"...แต่จำเลย (บริษัท East Water) จงใจประวิงเวลาออกไป ด้วยการกำหนดระยะเวลาดำเนินการรื้อถอนถึง 12 เดือน และกำหนดเงื่อนไขการเริ่มต้นต้นดำเนินการรื้อถอนและส่งมอบพื้นที่คืนโจทก์ ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากโจทก์แล้ว เพื่อที่จำเลยจะยังสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ (บางส่วน) พร้อมทั้งพื้นที่ทับซ้อนได้ต่อไป..."
..........................................
จากกรณีที่ ‘กรมธนารักษ์’ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ‘บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก’ (EASTW) หรือ ‘อีสท์วอเตอร์’ ต่อศาลแพ่ง โดยขอให้ศาลฯพิพากษาบังคับขับไล่ อีสท์วอเตอร์ (จำเลย) ออกจากพื้นที่ทับซ้อนบนที่ดินที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ส.รย.1307 (บางส่วน) โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ
พื้นที่ทับซ้อนบริเวณที่ดินที่ราชพัสดุบริเวณสถานีหุบบอน Regulation Well จ.ชลบุรี และที่ดินที่ราชพัสดุ โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ (บางส่วน) เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา โดยให้อีสท์วอเตอร์รื้อถอนทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ รวมทั้งให้ชำระค่าเสียหายให้กรมธนารักษ์อีก 127.7 ล้านบาท นั้น (อ่านประกอบ : 'ธนารักษ์'ฟ้องศาลแพ่งให้'อีสท์วอเตอร์'คืน'ที่ราชพัสดุ-ท่อส่งน้ำEEC'-จ่ายค่าเสียหาย 127 ล.)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอพฤติการณ์ของ ‘อีสท์วอเตอร์’ ก่อนที่ ‘กรมธนารักษ์’ จะยื่นฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลแพ่ง ผ่านคำฟ้องของ ‘กรมธนารักษ์’ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
@‘ธนารักษ์’เซ็นสัญญาจ้าง‘วงษ์สยามฯ’ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ (กรมธนารักษ์) ได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนเพื่อดำเนินการโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก โดยมีบริษัท East Water (จำเลย) บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด และบริษัทอื่นๆ เข้าร่วมยื่นของเพื่อคัดเลือก และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีมติให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ได้รับคัดเลือกฯ
ต่อมาคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ได้มีการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2565 และมีมติเสียงข้างมาก เห็นชอบการดำเนินการ ผลการคัดเลือกที่ให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นคู่สัญญาในการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก
จากนั้นในวันที่ 23 ก.ย.2565 โจทก์ ได้ลงนามในสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการบริหารท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตตะวันออก กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ตามสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก สัญญาเลขที่ 1/2565
ต่อมาวันที่ 30 ก.ย.2565 โจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลย แจ้งการลงนามในสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด โดยขอให้จำเลยดำเนินการส่งมอบทรัพย์สินโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ภายใน 60 วัน
ส่วนโครงการท่อส่งน้ำดอกกราย ซึ่งโจทก์ ได้จัดทำสัญญาเช่า/บริหารกับจำเลยมีกำหนดระยะเวลา 30 ปีนับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2537 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566 นั้น จำเลยยังคงดำเนินกิจการได้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566 อันเป็นวันสิ้นสุดสัญญา ซึ่งโจทก์จะได้แจ้งให้จำเลยส่งมอบทรัพย์สินตามที่กำหนดไว้ในสัญญาต่อไป
อย่างไรก็ตาม หลังจากโจทก์ทำสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด จำเลย (บริษัท East Water) ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ กรมธนารักษ์ และคณะกรรมการที่ราชพัสดุ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึง 3 ต่อศาลปกครองกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ 1746/2564
โดยจำเลย ขอให้ศาลปกครองกลางพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนมติหรือคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือก (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกลงวันที่ 16 ก.ค.2564 และให้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนใหม่ พร้อมทั้งเพิกถอนประกาศเชิญชวนเอกชนฯ ลงวันที่ 10 ก.ย.2564 และเพิกถอนมติคณะกรรมการที่ราชพัสดุ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ซึ่งให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนรายบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2565
อีกทั้งให้กรมธนารักษ์ และคณะกรรมการที่ราชพัสดุ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และที่ 3) หยุดการกระทำละเมิดโดยให้งดเว้นการกระทำการใดๆ ตามกระบวนการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนเอกชนฯ ลงวันที่ 10 ก.ย.2564 พร้อมทั้งเพิกถอนสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก
ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2566 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่า ในประเด็นที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) แจ้งยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ลงวันที่ 16 ก.ค.2564 ดังกล่าว เป็นการกระทำโดยอาศัยอำนาจตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว
ส่วนในประเด็นที่ขอให้เพิกถอนประกาศเชิญชวนฯ ลงวันที่ 10 ก.ย.2564 พร้อมทั้งเพิกถอนมติคณะกรรมการที่ราชพัสดุ เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2565 และให้กรมธมธนารักษ์ และคณะกรรมการที่ราชพัสดุ หยุดการกระทำละเมิดโดยให้งดเว้นการกระทำการใดๆ ตามกระบวนการคัดเลือกเอกชนฯ ลงวันที่ 10 ก.ย.2564 พร้อมทั้งเพิกถอนสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักตะวันออก ลงวันที่ 23 ก.ย.2565 นั้น
ศาลปกครองกลางพิพากษาว่า การประกาศเชิญชวนฯ ลงวันที่ 10 ก.ย.2564 เป็นการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2) ในการกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอและเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชน ตามความเหมาะสมและความจำเป็นแห่งกรณี
เพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ ไม่มีลักษณะการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง ที่จะทำให้เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และข้อกล่าวอ้างของจำเลย (ผู้ฟ้องคดี) จึงไม่อาจรับฟังได้ การประกาศเชิญชวนเอกชนฯ ลงวันที่ 10 ก.ย.2564 จึงไม่มีเหตุที่จะต้องเสียไปตามกฎหมาย
ส่วนมติของคณะกรรมการที่ราชพัสดุ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2565 ก็ได้ปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจ ตามข้อ 34 ประกอบข้อ 32 ของกฎกระทรวงการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2564 โดยไม่มีเหตุที่จะรับฟังว่าเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายในลักษณะใด
และเมื่อคณะกรรมการคัดเลือกฯ กรมธนารักษ์ และคณะกรรมการที่ราชพัสดุ (ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม) ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวัน ลงวันที่ 23 ก.ย.2565 ที่ทำขึ้นระหว่างกระทรวงการคลัง กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด
@มอบท่อให้‘อีสท์วอเตอร์’บริหาร ไม่ได้ทำตามกม.ร่วมทุนฯ
นอกจากนี้ ศาลปกครองกลางยังได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบริษัท East Water (จำเลย) ไว้ด้วยว่า แม้เดิมจำเลยคดีนี้ (บริษัท East Water) จะจัดตั้งขึ้นเป็นบริษัทจำกัดและเป็นรัฐวิสาหกิจ ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 12 ก.ย.2535 เพื่อดำเนินกิจการเกี่ยวกับการพัฒนา การบริหาร และการจัดการแหล่งน้ำ
และต่อมามีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ส.ค.2539 เห็นชอบแนวทางการระดมทุนและการเพิ่มทุนของจำเลย มีผลทำให้จำเลยแปรสภาพจากบริษัทจำกัดเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และพ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ เมื่อจำเลยพ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจและแปรสภาพจากบริษัทจำกัด เป็นบริษัทมหาชนจำกัดแล้ว
ต่อมากรมโยธาธิการและผังเมือง ส่งมอบโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ (โครงการที่ 2) และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) (โครงการที่ 3) ให้แก่กรมธนารักษ์ และกรมธนารักษ์ส่งมอบให้จำเลยบริหารจัดการโครงการทั้งสองดังกล่าวไปพลางก่อน นั้น
การส่งมอบโครงการทั้งสองให้จำเลยดำเนินการ ถือเป็นโครงการเดียวกันและมูลค่ารวมกันเกินกว่า 10,000 ล้านบาท จึงเป็นกรณีที่เอกชนลงทุนในกิจการของรัฐและมีวงเงินหรือทรัพย์สินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป อยู่ในบังคับที่จะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535
เมื่อกรมธนารักษ์ส่งมอบโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ให้กับจำเลยดำเนินการบริหารโครงการ โดยยังไม่ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535
กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ได้มีการดำเนินการหรืออยู่ระหว่างดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ.2535
และมีผลผูกพันให้ต้องดำเนินการต่อไป ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 69 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 และไม่ต้องด้วยบทเฉพาะกาลมาตรา 68 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
ดังนั้น กรมธนารักษ์ จึงมีอำนาจที่จะนำโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ไปดำเนินการจัดหาประโยชน์ตามกฎหมายได้
@ครม.มีมติยกเลิก‘ผูกขาด’บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC
อีกทั้ง ศาลปกครองกลางยังวินิจฉัยด้วยว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ส.ค.2539 เป็นเพียงการเห็นชอบแนวทางการระดมทุนและการเพิ่มทุนของจำเลย และเห็นชอบให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวกในการขอรับอนุมัติและการทำสัญญาต่างๆ ที่จำเป็นในการดำเนินกิจการของจำเลย (บริษัท East Water)
เป็นมติคณะรัฐมนตรีที่มีขึ้นในระหว่างจำเลยทำสัญญาการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกกับกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2535 เพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานบริหารระบบท่อส่งน้ำของจำเลย จะต้องให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวกแก่จำเลยเท่าที่จำเป็นตามกฎหมาย
ในการดำเนินการบริหารระบบท่อส่งน้ำโครงการท่อส่งน้ำดอกกรายตามสัญญาที่กระทรวงการคลังได้ทำไว้กับจำเลยเท่านั้น ไม่ได้เป็นการกำหนดหรืออนุมัติไว้เป็นการล่วงหน้าให้จำเลย เป็นผู้บริหารโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล- หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ด้วย
ข้อกล่าวอ้างของจำเลย (บริษัท East Water) ที่ว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ส.ค.2539 เป็นการกำหนดให้จำเลยเป็นผู้บริหารโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) จึงรับฟังไม่ได้
ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจในการนำโครงการท่อส่งน้ำทั้งสามโครงการในคดีนี้ ออกดำเนินการคัดเลือกเอกชนในโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งนำสายหลักในภาคตะวันออก ซึ่งกระบวนการคัดเลือก ตลอดจนมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนรายบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด
พร้อมทั้งการลงนามทำสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ระหว่าง โจทก์ กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2566 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ก.พ.2535 เรื่อง แนวทางการจัดระบบบริหารการพัฒนาแหล่งน้ำในส่วนที่กำหนดว่า
“ระบบท่อส่งน้ำต่างๆ ควรจะมีผู้รับผิดชอบรายเดียวในการพัฒนาระบบให้เป็นท่อส่งน้ำสายหลัก (Trunk Transmission Main) และการดำเนินการบริหาร/จัดการ (Operate) เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นผู้ค้าส่ง (Wholeseller) ในการซื้อน้ำจากอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานและขายน้ำดิบให้กับระบบจำหน่ายต่างๆ”
เพื่อให้กรมชลประทานสามารถอนุมัติโควตาน้ำให้กับเอกชนผู้บริหารและพัฒนาระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกได้หลายราย ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถคัดเลือกและทำสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกกับเอกชนรายอื่นๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
@‘อีสท์วอเตอร์’อ้างข้อสงวนสิทธิ์ไม่คืนพื้นที่‘ทับซ้อน’
เมื่อโจทก์ (กรมธนารักษ์) ได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการโครงการท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2)) และลงนามทำสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก สัญญาเลขที่ 1/2565 กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
โจทก์ จึงมีหน้าที่ตามสัญญาเลขที่ 1/2565 ข้อ 4.1 ที่จะต้องส่งมอบโครงการท่อส่งน้ำดอกกราย (โครงการที่ 1) โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ (โครงการที่ 2) โครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) (โครงการที่ 3) ให้กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เพื่อบริหารจัดการตามสัญญาต่อไป
สำหรับโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ ซึ่งเป็นประเด็นพิพาทในคดีนี้ โจทก์ มีหน้าที่ต้องส่งมอบที่ดินที่ราชพัสดุ พร้อมอาคาร สิ่งปลูกสร้าง และระบบท่อส่งน้ำ ให้กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ตามรายการทรัพย์สินของคู่สัญญาฝ่ายรัฐ (โจทก์) โครงการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ภาคผนวก 2 แนบท้ายสัญญาเลขที่ 1/2565
ต่อมาวันที่ 19 ม.ค.2566 โจทก์ (กรมธนารักษ์) ได้จัดประชุมหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย ระหว่าง โจทก์ จำเลย และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด และต่อมาจำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า
จำเลยมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่บางส่วน (พื้นที่ทับซ้อน) ร่วมกับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ในการบริหารจัดการท่อส่งน้ำสายหลักฯ พื้นที่โครงการหนองปลาไหล-หนองค้อ เพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะของจำเลยได้ดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่องและไม่เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำ
ทั้งนี้ พื้นที่ทับซ้อนโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ ที่จำเลยขอใช้ร่วมกับ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด มีทรัพย์สินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ที่จำเลยขออนุญาตเช่าที่ราชพัสดุเพื่อก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว เมื่อปี พ.ศ.2554 อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวตามบันทึกยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขฯ จำนวน 4 รายการ
ได้แก่ 1.พื้นที่ใช้งานบริเวณสถานีหนองปลาไหล ขนาดพื้นที่ 1,140 ตารางเมตร 2.พื้นที่ใช้งานบริเวณสถานีหนองปลาไหล ขนาดพื้นที่ 1,440 ตารางเมตร 3.พื้นที่ใช้งานบริเวณสถานีหนองปลาไหล ขนาดพื้นที่ 525 ตารางเมตร และ 4.พื้นที่ใช้งานบริเวณพื้นที่สถานี Regulation Well ขนาดพื้นที่ 1,280 ตารางเมตร
จำเลยทราบดีอยู่แล้วว่า พื้นที่ทับซ้อนที่จำเลยประสงค์จะใช้ร่วมกับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ดังกล่าวทั้งหมด (รายการที่ 1-4) โจทก์ (กรมธนารักษ์) ได้มีหนังสือแจ้งบอกเลิกการใช้ประโยชน์พื้นที่ และแจ้งให้จำเลยส่งมอบพื้นที่พร้อมทรัพย์สินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลังคืนโจทก์แล้วตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.2565
เนื่องจากโจทก์ต้องนำส่งมอบให้กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ตามสัญญาเลขที่ 1/2565 แต่จำเลยยังไม่ส่งมอบพื้นพื้นที่คืนให้แก่โจทก์ โดยแจ้งขอสงวนสิทธิ์การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มี.ค.2566 โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งบอกเลิกการเช่า/บริหารโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ที่ไม่มีสัญญากับจำเลยอีกเป็นครั้งที่ 2 โดยให้จำเลยรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินของจำเลย (มิใช่ทรัพย์สินของกระทรวงการคลัง)
พร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากพื้นที่ และส่งมอบพื้นที่ทั้ง 2 โครงการ ให้แก่โจทก์ ภายในวันที่ 11 เม.ย.2566 และโจทก์ขอสงวนสิทธิ์ให้จำเลยปฏิบัติตามระเบียบที่บังคับใช้ ณ ปัจจุบัน และอนาคต พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหาย และเงินอื่นใด (ถ้ามี) จากการที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนด
ต่อมาเมื่อวันที่ 11 เม.ย.2566 จำเลย ส่งมอบทรัพย์สินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลัง ได้แก่ ทรัพย์สินที่เป็นที่ราชพัสดุและทรัพย์สินอื่นใด ในโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ได้แก่ โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) คืนให้กับโจทก์
แต่จำเลย (บริษัท East Water) ได้ระบุเงื่อนไขในบันทึกการรับมอบ-ส่งมอบทรัพย์สินฯ ข้อ 4 ว่า ผู้ส่งมอบ (จำเลย) ยังมีสิทธิ์ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนและทรัพย์สินอื่นๆ ตามรายการทรัพย์สินที่แนบท้ายบันทึกการรับมอบ-ส่งมอบของผู้ส่งมอบ (จำเลย) ได้ต่อไป จนกว่าจะได้ข้อสรุปร่วมกันระหว่างผู้รับมอบและผู้ส่งมอบในภายหลัง
และในวันเดียวกัน โจทก์ (กรมธนารักษ์) ได้ส่งมอบโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ที่รับมอบมาจากจำเลย (บริษัท East Water) ให้กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด และได้ลงนามในบันทึกการรับมอบ-ส่งมอบทรัพย์สินฯ กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด
โดยบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ได้รับมอบทรัพย์สินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลัง (โจทก์) ทั้งหมดครบถ้วนแล้ว ยกเว้นแต่ทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ซึ่งอยู่ในบริเวณพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งจำเลยขอสงวนสิทธิ์การใช้ประโยชน์พื้นทับซ้อน โดยจำเลยยังไม่ยอมรื้อถอนและส่งมอบพื้นพื้นที่ทับช้อนดังกล่าวคืนให้โจทก์แต่อย่างใด
@‘วงษ์สยามฯ’ทวง‘ธนารักษ์’เร่งส่งมอบพื้นที่ตามสัญญา
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2566 บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ได้มีหนังสือมายังโจทก์ (กรมธนารักษ์) แจ้งว่าบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด มีความจำเป็นต้องใช้ประโยชน์พื้นที่โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ บริเวณที่จำเลยขอสงวนสิทธิ์ใช้ประโยชน์ (พื้นที่ทับซ้อน) จึงขอให้โจทก์ส่งมอบทรัพย์สินให้ครบถ้วนตามสัญญา
เนื่องจากบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากการใช้พื้นที่ทับซ้อน อันเนื่องมาจากจำเลย นำทรัพย์สินที่ยังไม่รื้อถอนออกจากพื้นที่ไปใช้ประโยชน์ โดยการขออนุญาตสูบน้ำจากกรมชลประทาน ทั้งนี้ โจทก์ได้ส่งมอบพื้นที่ให้ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด แล้ว 18-0-44 ไร่ แล้ว ยังเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ได้ส่งมอบ 4-3-21 ไร่
ต่อมาเมื่อวันที่ 13 ก.ค.2566 จำเลย (บริษัท East Water) มีหนังสือมายังโจทก์ โต้แย้งว่า พื้นที่บริเวณสถานีสูบน้ำหนองปลาไหล 2 (โรงสูบน้ำ 2) นั้น จำเลยได้รับอนุญาตจากโจทก์ในการก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ เมื่อปี พ.ศ.2541 รวมเนื้อที่ประมาณ 53-0-20.6 ไร่
ส่วนพื้นที่บริเวณสถานีสูบน้ำหนองปลาไหล 3 (โรงสูบน้ำ 3) และระบบท่อส่งน้ำจากโรงสูบน้ำหมายเลข 3 จำเลยได้รับอนุญาตจากโจทก์ในการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2554 ทั้ง 2 พื้นที่ดังกล่าว จึงไม่รวมอยู่ในพื้นที่ที่จำเลยต้องส่งมอบให้กับโจทก์ เพื่อส่งมอบให้กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด
อีกทั้งพื้นที่บริเวณสถานีหุบบอน Regulation Well จ.ชลบุรี จำเลย ก็ได้แจ้งขอสงวนสิทธิ์การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวจากโจทก์แล้ว
จำเลย (บริษัท East Water) จึงไม่จำเป็นต้องไปทำความตกลงขอใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวจากบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด อีก และไม่ต้องส่งมอบพื้นที่ที่ราชพัสดุคืนให้กับกรมธนารักษ์เพิ่มเติมแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ภายหลังจากจำเลย โต้แย้งการส่งมอบพื้นที่ที่ราชพัสดุในโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ อธิบดีกรมธนารักษ์ จึงสั่งการให้ตรวจสอบที่ราชพัสดุบริเวณโครงการบริหารจัดการระบบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก โครงการระบบท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการระบบท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2)
ต่อมาวันที่ 15 ส.ค.2566 บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด มีหนังสือถึงโจทก์ (กรมธนารักษ์) ขอให้เร่งรัดส่งมอบทรัพย์สินโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ให้ครบถ้วนตามสัญญา
เพราะการที่บริษัทฯ ได้รับมอบทรัพย์สินไม่ครบถ้วนตามสัญญานั้น ส่งผลกระทบต่อการบริหารกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก เป็นเหตุให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะผลกระทบจากกรณีที่โจทก์ (กรมธนารักษ์) กำหนดให้มีการใช้พื้นที่ทับซ้อนในโครงการฯ
ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2566 บริษัท East Water จำเลยได้ส่งมอบทรัพย์สินและลงนามในบันทึกการส่งมอบ- รับมอบระบบท่อส่งน้ำตามสัญญาการบริหารและการดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย) คืนให้กับโจทก์ และโจทก์ได้ส่งมอบโครงการท่อส่งน้ำดอกกราย ให้กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด
และเมื่อวันที่ 10 ม.ค.2567 บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด มีหนังสือถึงโจทก์ ขอให้เร่งรัดดำเนินการส่งมอบทรัพย์สินให้ครบถ้วนตามสัญญา โดยแจ้งว่าการที่โจทก์ให้สิทธิจำเลย (บริษัท East Water) ใช้พื้นที่ทับซ้อนในโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อนั้น ทำให้จำเลยอ้างเป็นเหตุในการใช้ประโยชน์ในพื้นที่โดยไม่จ่ายค่าตอบแทน และยังเป็นสาเหตุทำให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหายโดยตรง ก่อให้เกิดอุปสรรคและข้อจำกัดในการดำเนินการตามสัญญา
@‘ธนารักษ์’ทำหนังสือทวง‘อีสท์วอเตอร์’คืนพื้นที่ครั้งที่ 3
กระทั่งต่อมา โจทก์ (กรมธนารักษ์) ได้มีหนังสือกรมธนารักษ์ ที่ กค 0310/2867 ลงวันที่ 12 มี.ค.2567 ไปยังจำเลย (บริษัท East Water) แจ้งบอกเลิกการให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่และทรัพย์สินอื่นๆ ในโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) เป็นครั้งที่ 3
พร้อมทั้งแจ้งว่าได้ลงนามทำสัญญากับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก โจทก์ (กรมธนารักษ์) ในฐานะภาครัฐ ต้องสนับสนุนให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด สามารถบริหารจัดการน้ำได้ และเพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำ
จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 8 วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 ขอยกเลิกการใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ (บางส่วน) เนื้อที่ประมาณ 4-3-21 ไร่ รวมทั้งยกเลิกการให้สิทธิใช้ประโยชน์ในพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนและทรัพย์สินอื่นๆ
และให้จำเลย (บริษัท East Water) ดำเนินการส่งมอบที่ดินโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ เนื้อที่ประมาณ 4-3-21 ไร่ โดยขอให้รื้อถอนทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ยกเว้นส่วนควบระบบท่อของกระทรวงการคลัง พร้อมทั้งขนย้ายบริวารออกจากพื้นที่ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ โดยโจทก์ (กรมธนารักษ์) ขอสงวนสิทธิ์ในการเรียกค่าเสียหายหรือเงินอื่นใด (ถ้ามี) จากการที่จำเลย ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนด
ทั้งนี้ หนังสือหนังสือบอกเลิกการให้ใช้ประโยชน์พื้นที่และทรัพย์สินฯ ฉบับลงวันที่ 12 มี.ค.2567 เป็นการบอกเลิกการใช้พื้นที่ทับซ้อน รวม 4 รายการ อีกทั้งเป็นการบอกเลิกการให้ใช้ประโยชน์ที่ดินที่ราชพัสดุ โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ (บางส่วน) เนื้อที่ประมาณ 4-3-21 ไร่ (บริเวณสถานีไฟฟ้าและอาคารประกอบ)
@อ้างผลกระทบผู้ใช้น้ำ-ทำแผนส่งมอบ‘พื้นที่’ใน 12 เดือน
อย่างไรก็ดี จำเลย (บริษัท East Water) ได้มีหนังสือลงวันที่ 28 มี.ค.2567 และวันที่ 3 เม.ย.2567 แจ้งมายังโจทก์ (กรมธนารักษ์) เพิ่มเติม เกี่ยวกับผลกระทบจากการบอกเลิกการให้ใช้ประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนและพื้นที่บางส่วนในโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ เนื้อที่ 4-3-21 ไร่ บริเวณสถานีไฟฟ้าและอาคารประกอบ ว่า
การบอกเลิกการให้ใช้ประโยชน์พื้นที่ดังกล่าว อาจเกิดผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และการรื้อถอนทรัพย์สินของจำเลย ที่มิใช่ส่วนควบของกระทรวงการคลัง อาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการบริหารจัดการสูบส่งน้ำในพื้นที่ จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี จึงขอให้โจทก์พิจารณาทบทวนการดำเนินการตามหนังสือบอกเลิกการให้ใช้ประโยชน์พื้นที่ฯ
ต่อมา โจทก์ (กรมธนารักษ์) ได้มีหนังสือไปยังบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบจากการบอกเลิกการใช้ประโยชน์กับจำเลย พร้อมกับให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ยืนยันความพร้อมในการดำเนินโครงการได้ทันทีที่มีการส่งมอบทรัพย์สิน
และบริษัทฯ ได้มีหนังสือแจ้งยืนยันแผนการบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) พร้อมแนวทางการบริหารความเสี่ยงด้านต่างๆ ว่าบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด มีความพร้อมในการรับมอบทรัพย์สินส่วนที่ยังส่งมอบไม่ครบถ้วน โดยผู้ใช้น้ำจะไม่ได้รับผลกระทบ
ต่อมาก่อนพ้นกำหนดระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่จำเลย (บริษัท East Water) ได้รับหนังสือแจ้งบอกเลิกการให้ใช้ประโยชน์พื้นที่โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมทั้งบริวารของจำเลยออกจากพื้นที่
เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2567 จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์แจ้งว่า จำเลยอยู่ระหว่างการจัดทำแผนการรื้อถอนทรัพย์สินของจำเลยเพื่อส่งมอบคืนพื้นที่ประมาณ 4-3-21 ไร่ โดยคาดหมายว่าจะส่งมอบแผนงานฉบับสมบูรณ์ให้แก่กรมธนารักษ์ได้ภายในเดือน พ.ค.2567
และต่อมาเมื่อวันที่ 17 พ.ค.2567 ได้มีหนังสือนำส่งแผนงานฉบับสมบูรณ์ “การส่งมอบพื้นที่และทรัพย์สินอื่น ๆ ในโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2))”
โดยแผนดำเนินการปรับปรุงระบบ การรื้อถอนทรัพย์สินของบริษัทฯ (จำเลย) และการส่งมอบคืนพื้นพื้นที่ให้แก่โจทก์ (กรมธนารักษ์) ใช้ระยะเวลาดำเนินการทั้งหมด 12 เดือน นับจากวันที่แผนได้รับการยินยอมจากโจทก์ ซึ่งจำเลยอ้างว่าเป็นการดำเนินการเพื่อป้องกันยับยั้งผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
รวมทั้งเพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถกำหนดแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสม เป็นธรรม และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้ใช้น้ำ ภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตามเจตนารมณ์ของโจทก์ในการดำเนินโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกต่อไป
@‘ธนารักษ์’มอง‘อีสท์วอเตอร์’จงใจประวิงเวลา
แม้จำเลยจะส่งมอบแผนงานฉบับสมบูรณ์ฯ มายังโจทก์แล้ว แต่จำเลยส่งมอบแผนงานฉบับดังกล่าวเมื่อล่วงพ้นกำหนดระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้รับหนังสือบอกเลิกการให้ใช้ประโยชน์พื้นที่และทรัพย์สินอื่นๆ โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ
อีกทั้ง เมื่อพิจารณาจากระยะเวลาการดำเนินการรื้อถอนจนถึงการส่งมอบพื้นที่คืนโจทก์ จำเลยใช้ระยะเวลาดำเนินการทั้งหมดถึง 12 เดือน นอกจากนี้ จำเลยยังจะไม่เริ่มดำเนินการจนกว่าจะได้รับความยินยอมจากโจทก์ ทั้งๆ ที่โจทก์ได้บอกเลิกการใช้ประโยชน์พื้นที่และแจ้งให้จำเลยส่งมอบพื้นพื้นที่ดังกล่าว คืนโจทก์หลายครั้งแล้ว
กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาที่จะดำเนินการรื้อถอนทรัพย์สินภายในพื้นที่ทับซ้อนทั้ง 4 รายการ และพื้นที่ที่ราชพัสดุโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ (บางส่วน) เนื้อที่ประมาณ 4-3-21 ไร่ เพื่อส่งมอบพื้นที่ที่ราชพัสดุดังกล่าวคืนโจทก์แต่อย่างใด
แต่จำเลย (บริษัท East Water) จงใจประวิงเวลาออกไป ด้วยการกำหนดระยะเวลาดำเนินการรื้อถอนถึง 12 เดือน และกำหนดเงื่อนไขการเริ่มต้นต้นดำเนินการรื้อถอนและส่งมอบพื้นที่คืนโจทก์ ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากโจทก์แล้ว เพื่อที่จำเลยจะยังสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ (บางส่วน) พร้อมทั้งพื้นที่ทับซ้อนได้ต่อไป
จำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวให้กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เพื่อบริหารและดำเนินกิจการโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ ตามสัญญาเลขที่ 1/2565
แต่จำเลยยังคงเพิกเฉยไม่เร่งรัดส่งมอบพื้นที่ทับซ้อน และที่ดินที่ราชพัสดุในโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ (บางส่วน) เนื้อที่ 4-3-21 ไร่ คืนโจทก์ ทำให้โจทก์ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวให้กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ได้ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
ต่อมาวันที่ 29 พ.ค.2567 โจทก์ (กรมธนารักษ์) จึงได้มีหนังสือไปถึงจำเลย (บริษัท East Water) บอกเลิกการใช้ประโยชน์พื้นที่และทรัพย์สินอื่นๆ โครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) เป็นครั้งสุดท้าย
และแจ้งให้จำเลยดำเนินการส่งมอบที่ดินโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ เนื้อที่ประมาณ 4-3-21 ไร่ และรื้อถอนทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ยกเว้นส่วนควบระบบท่อของกระทรวงการคลัง พร้อมทั้งขนย้ายบริวารออกจากพื้นที่ให้ถูกต้องและเป็นไปตามหนังสือกรมธนารักษ์ ที่ กค 0310/2867 โดยเคร่งครัดต่อไป โดยโจทก์ขอสงวนสิทธิในการเรียกค่าเสียหายหรือเงินอื่นใด (ถ้ามี) จากการที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนด
จำเลยทราบถึงการแจ้งให้รื้อถอนทรัพย์สินและส่งมอบที่ราชพัสดุโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล - หนองค้อ (บางส่วน) แต่จำเลยยังคงเพิกเฉยไม่รื้อถอนทรัพย์สินและส่งมอบที่ราชพัสดุโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ (บางส่วน) เนื้อที่ประมาณ 4-3-21 ไร่
รวมถึงพื้นที่ทับซ้อนที่โจทก์แจ้งยกเลิกการสงวนสิทธิใช้ประโยชน์แล้ว คืนโจทก์ ทำให้โจทก์ในฐานะผู้มีหน้าที่ ปกครอง ดูแล บำรุงรักษาและจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุได้รับความเสียหาย ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัดได้
“โจทก์ไม่มีทางอื่นใดที่จะบังคับจำเลยได้ จึงต้องฟ้องเป็นคดีนี้ เพื่อขอให้ศาลพิพากษาบังคับขับไล่จำเลยออกจากพื้นที่ทับซ้อนบนที่ดินที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ส.รย.1307 (บางส่วน) โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล- หนองค้อ ตำบลแม่น้ำคู้ อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง
พื้นที่ทับซ้อนบริเวณที่ดินที่ราชพัสดุบริเวณสถานีหุบบอน Regulation Well จังหวัดชลบุรี และที่ดินที่ราชพัสดุโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ (บางส่วน) เนื้อที่ประมาณ 4-3-21 โดยให้จำเลยรื้อถอนทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย พร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินและบริวารของจำเลยออกจากพื้นที่ที่ราชพัสดุดังกล่าว...” ส่วนหนึ่งของคำฟ้องของกรมธนารักษ์ระบุ
ทั้งนี้ ศาลแพ่งมีคำสั่งรับเป็นคดีหมายเลขดำที่ พ 5046/2567 ลงวันที่ 14 พ.ย.2567 และให้อีสท์วอเตอร์ ทำคำแก้คดีต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหมายหรือถือว่าได้รับหมายนี้ โดยศาลนัดชี้สองสถานและกำหนดแนวทางในการดำเนินคดีหรือสืบพยานโจทก์ในวันที่ 3 ก.พ.2568 เวลา 9.00 น.
เหล่านี้เป็นพฤติการณ์ ‘อีสท์วอเตอร์’ ที่เพิกเฉย-ไม่ส่งคืนท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ (บางส่วน) และพื้นที่ทับซ้อนบริเวณที่ดินที่ราชพัสดุบริเวณสถานีหุบบอน ภายใต้โครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ทำให้ ‘กรมธนารักษ์’ ต้องฟ้องขับไล่ และเรียกร้องค่าเสียหายอีก 127.7 ล้านบาท!
อ่านประกอบ :
'เพ็ชร ชินบุตร'ลาออกซีอีโอ'อีสท์วอเตอร์' เปิดทางปรับโครงสร้างองค์กร หลังเปลี่ยน'บอร์ดฯ'
'ธนารักษ์'ฟ้องศาลแพ่งให้'อีสท์วอเตอร์'คืน'ที่ราชพัสดุ-ท่อส่งน้ำEEC'-จ่ายค่าเสียหาย 127 ล.
4 กรรมการ‘อีสท์วอเตอร์’ลาออก เหตุมีภารกิจอื่น
‘อีสท์วอเตอร์’อ้างข้อสงวนสิทธิ์ ยื้อส่งคืนพื้นที่-ท่อส่งน้ำ EEC ‘ธนารักษ์’แจ้งขับไล่แล้ว
คำพิพากษาเป็นเหตุเป็นผล! ‘อีสท์วอเตอร์’ไม่อุทธรณ์ฯ คดีพิพาทประมูลท่อส่งน้ำอีอีซี
พลิกคำพิพากษา‘ศาล ปค.’ ยกฟ้องคดีท่อส่งน้ำEEC ‘อีสท์วอเตอร์’อุทธรณ์สู้ปม‘ข้อเท็จจริง-กม.’
ไม่เอื้อเอกชนรายใด-เป็นปย.แก่ราชการ! ‘ศาล ปค.กลาง’ยกฟ้อง คดีพิพาทล้มประมูลท่อส่งน้ำ EEC
เปิดมติ ครม.ยกเลิก‘ผูกขาด’บริหารน้ำพื้นที่ EEC-เปิดทาง‘วงษ์สยามฯ’ซื้อน้ำดิบจาก‘กรมชลฯ’
‘ตุลาการแถลงคดี’เห็นควร‘ยกฟ้อง’ คดีพิพาทล้มประมูลท่อส่งน้ำ EEC-ศาลฯนัดตัดสิน 28 ธ.ค.นี้
‘ศาล ปค.’นัดนั่งพิจารณาครั้งแรก คดี EASTW ฟ้อง‘บอร์ดคัดเลือกฯ’ปมล้มประมูลท่อน้ำEEC ปี 64
‘เศรษฐา’ กาวใจ ‘วงษ์สยาม-อีสท์วอเตอร์’ ปมท่อส่งน้ำอีอีซี
‘ศาล ปค.สูงสุด’ สั่งไม่รับคำฟ้อง ‘อีสท์วอเตอร์’ ปมร้องเพิกถอนผลประมูลท่อส่งน้ำ EEC
'ศาลปค.'ยกคำร้อง'อีสท์วอเตอร์' ขอทุเลาบังคับฯหนังสือ‘ธนารักษ์’เรียกคืน'ท่อส่งน้ำ' EEC
'อีสท์วอเตอร์'พร้อมคืน'ท่อส่งน้ำ'ให้'ธนารักษ์'-ห่วงเจรจาทรัพย์สิน'พื้นที่ทับซ้อน'ไม่ยุติ
บอกเลิกสัญญาแล้ว! ‘ธนารักษ์’ขีดเส้น‘อีสท์วอเตอร์’คืนท่อส่งน้ำอีอีซี ภายใน 11 เม.ย.นี้
'อีสท์วอเตอร์'ฟ้อง'ศาลปกครอง' ขอเพิกถอนคำสั่ง'ธนารักษ์'ให้ส่งมอบทรัพย์สิน'ท่อส่งน้ำ EEC'
ยังไม่ฟันธง‘ผิด-ไม่ผิด’! ‘ธนารักษ์’เร่งเก็บข้อมูล‘อีสท์วอเตอร์’ลักลอบเชื่อมท่อส่งน้ำ EEC
DSI จ่อฟัน‘อีสท์วอเตอร์’ลักลอบเชื่อมท่อส่งน้ำ EEC-‘สันติ’สั่งสอบจ่าย‘ค่าเช่า’ย้อนหลัง
อนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย : เล่าเบื้องหลัง‘วงษ์สยามฯ’ชนะประมูลท่อส่งน้ำ EEC 2.5 หมื่นล้าน
'ธนารักษ์-วงษ์สยามฯ'เซ็นสัญญาท่อส่งน้ำอีอีซี 2.5 หมื่นล.-จ่อลดค่าน้ำ'ปชช.-อุตสาหกรรม'
'ศาลปค.สูงสุด' สั่ง 'ยกเลิก' คำสั่งระงับเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ 'อีอีซี' 2.5 หมื่นล้าน
‘อัยการ’ ยื่นคำร้อง ‘ศาลปค.’ ขอยกเลิกคำสั่งระงับเซ็นสัญญาโครงการท่อส่งน้ำ EEC
‘ธนารักษ์’เตรียมถก‘อัยการ’หาช่องอุทธรณ์ หลัง‘ศาลปค.’สั่งระงับเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ EEC