เปิดกรุผลสอบสตง.(51) องค์การเภสัชฯ ผลิตยาไม่ทัน-ขายแพงกว่าเอกชน
“...จากการประมวลแบบสอบถามเภสัชกรผู้จัดซื้อยาของโรงพยาบาลต่าง ๆ ในการจัดซื้อยาปีงบประมาณ 2543 จำนวน 345 ราย มีจำนวน 260 ราย หรือร้อยละ 75.36 เห็นว่า ยาของ อภ. มีราคาสูงกว่ายาผู้ผลิตอื่น โดยมีรายการที่ราคาสูงกว่า จำนวน 100 รายการ ซึ่งราคายาของ อภ. สูงกว่าตั้งแต่ 1.06-1,083.05 %...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 51 จะเป็นการนำเสนอผลการตรวจสอบการดำเนินงาน ด้านการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนยาให้แก่หน่วยงานภาครัฐขององค์การเภสัชกรรม
@ การดำเนินงาน ด้านการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนยาให้แก่หน่วยงานภาครัฐขององค์การเภสัชกรรม
องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจัดอยู่ในประเภทกึ่ง แข่งขันและรัฐให้สิทธิพิเศษเพื่อประกอบกิจการโดยไม่แสวงหากำไร และมิใช่รัฐวิสาหกิจที่เป็นแหล่งรายได้ของ รัฐ โดยการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับยาให้มีกำไรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งได้รับการเกื้อหนุนจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้ส่วนราชการต้องจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาที่ อภ. ผลิตออกจำหน่ายแล้วโดยวิธีกรณีพิเศษ กรณีเป็นยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาที่ อภ. มิได้ผลิตแต่มีจำหน่ายหากจัดซื้อโดยวิธีสอบราคาหรือประกวดราคาให้ส่วนราชการแจ้ง อภ. ทราบทุกครั้ง ถ้าราคาที่ อภ. เสนอต่ำกว่าหรือเท่ากับผู้เสนอรายอื่นให้จัดซื้อจาก อภ. ประกอบกับจากวิสัยทัศน์และภารกิจ อภ. ต้องผลิตยาที่มีคุณภาพในราคาเป็นธรรม เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ยาของหน่วยงานภาครัฐและประชาชน และเหตุการณ์ปัญหาทุจริตในการจัดซื้อยาของหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2541 ส่วนหนึ่งเกิดจากการสั่งซื้อผ่านระบบการให้บริการลูกค้าของ อภ. ซึ่งมีข้อบกพร่องและเป็นช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์ ทำให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณในการจัดซื้อยาของหน่วยงานภาครัฐไม่โปร่งใส ขาดประสิทธิภาพและไม่ประหยัด สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จึงเลือกตรวจสอบการดำเนินงาน ด้านการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนยาให้แก่หน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้ทราบว่า อภ. ดำเนินงานด้านดังกล่าวโดยคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประชาชนเพียงใด
ขอบเขตการตรวจสอบ
1. ตรวจสอบผลการดำเนินงานด้านการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนยาให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ทั้งยาที่ อภ. ผลิตและยาผู้ผลิตอื่น ปีงบประมาณ 2541-2543
2. ตรวจสอบหน่วยงานที่รับผิดชอบในการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนยาของ อภ. ทั้งในส่วนกลางและสาขา ภาคทั้ง 3 สาขา ได้แก่ สาขาภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุดรธานี และสาขาภาคใต้ จังหวัดสงขลา
ผลการตรวจสอบ
การดำเนินการของ อภ. ด้านการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนยาโดยคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประชาชน ได้แก่ การจำหน่ายยาในราคาที่เหมาะสมกับคุณภาพ มีปริมาณการผลิตเพียงพอต่อความต้องการใช้ของหน่วยงานภาครัฐ การให้บริการด้านการตลาดและการขายที่มีคุณภาพ เช่น ความรวดเร็วในการซื้อ ขาย การ ขนส่ง การบริการหลังการขาย เป็นต้น และไม่สามารถเลือกผลิตเฉพาะยาและเวชภัณฑ์ที่มีกำไรสูงเท่านั้น ที่สำคัญ ต้องมีการปฏิบัติงานด้านการขายยาให้แก่หน่วยงานภาครัฐให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับที่กำหนดอย่าง รัดกุม
จากการตรวจสอบการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนยา ให้แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ ปรากฏว่าการดำเนินการซื้อขายยาให้แก่หน่วยงานดังกล่าว ขององค์การเภสัชกรรม มีบางส่วนไม่คำนึงถึงประโยชน์ที่รัฐพึงได้รับ และการให้บริการไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร สรุปได้ดังนี้
1. องค์การเภสัชกรรมดำเนินการซื้อ ขายยา โดยมีบางส่วนไม่คำนึงถึงประโยชน์ที่รัฐพึงได้รับ
1.1 การดำเนินการขายยาให้แก่หน่วยงานภาครัฐ
1.1.1 ยาที่ อภ. ผลิตและขายให้แก่หน่วยงานภาครัฐมีราคาสูงกว่าภาคเอกชน
จากการประมวลแบบสอบถามเภสัชกรผู้จัดซื้อยาของโรงพยาบาลต่าง ๆ ในการจัดซื้อยาปีงบประมาณ 2543 จำนวน 345 ราย มีจำนวน 260 ราย หรือร้อยละ 75.36 เห็นว่า ยาของ อภ. มีราคาสูงกว่ายาผู้ผลิตอื่น โดยมีรายการที่ราคาสูงกว่า จำนวน 100 รายการ ซึ่งราคายาของ อภ. สูงกว่าตั้งแต่ 1.06-1,083.05 %
จากการเลือกรายการยาที่ อภ. มีการจัดซื้อให้กับหน่วยงานภาครัฐเป็นประจำ กรณีที่ยาของ อภ. ผลิตไม่ทันขาย จำนวน 70 รายการ เปรียบเทียบราคาขายยาที่ อภ. ผลิตตามบัญชี ราคายาภาคราชการปีงบประมาณ 2543 ของ อภ. กับราคาขายทั่วไปตามบัญชีราคาของบริษัทต่าง ๆ ซึ่งเป็นบริษัทที่ อภ. คัดเลือกขึ้นทะเบียนไว้ ปรากฏว่า ราคาขายยาที่ อภ. ผลิตสูงกว่าราคาขายทั่วไปของบริษัทที่ อภ. คัดเลือก จำนวน 30 รายการ ราคาเท่ากัน 3 รายการ และราคาต่ำกว่า 37 รายการ อนึ่ง ข้อเท็จจริงการขายยาของบริษัทเอกชนสามารถต่อรองราคาให้ลดลงได้อีก ดังนั้น หากนำราคาขายทั่วไปของรายการที่มีราคาเท่ากันหรือราคาสูงกว่ายาที่ อภ. ผลิตดังกล่าว หักส่วนลดตามที่ อภ. ได้รับแล้ว และ อภ. นำมาตั้งเป็นราคาขายใหม่ ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับราคาขายยาที่ อภ. ผลิต ปรากฏว่ายา ที่ อภ. ผลิตราคาขายสูงกว่าราคาขายยาของบริษัทต่าง ๆ เพิ่มขึ้น จำนวน 22 รายการ รวมเป็น 52 รายการ
จากการเปรียบเทียบราคาขายยาที่ อภ. ผลิตให้แก่หน่วยงานภาครัฐกับภาคเอกชน ตามบัญชีราคายาภาคราชการ ปีงบประมาณ 2544 ของ อภ. เฉพาะรายการที่มีหน่วยการขายเท่ากัน จำนวน 90 รายการ เมื่อหักส่วนลดและภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว มี 55 รายการ หรือร้อยละ 61.11 อภ. เสนอราคาขายให้แก่หน่วยงานภาครัฐสูงกว่าราคาที่ อภ. เสนอขายให้แก่ภาคเอกชน
1.1.2 การให้เงินสนับสนุนการขายไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์ที่กำหนด จากการ สอบถามผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนวิสาหกิจ และหัวหน้าแผนกการตลาดและการขาย กองปฏิบัติการขายภาครัฐ ถึงวัตถุประสงค์ของการให้เงินสนับสนุนการขาย สรุปได้ว่าจ่ายเพื่อเป็นการส่งเสริมการขาย และต้องการให้หน่วยงานภาครัฐที่เป็นลูกค้าชำระหนี้ค่ายาโดยเร็ว รวมทั้งเป็นการจูงใจให้หน่วยงานภาครัฐสั่งซื้อยาของ อภ. และตามระเบียบองค์การเภสัชกรรมว่าด้วยการให้ส่วนลดและเงินสนับสนุนการขาย พ.ศ. 2541 กำหนดให้ จ่ายเงินดังกล่าวเฉพาะกรณีที่สั่งซื้อยาที่ อภ. ผลิตเท่านั้น โดยต้องจ่ายให้กับหน่วยงานที่สั่งซื้อโดยตรง จากการตรวจสอบ พบว่า
- อภ. ไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของยอดหนี้ค้างชำระในภาครัฐที่ได้รับชำระเร็วขึ้นหรือมีจำนวนมากขึ้นว่าแปรผันตามการให้เงินสนับสนุนหรือไม่อย่างไร
- มีการให้เงินสนับสนุนการขายแก่หน่วยงานภาครัฐในกรณีที่สั่งซื้อยาผู้ผลิตอื่นผ่าน อภ.
- การจ่ายเงินสนับสนุนการขายไม่จ่ายให้หน่วยงานที่สั่งซื้อโดยตรง จะจ่ายหรือแบ่งจ่ายไว้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และไม่จ่ายทันทีที่จบการซื้อขายแต่ละครั้ง จะจ่ายเพียงปีละ 2-3 ครั้ง
1.1.3 การกำหนดราคาขายยาผู้ผลิตอื่นไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การจัดหายาผู้ผลติอื่นกรณีที่ อภ. ผลิตยาไม่ทันต่อการขาย (GNGPO) โดยมีหลักเกณฑ์ว่า อภ. จะกำหนดราคาขายเพิ่มขึ้นจากราคาที่ซื้อจากบริษัทไม่เกิน 20% และราคาขายที่กำหนดต้องไม่เกินราคากลาง หรือราคาขายทั่วไปตามบัญชีราคาของบริษัทที่เสนอ อภ. ซึ่งจากการสอบทานการคิดราคาขายยาผู้ผลิตอื่นจากบัญชีรายชื่อบริษัทผู้จำหน่ายยาที่ อภ. คัดเลือกขึ้นทะเบียนไว้ จำนวน 70 รายการ พบว่า อภ. กำหนดราคาขายไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
- กำหนดราคาขายเพิ่มขึ้นจากราคาซื้อมากกว่า 20% จำนวน 5 รายการ
- กำหนดราคาขายเกินกว่าราคาขายทั่วไปของบริษัท จำนวน 2 รายการ
- กำหนดราคาขายเพิ่มขึ้นจากราคาซื้อมากกว่า 20% และเกินกว่าราคาขาย ทั่วไป ของบริษัทจำนวน 5 รายการ
1.2 การดำเนินการจัดซื้อยาของ อภ. เพื่อขายให้หน่วยงานภาครัฐไม่เหมาะสม
การจัดซื้อยาจากบริษัทต่าง ๆ อภ. ดำเนินการโดยใช้วิธีพิเศษ ซึ่งการสั่งซื้อแต่ละครั้งเป็นไปตามที่หน่วยงานภาครัฐมีความประสงค์จะซื้อยาที่ อภ. มิได้ผลิตหรือผลิตไม่ทันขาย จากการสุ่มตรวจสอบรายการยาที่ อภ. ดำเนินการจัดซื้อให้หน่วยงานภาครัฐตามรายงานการจัดซื้อยาผู้ผลิตอื่นปีงบประมาณ 2543 มีการจัดซื้อยารายการเดียวกันจากบริษัทเดียวกัน ดังนี้
1.2.1 จัดซื้อหลายครั้งในวันเดียวกันราคาต่างกันหรือเท่ากัน โดยจัดซื้อมากกว่า 5 ครั้งต่อวัน จำนวน 582 รายการ ในจำนวนนี้จัดซื้อสูงสุด 33 ครั้งต่อวัน
1.2.2 จัดซื้อจำนวนเท่ากันหรือใกล้เคียงกัน ในช่วงเวลาเดียวกันราคาต่างกัน มีการจัดซื้อในวันเดียวกัน จำนวน 7 รายการ และเดือนเดียวกัน จำนวน 56 รายการ
1.2.3 จัดซื้อจำนวนมากราคาต่อหน่วยสูงกว่าจัดซื้อจำนวนน้อย ไม่เป็นไปตามหลักการซื้อขายทั่วไป มีการจัดซื้อวันเดียวกัน จำนวน 46 รายการ และระยะเวลาใกล้เคียง จำนวน 108 รายการ
1.3 วิธีการปฏิบัติงานของ อภ. เอื้ออำนวยให้มีการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามระเบียบสำนัก นายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
1.3.1 การเอื้ออำนวยให้ใช้วิธีกรณีพิเศษในการสั่งซื้อยาที่ อภ. ไม่ได้ผลิตผ่าน อภ. ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพสัดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 60 กำหนดให้การสั่งซื้อยาตามชื่อสามัญในบัญชียาหลัก และข้อ 61 กำหนดว่ายาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาซึ่ง อภ. ได้ผลิตออกจำหน่ายแล้วให้ซื้อจาก อภ. โดยวิธีกรณีพิเศษ แต่จากการสอบทานใบสั่งซื้อปีงบประมาณ 2541-2543 จำนวน 2,170 ฉบับ พบว่า มีการปฏิบัติไม่สอดคล้องกับระเบียบดังกล่าว คือ
- มีการสั่งซื้อยาที่ อภ. ได้ผลิตและยาผู้ผลิตอื่นปนกันมาในใบสั่งซื้อเดียวกัน หรือระบุชื่อบริษัทไว้ในช่องหมายเหตุ โดยใช้วิธีกรณีพิเศษ จำนวน 169 ฉบับ หรือร้อยละ 7.79
- มีการสั่งซื้อยาแบบระบุชื่อทางการค้าหรือชื่อบริษัทโดยวิธีกรณีพิเศษปนมากับการสั่งซื้อแบบใช้ชื่อสามัญ จำนวน 223 รายการ
จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของ อภ. พบว่า แม้พนักงานขายของ อภ. ทราบว่ามีความผิดปกติในการสั่งซื้อ เช่น อาศัย อภ. เป็นช่องทางการซื้อยาผผู้ลติอื่นโดยใช้วิธีกรณีพิเศษ หรือราคาแพงผิดปกติไม่เหมาะสม กับคุณภาพยา อภ. ก็จะดำเนินการให้ โดยเห็นว่า อภ. เป็นเพียงผู้ขาย ไม่มหีน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องในการสั่งซื้อของลูกค้า
1.3.2 อภ. ยินยอมให้มีการใช้หลักฐานการสั่งซื้อที่ไม่สมบูรณ์ จากการสอบทานเอกสารประกอบการสั่งซื้อยาของโรงพยาบาลต่าง ๆ พบว่า การสั่งซื้อทางโทรศัพท์ โทรสาร ไม่นำหลักฐานการสั่งซื้อฉบับจริงมาแนบไว้กับหลักฐานการขายอื่น ๆ ที่สำคัญหนังสือสั่งซื้อยังไม่มีการลงนามจากผู้มีอำนาจอนุมัติซื้อ และยังไม่มีการออกเลขที่หนังสือสั่งซื้อ รวมทั้งมีข้อสังเกตว่า สำเนาใบส่งของไม่มีการบันทึกเลขที่หนังสือสั่งซื้อและวันที่ส่งของ นอกจากนี้ยังพบว่า กรณีจำนวนเงินสั่งซื้อเกินอำนาจการอนุมัติของผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน พนักงานขายของ อภ. ได้นำหนังสือสั่งซื้อไปทำเป็น 2 ฉบับ โดยถ่ายเอกสารแล้วเติมเลขที่ใหม่ เพื่อให้เห็นว่าเป็นการสั่งซื้อคนละครั้ง
2. การดำเนินการจัดหายาให้แก่หน่วยงานภาครัฐไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
2.1 การบริการด้านการขายยังไม่สามารถสร้างความพึงพอใจให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่เป็นลูกค้าได้เท่าที่ควร จากการสำรวจความพึงพอใจของกลุ่มลูกค้าภาครัฐ จำนวน 357 ราย ปรากฏว่า เฉลี่ยร้อยละ 55.23 มีระดับความพึงพอใจน้อยต่อการให้บริการด้านการขายของ อภ. ซึ่งเรื่องที่พึงพอใจน้อยที่สุด คือ ความ เพียงพอของยาที่ อภ. ผลิตจำหน่ายโดยมีลูกค้าภาครัฐแสดงความพอใจน้อยหรือไม่พอใจถึงร้อยละ 81.19
2.2 ยาที่ อภ. แจ้งว่ามีขายแต่ผลิตไม่ทันจำหน่าย จากการสุ่มสอบทานรายการยาที่มีการยกเลิกการขายอันเนื่องมาจาก อภ. ผลิตไม่ทันจำหน่ายชั่วคราว (ช่วงละ 2-3 เดือน) ระหว่างปีงบประมาณ 2542-2543 ปรากฏว่ามีปัญหายาขาดในลักษณะขาดเป็นประจำในช่วงเวลาเดียวกันของแต่ละปี จำนวน 26 รายการ ขาดต่อเนื่องเป็นเวลานาน (6 เดือนขึ้นไป) จำนวน 38 รายการ ขาดบ่อย (ปีหนึ่งขาดมากกว่า 3 ช่วง) จำนวน 20 รายการ ทั้งนี้ ยาที่ อภ. ผลิตไม่ทันจำหน่าย ร้อยละ 57.14 เป็นยาในกลุ่มทำกำไรต่ำ ซึ่งยาที่ขาดจำหน่ายเป็นประจำเป็นยาและเวชภัณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดเป็นนโยบายให้ อภ. สนองความต้องการ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มชีววัตถุ โดยตั้งแต่ปีงบประมาณ 2541-2543 มีการยกเลิกการขายยากลุ่มดังกล่าวเป็นมูลค่าถึง 36.19 ล้านบาท
2.3 การดำเนินงานด้านการแลกเปลี่ยน คืนยา ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยในปีงบประมาณ 2543 อภ.สามารถดำเนินการในการแลกเปลี่ยน คืนยาให้เสร็จภายในกำหนด 30 วัน ได้เพียงร้อยละ 12.79 ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 60 ถึงร้อยละ 47.21
ผลกระทบต่อภาครัฐ
1. ทำให้หน่วยงานภาครัฐต้องใช้งบประมาณจัดซื้อยาจาก อภ. เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น กล่าวคือ
1.1 การให้เงินสนับสนุนการขายแก่หน่วยงานภาครัฐที่สั่งซื้อยาจาก อภ. โดย อภ. ได้นำรายการเงิน สนับสนุนการขายไปตั้งเป็นองค์ประกอบหนึ่งในราคายาด้วยจำนวนเต็ม 5 % ของราคาขายไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม หากคำนวณจากยอดขายยาให้กับหน่วยงานภาครัฐตั้งแต่ปีงบประมาณ 2540–2543 จำนวน 9,722.90 ล้านบาท ทำให้รัฐต้องใช้เงินงบประมาณเพิ่มขึ้นทันทีที่สั่งซื้อยาจาก อภ. เป็นเงิน 486.15 ล้านบาท และ อภ. ได้จ่ายคืน เงินดังกล่าวให้แก่หน่วยงานภาครัฐตามระยะเวลาที่ชำระหนี้เป็นเงิน 397.13 ล้านบาท ซึ่งเฉลี่ยจ่ายคืนในอัตราที่ต่ำกว่า 5% (รายละเอียดตามตารางที่ 3.9) โดย อภ. จะได้รับประโยชน์จากผลต่างของเงินสนับสนุนการขายที่ตั้งไว้ในราคาขายยากับยอดจ่ายจริงไปเพิ่มเป็นกำไร จำนวน 89.02 ล้านบาท เป็นการแสวงหากำไรจากรัฐและประชาชนที่ไม่เหมาะสม
1.2 การที่ อภ. ขายยาให้แก่หน่วยงานภาครัฐในราคาสูงกว่ายาผู้ผลิตอื่น ทำให้หน่วยงานภาครัฐต้อง ใช้เงินงบประมาณจัดซื้อยาจาก อภ. เพิ่มขึ้นซึ่งไม่สามารถแสดงเป็นจำนวนเงินที่ชัดเจนได้
1.3 การให้เงินสนับสนุนการขายยังเป็นไปในลักษณะของการนำเงินซึ่งมีที่มาจากงบประมาณแผ่นดินกลับมาใช้ในกิจการที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือสาธารณะ เช่น การจัดงานเลี้ยงการซื้อ ของขวัญ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2540-2543 หน่วยงานภาครัฐได้รับเงินสนับสนุนการขายซึ่งมีที่มาจากเงินงบประมาณแผ่นดินไปแล้ว จำนวน 397.13 ล้านบาท ทำให้รัฐเสียโอกาสในการนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้เพื่อดำเนินกิจกรรมอื่นในการพัฒนาประเทศ
2. ทำให้หน่วยงานภาครัฐที่สั่งซื้อยาผู้ผลิตอื่นจาก อภ. เสียประโยชน์จากการแข่งขันด้านราคาจากการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่จัดซื้อใช้ดุลพินิจหรือความคุ้นเคยในการพิจารณาคัดเลือกบริษัทผู้จำหน่าย และการเอื้ออำนวยให้หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อยาผู้ผลิตอื่นผ่าน อภ. โดยวิธีกรณีพิเศษ หรือมีการปฏิบัติไม่เป็นไปตาม ระเบียบแบบแผนของทางราชการ
3. การผลิตยาไม่ทันจำหน่าย ทำให้เป็นปัญหาในการบริหารเวชภัณฑ์ของโรงพยาบาล กล่าวคือ ต้องมีการยืมยาจากหน่วยงานอื่นและเสียเวลาในการจัดหายาจากแหล่งอื่นแทน
ผลกระทบต่อองค์การเภสัชกรรม
4. การที่ อภ. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐอาศัยความได้เปรียบอันเป็นผลเกื้อหนุนจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ที่กไหนดให้หน่วยงานภาครัฐต้องซื้อยาที่ อภ. ได้ผลิตไปแสวงหา ผลประโยชน์ด้านราคา และยังไม่มีการปรับปรุงการให้บริการด้านการขายให้เป็นที่พอใจของกลุ่มลูกค้าภาครัฐ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของ อภ. และทไให้ยากต่อการรักษายอดขายในกลุ่มลูกค้าภาครัฐไว้ได้ หากมีการยกเลิกสิทธิพิเศษ ที่ อภ. ได้รับจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
5. การผลิตยาไม่ทันจำหน่าย ทำให้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2541-2543 อภ. เสียยอดขายในกลุ่มลูกค้าภาครัฐไปแล้วมากกว่า 678.63 ล้านบาท
ข้อเสนอแนะ
คณะกรรมการบริหาร อภ.
1. กำหนดบทบาทในการดำเนินกิจการของ อภ. ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการจัดตั้ง โดยกำหนดวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานตามภาระหน้าที่ให้ชัดเจน โดยให้ความสำคัญแก่การดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชนเป็นลำดับแรกและเป้าหมายเชิงพาณิชย์เป็นลำดับรอง
ผู้อนวยการ อภ. และผู้บริหารระดับสูง
2. กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานด้านการจัดซื้อยาผู้ผลิตอื่นและการขายยาให้แก่หน่วยงานภาครัฐให้เป็นระบบ และจัดทำเป็นคู่มือการปฏิบัติงาน รวมทั้งกำหนดให้มีระบบการควบคุม ตรวจสอบความถูกต้อง ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
3. ต้องกำหนดแผนงานและกิจกรรมต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับบทบาทของ อภ. ในการรักษาประโยชน์ ของรัฐและประชาชน เช่น ด้านราคา ไม่ควรมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรสูงสุด ด้านการตลาดและการขาย ควรเน้นการรักษาลูกค้าในกลุ่มภาครัฐ โดยจำหน่ายยาที่มีคุณภาพและราคาที่เหมาะสมเป็นสำคัญ รวมทั้งการ ให้บริการด้านการขายที่สะดวก รวดเร็ว ตรงต่อเวลา ทั้งก่อนและหลังการขาย ด้านการผลิต ควรมีการผลิตยา และเวชภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ยาและเวชภัณฑ์ของหน่วยงานภาครัฐอย่างเพียงพอ โดยการวาง แผนการผลิตฯ ต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยฝ่ายผลิตต้องประสานงานกับฝ่ายการตลาดและการขาย กองนโยบายและแผนวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด สามารถปรับแผนการผลิตได้ตลอดเวลา ที่สำคัญการผลิตยารายการใหม่ต้องมั่นใจว่ามีศักยภาพเพียงพอและไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการผลิตยารายการเดิม ทั้งนี้ ต้องมีการกระตุ้นให้พนักงานผู้ปฏิบัติงานเห็นและให้ความสำคัญกับบทบาทความรับผิดชอบ ของ อภ. ต่อรัฐและประชาชน
4. ยกเลิกระเบียบ อภ. ว่าด้วยการให้ส่วนลดและเงินสนับสนุนการจำหน่าย พ.ศ. 2541 หมวดที่ 4 ข้อ 15 เรื่องการจ่ายเงินสนับสนุนการจำหน่ายเพื่อเป็นสวัสดิการเจ้าหน้าที่ และคำสั่ง อภ. ที่ 02/2531 เรื่อง หลักเกณฑ์การจ่ายเงินสนับสนุนและส่งเสริมการจำหน่าย แต่หาก อภ. เห็นว่าควรให้เงินสนับสนุนการจำหน่าย ตอบแทนหน่วยงานที่เป็นลูกค้าภาครัฐเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจหรือจูงใจให้มีการจัดซื้อยาจาก อภ. ให้นำเงิน ดังกล่าวไปลดราคายาที่ อภ. ผลิตลงอีก 5% ทุกรายการทันทีที่สั่งซื้อ
อนึ่ง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2545 กระทรวงสาธารณสุข มีการเปลี่ยนระบบการจัดสรรงบประมาณให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค โดยจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนในลักษณะเหมาจ่ายรายหัว กล่าวคือ เป็นการจัดสรรงบประมาณตามจำนวนประชากรที่มีสิทธิตามหลักเกณฑ์ของโครงการ (Per Capital Budget Allocation) ในทางปฏิบัติเมื่อกระทรวงสาธารณสุขตรวจสอบผู้มีสิทธิแล้ว จะโอนเงินที่ต้องจ่าย ให้โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการฯ เข้าบัญชีเงินบำรุงของโรงพยาบาล เป็นรายเดือนซึ่งอาจทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งเข้าใจว่า เมื่อไม่ได้รับการจัดสรรเป็นเงินงบประมาณจึงไม่ต้องปฏิบัติตามข้อ 61 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมอีกต่อไป กรณีดังกล่าว อภ. ยังคงได้รับสิทธิ พิเศษตามข้อ 61 แห่งระเบียบดังกล่าวต่อไป เนื่องจากตามข้อ 61 ไม่ได้กำหนดในเรื่องที่มาของเงินที่นำมาใช้จัดซื้อยา แต่กำหนดรายการยา โดยหากเป็นรายการยาและเวชภัณฑ์ที่ อภ. ได้ผลิตออกจำหน่ายแล้ว หน่วยงานภาครัฐต้องจัดซื้อยาจาก อภ. ทั้งนี้ อภ. ควรประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวนหรือซักซ้อมความเข้าใจให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
5. ทบทวนการกำหนดราคาขายยาผู้ผลิตอื่น กรณีที่ อภ. จัดหาให้หน่วยงานภาครัฐที่สั่งซื้อยาที่ อภ. ผลิตแต่ผลิตไม่ทันจำหน่าย โดยกำหนดราคาขายให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
6. กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการจัดซื้อยาผู้ผลิตอื่น (การจัดซื้อยาลักษณะซื้อมาขายไป) โดยดำเนินการดังนี้
- การกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกบริษัทผู้จำหน่ายยา และวิธีการจัดซื้อยาผู้ผลิตอื่น ต้องทอย่างเป็นทางการได้แก่ จัดทเป็นประกาศและระเบียบ หรือคำสั่ง
- กำหนดช่วงระยะเวลาทำการจัดซื้อให้ชัดเจน เช่น ทุก 3 วัน หรือทุกวันพุธของสัปดาห์ เพื่อให้มีการรวบรวมรายการยาผู้ผลิตอื่นที่ต้องจัดซื้อให้มีปริมาณมากพอควรแล้ว จึงจัดซื้อครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะกรณีที่เป็นยารายการเดียวกันอันจะส่งผลให้หน่วยงานที่สั่งซื้อได้ประโยชน์ด้านราคามากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยลดปริมาณงานด้านเอกสารได้อีกด้วย
การคัดเลือกบริษัทผู้จำหน่ายต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบอย่างเปิดเผยทั่วถึง เช่น การปิดประกาศ การเผยแพร่ทางสื่อมวลชน การเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต เป็นต้น
7. คณะกรรมการประเมินผล อภ. ร่วมกับผู้บริหาร อภ. กำหนดเกณฑ์ชี้วัดผลการดำเนินงานด้านบทบาทในการรักษาประโยชน์ของรัฐ และให้น้ำหนักเป็นอันดับแรก เกณฑ์ชี้วัดด้านการรักษาประโยชน์ของรัฐและ ประชาชน เช่น เปอร์เซ็นต์ความไม่เพียงพอของยาที่ อภ. ผลิตเพื่อสนองความต้องการใช้ยาในภาครัฐสัดส่วนของ การผลิตยารายการที่ทำกำไรต่ำแต่มีความต้องการใช้สูงหรือมีความจำเป็นต้องใช้ต่อรายการยาที่ผลิตในเชิง พาณิชย์ สัดส่วนของแหล่งวัตถุดิบที่ อภ. วิจัย ค้นคว้าสำเร็จ เพื่อทดแทนการนำเข้า ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตยาลดลง เป็นต้น
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(4) ตรวจนโยบายร.ร.ดีใกล้บ้าน ยกระดับการศึกษาล้ม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(5) ตรวจโครงการพัฒนาลำเชียงไกรโคราช ไม่เสร็จตามแผน-ซื้อของเกินจำเป็น
เปิดกรุผลสอบสตง.(6) ตรวจโครงการพัฒนาพืช-พลังงาน จ.ขอนแก่น 113ล. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(7) ตรวจโครงการพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า-ประปาจ.กาญจนฯ ล้มเหลว-เบิกจ่ายเท็จ
เปิดกรุผลสอบสตง.(8) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลนคร/เมือง ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(9) ตรวจการควบคุมเคมีทางเกษตร พบสารต้องห้าม-ร้านขายไม่ปลอดภัย-ผิดกม.
เปิดกรุผลสอบสตง.(10) ตรวจโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด อปท.ลำปาง ไม่คุ้มงบ-ผิดวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(11) ตรวจโครงการสินค้าเกษตร 4.0 สุพรรณฯ ไม่พร้อมดำเนินการ-ไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(12) ตรวจโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ขาดความต่อเนื่อง-ไม่ยั่งยืน
เปิดกรุผลสอบสตง.(13) ตรวจศูนย์อาชีพผู้สูงอายุ ไม่เป็นตามวัตถุประสงค์-จัดซื้อไม่คุ้มค่า
เปิดกรุผลสอบสตง.(14) ตรวจโครงการแพทย์ฉุกเฉิน อบจ.มหาสารคาม มอบรถพยาบาลช้า-ใช้ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(15) ตรวจสหกรณ์จ.สุราษฎร์ฯ-ชุมพร ตั้งโรงงานยางพารา แต่ไม่เดินสายพานผลิต
เปิดกรุผลสอบสตง.(16) ตรวจการเก็บค่าภาคหลวงแร่ กรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ฯ ไม่เป็นตามกฎหาย
เปิดกรุผลสอบสตง.(17) ตรวจโครงการนาขั้นบันไดจ.น่าน ไม่ตรงเป้าหมาย-เบิกจ่ายเท็จ/ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(18) ตรวจศูนย์เด็กเล็ก อปท.นครศรีธรรมราช ไร้ประสิทธิภาพ-ไม่ปลอดภัย
เปิดกรุผลสอบสตง.(19) ตรวจสำนักงาน กศน. อุดรธานี ไร้ประสิทธิภาพ-จบช้า/น้อย-พบนศ.ผี
เปิดกรุผลสอบสตง.(20) ตรวจโครงการเกษตรอินทรีย์กาญจนฯ ไม่บรรลุประสงค์-จัดซื้อผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(21) ตรวจโครงการความปลอดภัยทางทะเลพัทยา ระบบ/อุปกรณ์ไม่ตรงตาม TOR
เปิดกรุผลสอบสตง.(22) ตรวจการกำจัดขยะ อปท. นครสวรรค์/พิจิตร ไม่ได้มาตรฐาน-ไม่ตามโรดแม็พ
เปิดกรุผลสอบสตง.(23) ตรวจการพัฒนาชลประทานฉะเชิงเทรา ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(24) ตรวจโครงการช่วยเกษตรกร/คนจน กำแพงเพชร ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุเป้าหมาย
เปิดกรุผลสอบสตง.(25) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลตำบล/อบต. ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(26) ตรวจโครงการเกษตรผสมผสานอีสานล่าง 2 ผิดวัตถุประสงค์-ไม่มีประสิทธิภาพ
เปิดกรุผลสอบสตง.(27) ตรวจสอบการประปาเทศบาลนครศรีธรรมราช ขาดประสิทธิภาพ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(28) ตรวจสอบกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สทบ. เสี่ยงล้มเหลว-ขาดศักยภาพ
เปิดกรุผลสอบสตง.(29) ตรวจสอบระบบจัดการขยะ จ.เชียงราย ไม่เป็นระบบ-ขาดประสิทธิภาพ
เปิดกรุผลสอบสตง.(30) โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ จ.แพร่ แจกปัจจัยเกินจำเป็น-ไม่สอดคล้องหลักการ
เปิดกรุผลสอบสตง.(31) ปศุสัตว์ปลอดภัย จ.พะเยา ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(32) การแพทย์ฉุกเฉิน อบจ.ร้อยเอ็ด ขาดประสิทธิภาพ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(33) แผนพัฒนาเกษตรบรรเทาแล้งศรีสะเกษ เสียหาย-บริหารต่อไม่ได้
เปิดกรุผลสอบสตง.(34) อบจ.อุดรฯ ซื้อผ้าห่มแจกต้านภัยหนาวปี57 แพงกว่าราคาตลาด
เปิดกรุผลสอบสตง.(35) อบจ.ชลบุรี ติดกล้องวงจรปิดปี52-59 ใช้งานไม่ได้ตามวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(36) การเช่าที่ราชพัสดุ สนง.ธนารักษ์ขอนแก่น ผิดกม.-ไม่เป็นไปตามระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(37) การคุ้มครองผู้บริโภค สคบ. ล่าช้า-ไม่มีประสิทธิภาพ
เปิดกรุผลสอบสตง.(38) พัฒนาท่องเที่ยวสู่อาเซียนพัทลุง เบิกจ่ายผิดระเบียบ-ไม่คุ้มค่า
เปิดกรุผลสอบสตง.(39) สนง.พัฒนาที่ดินโคราช ขุดแหล่งน้ำผิดระเบียบ-ใช้ประโยชน์ไม่ได้
เปิดกรุผลสอบสตง.(40) เครื่องมือตรวจอากาศกรมอุตุฯ ชำรุด - ใช้งานไม่ตรงตามวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(41) กองทุนพัฒนาสตรีมุกดาหาร ถูกสวมสิทธิไม่จ่ายหนี้ตามสัญญา
เปิดกรุผลสอบสตง.(42) สวนปาล์มนาร้างชุมพร นายทุน/ขรก.ร่วมเพียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(43) แขวงการทางสุราษฎร์ฯ แก้น้ำท่วมขังถนนรอบสมุย รำรางเล็ก-บางจุดไม่สำเร็จ
เปิดกรุผลสอบสตง.(44) ชลประทานพังงา ก่อสร้างแหล่งน้ำชนบท ล่าช้า-ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
เปิดกรุผลสอบสตง.(45) พัฒนาสาขาท่องเที่ยวหนองคาย ไม่มีประสิทธิภาพ ราคากลางแพง-ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(46) โรงงานปุ๋ย/ธ.เมล็ดพันธุ์ประจวบฯ/ตึกสนง./เครื่องจักร ไม่เปิดใช้งาน
เปิดกรุผลสอบสตง.(47) ซ่อมอู่เรือสัตหีบ ช้ากว่าเป้าหมาย-อุปกรณ์บางอย่างใช้ไม่ได้
เปิดกรุผลสอบสตง.(48) ปรับภูมิทัศน์อบต.หาดทรายรีชุมพร ก่อสร้างอาคาร-อุปกรณ์ ไม่คุ้มค่า
เปิดกรุผลสอบสตง.(49) อปท. กาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด สร้างลานกีฬา ไร้มาตรฐาน-ไม่คุ้มค่า
เปิดกรุผลสอบสตง.(50) โครงการบำบัดน้ำเสียรวม กทม. ขาดความพร้อม-สูญงบ 381 ล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/