‘วงษ์สยามก่อสร้างฯ’ ทำหนังสือถึง ‘ผู้ว่าฯกปน’ สอบถามผลประมูลงานขยาย 'โรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ฯ' มูลค่า 6.5 พันล้าน หลังรอ 7 เดือนไม่คืบหน้า
.....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ทำหนังสือถึงผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) โดยให้ กปน.เร่งพิจารณาผลการเสนอราคาโครงการงานจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง สัญญา GE-MS5/6-9 ด้วยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ราคากลาง 6,526.97 ล้านบาท
สำหรับหนังสือของ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้างฯ ระบุว่า ตามที่ กปน. ได้แจ้งผลการจัดซื้อจัดจ้างโครงการงานจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง สัญญา GE-MS5/6-9 ด้วยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ กำหนดวันที่ต้องยื่นข้อเสนอราคาภายในวันที่ 15 ธ.ค. 2564
กปน.ประกาศรายชื่อผู้ชนะประมูล คือ ITA Consortium (บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ (ITD) และบริษัท อาควาไทย จำกัด) ลงวันที่ 1 มี.ค.2565 ตามแบบแจ้งผลการจัดซื้อจัดจ้างที่ มท 5450-3-1.2/7250 ใช้ระยะเวลาในการพิจารณาเพียง 2 เดือน นับตั้งแต่วันที่ต้องยื่นข้อเสนอราคาฯ
แต่กรณีของบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.2565 กปน. แจ้งให้บริษัทฯ ทราบว่า อุทธรณ์ของบริษัทฯ ฟังขึ้น จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลาเนิ่นนานกว่า 7 เดือนแล้ว หากเปรียบระยะเวลาในการดำเนินการ เหตุใดกรณีของบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ถึงใช้ระยะเวลาในการพิจารณานานถึง 7 เดือน แต่กรณีของ ITA Consortium ใช้ระยะเวลาเพียง 2 เดือน เท่านั้น
ทั้งที่ บริษัทฯ มีคุณสมบัติครบถ้วน ถูกต้องตามเงื่อนไขในประกาศ แต่คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา ปฏิบัติสวนทางกับแนวคำวินิจฉัย กล่าวคือ กลับมาพิจารณาเรื่องคุณสมบัติของผู้เสนอราคาใหม่นั้น ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่แตกต่างจากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากประเด็นเรื่องคุณสมบัติของบริษัทคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยแล้ว และการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นที่สุดตามมาตรา 119 วรรคสาม
“บริษัทจึงขอให้ กปน. เร่งรัดพิจารณาให้บริษัทฯ เป็นผู้ชนะการประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ และลงนามในสัญญาจ้างกับบริษัทฯ โดยเร็ว หาก กปน.ประวิงเวลาไม่เร่งรีบดำเนินการพิจารณาผลการเสนอราคา จะทำให้โครงการปรับปรุงกิจการประปานครหลวงแผนหลัก ครั้งที่ 9 ต้องล่าช้าออกไป ไม่เป็นไปตามระยะเวลาดำเนินการที่มติ ครม. ได้ให้ความเห็นชอบไว้...” หนังสือ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้างฯ ระบุ
หนังสือของ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้างฯ ระบุด้วยว่า เพื่อสร้างมาตรฐานแห่งความยุติธรรมให้ปรากฏในสังคม บริษัทฯ ในฐานะที่เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดผู้ได้รับความเสียหายจากการดำเนินงานของ กปน. จำเป็นต้องใช้สิทธิดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุดกับ กปน. ตลอดจนผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้เกี่ยวข้อง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐและความเป็นธรรมแก่สังคม มิให้เกิดการทำลายระบบธรรมาภิบาลในองค์กร ทำลายกฎเกณฑ์ของสังคม และระบบกฎหมายต่อไป
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ กปน.ได้ทำหนังสืออย่างน้อย 3 ฉบับ ถึงอธิบดีกรมบัญชีกลาง เพื่อขอหารือแนวทางการพิจารณาผลการเสนอราคาโครงการงานจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ และแนวทางการดำเนินการตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน (เพิ่มเติม)
โดย กปน. ได้ขอหารือกับกรมบัญชีกลาง ว่า กปน.จะสามารถยกเลิกการจัดจ้างโครงการงานจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ โดยอาศัยระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ.2560 ข้อ 53 ได้หรือไม่ หากปรากกฎในภายหลังว่า 1.เอกสารประกวดราคาและแบบรูปรายการงานก่อสร้างที่ใช้ในการประกวดราคาฯ มีข้อกำหนดเกี่ยวกับกำลังการผลิตน้ำที่ยังไม่ชัดเจน ก่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
และ 2.เอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยการประกวดราคาฯ ได้กำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอไม่ชัดเจน และกำหนดหลักฐานการยื่นข้อเสนอ ส่วนที่ 2 ไม่ครบและไม่สอดคล้องกับเอกสารประกวดราคา เล่ม 2/8
นอกจากนี้ กปน.ยังสอบถามว่า หาก กปน. มีความประสงค์จะปรับปรุงเอกสารประกวดราคาให้ถูกต้อง ครบถ้วน และดำเนินการจัดจ้างใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของโครงการและเป้าหมายในการบริหารจัดการระบบการผลิตน้ำประปาที่ประสบปัญหาวิกฤติลิ่มความเค็มรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยา และให้เป็นไปตามหลักการในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 จะดำเนินการได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2565 ซึ่งเป็นช่วงเวลากว่า 1 เดือน ก่อนที่ กปน. จะทำหนังสือขอหารือกรมบัญชีกลาง กรณีการยกเลิกการจัดจ้างโครงการงานจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ นั้น บริษัท โปรเกรส เทคโนโลยี คอนซัลแท็นส์ จำกัด (PTC) ผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าการ กปน.
โดยหนังสือระบุว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้างฯ และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) มีคุณสมบัติเบื้องต้นในรายการภาคผนวก ‘ช’ เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในเอกสารประกวดราคา เล่ม 6/8 และรายละเอียดประกอบแบบเพิ่มเติม (Supplemental Specifications) สามารถใช้เป็นเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง สัญญา GE-MS5/6-9 ได้
อ่านประกอบ :
ทรัพย์สิน 95.58 ล. ‘กวี อารีกุล’ อดีตผู้ว่าฯ กปน. คู่สมรส ลงทุน 49 รายการ 36 ล.
'กปน.'ยังไม่สรุป! ล้มประมูลโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ฯ 6.5 พันล.-'บิ๊กวงษ์สยามฯ'รอความชัดเจน
'กรมบัญชีกลาง'ชี้'กปน.'ล้มประมูลโรงงานน้ำได้ แต่หากใช้ดุลพินิจ'ไม่สุจริต'เสี่ยงโดนฟ้อง
‘กปน.’แจงประมูลขยายโรงงานน้ำ‘มหาสวัสดิ์’ 6.5 พันล. ไม่เอื้อประโยชน์บางราย-ประวิงเวลา
‘วงษ์สยามฯ’ ร้อง ‘กรมบัญชีกลาง’ คัดค้านข้อหารือ ‘กปน.’ ล้มประมูลโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์
อ้างTORไม่ชัดเจน! ย้อนดูหนังสือ 3 ฉบับ ‘กปน.’ดันล้มประมูล โรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ 6.5 พันล.
จี้เร่งประกาศตัวผู้ชนะ! ‘วงษ์สยามฯ’แจง 3 ปม คัดค้าน‘กปน.’ล้มประมูลโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ฯ
อ้างทีโออาร์บกพร่อง! ‘กปน.’ หาทางล้มประมูลขยายโรงงานผลิตน้ำ ‘มหาสวัสดิ์’ 6.5 พันล้าน
‘วงษ์สยามฯ’ร้อง‘กมธ.ป.ป.ช.’ สอบ‘กปน.’ ไม่ประกาศผลประมูลโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ฯ 6 พันล.
‘กปน.’ แจ้งผลอุทธรณ์ฯ ‘ซิโนไทย-วงษ์สยามฯ’ มีคุณสมบัติร่วมประมูลโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ฯ