‘กรมบัญชีกลาง’ ทำหนังสือตอบข้อหารือ ‘กปน.’ ระบุ ‘กปน.’ สามารถยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างงานขยายโรงงานน้ำ ‘มหาสวัสดิ์’ 6.5 พันล้าน ได้ หากมีเหตุผลอันชอบด้วยกฎหมาย และโดยสุจริต แต่หากใช้ดุลพินิจโดย 'ไม่สุจริต' เสี่ยงโดนฟ้องร้อง
....................................
จากกรณีที่ การประปานครหลวง (กปน.) ทำหนังสือถึงกรมบัญชีกลาง จำนวน 3 ฉบับ เพื่อขอหารือเกี่ยวกับแนวทางการยกเลิกการจัดจ้างงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง สัญญา GE-MS5/6-9 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ราคากลาง 6,526.97 ล้านบาท นั้น (อ่านประกอบ : อ้างTORไม่ชัดเจน! ย้อนดูหนังสือ 3 ฉบับ ‘กปน.’ดันล้มประมูล โรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ 6.5 พันล.)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา นายสมศักดิ์ ภู่สกุล รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมบัญชีกลาง ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.3/31807 ตอบข้อหารือ กรณีการยกเลิกการจัดจ้างงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯดังกล่าว ไปยังผู้ว่าการ กปน.
โดยหนังสือกรมบัญชีกลางฉบับดังกล่าว สรุปได้ว่า กปน. สามารถใช้สิทธิยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ ได้ แต่การออกคำสั่งยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว จะต้องประกอบด้วยเหตุผลอันชอบด้วยกฎหมายและโดยสุจริต อย่างไรก็ดี หากสามารถพิสูจน์ได้ว่า หน่วยงานของรัฐใช้ดุลพินิจโดยทุจริตหรือยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีนี้ผู้ยื่นข้อเสนอสามารถฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐได้
“...ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ข้อ 53 กำหนดว่า “การเผยแพร่ประกาศประกวดราคาและเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ครั้งใด หากหน่วยงานรัฐได้กำหนดรายละเอียดของประกาศหรือเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่จะต้องซื้อหรือจ้างไม่ถูกต้อง หรือไม่ครบถ้วนในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ให้หน่วยงานของรัฐยกเลิกการดำเนินการซื้อหรือจ้างในครั้งนั้นแล้วดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องต่อไป”
โดยการยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างด้วยเหตุตามระเบียบฯ ข้อ 53 ดังกล่าว เป็นกรณีที่หากหน่วยงานรัฐได้กำหนดรายละเอียดของประกาศหรือเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือขอบเขตของงาน หรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่จะต้องซื้อหรือจ้างไม่ถูกต้อง หรือไม่ครบถ้วนในส่วนที่เป็นสาระสำคัญทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หน่วยงานของรัฐอาจยกเลิกการดำเนการซื้อหรือจ้างในครั้งนั้นแล้วดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องต่อไปได้
หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า การประปานครหลวง (กปน.) ได้ประกาศประกวดราคาจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง สัญญาเลขที่ GE-MS5/6-9 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เลขที่ GE-MS5/6-9 ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2565 และได้ผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้แล้ว
โดย กปน. แจ้งว่า ได้กำหนดเงื่อนไขการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ให้ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องจัดเตรียมและนำส่งภาคผนวก “ฉ” แผนงานการก่อสร้างไว้ในเอกสารประกวดราคาฯ เล่ม 2/8 ใบเสนอราคา และเอกสารแนบท้าย (Form of Bids and Bill of Quantities) แต่ในเงื่อนไขในเอกสารประกวดราคาฯ ไม่ได้ระบุรายการ ภาคผนวก “ฉ” ไว้ในข้อ 3 หลักฐานการยื่นข้อเสนอ ส่วนที่ 2
โดยการที่จะพิจารณาว่า สมควรยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้หรือไม่ กปน. จะต้องเป็นผู้พิจารณาให้สอดคล้องตามหลักการที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งจะต้องมีเหตุผลอันชอบด้วยกฎหมาย และอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ระเบียบฯ กำหนดไว้ด้วย
ทั้งนี้ การใช้สิทธิยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นอำนาจของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่จะพิจารณา แต่เนื่องจากคำสั่งยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามนัยกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ข้อ 1 (3) ดังนั้น คำสั่งดังกล่าวจึงต้องประกอบด้วยเหตุผลอันชอบด้วยกฎหมาย และโดยสุจริต
อย่างไรก็ดี ในการกำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขการเสนอราคานั้น หน่วยงานของรัฐสามารถกำหนดได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖0 กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัติการจัดซื้อจ้างฯ
โดยกรณีที่ กปน. กำหนดเงื่อนไขการยื่นข้อเสนอ โดยประสงค์จะให้ผู้ยื่นข้อเสนอจัดส่งแผนงานก่อสร้างมาพร้อมกับการยื่นข้อเสนอ นั้น มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดในขั้นตอนการยื่นข้อเสนอหรือไม่ เนื่องจากตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เรื่อง แบบสัญญาเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560
โดยแบบสัญญาจ้างก่อสร้าง ข้อ 7 (ก) กำหนดเวลาแล้วเสร็จและสิทธิของผู้ว่าจ้างในการบอกเลิกสัญญาวรรคหนึ่ง กำหนดว่า “ภายในกำหนด.......(......) วัน นับถัดจากวันลงนามในสัญญาผู้รับจ้างจะต้องเสนอแผนงานให้เป็นที่พอใจแก่ผู้ว่าจ้าง โดยแสดงถึงขั้นตอนของการทำงานและกำหนดเวลาที่ต้องใช้ในการทำงานหลักต่างๆ ให้แล้วเสร็จ” ดังนั้น กปน. จึงต้องพิจารณาให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการนโยบายข้างต้น
อนึ่ง ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 67 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ก่อนลงนามในสัญญา หน่วยงานของรัฐอาจประกาศยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างที่ได้ดำเนินการไปแล้วได้ในกรณี ดังต่อไปนี้ (3) การทำการจัดซื้อจัดจ้างต่อไปอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ”
และวรรคสอง บัญญัติว่า “การยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างตามวรรคหนึ่งเป็นเอกสิทธิ์ของหน่วยงานของรัฐ ผู้ยื่นข้อเสนอในการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกยกเลิกนั้นจะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากหน่วยงานของรัฐไม่ได้” ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าว มีเจตนารมณ์เพื่อให้ความคุ้มครองหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง แต่หากสามารถพิสูจน์ได้ว่า หน่วยงานของรัฐใช้ดุลพินิจโดยทุจริต หรือยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีนี้ผู้ยื่นข้อเสนอก็สามารถฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้
โดยกรณีการยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างด้วยเหตุตามมาตรา 67 วรรคหนึ่ง (2) นั้น ย่อมต้องเป็นกรณีที่หน่วยงานของรัฐพิจารณาแล้วเห็นว่า หากทำการจัดซื้อจัดจ้างต่อไปอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะอย่างไร กรณีดังกล่าวย่อมอยู่ในดุลพินิจที่หน่วยงานของรัฐอาจประกาศยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ตามนัยมาตรา 67 วรรคหนึ่ง (3)” หนังสือด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.3/31807 ลงวันที่ 31 ส.ค.2565 ระบุ
อ่านประกอบ :
‘กปน.’แจงประมูลขยายโรงงานน้ำ‘มหาสวัสดิ์’ 6.5 พันล. ไม่เอื้อประโยชน์บางราย-ประวิงเวลา
‘วงษ์สยามฯ’ ร้อง ‘กรมบัญชีกลาง’ คัดค้านข้อหารือ ‘กปน.’ ล้มประมูลโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์
อ้างTORไม่ชัดเจน! ย้อนดูหนังสือ 3 ฉบับ ‘กปน.’ดันล้มประมูล โรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ 6.5 พันล.
จี้เร่งประกาศตัวผู้ชนะ! ‘วงษ์สยามฯ’แจง 3 ปม คัดค้าน‘กปน.’ล้มประมูลโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ฯ
อ้างทีโออาร์บกพร่อง! ‘กปน.’ หาทางล้มประมูลขยายโรงงานผลิตน้ำ ‘มหาสวัสดิ์’ 6.5 พันล้าน
‘วงษ์สยามฯ’ร้อง‘กมธ.ป.ป.ช.’ สอบ‘กปน.’ ไม่ประกาศผลประมูลโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ฯ 6 พันล.
‘กปน.’ แจ้งผลอุทธรณ์ฯ ‘ซิโนไทย-วงษ์สยามฯ’ มีคุณสมบัติร่วมประมูลโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ฯ