“...พนักงานที่อยู่ในโครงสร้างใหม่ 15,000 คน จะตกงานทันที เพราะสายการบินแห่งใหม่จะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีกว่าจะเริ่มดำเนินกิจการได้ และกว่าจะมีสิทธิ์ในเส้นทางการบินเดิมของการบินไทยอาจใช้เวลา 3-4 ปี พนักงานที่ออกจากงาน 21,000 คน จะได้เงินชดเชยไม่เกินคนละ 100,000 บาท ส่วนที่เหลือไปรอส่วนแบ่งกับเจ้าหนี้อื่น...”
....................
เหลือเวลาอีกเพียง 10 วัน ก่อนที่ประชุมเจ้าหนี้จะลงมติว่าจะ ‘รับ’ แผนฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือไม่ ในวันที่ 12 พ.ค.นี้
แม้ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ ‘เจ้าหนี้’ จะโหวต ‘รับ’ แผนฟื้นฟูกิจการฯ
แต่ทว่าหนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้บริษัท การบินไทย รอดพ้นจากการ ‘ล้มละลาย’ ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการฯฉบับนี้ นั่นก็คือการได้รับ ‘เงินทุนใหม่’ จำนวน 5 หมื่นล้านบาท โดยเม็ดเงิน ‘ครึ่งหนึ่ง’ หรือ 2.5 หมื่นล้านบาท จะมาจากกระทรวงการคลัง (อ่านประกอบ : เปิดแผนฟื้นฟูฯการบินไทย! ‘รบ.-แบงก์’ พร้อมใส่เงินใหม่ 5 หมื่นล.-เพิ่มทุน 3.8 บ./หุ้น)
ขณะที่เมื่อเร็วๆนี้ ฝ่ายบริหารของบริษัท การบินไทย ได้มีข้อเสนอเพิ่มเติมต่อกระทรวงการคลัง ว่า บริษัท การบินไทย จะต้องกลับมาเป็น ‘รัฐวิสาหกิจ’ เพื่อให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนการดำเนินการของบริษัทฯ ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการฯได้ โดยเฉพาะการสนับสนุนทางการเงิน
อย่างไรก็ดี ในฟากฝั่งของกระทรวงคมนาคมไม่เห็นด้วยกับการที่บริษัท การบินไทย จะกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีก เพราะจะสร้างภาระหนี้ให้รัฐบาล พร้อมเสนอจัดตั้ง ‘สายการบินแห่งชาติ’ แห่งใหม่ เพื่อทำหน้าที่แทนการบินไทย (อ่านประกอบ : เปิดความเห็นกฤษฎีกา! เสนอแก้มติ ครม.คงสถานะ 'การบินไทย : สายการบินแห่งชาติ')
ส่วนท่าทีของกระทรวงการคลังนั้น ล่าสุด อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะให้บริษัท การบินไทย กลับมามีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ เนื่องจากแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย ยังอยู่ในกระบวนการเสนอให้ที่ประชุมเจ้าหนี้โหวตแผนฯในวันที่ 12 พ.ค.นี้
“ต้องรอความชัดเจนของผลโหวตรับแผนจากเจ้าหนี้ เพราะการเพิ่มทุนมีหลายแนวทาง” อาคมกล่าวเมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา
(อาคม เติมพิทยาไพสิฐ)
@ห่วง ‘การบินไทย’ ล้มละลายกระทบเจ้าหนี้-พนักงาน
แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท การบินไทย เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า การที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้จัดตั้งสายการบินแห่งชาติบริษัทใหม่ แล้วให้การบินไทยเดินหน้าต่อไปตามกฎหมายล้มละลาย และไม่ให้กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจนั้น แม้ว่าฟังดูดี แต่ไม่แน่ใจว่าประชาชนและพนักงานการบินไทยจะเข้าใจความหมายหรือไม่
เพราะความหมายก็คือ รัฐจะไม่สามารถให้การสนับสนุนทางการเงิน 25,000 ล้านบาทได้ ดังนั้น เอกชนก็จะไม่เอาเงินใส่อีก 25,000 ล้านบาท ทำให้การบินไทยขาดเงินตั้งแต่เดือนส.ค.เป็นต้นไป และเข้าสู่สภาวะล้มละลาย ขณะที่ข้อตกลง (LOI) เช่าเครื่องบินไม่มีผลบังคับใช้ เจ้าหนี้เครื่องบินเอาเครื่องบินคืน และ TG/WE ต้องหยุดบินตั้งแต่ ส.ค.นี้
จากนั้นเจ้าหนี้เอาทรัพย์สินไปแบ่งกัน คาดว่าจะได้ 10% ของมูลค่าหนี้ คือ หนี้ธนาคาร 40,000 ล้านบาท เหลือ 4,000 ล้านบาท หนี้หุ้นกู้ 70,000 ล้านบาท จะเหลือ 7,000 ล้านบาท ทำให้สหกรณ์ออมทรัพย์ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ผู้ฝากเงินขาดความมั่นใจถอนเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์นำไปสู่วิกฤติการเงินของประเทศ รัฐบาลหมดความน่าเชื่อถือ”
แหล่งข่าวยังระบุต่อว่า “พนักงานที่อยู่ในโครงสร้างใหม่ 15,000 คน จะตกงานทันที เพราะสายการบินแห่งใหม่จะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีกว่าจะเริ่มดำเนินกิจการได้ และกว่าจะมีสิทธิ์ในเส้นทางการบินเดิมของการบินไทยอาจใช้เวลา 3-4 ปี พนักงานที่ออกจากงาน 21,000 คน จะได้เงินชดเชยไม่เกินคนละ 100,000 บาท ส่วนที่เหลือไปรอส่วนแบ่งกับเจ้าหนี้อื่น”
นเรศ ผึ้งแย้ม ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ ระบุว่า ผลจากการที่บริษัท การบินไทย ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้ล่าสุดบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ขอคืนพื้นที่เช่าภายในสนามบินภูเก็ต หลังสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการให้บริการภาคพื้นและคลังสินค้าของการบินไทยสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เม.ย.2564
“ทอท.มีหนังสือขอคืนพื้นที่เช่าภายในสนามบินภูเก็ตของการบินไทย ให้เราออกจากพื้นที่ทั้งหมด แล้วเขาจะมาทำแทน ซึ่งเชื่อว่าเหตุการณ์แบบนี้จะลามไปยังสนามบินอื่นๆทั้งที่สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และเชียงใหม่ เพราะเหตุว่าการบินไทยไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ แล้วอย่างนี้ เราจะหารายได้มาพยุงองค์กรได้อย่างไร เพราะตอนนี้บินก็บินไม่ได้” นเรศกล่าว
@เจ้าหนี้หุ้นกู้ 7 หมื่นล.ส่งสัญญาณโหวต ‘รับ’ แผนฟื้นฟูฯ
ด้าน ไพบูลย์ แก้วเพทาย หนึ่งในคณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหาหุ้นกู้ บริษัท การบินไทยฯ ของสหกรณ์ออมทรัพย์เจ้าหนี้หุ้นกู้บริษัท การบินไทย 89 แห่ง มูลหนี้รวม 4.2 หมื่นล้านบาท กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า สหกรณ์เจ้าหนี้ฯ เห็นว่า การบินไทยควรเป็นสายการบินแห่งชาติ ส่วนจะกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ต้องอยู่ที่กระทรวงการคลัง
“ถ้าจะให้ธนาคารลงเงินเพิ่ม เขาต้องการให้รัฐบาลลงก่อน แต่ปัญหามีอยู่ว่า ถ้าไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ รัฐบาลก็ค้ำประกันไม่ได้ จึงต้องทำให้การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจประเภท 3 ก่อน คือ ให้รัฐวิสาหกิจอื่นเข้ามาถือหุ้นเพิ่ม 2-3% เมื่อรวมกับหุ้นของกระทรวงการคลัง 47.86% รวมแล้วรัฐถือเกิน 50% ก็จะทำให้รัฐบาลค้ำประกันหนี้ใหม่ได้” ไพบูลย์กล่าว
ไพบูลย์ กล่าวว่า หากบริษัท การบินไทย ได้รับเงินกู้ก้อนใหม่ 5 หมื่นล้านบาท เชื่อว่าบริษัทจะประคับประคองตัวจนผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ไปได้ และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว บริษัทจะกลับมายืนได้อีกครั้ง เพราะการบินไทยเป็นสายการบินที่มีประวัติศาสตร์ที่ดี และมีภาพลักษณ์ที่ดีมาโดยตลอด เพียงแต่ตอนนี้ต้องมีปรับโมเดลธุรกิจและปฏิรูปองค์กรกันใหม่
“ภาพลักษณ์การบินไทยยังขายได้ เพียงแต่ต้องมีโมเดลธุรกิจที่ดี ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้กระชับ และต้องล้างวัฒนธรรมลูกท่านหลานเธอ รวมถึงเครือข่ายคอนเนคชั่นที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ เช่น การจองตั๋วเครื่องบิน เรารู้ว่ามีคนมาเกาะมาหากินอยู่ ต้องล้างให้หมด หากทำได้ เชื่อว่าไปได้ เพียงแต่ว่ารอให้เศรษฐกิจมันฟื้นตัว” ไพบูลย์ระบุ
(ชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย ในฐานะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย เข้าชี้แจงแผนฟื้นฟูกิจการฯ กับที่ประชุมผู้แทนสหกรณ์ออมทรัพย์เจ้าหนี้หุ้นกู้รวม 4.2 หมื่นล้านบาท เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2564)
ส่วนแนวโน้มการโหวตแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทยในวันที่ 12 พ.ค.นั้น ไพบูลย์ บอกว่า ก่อนหน้านี้ สหกรณ์เจ้าหนี้ฯ เชิญบริษัทประกันชีวิตและประกันภัย ซึ่งเป็นเจ้าหนี้หุ้นกู้บริษัท การบินไทย เข้าหารือ โดยที่ประชุมสรุปว่าเจ้าหนี้หุ้นกู้มูลหนี้รวม 7 หมื่นล้านบาท จะโหวตไปในทิศทางเดียวกัน และเท่าที่ฟังเจ้าหนี้หุ้นกู้จะโหวตรับแผนฟื้นฟูฯ
“หุ้นกู้ของสหกรณ์มี 4.2 หมื่นล้านบาท บริษัทประกันภัย และบริษัท ประกันชีวิตมีอีก 3 หมื่นล้านบาท รวมแล้ว 70,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40% ของหนี้สิน 1.8 แสนล้านบาท เราพยายามจับมือกัน ซึ่งเราเชิญเขามาคุยทีหนึ่งแล้วและได้ข้อสรุปว่า เราจะไปในทางเดียวกัน
เท่าที่ฟังดูน่าจะไม่มีปัญหาอะไรในการที่จะต้องโหวตแผนฯให้ผ่าน ถ้ารวมเจ้าหนี้ที่เป็นหน่วยงานภาครัฐและของกระทรวงการคลัง เช่น แบงก์กรุงไทย ก็จะได้เกิน 50% ส่วนการเสนอแก้ไขแผนฯ ทางสหกรณ์เจ้าหนี้ขอดูอีกที แต่ดู 90% ไม่มีอะไรต้องแก้ และเท่าที่ทราบมีธนาคารพาณิชย์บางแห่งขอแก้แผน ซึ่งเรายังไม่ได้คุยกัน” ไพบูลย์ย้ำ
(ไพบูลย์ แก้วเพทาย)
@เสนอตั้ง ‘อีวาย’ เป็นผู้บริหารแผนเพิ่มเติม
ไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า สหกรณ์เจ้าหนี้หุ้นกู้จะมีการเสนอให้เพิ่ม ‘ผู้บริหารแผน’ อีก 1 ราย คือ บริษัท บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด โดยได้ติดต่อทางอีวายไปแล้ว และรอว่าอีวายจะตอบอย่างไร แต่หากสุดท้ายอีวายไม่รับ สหกรณ์ฯจะใช้กลไกของคณะกรรมการเจ้าหนี้ในการติดตามการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการฯ
“ถ้าผู้บริหารแผนเป็นนิติบุคคล เป็นบริษัท เขาจะต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการเจ้าหนี้ และไม่ต้องไปสนใจเครือข่ายผลประโยชน์ทั้งหลายที่จะมาเกาะกิน แต่ถ้าเป็นตัวบุคคลก็จะมีโอกาส เพราะเขามีคอนเนคชั่นอะไรอยู่ เดี๋ยวคนโน้นคนนี้เข้ามา เหมือนผู้ทำแผนคนหนึ่งที่เอาเมียเข้ามาทำงาน เราไม่ต้องการเห็นการสร้างเครือข่ายอย่างนี้” ไพบูลย์ระบุ
บทสรุปการกลับคืนมาเป็น ‘รัฐวิสาหกิจ’ ของ ‘การบินไทย’ จะลงเอยอย่างไรนั้น อยู่ที่การตัดสินใจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม
ส่วนแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จะผ่านหรือไม่ อีกไม่กี่วันคงได้รู้กัน!
อ่านประกอบ :
ปรับตำแหน่ง! ‘การบินไทย’ แต่งตั้ง 26 ผู้บริหารระดับสูง รับโครงสร้างองค์กรใหม่
เปิดความเห็นกฤษฎีกา! เสนอแก้มติ ครม.คงสถานะ 'การบินไทย : สายการบินแห่งชาติ'
หวั่นทุนการเมืองฮุบ'สายการบินแห่งชาติใหม่'! ลุ้นครม.เพิ่มทุน 'เจ้าจำปี' 2.5 หมื่นล.
แค่ติดตามแผนฟื้นฟูฯ! ‘อนุทิน’ ปัดนายกฯเรียกถก ‘การบินไทย’ กลับคืนเป็น 'รสก.'
'การบินไทย' ประกาศ บ.ลูก 'ปตท.' ชนะประมูล 'ศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่' 1,810 ล้าน
โหวตรับแผนฟื้นฟูฯ! ท่าทีสหกรณ์เจ้าหนี้‘การบินไทย’-เปิดรับสมัคร‘พนง.’กลั่นกรองฯรอบ 2
ได้รับเลือก 9,304 คน! ‘การบินไทย’ ประกาศรายชื่อ ‘พนง.’ เข้าโครงสร้างองค์กรใหม่
‘การบินไทย’วุ่น! ‘นักบิน’ จี้โละผลประเมินเข้าโครงสร้างใหม่-พนง.รอเก้อไม่เรียกสัมภาษณ์
52 เจ้าซื้อซอง! ประมูลศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ ‘การบินไทย’ พบ ‘ปตท.-สิงห์-เซ็นทรัล’ มาด้วย
ปิดฉาก ‘ศูนย์ซ่อมฯอู่ตะเภา’ ผุด MRO ใหม่ 8.3 พันล. ‘ทัพเรือ’ สร้าง ‘การบินไทย’ เช่า
เปิดแผนฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’ (4) ค่าจ้าง ‘ผู้ทำแผน-ที่ปรึกษาฯ’ 5 เดือน 388.5 ล้าน
สมัครเออร์ลี่ฯรอบใหม่อีก 2.8 พันคน! ‘ชาญศิลป์’ มั่นใจ ‘การบินไทย’ พ้นวิกฤติ
ปลดนักบิน-ลูกเรือ 2.3 พันคน! ‘บิ๊กการบินไทย’ ร่อนสารแจงพนง.-ขอไม่ฟ้องร้องกัน
เปิดแผนฟื้นฟูฯการบินไทย (3) อำนาจ 2 ว่าที่ผู้บริหารแผน ‘จักรกฤศฏิ์-ปิยสวัสดิ์’
เปิดแผนฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’ (2) ปฏิรูปธุรกิจเต็มรูปแบบ ‘4 เสาหลัก’ คาดพลิกกำไรปี 66
เปิดแผนฟื้นฟูฯการบินไทย! ‘รบ.-แบงก์’ พร้อมใส่เงินใหม่ 5 หมื่นล.-เพิ่มทุน 3.8 บ./หุ้น
เปิดลงชื่อเข้าโครงสร้างใหม่ ‘การบินไทย’! ‘ชาญศิลป์’ ขอพนง.ร่วมมือเปลี่ยนสภาพการจ้าง
นายกฯสั่ง ‘รมว.แรงงาน’ ดูแลพนง. ‘การบินไทย’ หลังบริษัทให้เขียน 'ใบสมัคร' ใหม่
โรดโชว์หาเงินใหม่! ‘ชาญศิลป์’ มั่นใจรัฐบาลช่วย-ยก 3 ปัจจัยหนุน ‘การบินไทย’ ฟื้น
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage