‘คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ’ ทำหนังสือ 'ด่วนที่สุด' แจ้ง ‘กปน.’ กลับไปทบทวนผลประมูลขยายโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ 6 พันล้านบาท ให้ถูกต้อง หลังชี้ ‘ซิโนไทย-วงษ์สยามก่อสร้าง’ ไม่ขาดคุณสมบัติเข้าร่วมประมูล
...........................
สืบเนื่องจากกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน มีมติว่า บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด มีคุณสมบัติตามประกาศประกวดราคาจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง สัญญา GE-MS5/6-9 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ของการประปานครหลาง (กปน.)
และให้ กปน.กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาข้อเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป ตามนัยมาตรการ 119 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 นั้น (อ่านประกอบ : 'ซิโนไทย-วงษ์สยามฯ'ชนะ'กปน.'! กก.อุทธรณ์ฯชี้ไม่ขาดคุณสมบัติ ประมูลขยายโรงงานน้ำ 6 พันล.)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ล่าสุด น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง ปฏิบัติราชการแทน ปลัดกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน ทำหนังสือคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน ด่วนที่สุด ที่ กค (กอร.) 0405.5/14496 ลงวันที่ 21 เม.ย.2565 แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ไปยังผู้ว่าการ กปน.
โดยหนังสือดังกล่าว ระบุว่า บริษัท ซิโน-ไทยฯ และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ได้ยื่นหนังสือรับรองผลงานที่มีงานติดตั้งระบบผลิตน้ำประปาฯ ตามเงื่อนไขในเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 2.11 จึงมีคุณสมบัติเป็นไปตามเงื่อนไขของเอกสารประกวดราคา จึงให้ กปน.กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป ตามนัยมาตรา 119 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560
“กรณีนี้ผู้อุทธรณ์ทั้ง 2 ราย จึงยื่นข้อเสนอเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 2.11 แล้ว ดังนั้น ข้อกล่าวอ้างของผู้อุทธรณ์ทั้ง 2 ราย ฟังขึ้น และมีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีนัยสำคัญ
จึงให้การประปานครหลวงกลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป ตามนัยมาตรา 119 วรรคสอง แห่งพระราขบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ ภาครัฐ พ.ศ.2560 ทั้งนี้ ให้การประปานครหลวงแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้ผู้อุทธรณ์ทั้ง 2 ราย ทราบด้วย” หนังสือที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน ด่วนที่สุด ที่ กค (กอร.) 0405.5/14496 ลงวันที่ 21 เม.ย.2565
สำนักข่าวอิศรารางานเพิ่มเติมว่า สำหรับหนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาว่า ตามหนังสือการประปานครหลวง (กปน.) แจ้งว่า บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาซน) และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ขออุทธรณ์ผลการประกาศ ผู้ชนะการเสนอราคา ตามประกาศ กปน. และเอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตนั้ามหาสวัสดึ๋ ขนาด ๘๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง สัญญา GE-MS5/6-9 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e - bidding) เลขที่ GE-MS5/6-9 ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2564 ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน (คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์) ได้พิจารณาคำอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ และตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามเงื่อนไขในเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 2.11 กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานก่อสร้างระบบตกตะกอนและระบบกรองน้ำสำหรับระบบผลิตน้ำประปา พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง ขนาดไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันในสัญญาเดียวกัน วงเงินไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท
และเป็นสัญญาที่ได้ทำงานแล้วเสร็จตามสัญญา ซึ่งได้มีการส่งมอบงานและตรวจรับเรียบร้อยแล้ว และเป็นผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานเอกชนที่ กปน. เชื่อถือ โดยต้องมีหนังสือรับรองผลงานสำเนาสัญญา และบัญชีปริมาณงานมาแสดง และข้อ 3.2 (3) (3.6) กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอ ยื่นประสบการณ์ของผู้ยื่นข้อเสนอ พร้อมสำเนาเอกสารสัญญา ใบรับรองผลงานแล้วเสร็จ หรือเอกสารที่ผู้ว่าจ้างเป็นผู้ออกให้ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง ตามข้อ 1.1.2 ใบเสนอราคาและเอกสารแนบท้าย ภาคผนวก ง
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า การพิจารณากำลังการผลิตน้ำประปา ตามหนังสือรับรองผลงานต้องพิจารณาจากขนาดกำลังการผลิตสุทธิที่การประปานครหลวงต้องการ โดยต้องหักปริมาณน้ำสูญเสียต่างๆ ในกระบวนการผลิตแล้ว ซึ่งเป็นไปตามนิยามของเอกสารทางวิชาการ โดยหน่วยงาน Environmental Protection Agency (EPA) หน่วยงานอิสระของรัฐบาลกลางประเทศสหรัฐอเมริกา กรณีนี้คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาฯ จึงพิจารณาหนังสือรับรองผลงานของผู้อุทธรณ์ทั้ง 2 ราย ตามแนวทางข้างต้น และมีความเห็น ดังนี้
1.กรณีผู้อุทธรณ์รายบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ยื่นสำเนาหนังสือรับรองผลงานของเทศบาลนครนครราชสีมาที่ นม 52005/8308 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 โดยรับรองว่า ผู้อุทธรณ์เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างระบบประปา โครงการแก้ไขปีญหาการขาดแคลน้ำอุปโภคบริโภค เทศบาลนครนครราชสีมา ตามสัญญาเลขที่ 3/2550 วันที่ 31 สิงหาคม 2550 ในวงเงินจำนวน 3,025.05 ล้านบาท
โดยมีรายละเอียดของผลงงานดังต่อไปนี้ (8) งานติดตั้งระบบผลิตน้ำประปา ขนาด 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง มูลค่างาน 273.81 ล้านบาท ซึ่งการประปานครหลวงได้มีหนังสือ ที่ มท 5450-3-1.2/40919 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2564 เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมตามหนังสือรับรองผลงานก่อสร้างระบบประปาตามโครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคเทศบาลฯ ตามสัญญาเลขที่ 3/2550
โดยขอให้เทศบาลฯ ชี้แจงกรณีหนังสือรับรองผลงานดังกล่าว ระบุว่า “กำลังการผลิตน้ำประปาขนาด 100,000ลูกบาศก์เมตรต่อวันของหนังสือรับรองผลงานก่อสร้างตามสัญญาเลขที่ 3/2550 เป็นขนาดกำลังการผลิตน้ำประปาที่จ่ายออกจากโรงงานผลิตน้ำประปา (Output Capacity) หรือเป็นขนาดกำลังการผลิตน้ำที่รวมปริมาณน้ำสูญเสียไว้ด้วยแล้ว และหากเป็นปริมาณกำลังการผลิตที่ออกจากโรงงานผลิตน้ำประปา (Output Capacity) ขนาด 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โรงงานผลิตน้ำดังกล่าวมีปริมาณน้ำสูญเสียในระบบเท่าใด”
ต่อมาเทศบาลฯ ได้มีหนังสือ ที่ นม 520005/550 ลงวันที่ 19 มกราคม 2565 ชี้แจงว่า “งานก่อสร้างโรงกรองนี้าแห่งใหม่ เป็นการก่อสร้างถังกวนช้า ถังตกตะกอนและถังกรอง มีกำลังการผลิตน้ำที่รวมน้ำสูญเสียไว้ด้วยตามข้อกำหนดในสัญญา” และเทศบาลฯ ได้มีหนังสือฯ ที่ นม 520005/550 ลงวันที่ 26 มกราคม 2565 ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันได้ทำการสืบค้น ข้อมูลเพิ่มเติมและขอยืนยันตามรายละเอียดเอกสารแนบท้ายสัญญา ข้อ 2.2 (มาตรฐานการก่อสร้าง เล่มที่ 1/2)
ทั้งนี้ จากเอกสารแนบท้ายสัญญาดังกล่าวไม่ปรากฏข้อมูลว่า ขนาดกำลังการผลิตน้ำประปา 4,400 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เป็นขนาดกำลังการผลิตน้ำประปาที่จ่ายออกจากโรงงานผลิตน้ำประปา หรือกำลังการผลิต ที่รวมปริมาณน้ำสูญเสียไว้ด้วยหรือไม่ คณะกรรมการพิจารณาผลฯ จึงได้สอบถามข้อเท็จจริงจากผู้อุทธรณ์ แต่ผู้อุทธรณ์ก็ไม่ได้ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมใด ๆ ที่ทำให้เชื่อได้ว่าโรงงานผลิตน้ำประปาดังกล่าวมีกำลังการผลิตน้ำประปาขนาด 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยไม่รวมปริมาณน้ำสูญเสีย
คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาฯ จึงสอบถามบริษัท โปรเกรส เทคโนโลยี คอนซัลแท็นส์ จำกัด ผู้ออกแบบโครงการดังกล่าว เพื่อให้พิจารณาวิเคราะห์คำนวณขนาดกำลังการผลิตน้ำประปาเบื้องต้น โดยนำเอกสารหลักฐานข้อมูล Process Pumps Schedule ที่เทศบาลฯ ได้ชี้แจงมาพร้อมกับหนังสือ ที่ นม 52005/418 ลงวันที่ 19 มกราคม 2565 ปรากฏว่า ได้ปริมาณน้ำประปาออกจากระบบผลิตน้ำประปา 4,110 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง (98,640 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน) ผู้อุทธรณ์จึงยื่นหนังสือรับรอง ผลงานก่อสร้างระบบตกตะกอนและระบบกรองน้ำสำหรับระบบผลิตน้ำประปา ขนาดน้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
2.กรณีผู้อุทธรณ์รายบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ยื่นสำเนาหนังสือรับรองผลงานของการประปาส่วนภูมิภาค ที่ มท 55621-2/10321 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2564 โดยรับรองว่า ผู้อุทธรณ์เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาค สาขาสุราษฎร์ อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามสัญญาเลขที่ กจห.24/2556 วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 ในวงเงินจำนวน 782 ล้านบาท
และฝ่ายวิศวกรรมรับรองว่า งานก่อสร้างดังกล่าวมีการก่อสร้างระบบตกตะกอน และระบบกรองน้ำ สำหรับระบบผลิตน้ำประปาพร้อมงานที่เกี่ยวข้องมีกำลังผลิต Nominal Capacity 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง (96,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน) เผื่อสูญเสียภายในอีก 10% เป็น 4,400 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง (105,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน) ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาผลฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ผลงานของผู้อุทธรณ์มีขนาดกำลังการผลิตน้ำในสภาวะปกติ 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง (96,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน) ตํ่ากว่าเงื่อนไขที่การประปานครหลวงกำหนด กรณีนี้ผู้อุทธรณ์ทั้ง 2 ราย จึงยื่นผลงานไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 2.11 จึงตัดสิทธิ์ผู้อุทธรณ์ทั้ง 2 ราย
แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากตามเงื่อนไขในเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 2.11 การประปานครหลวงกำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอ ต้องมีผลงานก่อสร้างระบบตกตะกอนและระบบกรองน้ำสำหรับระบบผลิตน้ำประปา พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง ขนาดไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันในสัญญาเดียวกัน วงเงินไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท
ซึ่งตามเงื่อนไขในเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 2.11 ดังกล่าว การประปานครหลวง มิได้กำหนดเงื่อนไขว่าจะพิจารณาผลงานของผู้ยื่นข้อเสนอโดยใช้ขนาดของระบบผลิต ซึ่งต้องหักน้ำสูญเสียออกจากผลงานการผลิตเพื่อพิจารณากำลังผลิตสุทธิ และการประปานครหลวง มิได้แสดงเอกสารทางวิชาการของหน่วยงานในสหรัฐอเมริกาที่แจ้งว่า กำลังการผลิตสุทธิควรพิจารณา โดยหักน้ำสูญเสียออกเพื่อให้ผู้ยื่นข้อเสนอทราบตั้งแต่ต้น
ประกอบกับกรณีนี้ผู้อุทธรณ์รายบริษัท ซิโน-ไทยฯ ยื่นหนังสือรับรองผลงานที่มีงานติดตั้งระบบผลิตนํ้าประปา ขนาด 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และผู้อุทธรณ์รายบริษัท วงษ์สยามก่อสร้างฯ ได้ยื่นหนังสือรับรองผลงานที่มีกำลังผลิต Nominal Capacity 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง (96,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน) เผื่อสูญเสียภายในอีก 10% เป็น 4,400 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง (104,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน) กรณีนี้ผู้อุทธรณ์ทั้ง 2 ราย จึงยื่นข้อเสนอเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 2.11 แล้ว
ดังนั้น ข้อกล่าวอ้างของผู้อุทธรณ์ทั้ง 2 ราย ฟังขึ้น และมีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีนัยสำคัญ จึงให้การประปานครหลวงกลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป ตามนัยมาตรา 119 วรรคสอง แห่งพระราขบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ ภาครัฐ พ.ศ.2560 ทั้งนี้ ให้การประปานครหลวงแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้ผู้อุทธรณ์ทั้ง 2 ราย ทราบด้วย
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2564 กปน.เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอโครงการงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง สัญญา GE-MS5/6-9 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคากลาง 6,526.97 ล้านบาท โดยมีเอกชนยื่นข้อเสนอ 5 ราย จากเอกชนที่ซื้อซอง 9 ราย ดังนี้
1.บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ยื่นเสนอราคา 6,150 ล้านบาท
2.บมจ.ซิโน-ไทยฯ ยื่นเสนอราคา 6,195.3 ล้านบาท
3.ITA Consortium (บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) และบริษัท อาควาไทย จำกัด) ยื่นเสนอราคา 6,490.56 ล้านบาท
4.บริษัท ช.การช่าง จำกัด ยื่นข้อเสนอราคา 6,523.8 ล้านบาท
5.กิจการร่วมค้า สี่แสงเอสจี ยื่นเสนอราคา 6,525 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ฯ ของ กปน. มีมติให้ ITA Consortium เป็นผู้ชนะการเสนอราคา โดยเสนอราคาเป็นเงิน 6,460.56 ล้านบาท และ ITA Consortium ยินดีลดราคาให้คงเหลือ 6,400 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 1 มี.ค.2565 กปน.ประกาศให้ ITA Consortium เป็นผู้ชนะการประมูล ขณะที่บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ที่ยื่นเสนอราคาต่ำสุดเป็นอันดับ 1 เป็นเงิน 6,150 ล้านบาท และ บมจ.ซิโน-ไทยฯ ที่ยื่นเสนอราคาต่ำสุดเป็นอันดับ 2 เป็นเงิน 6,195.3 ล้านบาท ไม่ผ่านการพิจารณา เนื่องจากขาดคุณสมบัติ
(ที่มา : รายงานการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน คณะที่ 1 เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2565)
อ่านประกอบ :
'ซิโนไทย-วงษ์สยามฯ'ชนะ'กปน.'! กก.อุทธรณ์ฯชี้ไม่ขาดคุณสมบัติ ประมูลขยายโรงงานน้ำ 6 พันล.
ตัดสิทธิเอื้อบางราย? ย้อนปมประมูลขยายโรงงานน้ำ 6.5 พันล. ก่อนเอกชนยื่นอุทธรณ์คุณสมบัติ
'ซิโนไทย-วงษ์สยามฯ' ยื่นอุทธรณ์ หลังถูกตัดสิทธิฯ ประมูลขยายโรงงานน้ำ 'กปน.' 6.5 พันล.