“…ในการประมูลครั้งที่ 2 รัฐได้ประโยชน์มากกว่าเดิม 3 เท่า จากของเดิมผมเสนอไป 6,000 ล้านบาท และที่ผมเสนอราคานี้ได้ เพราะทีโออาร์ใหม่ กรมธนารักษ์ได้กำหนดปริมาณน้ำที่ภาครัฐต้องจัดหาให้เอกชน หรือคิดเป็นปริมาณ 155 ล้านลบ.ม. ต่อปี จากเดิมที่ผมอาจจะหาน้ำขายได้เพียง 40-60 ล้าน ลบ.ม. ต่อปีเท่านั้น…”
................................
หลังจากเลื่อนการลงนามสัญญาฯมาแล้ว 2 ครั้ง
แต่แล้วในที่สุด กรมธนารักษ์ และ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ได้ร่วมกันลงนามสัญญา ‘โครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก’ เมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา ปิดฉากการ ‘ผูกขาด’ ท่อส่งน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีมายาวนานเกือบ 30 ปี
อย่างไรก็ดี แม้ว่าปัจจุบัน วงษ์สยามก่อสร้างฯ ในฐานะคู่สัญญากับกรมธนารักษ์ จะได้สิทธิในการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก เป็นระยะเวลา 30 ปี นับตั้งแต่วันที่มีการส่งมอบทรัพย์สิน แต่ทว่าอนาคตของโครงการฯนี้ ก็ยังมีความไม่แน่นอน
เนื่องด้วยคดีที่ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ ‘อีสท์วอเตอร์’ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลฯมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 10 ก.ย.2564 และมติที่เกี่ยวข้อง
และขอให้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริการระบบท่อส่งน้ำ และกรมธนารักษ์ กลับไปดำเนินการตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 16 ก.ค.2564 (การประมูลครั้งที่ 1-อีสท์วอเตอร์อ้างว่าบริษัทฯชนะประมูล) นั้น
ยังคงอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลฯ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) มีโอกาสพูดคุยกับ อนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด และผู้ถือหุ้นใหญ่ วงษ์สยามก่อสร้างฯ เกี่ยวกับเบื้องหน้า-เบื้องหลัง และอนาคตของโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ดังนี้
@ยืนยันไม่มีการแก้ไขทีโออาร์เอื้อ ‘วงษ์สยามก่อสร้างฯ’
อนุฤทธิ์ กล่าวว่า ในส่วนของ ‘คดีหลัก’ ที่อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองกลางนั้น ตนมั่นใจว่ากรมธนารักษ์จะชนะคดี ขณะที่ วงษ์สยามก่อสร้างฯ ในฐานะผู้ร้องสอด ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว อาจจะต้องส่งคำชี้แจงและเอกสารเพิ่มเติมไปให้กับศาลฯด้วย
“เราเชื่อและมั่นใจในกระบวนการของศาลฯ และจะสังเกตได้ว่า ที่ผ่านมาคดีที่อีสท์วอเตอร์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวฯ นั้น ศาลสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวฯ 3 ครั้ง ไม่รับ 1 ครั้ง และก็เห็นเนื้อหาสาระของคดีค่อนข้างจะชัดเจนแล้ว” อนุฤทธิ์ กล่าว
ส่วนที่อีสท์วอเตอร์ฟ้องว่า การเปิดประมูลครั้งที่ 2 ไม่ชอบ นั้น อนุฤทธิ์ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่อีสท์วอเตอร์พูดได้ แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว การประมูลครั้งที่ 2 ไม่มีการแก้ไขทีโออาร์เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ วงษ์สยามก่อสร้างฯ เพราะทั้งการประมูล ครั้งที่ 1 และการเปิดประมูล ครั้งที่ 2 วงษ์สยามก่อสร้างฯ ก็เข้าร่วมประมูลได้
“การปรับทีโออาร์ (การประมูลครั้งที่ 2) เป็นการลดเงื่อนไขภายใต้ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างฯและภายใต้กรมธนารักษ์ ซึ่งไม่ได้กีดกันอีสท์วอเตอร์เลย ส่วนที่บอกว่าลดเงื่อนไขทีโออาร์เพื่อเอื้อเรา คงไม่ใช่ เพราะทีโออาร์ครั้งที่ 1 เราเข้าได้ ครั้งที่ 2 เราก็เข้าได้ แล้วจะหาว่าเอื้อเราได้อย่างไร” อนุฤทธิ์ ระบุ
@ย้อนที่มา ‘วงษ์สยามก่อสร้างฯ’ สู้ราคาประมูลสูงกว่าเดิม 3 เท่า
อนุฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า ในการเปิดประมูลครั้งที่ 1 วงษ์สยามก่อสร้างฯ เป็นผู้เสนอผลตอบแทนให้รัฐ (revenue sharing) คิดเป็น 7% ของรายได้ค่าน้ำ สูงกว่าอีสท์วอเตอร์ ที่เสนอผลตอบแทนเพียง 3% แต่เนื่องจากกรมธนารักษ์บอกว่าทีโออาร์การประมูลครั้งที่ 1 มีข้อผิดพลาดที่ไม่คาดคิด จึงยกเลิกการประมูล
“ในการประมูลตามทีโออาร์ครั้งที่ 1 ผมเสนอจ่ายผลตอบแทนให้ภาครัฐ (revenue sharing) ที่ 7% หรือคิดเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี โดยอ้างอิงปริมาณน้ำตามผลศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือ อยู่ที่ปีละ 150 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)
ส่วนผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) เสนอจ่ายผลตอบแทนเพียง 3% แต่เนื่องจากเขาเสนอปริมาณน้ำเกินความจุของท่อ โดยเอาท่อในโครงการของเขามาร่วมด้วย ซึ่งผิดหลักการยื่นข้อเสนอ เพราะไม่ได้ยื่นข้อเสนอภายใต้มาตรฐานเดียวกัน พอกรมธนารักษ์เห็นข้อบกพร่องนั้นแล้ว จึงตัดสินใจยกเลิก
ซึ่งตอนแรก เราคิดว่าจะฟ้องขอคุ้มครองชั่วคราวฯ แต่ด้วยผมเป็นนักธุรกิจที่มีประสบการณ์มาแล้ว คิดว่าถ้าฟ้องไป กว่าคดีจะจบก็ต้องใช้เวลา 5 ปี จึงตัดสินใจไม่ฟ้อง อีกทั้งในการประกวดราคาหรือการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐนั้น มีข้อกฎหมายให้อำนาจของหน่วยงานรัฐยกเลิกได้ หากเห็นว่ารัฐเสียประโยชน์” อนุฤทธิ์ กล่าว
อนุฤทธิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อกรมธนารักษ์ยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 และเปิดประมูลครั้งที่ 2 วงษ์สยามก่อสร้างฯ ได้เสนอผลตอบแทนให้ภาครัฐ เป็นเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท สูงกว่าการประมูลครั้งที่ 1 ที่เสนอ 6,000 ล้านบาท หรือสูงกว่าเดิม 3 เท่า ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่าการเปิดประมูลครั้งที่ 2 ภาครัฐได้ประโยชน์มากกว่าเดิม
“ในการประมูลครั้งที่ 2 รัฐได้ประโยชน์มากกว่าเดิม 3 เท่า จากของเดิมผมเสนอไป 6,000 ล้านบาท และที่ผมเสนอราคานี้ได้ เพราะทีโออาร์ใหม่ กรมธนารักษ์กำหนดปริมาณน้ำที่ภาครัฐต้องจัดหาให้เอกชน หรือคิดเป็น 155 ล้านลบ.ม. ต่อปี จากเดิมที่ผมอาจจะหาน้ำขายได้เพียง 40-60 ล้าน ลบ.ม. ต่อปีเท่านั้น
เมื่อรัฐเป็นฝ่ายหาน้ำ ทำให้เห็นภาพต้นทุนชัดเจน และเมื่อผมมีความเสี่ยงน้อยลง เนื่องจากกรมธนารักษ์จัดหาน้ำมาให้ และให้ผมมีหน้าที่ขาย ตัวเลขข้อเสนอจึงพุ่งขึ้นมาเป็น 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งในทางธุรกิจ อะไรเสี่ยงมาก การลงทุนก็น้อย แต่ถ้าความเสี่ยงน้อย เราสามารถให้ผลตอบแทนภาครัฐได้เยอะ” อนุฤทธิ์ กล่าว
(อนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย)
@รัฐได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ‘ภาคอุตฯ-ประชาชน’ จ่ายค่าน้ำถูกลง
อนุฤทธิ์ ระบุว่า การที่ วงษ์สยามก่อสร้างฯ ได้รับสิทธิในการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกในครั้งนี้ ไม่เพียงภาครัฐจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนรวม 2.5 หมื่นล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี แล้ว ประชาชนผู้ใช้น้ำและภาคอุตสาหกรรมจไม่ต้องรับความเสี่ยงจากสูตรค่าน้ำเหมือนในอดีต
“ในภาคอุตสาหกรรม ผมขอให้ความมั่นใจว่า ต้นทุนค่าน้ำของอุตสาหกรรมจะนิ่งที่ 12.46 บาท/ลบ.ม. ไปตลอดระยะเวลา 30 ปี จากปัจจุบันที่ต้องจ่ายค่าน้ำ 11-26 บาท/ลบ.ม. และไม่ว่าจะเคยซื้อน้ำที่ 22 บาท หรือ 11 บาท/ลบ.ม. แต่ต่อไปเราจะขายในอัตราเท่ากัน คือ 12.46 บาท/ลบ.ม. ส่วนประชาชนก็คิดราคา 9.50 บาท/ลบ.ม. ตลอดระยะเวลา 30 ปี
เว้นแต่ว่าถ้ากรมชลประทานเรียกเก็บค่าน้ำเพิ่ม และค่าไฟฟ้าของรัฐเพิ่ม เราจะปรับเพิ่มราคาเฉพาะในส่วนนี้เท่านั้น ส่วนเงินเดือนหรือค่าแรงของเราที่เพิ่มนั้น เราจะไม่เอาไปปรับตรงนี้เลย ดังนั้น ต่อไปทั้งภาคอุตสาหกรรมและประชาชนจะมีความความเสี่ยงลดลง และไม่ต้องไปเจอสูตรปรับเพิ่มค่าน้ำเหมือนในอดีตแล้ว” อนุฤทธิ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่มีบางคนบอกว่าการที่ ‘อีสท์วอเตอร์’ ไม่ได้รับสิทธิบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกต่อไป จะทำให้ภาครัฐเสียหายนั้น อนุฤทธิ์ กล่าวว่า วันนี้อีสท์วอเตอร์เป็นบริษัทมหาชน และที่มีการกล่าวอ้างว่ารัฐเป็นผู้ถือหุ้นในอีสท์วอเตอร์นั้น ความจริงแล้วจะพบว่าหุ้น 56% ของอีสท์วอเตอร์ ถือโดยชาวต่างชาติและเอกชน
“ที่กล่าวอ้างกันว่ารัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในอีสท์วอเตอร์ คิดว่าไม่ใช่ เพราะการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ถือหุ้นอยู่ 40% ส่วนอันดับ 3 การนิคมอุตสาหกรรมฯ ถือหุ้น 4% ก็จริง แต่ที่ไม่ค่อยพูดกัน คือ ผู้ถือหุ้นอันดับ 2 เป็นชาวต่างชาติถือหุ้น 18% และอันดับ 4 และ 5 ก็เป็นชาวต่างชาติ รวมแล้วทั้งชาวต่างชาติและเอกชนถือรวมกัน 56%
ดังนั้น ในการกระทำทุกอย่าง ผู้ถือหุ้นที่เป็นเอกชนและชาวต่างชาติจะได้รับประโยชน์มากกว่ารัฐ ขณะที่กรณีนี้ (การประมูลโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก) ภาครัฐรับรู้รายได้ตรงนี้ปีละ 850 ล้านบาท ในขณะที่ผู้เช่ารายเดิม (อีสท์วอเตอร์) จ่ายผลตอบแทนให้รัฐคราวๆหลักไม่ถึง 100 ล้านบาท” อนุฤทธิ์ ระบุ
อนุฤทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ทุกบริษัทก็หวังผลกำไร แต่ของผมได้น้อย (กำไร) มาก”
อ่านประกอบ :
'ธนารักษ์-วงษ์สยามฯ'เซ็นสัญญาท่อส่งน้ำอีอีซี 2.5 หมื่นล.-จ่อลดค่าน้ำ'ปชช.-อุตสาหกรรม'
'ศาลปค.สูงสุด' สั่ง 'ยกเลิก' คำสั่งระงับเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ 'อีอีซี' 2.5 หมื่นล้าน
‘อัยการ’ ยื่นคำร้อง ‘ศาลปค.’ ขอยกเลิกคำสั่งระงับเซ็นสัญญาโครงการท่อส่งน้ำ EEC
‘ธนารักษ์’เตรียมถก‘อัยการ’หาช่องอุทธรณ์ หลัง‘ศาลปค.’สั่งระงับเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ EEC
เปิดคำสั่ง'ศาลปค.'! ระงับเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ EEC อ้างเหตุจ่าย'ค่าแรกเข้า'ขัดทีโออาร์
ยกเลิกรอบสอง! ‘ธนารักษ์’เลื่อนเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ EEC หลัง‘ศาลปค.’สั่งคุ้มครองชั่วคราวฯ
ผลสอบฯชี้ไม่มีอะไรผิดกม.! ‘ธนารักษ์’ยันเดินหน้าเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ‘อีอีซี’ 3 ส.ค.นี้
'ยุทธพงศ์' เล็งยื่น ป.ป.ช.เอาผิด รมว.-รมช.คลัง ประมูลโครงการท่อส่งน้ำ EEC ไม่เป็นธรรม
‘กรมธนารักษ์’แจ้ง‘วงษ์สยามฯ’เซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ‘อีอีซี’ 3 ส.ค.นี้ พร้อมวางเงิน 743 ล.
อภิปรายไม่ไว้วางใจ :‘ยุทธพงศ์’ อัดท่อส่งน้ำอีอีซี เอื้อเอกชน ‘สันติ’ โต้ทำตามผลศึกษา-คำสั่งศาล
‘วงษ์สยามก่อสร้างฯ’ยื่นหนังสือร้อง‘บิ๊กตู่’ ขอให้สั่งการเร่งรัดเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ EEC