‘วงษ์สยามก่อสร้าง’ ร่อนหนังสือถึง ‘อธิบดีกรมบัญชี’ คัดค้านกรณี ‘กปน.’ ขอหารือแนวทางล้มประมูลงานขยายโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ฯ 6.5 พันล้าน
..................................
จากกรณีที่การประปานครหลวง (กปน.) ทำหนังสืออย่างน้อย 3 ฉบับ ถึงอธิบดีกรมบัญชีกลาง เพื่อขอหารือแนวทางการยกเลิกการจัดจ้างงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้องสัญญา GE-MS5/6-9 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ราคากลาง 6,526.97 ล้านบาท นั้น (อ่านประกอบ : อ้างTORไม่ชัดเจน! ย้อนดูหนังสือ 3 ฉบับ ‘กปน.’ดันล้มประมูล โรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ 6.5 พันล.)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ส.ค. นายอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมบัญชีกลาง เรื่อง ขอคัดค้านข้อหารือของการประปานครหลวงเพื่อหาแนวทาง ‘ยกเลิก’ การประกวดราคาจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ โดยบริษัท วงษ์สยามก่อสร้างฯ มีข้อคัดค้านกรณีที่ กปน. ขอหารือกับกรมบัญชีกลาง เกี่ยวกับแนวทางยกเลิกการประกวดราคาจ้างก่อสร้างฯใน 4 ประเด็น ดังนี้
1.ประเด็นที่ กปน. หารือว่า ในกรณีที่ผู้ยื่นข้อเสนอไม่ได้ยื่นเอกสารภาคผนวก "ฉ" แผนงานการก่อสร้าง จะสามารถพิจารณาตัดสิทธิ์ผู้ยื่นข้อเสนอรายนั้นได้หรือไม่นั้น บริษัทฯมีขอคัดค้านว่า ประเด็นนี้ กปน. ไม่ได้ระบุให้ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องยื่นภาคผนวก “ฉ” มาพร้อมกับการเสนอราคา ซึ่งเอกสารภาคผนวกที่ กปน. กำหนดให้ต้องยื่นมาพร้อมการเสนอราคามีเพียง ภาคผนวก “ค” “ง” และ “ช” เท่านั้น แต่ไม่ได้กำหนดให้ต้องยื่น ภาคผนวก “ฉ” เอาไว้แต่อย่างใด
ดังนั้น แม้ว่าผู้ยื่นข้อเสนอจะไม่ได้ยื่นเอกสารภาคผนวก "ฉ" ย่อมถือว่าได้ทำตามข้อกำหนดถูกต้องเพียงพอแล้ว กปน.ไม่สามารถพิจารณาตัดสิทธิ์ผู้อื่นข้อเสนอรายนั้นได้ ทั้งนี้ ในการประกวดราคางานจ้างก่อสร้างของหน่วยงานส่วนใหญ่ จะกำหนดให้จัดทำแผนงานการก่อสร้างตามภาคผนวก ฉ ภายหลังจากการลงนามสัญญาซึ่งเป็นส่วนที่มิใช่สาระสำคัญ เนื่องจากเอกสารประกวดราคาฯได้มีการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาก่อสร้าง (1,200 วัน) ที่ชัดเจนเอาไว้แล้ว
นอกจากนี้ ในคราวที่ กปน. ประกาศให้ ITA Consortium เป็นผู้ชนะการประกวดราคา กปน. ไม่เคยทักท้วง หรือหยิบยกประเด็นการยื่นภาคผนวก “ฉ” มาขอหารือกรมบัญชีกลาง และในแบบแจ้งผลการจัดซื้อจัดจ้างที่ กปน. แจ้งมายังบริษัทฯว่า บริษัทฯไม่ได้รับการคัดเลือกเพราะมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนเกี่ยวกับประสบการณ์และผลงานของผู้ยื่นข้อเสนอเท่านั้น ส่วนเรื่องประเด็น “ยื่นเอกสารไม่ถูกต้องและครบถ้วน” และ “ยื่นข้อเสนอทางเทคนิคไม่เป็นไปตามที่ประกาศ” ไม่ได้มีการแจ้งไว้ต่อบริษัทฯ แต่อย่างใด
2.ประเด็นที่ กปน. หารือว่า กรณีที่ประกาศประกวดราคางานจ้างฯ ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใน ข้อ 3 เกี่ยวกับหลักฐานการยื่นข้อเสนอให้ครบถ้วน และกำหนดคุณสมบัติผู้อื่นข้อเสนอไม่ชัดเจน จนทำให้เกิดการตีความจนผิดหลักการทางวิศวกรรม และวัตถุประสงค์ในการจ้าง หรือพบข้อกำหนดผิดพลาดในส่วนที่เป็นสาระสำคัญอื่นๆนั้น กปน. จะพิจารณายกเลิกการจัดจ้างโดยอาศัยระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 ข้อ 53 นั้น
บริษัทฯ ขอคัดค้านว่า เมื่อตีความตามเจตนารมณ์ของข้อ 53 ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ.2560 นี้ ได้กำหนดไว้โดยชัดแจ้งว่า ให้หน่วยงานของรัฐยกเลิกการดำเนินการซื้อหรือจ้างใหม่ให้ถูกต้องได้เฉพาะในกรณีที่ยังอยู่ในช่วงขั้นตอนการเผยแพร่ประกาศและเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น
แต่กรณีนี้ปรากฎข้อเท็จจริงว่า กปน. ได้เคยประกาศผู้ชนะการเสนอราคาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 แล้ว จึงถือได้ว่า กปน. ได้ยอมรับว่าการเผยแพร่ประกาศและเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์นั้น ถูกต้อง ครบถ้วน และถือเป็นที่ยุติแล้ว กปน. จึงไม่สามารถยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างในครั้งนี้ โดยอาศัยระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 ข้อ 53 ได้
และเมื่อพิจารณาประกอบกับ มาตรา 119 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้ การวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด กปน. จึงมีหน้าที่เพียงกลับไปดำเนินการในขั้นตอนพิจารณาผลการเสนอราคาเท่านั้น
3.ประเด็นที่ กปน. หารือว่า จะพิจารณายกเลิกการจัดจ้างในครั้งนี้ โดยอาศัยมาตรา 67 (3) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ได้หรือไม่ บริษัทฯมีข้อคัดค้านประเด็นนี้โดยขอให้พิจารณาประกอบกับคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ซึ่งได้พิจารณาข้ออุทธรณ์ของบริษัทฯ แล้วว่า การอุทธรณ์ของบริษัทฯ ฟังขึ้นและมีผลต่อการจัดซื้อและจัดจ้างอย่างมีนัยสำคัญ
และให้ กปน. กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป ตามนัยมาตรา 119 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ประกอบกับ มาตรา 119 วรรคสาม ที่กำหนดให้ การวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด ดังนั้น กปน. จึงมีหน้าที่เพียงพิจารณาผลการเสนอราคาเท่านั้น
บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนฯ ได้พิจารณาข้อกล่าวอ้างอุทธรณ์ของบริษัทฯ แล้วเห็นว่า ข้อเสนอที่บริษัทฯ ยื่นประกวดราคาเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารประกวดราคาฯ แล้ว บริษัทฯ จึงถือได้ว่าอยู่ในสถานะเป็นผู้ชนะการประกวดราคา โดยบริษัทฯ ยื่นข้อเสนอราคา เป็นเงิน 6,150,000,000.00 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ต่ำกว่าราคากลางเป็นเงินจำนวน 376,973,718.58 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และต่ำกว่าผู้เสนอราคารายอื่นทั้งหมด
หาก กปน. ไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน จะทำให้หน่วยงานภาครัฐได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการที่ กปน. มิได้จัดจ้างผู้เสนอราคารายต่ำสุด เป็นผลทำให้รัฐต้องเสียงบประมาณแผ่นดินสูงกว่าที่ควรจะเป็นเกินกว่าสี่ร้อยล้านบาท และหากกรมบัญชีกลางตอบข้อหารือในข้อนี้ โดยให้ กปน. สามารถยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างได้ อาจจะทำให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐขาดความน่าเชื่อถือ อาจทำให้หน่วยงานของรัฐสามารถใช้ดุลพินิจยกเลิกประกวดราคาได้ตามอำเภอใจ และอาจจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ให้หน่วยงานอื่นอาศัยช่องว่างทางกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องของตนได้
4.กรณีที่ กปน. ยังไม่ประกาศผลผู้ชนะการเสนอราคาในโครงการฯ นี้ ส่งผลให้โครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลัก ครั้งที่ 9 ต้องล่าช้าออกไป ไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่มติคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ (ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559-2565) และไม่เป็นไปตามแผนที่ กปน. ทบทวนล่าสุด ซึ่งได้กำหนดให้งานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ จะต้องเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564
ซึ่งปัจจุบันล่วงเลยจากกำหนดเริ่มก่อสร้างมาแล้วกว่า 15 เดือน และคาดว่า กำหนดแล้วเสร็จทั้งโครงการฯ จะล่าช้ากว่ากำหนดระยะเวลาที่ ครม.เห็นชอบไว้แล้วกว่า 3-4 ปี ทั้งนี้ ความล่าช้าดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ฝั่งตะวันออก เนื่องจากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีคุณภาพไม่เหมาะสมกับการอุปโภคบริโภคในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง
จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ กปน. จะต้องเร่งดำเนินโครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลัก ครั้งที่ 9 ให้แล้วเสร็จ โดยด่วน เนื่องจากวัตถุประสงค์หลักของโครงการฯ ที่คาดว่าจะได้รับ คือ การที่สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของ กปน. ได้ โดยสามารถลดผลกระทบจากวิกฤติการณ์น้ำดิบจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้คุณภาพ สำหรับการผลิตน้ำประปา โดยการนำน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองเข้ามาทดแทนเพื่อสร้างเสถียรภาพและความยั่งยืนแก่ระบบประปา และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของระบบประปาทั้งระบบให้มีความเพียงพอ และมีคุณภาพ มั่นคง และสร้างความยั่งยืนแก่โครงสร้างพื้นฐานระบบของ กปน. มากยิ่งขึ้น
“ตามที่ได้กราบเรียนให้ท่านทราบในข้างต้นแล้ว บริษัทฯ มีข้อคัดค้านว่า ข้อหารือของ กปน. ดังกล่าว เป็นการประวิงเวลาโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งจะทำให้หน่วยงานของรัฐเสียประโยชน์ และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นสำคัญ จึงมีเหตุผลอันสมควรที่กรมบัญชีกลางจะยืนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนฯ
และสั่งการให้ กปน. กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อ ตามนัยมาตรา 119 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยเร็วต่อไป เพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐและความเป็นธรรมแก่สังคม มิให้เกิดการทำลายระบบธรรมาภิบาลในองค์กร ทำลายกฎเกณฑ์ของสังคม และระบบกฎหมายต่อไป” หนังสือของบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ลงวันที่ 17 ส.ค.2565 ระบุ
อ่านประกอบ :
อ้างTORไม่ชัดเจน! ย้อนดูหนังสือ 3 ฉบับ ‘กปน.’ดันล้มประมูล โรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ 6.5 พันล.
จี้เร่งประกาศตัวผู้ชนะ! ‘วงษ์สยามฯ’แจง 3 ปม คัดค้าน‘กปน.’ล้มประมูลโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ฯ
อ้างทีโออาร์บกพร่อง! ‘กปน.’ หาทางล้มประมูลขยายโรงงานผลิตน้ำ ‘มหาสวัสดิ์’ 6.5 พันล้าน
‘วงษ์สยามฯ’ร้อง‘กมธ.ป.ป.ช.’ สอบ‘กปน.’ ไม่ประกาศผลประมูลโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ฯ 6 พันล.
‘กปน.’ แจ้งผลอุทธรณ์ฯ ‘ซิโนไทย-วงษ์สยามฯ’ มีคุณสมบัติร่วมประมูลโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ฯ
อาจใช้สิทธิ์ตามกม.! 'วงษ์สยามฯ'จี้'กปน.' เร่งทบทวนผลประมูลโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ 6 พันล.
ส่อผิดกม.จัดซื้อ! 'เรืองไกร'ยื่น'ป.ป.ช.'สอบ‘บอร์ดพิจารณาประมูลฯ'โรงงานน้ำมหาสวัสดิ์
โชว์เอกสารโต้! กปน.ชี้‘บอร์ดอุทธรณ์ฯ’วินิจฉัยผิดพลาด ประมูลโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ 6 พันล.
'อิตาเลียนไทย'จ่อยื่นสอบ'บอร์ดอุทธรณ์ฯ'ใช้ดุลพินิจไม่สุจริต กรณีประมูลโรงงานน้ำ 6 พันล.
ใช้ดุลพินิจไม่ถูกต้อง! ‘อนุทิน’ จี้ ‘กมธ.’ สอบ ‘กปน.’ ประมูลขยายโรงงานน้ำ 6 พันล้าน
กลับไปทำให้ถูกต้อง! ‘บอร์ดอุทธรณ์ฯ’ แจ้ง ‘กปน.’ ทบทวนผลประมูลขยายโรงงานน้ำ 6 พันล.
'ซิโนไทย-วงษ์สยามฯ'ชนะ'กปน.'! กก.อุทธรณ์ฯชี้ไม่ขาดคุณสมบัติ ประมูลขยายโรงงานน้ำ 6 พันล.
ตัดสิทธิเอื้อบางราย? ย้อนปมประมูลขยายโรงงานน้ำ 6.5 พันล. ก่อนเอกชนยื่นอุทธรณ์คุณสมบัติ
'ซิโนไทย-วงษ์สยามฯ' ยื่นอุทธรณ์ หลังถูกตัดสิทธิฯ ประมูลขยายโรงงานน้ำ 'กปน.' 6.5 พันล.