‘กรมธนารักษ์-วงษ์สยามก่อสร้างฯ’ เซ็นสัญญาท่อส่งน้ำภาคตะวันออก 2.5 หมื่นล้าน เร่ง ‘อีสท์วอเตอร์’ ส่งมอบทรัพย์สิน ‘ทันที’ ก่อนหั่นค่าน้ำภาคอุตสาหกรรมเหลือ 12.46 บาท/ลบ.ม. ลดค่าน้ำภาคประชาชนที่ขายให้ 'กปภ.' เหลือ 9.50 บาท/ลบ.ม.
.....................................
เมื่อวันที่ 23 ก.ย. เวลา 10.19 น. นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ และนายอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ร่วมกันลงนามในสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก หลังจากเมื่อวานนี้ (22 ก.ย.) ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งทุเลาการบังคับการดำเนินการตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ฉบับลงวันที่ 10 ก.ย.2564 (อ่านประกอบ : 'ศาลปค.สูงสุด' สั่ง 'ยกเลิก' คำสั่งระงับเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ 'อีอีซี' 2.5 หมื่นล้าน)
นายประภาศ กล่าวหลังการลงนามสัญญาฯ ว่า สัญญาฉบับนี้มีกำหนดระยะเวลา 30 ปี ซึ่งจะเริ่มนับอายุสัญญาจากวันที่มีการส่งมอบทรัพย์สิน โดยบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด จะต้องชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้กรมธนารักษ์ตลอดอายุสัญญา เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 25,693.08 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญา เป็นเงิน 1,450 ล้านบาท โดยจ่ายในวันลงนามสัญญา 580 ล้านบาท และจ่ายในวันส่งมอบทรัพย์สิน 870 ล้านบาท
2.ผลประโยชน์ตอบแทนรายปี (Fixed Fee) ปีแรกชำระในวันที่ลงนามในสัญญา เป็นเงิน 44.64 ล้านบาท รวมตลอดอายุสัญญาเป็นเงิน 2,908.03 ล้านบาท และ3.ส่วนแบ่งรายได้รายปี (Revenue Sharing) จากการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ในอัตราร้อยละ 27 ต่อปี ของรายได้รวมก่อนหักค่าใช้จ่ายทุกปีตลอดอายุสัญญา รวมเป็นเงิน 21,335.19 ล้านบาท
“ในวันลงนามสัญญาวันนี้ (23 ก.ย.) รัฐได้รับค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญา จำนวน 580 ล้านบาท ,ผลประโยชน์ตอบแทนรายปี ปีที่ 1 จำนวน 44.64 ล้านบาท และหลักประกันสัญญาฯ 118.97 ล้านบาท ซึ่งถ้าคิดเป็นรายได้ของรัฐที่ไม่รวมค่าหลักประกันสัญญาก็คือ 624.63 ล้านบาท” นายประภาศ กล่าว
นายประภาศ กล่าวว่า เมื่อมีการลงนามในสัญญาฯแล้ว บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ก็ถือเป็นคู่สัญญาของกรมธนารักษ์ แต่บริษัทฯยังไม่สามารถเข้าไปบริหารจัดการโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำฯได้ เนื่องจากกรมธนารักษ์จะต้องจัดการเพื่อให้มีการส่งมอบทรัพย์สินจากผู้ประกอบการรายเดิม (บมจ. จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ อีสท์วอเตอร์) มายังกรมธนารักษ์ ก่อนที่กรมฯส่งมอบทรัพย์สินให้กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด
สำหรับโครงการท่อส่งน้ำที่ อีสท์วอเตอร์ จะต้องส่งมอบให้กรมธนารักษ์ ได้แก่ โครงการท่อส่งน้ำที่ไม่มีสัญญาเช่า จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบับ (ระยะที่ 2) ซึ่งอีสท์วอเตอร์จะต้องส่งมอบให้กรมฯทันที ส่วนโครงการท่อส่งน้ำฯที่มีสัญญาเช่า จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย อีสท์วอเตอร์จะส่งมอบให้กรมฯ หลังจากสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 31 ธ.ค.2566
“ท่อที่มีสัญญาฯ บริษัทคู่สัญญารายเดิมจะดำเนินการต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดสัญญาในปี 2566 ซึ่งกระบวนการส่งมอบในตอนนั้น ก็ต้องว่ากันว่าจะส่งมอบกันก่อนสิ้นสุดสัญญาอะไร อย่างไร เพื่อเตรียมความพร้อม แต่ท่อที่เราให้ความสำคัญและต้องส่งมอบให้เร็วที่สุด คือ ท่อที่ 2 และท่อที่ 3 คือ ท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบับ (ระยะที่ 2) เพื่อให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เข้ามาบริหาร
ส่วนคู่สัญญารายเดิมจะส่งมอบท่อที่ 2 และท่อที่ 3 ได้ เมื่อไหร่นั้น ณ ขณะนี้ ยังไม่มีสามารถกำหนดวันได้ เพราะต้องขึ้นอยู่กับตัวแปร คือ เราต้องลงไปในพื้นที่เพื่อดูรายละเอียดว่า ท่อของกรมธนารักษ์ที่เราสำรวจมาแล้ว กับท่อที่ของเอกชนรายเดิมที่บริหารอยู่ จะจัดการกันอย่างไร ซึ่งท่อของกรมธนารักษ์คงไม่มีปัญหา เราสามารถดำเนินการส่งมอบได้ทันที แต่ท่อที่ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของธนารักษ์และเชื่อมต่อไปยังผู้บริโภคจะต้องทำอย่างไร โดยบริษัท วงษ์สยามฯได้เตรียมความพร้อมเอาไว้แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้บริโภค” นายประภาศ กล่าว
เมื่อถามว่า การที่กรมธนารักษ์ลงนามสัญญากับเอกชนรายใหม่ หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยกเลิกการคุ้มครองชั่วคราวฯเพียง 1 วันนั้น ถือว่าเร็วเกินไปหรือไม่ นายประภาศ ระบุว่า ความจริงแล้ว กรมธนารักษ์พร้อมลงนามสัญญามาตั้งแต่เดือน พ.ค.2565 แล้ว แต่มีเหตุต่างๆให้ต้องชะลอออกไป และยิ่งต้องเลื่อนการลงนามในสัญญาไปนานเท่าไหร่ ตนในฐานะอธิบดีกรมธนารักษ์ต้องตระหนัก คือ ความเสียหายรายวันที่ภาครัฐจะได้รับ
“ถ้าล่าช้าออกไปวันหนึ่ง จะเสียโอกาส เสียประโยชน์ไปเท่าไหร่ และถ้าผมบอกว่ายังไม่พร้อม ก็ต้องตอบให้ได้ว่าไม่พร้อมคืออะไร มันต้องมีเหตุผล จึงตัดสินใจลงนามในวันนี้ ส่วนบริษัทฯเองก็พร้อม เมื่อเราตระหนักในเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้น ก็ไม่มีเหตุที่ต้องล่าช้าออกไป” นายประภาศ กล่าว
นายอนุฤทธิ์ กล่าวว่า บริษัทฯพร้อมเข้าทำหน้าที่เป็นบริหารโครงการท่อส่งน้ำฯที่ได้รับมอบจากกรมธนารักษ์ โดยในส่วนท่อแขนงที่ต่อไปยังผู้น้ำนั้น ส่วนใหญ่แทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะผู้ใช้น้ำลงทุนเอง อย่างไรก็ตาม มีท่อแขนง 2-3 เส้น ที่ผู้เช่ารายเดิม คือ อีสท์วอเตอร์ ดำเนินการทำท่อไปยังผู้ใช้น้ำ ซึ่งในส่วนนี้บริษัทฯได้เตรียมความพร้อมเอาไว้แล้ว มีการสั่งของเข้ามาเพื่อรอติดตั้งไว้แล้ว ดังนั้น จึงมั่นใจว่าเมื่อมีการส่งมอบท่อแล้ว ผู้บริโภคจะไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน
นายอนุฤทธิ์ กล่าวว่า ในส่วนของอัตราค่าน้ำที่จำหน่ายให้ประชาชน นั้น บริษัทฯได้ลงนามเอ็มโอยูกับการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ว่า บริษัทฯจะขายน้ำให้ กปภ.ในอัตรา 9.50 บาท/ลบ.ม. ตลอดสัญญา 30 ปี โดยไม่มีสูตรขึ้นค่าน้ำอะไรทั้งสิ้น เว้นแต่กรมชลประทานจะปรับอัตราเรียกเก็บค่าน้ำ หรือมีการปรับเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งอัตราค่าน้ำดังกล่าวถือว่าต่ำกว่าอัตราที่อีสท์วอเตอร์ขายให้ กปภ. ในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ 9.90 บาท/ลบ.ม.
ขณะที่อัตราค่าน้ำที่บริษัทฯจะจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการฯหรือภาคอุตสาหกรรม จะอยู่ที่ไม่เกิน 12.46 บาท/ลบ.ม. ตลอดอายุสัญญา 30 ปี และไม่มีสูตรการปรับขึ้นค่าน้ำแต่อย่างใด เว้นแต่กรมชลประทานจะปรับอัตราเรียกเก็บค่าน้ำ หรือมีการปรับเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ขณะที่ในปัจจุบันผู้เช่ารายเดิมกำหนดอัตราค่าน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมไว้ที่ 11-26 บาท/ลบ.ม. ดังนั้น เอกชนบางรายที่เคยเสียค่าน้ำในอัตราละ 22 บาท/ลบ.ม. ก็จะลดค่าน้ำลงมาเท่ากันที่ 12.46 บาท/ลบ.ม.
นายอนุฤทธิ์ กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ยื่น ป.ป.ช. เพื่อขอให้ตรวจสอบโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ว่า บริษัทฯไม่ใช่คู่กรณีโดยตรง แต่เป็นกรมธนารักษ์ และมั่นใจว่ากรมธนารักษ์มีเอกสารหลักฐานที่จะชี้แจงเรื่องดังกล่าวได้ทั้งหมด ส่วนคดีที่อีสท์วอร์เตอร์ฟ้องศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ยกเลิกการประมูลครั้งนี้ (ครั้งที่ 2) นั้น เป็นเรื่องกรมธนารักษ์ต้องต่อสู้คดี
อ่านประกอบ :
'ศาลปค.สูงสุด' สั่ง 'ยกเลิก' คำสั่งระงับเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ 'อีอีซี' 2.5 หมื่นล้าน
‘อัยการ’ ยื่นคำร้อง ‘ศาลปค.’ ขอยกเลิกคำสั่งระงับเซ็นสัญญาโครงการท่อส่งน้ำ EEC
‘ธนารักษ์’เตรียมถก‘อัยการ’หาช่องอุทธรณ์ หลัง‘ศาลปค.’สั่งระงับเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ EEC
เปิดคำสั่ง'ศาลปค.'! ระงับเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ EEC อ้างเหตุจ่าย'ค่าแรกเข้า'ขัดทีโออาร์
ยกเลิกรอบสอง! ‘ธนารักษ์’เลื่อนเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ EEC หลัง‘ศาลปค.’สั่งคุ้มครองชั่วคราวฯ
ผลสอบฯชี้ไม่มีอะไรผิดกม.! ‘ธนารักษ์’ยันเดินหน้าเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ‘อีอีซี’ 3 ส.ค.นี้
'ยุทธพงศ์' เล็งยื่น ป.ป.ช.เอาผิด รมว.-รมช.คลัง ประมูลโครงการท่อส่งน้ำ EEC ไม่เป็นธรรม
‘กรมธนารักษ์’แจ้ง‘วงษ์สยามฯ’เซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ‘อีอีซี’ 3 ส.ค.นี้ พร้อมวางเงิน 743 ล.
อภิปรายไม่ไว้วางใจ :‘ยุทธพงศ์’ อัดท่อส่งน้ำอีอีซี เอื้อเอกชน ‘สันติ’ โต้ทำตามผลศึกษา-คำสั่งศาล
‘วงษ์สยามก่อสร้างฯ’ยื่นหนังสือร้อง‘บิ๊กตู่’ ขอให้สั่งการเร่งรัดเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ EEC