เปิดกรุผลสอบสตง.(46) โรงงานปุ๋ย/ธ.เมล็ดพันธุ์ประจวบฯ/ตึกสนง./เครื่องจักร ไม่เปิดใช้งาน
“...อาคารของสำนักงานและครุภัณฑ์ประเภทเครื่องใช้สำนักงานของโรงงานฯ ทั้ง 2 แห่ง ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ เว้นแต่เครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์ของโรงงานอำเภอกุยบุรี นำไปใช้ในกิจการของเทศบาลตำบลไร่ใหม่ ซึ่งไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ สาเหตุที่ยังไม่เปิดใช้อาคารสำนักงานและครุภัณฑ์เนื่องจากยังไม่มีแนวทางเกี่ยวกับการจัดระบบการทำงานภายในโรงงานฯ และยังไม่มีบุคลากรประจำ ประกอบกับผู้บริหารของโรงงานฯ ไม่เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องทำงานประจำที่อาคารสำนักงานของโรงงานฯ ทำให้เกิดความสูญเปล่าของเงินงบประมาณที่ก่อสร้างเป็นจำนวนเงินแห่งละ 376,425.17บาท รวมทั้งสองแห่ง เป็นเงิน 752,850.34 บาท...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 46 จะเป็นการนำเสนอผลการตรวจสอบดำเนินงานโครงการโครงการสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ และธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด
@ โครงการสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ และธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด สถานีพัฒนาที่ดินประจวบคีรีขันธ์ กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สถานีพัฒนาที่ดินประจวบคีรีขันธ์ กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ และธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจังหวัดแบบบูรณาการประจำปีงบประมาณ 2549 มาดำเนินการและกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์ให้เกษตรกรมีโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพและธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดไว้ใช้เองอย่างทั่วถึงทุกอำเภอ จำนวน 8 แห่ง งบประมาณแห่งละ 4 ล้าน รวม 8 อำเภอ เป็นเงินงบประมาณ 32 ล้านบาท ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงปรับลดเป้าหมายจากเดิมที่จะก่อสร้าง 8 แห่ง 8 อำเภอ เหลือเพียงก่อสร้าง 2 แห่ง 2 อำเภอคืออำเภอกุยบุรี และอำเภอบางสะพาน งบประมาณ 8 ล้านบาท โดยมิได้เปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของโครงการและอยู่ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดและจังหวัด เพื่อเป็นการนำร่องก่อนหากมีการบริหารจัดการที่สัมฤทธิ์ผลจึงจะขยายผลการดำเนินการก่อสร้างเพิ่มเติมต่อไป
จากการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพและ ธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดดังกล่าว ปรากฏตามข้อตรวจพบในการตรวจสอบ 2 ประเด็น สรุปได้ ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การบริหารจัดการโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ และธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด ไม่มีประสิทธิภาพ
1.1 ด้านการจัดองค์กร
1.1.1 การบริหารจัดการโรงงานฯ ที่อำเภอกุยบุรี การจัดองค์กรยังไม่เป็นไปตามแนวทางการบริหารองค์กรซึ่งกำหนดไว้ 3 แนวทาง ได้แก่ การผลิตเพื่อขาย การผลิตโดยไม่มุ่งหวังกำไร และการส่งเสริมให้เกษตรกรมาใช้โรงงานเพื่อการผลิตปุ๋ย สาเหตุเนื่องจากเกษตรกรที่ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารโรงงานฯ ขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดองค์กร และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบไม่ได้ให้ความรู้แก่เกษตรกร ทำให้เกษตรกรไม่มีทิศทางการบริหารจัดการโรงงานฯ
1.1.2 การรวมกลุ่มเกษตรกรไม่ครอบคลุมทั่วถึงทุกตำบลของอำเภอที่ตั้งโรงงานฯ โดยอำเภอบางสะพานมีจำนวน 7 ตำบล แต่มีเกษตรกรรวมกลุ่มเพียงหนึ่งตำบล คือตำบลกำเนิดนพคุณ และอำเภอกุยบุรีมีจำนวน 6 ตำบล แต่ยังไม่มีการรวมกลุ่มเกษตรกรอย่างชัดเจนโดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มเพียงหนึ่งตำบลคือตำบลสามกระทาย สาเหตุเนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในทุกตำบลทราบอย่างทั่วถึงเกี่ยวกับวัตถุประสงค์การตั้งโรงงาน ฯ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ขาดการมีส่วนร่วมส่งผลให้ไม่สามารถส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพได้อย่างทั่วถึง
1.2 ด้านเงินทุน
การระดมทุนของโรงงานฯ ที่อำเภอกุยบุรีไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์การระดมทุนโดยการระดมทุนขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์และความสมัครใจของเกษตรกร รวมทั้งการจัดการเงินทุนไม่รัดกุม ผู้ถือเงินดำเนินการรับจ่ายเงินแต่เพียงผู้เดียว สาเหตุเนื่องจากตัวแทนเกษตรกรซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้บริหารโรงงานฯ ขาดความรู้ความเข้าใจด้านวิธีการระดมเงินทุนและการจัดการเงินทุน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบไม่ได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบวิธีการเกี่ยวกับการระดมเงินทุนจึงมีเงินทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอและขาดสภาพคล่อง
ข้อเสนอแนะ ให้หัวหน้าสถานีพัฒนาที่ดินประจวบคีรีขันธ์พิจารณาดำเนินการดังนี้
1. ควรดำเนินการส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจด้านการจัดองค์กรให้เป็นไปตามแนวทางการบริหารองค์กรแก่ผู้บริหารของโรงงานฯ และสมาชิกกลุ่มเกษตรกร
2. ให้มีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการจัดองค์กรและด้านเงินทุนเพื่อประโยชน์
1.3 ด้านการจัดการผลิตปุ๋ยและธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด
1.3.1 การจัดการผลิตปุ๋ย
ก. การผลิตปุ๋ยไม่มีความต่อเนื่องโดยโรงงานฯ ที่อำเภอกุยบุรีและอำเภอบางสะพานเริ่มมีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์หลังจากรับมอบโรงงานฯ จนถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2549 (วันที่เข้าตรวจสอบของ สตง.) เป็นระยะเวลา 10 เดือน ยังไม่มีการจำหน่ายและผลิตในรอบใหม่ทั้งที่ปุ๋ย มีคุณสมบัติพร้อมที่จะจำหน่ายได้แล้ว ส่วนการผลิตปุ๋ยชีวภาพของโรงงานฯ ที่อำเภอบางสะพาน จากการสังเกตการณ์พบว่า ปุ๋ยชีวภาพมีคุณสมบัติพร้อมที่จะจำหน่ายได้แล้วแต่ยังไม่มีการจำหน่ายแต่อย่างใด และปุ๋ยชีวภาพของโรงงานฯ ที่อำเภอกุยบุรีผลิตในรอบแรกมีการจำหน่ายแล้ว อยู่ระหว่างการผลิตในรอบสอง
ข. ปริมาณผลผลิตปุ๋ยไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ของเกษตรกร และไม่เต็มกำลังการผลิตของโรงงานฯ โดยโรงงานฯ ของอำเภอกุยบุรีและอำเภอบางสะพาน ผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพียงแห่งละ 36 ตัน ในขณะที่โรงงานฯ มีกำลังการผลิตแห่งละ 1,000 ตันต่อปี และปุ๋ยชีวภาพโรงงานฯ ที่อำเภอบางสะพานผลิตได้ 2,000 ลิตร อำเภอกุยบุรีผลิตได้ 1,309 ลิตร ในขณะที่โรงงานฯ มีกำลังการผลิตแห่งละ 50,000 ลิตรต่อปี
สาเหตุเนื่องจากเกษตรกรยังไม่สามารถรวมกลุ่มสมาชิกได้อย่างเข้มแข็ง จึงขาดแนวทางและการวางแผนการผลิตด้านการคำนวณต้นทุน การกำหนดราคาจำหน่าย รวมทั้งการจัดเตรียมวัตถุดิบเพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตในรอบใหม่ ภายหลังจำหน่ายผลผลิตเดิมออกไปแล้ว
ข้อเสนอแนะ
ให้หัวหน้าสถานีพัฒนาที่ดินประจวบคีรีขันธ์พิจารณาดำเนินการโดยกำหนดให้มีการส่งเสริมและให้ความรู้ความเข้าใจในการวางแผนการผลิตที่เหมาะสมเกี่ยวกับการคำนวณต้นทุนเพื่อกำหนดราคาจำหน่าย การหาตลาดหรือช่องทางการจำหน่ายเพื่อระบายผลผลิตที่ยังไม่ได้จำหน่ายและดำเนินการให้เกิดกระบวนการผลิตปุ๋ยอย่างต่อเนื่อง
1.3.2 การจัดการธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด
สถานีพัฒนาที่ดินประจวบคีรีขันธ์ได้จัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดที่อำเภอกุยบุรีและอำเภอบางสะพาน พร้อมกับการจัดตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์และชีวภาพ โดยก่อสร้างอาคารโรงงานที่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดได้แห่งละ 50 ตันต่อปี และจัดหาเมล็ดพันธุ์ถั่วพร้า มอบให้แก่ธนาคารเมล็ดพันธุ์ฯ ที่อำเภอกุยบุรีและอำเภอบางสะพาน แห่งละ 10 ตัน ใช้เป็นทุนหมุนเวียนในระยะแรกเริ่มของการจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ฯ เพื่อให้เกษตรกรกู้ยืมจากการตรวจสอบด้านการจัดการธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด พบว่า
1.3.2.1 การแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์
ก. การแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ถั่วพร้าของธนาคารเมล็ดพันธุ์ฯ ที่อำเภอกุยบุรีและอำเภอบางสะพานให้แก่เกษตรกรกู้ยืมนำไปปลูกฟื้นฟูสภาพดินไม่มีหลักฐานการให้กู้ยืม มีเพียงการเซ็นชื่อในเอกสารรายชื่อแนบท้ายใบขอรับบริการเมล็ดพันธุ้ และการให้กู้ยืมไม่ครอบคลุมเกษตรกรทั้งอำเภอ จึงมีเมล็ดพันธุ์คงเหลือค้างสต๊อกจำนวนมากและยังไม่มีการส่งใช้เมล็ดพันธุ์ถั่วพร้าที่จ่ายไปกลับคืนเข้ามาในระบบธนาคารเมล็ดพันธุ์ฯ ทั้ง 2 แห่ง
ข. การดำเนินการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ฯ ได้แจกจ่ายให้กับเกษตรกรที่อยู่นอกเขตพื้นที่เป้าหมายของโครงการฯ ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ไม่ได้รับเมล็ดพันธุ์ฯ อย่างเพียงพอ และครอบคลุมทั้งอำเภอ
ค. การใช้ปุ๋ยพืชสดเพื่อฟื้นฟูสภาพดินและปรับปรุงดินไม่แพร่หลาย กว้างขวาง โดยจากการสัมภาษณ์เกษตรกรในเขตพื้นที่ตั้งโรงงานฯ ทั้ง 2 แห่ง จำนวน 31 ราย พบว่า มีเกษตรกรที่ไม่ทราบว่าโรงงานฯ มีเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดสำหรับให้สมาชิกกู้ยืมจำนวน 12 ราย คิดเป็นร้อยละ 38.71
ข้อเสนอแนะ ให้หัวหน้าสถานีพัฒนาที่ดินประจวบคีรีขันธ์พิจารณาดำเนินการโดยมีการติดตามผลการดำเนินการ และให้คำแนะนำดังนี้
1. ออกระเบียบ ข้ออบังคับ หรือกำหนดวิธีการยืมและการส่งใช้เมล็ดพันธุ์ และบทลงโทษ
2. การแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ควรแจกให้แก่สมาชิกกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่อำเภอที่ตั้งโรงงานฯ ก่อน
3. ควรประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกกลุ่มเกษตรกรทราบข้อมูลของธนาคารเมล็ดพันธุ์ฯ เกี่ยวกับการกู้ยืมเมล็ดพันธุ์ไปปลูกปรับปรุงฟื้นฟูสภาพดิน รวมทั้งส่งเสริมและกระตุ้นให้เกษตรกรเห็นความสำคัญในการฟื้นฟูสภาพดินและปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสด
1.3.2.2 การจัดเก็บเมล็ดพันธุ์
การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ถั่วพร้าของโรงงานฯ ที่อำเภอกุยบุรีขาดการดูแลรักษาโดยมีเมล็ดพันธุ์ถั่วพร้าตกกระจายอยู่บริเวณภายในและภายนอกโรงเก็บเมล็ดพันธุ์ฯ
ข้อเสนอแนะ
ให้หัวหน้าสถานีพัฒนาที่ดินประจวบคีรีขันธ์พิจารณาดำเนินการให้คำแนะนำแก่ผู้บริหารกลุ่มเกษตรกรในการดูแลรักษาเมล็ดพันธุ์ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมจะแจกจ่ายให้แก่สมาชิกกลุ่มเกษตรกรได้กู้ยืม และปลอดภัยจากการรบกวนของ นก หนู และแมลง รวมทั้งคอยติดตามกำกับดูแลให้มีระบบ
1.4 ด้านการติดตามและประเมินผล
จากการตรวจสอบพบว่า สถานีพัฒนาที่ดินประจวบคีรีขันธ์ไม่มีการติดตามและประเมินผลโครงการฯ ให้สำนักงานจังหวัดทราบเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคหรือความก้าวหน้าของการบริหารจัดการโรงงานฯ สาเหตุเนื่องจากโครงการฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ โดยให้สถานีพัฒนาที่ดินประจวบคีรีขันธ์เป็นหน่วยงานดำเนินจัดจ้างการดำเนินโครงการฯ ไม่มีการสั่งการให้จัดทำรายงานการติดตามและประเมินผล ประกอบกับกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดให้ดำเนินการเกี่ยวกับการโอนพัสดุที่ได้จากการดำเนินโครงการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด/จังหวัด ที่อยู่ในความรับครอบครองของสถานีฯ ให้หน่วยงานบริหารราชการส่วนท้องถิ่น จึงไม่มีการติดตามและประเมินผลโครงการฯ
ข้อเสนอแนะ ให้สำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์พิจารณาดำเนินการดังนี้
1. ให้กลุ่มเกษตรกรรายงานความคืบหน้าการบริหารจัดการโรงงานฯ รวมทั้งปัญหา อุปสรรคให้แก่สถานีพัฒนาที่ดินประจวบคีรีขันธ์ เพื่อหาแนวทางการปรับปรุงแก้ไขให้สำเร็จลุล่วง เป็นไปตามวัตถุประสงค์โครงการฯ และให้สถานีพัฒนาที่ดินประจวบคีรีขันธ์ติดตามผลประเมินผล การดำเนินโครงการฯ และรายงานสำนักงานจังหวัดทราบผลการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวเพื่อพิจารณาผลสำเร็จของโครงการฯ และประกอบการพิจารณาตัดสินใจในการจัดสรรงบประมาณ สำหรับการจัดทำโครงการฯ ในพื้นที่อำเภออื่นต่อไป
2. ให้มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจนเกี่ยวกับการกำกับควบคุมดูแลการบริหารจัดการโรงงานฯ ของกลุ่มเกษตรกรระหว่างสถานีพัฒนาที่ดินประจวบคีรีขันธ์กับหน่วยงานบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
ข้อตรวจพบที่ 2 อาคารและครุภัณฑ์สำนักงาน เครื่องจักรและอุปกรณ์ไม่ได้ใช้ประโยชน์
อาคารและครุภัณฑ์สำนักงาน
อาคารของสำนักงานและครุภัณฑ์ประเภทเครื่องใช้สำนักงานของโรงงานฯ ทั้ง 2 แห่ง ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ เว้นแต่เครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์ของโรงงานอำเภอกุยบุรี นำไปใช้ในกิจการของเทศบาลตำบลไร่ใหม่ ซึ่งไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ สาเหตุที่ยังไม่เปิดใช้อาคารสำนักงานและครุภัณฑ์เนื่องจากยังไม่มีแนวทางเกี่ยวกับการจัดระบบการทำงานภายในโรงงานฯ และยังไม่มีบุคลากรประจำ ประกอบกับผู้บริหารของโรงงานฯ ไม่เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องทำงานประจำที่อาคารสำนักงานของโรงงานฯ ทำให้เกิดความสูญเปล่าของเงินงบประมาณที่ก่อสร้างเป็นจำนวนเงินแห่งละ 376,425.17บาท รวมทั้งสองแห่ง เป็นเงิน 752,850.34 บาท
ข้อเสนอแนะ
ให้หัวหน้าสถานีพัฒนาที่ดินประจวบคีรีขันธ์พิจารณาดำเนินการให้ผู้บริหารโรงงานฯ เข้ามา บริหารจัดการและวางระบบต่าง ๆ เกี่ยวกับการบริหารงานภายในโรงงานฯ ให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การจัดเก็บเอกสาร การจัดทำบัญชี การบันทึกข้อมูลที่สำคัญ รวมถึงการพิจารณาสั่งการทั้งนี้ เพื่อให้การใช้ประโยชน์และคุ้มค่ากับงบประมาณที่รัฐลงทุนให้แก่เกษตรกร
เครื่องจักรและอุปกรณ์
1. เครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับผลิตปุ๋ยอินทรีย์ของโรงงานฯ ทั้ง 2 แห่ง ที่เก็บรักษาไว้ที่โรงเก็บเมล็ดพันธุ์ฯ และไม่มีการใช้ประโยชน์ ได้แก่ เครื่องตีสับย่อยซากพืชสำหรับย่อยเศษวัสดุ เครื่องผสมปุ๋ยแบบแนวนอน เครื่องบดละเอียด เครื่องอัดเม็ดปุ๋ย และเครื่องเย็บกระสอบ ทำให้เครื่องจักรและอุปกรณ์เสื่อมคุณภาพและเกิดความสูญเปล่าของเงินงบประมาณแห่งละ 205,800 บาท รวมทั้ง สองแห่งเป็นเงิน 411,600 บาท
2. เครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดของโรงงานทั้ง 2 แห่ง ไม่มีการใช้ประโยชน์ ได้แก่เครื่องทำความสะอาดและคัดแยกเมล็ดพันธุ์ เครื่องนวดเมล็ดพันธุ์ และตู้อบแบบถัง ทำให้เกิดความสูญเปล่าของเงินงบประมาณแห่งละ 244,670 บาท รวมทั้งสองแห่งเป็นเงิน 489,340 บาท
3. เครื่องมือทดสอบปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ ประกอบด้วยชุดทดสอบหาธาตุอาหารพืชหลักในดิน ชุดทดสอบหาค่าความต้องการปูน เครื่องมือวัดความเป็นกรดเป็นด่างภาคสนาม เครื่องมือวัดค่าความนำไฟฟ้าชนิดน้ำ และถังดับเพลิงเคมีแห่งของโรงงานทั้ง 2 แห่งไม่มีการใช้ประโยชน์ สาเหตุเนื่องจากขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการใช้เครื่องมือทดสอบคุณภาพปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพทำให้เกิดความสูญเปล่าของเงินงบประมาณ เป็นเงิน 331,800 บาท และกรณีจำหน่ายปุ๋ยชีวภาพแล้ว แต่ไม่ได้ทดสอบคุณภาพก่อนการจำหน่าย ทำให้ไม่ทราบว่า ปุ๋ยที่ผลิตได้เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ และเกิดการสูญเปล่าของงบประมาณแห่งละ 165,900 บาท รวมทั้งสองแห่งเป็นเงิน 331,800 บาท
ข้อเสนอแนะ ให้หัวหน้าสถานีพัฒนาที่ดินประจวบคีรีขันธ์พิจารณาดำเนินการดังนี้
1. กระตุ้นให้ผู้บริหารโรงงานฯ ดำเนินการผลิตปุ๋ยอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการจำหน่ายปุ๋ยให้กับสมาชิก และการบริหารจัดการธนาคารเมล็ดพันธุ์พืช ปุ๋ยสด เพื่อให้มีการนำเครื่องจักรมาใช้อย่างคุ้มค่า
2. จัดหาผู้มีความรู้ความสามารถในการใช้เครื่องมือทดสอบปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ เพื่อให้การอบรมและแนะนำการใช้เครื่องมือทดสอบปุ๋ยฯ ให้กับกลุ่มเกษตรกร
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(4) ตรวจนโยบายร.ร.ดีใกล้บ้าน ยกระดับการศึกษาล้ม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(5) ตรวจโครงการพัฒนาลำเชียงไกรโคราช ไม่เสร็จตามแผน-ซื้อของเกินจำเป็น
เปิดกรุผลสอบสตง.(6) ตรวจโครงการพัฒนาพืช-พลังงาน จ.ขอนแก่น 113ล. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(7) ตรวจโครงการพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า-ประปาจ.กาญจนฯ ล้มเหลว-เบิกจ่ายเท็จ
เปิดกรุผลสอบสตง.(8) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลนคร/เมือง ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(9) ตรวจการควบคุมเคมีทางเกษตร พบสารต้องห้าม-ร้านขายไม่ปลอดภัย-ผิดกม.
เปิดกรุผลสอบสตง.(10) ตรวจโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด อปท.ลำปาง ไม่คุ้มงบ-ผิดวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(11) ตรวจโครงการสินค้าเกษตร 4.0 สุพรรณฯ ไม่พร้อมดำเนินการ-ไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(12) ตรวจโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ขาดความต่อเนื่อง-ไม่ยั่งยืน
เปิดกรุผลสอบสตง.(13) ตรวจศูนย์อาชีพผู้สูงอายุ ไม่เป็นตามวัตถุประสงค์-จัดซื้อไม่คุ้มค่า
เปิดกรุผลสอบสตง.(14) ตรวจโครงการแพทย์ฉุกเฉิน อบจ.มหาสารคาม มอบรถพยาบาลช้า-ใช้ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(15) ตรวจสหกรณ์จ.สุราษฎร์ฯ-ชุมพร ตั้งโรงงานยางพารา แต่ไม่เดินสายพานผลิต
เปิดกรุผลสอบสตง.(16) ตรวจการเก็บค่าภาคหลวงแร่ กรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ฯ ไม่เป็นตามกฎหาย
เปิดกรุผลสอบสตง.(17) ตรวจโครงการนาขั้นบันไดจ.น่าน ไม่ตรงเป้าหมาย-เบิกจ่ายเท็จ/ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(18) ตรวจศูนย์เด็กเล็ก อปท.นครศรีธรรมราช ไร้ประสิทธิภาพ-ไม่ปลอดภัย
เปิดกรุผลสอบสตง.(19) ตรวจสำนักงาน กศน. อุดรธานี ไร้ประสิทธิภาพ-จบช้า/น้อย-พบนศ.ผี
เปิดกรุผลสอบสตง.(20) ตรวจโครงการเกษตรอินทรีย์กาญจนฯ ไม่บรรลุประสงค์-จัดซื้อผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(21) ตรวจโครงการความปลอดภัยทางทะเลพัทยา ระบบ/อุปกรณ์ไม่ตรงตาม TOR
เปิดกรุผลสอบสตง.(22) ตรวจการกำจัดขยะ อปท. นครสวรรค์/พิจิตร ไม่ได้มาตรฐาน-ไม่ตามโรดแม็พ
เปิดกรุผลสอบสตง.(23) ตรวจการพัฒนาชลประทานฉะเชิงเทรา ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(24) ตรวจโครงการช่วยเกษตรกร/คนจน กำแพงเพชร ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุเป้าหมาย
เปิดกรุผลสอบสตง.(25) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลตำบล/อบต. ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(26) ตรวจโครงการเกษตรผสมผสานอีสานล่าง 2 ผิดวัตถุประสงค์-ไม่มีประสิทธิภาพ
เปิดกรุผลสอบสตง.(27) ตรวจสอบการประปาเทศบาลนครศรีธรรมราช ขาดประสิทธิภาพ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(28) ตรวจสอบกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สทบ. เสี่ยงล้มเหลว-ขาดศักยภาพ
เปิดกรุผลสอบสตง.(29) ตรวจสอบระบบจัดการขยะ จ.เชียงราย ไม่เป็นระบบ-ขาดประสิทธิภาพ
เปิดกรุผลสอบสตง.(30) โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ จ.แพร่ แจกปัจจัยเกินจำเป็น-ไม่สอดคล้องหลักการ
เปิดกรุผลสอบสตง.(31) ปศุสัตว์ปลอดภัย จ.พะเยา ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(32) การแพทย์ฉุกเฉิน อบจ.ร้อยเอ็ด ขาดประสิทธิภาพ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(33) แผนพัฒนาเกษตรบรรเทาแล้งศรีสะเกษ เสียหาย-บริหารต่อไม่ได้
เปิดกรุผลสอบสตง.(34) อบจ.อุดรฯ ซื้อผ้าห่มแจกต้านภัยหนาวปี57 แพงกว่าราคาตลาด
เปิดกรุผลสอบสตง.(35) อบจ.ชลบุรี ติดกล้องวงจรปิดปี52-59 ใช้งานไม่ได้ตามวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(36) การเช่าที่ราชพัสดุ สนง.ธนารักษ์ขอนแก่น ผิดกม.-ไม่เป็นไปตามระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(37) การคุ้มครองผู้บริโภค สคบ. ล่าช้า-ไม่มีประสิทธิภาพ
เปิดกรุผลสอบสตง.(38) พัฒนาท่องเที่ยวสู่อาเซียนพัทลุง เบิกจ่ายผิดระเบียบ-ไม่คุ้มค่า
เปิดกรุผลสอบสตง.(39) สนง.พัฒนาที่ดินโคราช ขุดแหล่งน้ำผิดระเบียบ-ใช้ประโยชน์ไม่ได้
เปิดกรุผลสอบสตง.(40) เครื่องมือตรวจอากาศกรมอุตุฯ ชำรุด - ใช้งานไม่ตรงตามวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(41) กองทุนพัฒนาสตรีมุกดาหาร ถูกสวมสิทธิไม่จ่ายหนี้ตามสัญญา
เปิดกรุผลสอบสตง.(42) สวนปาล์มนาร้างชุมพร นายทุน/ขรก.ร่วมเพียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(43) แขวงการทางสุราษฎร์ฯ แก้น้ำท่วมขังถนนรอบสมุย รำรางเล็ก-บางจุดไม่สำเร็จ
เปิดกรุผลสอบสตง.(44) ชลประทานพังงา ก่อสร้างแหล่งน้ำชนบท ล่าช้า-ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
เปิดกรุผลสอบสตง.(45) พัฒนาสาขาท่องเที่ยวหนองคาย ไม่มีประสิทธิภาพ ราคากลางแพง-ผิดระเบียบ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/