ที่ประชุม ‘กนง.’ มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25% ต่อปี มองจีดีพีปี 68 โต 2.9% ส่วน ‘เงินเฟ้อทั่วไป’ 1.1% จับตาเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ‘ไม่แน่นอนสูง’ ย้ำ 3 เป้าหมายดำเนินนโยบายการเงิน
..................................
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.25 ต่อปี
เศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันจากภายนอกที่รุนแรงขึ้น และความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะแนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก แต่ยังสามารถขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวปรับดีขึ้น ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังฟื้นตัวได้ช้าโดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกกดดันจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง
คณะกรรมการฯ เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกับศักยภาพ เงินเฟ้อที่โน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่ปรับสูงขึ้น
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 และ 2.9 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ โดยได้รับแรงสนับสนุนต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งการส่งออกสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์และหมวดเครื่องจักรที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามวัฏจักรสินค้าเทคโนโลยี
ทั้งนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจมีความแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน โดยภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวปรับดีขึ้น แต่ SMEs และภาคอุตสาหกรรมบางกลุ่มยังถูกกดดันจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง กลุ่มยานยนต์มีพัฒนาการแย่ลงจากทั้งปัจจัยด้านราคาและอุปสงค์ ส่งผลให้การฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนยังไม่ทั่วถึง
มองไปข้างหน้า แนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลักมีความไม่แน่นอนสูง จึงต้องติดตามพัฒนาการของปัจจัยดังกล่าวซึ่งจะส่งผลต่อแนวโน้มการส่งออกสินค้าและการลงทุนของไทยในระยะต่อไป
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 และ 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.4 และ 1.1 ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจและการส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหาร โดยคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.6 และ 1.0 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
สินเชื่อชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา จากความต้องการลงทุนในบางสาขาธุรกิจที่ลดลง การชำระคืนหนี้ที่กู้ยืมไปในช่วงวิกฤตโควิด-19 และความเสี่ยงด้านเครดิตที่อยู่ในระดับสูง อาทิ สินเชื่อของภาคท่องเที่ยวและบริการขยายตัวชะลอลงจากการชำระคืนหนี้และรายได้ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่สินเชื่อของธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่การแข่งขันรุนแรงขึ้น หดตัวตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่อยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามแนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อและนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และผลของมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” ของภาครัฐที่จะช่วยบรรเทาภาระหนี้ให้กับกลุ่มเปราะบางอย่างตรงจุด
อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่าลงจากการประชุมครั้งก่อน ตามการปรับคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยปรับลดลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกที่มีแนวโน้มผันผวนจากแนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลักและผลกระทบต่อตลาดการเงินไทย
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ เห็นว่าความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าปรับสูงขึ้น จึงจะติดตามพัฒนาการของแนวโน้มเศรษฐกิจการเงินและพิจารณานโยบายการเงินให้เหมาะสมต่อไป
@ปี 68 เศรษฐกิจโต 2.9%-ห่วง‘อุตฯยานยนต์’แย่ลง
นายสักกะภพ กล่าวเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยในปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.7% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว ส่วนปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.9% จากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้อยู่ แต่ชะลอตัวลง ส่วนตัวที่เคยเป็นลบในปี 2567 คือ การลงทุนภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐ จะกลับได้อย่างเต็มที่มากขึ้น
“ถ้าเราดูในไตรมาส 3/67 ตัวเลขออกมาโตที่ 3% นั้น สูงกว่าที่ ธปท.ประเมินไว้เล็กน้อย โดยเฉพาะการส่งออกที่ออกมาดีกว่าที่คาดไว้พอสมควร และเมื่อมองไปข้างหน้ายังเห็นความเสี่ยงในขาสูง จากเรื่องอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรที่คาดว่าจะยังไปได้ดีอยู่ รวมทั้งความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า อาจทำให้เกิดการเร่งส่งออกได้ ฉะนั้น เราจึงคาดว่าเมื่อดูจากโมเมนตัมทางเศรษฐกิจ การส่งออกในช่วงไตรมาสที่ 4/67 และไตรมาสที่ 1/68 ก็ยังไปได้อยู่ นั่นคือระยะสั้น
แต่แน่นอนว่า ในระยะยาว เราเห็นความไม่แน่นอนที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น และความไม่แน่นอนตรงนี้จะชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2568” นายสักกะภพ กล่าว พร้อมทั้งระบุว่า "ไตรมาส 4/67 (การขยายตัวทางเศรษฐกิจ) ยังคงใกล้เคียงเดิม ซึ่งจากตัวเลขของเรา ไตรมาส 4/67 จะโตได้ 4% เทียบปีต่อปี"
นายสักกะภพ กล่าวต่อว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังมีแนวโน้มขยายตัว แต่ในใส้ในยังมีความท้าทาย โดยกลุ่มที่ฟื้นตัวดี คือ ภาคท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้องจะยังฟื้นตัวดีต่อไป และมีกลุ่มที่มีสัญญาณดีขึ้น คือ ก่อสร้าง เนื่องจากการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ แต่ก็มีกลุ่มที่มีพัฒนาการแย่ลง คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่แย่ลงทั้งปัจจัยด้านราคาและอุปสงค์ที่ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งตรงนี้จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของแรงงานในแต่ละกลุ่ม
“แรงงานที่อยู่ในภาคบริการ มองไปข้างหน้า รายได้ของเขายังฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่กลุ่มที่รายได้ฟื้นตัวช้า ก็จะเป็นแรงงานในกลุ่มอาชีพอิสระ และภาคการผลิต ส่วนรายได้ของแรงงานในภาคเกษตรนั้น ในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างเยอะ แต่คาดว่าในระยะต่อไป ราคาสินค้าเกษตรจะปรับลดลง จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่น่าจะดี ทำให้รายได้จะปรับลดลงจากที่เร่งตัวไปก่อนหน้านี้” นายสักกะภพ กล่าว
นายสักกะภพ กล่าวด้วยว่า การชะลอตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัจจัยเฉพาะ เช่น ราคารถยนต์มือสองปรับลดลง และสงครามราคารถยนต์ EV ตลอดจนรายได้กลุ่มเปราะบางที่ฟื้นตัวช้า นั้น ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อลดลง และการปล่อยสินเชื่อที่ลดลงนั้น ก็ไปกระทบต่อยอดขายและราคารถยนต์มือสองเช่นกัน ดังนั้น การจะดูว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ในระยะข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ต้องอยู่ที่ว่าราคารถยนต์มือสองจะมีเสถียรภาพเมื่อไหร่
“สิ่งที่ติดตาม คือ ราคารถจะมีเสถียรภาพเมื่อไหร่ และตรงนั้นจะทำให้ยอดขายและสินเชื่อกลับมา เราได้ไปคุยกับผู้ประกอบการ ก็เริ่มเห็นสัญญาณราคารถยนต์มือสองเริ่มทรงตัวบ้าง แต่ต้องเฝ้าระวังว่า จะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า” นายสักกะภพ กล่าว
@เงินเฟ้อทั่วไปปีหน้าโต 1.1%-ยังไม่เห็นความเสี่ยง‘เงินฝืด’
นายสักกะภพ กล่าวว่า ในด้านอัตราเงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงขอบล่าง และยังไม่มีความเสี่ยงภาวะเงินฝืด โดยปี 2567 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 0.4% และปี 2568 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.1% จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะอยู่ในระดับต่ำ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2567 จะอยู่ที่ 0.6% และปี 2678 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ 1.0%
“เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในทิศทางที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจ เรายังไม่เห็นสัญญาณหรือความเสี่ยงในแง่เงินฝืด โดยสินค้า 3 ใน 4 ของตะกร้าเงินเฟ้อ มีราคาเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่สะท้อนถึงกำลังซื้อก็ยังเป็นบวก ขณะที่เงินเฟ้อคาดการณ์ทรงตัวและยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย” นายสักกะภพ กล่าว
นายสักกะภพ กล่าวว่า ในด้านสินเชื่อนั้น สินเชื่อโดยรวมปรับตัวลดลง โดยสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัวชะลอลง ในขณะที่สินเชื่อ SMEs หดตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากธุรกิจที่ฟื้นตัวดี ทำให้การพึ่งพาสินเชื่อลดลงเมื่อเทียบกับช่วงโควิด-19 แต่ยังคงต้องติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวและพัฒนาการสินเชื่อของธุรกิจที่ฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะธุรกิจในภาคยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์บางส่วน
“การใช้สินเชื่อของอุตสาหกรรมโรงแรมและร้านอาหาร ปรับลดลงมาจากช่วงก่อนหน้านี้เยอะ เพราะมีการคืนหนี้ และพึ่งพิงสินเชื่อน้อยลง ซึ่งจริงๆแล้วกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ฟื้นตัวได้ จึงใช้สินเชื่อน้อยลงเมื่อเทียบกับรายได้ สินเชื่อจึงชะลอ ส่วนกลุ่มที่ฟื้นตัวช้า การใช้สินเชื่อต่อรายได้อาจไม่ได้ต่างจากในอดีต แต่เนื่องจากความเสี่ยงในกลุ่มนี้สูงขึ้น ทำให้เข้าถึงสินเชื่อยากขึ้น” นายสักกะภพ กล่าว
อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการติดตามคุณภาพสินเชื่อของกลุ่มเปราะบางที่ด้อยลง โดยเฉพาะสินเชื่อ SMEs และรายได้ครัวเรือนที่ฟื้นตัวช้าและมีภาระหนี้สูง
นายสักกะภพ ระบุว่า จากการลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ในการประชุมครั้งที่แล้ว พบว่ามีการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์สูงกว่าค่าเฉลี่ย โดยอัตราการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับลูกหนี้รายย่อย (MRR) สูงกว่าลูกหนี้รายใหญ่ (MLR) ขณะที่โครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ ถือเป็นมาตรการที่ช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางได้อย่างตรงจุดและค่อนข้างลึก ซึ่ง กนง.จะติดตามผลของมาตรการฯ และดูว่านโยบายการเงินควรทำหน้าที่อย่างไรในระยะต่อไป
นายสักกะภพ กล่าวว่า เมื่อมองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ ได้หารือกันค่อนข้างมากว่า เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะจากปัจจัยภาคนอก เช่น นโยบายเศรษฐกิจและการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ และความเสี่ยงของคุณภาพสินเชื่อที่จะส่งผลกระทบต่อภาวะการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่า ต้องติดตามพัฒนาการในแง่แนวโน้มเศรษฐกิจการเงิน และพิจารณานโยบายการเงินให้เหมาะสมต่อไป
เมื่อถามว่า สถานการณ์อะไรที่จะทำให้เห็นการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และนโยบายการเงินจะเข้ามามีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรในปีหน้า นายสักกะภพ กล่าวว่า ปัจจุบัน กนง.เห็นความสำคัญในการรักษา policy space เพราะเห็นว่ามีความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า มีสูง รวมทั้งการทำนโยบายในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูง นั้น ประสิทธิผลของนโยบายจะมีจำกัด
“สิ่งที่คณะกรรมการฯเห็น ในการมองสั้นๆ เราเห็นว่าตัวเลขไตรมาส 3/67 ออกมาค่อนข้างดี ตัวเลขส่งออกออกมาค่อนข้างดีกว่าที่เราคาด ฉะนั้น ในระยะสั้น เรายังเห็นว่าเศรษฐกิจยังไปได้ โดยเฉพาะในไตรมาสนี้ และไตรมาสหน้า อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนเริ่มชัดเจนขึ้น แม้ว่าจะยากที่จะระบุว่าผลของความไม่แน่นอนนี้จะเป็นอย่างไร เพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย และถ้าเศรษฐกิจหลักเขาทำกัน ก็จะมีการตอบโต้ ส่วนตรงนี้คงต้องรอความชัดเจนก่อน
แต่ถ้าเราเห็นว่า แนวโน้มเศรษฐกิจมีปัญหาชัดเจน มีอะไรชัดเจน statement (คำแถลง) ในรอบนี้ ก็ค่อนข้างจะเปิดกว้างว่าจะติดตามพัฒนาการ แนวโน้มเศรษฐกิจการเงิน และดำเนินนโยบายการเงินให้เหมาะสมต่อไป ถ้าตอบสั้นๆ คือ ตอนนี้เห็นว่า (ดอกเบี้ย) ‘เป็นกลาง’ ก็ยังเป็นอยู่ แต่ถ้าเราเห็นว่ามีแนวโน้มที่ทำให้นโยบายการเงินเปลี่ยนไป เราก็พร้อมปรับเปลี่ยน” นายสักกะภพ กล่าว
อ่านประกอบ :
บรรเทาภาระหนี้! กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 ลดดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2.25%-คาด GDP ปี 67 โต 2.7%
‘ผู้ว่าฯธปท.’เผย‘กนง.’กังวลสภาวะการเงิน‘ตึงตัว’ ย้ำ 3 เงื่อนไขปรับดบ.-ปัดตอบลดค่าฟี FIDF
มติ 6 ต่อ 1! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% ชี้สอดคล้องการขยายตัวศก.-กังวล‘หนี้ครัวเรือน’สูง
มติ 5 ต่อ 2 เสียง! 'บอร์ด กนง.' เสียงแตก คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5%-มอง GDP ปี 67 โต 2.6%
'นายกฯ'เรียกร้อง'ธปท.'นัดประชุม'กนง.'ก่อนกำหนด ถกลด'ดอกเบี้ย'หลังมีข้อมูลใหม่'สภาพัฒน์'
มติ 5 ต่อ 2! 'กนง.'เสียงแตก คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.5%-หั่นคาดการณ์จีดีพีปี 67 โตไม่เกิน 3%
มติเอกฉันท์! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.5%-หั่นคาดการณ์จีดีพีปีนี้เหลือ 2.4%
3 กรรมการ'กนง.'ฝั่ง'แบงก์ชาติ' มองทิศทาง'ดอกเบี้ยนโยบาย' ท่ามกลาง'ปัจจัยเสี่ยง-แรงกดดัน'
เงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น! กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ. 0.25% สู่ระดับ2.5%-มองGDPปีนี้โต 2.8%
สู่ระดับ 2.25%! 'กนง.'มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%-มอง'เงินเฟ้อ'มีความเสี่ยงด้านสูง
มติเอกฉันท์! ‘กนง.’เคาะขึ้นดบ. 0.25% สู่ระดับ 2% มองเศรษฐกิจอาจโตเกินคาด-จับตาเงินเฟ้อ
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%สู่ระดับ 1.75% สกัดเงินเฟ้อ-จับตาตลาดการเงินโลกผันผวน
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สกัดเงินเฟ้อ-มองศก.ไทยฟื้นต่อเนื่อง แม้ส่งออกแผ่ว
กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ.นโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25%-จับตาเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอกว่าคาด
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%