“…การจะกำหนดให้สายการบินใดเป็นสายการบินแห่งชาติ จึงสมควรปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2521 ไปพร้อมกันด้วย โดยอาจกำหนดให้สายการบินที่หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นสายการบินที่กำหนดหรือสายการบินแห่งชาติ จะได้แก้ปัญหาได้ในคราวเดียว…”
........................
เป็นประเด็นร้อนในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
หลังมีกระแสข่าวว่า ‘นักการเมืองบางกลุ่ม’ กำลังผลักดันการจัดตั้ง ‘สายการบินแห่งชาติ’ ใหม่ ให้ทำหน้าที่เป็นสายการบินแห่งชาติแทน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันพ้นสถานะการเป็น ‘รัฐวิสาหกิจ’ แล้ว หลังกระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นลงจาก 51.03% เหลือ 47.86%
ทำให้ ‘คนการบินไทย’ ทั้งระดับบริหารและพนักงาน ออกมาคัดค้านแนวคิดการจัดตั้งสายการบินแห่งชาติใหม่
“เรื่องนี้เป็นการผลักดันของพรรคการเมืองหนึ่ง ซึ่งหากเป็นจริง อาจทำให้กลุ่มทุนอย่างน้อย 2 กลุ่ม ที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับพรรคการเมืองดังกล่าวแสวงหาประโยชน์ในสายการบินแห่งชาติแห่งใหม่ได้” แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท การบินไทย ระบุ (อ่านประกอบ : หวั่นทุนการเมืองฮุบ'สายการบินแห่งชาติใหม่'! ลุ้นครม.เพิ่มทุน 'เจ้าจำปี' 2.5 หมื่นล.)
ขณะที่สหภาพแรงงานการบินไทย (สร.กบท.) ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สหภาพฯพนักงานบริษัท การบินไทย ซึ่งมีบทบาทเคลื่อนไหวประเด็นต่างๆในช่วงที่ผ่านมา ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา คัดค้านการจัดตั้ง ‘สายการบินแห่งชาติใหม่’ และสนับสนุนแนวทางการฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย ผ่านกระบวนการของศาลล้มละลาย
“บริษัท การบินไทย มีความพร้อมทุกด้านในการทำหน้าที่สายการบินแห่งชาติประเทศไทย ไม่มีความจำเป็นต้องมีสายการบินแห่งชาติ แห่งที่ 2” แถลงการณ์ สร.กบท.ระบุ พร้อมให้เหตุผล 8 ข้อ เช่น การบินไทย มีแบรนด์ และมีชื่อเสียงที่ดีได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ขณะที่การบินไทยไม่ควรล้มละลาย เพราะจะทำให้เจ้าหนี้ได้หนี้คืนเพียง 12-13% เท่านั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบข้อมูลว่า แม้ว่าปัจจุบันบริษัท การบินไทย ไม่ได้มีสถานะเป็น ‘สายการบินแห่งชาติ’ หรือ ‘สายการบินของรัฐ’ ซึ่งเป็นสายการบินที่กำหนดของประเทศ (designated airline) แล้ว
ส่งผลให้ ‘สิทธิ’ ในการดำเนินกิจการเดินอากาศระหว่างประเทศ ที่เป็น ‘สิทธิ’ ที่ประเทศไทยได้มาจากการเข้าเป็นภาคีสมาชิกในอนุสัญญาและความตกลงทวิภาคี รวมถึงสิทธิการบินต่างๆ สิทธิประโยชน์และการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งบริษัท การบินไทย เคยได้รับ ‘สิ้นสุดลง’
“…สายการบินของรัฐเท่านั้น เป็นสายการบินที่กำหนดของประเทศสำหรับการบินเช่าเหมา รัฐบาลมีนโยบาย สนับสนุน สายการบินของไทยที่ไม่ใช่สายการบินของรัฐ ให้ดำเนินการได้เพียงเสริมกิจการของสายการบินของรัฐ โดยไม่แข่งขันกับสายการบินของรัฐ ทั้งนี้เท่าที่สายการบินของรัฐยังไม่พร้อมที่จะดำเนินการ…” มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2521 ระบุ
แต่ปรากฏว่ามี ‘ความเห็น’ จากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่อาจจะทำให้ ‘การบินไทย’ กลับมาเป็น ‘สายการบินแห่งชาติ’ หรือ ‘สายการบินแห่งรัฐ’ อีกครั้ง และได้รับ ‘สิทธิการบิน’ รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆจากภาครัฐเหมือนเดิม โดยไม่จำเป็นต้องจัดตั้งสายการบินแห่งชาติใหม่
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 มี.ค.2563 กระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือที่ มท 0320/4183 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง แนวทางการจัดเที่ยวบินขนส่งผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ ซึ่งซาอุดิอาระเบียมีข้อกำหนดว่า
1.การขนส่งผู้แสวงบุญฯชาวไทยให้ดำเนินการโดยสายการบินแห่งชาติ (Nation Carrier) ประเทศไทยและประเทศซาอุดิอาระเบียฝ่ายละครึ่ง
2.ไม่อนุญาตให้สายการบินของประเทศอื่น นอกจากสายการบินแห่งชาติของประเทศไทยและประเทศซาอุดิอาระเบียดำเนินการขนส่ง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากกรมการบินพลเรือนซาอุดิอาระเบีย
3.ดำเนินการโดยรูปแบบเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) เท่านั้น
แต่เนื่องจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หลุดพ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว จึงมีสถานภาพเป็นสายการบินเอกชน ซึ่งขัดกับข้อกำหนดของประเทซาอุดิอาระเบีย กระทรวงมหาดไทย จึงขอให้ครม.เห็นชอบ 'ให้บริษัท การบินไทย เป็นสายการบินแห่งชาติของประเทศไทย เฉพาะกรณีการขนส่งผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ชาวไทย'
ต่อมาครม.มีมติเมื่อวันที่ 20 เม.ย.2564 เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทย โดยเห็นชอบเป็นหลักการให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็น สายการบินแห่งชาติในการขนส่งผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ชาวไทย ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ
อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาวาระดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีหนังสือด่วนที่สุดที่ นร 0906/62 ลงวันที่ 2 เม.ย.2564 เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม. ว่า
“…การกำหนดให้สายการบินใดเป็นสายการบินแห่งชาติ เป็นเรื่องทางนโยบายของแต่ละประเทศ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่
สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 28 พ.ย.2521 ให้ “สายการบินของรัฐ” เท่านั้น เป็นสายการบินที่กำหนด (designated airline) ของประเทศ จึงถือปฏิบัติมาโดยตลอดว่า สายการบินที่รัฐเป็นเจ้าของหรือที่เป็นรัฐวิสาหกิจเป็นสายการบินที่กำหนด (หรือที่เข้าใจทั่วไปว่าเป็นสายการบินแห่งชาติ)
การที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2561 มอบหมายให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็น National Carrier ในการขนส่งผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ชาวไทย จึงสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พ.ย.2521 แต่เมื่อขณะนี้ ไม่มีสายการบินของรัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พ.ย.2521 อีกต่อไปแล้ว จึงไม่มีสายการบินแห่งชาติไปโดยปริยาย
การจะกำหนดให้สายการบินใดเป็นสายการบินแห่งชาติ จึงสมควรปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2521 ไปพร้อมกันด้วย โดยอาจกำหนดให้สายการบินที่หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นสายการบินที่กำหนดหรือสายการบินแห่งชาติ จะได้แก้ปัญหาได้ในคราวเดียว…”
ความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าว นับว่าเป็นการชี้ช่องทางให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการคืนสถานะ 'การบินไทย' ให้กลับมาเป็น 'สายการบินแห่งชาติ' อีกครั้ง
ซึ่งทำให้บริษัท การบินไทย มีสิทธิได้รับการสนับสนุนต่างๆจากภาครัฐ รวมถึงการจัดสรรเงินเพิ่มทุน 2.5 หมื่นล้านบาท เมื่อบริษัทฯเข้าสู่ช่วงการฟื้นฟูกิจการฯ
ส่วนบทสรุปจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป!
อ่านประกอบ :
หวั่นทุนการเมืองฮุบ'สายการบินแห่งชาติใหม่'! ลุ้นครม.เพิ่มทุน 'เจ้าจำปี' 2.5 หมื่นล.
แค่ติดตามแผนฟื้นฟูฯ! ‘อนุทิน’ ปัดนายกฯเรียกถก ‘การบินไทย’ กลับคืนเป็น 'รสก.'
'การบินไทย' ประกาศ บ.ลูก 'ปตท.' ชนะประมูล 'ศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่' 1,810 ล้าน
โหวตรับแผนฟื้นฟูฯ! ท่าทีสหกรณ์เจ้าหนี้‘การบินไทย’-เปิดรับสมัคร‘พนง.’กลั่นกรองฯรอบ 2
ได้รับเลือก 9,304 คน! ‘การบินไทย’ ประกาศรายชื่อ ‘พนง.’ เข้าโครงสร้างองค์กรใหม่
‘การบินไทย’วุ่น! ‘นักบิน’ จี้โละผลประเมินเข้าโครงสร้างใหม่-พนง.รอเก้อไม่เรียกสัมภาษณ์
52 เจ้าซื้อซอง! ประมูลศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ ‘การบินไทย’ พบ ‘ปตท.-สิงห์-เซ็นทรัล’ มาด้วย
ปิดฉาก ‘ศูนย์ซ่อมฯอู่ตะเภา’ ผุด MRO ใหม่ 8.3 พันล. ‘ทัพเรือ’ สร้าง ‘การบินไทย’ เช่า
เปิดแผนฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’ (4) ค่าจ้าง ‘ผู้ทำแผน-ที่ปรึกษาฯ’ 5 เดือน 388.5 ล้าน
สมัครเออร์ลี่ฯรอบใหม่อีก 2.8 พันคน! ‘ชาญศิลป์’ มั่นใจ ‘การบินไทย’ พ้นวิกฤติ
ปลดนักบิน-ลูกเรือ 2.3 พันคน! ‘บิ๊กการบินไทย’ ร่อนสารแจงพนง.-ขอไม่ฟ้องร้องกัน
เปิดแผนฟื้นฟูฯการบินไทย (3) อำนาจ 2 ว่าที่ผู้บริหารแผน ‘จักรกฤศฏิ์-ปิยสวัสดิ์’
เปิดแผนฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’ (2) ปฏิรูปธุรกิจเต็มรูปแบบ ‘4 เสาหลัก’ คาดพลิกกำไรปี 66
เปิดแผนฟื้นฟูฯการบินไทย! ‘รบ.-แบงก์’ พร้อมใส่เงินใหม่ 5 หมื่นล.-เพิ่มทุน 3.8 บ./หุ้น
เปิดลงชื่อเข้าโครงสร้างใหม่ ‘การบินไทย’! ‘ชาญศิลป์’ ขอพนง.ร่วมมือเปลี่ยนสภาพการจ้าง
นายกฯสั่ง ‘รมว.แรงงาน’ ดูแลพนง. ‘การบินไทย’ หลังบริษัทให้เขียน 'ใบสมัคร' ใหม่
โรดโชว์หาเงินใหม่! ‘ชาญศิลป์’ มั่นใจรัฐบาลช่วย-ยก 3 ปัจจัยหนุน ‘การบินไทย’ ฟื้น
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage