“…กรณีจึงต้องรับฟังว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) ใช้ดุลพินิจในการกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอ และเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนตามความเหมาะสมและความจำเป็นแห่งกรณีเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ ไม่มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง ที่จะทำให้เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม…”
...................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2566 ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 1746/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 2637/2566 หรือคดีพิพาทกรณีการยกเลิกการคัดเลือกเอกชน ตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 16 ก.ค.2564
โดยคดีนี้ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ อีสท์วอเตอร์ (ผู้ฟ้องคดี) ได้ขอให้ศาลฯเพิกถอนมติหรือคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ที่แจ้งยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ ลงวันที่ 16 ก.ค.2564 (ประกาศฯเปิดประมูลครั้งที่ 1) และให้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนต่อไป
และขอให้เพิกถอนประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 10 ก.ย.2564 (ประกาศฯเปิดประมูลครั้งที่ 2) พร้อมเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน ร่างสัญญาร่วมทุน และการดำเนินการคัดเลือกเอกชนของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ ตามประกาศฉบับนี้
อีสท์วอเตอร์ ยังขอให้ศาลฯมีคำสั่งเพิกถอนมติของคณะกรรมการที่ราชพัสดุ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ซึ่งพิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และกรมธนารักษ์ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2565
รวมทั้งให้เพิกถอนสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ซึ่งบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด (ผู้ร้องสอด) และกรมธนารักษ์ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ได้ลงนามเมื่อวันที่ 23 ก.ย.2565 ด้วย
อย่างไรก็ดี ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา ‘ยกฟ้อง’ เนื่องจากเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม (คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ ,กรมธนารักษ์ และคณะกรรมที่ราชพัสดุ) ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว นั้น (อ่านประกอบ : ไม่เอื้อเอกชนรายใด-เป็นปย.แก่ราชการ! ‘ศาล ปค.กลาง’ยกฟ้อง คดีพิพาทล้มประมูลท่อส่งน้ำ EEC)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปสาระสำคัญในประเด็นต่างๆ ที่ศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยในคดีนี้ มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@‘บอร์ดคัดเลือกฯ’มีอำนาจยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ
ประเด็นแรก มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ) ในการประชุมครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2564 ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 16 ก.ค.2564 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เห็นว่า การที่ประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 16 ก.ค.2564 เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายในการออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข คุณสมบัติของผู้มีสิทธิยื่นข้อเสนอเพื่อคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ แม้จะใช้วิธีการคัดเลือก ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) จะแจ้งเชิญชวนเฉพาะเอกชนที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข แต่ก็ถือว่าไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน
จึงเป็นกรณีที่ไม่ได้มุ่งหมายให้ใช้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจง แต่ประสงค์ให้ใช้สำหรับการเชิญชวนเข้าร่วมลงทุนยื่นข้อเสนอโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบห่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก เฉพาะครั้งที่ประกาศฉบับลงวันที่ 16 ก.ค.2564 เท่านั้น จึงมีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครองทั่วไป
ซึ่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การออกคำสั่งทางปกครองเจ้าหน้าที่อาจกำหนดเงื่อนไขใดได้เท่าที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมาย เว้นแต่กฎหมายจะกำหนดข้อจำกัดดุลพินิจเป็นอย่างอื่น
วรรคสองบัญญัติว่า การกำหนดเงื่อนไขตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความรวมถึงการกำหนดเงื่อนไขในกรณีดังต่อไปนี้ ตามความเหมาะสมแก่กรณีด้วย... (3) ข้อสงวนสิทธิที่จะยกเลิกคำสั่งทางปกครอง...
เมื่อ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมและมาตรฐานในการปฏิบัติราชการบัญญัติให้กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับข้อสงวนสิทธิ์ไว้ในคำสั่งทางปกครองได้
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) กำหนดข้อสงวนสิทธิ์ไว้ในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนแนบท้ายประกาศเชิญชวนฉบับลงวันที่ 16 ก.ค.2564 จึงเป็นการกำหนดไว้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
และต้องถือว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ) ที่แต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) มีมติเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2564 ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 16 ก.ค.2564 เป็นการกระทำไปโดยอาศัยอำนาจตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว
@เป็นการใช้‘ดุลพินิจ’เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ราชการ
กรณีมีประเด็นต้องพิจารณาต่อไปว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) จะมีอำนาจในการกำหนดข้อสงวนสิทธิ์ที่จะยกเลิกประกาศเชิญชวนฉบับลงวันที่ 16 ก.ค.2564 และมีอำนาจที่จะยกเลิกได้แล้ว แต่การยกเลิกนั้นได้กระทำโดยสุจริต เป็นธรรม ไม่เป็นไปตามอำเภอใจที่จะทำให้เป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบหรือไม่ นั้น
เห็นว่า สาระสำคัญที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ) ยกขึ้น เพื่อใช้ดุลพินิจในการยกเลิก เป็นผลมาจากเกณฑ์การพิจารณาผลประโยชน์ตอบแทนที่มีความแตกต่างกัน ‘จากการคำนวณตามรายงานผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์’ กับ ‘การคำนวณตามปริมาณที่ผู้ยื่นข้อเสนอได้เสนอมา’
ซึ่งปรากฏตามรายงานการประชุมครั้งดังกล่าว ว่า ประธานกรรมการผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีหนังสือหารือการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เพื่อสอบถามเรื่องศักยภาพระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก โดยได้รับการประสานในเบื้องต้นว่า โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) มีปริมาณการส่งน้ำทั้ง 3 โครงการ 230 ล้านลูกบาศก์เมตร
ประกอบกับผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่าในปีแรกปริมาณน้ำอยู่ที่ 150 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนท่อของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) แหล่งน้ำ และปริมาณการขายน้ำในปี 2563 ของผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) ซึ่งเป็นเอกชนผู้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกรายเดิม
การที่ผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) ยื่นข้อเสนอปริมาณน้ำ 350 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงเป็นปริมาณที่มีความแตกต่างจากปริมาณการขายน้ำในปี 2563 ของผู้ฟ้องคดีอย่างมาก ซึ่งมีผลต่อการคำนวณปริมาณน้ำดิบ และผลประโยชน์ตอบแทนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) จะได้รับ
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ) ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวน ฉบับลงวันที่ 16 ก.ค.2564 โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) จะได้รับอย่างเหมาะสม
จึงเป็นการใช้ดุลพินิจให้บรรลุวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทางราชการมากที่สุด ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 และข้อ 34 (1) ของกฎกระทรวงการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2564๔ แล้ว จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่สุจริต ไม่เป็นธรรม
สำหรับกรณีที่ผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) อ้างว่า การยกเลิกการประกาศเชิญชวนจะกระทำได้เฉพาะแต่กรณีที่มีผู้ยื่นข้อเสนอรายเดียว ตามข้อ 31 ของกฎกระทรวงการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2564 การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกเอกชน) ยกเลิกการคัดเลือก จึงไม่ชอบ นั้น
เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีอำนาจกำหนดข้อสงวนสิทธิ์ไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย และมีอำนาจดุลพินิจที่จะยกข้อสงวนสิทธิ์ขึ้นยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฉบับลงวันที่ 16 ก.ค.2564 ได้
ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) ที่ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) มีสิทธิยกเลิกการคัดเลือกเอกชน เฉพาะกรณีที่มีผู้ยื่นข้อเสนอรายเดียว จึงฟังไม่ขึ้น
@ตีตกข้ออ้าง‘อีสท์วอเตอร์’ยกคำพิพากษาคดีอื่นขึ้นต่อสู้
สำหรับกรณีที่ผู้ฟ้องคดี อ้างว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ) ออกประกาศเชิญชวนฉบับลงวันที่ 10 ก.ย.2564 โดยกำหนดคุณสมบัติในลักษณะที่ด้อยลงจากประกาศเชิญชวนฉบับลงวันที่ 16 ก.ค.2564 ทั้งที่มีความจำเป็นต้องได้ผู้ที่มีศักยภาพทั้งด้านการเงิน เทคนิคและประสบการณ์ เพื่อบริหารจัดการระบบน้ำอย่างแท้จริง จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ
ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อทางราชการ ตามนัยคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขเดงที่ อ.232/2554 วินิจฉัยว่า หน่วยงานของรัฐไม่อาจใช้พินิจได้ตามอำเภอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการยกเลิกการประกวดราคาภาครัฐดุลพินิจโดยมีเหตุผลและมุ่งรักษาประโยชน์ของทางราชการอย่างแท้จริง
เมื่อประกาศประกวดราคาฉบับใหม่ไม่ได้ปรับปรุงโดยมีเหตุผลสอดคล้องกับเหตุในการยกเลิกการประกวดราคาภาครัฐจึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ นั้น
เห็นว่า โดยข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวที่ศาลปกครองสูงสุดยกขึ้นวินิจฉัย เป็นกรณีที่เอกชนที่ยื่นข้อเสนอราคาถูกต้องตามประกาศประกวดราคา แต่เจ้าหน้าที่อ้างว่าต้องการปรับปรุงสเปค (รายการเฉพาะ) และเงื่อนไขการประกวดราคาให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น จึงยกเลิกการประกดราคา
และเมื่อมีการประกาศประกวดราคาฉบับใหม่ แล้วปรากฏว่าไม่ได้มีการปรับปรุงสเปค (รายการเฉพาะ) แต่อย่างใด เพียงแต่กำหนดห้ามย้ายสถานีลูกข่าย และกำหนดเงื่อนไขให้ส่งมอบอุปกรณ์พร้อมติดตั้งภายในเวลา 4 เดือน ซึ่งไม่สอดคล้องกับเหตุผลในการยกเลิกการประกวดราคา
ทั้งการประกวดราคาครั้งที่สอง มีผู้เสนอราคารายเดียวและเสนอราคาผิดเงื่อนไข ทำให้ต้องมีการยกเลิกประกวดราคาอีก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่หน่วยงานของรัฐไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า อุปกรณ์สื่อสารของเอกชนผู้ยื่นเสนอราคามีข้อบกพร่องอย่างใดการออกคำสั่งยกเลิกการประกดราคา จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ
แต่ข้อเท็จจริงที่พิพาทในคดีนี้ ซึ่งได้วินิจฉัยแล้วว่า การยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฉบับลงวันที่ 16 ก.ค.2564 โดยเหตุที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า ผลประโยชน์ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) จะได้รับจากข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอรายใด จะเป็นผลประโยชน์ที่เหมาะสมและเป็นธรรม
เนื่องมาจากเกณฑ์การพิจารณาผลประโยชน์ตอบแทนที่มีความแตกต่างกัน จากการคำนวณตามรายงานผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับการคำนวณตามปริมาณที่ผู้ยื่นข้อเสนอได้เสนอมา
และเมื่อมีการประกาศคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ตามประกาศเชิญชวนฉบับลงวันที่ 10 ก.ย.2564 ได้มีการกำหนดเกณฑ์พิจารณา โดยให้ผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละราย ใช้รายละเอียดตามรายงานผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งสอดคล้องกับเหตุผลในการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฉบับลงวันที่ 16 ก.ค.2564 แล้ว
จึงเป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ แตกต่างจากข้อเท็จจริงในคดีของศาลปกครองสูงสุดที่ผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์)ยกขึ้นอ้าง และไม่ได้เป็นการวินิจฉัยที่ขัดแย้งกัน ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีรับฟังไม่ได้
@ออกTORครั้งที่ 2 ไม่เอื้อรายใด-ราชการฯได้ประโยชน์
ประเด็นที่สอง กรณีประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 10 ก.ย.2564 และเอกสารสำหรับการคัดเลือกแนบท้าย ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นั้น
เห็นว่า แม้จะฟังว่าการปรับเกณฑ์คุณสมบัติผู้เข้าร่วมคัดเลือก จะเป็นการลดทอนให้ด้อยลงหรือไม่ก็ตามดังที่วินิจฉัยแล้ว แต่เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) กำหนดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติดังกล่าวโดยพิจารณาแล้วว่า เป็นไปเพื่อพิจารณาความสามารถ
และความเป็นไปได้จริงของผู้ยื่นข้อเสนอที่จะสามารถดำเนินการบริหารโครงการไปได้ตลอดอายุสัญญา ไม่ละทิ้งไปจนอาจทำให้ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อนเสียหาย มีมาตรฐานอ้างอิง มีเกณฑ์การพิจารณาให้คะแนนที่ชัดเจนเหมาะสมขึ้น สามารถตรวจสอบได้ โดยไม่ปรากฏว่ามีส่วนได้เสียในการกำหนดเกณฑ์ เพื่อดำเนินการคัดเลือกเอกชน และเป็นไปเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทางราชการมากที่สุด
ดังจะเห็นได้จากการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฉบับลงวันที่ 10 ก.ย.2564 มีผู้ยื่นข้อเสนอจำนวน 3ราย โดยมีผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) และผู้ร้องสอด (วงษ์สยามก่อสร้างฯ) รวมอยู่ด้วย ได้ยื่นข้อเสนอที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ทางราชการ สูงกว่าเกณฑ์พิจารณาตามประกาศเชิญชวนฉบับลงวันที่ 16 ก.ค.2564 ดังนี้
ผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) ยื่นข้อเสนอค่าแรกเข้าทำสัญญา 1,550 ล้านบาท มูลค่าปัจจุบันของส่วนแบ่งรายได้ 30 ปี 9,556.66 ล้านบาท รวมเป็นผลประโยชน์ที่เสนอ 11,106.66 ล้านบาท ผู้ร้องสอด (วงษ์สยามก่อสร้างฯ) ยื่นข้อเสนอค่าแรกเข้าทำสัญญา 1,450 ล้านบาท มูลค่าปัจจุบันของส่วนแบ่งรายได้ 30 ปี 10,321.20 ล้านบาท รวมเป็นผลประโยชน์ที่เสนอ 11,771.20 ล้านบาท
ในขณะที่ตามประกาศเชิญชวนฉบับลงวันที่ 16 ก.ค.2564 ผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) ยื่นข้อเสนอค่าแรกเข้าทำสัญญา 1,400 ล้านบาท มูลค่าปัจจุบันของส่วนแบ่งรายได้ 30 ปี 5,289.17 ล้านบาท รวมเป็นผลประโยชน์ที่เสนอ 6,689.17 ล้านบาท ผู้ร้องสอด (วงษ์สยามก่อสร้างฯ) ยื่นข้อเสนอค่าแรกเข้าทำสัญญา 800 ล้านบาท มูลค่าปัจจุบันของส่วนแบ่งรายได้ 30 ปี 5,322.28 ล้านบาท รวมเป็นผลประโยชน์ที่เสนอ 6,122.28 ล้านบาท
กรณีจึงต้องรับฟังว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) ใช้ดุลพินิจในการกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอ และเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนตามความเหมาะสมและความจำเป็นแห่งกรณีเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ ไม่มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง ที่จะทำให้เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
@‘ธนารักษ์-วงษ์สยาม’เซ็นสัญญาท่อส่งน้ำชอบด้วยกม.
สำหรับประเด็นที่จะพิจารณาต่อไปว่า มติผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (คณะกรรมการที่ราชพัสดุ) เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2565 เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนของผู้ถูกพ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ออกประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 10 ก.ย.2564 เอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และดำเนินการคัดเลือกเอกชน เป็นไปโดยถูกต้องตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว
เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) มีมติในการประชุมครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2564 ให้ผู้ร้องสอด (วงษ์สยามก่อสร้างฯ) เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก และได้เจรจากับผู้ร้องสอดเพื่อตกลงในเงื่อนไขสำคัญของสัญญาตามมติในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2564
แล้วนำเสนอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (คณะกรรมการที่ราชพัสดุ) พิจารณาให้ความเห็นชอบตามอำนาจหน้าที่ แล้วผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2565 เห็นชอบการดำเนินการ ผลการคัดเลือกผู้ร้องสอดเป็นคู่สัญญาในการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก
จึงเป็นไปตามหน้าที่และอำนาจตามข้อ 34 ประกอบข้อ 32 ของกฎกระทรวงการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2564 กำหนดไว้แล้ว โดยไม่มีเหตุที่จะรับฟังว่าเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายในลักษณะใด
และเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 23 ก.ย.2565 ที่ทำขึ้นระหว่างกระทรวงการคลังกับผู้ร้องสอด (วงษ์สยามก่อสร้างฯ)
สำหรับกรณีที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ยอมผ่อนผันให้ผู้ร้องสอดปรับลดค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญาที่ต้องชำระในวันลงนามสัญญา เป็นการเอาเปรียบผู้ยื่นข้อเสนอทุกรายอย่างไม่เป็นธรรม นั้น
เห็นว่า เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) ยังไม่สามารถกำหนดวันส่งมอบทรัพย์สินระบบท่อส่งน้ำทั้งสองโครงการให้แก่ผู้ร้องสอด (วงษ์สยามก่อสร้างฯ) ได้ เป็นผลมาจากการที่ผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) ซึ่งเป็นผู้ใช้ประโยชน์รายเดิมยังไม่ส่งมอบทรัพย์สินดังกล่าวคืนให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่ได้เป็นเหตุบกพร่องอันเกิดจากฝ่ายผู้ร้องสอด
และเมื่อค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญาเป็นการกำหนดให้ชำระให้แก่ทางราชการ เพื่อให้ได้รับสิทธิในการจัดทำโครงการในที่ราชพัสดุในลักษณะเป็นสัญญาเช่าที่คู่สัญญาฝ่ายเอกชนจะได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สิน ในขณะที่คู่สัญญาฝ่ายรัฐมีหน้าที่ต้องส่งมอบทรัพย์สินให้แก่คู่สัญญาฝ่ายเอกชน
การที่คู่สัญญาฝ่ายรัฐยังไม่สามารถส่งมอบทรัพย์สินให้แก่คู่สัญญาฝ่ายเอกชน แล้วใช้ดุลพินิจในการกำหนดเงื่อนไขของสัญญาในการชำระค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญา จึงเป็นการกำหนดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่สัญญาฝ่ายเอกชน และไม่ขัดต่อกฎหมาย รวมถึงไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญาที่จะทำให้ราชการเสียเปรียบ ข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดี จึงรับฟังไม่ได้
เหล่านี้เป็นคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ในคดีพิพาทกรณีการยกเลิกการคัดเลือกเอกชน ตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 16 ก.ค.2564 ขณะที่ล่าสุด ‘อีสท์วอเตอร์’ ได้แจ้งผู้ถือหุ้นว่า บริษัทฯจะยื่นอุทธรณ์คดีนี้ต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป
“บริษัทฯ ขอแจ้งความคืบหน้าคดีเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2566 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้อง บริษัทฯ ได้พิจารณาแล้ว และยังมีความเห็นแตกต่างจากคำพิพากษาทั้งในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่สำคัญ และศาลปกครองกลางยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นที่บริษัทฯ ยกขึ้นต่อสู้คดีอย่างครบถ้วน
ประกอบกับคำพิพากษาดังกล่าวยังไม่มีผลเป็นที่สุด จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งบริษัทฯ จะพิจารณาใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวไปยังศาลปกครองสูงสุดตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
นอกจากนี้ หากบริษัทฯ ได้รับความเสียหายใดๆยังสามารถใช้สิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ที่เกี่ยวข้องได้ในอนาคต” สารสนเทศของ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ อีสท์วอเตอร์ ซึ่งแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2566 ระบุ
จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า คดีนี้จะมีบทสรุปอย่างไร?
อ่านประกอบ :
ไม่เอื้อเอกชนรายใด-เป็นปย.แก่ราชการ! ‘ศาล ปค.กลาง’ยกฟ้อง คดีพิพาทล้มประมูลท่อส่งน้ำ EEC
เปิดมติ ครม.ยกเลิก‘ผูกขาด’บริหารน้ำพื้นที่ EEC-เปิดทาง‘วงษ์สยามฯ’ซื้อน้ำดิบจาก‘กรมชลฯ’
‘ตุลาการแถลงคดี’เห็นควร‘ยกฟ้อง’ คดีพิพาทล้มประมูลท่อส่งน้ำ EEC-ศาลฯนัดตัดสิน 28 ธ.ค.นี้
‘ศาล ปค.’นัดนั่งพิจารณาครั้งแรก คดี EASTW ฟ้อง‘บอร์ดคัดเลือกฯ’ปมล้มประมูลท่อน้ำEEC ปี 64
‘เศรษฐา’ กาวใจ ‘วงษ์สยาม-อีสท์วอเตอร์’ ปมท่อส่งน้ำอีอีซี
‘ศาล ปค.สูงสุด’ สั่งไม่รับคำฟ้อง ‘อีสท์วอเตอร์’ ปมร้องเพิกถอนผลประมูลท่อส่งน้ำ EEC
'ศาลปค.'ยกคำร้อง'อีสท์วอเตอร์' ขอทุเลาบังคับฯหนังสือ‘ธนารักษ์’เรียกคืน'ท่อส่งน้ำ' EEC
'อีสท์วอเตอร์'พร้อมคืน'ท่อส่งน้ำ'ให้'ธนารักษ์'-ห่วงเจรจาทรัพย์สิน'พื้นที่ทับซ้อน'ไม่ยุติ
บอกเลิกสัญญาแล้ว! ‘ธนารักษ์’ขีดเส้น‘อีสท์วอเตอร์’คืนท่อส่งน้ำอีอีซี ภายใน 11 เม.ย.นี้
'อีสท์วอเตอร์'ฟ้อง'ศาลปกครอง' ขอเพิกถอนคำสั่ง'ธนารักษ์'ให้ส่งมอบทรัพย์สิน'ท่อส่งน้ำ EEC'
ยังไม่ฟันธง‘ผิด-ไม่ผิด’! ‘ธนารักษ์’เร่งเก็บข้อมูล‘อีสท์วอเตอร์’ลักลอบเชื่อมท่อส่งน้ำ EEC
DSI จ่อฟัน‘อีสท์วอเตอร์’ลักลอบเชื่อมท่อส่งน้ำ EEC-‘สันติ’สั่งสอบจ่าย‘ค่าเช่า’ย้อนหลัง
อนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย : เล่าเบื้องหลัง‘วงษ์สยามฯ’ชนะประมูลท่อส่งน้ำ EEC 2.5 หมื่นล้าน
'ธนารักษ์-วงษ์สยามฯ'เซ็นสัญญาท่อส่งน้ำอีอีซี 2.5 หมื่นล.-จ่อลดค่าน้ำ'ปชช.-อุตสาหกรรม'
'ศาลปค.สูงสุด' สั่ง 'ยกเลิก' คำสั่งระงับเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ 'อีอีซี' 2.5 หมื่นล้าน
‘อัยการ’ ยื่นคำร้อง ‘ศาลปค.’ ขอยกเลิกคำสั่งระงับเซ็นสัญญาโครงการท่อส่งน้ำ EEC
‘ธนารักษ์’เตรียมถก‘อัยการ’หาช่องอุทธรณ์ หลัง‘ศาลปค.’สั่งระงับเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำ EEC