‘ศาลปกครองสูงสุด’ สั่งไม่รับคำฟ้อง อีสท์วอเตอร์’ ปมร้องเพิกถอนผลประมูลท่อส่งน้ำ EEC เหตุ ‘มิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อน’-อ้างคุ้มครองประโยชน์สาธารณะไม่ได้ เพราะเป็นการฟ้องเพื่อ ‘ประโยชน์ส่วนตัว’
.....................................
เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ 88/2566 คดีหมายเลขแดงที่ 319/2566 ระหว่าง บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ (ผู้ฟ้องคดี) กับ กรมธนารักษ์ ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา)
โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากศาลฯเห็นว่า อีสท์วอเตอร์ มิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อน และไม่ใช่เป็นการฟ้องคดีเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ดังนั้น อุทธรณ์ของอีสท์วอเตอร์จึงฟังไม่ขึ้น
“….การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมธนารักษ์) มีคำสั่งแต่งตั้งและมีคำสั่งแก้ไขคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก เป็นเพียงการดำเนินการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ผู้มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้มีอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ทางปกครองตามที่ได้รับมอบหมาย ตามนัยข้อ 34ประกอบข้อ 27 ของกฎกระทรวงการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2564
การแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชน จึงเป็นเพียงการเตรียมการและดำเนินการของเจ้าหน้าที่ เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง ด้วยการมีมติให้เอกชนรายใดรายหนึ่งเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกในการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกต่อไป ซึ่งเป็นการพิจารณาทางปกครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
โดยที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มิได้เป็นผู้ออกคำสั่งทางปกครอง ด้วยการมีมติให้เอกชนรายใดรายหนึ่ง เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกอันเป็นมูลเหตุพิพาทในคดีนี้ ผู้ฟ้องคดี จึงมิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องจากการกระทำดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
ส่วนคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ 636/2549 ที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างในอุทธรณ์นั้น เห็นว่า คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนว่า ผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ส่งผลให้ผู้ถูกสอบสวนต้องรอการเลื่อนชั้นเงินเดือนไว้ก่อน แม้จะไม่มีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีในคดีดังกล่าว แต่ก็ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรืออาจเดือดร้อนอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนคำสั่งแต่งตั้งและคำสั่งแก้ไขคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ไม่ได้มีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีในการยื่นข้อเสนอเข้ารับการคัดเลือกโครงการพิพาทแต่อย่างใด
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอ้างคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.456/2558 ที่วินิจฉัยว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง เป็นคำสั่งที่ออกโดยผู้ไม่มีอำนาจ อันมีลักษณะเป็นการออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงส่งผลให้การสอบสวนของคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้ง รวมทั้งการดำเนินการที่ต่อเนื่องมาเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปในขณะเดียวกัน นั้น
เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกตามหลักเกณฑ์ข้อ 25 วรรคหนึ่ง ของกฎกระทรวงการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2564 ซึ่งกำหนดว่า การคัดเลือกเอกชนโดยใช้วิธีประมูล เมื่อคณะกรรมการที่ราชพัสดุพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการแล้ว ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกคณะหนึ่ง
ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานเจ้าของโครงการ เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับโครงการที่จะจัดหาประโยชน์จำนวนไม่เกินสองคน เป็นกรรมการ และผู้แทนหน่วยงานเจ้าของโครงการจำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการและเลขานุการ คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชอบด้วย ข้อ 34 ประกอบข้อ 25 ของกฎกระทรวงข้างต้น ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ได้รับความเดือดร้อนหรืออาจจะเดือดร้อนเสียหายจากคำสั่งดังกล่าว อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีฟังไม่ขึ้น
กรณีคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องข้อ 3 ถึงข้อ 9 ที่ขอให้ศาลเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในรายงานการประชุมเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 ที่เห็นชอบบันทึกการต่อรองกับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเป็นผู้คัดเลือกที่ได้คะแนนสูงสุด มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) ในรายงานการประชุมเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ที่เห็นชอบให้เชิญบริษัท วงษ์สยามก่อสร้างจำกัด ผู้ได้รับคะแนนประเมินสูงสุด มาเจรจาร่างสัญญาก่อนส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบ
มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในรายงานการประชุมเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ที่เห็นชอบการปรับปรุงแก้ไขร่างสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในรายงานการประชุมเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564 เห็นชอบร่างสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกและบันทึกการเจรจาเงื่อนไขร่างสัญญา
มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในรายงานการประชุมเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 เห็นชอบเงื่อนไขสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขการชำระค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญา มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในรายงานการประชุมเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 รับรองมติการประชุมปรับปรุงภาคผนวกให้สอดคล้องกับร่างสัญญาที่สำนักงานอัยการสูงสุดแก้ไข
มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ในรายงานการประชุมเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 เห็นชอบให้เลื่อนการพิจารณาการดำเนินการและผลการคัดเลือกเอกชน ร่างสัญญาที่ผ่านการเจรจากับผู้ได้รับการคัดเลือก และเงื่อนไขสำคัญของสัญญาออกไปก่อน จนกว่าศาลปกครองกลางจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งกรณีผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1746/2564 นั้น
เห็นว่า กฎกระทรวงการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2564 ข้อ 32 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า เมื่อได้ผลการคัดเลือกเอกชนที่ผ่านการเจรจากับเอกชนซึ่งได้รับการคัดเลือกแล้ว ให้คณะกรรมการคัดเลือกรายงานการดำเนินการและผลการคัดเลือกเอกชน ร่างสัญญาเช่าหรือสัญญาต่างตอบแทนอื่นที่ผ่านการเจรจากับเอกชนซึ่งได้รับการคัดเลือก และเงื่อนไขสำคัญของสัญญาให้คณะกรรมการที่ราชพัสดุพิจารณาให้ความเห็นชอบ
มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (คณะกรรมการที่ราชพัสดุ) ข้างต้น เป็นเพียงการเตรียมการเพื่อจะดำเนินการขั้นตอนต่อไปด้วยการเจรจาต่อรองกับเอกชนผู้คัดเลือกที่คะแนนสูงสุด ร่างสัญญา และเลื่อนการพิจารณาผลการคัดเลือกเอกชนเป็นคู่สัญญาเพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองด้วยการให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีมติให้ความเห็นชอบเอกชนรายใดรายหนึ่งเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกในการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายต่อไป
ขั้นตอนดังกล่าวจึงเป็นการพิจารณาทางปกครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 เช่นเดียวกัน ผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเสี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 แต่อย่างใด
ส่วนคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ คร. 78/2564 ที่ผู้ฟ้องคดีอ้างในอุทธรณ์ นั้น มติของคณะรัฐมนตรีในคดีนั้นเป็นการเห็นชอบให้มีการแก้ไขสัญญาเกี่ยวกับการบริหารจัดการทางด่วน ซึ่งรวมถึงค่าใช้บริการทางด่วนด้วย จึงเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคและประโยชน์ส่วนรวม เมื่อผู้ฟ้องคดีในคดีดังกล่าวเป็นประชาชนผู้ใช้บริการ จึงเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเสี่ยงได้
แต่การมีมติให้แก้ไขร่างสัญญาพิพาทในคดีนี้ เป็นเพียงร่างสัญญาที่ยังไม่มีการลงนาม และยังไม่มีผลบังคับใช้ระหว่างคู่สัญญา การบริการสาธารณะตามสัญญา จึงยังไม่เกิดขึ้น และยังไม่มีผลกระทบต่อประชาชนแต่อย่างใด
เมื่อผู้ฟ้องคดี ไม่ใช่ประชาชนผู้ที่ใช้ประโยชน์จากกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกโดยตรง แต่เป็นเพียงเอกชนผู้ที่มิได้รับคัดเลือกเท่านั้น จึงไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันจะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 แต่อย่างใด อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงฟังไม่ขึ้น
กรณีคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องข้อ 10 ที่ขอให้ศาลเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (คณะกรรมการที่ราชพัสดุ) ในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 ที่เห็นชอบผลการคัดเลือกให้บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นคู่สัญญาในการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ร่างสัญญาและเงื่อนไขสำคัญของสัญญา นั้น
เห็นว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กรมธนารักษ์ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และคณะกรรมการที่ราชพัสดุ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3ในคดีของศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 1746/2564 โดยมีคำขอท้ายฟ้องข้อ 3 ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนมติคณะกรรมการที่ราชพัสดุซึ่งพิจารณาให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนของคณะกรรมการคัดเลือกและกรมธนารักษ์ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565
การที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคดีนี้ โดยมีคำขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 อีก จึงเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาล ซึ่งต้องห้ามตามข้อ 36 (1) แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ว่าคดีก่อนผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าการออกประกาศเชิญชวนครั้งเดือนกันยายน 2564 มีการแก้ไขหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคัดเลือกเอกชนในสาระสำคัญและเป็นการแก้ไขอย่างมาก ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย แต่คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวน ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 มิใช่พระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 จึงมิได้เป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน นั้น
เห็นว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1746/2564 โดยมีคำขอท้ายฟ้องข้อ 3 ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนมติให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนของคณะกรรมการคัดเลือกและกรมธนารักษ์ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 แล้ว
ผู้ฟ้องคดีสามารถกล่าวอ้างถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของมติดังกล่าวด้วยเหตุการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวน มิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ซึ่งผู้ฟ้องคดีสามารถกล่าวอ้างเหตุดังกล่าวมาในคำฟ้องหรือยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ตามนัยข้อ 62 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543
การที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคดีนี้ โดยมีคำขอท้ายฟ้องอย่างเดียวกันกับคดีหมายเลขดำที่ 1746/2564 ของศาลปกครองกลางอีก จึงเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาลซึ่งต้องห้ามตามข้อ 36 (1) แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงฟังไม่ขึ้น
สำหรับคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องข้อ 11 ที่ขอให้ศาลเพิกถอนมติ คำสั่ง หรือการกระทำใดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามคำขอข้อ 1 ถึงข้อ 19 นั้น
เห็นว่า เมื่อศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องข้อ 1 ถึงข้อ 9 ผู้ฟ้องคดี ไม่ใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดีตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ส่วนคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องข้อ 10 เป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาลซึ่งต้องห้ามตามข้อ 36 (1) แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543
ศาลจึงไม่อาจรับคำฟ้อง ข้อ 11 ที่ขอให้ศาลเพิกถอนมติ คำสั่ง หรือการกระทำใดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามซึ่งเป็นผล สืบเนื่องมาจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามคำขอข้อ 1 ถึงข้อ 10 ไว้ด้วยเช่นกัน อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงฟังไม่ขึ้น
สำหรับคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องข้อ 12 ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ปฏิบัติตามบทเฉพาะกาลแห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 นั้น
เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีฟ้องโต้แย้งว่าการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 10 กันยายน 2564 ตลอดจนถึงการมีมติให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการประชุมเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 มิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
ซึ่งในประเด็นเดียวกันนี้ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1756/2564 โดยมีคำขอท้ายฟ้องในข้อ 2 ขอให้ศาลเพิกถอนประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 10 กันยายน 2564 พร้อมเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน ร่างสัญญาร่วมลงทุน
และข้อ 3 เพิกถอนมติคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ซึ่งพิจารณาให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนของคณะกรรมการคัดเลือกและกรมธนารักษ์ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 ซึ่งผู้ฟ้องคดีสามารถกล่าวอ้างถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของประกาศ และมติดังกล่าวด้วยเหตุการณ์คัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนมิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ได้
การที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องเป็นคดีนี้ จึงเป็นการยื่นฟ้องในเรื่องเดียวกัน เมื่อคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล จึงต้องห้ามตามข้อ 36 (1) แห่งระเบียบของที่ประขุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีที่ว่าเป็นการฟ้องคดีคนละเหตุกันและไม่เคยปรากฎอยู่ในคดีหมายเลขดำที่ 1764/2564 จึงไม่อาจรับฟังได้
ส่วนที่ผู้ฟ้องอุทธรณ์ว่าการฟ้องคดีนี้ เป็นการฟ้องคดีเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ โดยเทียบเคียงคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.316/2564 ซึ่งวินิจฉัยไว้ว่า ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อเวนคืนที่ดินเพื่อขยายทางหลวงแผ่นดิน อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อให้ประชาชนทั่วไปใช้ในการสัญจร โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ดำเนินการตามโครงการนี้เป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน จึงเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ นั้น
เห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคดีนี้ โดยอ้างเหตุว่าข้อเสนอการคัดเลือกเอกชนของผู้ฟ้องคดีได้รับการประเมินคะแนนสูงที่สุด แต่ถูกยกเลิกการคัดเลือกและจัดให้มีการคัดเลือกเอกชนอีกครั้ง เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับคัดเลือกในครั้งหลัง ย่อมเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคดีนี้เพื่อรักษาประโยชน์ในการเข้าทำสัญญากับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และได้สิทธิในการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกซึ่งเป็นประโยชน์ส่วนตัวของผู้ฟ้องคดีเอง
การฟ้องคดีนี้จึงไม่ใช่ การฟ้องคดีเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 แต่อย่างใด การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น” คำสั่งศาลปกครองสูงสุด คำร้องที่ 442/2566 คำสั่งที่ 1209/2566 ลงวันที่ 9 ส.ค.2566
สำหรับคดีนี้ ผู้ฟ้องคดี ฟ้องว่า กรมธนารักษ์ ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) กระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงขอให้ศาลฯมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของกรมธนารักษ์ และเพิกถอนมติคณะกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก
พร้อมทั้งขอให้ศาลฯมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการที่ราชพัสดุ เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2565 ที่เห็นชอบผลการคัดเลือกให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นคู่สัญญาในการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก และร่างสัญญาและเงื่อนไขสำคัญของสัญญาฯ
ทั้งนี้ ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกขึ้นเพื่อทำหน้าที่คัดเลือกเอกชน พิจารณาร่างประกาศเชิญชวนเข้าร่วมโครงการ และดำเนินการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
เป็นเพียงกระบวนการภายในของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการดำเนินโครงการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนเข้าร่วมโครงการ และเตรียมการในการออกคำสั่งทางปกครอง ยังไม่ได้กระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดียังไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
ส่วนคำขอให้ศาลเพิกถอนมติของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) และคณะกรรมการที่ราชพัสดุ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) เป็นการดำเนินการภายในของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามและเตรียมการเข้าทำสัญญากับเอกชนที่ได้รับการคัดเลือก ไม่ได้มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีที่เป็นผู้ยื่นข้อเสนอเพื่อคัดเลือกตามประกาศเชิญชวนเอกชนดังกล่าวที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีมติให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกแล้ว
ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีขอให้เพิกถอนมติผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และมติผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ข้างต้น ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เช่นเดียวกัน ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด
อ่านประกอบ :
'ศาลปค.'ยกคำร้อง'อีสท์วอเตอร์' ขอทุเลาบังคับฯหนังสือ‘ธนารักษ์’เรียกคืน'ท่อส่งน้ำ' EEC
'อีสท์วอเตอร์'พร้อมคืน'ท่อส่งน้ำ'ให้'ธนารักษ์'-ห่วงเจรจาทรัพย์สิน'พื้นที่ทับซ้อน'ไม่ยุติ
บอกเลิกสัญญาแล้ว! ‘ธนารักษ์’ขีดเส้น‘อีสท์วอเตอร์’คืนท่อส่งน้ำอีอีซี ภายใน 11 เม.ย.นี้
'อีสท์วอเตอร์'ฟ้อง'ศาลปกครอง' ขอเพิกถอนคำสั่ง'ธนารักษ์'ให้ส่งมอบทรัพย์สิน'ท่อส่งน้ำ EEC'
ยังไม่ฟันธง‘ผิด-ไม่ผิด’! ‘ธนารักษ์’เร่งเก็บข้อมูล‘อีสท์วอเตอร์’ลักลอบเชื่อมท่อส่งน้ำ EEC
DSI จ่อฟัน‘อีสท์วอเตอร์’ลักลอบเชื่อมท่อส่งน้ำ EEC-‘สันติ’สั่งสอบจ่าย‘ค่าเช่า’ย้อนหลัง
อนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย : เล่าเบื้องหลัง‘วงษ์สยามฯ’ชนะประมูลท่อส่งน้ำ EEC 2.5 หมื่นล้าน
'ธนารักษ์-วงษ์สยามฯ'เซ็นสัญญาท่อส่งน้ำอีอีซี 2.5 หมื่นล.-จ่อลดค่าน้ำ'ปชช.-อุตสาหกรรม'
'ศาลปค.สูงสุด' สั่ง 'ยกเลิก' คำสั่งระงับเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ 'อีอีซี' 2.5 หมื่นล้าน
‘อัยการ’ ยื่นคำร้อง ‘ศาลปค.’ ขอยกเลิกคำสั่งระงับเซ็นสัญญาโครงการท่อส่งน้ำ EEC
‘ธนารักษ์’เตรียมถก‘อัยการ’หาช่องอุทธรณ์ หลัง‘ศาลปค.’สั่งระงับเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ EEC