‘ผู้ว่าฯ ธปท.’ เผย ‘กนง.’ เริ่มกังวลในฝั่ง ‘เสถียรภาพทางการเงิน’ มากขึ้น ชี้หากสภาวะทางการเงิน ‘ตึงตัวเกินไป’ อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้มีการ ‘ปรับเปลี่ยน’ นโยบายการเงินให้เหมาะสม ปฏิเสธให้ความเห็น ลดเงินนำส่ง ‘กองทุนฟื้นฟูฯ’ เหลือ 0.23% บอก ‘ยังเร็วเกินไป’ ที่จะให้ความเห็น
.............................................
เมื่อวันที่ 24 ส.ค. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในการกำหนดจุดยืนในเรื่องดอกเบี้ยนโยบายนั้น ธปท.จะพิจารณาจาก 3 เรื่องหลัก คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพทางด้านการเงิน โดยขณะนี้เรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจและเรื่องเงินเฟ้อ ยังคงเป็นไปตาม Outlook ที่มองไว้ แต่สิ่งที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีความกังวลมากขึ้น คือ ฝั่งเสถียรภาพทางด้านการเงิน
“จริงๆแล้ว จุดยืนของเราในเรื่องดอกเบี้ย เราพูดมาโดยตลอดว่า มันเป็นอะไรที่เราเรียกว่า ขึ้นอยู่กับ Outlook และแนวโน้มอะไรต่างๆ ถ้า Outlook มันเปลี่ยน เราก็พร้อมปรับเรื่องนโยบายของเรา โดยเฉพาะในฝั่งนโยบายดอกเบี้ย ซึ่งที่ผ่านมา Outlook ของเรา ทั้ง 3 อย่างที่เราดูหลักๆ คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ เรื่องเงินเฟ้อ และเรื่องเสถียรภาพทางด้านการเงิน นั้น ถ้าไล่ดูตัวจีดีพีโดยรวม ก็ดูเหมือนว่า จะค่อยๆเข้าสู่ศักยภาพ ไม่ได้ดูว่าเปลี่ยนแปลงไป
แม้ว่าอาจมีเรื่อง downside risk (ความเสี่ยงด้านต่ำ) ในบางมิติ ที่อาจดูเหมือนว่า มีมากขึ้น เช่น จากตัวเลขไตรมาส 2/2567 ที่ออกมานั้น การลงทุนหรืออะไรต่างๆลดลง แต่โดยรวมแล้ว ก็ยังเป็นไปตาม forecast ไว้ ซึ่งในรอบหน้าจะมีการอัพเดต forecast ของเรา ดังนั้น ณ จุดนี้ ก็ยัง in line กับที่มองไว้ ไม่ได้ต่าง หรือห่างไปจากศักยภาพการเติบโตของของเศรษฐกิจเรา จึงไม่ได้มี Outlook อะไรที่เปลี่ยนแปลงไป
ส่วนเรื่องเงินเฟ้อ ใช่ ตอนนี้แม้ว่าจะต่ำกว่าขอบล่าง แต่แนวโน้ม คือ ค่อยๆเข้าสู่ขอบล่างของกรอบเงินเฟ้อเรา แต่ที่สำคัญเลย ในเรื่องเงินเฟ้อนั้น จริงๆแล้ว ผมคิดว่า มากกว่าเรื่องที่ว่าตัวเลขเป๊ะๆจะเป็นอย่างไร นั่นก็คือ เรื่องการรักษาให้การคาดการณ์เงินเฟ้อและเงินเฟ้อจริง อยู่ในระดับที่ต่ำ เพราะเรื่อง inflation targeting โจทย์จริงๆ ก็คือ ไม่อยากให้เงินเฟ้อ ทั้งเงินเฟ้อคาดการณ์ และเงินเฟ้อที่ออกมาจริงอยู่สูงไป ส่วนตัวเลขจริงๆจะเป็นเท่าไหร่นั้น เป็นเรื่องรองลงมา
และตราบใดที่เงินเฟ้อที่ต่ำ ไม่ได้นำไปสู่ภาวะที่เป็นเงินฝืด คือ แบบทำให้การบริโภคชะลอตัวลง หรือมีการคาดการณ์เงินเฟ้อตกต่ำ แล้วไปอยู่ในวงจร deflationary loop คือ คนคิดว่าราคามันจะลง แล้วไม่ยอมบริโภค เพราะคิดว่าจะไปซื้อได้ถูกในอนาคต เมื่อไม่ซื้อ ราคาก็ยิ่งลดลง อันนั้นเป็น loop ที่เราไม่อยากเห็น แต่ตอนนี้ ภาพนั้นยังไม่ได้เกิด เพราะถ้าดูตะกร้าเงินเฟ้อของเรา ก็ไม่ได้มีสัญญาณความเสี่ยงทางด้านนั้น
สองเรื่องแรก ค่อนข้าง in line และ in trend Outlook ไม่ค่อยเปลี่ยน แต่มีอันที่สาม ที่เรามีความกังวลมากขึ้น คือ ฝั่งเสถียรภาพทางด้านการเงิน ถ้าทับศัพท์ คือ macro-financial linkages หรือความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจกับภาคการเงิน และภาคการเงินกลับมาเรื่องภาคเศรษฐกิจ ซึ่งเรารู้ว่า มันมีความเชื่อมโยง แต่ดูเหมือนว่า มีสัญญาณที่อาจแรงกว่าที่ได้ประเมินไว้ ซึ่งทำให้สภาวะทางการเงินมันตึงตัว
แล้วถ้าตึงตัวมากๆ หรือตึงตัวเกินไป อันนี้ก็เป็นตัวหนึ่งที่อาจจะ trigger (สิ่งกระตุ้น) ให้ กนง. (คณะกรรมการนโยบายการเงิน) ตัดสินใจที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินให้เหมาะสม เพราะถ้า credit conditions (เงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อ) มัน tighten (ตึงตัว) มากๆ ก็อาจจะเอื้อหรือเหมาะกับการที่จะมีการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อที่จะช่วยรักษาไม่ให้ off จนเกินไป
จริงๆแล้ว โทนในการคุยกันของกรรมการฯ ในที่ประชุม สิ่งที่คุยกันและอยากให้ reflect (สะท้อน) จากตัว statement ที่ออกไป คือ อยาก reflect ว่า more openness ที่จะมีโอกาสที่จะปรับเรื่องดอกเบี้ย เพราะเรื่อง macro financial ที่ linkages (ความเชื่อมโยง) มันแรงกว่าที่คิด ซึ่งตอนที่คนเห็นว่า เราพูดเรื่อง financial stability เยอะ ก็ไปตีความปุ๊บว่าเป็นแบบนั้น อันนั้นอาจเป็นการตีความที่อาจไม่ได้สะท้อนความคิดของกรรมการ กนง.” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
นายเศรษฐพุฒิ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีข้อเสนอให้ ธปท.ปรับลดเงินนำส่งของสถาบันการเงินเพื่อนำมาชำระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ให้เหลือ 0.23% จากปัจจุบัน 0.46% เพื่อนำแก้ปัญหาหนี้ของประชาชน โดยนายเศรษฐพุฒิ กล่าวเพียงสั้นๆว่า “ประเด็นต่างๆที่เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ มันเร็วเกินไป ณ จุดนี้ ที่จะตอบ หรือให้ความเห็นอะไรต่างๆ”
นายเศรษฐพุฒิ ยังอธิบายด้วยว่า ที่บอกว่าเงิน 0.46% ที่เก็บจากธนาคารแล้ววิ่งมาที่กองทุนฟื้นฟูฯนั้น ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ว่าเงินส่วนนี้วิ่งมาที่กองทุนฟื้นฟูฯ แล้วกองทุนฟื้นฟูฯเก็บไว้ หรือแบงก์ชาติจะอมไว้หรือเก็บไว้ ซึ่งไม่ใช่เลย โดยเมื่อมีการเก็บเงินจากธนาคารแล้ว ซึ่งเก็บปีละ 2 ครั้ง เงินส่วนนี้จะถูกนำส่งไปให้กระทรวงการคลัง เพื่อชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งปัจจุบันมีหนี้คงเหลือประมาณ 5.8 แสนล้านบาท
“มันสร้างความเข้าใจผิดได้ง่าย เพราะหนี้ตัวนี้ จริงๆแล้วเป็นหนี้ของกระทรวงการคลัง เป็นหนี้สาธารณะ ไม่ได้อยู่ใน balance sheet (งบดุล) ของกองทุนฟื้นฟูฯ แต่อยู่ใน balance sheet ของกระทรวงการคลัง กองทุนฟื้นฟูฯไม่ได้เก็บอะไรไว้เลย เราเก็บให้ แล้วผ่านเราไปชำระ และจ่ายดอกเบี้ยของพันธบัตรที่รัฐบาลออกมาเพื่อชดเชยกองทุนฟื้นฟูฯ” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
ด้าน น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ปัจจุบันหนี้เงินต้นคงเหลือของพันธบัตรกระทรวงการคลังที่นำออกขายเพื่อนำไปชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯหรือหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ มีจำนวน 5.8 แสนล้านบาท โดยขณะนี้มีการเก็บเงินงวดครึ่งปีแรกมาได้แล้ว 3,000 ล้านบาท และจะนำไปชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯในเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งจะทำให้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯลดเหลือ 5.5 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี หนี้เงินต้น 5.5 แสนล้านบาทนี้ ‘ก็มีต้นทุนของมัน’
“ปีๆหนึ่ง มีการจ่ายดอกบน 5.8 แสนล้าน ณ วันนี้ อยู่ที่ประมาณ 1.6 หมื่นล้าน เวลาที่ไปเก็บกับประชาชน แล้วแบงก์เอามาส่ง 0.46% ก็คือเอามาส่งดอกเบี้ย 1.6 หมื่นล้านนี่แหละ ส่วนต้นจะจ่ายอย่างไร สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะมาแจ้งแบงก์ชาติว่า ต้นแบบไหนที่จะให้จ่ายก่อน ซึ่งปกติก็จะจ่ายต้นที่ดอกสูงก่อน ฉะนั้น เงินทุกบาทที่ได้ใน 0.46% หรือปีหนึ่งประมาณ 7 หมื่นล้าน จะไม่เก็บไว้ที่ FIDF หรือแบงก์ชาติเลย แต่จะจ่ายไปในทุกๆรอบ ที่มีเงินออกมา
ส่วนที่ถามว่าถ้าลดลงไป 0.23% จะทำให้หนี้ลดช้าลง ก็คือ ใช่ เพราะเวลาลด 0.23% ก็แปลว่า เงินต่อปีที่จะได้ จะลดลงปีละ 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่ง 3.5 หมื่นล้านที่หายไปนี้ จะเกิดต้นทุน 2 อัน ต้นทุนอันที่ 1 คือ เงินต้นจะลดช้ากว่าที่เรากำหนด ถ้าลด 1 ปี ต้นก็จะยืดไปประมาณครึ่งปี กับอีกก้อน คือ ดอกเบี้ย หนึ่งปีเงินต้น 5.8 แสนล้าน เราจ่ายดอกเบี้ย 1.6 หมื่นล้าน การที่เงินต้นลดช้า ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายปีละ 1.6 หมื่นล้าน ก็จะลดช้าไปด้วย ซึ่งเฉลี่ยแล้วปีหนึ่ง น่าจะมีต้นทุนดอกเบี้ยที่เกิดจากพันธบัตรที่ออกไป แล้วไม่ได้ลด อีก 5,000 ล้านบาท” น.ส.สุวรรณี กล่าว