"...ในกรณีที่ผู้บริหารแผนไม่ดำเนินการดังต่อไปนี้ ให้คณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่มีอำนาจลงมติถอดถอนผู้บริหารแผน และยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่งหรือให้ศาลมีคำสั่งอย่างใด อย่างหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควร..."
......................
พลิกโผกันพอสมควร
เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้ ‘เลื่อน’ การลงมติแผนฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไปเป็นวันที่ 19 พ.ค.2564 หลังจากเจ้าหนี้ 20 ราย ซึ่งมีมูลหนี้คิดเป็น 24.40% ของที่ประชุมเจ้าหนี้ ยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาแผน เนื่องจาก ‘คณะผู้ทำแผน’ และ ‘เจ้าหนี้อื่นๆ’ ยื่นขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฯรวม 15 ฉบับ
“เจ้าหนี้ 20 ราย ยื่นคำร้องขอเลื่อนการประชุม โดยกล่าวอ้างว่ามีการแก้ไขแผนค่อนข้างมาก ทำให้เจ้าหนี้ไม่สามารถพิจารณาเพื่อประกอบการลงมติได้ทันในวันนี้ (12 พ.ค.)” เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กล่าวในที่ประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : เลื่อนโหวตแผนฟื้นฟูฯ‘การบินไทย’ เป็น 19 พ.ค.-ผู้ทำแผนเสนอตั้ง ‘บอร์ดกำกับสินเชื่อใหม่’)
แม้ว่าเหตุผลในการขอเลื่อนพิจารณาแผนฟื้นกิจการฯบริษัท การบินไทย เป็นเพราะห้วงเวลาที่กระชั้นชิดเกินไป เพราะเจ้าหนี้เพิ่งได้รับเอกสารรายละเอียดในการขอแก้ไขแผนทั้ง 15 คำร้อง ในวันที่ 11 พ.ค.2564 หรือเพียง 1 วันก่อนการประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 12 พ.ค.2564 จึงพิจารณาคำร้องฯไม่ทัน
แต่ทว่าเมื่อพิจารณาคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ฉบับวันที่ 7 พ.ค.2564 ของคณะผู้ทำแผน ซึ่งเป็นการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฯ ฉบับที่ 2 มี.ค.2564 พบว่า มีเงื่อนปมที่อาจทำให้ ‘เจ้าหนี้บางกลุ่ม’ ไม่เห็นด้วยกับแผนฟื้นฟูกิจการฯ ‘ฉบับแก้ไข’ ของคณะผู้ทำแผนก็เป็นได้
โดยเฉพาะการเสนอให้มีการแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่’ ที่เพิ่งปรากฎในแผนฟื้นฟูกิจการฉบับแก้ไข ซึ่งมีอำนาจ ‘ทับซ้อน’ กับ ‘คณะกรรมการเจ้าหนี้’ ที่มาจากตัวแทนของเจ้าหนี้ และอาจเป็นชนวนเหตุให้การลงมติแผนฟื้นฟูกิจการฯบริษัท การบินไทย ไม่เป็นไปตามที่ผู้ทำแผนคาดหวังก็ได้
(ชาญศิลป์ ตรีนุชกร หนึ่งในคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย)
@อำนาจเบ็ดเสร็จ ‘คณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่’
จากเอกสารแนบท้ายคำร้องหมายเลข 23 ของแผนฟื้นฟูกิจการฯบริษัท การบินไทย ฉบับแก้ไข ของคณะผู้ทำแผนนั้น กำหนดให้มีการแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่’ จำนวน 5 คน ที่มาจากตัวแทนของภาครัฐและเอกชนที่สนับสนุน ‘สินเชื่อใหม่’ ให้กับบริษัท การบินไทย
โดยอำนาจหน้าที่คณะกรรมการฯชุดนี้มี 6 เรื่อง ได้แก่
1.พิจารณาและให้ความเห็นชอบต่อแผนธุรกิจ งบประมาณ แผนกำลังคน และแผนค่าใช้จ่ายฝ่ายทุน (Capital Expenditure) ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายในการจัดหาและการซ่อมบำรุงเครื่องบิน และ/หรือ เครื่องยนต์
2.ติดตามและดูแลการปฏิบัติตามแผนของผู้บริหารแผน และรับทราบความคืบหน้าผลการดำเนินการตามแผน และแผนปฏิรูปธุรกิจ
3.ให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการกระทำการใดๆ ของผู้บริหารแผน ตามที่แผนได้กำหนดให้ผู้บริหารแผนต้องหารือหรือขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่ โดยจะต้องใช้ดุลยพินิจอันสุจริตและสมควร และในระยะเวลาอันเหมาะสมโดยไม่ชักช้า
4.ให้ความเห็นชอบในการขยายระยะเวลาการดำเนินการต่างๆ ตามเงื่อนไขที่แผนกำหนดว่าเป็นอำนาจของคณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่
5.พิจารณาเพื่อมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนครั้งแรก และครั้งถัดๆ ไป ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5.6 (3.1)
6.ในกรณีที่ผู้บริหารแผนไม่ดำเนินการดังต่อไปนี้ ให้คณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่มีอำนาจลงมติถอดถอนผู้บริหารแผน และยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่งหรือให้ศาลมีคำสั่งอย่างใด อย่างหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควร
(ก) ไม่ได้ใช้ความพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อให้สามารถดำเนินการตามเงื่อนไขบังคับก่อนการเบิกใช้สินเชื่อใหม่จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของการบินไทยอย่างมีนัยสำคัญ
(ข) ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าเครื่องบินและเจ้าหนี้ผู้ให้บริการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ที่การบินไทยยังมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องบิน/เครื่องยนต์ในฝูงบิน ตามมาตรฐานสากลและสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในธุรกิจสายการบินระดับเดียวกันได้ ภายในระยะเวลา 6 เดือนนับจากวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน หรือวันที่ 31 ธ.ค.2564 แล้วแต่วันใดจะถึงทีหลัง
(ค) ไม่สามารถปรับโครงสร้างองค์กร หรือ ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ตามแนวทางที่กำหนดไว้ในแผนปฏิรูปธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ
(ง) ไม่สามารถดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดตามข้อ 5.6 ของแผน หรือ
(จ) ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามงบประมาณอย่างมีนัยสำคัญจนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ตามแผน และ/หรือ สินเชื่อใหม่ตามเงื่อนไขในข้อ 5.8
ทั้งนี้ หากการไม่สามารถดำเนินการตามข้อ (ก) ถึง (จ) ข้างต้น เกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเหตุปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้บริหารแผน ไม่ให้ถือเป็นเหตุในการถอดถอนผู้บริหารแผนตามข้อนี้
@มีอำนาจเสนอ ‘ผู้บริหารแผน’ จ้างที่ปรึกษาทางการเงิน
นอกจากนี้ คณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่อาจเสนอให้ผู้บริหารแผนพิจารณาจัดจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน และ/หรือ ที่ปรึกษากฎหมายเพื่อสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่
เมื่อคณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่เสนอให้มีการจัดจ้างที่ปรึกษาดังกล่าวแล้ว ผู้บริหารแผนมีหน้าที่ที่จะต้องเข้าเจรจาขอบเขตของงาน ข้อกำหนดและเงื่อนไขอื่นๆ ในการว่าจ้างอย่างดีที่สุดก่อน โดยหากผู้บริหารแผนไม่อาจบรรลุข้อตกลงในการจัดจ้างกับที่ปรึกษาดังกล่าวได้ ผู้บริหารแผนจะต้องแจ้งเหตุผลในการไม่สามารถจัดจ้างที่ปรึกษาดังกล่าวให้คณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่รับทราบต่อไป
ในกรณีที่ผู้บริหารแผนสามารถบรรลุข้อตกลงในการจัดจ้างที่ปรึกษาตามที่คณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่เสนอได้ให้ผู้บริหารแผนเข้าทำข้อตกลงจัดจ้างและชำระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป
(ที่มา : คำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ฉบับวันที่ 2 มี.ค.2564 ของผู้ทำแผน ลงวันที่ 7 พ.ค.2564)
@อำนาจ ‘คณะกรรมการเจ้าหนี้’ ยื่นศาลฯถอดผู้บริหารแผนได้
ขณะที่แผนฟื้นฟูกิจการฯบริษัท การบินไทย ฉบับลงวันที่ 2 มี.ค.2564 กำหนดให้ ‘คณะกรรมการเจ้าหนี้’ จำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน แต่ไม่เกินกว่า 7 คน ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้จะแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ ‘ดูแลสอดส่อง’ การดำเนินการของ ‘ผู้บริหารแผน’ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 90/55 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลายฯ
โดยมีอำนาจหน้าที่ 6 เรื่อง ได้แก่
1.ให้คำปรึกษาแก่ผู้บริหารแผนตามที่ผู้บริหารแผนร้องขอ อย่างไรก็ตาม ตามมาตรา 90/67 แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย ในกรณีที่ผู้บริหารแผนไม่ดำเนินการตามแผน หรือกรณีอื่นตามที่ได้ระบุไว้ คณะกรรมการเจ้าหนี้สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งตามที่เห็นสมควรได้
2.ติดตามดูแลการดำเนินการตามแผนของผู้บริหารแผน และรับทราบความคืบหน้าของการดำเนินการตามแผน ตลอดจนให้คำแนะนำในการดำเนินการตามแผนแก่ผู้บริหารแผน
3.ให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการกระทำการใดๆ ของผู้บริหารแผนตามที่แผนได้กำหนดให้ผู้บริหารแผนต้องหารือหรือขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการเจ้าหนี้ โดยจะต้องใช้ดุลยพินิจอันสุจริตและสมควร และในระยะเวลาอันเหมาะสมโดยไม่ชักช้า
4.ให้ความเห็นชอบในการขยายระยะเวลาการดำเนินการต่างๆ ตามเงื่อนไขที่แผนกำหนดว่าเป็นอำนาจของคณะกรรมการเจ้าหนี้
5.ในกรณีที่ผู้บริหารแผนไม่ดำเนินการตามแผน หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ หรือขาดคุณสมบัติของผู้บริหารแผนตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง หรือมีเหตุอื่นที่ไม่สมควรเป็นผู้บริหารแผนต่อไป ให้คณะกรรมการเจ้าหนี้มีอำนาจลงมติเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่งหรือมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควร
6.คณะกรรมการเจ้าหนี้จะพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ เมื่อมีการยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือมีการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือขอลาออกจากการเป็นคณะกรรมการเจ้าหนี้ หรือเมื่อตนได้รับชำระหนี้ตามแผนเสร็จสิ้น
(ที่มา : แผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ฉบับลงวันที่ 2 มี.ค.2564)
@ผู้ทำแผนยันอำนาจคณะกรรมการเจ้าหนี้ 2 ชุดไม่ขัดกัน
เมื่อเปรียบเทียบอำนาจหน้าที่ ‘คณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่’ ซึ่งเป็นตัวแทนของ ‘เจ้าหนี้ใหม่’ กับ ‘คณะกรรมการเจ้าหนี้’ ที่มาจากตัวแทน ‘เจ้าหนี้เดิม’ จะพบว่าขอบข่ายอำนาจของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดมีความใกล้เคียงกัน เช่น การให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการกระทำการใดๆ ของผู้บริหารแผนตามที่แผนได้กำหนด หรือกรณีให้อำนาจในการปลดผู้บริหารแผน เป็นต้น
จึงทำให้เกิดปัญหาตามว่า ‘ผู้ทำแผน’ จะต้องฟังข้อเสนอแนะของฝ่ายใดระหว่าง ‘คณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่’ และ ‘คณะกรรมการเจ้าหนี้’
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้ทำแผนชี้แจงว่า บทบาทและอำนาจของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดนั้น แตกต่างกัน และไม่มีความขัดแย้งกัน
“เรามีคณะกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และคณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่ โดยคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด จะมีอำนาจหน้าที่แยกกัน
เช่น คณะกรรมการเจ้าหนี้มีอำนาจให้ความเห็นชอบในการถอนฟ้องประนีประนอมยอมความ หรือให้ความเห็นชอบผู้บริหารแผนในก่อหนี้เป็นทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมแต่คณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่จะมีอำนาจหน้าที่พิจารณาในเรื่องของการเพิ่มทุน การแยกหน่วยธุรกิจ การจัดตั้งบริษัทย่อย และให้ความเห็นชอบแผนธุรกิจ งบประมาณ และค่าใช้จ่ายลงทุนต่างๆ
ดังนั้น อำนาจของคณะกรรมการ 2 ชุดจะแยกกันชัดเจน และไม่น่าจะมีความขัดแย้งกัน” หนึ่งในคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการฯ ชี้แจงในการประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 12 พ.ค. หลังเจ้าหนี้ถามถึงอำนาจของ ‘คณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่’ ว่าแตกต่างหรือเหมือนกับ ‘คณะกรรมการเจ้าหนี้’ และหากมติของคณะกรรมการทั้ง 2 คณะ ขัดแย้งกันจะทำอย่างไร
ก่อนจะมีการประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 19 พ.ค.นี้ ‘เจ้าหนี้’ และ ‘คณะผู้ทำแผน’ คงต้อง ‘ตกผลึก’ แผนฟื้นฟูกิจการฯบริษัท การบินไทย ที่มีการขอแก้ไขให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะ ‘อำนาจ’ ในการกำกับดูแลแผนฟื้นฟูกิจการฯที่ผ่าน ‘ผู้ทำแผน’ ที่มีเส้นแบ่งไม่ชัดเจนนัก
ส่วนการลงมติแผนฟื้นฟูกิจการฯ การบินไทย จะลงเอยอย่างไร ยังต้องติดตามกันต่อไป!
อ่านประกอบ :
เลื่อนโหวตแผนฟื้นฟูฯ‘การบินไทย’ เป็น 19 พ.ค.-ผู้ทำแผนเสนอตั้ง ‘บอร์ดกำกับสินเชื่อใหม่’
ครม.ไม่ถก ‘การบินไทย’ หวนคืน รสก.-เจ้าหนี้โหวตแผนฟื้นฟูฯพรุ่งนี้ ชงเปลี่ยนผู้บริหารแผน
วรวรรณ ธาราภูมิ : ทำไมถึงควรสนับสนุนฟื้นฟู 'การบินไทย'
ยื่นแก้แผนฟื้นฟูฯ‘การบินไทย’! รื้อเงื่อนไข‘เงินใหม่’-‘ชาญศิลป์’เชื่อ 'รัฐ-เจ้าหนี้' หนุน
ยังไม่ได้ข้อสรุป! ครม.ถกปม 'การบินไทย' คมนาคมค้านกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ
สกัดแผนปล่อย 'การบินไทย' ล้มละลาย! เจ้าหนี้หุ้นกู้ 7 หมื่นล. ส่งสัญญาณรับแผนฟื้นฟูฯ
ปรับตำแหน่ง! ‘การบินไทย’ แต่งตั้ง 26 ผู้บริหารระดับสูง รับโครงสร้างองค์กรใหม่
เปิดความเห็นกฤษฎีกา! เสนอแก้มติ ครม.คงสถานะ 'การบินไทย : สายการบินแห่งชาติ'
หวั่นทุนการเมืองฮุบ'สายการบินแห่งชาติใหม่'! ลุ้นครม.เพิ่มทุน 'เจ้าจำปี' 2.5 หมื่นล.
แค่ติดตามแผนฟื้นฟูฯ! ‘อนุทิน’ ปัดนายกฯเรียกถก ‘การบินไทย’ กลับคืนเป็น 'รสก.'
'การบินไทย' ประกาศ บ.ลูก 'ปตท.' ชนะประมูล 'ศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่' 1,810 ล้าน
โหวตรับแผนฟื้นฟูฯ! ท่าทีสหกรณ์เจ้าหนี้‘การบินไทย’-เปิดรับสมัคร‘พนง.’กลั่นกรองฯรอบ 2
ได้รับเลือก 9,304 คน! ‘การบินไทย’ ประกาศรายชื่อ ‘พนง.’ เข้าโครงสร้างองค์กรใหม่
‘การบินไทย’วุ่น! ‘นักบิน’ จี้โละผลประเมินเข้าโครงสร้างใหม่-พนง.รอเก้อไม่เรียกสัมภาษณ์
52 เจ้าซื้อซอง! ประมูลศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ ‘การบินไทย’ พบ ‘ปตท.-สิงห์-เซ็นทรัล’ มาด้วย
ปิดฉาก ‘ศูนย์ซ่อมฯอู่ตะเภา’ ผุด MRO ใหม่ 8.3 พันล. ‘ทัพเรือ’ สร้าง ‘การบินไทย’ เช่า
เปิดแผนฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’ (4) ค่าจ้าง ‘ผู้ทำแผน-ที่ปรึกษาฯ’ 5 เดือน 388.5 ล้าน
สมัครเออร์ลี่ฯรอบใหม่อีก 2.8 พันคน! ‘ชาญศิลป์’ มั่นใจ ‘การบินไทย’ พ้นวิกฤติ
ปลดนักบิน-ลูกเรือ 2.3 พันคน! ‘บิ๊กการบินไทย’ ร่อนสารแจงพนง.-ขอไม่ฟ้องร้องกัน
เปิดแผนฟื้นฟูฯการบินไทย (3) อำนาจ 2 ว่าที่ผู้บริหารแผน ‘จักรกฤศฏิ์-ปิยสวัสดิ์’
เปิดแผนฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’ (2) ปฏิรูปธุรกิจเต็มรูปแบบ ‘4 เสาหลัก’ คาดพลิกกำไรปี 66
เปิดแผนฟื้นฟูฯการบินไทย! ‘รบ.-แบงก์’ พร้อมใส่เงินใหม่ 5 หมื่นล.-เพิ่มทุน 3.8 บ./หุ้น
เปิดลงชื่อเข้าโครงสร้างใหม่ ‘การบินไทย’! ‘ชาญศิลป์’ ขอพนง.ร่วมมือเปลี่ยนสภาพการจ้าง
นายกฯสั่ง ‘รมว.แรงงาน’ ดูแลพนง. ‘การบินไทย’ หลังบริษัทให้เขียน 'ใบสมัคร' ใหม่
โรดโชว์หาเงินใหม่! ‘ชาญศิลป์’ มั่นใจรัฐบาลช่วย-ยก 3 ปัจจัยหนุน ‘การบินไทย’ ฟื้น
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage