“…แม้ กปน. จะยังไม่ได้ประกาศว่าการประกวดราคาครั้งนี้บริษัทใดชนะการประกวดราคาตามระเบียบก็ตาม แต่การที่ กปน. ประวิงการประกาศผู้ชนะและมีพฤติการณ์ต่างๆ ที่แสดงว่าเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมายก็ทำให้บริษัทวงษ์สยามก่อสร้างฯ ได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าวแล้ว…”
.................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดเผยรายงานสอบหาข้อเท็จจริง กรณีการประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานก่อสร้างกำลังขยายการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ ของ การประปานครหลวง (กปน.) วงเงิน 6,500 ล้านบาท
โดยรายงานสอบหาข้อเท็จจริงฯ สรุปได้ว่า ผู้บริหารของ กปน. กับพวก มีพฤติการณ์และการกระทำที่เข้าข่ายความผิดฐานต่อตำแหน่งหน้าที่ฐาน ละเว้นหรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 120 และมาตรา 121 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
เนื่องจาก กปน. ไม่ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารงานพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง โดยมีการประวิงการประกาศผู้ชนะและมีพฤติการณ์ที่แสดงว่าเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ นั้น (อ่านประกอบ : ส่อใช้อำนาจมิชอบ! ‘กมธ.ป.ป.ช.’เผยผลสอบประมูลโรงงานน้ำ 6.5 พันล.-‘กปน.’ยังไม่เคาะผู้ชนะ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอ ‘รายงานสอบหาข้อเท็จจริง กรณี บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ขอให้ตรวจสอบการดำเนินการพิจารณาผลการประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานก่อสร้างกำลังขยายการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ ของ กปน.’ ของคณะกรรมาธิการฯ ป.ป.ช. มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@‘วงษ์สยามก่อสร้างฯ’ถูกตีตกคุณสมบัติ ก่อนอุทธรณ์ ‘ฟังขึ้น’
คณะกรรมาธิการฯ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการศึกษาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย พร้อมทั้งประชุมพิจารณา และสอบหาข้อเท็จจริง โดยเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมา ‘แถลงข้อเท็จจริง’ รวมทั้งได้ขอข้อมูลและเอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น รายงานการประชุมคณะกรรมการผลกาประกวดราคาฯ เป็นต้น เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ
ผลการพิจารณาสรุปได้ ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ประกาศการประปานครหลวง เรื่อง ประกวดราคาจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 100,000 ลูกบาศก์ต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง สัญญา GE-MS5/6-9 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์(e-bidding) ว่าอย่างไรบ้าง
พบว่า เอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยการประกวดราคาอเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เลขที่ GE-MS5/6-9 การจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้องสัญญา เลขที่ GE-MS5/6-9 ตามประกาศการประปานครหลวง ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2565
กำหนดให้บริษัทผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานตามข้อ 2.11 ระบุว่า
“ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานก่อสร้างระบบตกตะกอนและระบบกรองน้ำสำหรับระบบผลิตน้ำประปา พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง ขนาดไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์ต่อวันในสัญญาเดียวกัน วงเงินไม่น้อยกว่า 300,000,000 บาท (สามร้อยล้านบาท) และเป็นสัญญาที่ได้ทำงานแล้วเสร็จตามสัญญา ซึ่งได้มีการส่มอบและตรวจรับเรียบร้อยแล้ว
และเป็นผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกันกับหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่ กปน. เชื่อถือ โดยต้องมีหนังสือรับรองผลงาน สำเนาสัญญา และบัญชีปริมาณงานมาแสดง”
“ส่วนที่ 2 อย่างน้อยต้องมีเอกสารดังต่อไปนี้
...(3.5) เอกสารแสดงรายการข้อมูลเครื่องจักรและอุปกรณ์หลักที่จะนำมาใช้สำหรับงานก่อสร้างของผู้ยื่นข้อเสนอ ตามข้อ 1.1.2 ใบราคาและเอกสารแนบท้าย ภาคผนวก ค.
(3.6) ประกอบการณ์ของผู้ยื่นข้อเสนอ พร้อมสำเนาเอกสารสัญญา ใบรับรองผลงานแล้วเสร็จ หรือเอกสารที่ผู้ว่าจ้างเป็นผู้ออกให้พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง ตามข้อ 1.1.2 ใบเสนอราคาและเอกสารแนบท้าย ภาคผนวก ง.
(3.7) แบบฟอร์มข้อมูลแสดงประสิทธิภาพของเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตามข้อ 1.1.2 ใบเสนอราคาและเอกสารแนบท้าย ภาคผนวก ข ...”
อย่างไรก็ตาม ในเอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้างดังกล่าว ไม่ได้ระบุให้ต้องยื่น “เอกสารแนบท้าย ผนวก ฉ ด้วย แต่อย่างใด”
ต่อมา การประปานครหลวง มีหนังสือแจ้งผลการจัดซื้อจัดจ้างแก่ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้างฯ ว่า คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ มีมติให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้างฯ ไม่ได้รับการคัดเลือก เนื่องจากไม่ผ่านการตรวจสอบ เนื่องจากมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน
บริษัท วงษ์สยามก่อสร้างฯ ได้อุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้าง (อธ 2) ตามหนังสือที่ วส/065/03 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2565 เสนอไปยังผู้ว่าฯ กปน. และ กปน. แจ้งว่า “บริษัทฯ มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอตามที่กำหนดในประกวดราคา ข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 2.11 ....”
อย่างไรก็ดี บริษัท วงษ์สยามก่อสร้างฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน เกี่ยวกับคุณสมบัติของบริษัทฯ ผลปรากฏว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า การอุทธรณ์ของบริษัทฯ ‘ฟังขึ้น’ หรือบริษัท วงษ์สยามก่อสร้างฯ มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเอกสารประกวดราคาฯ
@'วงษ์สยามฯ'เสนอราคาต่ำสุด 6.15 พันล้าน ก่อน‘กปน.’ยกเลิกผลประมูล
ประเด็นที่ 2 ตามประกาศดังกล่าว มีบริษัทใดบ้าง ได้ยื่นเสนอประกวดราคา และเสนอประกวดราคาจำนวนเท่าใด
พบว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้างฯ เป็นบริษัทผู้ยื่นเสนอประกวดราคาต่ำสุดที่ราคา 6,150,000,000 บาท โดยบริษัท ITA Consortion ยื่นเสนอราคา 6,460,560,000 สูงกว่าบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง
ประเด็นที่ 3 เอกสารการประปานครหลวง เอกสารประกวดราคา เล่ม 2/8 ใบเสนอราคาและ เอกสารแนบท้าย (Form of Birds and Bill of Quantitie) สำหรับงานก่อสร้างฯ ภาคผนวก “ฉ” และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ข้อ 53 มีสาระสำคัญ ว่าอย่างไรบ้าง
พบว่า ตามเอกสารการประปานครหลวง เอกสารประกวดราคา เล่ม 2/8 ใบเสนอราคาและเอกสารแนบท้าย (Form of Birds and Bill of Quantitie) สำหรับงานก่อสร้างฯ ภาคผนวก ฉ แบบงานก่อสร้าง ระบุว่า
“...ภายในระยะเวลา 45 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งให้เริ่มงานจากการประปานครหลวง ผู้ชนะการประกวดราคาจะต้องส่งกราฟแผนงานที่แก้ไขแล้ว...”
ขณะที่ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ข้อ 53 ระบุว่า
“การเผยแพร่ประกาศและเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ครั้งใด หากหน่วยงานของรัฐได้กำหนดรายละเอียดของประกาศหรือเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่จะซื้อหรือจ้างไม่ถูกต้อง หรือไม่ครบถ้วนในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้หน่วยงานของรัฐยกเลิกการดำเนินการการซื้อหรือจ้างในครั้งนั้นแล้วดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องต่อไป”
ทั้งนี้ กปน. ไม่ได้มีการประกาศให้มีการยกเลิกเอกสารในผนวก “ฉ” แต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่า “ประกาศหรือเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์หรือขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะถูกต้องครบถ้วน ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนแล้ว”
ต่อมา กปน. ได้มีหนังสือ การประปานครหลวง ที่ มท 51506-1.2/.... ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2565 ขอหารือแนวทางการพิจารณาและการเสนอราคาและแนวทางการดำเนินการตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน(เพิ่มเติม) ถึง อธิบดีกรมบัญชีกลาง ได้แก่
ข้อ 1. ระบุว่า “เพื่อมิให้เกิดปัญหาขั้นตอนการบริหารสัญญาภายหลังเป็นการป้องกันความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐ และรักษาผลประโยชน์สาธารณะ หากการประปานครหลวง จะพิจารณายกเลิกการจัดจ้างในครั้งนี้ โดยอาศัยระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ข้อ 53
และการยกเลิกการจัดจ้างดังกล่าว จะขัดกับมาตรา 119 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และจะเป็นการไม่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม มาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 หรือไม่ อย่างไร
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 67 บัญญัติว่า “ก่อนลงนามในสัญญาหน่วยงานของรัฐบาลประกาศยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างที่ได้ดำเนินการไปแล้วได้ในกรณีดังต่อไปนี้... (3) การทำการจัดซื้อจัดจ้างต่อไปอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ”
ต่อมา กปน. ได้ประกาศการประปานครหลวง เรื่อง ยกเลิกประกาศผู้ชนะการเสนอราคาประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง สัญญา GE-MS5/6-9 ด้วยวิธีการประกวดราคาอเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)
ขณะที่ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้างฯ ได้มีหนังสือขอคัดค้านข้อหารือของการประปานครหลวงงานจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ไปยังอธิบดีกรมบัญชีกลาง
โดยบริษัท วงษ์สยามก่อสร้างฯ เห็นว่าการยกเลิกการประกวดราคาฯไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม มาตรา 67(3) ดังกล่าว และไม่สอดคล้องกับระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฯ ข้อ 53 และการยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างขัดกับมาตรา 119 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ
@เปิด‘ข้อหารือ-ข้อคัดค้าน’ เสนอล้มประมูลโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ
ประเด็นที่ 4 บริษัท วงษ์สยามก่อสร้างฯ ได้มีข้อคัดค้านข้อหารือของการประปานครหลวง งานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ ไปยังอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในประเด็นใดบ้าง และบริษัทฯ มีความเห็นอย่างไรในประเด็นดังกล่าว
ประเด็นข้อหารือตามหนังสือการประปานครหลวงที่ มท 5450-3-1.2/17914 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2565
-กปน. หารือว่า ในการยื่นเสนอ ผู้ยื่นข้อเสนอไม่ได้ยื่นเอกสารภาคผนวก “ฉ” แผนงานการก่อสร้าง ซึ่งมีความสำคัญต่อการบริหารสัญญา เพื่อให้การประปานครหลวง มั่นใจว่า ผู้ยื่นข้อเสนอมีความรู้ความเข้าใจในลักษณะของงานก่อสร้าง มีการวางแผนงานก่อสร้างที่ดี ถูกต้อง สัมพันธ์กันทั้งระบบ เพื่อให้งานก่อสร้างระบบผลิตน้ำแล้วเสร็จได้ตามกำหนดเวลา กรณีนี้ กปน. จะสามารถพิจารณาตัดสิทธิ์ผู้ยื่นข้อเสนอรายได้หรือไม่
บริษัท วงษ์สยามก่อสร้างฯ คัดค้านว่า
1.กปน. ไม่ได้ระบุให้ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องยื่นภาคผนวก “ฉ” มาพร้อมกับการเสนอราคา โดยปรากฎในเอกสารประกวดราคา หน้าที่ 4 และ 5
2.ในคราวที่ กปน. ประกาศให้ ITA Consortium เป็นผู้ชนะการประกวดราคา กปน. ไม่เคยทักท้วงหรือหยิบยกประเด็นการยื่นภาคผนวก “ฉ” มาขอหารือกรมบัญชีกลางแต่อย่างใด
3.บริษัทฯ มีหลักฐานที่แสดงได้อย่างชัดเจนว่า บริษัทฯ ได้ยื่นข้อเสนอราคาผ่านทางระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ถูกต้องครบถ้วน ตามที่ กปน. กำหนด โดยพิสูจน์ได้จากข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565กปน. มีหนังสือบริษัทฯ เพื่อแจ้งผลการจัดซื้อจัดจ้าง ว่า บริษัทฯ ไม่ได้รับการคัดเลือกเพราะมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน
ส่วนเรื่องประเด็น “ยื่นเอกสารไม่ถูกต้องและครบถ้วน” และ “ยื่นข้อเสนอทางเทคนิคไม่เป็นไปตามประกาศ” นั้น ในแบบแจ้งการจัดซื้อจัดจ้าง กปน. ไม่ได้ท้วงติง ย่อมเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า บริษัทฯ ยื่นเอกสารถูกต้องและครบถ้วนและยื่นข้อเสนอทางเทคนิคเป็นไปตามที่ประกาศฯ
-กปน.หารือว่า กรณีที่หน่วยงานได้ประกาศประกวดราคาและได้ประกาศผู้ชนะการประกวดราคาและมีผู้อุทธรณ์โดยมีผลอุทธรณ์ฟังขึ้น แต่ต่อมาหน่วยงานได้ตรวจพบว่า ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขข้อ 3 หลักฐานยื่นข้อเสนอให้ครบถ้วนและกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอไม่ชัดเจน
ทำให้เกิดการตีความจนผิดหลักการทางวิศวกรรมและวัตถุประสงค์ในการจ้างหรือพบข้อกำหนดผิดพลาดในส่วนที่เป็นสาระสำคัญอื่นๆ การประปานครหลวง จะพิจารณายกเลิกการจัดจัดจ้างโดยอาศัยระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ.2560 ข้อ 53 ได้หรือไม่
บริษัท วงษ์สยามก่อสร้างฯ คัดค้านว่า
1.การตีความตามเจตนารมณ์ของ ข้อ 53 ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ.2560 นี้ได้กำหนดไว้ได้ชัดแจ้งว่า ให้หน่วยงานของรัฐยกเลิกการดำเนินการการซื้อหรือจ้างใหม่ให้ถูกต้องได้เฉพาะในกรณีที่ยังอยู่ในช่วงขั้นตอน “การเผยแพร่ประกาศและเอกสารประกวดราคาอเล็กทรอนิกส์เท่านั้น”
2.การที่ กปน. ได้ประกาศประกวดราคาและได้ประกาศผู้ชนะการเสนอราคาเป็นที่สำเร็จแล้ว ถือได้ว่า กปน. ได้ยอมรับว่าการเผยแพร่ประกาศและเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์นั้น ถูกต้อง ครบถ้วน และถือเป็นที่ยุติแล้ว
3.กปน. จึงไม่สามารถยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างในครั้งนี้ โดยอาศัยระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ.2560 ที่กำหนดให้การวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด กปน. จึงมีหน้าที่เพียงกลับไปดำเนินการในขั้นตอนพิจารณาผลการเสนอราคาเท่านั้น
@‘กรมบัญชีกลาง’ชี้ยกเลิกสัญญาได้ หากเห็นว่าจะเกิดปัญหา
ขณะที่ สมศักดิ์ ภู่สกุล รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ผู้แทนของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และคณะ ให้ความเห็นต่อคณะกรรมาธิการฯ ป.ป.ช. ว่า
“กระบวนการพิจารณาเมื่อมีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ผู้เสนอราคาต้องยื่นเสนอราคาทุกอย่างให้เป็นไปตามเงื่อนไข หน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาผลของ กปน. ต้องพิจารณาทุกเรื่องให้ครบถ้วนว่า ผู้ใดตกหรือผ่านในทุกข้อให้ครบทีเดียว แล้วจึงแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ที่โดนตัดสิทธิทราบพร้อมเหตุผล เพื่อให้เกิดสิทธิอุทธรณ์ต่อไป
การประปานครหลวงจะหาเหตุข้ออื่นหลังจากที่ผู้ประกอบการได้อุทธรณ์และผลอุทธรณ์ฟังขึ้น ไปพิจารณาแล้วจะยกเลิกสัญญา ต้องไปพิจารณาข้อเท็จจริงจากเจตนาว่า ผิดพลาดอย่างสุจริตหรือไม่ อย่างไร ซึ่งถ้าพิจารณาผิดพลาดไปจริงๆ ถ้าหากลงนามในสัญญาไปจะเกิดปัญหา ถ้าตราบใดหน่วยงานที่จะยกเลิกจะเป็นคำสั่งทางปกครองทั้งสิ้น ดังนั้น การยกเลิกต้องชอบด้วยกฎหมาย”
@‘กปน.’ ยืนยันไม่ได้ประวิงเวลา-มีผู้แทน ACT ร่วมสังเกตการณ์
ด้าน กปน. ได้ส่งผู้แทนมาชี้แจง ได้แก่ มานิต ปานเอม ผู้ว่าการ กปน. , กวี อารีกุล อดีตผู้ว่าการ กปน. และคณะ ให้ข้อมูลว่า “ขั้นตอนของการพิจารณาผู้ชนะรายใหม่ ต้องกลับไปพิจารณาด้านเทคนิคที่ผู้รับจ้างส่งมา ซึ่งถูกกำหนดอยู่ในประกาศข้อที่ 3.7 ที่ระบุแบบฟอร์มข้อมูลแสดงประสิทธิภาพเครื่องจักรและอุปกรณ์ ซึ่งอยู่ในภาคผนวก ช
และตามข้อที่ 6.3 ที่ระบุว่า หากผู้ยื่นข้อเสนอรายใด มีคุณสมบัติไม่ถูกต้องตามข้อ 2 หรือยื่นหลักฐานการยื่นข้อเสนอไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนตามข้อ 3 หรือยื่นข้อเสนอไม่ถูกต้องตามข้อ 4 คณะกรรมการพิจารณาผลจะไม่รับพิจารณาของผู้ยื่นข้อเสนอรายนั้น”
เมื่อคณะกรรมาธิการฯ ป.ป.ช. สอบถามว่า การพิจารณาเรื่องเทคนิคต้องมาก่อนคุณสมบัติการผลิต และต้องมีการเปิดซองประมูลพร้อมกันจริงหรือไม่ มานิต และคณะ ให้ข้อมูลว่า “ต้องมีการเปิดซองประมูลพร้อมกันอยู่แล้ว แต่ในขั้นตอนการตรวจสอบ ต้องตรวจสอบไปตามขั้นตอน
แต่ตามข้อเท็จจริง มีข้อสงสัยตามภาคผนวก ช ซึ่งบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ไม่ผ่านคุณสมบัติ ณ ตอนนั้น คณะกรรมการฯ จึงยังไม่ได้สอบถามประเด็นข้อสงสัย เนื่องจากต้องใช้เอกสารเยอะ ซึ่งภายหลังมีการอุทธรณ์เพื่อให้มีการพิจารณาใหม่ จึงต้องย้อนไปสอบถามประเด็นข้อสงสัยเพื่อประกอบการพิจารณา
เนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาฯ มีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นเสนอราคาในแต่ละขั้นตอน ซึ่งหากคุณสมบัติเบื้องต้นไม่ผ่านแล้ว จึงไม่ได้ทำการตรวจสอบคุณสมบัติด้านเทคนิคให้ครบถ้วน ไม่ได้มีการประวิงเวลาเนื่องจากมีเอกสารหลักฐานทั้งหมด
และมีผู้สังเกตการณ์ที่ได้รับการแต่งตั้งจากองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่นเข้าสังเกตการณ์ทุกขั้นตอน และโครงการนี้ได้เข้าโครงการคุณธรรม จึงมีเอกสารหลักฐานชัดเจนทุกอย่าง”
@คำสั่ง‘คกก.อุทธรณ์’เป็นที่สุด แต่ไม่ปฏิบัติตามได้หาก ‘มีเหตุอันควร’
ด้าน นิทัศน์ มณีศิลานันท์ ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาการจัดซื้อและจัดจ้าง กปน. และคณะ ให้ข้อมูลว่า “ผลการอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กรมบัญชีกลางมีผลทางกฎหมายอย่างไร ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 นั้น จะถือว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้ถือเป็นที่สุด
และได้มีการนำเรื่องนี้มาพิจารณาในที่ประชุม มีการสอบถามว่าเหตุใดยังต้องตรวจสอบเอกสารด้านเทคนิค ซึ่งได้รับคำตอบว่า ‘ยังไม่ได้ตรวจ’ เนื่องจากต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ตรวจสอบ”
เมื่อถามว่า “ผลการอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กรมบัญชีกลางการประปานครหลวงต้องปฏิบัติตามทั้งหมดหรือไม่ และเมื่อใดคณะกรรมการเปิดซองสอบราคาจะพิจารณาเสร็จสิ้น” นิทัศน์ และคณะ ให้ข้อมูลว่า “คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เป็นที่สุด
แต่การที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งต้องมีเหตุอันควร ซึ่งกำหนดอยู่ใน พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 อันเป็นอำนาจของคณะกรรมการเปิดซองสอบราคา ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามโดยไม่มีเหตุอันควรจะมีโทษทางอาญา โดยตนมีหน้าที่พิจารณาว่าการที่คณะกรรมการเปิดซองสอบราคาไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์สมเหตุสมผลหรือไม่ และในขั้นตอนการพิจารณาซอง ตนได้เร่งรัดให้เสร็จสิ้นเพื่อให้มีข้อยุติและประเด็นต่างๆ ต้องสิ้นสงสัย”
@การพิจารณาผลประมูล ‘กปน.’ เน้นเรื่อง ‘ผลงาน-ประสบการณ์’
ส่วน บรรจง วงษา ประธานคณะคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ สัญญา GE-MS5/6-9 และคณะ ให้ข้อมูลว่า “การพิจารณาผลฯ จะไม่ทราบราคาของผู้ยื่นข้อเสนอจนกระทั่งประกาศราคา จะทราบเพียงแค่ของ 2 บริษัทที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเบื้องต้น และจะไม่ทราบราคาของรายที่ไม่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น
พิจารณาตามคุณสมบัติข้อที่ 2 และ 3 ซึ่งจะเป็นในเรื่องของผลงาน ซึ่งมีหลักเกณฑ์โดยระบุไว้ในระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ข้อ 2.11
และในด้านของประสบการณ์ จะมีการพิจารณาผลตามเกณฑ์พิจารณาเบื้องต้นตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ข้อ 1-18 ทุกข้อ โดยมีการตรวจสอบเอกสารทั้งหมด แต่จะมีหลักเกณฑ์ใหญ่ๆ เบื้องต้น เช่น คุณสมบัติที่สำคัญที่สุด คือ ผลงานและประสบการณ์
ทั้งนี้ ในการพิจารณาผลรอบแรก จะมีการประชุมหารือกันระหว่างคณะกรรมการฯว่า หากบริษัทใดมีขีดความสามารถไม่ถึง จะไม่ถูกพิจารณาต่อในคุณสมบัติส่วนอื่น เช่น ประสิทธิภาพและอุปกรณ์ในการทำงาน”
เมื่อถามว่า “หากมีการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น 18 ข้อไปแล้ว จะสามารถย้อนกลับไปตรวจสอบได้อีกหรือไม่” บรรจง ให้ข้อมูลว่า “จะมีการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นทั้ง 18 ข้อ แต่ในเรื่องของประสิทธิภาพเครื่องจักรอุปกรณ์เป็นข้อมูลทางเทคนิค จะตรวจสอบเฉพาะรายที่ผ่านคุณสมบัติรอบแรก
ต่อมามีคำวินิจฉัยจากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จึงได้เชิญบริษัทที่ผ่านใหม่ 2 ราย คือ บริษัท ซิโน-ไทยฯ และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เข้ามาผ่านกระบวนการพิจารณาคุณสมบัติในด้านของประสิทธิภาพเครื่องจักรอุปกรณ์ โดยได้ให้บริษัทผู้ออกแบบช่วยตรวจสอบเอกสารของผู้ยื่นข้อเสนอราคาว่า เป็นไปตามรายละเอียดประกอบแบบเพิ่มเติมหรือไม่ และมีการตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสาร”
ด้าน นิสิต จันทร์สมวงศ์ ประธานกรรมการการประปานครหลวง , มานิต ปานเอม ผู้ว่าการ กปน. และคณะ ให้ข้อมูลว่าเป็น “คณะกรรมการการประปานครหลวงมีหน้าที่กำกับดูแลการประปานครหลวงในเชิงนโยบาย การขับเคลื่อนภารกิจของการประปานครหลวงให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ แผนพัฒนาองค์กร และตัวชี้วัดของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ที่กำหนดให้ดำเนินการ” ฯลฯ
@ผลสอบฯชี้ ‘กปน.’ ส่อทำผิดกฎหมาย-แนะยื่น‘ป.ป.ช.’ไต่สวนข้อเท็จจริง
บทสรุป
จากความเห็นของ สมศักดิ์ ภู่สกุล รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ผู้แทนของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ที่ได้ให้ความเห็นต่อกับคณะกรรมาธิการฯ ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร ว่า กระบวนการพิจารณา เมื่อมีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ผู้เสนอราคาต้องยื่นเสนอราคาทุกอย่างให้เป็นไปตามเงื่อนไข
หน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาผลของ กปน. ต้องพิจารณาทุกเรื่องให้ครบถ้วนว่า ผู้ใดตกหรือผ่านในทุกข้อให้ครบทีเดียว แล้วจึงแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ที่โดนตัดสิทธิทราบพร้อมเหตุผล เพื่อให้เกิดสิทธิอุทธรณ์ต่อไป
การประปานครหลวง จะหาเหตุข้ออื่นหลังจากที่ผู้ประกอบการได้อุทธรณ์และผลอุทธรณ์ฟังขึ้น ไปพิจารณาแล้วจะยกเลิกสัญญา ต้องไปพิจารณาข้อเท็จจริงจากเจตนาว่าผิดพลาดอย่างสุจริต หรือไม่ อย่างไร ถ้าเกิดจากความผิดพลาด หากลงนามในสัญญาไปจะเกิดปัญหา
การยกเลิกต้องชอบด้วยกฎหมายและการวินิจฉัยว่าการยกเลิกการจัดจ้างตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ข้อ 53 เป็นดุลยพินิจและเป็นคำสั่งทางปกครอง
การยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างด้วยเหตุตามมาตรา 67 วรรคหนึ่ง (3) ย่อมต้องเป็นกรณีที่หน่วยงานของรัฐพิจารณาแล้วเห็นว่า หากทำการจัดซื้อจัดจ้างต่อไปอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะอย่างไร กรณีดังกล่าวย่อมอยู่ในดุลยพินิจที่หน่วยงานของรัฐ อาจประกาศยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างที่ได้ดำเนินการไปแล้วตามนัยมาตรา 67 วรรคหนึ่ง (3)
หากไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน จะลงนามในสัญญายังไม่ได้ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะมีความผิดฐาน “ละเว้นหรือไม่ปฏิบัติ" ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 120 และมาตรา 121 และขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
แต่การกระทำของ นาย...กับพวก ที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาเรื่องนี้กลับ ไม่ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารงานพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ.2560 ที่กำหนดให้การวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด
กปน. จึงมีหน้าที่เพียงกลับไปดำเนินการในขั้นตอนพิจารณาผลการเสนอราคาเท่านั้น แต่ กปน. ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวกลับไปประวิงเวลาในการประกาศผู้ชนะการประกวดราคา
การกระทำดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจที่ขัดกับระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ข้อ 53 และมาตรา 67 วรรคหนึ่ง (3) ซึ่งการยกเลิกสัญญาได้ต่อเมื่อการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ หรือไม่อย่างไร
แต่กรณีนี้เมื่อตรวจสอบแล้วปรากฏว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้างฯ มีคุณสมบัติผ่านตามข้อสัญญาทุกข้อและเป็นบริษัทผู้เสนอราคาต่ำที่สุด หาก กปน. ประกาศให้บริษัทวงษ์สยามก่อสร้างฯ เป็นผู้ชนะการประกวดราคาก็ทำให้ภาครัฐได้รับประโยชน์มากที่สุด
แม้ กปน. จะยังไม่ได้ประกาศว่าการประกวดราคาครั้งนี้บริษัทใดชนะการประกวดราคาตามระเบียบก็ตาม แต่การที่ กปน. ประวิงการประกาศผู้ชนะและมีพฤติการณ์ต่างๆ ที่แสดงว่าเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมายก็ทำให้บริษัทวงษ์สยามก่อสร้างฯ ได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าวแล้ว
พฤติการณ์และการกระทำดังกล่าวของ นาย...กับพวก เข้าข่ายความผิดฐานต่อตำแหน่งหน้าที่ฐาน ละเว้นหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 120 และมาตรา 121 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ข้อเสนอแนะ
1.เห็นควรส่งรายงานสอบหาข้อเท็จจริงไปยัง ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาไต่สวนข้อเท็จจริง เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่าใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ
2.เห็นควรส่งรายงานการสอบหาข้อเท็จจริงฉบับนี้ไปยัง ปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
3.เห็นควรส่งรายงานการสอบหาข้อเท็จจริงฉบับนี้ไปยัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
เหล่านี้เป็นสาระสำคัญของรายงานสอบหาข้อเท็จจริงฯ กรณีการประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานก่อสร้างกำลังขยายการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ ของ กปน. และต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้วการประมูลโครงการมูลค่า 6,500 ล้านบาท จะได้ข้อสรุปอย่างไร?
อ่านประกอบ :
ส่อใช้อำนาจมิชอบ! ‘กมธ.ป.ป.ช.’เผยผลสอบประมูลโรงงานน้ำ 6.5 พันล.-‘กปน.’ยังไม่เคาะผู้ชนะ
7 เดือนไม่คืบ! ‘วงษ์สยามฯ’ ทวง ‘กปน.’ แจ้งผลประมูลขยายโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ฯ 6.5 พันล.
ทรัพย์สิน 95.58 ล. ‘กวี อารีกุล’ อดีตผู้ว่าฯ กปน. คู่สมรส ลงทุน 49 รายการ 36 ล.
'กปน.'ยังไม่สรุป! ล้มประมูลโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ฯ 6.5 พันล.-'บิ๊กวงษ์สยามฯ'รอความชัดเจน
'กรมบัญชีกลาง'ชี้'กปน.'ล้มประมูลโรงงานน้ำได้ แต่หากใช้ดุลพินิจ'ไม่สุจริต'เสี่ยงโดนฟ้อง
‘กปน.’แจงประมูลขยายโรงงานน้ำ‘มหาสวัสดิ์’ 6.5 พันล. ไม่เอื้อประโยชน์บางราย-ประวิงเวลา
‘วงษ์สยามฯ’ ร้อง ‘กรมบัญชีกลาง’ คัดค้านข้อหารือ ‘กปน.’ ล้มประมูลโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์
อ้างTORไม่ชัดเจน! ย้อนดูหนังสือ 3 ฉบับ ‘กปน.’ดันล้มประมูล โรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ 6.5 พันล.