“หากผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมธนารักษ์) ได้แจ้งแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ก็ต้องใช้สิทธิทางศาล โดยฟ้องคดีต่อศาลขอให้ศาลบังคับให้หรืออาศัยคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของผู้ฟ้องคดี เป็นต้น ส่วนฝ่ายผู้ฟ้องคดีที่เห็นว่า ตนมีสิทธิครอบครองทรัพย์สินที่ครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่ เคยครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่อย่างไร ก็ยังคงครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่เช่นเดิมอย่างนั้น…”
..........................................
จากกรณีที่ ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 68/2566 หมายเลขแดงที่ 673/2568 ระหว่าง บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ (ผู้ฟ้องคดี) กับ กรมธนารักษ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ และ ปลัดกระทรวงการคลัง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3) และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ผู้ร้องสอด
ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการส่งมอบทรัพย์สินในโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ภายใต้สัญญาการบริหารและการดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (EEC) ฉบับลงวันที่ 26 ธ.ค.2536
โดยศาลฯพิพากษา ‘ยกฟ้อง’ เนื่องจากศาลฯพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า อีสท์วอเตอร์ (ผู้ฟ้องคดี) ไม่เป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดี ตามนัยมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 นั้น (อ่านประกอบ : ไม่มีสิทธิฟ้อง! ‘ศาลปค.’ยกฟ้องคดี‘อีสท์วอเตอร์’ขอเพิกถอนคำสั่ง‘ธนารักษ์’คืนท่อส่งน้ำ EEC)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียด ‘คำวินิจฉัย’ ของ ‘ศาลปกครองกลาง’ ในคดีนี้ (คดีหมายเลขดำที่ 68/2566 หมายเลขแดงที่ 673/2568) มีรายละเอียด ดังนี้
@‘ธนารักษ์’ต้องใช้‘สิทธิทางศาล’หาก‘อีสท์วอเตอร์’ไม่คืนท่อ
ศาลได้ตรวจพิจารณากฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยแล้ว
คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมธนารักษ์) โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อธิบดีกรมธนารักษ์) มีคำสั่งตามหนังสือกรมธนารักษ์ ที่ กค 0310/12271 ลงวันที่ 30 ก.ย.2565 ให้ผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) ส่งมอบทรัพย์สินในส่วนโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว
และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ปลัดกระทรวงการคลัง) มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ยืนตามคำสั่งดั่งกล่าว เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่า กรณีนี้เป็นกรณีที่ศาลจำเป็นต้องต้องมีคำบังคับเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนหรือความเสียหายของผู้ฟ้องคดีหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า .... คดีที่ศาลจะพิจารณาวินิจฉัยในปัญหาเนื้อหาแห่งคดีให้ได้นั้น นอกจากจะเป็นกรณีพิพาทที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 และผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเสี่ยงได้แล้ว ยังต้องเป็นกรณีที่ศาลจำเป็นต้องมีคำบังคังคับ เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนหรือความเสียหายของผู้ฟ้องคดีอีกด้วย
คดีนี้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับสิทธิในการเป็นผู้เช่าและบริหารจัดการท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออกตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2535 ให้เป็นผู้รับผิดชอบรายเดียวในการจัดการและพัฒนาระบบท่อส่งนำสายหลักในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกตามสัญญาการบริหารและการดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 26 ธ.ค.2563 มีกำหนดระยะเวลา 30 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2537 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566
ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมธนารักษ์) ได้ประสานและนำโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดระยองและจังหวัดชลบุรี ดำเนินการโดยกรมโยธาธิการ มาส่งมอบให้แก่ผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) เป็นผู้เช่าและบริหารจัดการ ตามบันทึกการส่งมอบ-รับมอบที่ราชพัสดุโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี ลงวันที่ 30 ต.ค.2540
ส่วนโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ประสานและนำโครงการดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ดำเนินการโดยกรมโยธาธิการ มาส่งมอบให้แก่ผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) เป็นผู้เช่าและบริหารจัดการ ตามบันทึกการส่งมอบ-รับมอบที่ราชพัสดุโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) จังหวัดชลบุรี ลงวันที่ 9 ต.ค.2541
ในระหว่างปฏิบัติตามสัญญา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมธนารักษ์) โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อธิบดีกรมธนารักษ์) ได้มีคำสั่งตามหนังสือกรมธนารักษ์ ที่ กค 0310/12271 ลงวันที่ 30 ก.ย.2565 ให้ผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) ส่งมอบทรัพย์สินในส่วนโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการพ่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว
หากพ้นกำหนดดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะดำเนินมาตรการบังคับทางปกครองแก่ผู้ฟ้องคดี เพื่อให้ส่งมอบทรัพย์สินตามบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ส่วนโครงการท่อส่งน้ำดอกกราย ผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) ยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้ จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566 โดยจะได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดี ส่งมอบทรัพย์สินตามที่กำหนดไว้ในสัญญาต่อไป
อนึ่ง หากผู้ฟ้องคดีประสงค์จะอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่ง ให้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งนี้ ตามมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วย จึงได้มีหนังสือลงวันที่ 19 ต.ค.2565 อุทธรณ์คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดังกล่าว
โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมธนารักษ์) ได้รับหนังสืออุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีในวันเดียวกัน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ปลัดกระทรวงการคลัง) ไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ภายในกำหนด ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล ในระหว่างพิจารณาคดีของศาล ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี
เห็นว่า พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ราชพัสดุ วรรคสอง บัญญัติว่า ให้กรมธนารักษ์มีหน้าที่ในการปกครอง ดูแล และบำรุงรักษาที่ราชพัสดุ ส่วนการใช้และการจัดหาประโยชน์ให้เป็นไปตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัตินี้
จากบทบัญญัติดังกล่าว ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมธนารักษ์) มีหน้าที่และอำนาจในการปกครอง ดูแล และบำรุงรักษาที่ราชพัสดุ กล่าวคือ ป้องกันมิให้บุคคลใดเข้ามาใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือมิได้มีนิติสัมพันธ์ใดๆ กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เท่านั้น
ส่วนการใช้หรือการนำที่ราชพัสดุออกจัดหาประโยชน์ก็มีวิธีการ ขั้นตอน ดำเนินการตามกฎกระทรวงการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2564 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 และ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 เป็นต้น
โดยที่กฎกระทรวงการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2564 ข้อ 2 กำหนดว่า ในกฎกระทรวงนี้ “การจัดหาประโยชน์” หมายความว่า การนำที่ราชพัสดุไปใช้ประโยชน์ในทางที่เกิดรายได้... “สัญญาต่างตอบแทนอื่น” หมายความว่า สัญญาต่างตอบแทนอื่นนอกเหนือจากสัญญาเช่า
“กิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ” หมายความว่า กิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกขน
จากบทนิยามดังกล่าว เห็นได้ว่า ในการนำที่ราชพัสดุออกทำการจัดหาประโยชน์ นั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมธนารักษ์) อาจนำที่ราชพัสดุออกให้เอกชนเช่า โดยทำสัญญาเช่า หรือทำเป็นสัญญาต่างตอบแทนอื่น หรือร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) ได้รับสิทธิในการเป็นผู้เช่าและบริหารจัดการท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออกตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2535 ให้เป็นผู้รับผิดชอบรายเดียว ในการจัดการและพัฒนาระบบท่อส่งน้ำสายหลักในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกตามสัญญาการบริหารและการดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 26 ธ.ค.2536 มีกำหนดระยะเวลา 30 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2537 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566
ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ประสานและนำโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดระยองและจังหวัดชลบุรี ดำเนินการโดยกรมโยธาธิการ มาส่งมอบให้แก่ผู้ฟ้องคดี เป็นผู้เช่าและบริหารจัดการตามบันทึกการส่งมอบ-รับมอบที่ราชพัสดุโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี ลงวันที่ 30 ต.ค.2540
ส่วนโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ประสานและนำโครงการดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ดำเนินการโดยกรมโยธาธิการ มาส่งมอบให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้เช่าและบริหารจัดการ ตามบันทึกการส่งมอบ-รับมอบที่ราชพัสดุโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) จังหวัดชลบุรี ลงวันที่ 9 ต.ค.2541
จึงเห็นว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมธนารักษ์) ตามสัญญาการบริหารและการดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 26 ธ.ค.2536 มีกำหนดระยะเวลา 30 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2537 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566 เป็นสัญญาเช่า
ส่วนนิติสัมพันธ์ตามบันทึกการส่งมอบ-รับมอบที่ราชพัสดุโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี ลงวันที่ 30 ต.ค.2540 และตามบันทึกการส่งมอบ-รับมอบที่ราชพัสดุ โครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ - แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) จังหวัดชลบุรี ลงวันที่ 9 ต.ค.2541 ที่ยังไม่ได้ทำสัญญาเช่าต่อกัน มีลักษณะเป็นเพียงสัญญาต่างตอบแทนอื่น
ฉะนั้น สิทธิและหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดี ก็ต้องเป็นไปตามที่มีการตกลงกัน เช่น สิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เรียกร้องค่าตอบแทนจากการให้ผู้ฟ้องคดีใช้ทรัพย์สิน รวมถึงการบอกเลิกสัญญาและการบอกกล่าวหรือแจ้งให้คืนทรัพย์สินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครอง
หากผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมธนารักษ์) ได้แจ้งแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ก็ต้องใช้สิทธิทางศาล โดยฟ้องคดีต่อศาลขอให้ศาลบังคับให้หรืออาศัยคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของผู้ฟ้องคดี เป็นต้น
ส่วนฝ่ายผู้ฟ้องคดีที่เห็นว่า ตนมีสิทธิครอบครองทรัพย์สินที่ครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่ เคยครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่อย่างไร ก็ยังคงครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่เช่นเดิมอย่างนั้น
แม้จะเดือดเนื้อร้อนใจจากการได้รับหนังสือแจ้งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมธนารักษ์) ให้ส่งมอบทรัพย์สินที่ผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) ครอบครองอยู่คืน ก็ไม่ถือว่าเป็นกรณีที่ศาลจำเป็นต้องมีคำบังคับ เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนหรือความเสียหายของผู้ฟ้องคดี เนื่องจากแม้ว่าศาลจะมีคำพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่ายแพ้คดี ก็ไม่มีผลต่อการครอบครองทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดี
@ยกฟ้อง เหตุ‘คำพิพากษา’ไม่มีผลต่อการ‘ครอบครองทรัพย์สิน’
สำหรับการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมธนารักษ์) โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อธิบดีกรมธนารักษ์) มีคำสั่งตามหนังสือกรมธนารักษ์ที่ กค 0310/12271 ลงวันที่ 30 ก.ย.2565 ให้ผู้ฟ้องคดีส่งมอบทรัพย์สินในส่วนโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว นั้น
แม้ตอนที่ออกหนังสือดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมธนารักษ์) มีเจตนาหรือประสงค์จะให้มีสถานะเป็นคำสั่งทางปกครอง โดยอ้างอำนาจตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 ก็ตาม
ศาลได้วินิจฉัยแล้วว่า บทบัญญัติดังกล่าว ทำให้ผู้ถูกฟ้องดีที่ 1 มีหน้าที่และอำนาจในการปกครอง ดูแล และบำรุงรักษาที่ราชพัสดุ เพื่อป้องกันมิให้บุคคลใดเข้ามาใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือมิได้มีนิติสัมพันธ์ใดๆกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เท่านั้น มิอาจใช้เป็นฐานอำนาจในการออกคำสั่งกับคู่สัญญาฝ่ายเอกชนหรือบุคคลทั่วไปได้
อีกทั้งคำสั่งใดหรือการกระทำใดจะเป็นคำสั่งทางปกครอง ต้องมีลักษณะตามคำนิยามของคำสั่งตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2535
กล่าวคือ “คำสั่งทางปกครอง” หมายความว่า (1) การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติการวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ (2) การอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง
ฉะนั้น เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า มาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 มิใช่บทบัญญัติที่เป็นฐานให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมธนารักษ์) มีอำนาจในการออกคำสั่งทางปกครอง คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามหนังสือกรมธนารักษ์ ที่ กค 0310/12271 ลงวันที่ 30 ก.ย.2565 ให้ผู้ฟ้องคดีส่งมอบทรัพย์สินในส่วนโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว จึงมิใช่คำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
ประกอบกับได้วินิจฉัยแล้วว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมธนารักษ์) ตามบันทึกการส่งมอบ-รับมอบที่ราชพัสดุโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี ลงวันที่ 30 ต.ค.2540 และตามบันทึกการส่งมอบ-รับมอบที่ราชพัสดุโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) จังหวัดชลบุรี ลงวันที่ 9 ต.ค.2541 เป็นสัญญาต่างตอบแทนอื่น
หนังสือฉบับดังกล่าว จึงเป็นการแจ้งบอกกล่าวให้ผู้ฟ้องคดีส่งมอบทรัพย์สินในส่วนโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ อันเป็นการใช้สิทธิในฐานะคู่สัญญาตามสัญญาต่างตอบแทนอื่นดังกล่าว เท่านั้น
หากผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ตนมีสิทธิครอบครองทรัพย์สินที่ครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่ เคยครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่อย่างไร ก็ยังคงครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่เช่นเดิมอย่างนั้น แม้จะเดือดเนื้อร้อนใจจากการได้รับหนังสือแจ้งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ให้ส่งมอบทรัพย์สินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองอยู่คืน ก็ไม่ถือว่าเป็นกรณีที่ศาลจำเป็นต้องมีคำบังคับ เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนหรือความเสียหายของผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์)
เนื่องจากแม้ว่าศาลจะมีคำพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่ายแพ้คดี ก็ไม่มีผลต่อการครอบครองทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดี กรณีนี้ จึงเป็นกรณีที่ศาลไม่จำเป็นต้องมีคำบังคับเพื่อแก้ไขความเดือดร้อน หรือความเสียหายของผู้ฟ้องคดี ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า กรณีนี้ เป็นกรณีที่ศาลไม่จำเป็นต้องมีคำบังคับเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนหรือความเสียหายของผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคำสั่งตามหนังสือกรมธนารักษ์ ที่ กค 0310/12271 ลงวันที่ 30 ก.ย.2565 ให้ผู้ฟ้องคดีส่งมอบทรัพย์สินในส่วนโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ
และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีคําวินิจฉัยอุทธรณ์ ยืนตามคำสั่งดังกล่าวเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ต่อไปอีก
พิพากษายกฟ้อง
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2567 กรมธนารักษ์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ‘บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก’ หรือ ‘อีสท์วอเตอร์’ ต่อศาลแพ่ง โดยขอให้ศาลฯพิพากษาบังคับขับไล่ อีสท์วอเตอร์ (จำเลย) ออกจากพื้นที่ทับซ้อนบนที่ดินที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ส.รย.1307 (บางส่วน) โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ พื้นที่ทับซ้อนบริเวณที่ดินที่ราชพัสดุบริเวณสถานีหุบบอน Regulation Well จ.ชลบุรี
และที่ดินที่ราชพัสดุ โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ (บางส่วน) เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา โดยให้อีสท์วอเตอร์รื้อถอนทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ รวมทั้งให้ชำระค่าเสียหายให้กรมธนารักษ์อีก 127.7 ล้านบาท ซึ่งศาลฯรับเป็นคดีหมายเลขดำที่ พ 5046/2567 (อ่านประกอบ : พฤติการณ์‘อีสท์วอเตอร์’ประวิงเวลาคืน‘ท่อส่งน้ำ’ ก่อน‘ธนารักษ์’ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 127 ล.)
เหล่านี้เป็นคำพิพากษาของ ‘ศาลปกครองกลาง’ ในคดีพิพาทส่งมอบทรัพย์สินในโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) และยังต้องติดตามกันต่อไปว่า การส่งมอบทรัพย์สิน ‘ท่อส่งน้ำ’ ในพื้นที่ EEC ดังกล่าว ซึ่งยืดเยื้อมาหลายปีแล้ว จะได้ข้อยุติอย่างไร?
อ่านประกอบ :
ไม่มีสิทธิฟ้อง! ‘ศาลปค.’ยกฟ้องคดี‘อีสท์วอเตอร์’ขอเพิกถอนคำสั่ง‘ธนารักษ์’คืนท่อส่งน้ำ EEC
พฤติการณ์‘อีสท์วอเตอร์’ประวิงเวลาคืน‘ท่อส่งน้ำ’ ก่อน‘ธนารักษ์’ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 127 ล.
'เพ็ชร ชินบุตร'ลาออกซีอีโอ'อีสท์วอเตอร์' เปิดทางปรับโครงสร้างองค์กร หลังเปลี่ยน'บอร์ดฯ'
'ธนารักษ์'ฟ้องศาลแพ่งให้'อีสท์วอเตอร์'คืน'ที่ราชพัสดุ-ท่อส่งน้ำEEC'-จ่ายค่าเสียหาย 127 ล.
4 กรรมการ‘อีสท์วอเตอร์’ลาออก เหตุมีภารกิจอื่น
‘อีสท์วอเตอร์’อ้างข้อสงวนสิทธิ์ ยื้อส่งคืนพื้นที่-ท่อส่งน้ำ EEC ‘ธนารักษ์’แจ้งขับไล่แล้ว
คำพิพากษาเป็นเหตุเป็นผล! ‘อีสท์วอเตอร์’ไม่อุทธรณ์ฯ คดีพิพาทประมูลท่อส่งน้ำอีอีซี
พลิกคำพิพากษา‘ศาล ปค.’ ยกฟ้องคดีท่อส่งน้ำEEC ‘อีสท์วอเตอร์’อุทธรณ์สู้ปม‘ข้อเท็จจริง-กม.’
ไม่เอื้อเอกชนรายใด-เป็นปย.แก่ราชการ! ‘ศาล ปค.กลาง’ยกฟ้อง คดีพิพาทล้มประมูลท่อส่งน้ำ EEC
เปิดมติ ครม.ยกเลิก‘ผูกขาด’บริหารน้ำพื้นที่ EEC-เปิดทาง‘วงษ์สยามฯ’ซื้อน้ำดิบจาก‘กรมชลฯ’
‘ตุลาการแถลงคดี’เห็นควร‘ยกฟ้อง’ คดีพิพาทล้มประมูลท่อส่งน้ำ EEC-ศาลฯนัดตัดสิน 28 ธ.ค.นี้
‘ศาล ปค.’นัดนั่งพิจารณาครั้งแรก คดี EASTW ฟ้อง‘บอร์ดคัดเลือกฯ’ปมล้มประมูลท่อน้ำEEC ปี 64
‘เศรษฐา’ กาวใจ ‘วงษ์สยาม-อีสท์วอเตอร์’ ปมท่อส่งน้ำอีอีซี
‘ศาล ปค.สูงสุด’ สั่งไม่รับคำฟ้อง ‘อีสท์วอเตอร์’ ปมร้องเพิกถอนผลประมูลท่อส่งน้ำ EEC
'ศาลปค.'ยกคำร้อง'อีสท์วอเตอร์' ขอทุเลาบังคับฯหนังสือ‘ธนารักษ์’เรียกคืน'ท่อส่งน้ำ' EEC
'อีสท์วอเตอร์'พร้อมคืน'ท่อส่งน้ำ'ให้'ธนารักษ์'-ห่วงเจรจาทรัพย์สิน'พื้นที่ทับซ้อน'ไม่ยุติ
บอกเลิกสัญญาแล้ว! ‘ธนารักษ์’ขีดเส้น‘อีสท์วอเตอร์’คืนท่อส่งน้ำอีอีซี ภายใน 11 เม.ย.นี้
'อีสท์วอเตอร์'ฟ้อง'ศาลปกครอง' ขอเพิกถอนคำสั่ง'ธนารักษ์'ให้ส่งมอบทรัพย์สิน'ท่อส่งน้ำ EEC'
ยังไม่ฟันธง‘ผิด-ไม่ผิด’! ‘ธนารักษ์’เร่งเก็บข้อมูล‘อีสท์วอเตอร์’ลักลอบเชื่อมท่อส่งน้ำ EEC
DSI จ่อฟัน‘อีสท์วอเตอร์’ลักลอบเชื่อมท่อส่งน้ำ EEC-‘สันติ’สั่งสอบจ่าย‘ค่าเช่า’ย้อนหลัง
อนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย : เล่าเบื้องหลัง‘วงษ์สยามฯ’ชนะประมูลท่อส่งน้ำ EEC 2.5 หมื่นล้าน
'ธนารักษ์-วงษ์สยามฯ'เซ็นสัญญาท่อส่งน้ำอีอีซี 2.5 หมื่นล.-จ่อลดค่าน้ำ'ปชช.-อุตสาหกรรม'
'ศาลปค.สูงสุด' สั่ง 'ยกเลิก' คำสั่งระงับเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ 'อีอีซี' 2.5 หมื่นล้าน
‘อัยการ’ ยื่นคำร้อง ‘ศาลปค.’ ขอยกเลิกคำสั่งระงับเซ็นสัญญาโครงการท่อส่งน้ำ EEC
‘ธนารักษ์’เตรียมถก‘อัยการ’หาช่องอุทธรณ์ หลัง‘ศาลปค.’สั่งระงับเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ EEC