‘กทม.-กรุงเทพธนาคม’ ลุ้น ‘องค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด’ รับ-ไม่รับกรณีที่ ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาอดีตผู้ว่ากทม.และพวกอีก 13 คน กรณีจ้างเดินรถสายสีเขียวเมื่อปี 55 เป็นหลักฐานใหม่สู้ BTSC ฟ้องเรียกค่าชดเชยหมื่นล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 26 สิงหาคม 2566 แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีที่บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบจ. กรุงเทพธนาคม (เคที) กรณีผิดสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อขอให้ชำระค่าตอบแทนตามสัญญา
สาระสำคัญที่มีการฟ้องร้องกันคือ BTSC กล่าวหา กทม.และกรุงเทพธนาคม ผิดสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ตามสัญญาเลขที่ กธ.ส.006/55 ลว. 3 พ.ค.2555 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตามสัญญาเลขที่ กธ.ส. 024/59 ลว. 1 ส.ค.2559 กรณีผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ชำระค่าตอบแทนตามสัญญาให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือ ลว. 18 ก.ย.2563 และหนังสือ ลว. 15 ม.ค.2564 ทวงถามไปยังผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้ชำระค่าตอบแทนตามสัญญาแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดทั้งสองเพิกเฉย เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
คดีนี้ในชั้นศาลปกครองกลางพิพากษาให้กทม.และเคทีร่วมกันชำระเงินให้ BTSC เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 1.17 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช - สำโรงและช่วงสะพานตากสิน - บางหว้า วงเงิน 2,348 ล้านบาท, ดอกเบี้ยจากส่วนต่อขยายที่ 1 วงเงิน 2,199 ล้านบาท, หนี้เดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต - คูคตและช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ วงเงิน 9,406 ล้านบาท และดอกเบี้ยจากส่วนต่อขยายที่ 2 วงเงิน 8,786 ล้านบาท โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันตั้งแต่วันที่คดีถึงที่สุด
@กรุงเทพธนาคม ยื่นกรณีป.ป.ช.แจ้งข้อหาสายสีเขียว เป็นหลักฐานใหม่
ล่าสุด แหล่งข่าวจากกทม.เปิดเผยว่า หลังจากได้ไปตามนัดหมายในการพิจารณาคดีครั้งแรก ฝั่งของกทม.ทางผู้บริหารไม่ได้ไป แต่ได้มอบหมายอัยการสูงสุดไป ส่วนเคทีทราบว่า นายประแสง มงคลศิริ กรรมการผู้อำนวยการ เป็นผู้ไปรับฟังการพิจารณาด้วยตัวเอง
สาระสำคัญคือ ทางกทม.ให้การกับศาลปกครองสูงสุดว่า ได้ทำบันทึกมอบหมายให้กรุงเทพธนาคมเป็นผู้ดำเนินการ ถือว่าพ้นจากภาระความรับผิดชอบของ กทม.แล้ว เรื่องดังกล่าวเป็นความขัดแย้งระหว่างกรุงเทพธนาคมกับ BTSC ส่วนผู้บริหารของกรุงเทพธนาคมพร้อมทนายความ แถลงขอให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุดรับเอาข้อมูลที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งข้อกล่าวหา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.และพวก รวม 13 คน กรณีว่าจ้าง BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ไปจนถึงปี 2585 เป็นการหลีกเลี่ยงและไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และเอื้อประโยชน์ให้แก่ BTSC เพียงรายเดียว
อย่างไรก็ตาม ในการนัดพิจารณาครั้งแรกตุลาการผู้แถลงคดีปกครอง แถลงไม่รับหลักฐานที่เป็นมติ ป.ป.ช.เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว เพราะเป็นสิ่งไม่ปรากฎในคำพิพากษาครั้งแรกในศาลปกครองกลาง ทางทนายความของกรุงเทพธนาคมจึงโต้แย้งว่า คดีนี้มีผลกระทบกับความมั่นคง เพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคดีนี้คือ ประชาชนชาวกรุงเทพฯที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวปีละประมาณ 1 ล้านคน จึงขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแง่มุมเหล่านี้ประกอบ เพื่อเป็นประโยชน์กับสาธารณะ
ทั้งนี้ ตุลาการผู้แถลงคดี ยังยืนว่า ไม่รับหลักฐานดังกล่าวรวมเข้ามาในสำนวนคดี เพราะไม่ได้มีการกล่าวในศาลปกครองกลาง แต่มีองค์คณะตุลาการ 2 ท่านที่ร่วมพิจารณาคดีครั้งแรกเข้ามาสอบถามถึงหลักฐานใหม่ที่จะยื่น และได้ให้ฝ่ายธุรการรับเอาหลักฐานนี้เข้ามาพิจารณา ทำให้หลังจากนี้จะต้องรอการพิจารณาขององค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดพิจารณาต่อไป
แหล่งข่าวจากกทม.เปิดเผยอีกว่า หลังจากที่ได้เสนอขอให้เอาประเด็นที่ ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเป็นหลักฐานเข้าไปนั้น ทาง BTSC ก็ได้แถลงคัดค้านทันที เพราะไม่ได้หลักฐานดังกล่าวไม่ปรากฎในศาลปกครองกลาง
ส่วนคดีที่ BTSC ยื่นฟ้องศาลปกครองเรียกค่าจ้างเดินรถรถไฟฟ้าสายสีเขียวในช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ หรือส่วนต่อขยายที่ 2 เพิ่มเติมอีกประมาณ 10,600 ล้านบาท โดยการฟ้องร้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นจำเลยที่ 1 และกรุงเทพธนาคม จำเลยที่ 2 ยังอยู่ระหว่างรอนัดการพิจารณาจากศาลปกครองกลางอยุ่
@ขอ ปธ.ป.ป.ช. กันเป็นพยาน ยังรอพิจารณา
ขณะที่ความคืบหน้าหลังจาก ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ อดีตผู้ว่าฯกทม.และพวกอีก 13 คน ซึ่งรวมผู้บริหารของกรุงเทพธนาคมด้วยนั้น แหล่งข่าวจากกทม. เปิดเผยว่า ทางกรุงเทพธนาคมได้ขอให้ ป.ป.ช.กันผู้บริหารชุดปัจจุบันเป็นพยาน โดยพนักงานสอบสวนตอบกลับมายังผู้บริหารกรุงเทพธนาคม ให้ทำหนังสือขอไปยังพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่สามารถนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาได้ตามขั้นตอน โดยทางกรุงเทพธนาคมทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไปแล้ว อยู่ระหว่างรอการพิจารณา
ที่มาภาพ: กรุงเทพธนาคม
- ‘ศาลปค.สูงสุด’นัดพิจารณาคดี BTS ฟ้อง‘กทม.’ทวงหนี้ค่าจ้างเดินรถ‘สายสีเขียว’ 1.1 หมื่นล.
- ทำได้หรือไม่! ‘ประธานสภากทม.’ ถาม ป.ป.ช. ปมควักเงินจ่ายหนี้สายสีเขียว
- ‘กรุงเทพธนาคม’ ขอ ป.ป.ช. กันเป็นพยาน คดีฮั้วจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
- ‘BTS’ โต้ ‘กรุงเทพธนาคม’ ขอให้รีบจ่ายค่าจ้างเดินรถสายสีเขียว ปัดรู้เห็นกระบวนการทำสัญญา
- ‘กรุงเทพธนาคม’ แจง ‘ศาลปกครอง’ โต้ BTSC ปมฟ้องร้องค่าจ้างเดินรถอีกหมื่นล้าน
- ‘ชัชชาติ’ รับ ‘กทม.’แบกภาระขาดทุนเดินรถไฟฟ้า‘สายสีเขียว’ ช่วงปี 73-84 รวม 8.57 หมื่นล.
- มีเงินสะสม7หมื่นล.! กทม.พร้อมจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่ต้องรอผ่านสภากรุงเทพฯ ก่อน
- ‘ชัชชาติ’ ส่งความเห็น ‘สายสีเขียว’ ถึง ‘มหาดไทย’ แล้ว ลุ้นครม.พิจารณา
- กทม.ส่งความเห็น ‘มหาดไทย’ ปมสายสีเขียว สัปดาห์หน้า
- ‘ชัชชาติ’ รับมติสภากทม. ศึกษา ‘สายสีเขียว’ เก็บค่าโดยสารส่วน 2 เลื่อนไม่มีกำหนด
- สภากทม.คว่ำ ‘ญัตติ’ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ตีความ คำสั่งม.44 ไม่ให้อำนาจ กทม.-ส.ก.พิจารณา
- ‘ชัชชาติ’ ประกาศไม่ต่อสัมปทานสายสีเขียว เสนอรัฐบาลอุดหนุนค่าก่อสร้าง 5.8 หมื่นล้าน
- ‘ชัชชาติ’ ลุ้น สภากทม. เคาะค่าโดยสาร ส่วนต่อขยายสายสีเขียว 26 ต.ค.นี้
- ศาลสั่ง ‘กทม.-เคที’ จ่าย 1.1 หมื่นล้าน ปมค้างค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
- เจาะคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เกาะติดท่าที 'กทม.-เคที'อุทธรณ์คดีค่าเดินรถ'สายสีเขียว'
- เบื้องหลัง 2 แนวคิดเก็บค่าตั๋วส่วนต่อขยาย‘สายสีเขียว’คั้นรายได้ 2.6 พันล.โปะหนี้ BTSC
- 2 สัญญา 3.5 แสนล.! ย้อนดูค่าจ้าง เดินรถ'สายสีเขียว'ส่วนต่อขยาย ก่อน'เคที'จ่อรื้อใหม่
- ISRA WHY? : ‘ธงทอง จันทรางศุ’แม่ทัพ'กรุงเทพธนาคม'ภารกิจสุดขอบฟ้า ล้างหลุมดำ กทม.
- แก้จ้างเดินรถ BTS ชัดเจนปีนี้ ‘ธงทอง’เคลียร์ส่วนต่อขยาย 1-2
- ไม่เกินส.ค.นี้เสนอสภากทม.เคาะค่าโดยสารสายสีเขียว ถอดรายได้ 2 สูตรจ่ายค่าเดินรถ
- กทม.ขอ 2 เดือน เคลียร์โอนหนี้สายสีเขียว เผยยอดหนี้ ‘หมอชิต-คูคต’พุ่ง 5.4 หมื่นล้าน