กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 2.25% หวังช่วยบรรเทาภาระ ‘หนี้’ มองเศรษฐกิจปี 67 โต 2.7% ส่วนปีหน้า 2.9%
...............................
เมื่อวันที่ 16 ต.ค. นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. วา คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 2.50 เป็นร้อยละ 2.25 ต่อปี โดยให้มีผลทันที
เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 ด้านกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้มีแนวโน้มเกิดขึ้นต่อเนื่อง คณะกรรมการฯ เห็นว่าจุดยืนของนโยบายการเงินที่เป็นกลางยังเหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ
กรรมการส่วนใหญ่เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปีในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้บ้าง โดยไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ภายใต้บริบทที่สินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงอยู่ในระดับที่ยังเป็นกลางและสอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจ
ขณะที่กรรมการ 2 ท่าน เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และให้น้ำหนักกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมถึงการรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ที่ร้อยละ 2.7 และ 2.9 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนซึ่งได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการส่งออกที่ปรับดีขึ้นตามความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ เศรษฐกิจฟื้นตัวแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน โดยการส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมบางกลุ่ม รวมถึง SMEs ยังถูกกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 และ 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.5 และ 1.2 ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากสภาพอากาศที่ผันผวน และอัตราเงินเฟ้อ หมวดพลังงานมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากผลของฐาน ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.5 และ 0.9 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง อาทิ การแข่งขันด้านราคาที่อยู่ในระดับสูงจากสินค้านำเข้า
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567
ภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้นบ้าง อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ปรับแข็งค่า ตามทิศทางนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักและปัจจัยเฉพาะในประเทศ ด้านต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์และตลาดตราสารหนี้ยังทรงตัวใกล้เคียงเดิม สินเชื่อโดยรวมชะลอลง โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจ SMEs กลุ่มธุรกิจที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง รวมทั้งสินเชื่อเช่าซื้อและบัตรเครดิต
ด้านคุณภาพสินเชื่อปรับด้อยลง ส่วนหนึ่งมาจากลูกหนี้ที่เคยได้รับความช่วยเหลือทางการเงินในช่วงที่ผ่านมา และธุรกิจ SMEs และครัวเรือนที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และมีภาระหนี้สูง คณะกรรมการฯ ยังสนับสนุนนโยบายของ ธปท. ที่ให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาภาระหนี้ที่ตรงจุดและมีส่วนช่วยกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ ทั้งนี้ ต้องติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงต่อต้นทุนการกู้ยืมและการขยายตัวของสินเชื่อในภาพรวม รวมถึงนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังควรอยู่ในระดับที่เป็นกลางและสอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจ รวมทั้งไม่ต่ำเกินไปจนนำไปสู่การสะสมความไม่สมดุลทางการเงินในระยะยาว
@ปรับเป้าจีดีพีปี 67 โต 2.7%-เงินเฟ้อกลับเข้ากรอบปลายปี
นายสักกะภพ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังคงมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ กนง. ประเมินไว้ โดยในครั้งนี้ กนง.ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2567 เป็นขยายตัว 2.7% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.6% โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งได้แรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ในขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มทยอยดีขึ้นในช่วงปลายปี
“ในแง่จีดีพีแต่ละไตรมาส เทียบปีต่อปี ไตรมาส 1/2567 ตัวเลขจริง 1% ไตรมาส 2/2567 ประมาณ 2% ส่วนไตรมาส 3/2567 จะอยู่ที่ 3% และไตรมาส 4/2567 จะอยู่ที่ประมาณ 4% ก็ยังเป็นไปตามที่เราเคยบอกไว้ ส่วนในแง่ของการเจริญเติบโตจะเห็นว่าไตรมาส 2/2567 เทียบเป็นปีต่อปี ดีกว่าไตรมาส 1/2567 แต่ในแง่ไตรมาสต่อไตรมาส แรงส่งชะลอลงไป เพราะเราฟื้นตัวค่อนข้างแรงในช่วงไตรมาสแรก ซึ่งทุกอย่างค่อนข้างเป็นไปตามที่เราคาด” นายสักกะภพ กล่าว
นายสักกะภพ ระบุด้วยว่า การปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2567 เป็น 2.7% ในครั้งนี้ ได้มีการรวมเงินโอนจากภาครัฐในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านกลุ่มเปราะบางเอาไว้แล้ว
ส่วนเศรษฐกิจปี 2568 คาดว่าจะขยายตัว 2.9% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3% จากฐานของปี 2567 ที่เพิ่มขึ้นจากเงินโอนภาครัฐ ทั้งนี้ เศรษฐกิจในปี 2568 จะมีแรงขับเคลื่อนที่สมดุลมากขึ้น และเติบโตในทุกองค์ประกอบ แต่ก็มีความเสี่ยงด้านลบที่ต้องติดตาม เช่น สงคราม และความเสี่ยงในทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งต้องติดตามความชัดเจนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะออกมาเพิ่มขึ้น
นายสักกะภพ กล่าวว่า สำหรับอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับที่ กนง.เคยคาดการณ์ไว้ โดยครั้งนี้ กนง.คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 จะอยู่ที่ 0.5% เท่ากับประมาณการในครั้งก่อน และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% ในช่วงปลายปี 2567 และจะอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับขอบล่าง ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ทั้งจากตลาดแรงงานที่ค่อนข้างยืดหยุ่น และต้นทุนการนำเข้าที่ต่ำจากประเทศจีน ส่วนปี 2568 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.2% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 1.3%
“ถามว่ามีความกังวลในแง่ความเสี่ยงเรื่องเงินฝืดหรือไม่ จะเห็นว่าราคาสินค้ามีการปรับเพิ่มขึ้นในหลายหมวดสินค้า รายได้ของคนก็ยังโต เป็นบวกอยู่ และเงินเฟ้อคาดการณ์ก็ยังค่อนข้างใกล้เคียงค่ากลางของกรอบเงินเฟ้ออยู่ ในแง่ความเสี่ยงต่อเงินฝืด ที่คนคิดว่าเงินเฟ้อจะปรับลงไปเรื่อยๆ หรือราคาสินค้าจะปรับลดลงต่อเนื่อง เราไม่ได้เห็นอะไร เพราะฉะนั้น เงินเฟ้อก็ยังเป็นไปในลักษณะที่เรามองไว้” นายสักกะภพ กล่าว
นายสักกะภพ กล่าวว่า ในส่วนภาวะการเงินที่ กนง. ให้ความสำคัญตั้งแต่การประชุมครั้งที่แล้ว และติดตามพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง นั้น พัฒนาการส่วนใหญ่ยังเป็นไปในลักษณะคล้ายๆกับที่ กนง.ประเมินไว้ คือ ภาวะการเงินมีการตึงตัวขึ้นบ้างและมีการเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะในกลุ่มที่รายได้ฟื้นตัวช้า หรือกลุ่มที่มีปัญหาในเชิงโครงสร้าง เช่น กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เป็นต้น
“มีปัจจัยที่ไปกระทบต่อสินเชื่อ โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs ที่มีปัจจัยเรื่องโครงสร้างที่มากระทบ หรืออย่างสินเชื่อบางตัว เช่น รถยนต์ ก็เป็นเรื่องอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ชะลอตัว ซึ่งยังเป็นในลักษณะที่เราประเมินไว้ แต่ กนง. ก็เห็นว่าพัฒนาการไม่ได้ปรับดีขึ้นในแง่สินเชื่อ ส่วนเรื่อง NPLs (สินเชื่อด้อยคุณภาพ) จะเห็นว่าทรงตัว แต่คณะกรรมการฯ มองว่า ระดับ NPLs ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงอยู่ และสิ่งที่เราคิด คือ NPLs อาจทยอยปรับขึ้นบ้าง แต่ไม่ได้มาก” นายสักกะภพ ระบุ
@ลด‘ดอกเบี้ย’ไม่เป็นอุปสรรคต่อการลด‘หนี้ครัวเรือน’
นายสักกะภพ กล่าวว่า ในด้านเสถียรภาพการเงิน นั้น กนง.หารือกันค่อนข้างมาก และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ กนง. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ คือ การปรับลดสัดส่วนภาระหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (Debt Leveraging) ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง ภายใต้บริบทที่สินเชื่อที่มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอในระยะข้างหน้า โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว จะช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง แม้ว่าจะไม่มากนักก็ตาม และจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรับลดสัดส่วนภาระหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (Deleveraging) ในบริบทปัจจุบันที่สินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง
นายสักกะภพ กล่าวว่า “สิ่งที่เราทำไปในช่วงที่ผ่านมา เรามีการปรับนโยบายตามภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้ม จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมา เรา normalize โดยขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงแรก คือ ในช่วงกลางปี 2565 เราปรับขึ้นดอกเบี้ยด้วยบริบทที่แตกต่างจากประเทศอื่น คือ เราขึ้นดอกเบี้ยช้า เพราะเศรษฐกิจเราฟื้นตัวช้า และขึ้นไม่ได้เยอะเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แล้วดอกเบี้ยนโยบายของเราอยู่ในระดับ 2.5% มาประมาณ 1 ปีกว่าๆ เราเห็นว่าเศรษฐกิจก็เป็นไปอย่างที่เราคาด คือ ฟื้นตัว แม้ว่าจะมีบางส่วนจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่ในภาพรวมก็ยังเป็นไปตามที่เราคาดไว้
ในแง่ของเสถียรภาพราคา ดอกเบี้ยก็ทำหน้าที่ได้ค่อนข้างดีในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ยึดเหนี่ยวคาดการณ์เงินเฟ้อ โดยทำให้เงินเฟ้อที่ขึ้นไปเร็วในช่วงเดือน ส.ค.2565 ปรับลดลงได้ค่อนข้างเร็ว ส่วนในเรื่องความไม่สมดุลทางการเงิน คือ เรื่องหนี้ครัวเรือน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ดอกเบี้ยเอง ก็มีส่วนช่วยที่ไม่ไปเติมเชื้อไฟในเรื่องหนี้ต่อจีดีพี ทั้งนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา เราไม่ได้ปรับขึ้นจนเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นกลาง (Neutral rate) แตกต่างจากประเทศส่วนใหญ่ที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าดอกเบี้ยที่เป็นกลาง"
นายสักกะภพ กล่าวต่อว่า "ในระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯยังคงให้ความสำคัญเรื่องการปรับลด Household debt (หนี้ครัวเรือน) อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากหนี้คครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ส่วนการดำเนินนโยบายทางการเงิน คณะกรรมการฯยังให้ความสำคัญว่า ดอกเบี้ยนโยบายควรอยู่ในระดับที่เป็นกลาง และไม่ต่ำจนเกินไป เพื่อไม่ทำให้เกิดการสะสมของความเสี่ยงในระยะยาว”
@ยืนยันลด‘ดอกเบี้ย’รอบนี้ ไม่เกี่ยวแรงกดดัน‘การเมือง’
เมื่อถามว่า การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ ดูเหมือนว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะประนีประนอมกับรัฐบาลมากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ ผู้ว่าฯ ธปท. ได้มีการหารือกับ รมว.คลัง ตรงนี้จะกระทบความเป็นอิสระในการตัดสินใจของ ธปท. หรือไม่ นายสักกะภพ กล่าวว่า “การหารือกับรัฐบาล ไม่ใช่เพิ่งหารือ และเรื่องของการได้ input จากภาคส่วนต่างๆ เป็นสิ่งที่ทางแบงก์ชาติต้องการอยู่แล้ว และ กนง.เอง ก็ได้ input ต่างๆ เข้ามา
แต่เรื่องการปรับ (ดอกเบี้ยนโยบาย) ในรอบนี้ รอดูเรื่องการปรับสมดุล ในแง่การดูแลเรื่อง financial stability และดูแลหนี้ครัวเรือน อยากให้กระบวนการการปรับลดหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ สอดคล้องกับรายได้และภาระหนี้ของประชาชน ในภาพใหญ่ มีการพูดคุยกันมาโดยตลอด และสิ่งที่เราเห็น เราก็ติดตาม และดูตามแนวโน้มที่มองไปข้างหน้า
แน่นอนว่า เรามีการพูดคุย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน ก็มีการคุยและให้ input กับแบงก์ชาติ และ กนง. ในการประมวลภาพ และเราก็ประมวล ซึ่งในรอบนี้ในแง่สมดุลแล้ว เราคิดว่ามี room (ช่องว่าง) ที่จะปรับสมดุลได้ รอบนี้ก็สามารถลดดอกเบี้ยได้ ไม่ได้เป็นแรงกดดันทางด้านการเมือง แต่เรา take ว่าเป็น input หนึ่งว่า ที่เขามีคอมเมนต์อะไร เราก็มาดูว่า ข้อมูลอะไรที่มีความสำคัญและมีความเกี่ยวข้องกับการทำนโยบาย”
นายสักกะภพ กล่าวว่า ในส่วนการปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ธปท.และกระทรวงการคลัง จะมีการหารือกันอีกครั้ง โดยเป้าหมายของเงินเฟ้อในภาพหลักๆนั้น เป็นเรื่องการดูแลเงินเฟ้อในระยะยาว และดูแลความผันผวนของเงินเฟ้อ ซึ่งความผันผวนของเงินเฟ้อไทยนั้น ปัจจัยหลักๆมาจากในด้านอุปทาน และมาจากปัจจัยภายนอกค่อนข้างมาก ดังนั้น กรอบเงินเฟ้อที่ดีควรมีความยืดหยุ่น และสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ คือ เงินเฟ้อไม่ควรสูงเกินไป
อ่านประกอบ :
‘ผู้ว่าฯธปท.’เผย‘กนง.’กังวลสภาวะการเงิน‘ตึงตัว’ ย้ำ 3 เงื่อนไขปรับดบ.-ปัดตอบลดค่าฟี FIDF
มติ 6 ต่อ 1! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% ชี้สอดคล้องการขยายตัวศก.-กังวล‘หนี้ครัวเรือน’สูง
มติ 5 ต่อ 2 เสียง! 'บอร์ด กนง.' เสียงแตก คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5%-มอง GDP ปี 67 โต 2.6%
'นายกฯ'เรียกร้อง'ธปท.'นัดประชุม'กนง.'ก่อนกำหนด ถกลด'ดอกเบี้ย'หลังมีข้อมูลใหม่'สภาพัฒน์'
มติ 5 ต่อ 2! 'กนง.'เสียงแตก คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.5%-หั่นคาดการณ์จีดีพีปี 67 โตไม่เกิน 3%
มติเอกฉันท์! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.5%-หั่นคาดการณ์จีดีพีปีนี้เหลือ 2.4%
3 กรรมการ'กนง.'ฝั่ง'แบงก์ชาติ' มองทิศทาง'ดอกเบี้ยนโยบาย' ท่ามกลาง'ปัจจัยเสี่ยง-แรงกดดัน'
เงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น! กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ. 0.25% สู่ระดับ2.5%-มองGDPปีนี้โต 2.8%
สู่ระดับ 2.25%! 'กนง.'มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%-มอง'เงินเฟ้อ'มีความเสี่ยงด้านสูง
มติเอกฉันท์! ‘กนง.’เคาะขึ้นดบ. 0.25% สู่ระดับ 2% มองเศรษฐกิจอาจโตเกินคาด-จับตาเงินเฟ้อ
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%สู่ระดับ 1.75% สกัดเงินเฟ้อ-จับตาตลาดการเงินโลกผันผวน
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สกัดเงินเฟ้อ-มองศก.ไทยฟื้นต่อเนื่อง แม้ส่งออกแผ่ว
กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ.นโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25%-จับตาเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอกว่าคาด
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%