เปิดมติ ครม. ไฟเขียวยกเลิก ‘ผูกขาด’ บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC เปิดทาง ‘วงษ์สยามก่อสร้างฯ’ คู่สัญญาโครงการท่อส่งน้ำฯ กับ ‘ธนารักษ์’ ซื้อน้ำดิบจาก ‘กรมชลประทาน’ มาขายให้ผู้ต้องการใช้น้ำ
.........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2535 เรื่อง แนวทางการจัดระบบบริหารการพัฒนาแหล่งน้ำ ในส่วนที่กำหนดว่า “ระบบส่งน้ำต่างๆ ควรจะมีผู้รับผิดชอบเดียวในการพัฒนาระบบให้เป็นท่อส่งน้ำสายหลัก (Trunk Transmission Main) และการดำเนินการบริหาร/จัดการ (Operate) เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นผู้ค้าส่ง (Wholeseller) ในการซื้อน้ำจากอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานและขายน้ำดิบให้กับระบบจำหน่ายต่างๆ”
ทั้งนี้ เพื่อให้เอกชน คือ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากรมธนารักษ์ เพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก เป็นผู้มีสิทธิประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์ในการซื้อน้ำจากแหล่งน้ำดิบของราชการ มาขายให้ผู้ต้องการใช้น้ำเพิ่มเติมอีกรายหนึ่ง อันจะทำให้เกิดประโยชน์จากการใช้น้ำจากทางน้ำชลประทานอย่างเต็มประสิทธิภาพ เสริมสร้างความมั่นคงด้านการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก
และบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ใช้น้ำ ตลอดจนสามารถให้บริการผู้ต้องการใช้น้ำในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อย่างพอเพียง ไม่เกิดการสะดุด โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน รวมถึงหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ สัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (สัญญาโครงการบริหารฯ) กำหนดให้เอกชนที่ได้รับการคัดเลือกจากกรมธนารักษ์ บริหารงานและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการใช้น้ำของชุมชนและกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเพียงพอ โดยเอกชนดังกล่าวมีสิทธิเรียกเก็บค่าน้ำดิบจากผู้ใช้บริการได้ในอัตราที่ไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และจะต้องชำระผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่กรมธนารักษ์ตลอดอายุสัญญาโครงการบริหารฯ
ดังนั้น หากเอกชนดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาโครงการบริหารฯ ที่ทำไว้กับกรมธนารักษ์ จะทำให้ขาดรายได้จากการไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาโครงการบริหาร ฯ และกรมธนารักษ์ในฐานะคู่สัญญาฝ่ายรัฐจะไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนที่สมควรจะได้รับตามสัญญาโครงการบริหารฯ
ทั้งนี้ ในการพิจารณาของครม.ในเรื่องดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว ให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม. ว่า ในเรื่องนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2535 ที่เห็นชอบตามข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกในประเด็นระบบท่อส่งน้ำต่างๆ ควรจะมีผู้รับผิดชอบรายเดียวในการพัฒนาระบบให้เป็นท่อส่งน้ำสายหลัก (Trunk Transmission Main)
และการดำเนินการบริหาร/จัดการ (Operate) เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นผู้ค้าส่ง (Wholeseller) ในการซื้อน้ำจากอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานและขายน้ำดิบให้กับระบบจำหน่ายต่างๆ และได้มีการจัดตั้งบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด ขึ้น เพื่อรับผิดชอบการบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำชายฝั่งภาคตะวันออกตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว
แต่โดยที่ปัจจุบันกรมธนารักษ์ได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนเพื่อจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุในโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นเอกชนซึ่งได้รับการคัดเลือก ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2535 เพื่อให้เอกชนซึ่งได้รับการคัดเลือกจากกรมธนารักษ์บริทารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกได้
กรณีจึงเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของ ครม. ที่จะพิจารณายกเว้นการปฏิบัติตามมติของ ครม. เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2535ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอได้ตามที่เห็นสมควร
โดยรายละเอียดเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด จะได้รับการจัดสรรตามเงื่อนไขสัญญา รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่บริษัท วงษ์สยาม ก่อสร้าง จำกัด ต้องรับผิดชอบกรณีที่ต้องมีการสูบผันน้ำจากแหล่งน้ำดิบอื่นเพิ่มเติม เป็นเรื่องที่กรมชลประทานและบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งที่เกี่ยวข้องตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
สำหรับความเป็นมาของ มติ ครม. ในเรื่องดังกล่าว มีดังนี้
1.ครม.มีมติเมื่อวันที่ 4 ก.พ.2535 ได้เห็นชอบตามข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (สพอ.) ในการวางระบบบริหารที่มีความชัดเจนเกี่ยวกับความรับผิดชอบของหน่วยปฏิบัติต่างๆ โดยกำหนดความรับผิดชอบในการพัฒนาและดำเนินการดูแลระบบท่อส่งน้ำสายหลักพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก การพัฒนาแหล่งน้ำดิบให้กรมชลประทานเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการเป็นหลัก และระบบท่อส่งน้ำต่างๆ
ควรจะมีผู้รับผิดชอบรายเดียว ทั้งการพัฒนาระบบให้เป็นท่อส่งน้ำสายหลัก (Trunk Transmission Main) และการดำเนินการบริหาร/จัดการ (Operate) เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นผู้ค้าส่ง (Wholeseller) ในการซื้อน้ำจากอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทนและขายน้ำดิบให้กับระบบจำหน่ายต่างๆ
2.สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 0403(กร.1)/4846 ลงวันที่ 11 เม.ย.2566 นำเรียน เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเส้นท่อส่งน้ำสายหลักในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อป้องกันปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำ อันเนื่องจากอุปสรรคในการส่งมอบทรัพย์สินโครงการท่อส่งน้ำ ความว่า
ในการบูรณาการแผนการบริหารความเสี่ยงในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างบริษัท จัดการน้ำและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอร์เตอร์ กับเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกจากกรมธนารักษ์เพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำผ่านเส้นท่อส่งน้ำไม่เกิดการสะดุด ขาดช่วง จนถึงขั้นไม่สามารถส่งน้ำผ่านเส้นท่อได้
โดยควรประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน กรมธนารักษ์ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร ในการจัดให้มีแผนบริหารความเสี่ยงร่วมกันในลักษณะแผนเชิงป้องกันและแผนสำรองในการจัดสรรน้ำ เพื่อให้การจัดส่งน้ำผ่านเส้นท่อในระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านมีความราบรื่นสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเป็นปกติ ไม่เกิดการขาดแคลนน้ำที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วน
3.กรมชลประทาน เป็นส่วนราชการที่มีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำตามศักยภาพของลุ่มน้ำให้เพียงพอ และจัดสรรน้ำให้กับผู้ใช้น้ำทุกประเภท เพื่อให้ผู้ใช้น้ำได้รับน้ำอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมตลอดจนป้องกันความเสียหายอันเกิดจากน้ำ โดยมีอำนาจหน้าที่ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2559 ข้อ 2 ในการดำเนินการจัดให้ได้มาซึ่งน้ำ หรือกัก เก็บ รักษา ควบคุม ส่ง ระบายหรือจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร การพลังงาน การสาธารณูปโภค หรือการอุตสาหกรรม
ตามกฎหมายว่าด้วยการชลประทาน กฎหมายว่าด้วยคันและคูน้ำ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันความเสียหายอันเกิดจากน้ำ ความปลอดภัยของเขื่อนและอาคารประกอบและการคมนาคมทางน้ำที่อยู่ในเขตชลประทาน ตลอดจนดำเนินการเกี่ยวกับกิจกรรมพิเศษต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นแผนงานประจำปีของกรม ดำเนินการจัดรูปที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมหรือตามที่รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
ประกอบกับพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 มาตรา 4 ได้กำหนดบทนิยามคำว่า “การชลประทาน” หมายถึง กิจการที่กรมชลประทานจัดทำขึ้นเพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำหรือเพื่อกักเก็บ รักษา ควบคุม ส่ง ระบายหรือแบ่งน้ำเพื่อเกษตรกรรม การพลังงานการสาธารณูปโภค หรือการอุตสาหกรรม และหมายความรวมถึงการป้องกันความเสียหายอันเกิดจากน้ำกับรวมถึงการคมนาคมทางน้ำซึ่งอยู่ในเขตชลประทานด้วย
4.กรมธนารักษ์ ได้มีหนังสือ ที่ กค 0310/4482 ลงวันที่ 27 ก.ค.2566 แจ้งว่า ในการบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก กรมธนารักษ์ได้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ ซึ่งปัจจุบันกรมธนารักษ์ได้ส่งมอบทรัพย์สินในโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ให้กับเอกชนรายใหม่แล้ว
ประกอบกับสถานะของบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) ได้แปรสภาพจากรัฐวิสาหกิจเป็นเอกชน และสัญญาการบริหารและการดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย) จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธ.ค.2566 จึงเป็นผลให้บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) ไม่ได้รับสิทธิในการบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำดังกล่าวอีกต่อไป
ดังนั้น เพื่อมีให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการในฐานะคู่สัญญาฝ่ายรัฐ ตลอดจนเพื่อให้การดำเนินโครงการฯ เป็นไปด้วยความถูกต้องตามเงื่อนไขแห่งสัญญาและข้อกฎหมายโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐและผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนเป็นสำคัญ กรมธนารักษ์ในฐานะคู่สัญญาฝ่ายรัฐ และผู้มีอำนาจดำเนินการแทนกระทรวงการคลัง ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุและมีหน้าที่ในการปกครอง ดูแล บำรุงรักษาที่ราชพัสดุ
อาศัยอำนาจตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 ขอความอนุเคราะห์กรมชลประทานพิจารณาสนับสนุนการอนุญาตใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานให้กับ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด
5.กรมธนารักษ์ ได้มีหนังสือ ที่ กค 0310/13671 ลงวันที่ 17 พ.ย.2566 แจ้งว่าตามเงื่อนไขสัญญาโครงการบริหารฯ ข้อ 9 กำหนดหน้าที่ของคู่สัญญาฝ่ายรัฐว่า “คู่สัญญาฝ่ายรัฐจะสนับสนุนการประสานงานของบริษัท กับส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บริษัท ได้มาซึ่งความยินยอม ใบอนุญาต แบบแปลน ข้อมูลเอกสาร และใบรับรองการจดทะเบียนต่างๆ ที่จำเป็นจากส่วนราชการดังกล่าวข้างต้นตามความจำเป็น
รวมทั้งสนับสนุนในการดำเนินการขออนุญาตจัดสรรน้ำจากกรมชลประทาน ให้ได้รับหนังสืออนุญาตใช้น้ำจากแหล่งน้ำของกรมชลประทานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ทั้งนี้ ภายใต้กฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการที่เกี่ยวข้อง” เพื่อเป็นการสนับสนุนในการดำเนินการขออนุญาตจัดสรรน้ำ
และเพื่อให้การบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ประกอบด้วย โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำ หนองค้อ- แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ที่บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) ส่งมอบให้แก่ทางราชการ และทางราชการได้ส่งมอบโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ผู้บริหารรายใหม่บริหารและดำเนินการโครงการดังกล่าวแล้ว
ประกอบกับสัญญาการบริหารและการดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย) จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.2566 จึงเป็นผลให้บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) ไม่ได้รับสิทธิในการบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำดังกล่าวอีกต่อไป กรมธนารักษ์ในฐานะคู่สัญญาฝ่ายรัฐ และผู้มีอำนาจดำเนินการแทนกระทรวงการคลัง ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุ อาศัยอำนาจตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 ขอความอนุเคราะห์กรมชลประทานพิจารณาสนับสนุนการอนุญาตใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานให้กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด
6.กรมชลประทาน ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กษ 0307/9994 ลงวันที่ 6 พ.ย.2566 ขอหารือแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการอนุญาตใช้น้ำจากทางน้ำชลประทานตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2535 และวันที่ 12 ก.ย.2535 ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนี้
(1) ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2535 ที่ให้จัดตั้งบริษัทจำกัดขึ้นมารายเดียวที่มีอำนาจหน้าที่ในการประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์ในการซื้อน้ำจากแหล่งน้ำดิบของราชการมาขายให้กับผู้ต้องการใช้น้ำ และ ครม.ได้มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2535 เห็นชอบให้จัดตั้ง บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด เพื่อบริหารและจัดการระบบท่อส่งน้ำชายฝั่งภาคตะวันออก ประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์ในการซื้อน้ำจากแหล่งน้ำดิบของราชการมาขายให้กับผู้ต้องการใช้น้ำ
ต่อมา ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 6 ส.ค.2535 ให้มีการเพิ่มทุนของบริษัท ซึ่งส่งผลให้การประปาส่วนภูมิภาค และหน่วยงานของรัฐถือหุ้นในบริษัทรวมกันไม่เกิน 49% ซึ่งเข้าลักษณะของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ จากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทมหาชนตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542
ประกอบกับ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 ที่กำหนดบทนิยามคำว่ารัฐวิสาหกิจ หมายถึง บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ ดังนั้น ในการเพิ่มทุนดังกล่าวมีผลให้บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) มีสิทธิในการเป็นผู้ประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์รายเดียว ทำหน้าที่บริหารจัดการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2535 ด้วยหรือไม่ อย่างไร
(2) หากตามข้อหารือ (1) ยังคงมีผลให้บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) มีสิทธิประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์ในการซื้อน้ำจากแหล่งน้ำดิบของราชการมาขายให้กับผู้ต้องการใช้น้ำรายเดียวตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2535 และต่อมาบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับคัดเลือกจากกรมธนารักษ์ในการประมูลโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อสายหลักในภาคตะวันออกตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562
กรณีเช่นนี้ กรมชลประทานจะสามารถอนุญาตให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ใช้น้ำจากทางน้ำชลประทานตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวงพุทธศักราช 2485 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์ในการซื้อน้ำจากแหล่งน้ำดิบของราชการมาขายให้กับผู้ต้องการใช้น้ำได้หรือไม่ อย่างไร
7.สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 1903/395 ลงวันที่ 30 พ.ย.2566 แจ้งว่า การพิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมายตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการกฤษฎีกาตามมาตรา 7 (2) แห่ง พ.ร.บ.คณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.2522 นั้นเป็นการให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายแก่หน่วยงานของรัฐหรือตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่าเป็นเหตุให้ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายได้โดยถูกต้อง
แต่ข้อหารือของกรมชลประทานในเรื่องนี้ เป็นกรณีที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการอนุญาตให้ใช้น้ำจากทางน้ำชลประทานตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2535 และวันที่ 12 ก.ย.2535 ว่าจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะถูกต้อง และโดยที่มติ ครม. มิได้มีสถานะเป็นกฎหมาย แต่เป็นการใช้อำนาจในทางบริหารของรัฐ เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน กรณีตามข้อหารือนี้จึงมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายซึ่งอยู่ในหน้าที่ และอำนาจของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ จะพิจารณาวินิจฉัย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงไม่อาจรับข้อหารือนี้ไว้พิจารณาได้
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น ครม.ได้มีมติกำหนดให้กรมชลประทานมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการหลักในการพัฒนาแหล่งน้ำดิบ และให้จัดตั้งบริษัทจำกัด (บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด) ขึ้นมารับผิดชอบในการพัฒนา บริหาร/จัดการ และดูแสบำรุงรักษาระบบท่อส่งน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออกให้สามารถสนองความต้องการใช้น้ำของชุมชนและกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเพียงพอ ทันต่อการณ์
ตลอดจนประกอบการธุรกิจเชิงพาณิชย์ในการซื้อน้ำจากแหล่งน้ำดิบของทางราชการ (กรมชลประทาน) มาขายให้กับผู้ใช้น้ำป้อนระบบจำหน่ายต่างๆ โดยที่กรมชลประทานมีหน้าที่ปฏิบัติตามที่ ครม. มอบหมาย ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2557 ข้อ 2
ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีความเห็นในประเด็นดังกล่าวว่า เป็นกรณีที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการอนุญาตให้ใช้น้ำจากทางน้ำชลประทานตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2535 และวันที่ 12 ก.ย.2535 ว่าจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกต้อง และโดยที่มติ ครม. มิได้มีสถานะเป็นกฎหมาย แต่เป็นการใช้อำนาจในทางบริหารของรัฐเพื่อเป็นกรอบแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการบริหาร/จัดการ และดูแลบำรุงรักษาระบบท่อส่งน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออกเป็นไปอย่างถูกต้องตามข้อกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีความจำเป็นนำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณายกเลิกมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2535 เรื่อง แนวทางการจัดระบบบริหารการพัฒนาแหล่งน้ำ ในส่วนที่กำหนดว่า “ระบบท่อส่งน้ำต่างๆ ควรจะมีผู้รับผิดชอบรายเดียวในการพัฒนาระบบให้เป็นท่อส่งน้ำสายหลัก (Trunk Transmission Main) และการดำเนินการบริหาร/จัดการ (Operate) เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นผู้ค้าส่ง (Wholeseller) ในการซื้อน้ำจากอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานและขายน้ำดิบให้กับระบบจำหน่ายต่างๆ”