‘กรมธนารักษ์’ แจ้ง ‘อีสท์วอเตอร์’ บอกเลิกสัญญาโครงการท่อส่งน้ำ EEC แล้ว พร้อมให้ส่งมอบทรัพย์สิน-ออกจากพื้นที่ภายใน 13 เม.ย.นี้ หากไม่คืนจ่อดำเนินมาตรการทาง ‘แพ่ง-อาญา’
.....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ กรมธนารักษ์ ได้ทำหนังสือที่ กค 0310/2824 แจ้งบอกเลิกการเช่า/บริหารโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ลงวันที่ 10 มี.ค.2566 กับ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) หรือ อีสท์วอเตอร์ พร้อมทั้งให้ EASTW ส่งมอบพื้นที่และทรัพย์สินทั้ง 2 โครงการ ให้กรมธนารักษ์ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 11 เม.ย.2566
“กรมธนารักษ์ขอเรียนว่า สัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ระหว่างกรมธนารักษ์กับ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ได้กำหนดเงื่อนไขให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด บริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ซึ่งเป็นทรัพย์สินของกระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ในฐานะคู่สัญญาฝ่ายรัฐ ประกอบด้วย
1.โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย
2.โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ
3.โครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2)
แต่เนื่องจากโครงการท่อส่งน้ำดอกกราย กรมธนารักษ์ได้จัดทำสัญญาการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก กับบริษัท East Water เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2536 มีกำหนด 30 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2537 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ดังนั้น กรมธนารักษ์จึงมีหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องดำเนินการส่งมอบทรัพย์สินและระบบท่อส่งน้ำในโครงการฯ ให้กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ตามเงื่อนไขของสัญญาโครงการฯ
โดยที่ผ่านมากรมธนารักษ์ได้แจ้งให้บริษัท East Water จัดทำบัญชีรายการทรัพย์สินที่จะต้องส่งมอบ พร้อมทั้งขั้นตอน วิธีการ ระยะเวลาในการส่งมอบ การเข้าพื้นที่ รวมทั้งรายชื่อผู้ใช้น้ำดิบและข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ได้มีการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบทรัพย์สิน รวม 3 ครั้ง (ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 26-28 ตุลาคม 2565 ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 1-4 พฤศจิกายน 2565 และครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 8-11 พฤศจิกายน 2565) และได้มีการลงนามในบันทึกการตรวจสอบข้อมูลแผนผังและรายการทรัพย์สินระหว่างผู้แทนกรมธนารักษ์และผู้แทนบริษัท East Water ด้วยแล้ว
รวมทั้งได้มีการเจรจาร่วมกัน 3 ฝ่าย ระหว่างกรมธนารักษ์ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด รวม 6 ครั้ง (ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2566 ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 และครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566) แต่ยังไม่สามารถหาข้อยุติในการส่งมอบทรัพย์สินได้ ประกอบกับบริษัท East Water ได้แจ้งว่า ขอสงวนสิทธิใดๆ ตามกฎหมายในการอุทธรณ์การส่งมอบทรัพย์สิน รวมทั้งการดำเนินคดีในศาลปกครอง
ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ตลอดจนเพื่อให้การดำเนินโครงการฯ เป็นไปด้วยความถูกต้องตามข้อกฎหมาย และความเป็นธรรม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐและผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนเป็นสำคัญ กรมธนารักษ์ในฐานะผู้มีอำนาจดำเนินการแทนกระทรวงการคลังผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุ และมีหน้าที่ในการปกครอง ดูแล บำรุงรักษาที่ราชพัสดุ
อาศัยอำนาจตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 ขอบอกเลิกการเช่า/บริหาร โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ที่ไม่มีสัญญากับบริษัท East Water ตามนัยหนังสือกรมธนารักษ์ ด่วนที่ กค 00420/948 ลงวันที่ 4 เมษายน 2543 และหนังสือกรมธนารักษ์ที่ กค 0305/17698 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2558
โดยขอให้รื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินของบริษัท East Water (มิใช่ทรัพย์สินของกระทรวงการคลัง) พร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากพื้นที่ และส่งมอบพื้นที่และทรัพย์สินทั้ง 2 โครงการ ให้แก่กรมธนารักษ์ให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 11 เมษายน 2566
ทั้งนี้ กรมธนารักษ์ขอสงวนสิทธิให้บริษัท East Water ปฏิบัติตามระเบียบที่บังคับใช้ ณ ปัจจุบัน และอนาคต พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหาย และเงินอื่นใด (ถ้ามี) จากการที่บริษัท East Water ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ราชการกำหนด” หนังสือที่ กค 0310/2824 เรื่อง การบอกเลิกการเช่า/บริหารโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ลงวันที่ 10 มี.ค.2566 ลงนามโดยนายจำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์ ระบุ
นายจำเริญ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า การทำหนังสือของกรมธนารักษ์ดังกล่าว เป็นการทำหนังสือในทางแพ่ง ซึ่งหากภายในวันที่ 11 เม.ย.2566 บริษัท East Water ไม่ส่งมอบทรัพย์สินและไม่ออกจากพื้นที่ กรมฯจะต้องส่งเรื่องให้ทางอัยการเพื่อใช้มาตรทางแพ่งบังคับให้บริษัท East Water ออกจากพื้นที่ต่อไป และหากบังคับแล้ว บริษัท East Water ยังไม่ออกจากพื้นที่อีก กรมฯจะต้องมีการดำเนินการทางอาญาในข้อหาบุกรุกต่อไป
“ถ้าหากใช้มาตรการทางแพ่งแล้ว East Water ยังไม่ออกจากพื้นที่ เราก็คงต้องไปดำเนินการทางอาญาในเรื่องการบุกรุกอะไรก็ว่ากันไป” นายจำเริญ กล่าว
ส่วนกรณีที่บริษัท East Water ระบุว่า การส่งมอบทรัพย์สินในโครงการฯ ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะมีปัญหาในเรื่องความต่อเนื่องในการบริการโครงการฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำได้ นั้น นายจำเริญ กล่าวว่า ตรงนี้เป็นเรื่องที่บริษัท East Water กล่าวอ้าง และใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กรมฯได้สอบถามบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญารายใหม่ ว่ามีความพร้อมหรือไม่ ซึ่งบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ยืนยันว่ามีความพร้อมที่จะบริหารโครงการฯได้ทันที
“เราถามคู่สัญญาของเรา (บริษัท วงษ์สยามก่อสร้างฯ) ว่า เขาพร้อมหรือไม่ หาก East Water ปล่อยมือ ซึ่งคู่สัญญาของเรายืนยันชัดเจนว่า เขาพร้อมเข้าไปดำเนินงาน โดยจะไม่มีผลเสียกับผู้ใช้น้ำแต่อย่างใด เราจึงจำเป็นต้องดำเนิน เพราะไม่เช่นนั้นรายได้ของรัฐจะหายไปในช่วงเวลาที่รัฐควรจะได้ เพราะแต่เดิมเราได้ส่วนแบ่งรายได้แค่ 7% แต่ในสัญญาใหม่ที่ทำไว้ เราจะได้ที่ส่วนแบ่งรายได้ 27-28%” นายจำเริญ กล่าว
เมื่อถามถึงความคืบหน้าการดำเนินคดีกรณีบริษัท East Water ตรวจสอบพบว่า บริษัทฯ มีการลักลอบเชื่อมต่อท่อส่งน้ำ ซึ่งมีผลต่อการคำนวณส่วนแบ่งรายได้ของรัฐ นั้น นายจำเริญ กล่าวว่า ขณะนี้เราได้ส่งข้อมูลให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้ว และต่อไปหากมีกรณีที่กรมฯจะต้องฟ้องบริษัท East Water ในข้อหาบุกรุกพื้นที่ กรมฯจะมีการฟ้องในประเด็นการตัดต่อท่อส่งน้ำพ่วงเข้าไปด้วย เพราะเป็นเรื่องการทำให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐ