“…หากให้ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไป และ กปน.ได้ลงนามสัญญาโครงการพิพาทกับผู้ชนะการประกวดราคา ย่อมทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง ทั้งโครงการพิพาทเป็นโครงการของรัฐที่มีมูลค่าสูง จึงชอบที่จะต้องได้รับการพิจารณาโดยรอบคอบ ถูกต้อง เป็นธรรม ก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญากับผู้มีสิทธิเป็นคู่สัญญากับรัฐต่อไป…”
..........................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลาง ได้มีการไต่สวนฉุกเฉินฯคำร้องขอเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ในคดีหมายเลขดำที่ 575/2566 ซึ่งเป็นคดีที่ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้างฯ ยื่นฟ้องผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) กับพวกรวม 3 คน
กรณี กปน. ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง เนื่องจากได้ประกาศให้ ITA Consortium (บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) และบริษัท อาควาไทยฯ) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาสัญญาจ้างงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง สัญญา GE-MS5/6-9 ด้วยราคา 6,390 ล้านบาท
ก่อนที่ศาลฯจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศ กปน. ลงวันที่ 7 มี.ค.2566 เรื่อง ประกาศผู้ชนะการเสนอราคาประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ ที่ประกาศให้ ITA Consortium เป็นผู้ชนะการเสนอราคาไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น นั้น (อ่านประกอบ : ‘ศาลปค.กลาง’สั่ง‘กปน.’ระงับเซ็นสัญญาจ้าง‘อิตาเลียนไทย’สร้างโรงงานผลิตน้ำฯ 6.39 พันล้าน)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับการไต่สวนฯคำร้องขอเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวฯของศาลปกครองกลางในคดีดังกล่าว ให้สาธารณชนรับทราบ สรุปได้ ดังนี้
@มีเหตุจำเป็นต้องมีคำสั่งเร่งด่วน-ไม่ต้องมีคำแถลงตุลาการฯ
ศาลไต่สวนผู้ฟ้องคดี (บริษัท วงษ์สยามก่อสร้างฯ) เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2566 โดยผู้ฟ้องคดีชี้แจงต่อศาลว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากกรณีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดในโครงการพิพาท (โครงการจ้างก่อสร้างงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ) แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก
และผู้ฟ้องคดีทราบจากผู้สังเกตการณ์อย่างไม่เป็นทางการว่า ผู้ถูกฟ้องคดี (กปน.) จะมีการลงนามสัญญากับผู้ชนะการประกวดราคาในวันที่ 24 มี.ค.2566 จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล และขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา เพื่อห้ามมิให้ กปน. ลงนามในสัญญากับผู้ชนะการประกวดราคา ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลเห็นว่า กรณีมีเหตุจำเป็นที่ศาลจะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาโดยเร่งด่วน โดยไม่ต้องมีคำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดี ทั้งนี้ ตามข้อ 72/1 วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543
@สั่งทุเลาบังคับ‘ประกาศพิพาทฯ’ ชี้น่าจะมีปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลได้ตรวจพิจารณาคำฟ้อง คำขอให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาพยานหลักฐานต่างๆ ในสำนวนคดี รวมทั้งได้พิจารณาบทกฎหมายและกฎที่สำคัญประกอบแล้ว
กรณีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า มีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราว ตามคำขอของผู้ฟ้องคดี (บริษัท วงษ์สยามก่อสร้างฯ) หรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดี (บริษัท วงษ์สยามก่อสร้างฯ) ได้ยื่นข้อเสนอราคางานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ ตามประกาศ กปน. ลงวันที่ 29 ต.ค.2564 (โครงการพิพาท) แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯได้พิจารณาอุทธรณ์แล้วเห็นว่า ฟังขึ้น จึงมีคำสั่งให้ กปน. กลับไปดำเนินการในขั้นตอนพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้อง ตามนัยมาตรา 119 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยแจ้งเป็นหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค (กอร) 0405.5/14496 ลงวันที่ 21 เม.ย.2565
แต่ปรากฏต่อมาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ผู้ว่าฯ กปน.) ได้แจ้งผลการพิจารณาลงวันที่ 7 มี.ค.2566 ว่า ผู้ฟ้องคดี (บริษัท วงษ์สยามก่อสร้างฯ) ไม่ได้รับการคัดเลือก เนื่องจากไม่ผ่านการตรวจสอบกรณี ‘ยื่นเอกสารไม่ถูกต้องและครบถ้วน’ ตามแบบแจ้งผลการจัดซื้อจัดจ้างที่ มท 5450 ข3ข1.2/7978 ลงวันที่ 7 มี.ค.2566
และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ผู้ว่าฯ กปน.) ได้มีประกาศพิพาท ลงวันที่ 7 มี.ค.2566 ประกาศให้ ITA Consortium เป็นผู้ชนะการเสนอราคาเป็นเงินทั้งสิ้น 6,390 ล้านบาท
จากการพิจารณาข้อเท็จจริงในชั้นนี้ จึงเห็นว่า ประกาศฉบับพิพาท (ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา ประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ ลงวันที่ 7 มี.ค.2566) ที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี จึงน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย
และโดยที่พิเคราะห์ตามคำขอท้ายฟ้องของผู้ฟ้องคดีแล้ว เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาล โดยประสงค์จะเป็นผู้ชนะการประกวดราคาโครงการพิพาท เนื่องจากเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด โดยไม่ประสงค์จะเรียกค่าเสียหาย
ดังนั้น หากให้ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไป และ กปน.ได้ลงนามสัญญาโครงการพิพาทกับผู้ชนะการประกวดราคา ย่อมทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง
ทั้งโครงการพิพาทเป็นโครงการของรัฐที่มีมูลค่าสูง จึงชอบที่จะต้องได้รับการพิจารณาโดยรอบคอบ ถูกต้อง เป็นธรรม ก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญากับผู้มีสิทธิเป็นคู่สัญญากับรัฐต่อไป
กรณีจึงเห็นว่าการที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศฉบับพิพาทย่อมไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่การบริการสาธารณะ ข้อเท็จจริงเบื้องต้น จึงครบเงื่อนไขทั้งสามประการที่ศาลมีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองได้ ตามข้อ 72 วรรคสาม แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543
“จึงมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศ กปน. ลงวันที่ 7 มี.ค.2566 เรื่อง ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา ประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้องสัญญา GE-MS5/6-9 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1
ที่ประกาศให้ ITA Consortium เป็นผู้ชนะการเสนอราคาไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ตามข้อ 72 วรรคสาม ประกอบข้อ 72/1 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543” คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครองกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ 575/2566 ลงวันที่ 24 มี.ค.2566 ระบุ
จากนี้จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า กปน.จะมีการอุทธรณ์คำสั่งศาลฯหรือไม่ และในที่สุดแล้วการประมูลงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯมูลค่ามากกว่า 6,000 ล้านบาท ของ กปน. จะได้บทสรุปอย่างไร?
อ่านประกอบ :
‘ศาลปค.กลาง’สั่ง‘กปน.’ระงับเซ็นสัญญาจ้าง‘อิตาเลียนไทย’สร้างโรงงานผลิตน้ำฯ 6.39 พันล้าน
‘วงษ์สยามฯ’ยก 4 ปม ยื่น‘ผู้ว่าฯกปน.’ อุทธรณ์ผลประมูลโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ 6.3 พันล.
อ้าง'วงษ์สยาม'เอกสารไม่ครบ! 'กปน.'ให้'อิตาเลียนไทย'ชนะประมูลโรงงานผลิตน้ำ 6.39 พันล้าน
เปิดผลสอบ‘กมธ.ป.ป.ช.’ ประมูลโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ 6.5 พันล. ก่อนชี้‘กปน.’ส่อใช้อำนาจมิชอบ
ส่อใช้อำนาจมิชอบ! ‘กมธ.ป.ป.ช.’เผยผลสอบประมูลโรงงานน้ำ 6.5 พันล.-‘กปน.’ยังไม่เคาะผู้ชนะ
7 เดือนไม่คืบ! ‘วงษ์สยามฯ’ ทวง ‘กปน.’ แจ้งผลประมูลขยายโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ฯ 6.5 พันล.
ทรัพย์สิน 95.58 ล. ‘กวี อารีกุล’ อดีตผู้ว่าฯ กปน. คู่สมรส ลงทุน 49 รายการ 36 ล.
'กปน.'ยังไม่สรุป! ล้มประมูลโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ฯ 6.5 พันล.-'บิ๊กวงษ์สยามฯ'รอความชัดเจน
'กรมบัญชีกลาง'ชี้'กปน.'ล้มประมูลโรงงานน้ำได้ แต่หากใช้ดุลพินิจ'ไม่สุจริต'เสี่ยงโดนฟ้อง
‘กปน.’แจงประมูลขยายโรงงานน้ำ‘มหาสวัสดิ์’ 6.5 พันล. ไม่เอื้อประโยชน์บางราย-ประวิงเวลา
‘วงษ์สยามฯ’ ร้อง ‘กรมบัญชีกลาง’ คัดค้านข้อหารือ ‘กปน.’ ล้มประมูลโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์
อ้างTORไม่ชัดเจน! ย้อนดูหนังสือ 3 ฉบับ ‘กปน.’ดันล้มประมูล โรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ 6.5 พันล.