า 6,400 ล้านบาท จะมีบทสรุปอย่างไร!
อ่านประกอบ :
ประธานฯ กปน. ยื่น ป.ป.ช. สอบ อดีตผู้บริหาร-กก. เอื้อ ITA ชนะประมูลโรงงานน้ำ 6 พันล.
‘ศาลคดีทุจริตฯ’ประทับฟ้อง คดีประมูลโรงงานผลิตน้ำ 6 พันล.-นัดสอบคำให้การ 24 มิ.ย.
‘วงษ์สยามฯ’ฟ้อง‘บอร์ด กปน.-พวก’คดีประมูลโรงงานผลิตน้ำ 6 พันล.-ศาลฯนัดฟังคำสั่ง 29 ส.ค.นี้
‘วงษ์สยามฯ’ขอศาลฯสั่ง‘กปน.’ห้ามกระทำตามสัญญา หลังพบเซ็นจ้าง ITD สร้างโรงงานผลิตน้ำแล้ว
น่าจะมีปัญหาความชอบด้วยกม.!พลิกคำสั่ง'ศาลปค.'เบรก'กปน.'ประกาศ ITD ชนะประมูลโรงงานผลิตน้ำ
‘ศาลปค.กลาง’สั่ง‘กปน.’ระงับเซ็นสัญญาจ้าง‘อิตาเลียนไทย’สร้างโรงงานผลิตน้ำฯ 6.39 พันล้าน
‘วงษ์สยามฯ’ยก 4 ปม ยื่น‘ผู้ว่าฯกปน.’ อุทธรณ์ผลประมูลโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ 6.3 พันล.
อ้าง'วงษ์สยาม'เอกสารไม่ครบ! 'กปน.'ให้'อิตาเลียนไทย'ชนะประมูลโรงงานผลิตน้ำ 6.39 พันล้าน
เปิดผลสอบ‘กมธ.ป.ป.ช.’ ประมูลโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ 6.5 พันล. ก่อนชี้‘กปน.’ส่อใช้อำนาจมิชอบ
ส่อใช้อำนาจมิชอบ! ‘กมธ.ป.ป.ช.’เผยผลสอบประมูลโรงงานน้ำ 6.5 พันล.-‘กปน.’ยังไม่เคาะผู้ชนะ
7 เดือนไม่คืบ! ‘วงษ์สยามฯ’ ทวง ‘กปน.’ แจ้งผลประมูลขยายโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ฯ 6.5 พันล.
ทรัพย์สิน 95.58 ล. ‘กวี อารีกุล’ อดีตผู้ว่าฯ กปน. คู่สมรส ลงทุน 49 รายการ 36 ล.
'กปน.'ยังไม่สรุป! ล้มประมูลโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ฯ 6.5 พันล.-'บิ๊กวงษ์สยามฯ'รอความชัดเจน
'กรมบัญชีกลาง'ชี้'กปน.'ล้มประมูลโรงงานน้ำได้ แต่หากใช้ดุลพินิจ'ไม่สุจริต'เสี่ยงโดนฟ้อง
‘กปน.’แจงประมูลขยายโรงงานน้ำ‘มหาสวัสดิ์’ 6.5 พันล. ไม่เอื้อประโยชน์บางราย-ประวิงเวลา
‘วงษ์สยามฯ’ ร้อง ‘กรมบัญชีกลาง’ คัดค้านข้อหารือ ‘กปน.’ ล้มประมูลโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์
อ้างTORไม่ชัดเจน! ย้อนดูหนังสือ 3 ฉบับ ‘กปน.’ดันล้มประมูล โรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ 6.5 พันล.