"...มติครม.เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 กล่าวถึงแค่ความมั่นคงของบริษัทประกันภัย ไม่ได้กล่าวถึงทรัพย์สินรวมจำนวน 3 หมื่นล้าน อีกทั้งตัวแทนคปภ.ที่เข้าร่วมประชุมคณะทำงานพิจารณาหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบริษัทประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยที่จะรับประกันสุขภาพคนต่างด้าวซึ่งจะขอรับใบอนุญาตทำงานตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ไม่ได้มีอำนาจและหน้าที่ในการกำกับดูแลการเงินและผู้เสียหายแต่อย่างใด และการกำหนดเงื่อนไข มีทรัพย์สินรวม ณ สิ้นปี 2566 จำนวนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท อาจจะทำให้เหลือบริษัทประกันไม่กี่แห่งที่สามารถเข้าร่วมได้ ..."
เหตุผลของกรมการจัดหางาน (กกจ.) และ ตัวแทนบริษัทประกันภัยกลุ่มหนึ่ง ฝ่ายใดมีน้ำหนักมากกว่ากัน!
กำลังอยู่ในความสนใจของสาธารณชน ต่อประเด็นร้อนในแวดวงธุรกิจประกันภัย กรณี กรมการจัดหางาน (กกจ.) กำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานใหม่ในการคัดเลือกบริษัทประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยที่จะรับประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะขอรับใบอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 ว่า บริษัทจะต้องมีคุณสมบัติและเงื่อนไขตามที่กำหนด 13 ประการ แจ้งความประสงค์จะเข้าร่วมการดำเนินการประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ภายในวันที่ 19 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาอนุญาตให้เชื่อมโยงข้อมูลหลักฐานการซื้อประกันสุขภาพต่อไป
ขณะที่ตัวแทนบริษัทประกันภัยกลุ่มหนึ่ง ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีข้าราชการกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ออกหลักเกณฑ์เอื้อประโยชน์บริษัทประกันภัยบางบริษัท ให้มีสิทธิเข้ารับการประกันสุขภาพของคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 24 ก.ย. 2567 และกีดกันบริษัทประกันภัยอื่น ๆ โดยกำหนดคุณสมบัติเรื่องทรัพย์สินรวมที่ต้องมีทรัพย์สินรวม ณ สิ้นปี 2566 จำนวนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท และต้องมีอัตราส่วนความเพียงพอของการดำรงเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (Car Ratio) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 200 ณ สิ้นปี 2566 ซึ่งทำให้เหลือบริษัทประกันภัยที่สามารถเข้าร่วมประกันภัยเพียง 2 บริษัท จากเดิม 17 บริษัทประกันภัย ขณะที่ตัวเลขการทะเบียนแรงงานต่างด้าว ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 3 ล้านคน ตัวเลขมูลค่าวงเงินประกันที่จะเกิดขึ้นประมาณ 5 พันล้านบาท
เบื้องต้น นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ว่า กรมการจัดหางาน ดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 ที่ให้แรงงานต่างด้าวต้องทำประกันสุขภาพกับโรงพยาบาลรัฐหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่มีความมั่นคงตามที่กรมการจัดหางานกำหนด ส่วนมาตรฐานความมั่นคงของบริษัทประกันนั้น ทางกรมการจัดหางานได้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณา มีเจ้าหน้าที่ของกรมฯ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เข้ามาพิจารณาร่วมกัน จึงออกเป็นมาตรฐานดังกล่าวออกมา อีกทั้งกรมฯ ยังดำเนินการตามมติครม. ทุกประการ และเป็นการดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต เนื่องจากเหตุการณ์ที่หลายคนทราบว่าในช่วงโควิดที่ผ่านมามีการขายประกันโควิด แล้วมีบริษัทประกันสุขภาพปิดตัว 2 บริษัท แล้วขณะนี้ยังมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายไม่เสร็จสิ้น พร้อมยืนยันเดินหน้าโครงการฯ ต่อ และยินดีให้ ป.ป.ช.เข้ามาตรวจสอบด้วย
@ สมชาย มรกตศรีวรรณ
ฝ่ายตัวแทนบริษัทประกันภัยรายหนึ่ง ก็ออกมาชี้แจงตอบโต้ทันทีว่า จากการที่อธิบดีกรมการจัดหางานให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศราแสดงว่าบริษัทประกันภัยที่ไม่ผ่านการคัดเลือก เป็นบริษัทประกันภัยที่ขาดความมั่นคงใช่หรือไม่ พร้อมระบุว่า การที่อธิบดีให้สัมภาษณ์เช่นนี้ส่งผลกระทบด้านลบวงกว้างต่อธุรกิจประกันภัย ทำให้ความน่าเชื่อถือของบริษัทเหล่านั้นลดลง อีกทั้งการยกเหตุผลที่อ้างอิงจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงปี 2564 ที่ส่งผลให้บริษัทประกันภัยต้องปิดตัวลง เป็นเหตุผลที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยเคยประสบกับการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นครั้งแรก อีกทั้งบริษัทที่ไม่ผ่านการคัดเลือกก็ไม่เคยมีเรื่องเสียหายในช่วงโควิดที่ผ่านมา การที่ใช้เหตุผลข้างต้นไม่ยุติธรรมกับบริษัทที่ไม่ผ่านการคัดเลือก
ตัวแทนบริษัทประกันภัยรายนี้ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า นอกจากนี้มติครม.เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 กล่าวถึงแค่ความมั่นคงของบริษัทประกันภัย ไม่ได้กล่าวถึงทรัพย์สินรวมจำนวน 3 หมื่นล้าน อีกทั้งตัวแทนคปภ.ที่เข้าร่วมประชุมคณะทำงานพิจารณาหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบริษัทประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยที่จะรับประกันสุขภาพคนต่างด้าวซึ่งจะขอรับใบอนุญาตทำงานตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ไม่ได้มีอำนาจและหน้าที่ในการกำกับดูแลการเงินและผู้เสียหายแต่อย่างใด และการกำหนดเงื่อนไข มีทรัพย์สินรวม ณ สิ้นปี 2566 จำนวนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท อาจจะทำให้เหลือบริษัทประกันไม่กี่แห่งที่สามารถเข้าร่วมได้
"การอ้างถึงมติครม. ตกลงว่า มาตรฐานที่กำหนดมาจนคัดเหลือแค่ 2 บริษัท คือนโยบายที่รัฐบาลให้ไปหรือไม่ ขยายความคำว่า 'ความมั่นคง' ตามมติครม.ได้หรือไม่ เมื่อทำไปแล้วกลายเป็นว่าไปกีดกันและทำลายอุตสาหกรรมประกันภัยรายอื่น ๆ ซึ่งบริษัทประกันภัยที่เคยทำงานกับกรมการจัดหางานในปี 2566 พอมาถึงปี 2567 แล้วไม่ได้ร่วมงานกับกรมการจัดหางานแสดงให้เห็นว่าไม่มีคุณภาพใช่หรือไม่ ตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากนี้บริษัทประกันภัยทุกบริษัทได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งหมด ฉะนั้นตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างทางเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ การที่กรมฯนำแผลเล็ก ๆ เหล่านั้นมาเขียน TOR เป็นการกีดกันไม่ให้บริษัทเหล่านั้นเข้ามาต่อสู้ได้" ตัวแทนบริษัทประกันภัยรายนี้
- 17 แห่งเข้าได้แค่ 2! ร้อง ป.ป.ช.สอบเงื่อนไขคัดเลือก บ.รับทำประกันแรงงานต่างด้าว 5 พันล.
- พร้อมให้ป.ป.ช.สอบ! อธิบดี กกจ.ยันคัดเลือกบ.รับทำประกันแรงงานต่างด้าว 5 พันล. โปร่งใส
- ไม่ยุติธรรม! เอกชนโต้ กกจ.กำหนดมาตรฐานเลือกบ.รับทำประกันต่างด้าว - คปภ.เคยค้านแล้ว
หากพิจารณาข้อมูลทั้ง 2 ฝ่าย ตามที่นำเสนอไปข้างต้น จะพบว่ามีเงื่อนปมสำคัญ ที่จะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจของสาธารณชนว่า เหตุผลของกรมการจัดหางาน (กกจ.) และ ตัวแทนบริษัทประกันภัยกลุ่มหนึ่ง ฝ่ายใดมีน้ำหนักมากกว่ากัน คือ
1. มติครม. เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 กำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานบริษัทเอกชนที่จะเข้ามารับทำประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ไว้อย่างไร?
2. แนวคิดกำหนดคุณสมบัติเรื่องทรัพย์สินรวมที่ต้องมีทรัพย์สินรวม ณ สิ้นปี 2566 จำนวนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท และต้องมีอัตราส่วนความเพียงพอของการดำรงเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (Car Ratio) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 200 ณ สิ้นปี 2566 มาจากไหน และทำให้เหลือบริษัทประกันภัยที่สามารถเข้าร่วมประกันภัยเพียง 2 บริษัท จากเดิม 17 บริษัทประกันภัย จริงหรือไม่ ?
3. ความเห็น สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นอย่างไร?
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา จะขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ มติครม. เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 ให้เห็นภาพที่ชัดเจนก่อน
จากการตรวจสอบข้อมูล มติครม. เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 ในเว็บไซต์รัฐบาลไทย https://www.thaigov.go.th/ พบว่า มีการสรุปข่าวการประชุม ครม. วันที่ 24 กันยายน 2567 ระบุเรื่องการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2567 ในวาระที่ 2 มีรายละเอียดดังนี้
***************
2. เรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2567
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2567 ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ดังนี้
1. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และร่างประกาศที่เกี่ยวข้อง รวม 2 ฉบับ ได้แก่
1.1 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ...
1.2 ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ...
2. การต่ออายุใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวที่ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางตามมติคณะรัฐมนตรีที่ได้รับอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ในลักษณะ MOU และร่างประกาศที่เกี่ยวข้อง รวม 2 ฉบับ ได้แก่
2.1 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ...
2.2 ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ...
3. การปรับปรุงแก้ไขการกำหนดเงื่อนไขการทำงานกับนายจ้างรายใหม่ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักร ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ภายใต้บันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MOU) ตามร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องการขยายระยะเวลาการเปลี่ยนนายจ้างและระยะเวลาการทำงานกับนายจ้างรายใหม่ สำหรับคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ
4. การยกเว้นหน้าที่การแจ้งข้อมูลการทำงานของคนต่างด้าวตามมาตรา 64/2 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การยกเว้นการแจ้งข้อมูลการทำงานของคนต่างด้าวตามมาตรา 64/2
5. ให้ กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้นายจ้าง/ผู้ประกอบการ แรงงานต่างด้าว และผู้ที่เกี่ยวข้อง รับทราบข้อมูลการดำเนินการดังกล่าว อย่างทั่วถึง
สาระสำคัญของเรื่อง
1. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2567 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอเป็นการกำหนดมาตรการเพื่อบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวให้เพียงพอต่อความต้องการจ้างแรงงานของภาคธุรกิจ ซึ่งมาตรการดังกล่าวประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่
1.1 การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นมาตรการกำหนดให้คนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งกลุ่มคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย กลุ่มคนต่างด้าวที่การอนุญาตให้อยู่และทำงานในราชอาณาจักรสิ้นสุดลง และกลุ่มคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยถูกกฎหมายแต่ทำงานกับนายจ้างโดยไม่ได้รับอนุญาต สามารถดำเนินการขออนุญาตเพื่อให้อยู่และทำงานในราชอาณาจักรได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเมื่อได้รับอนุญาตแล้วจะสามารถอยู่และทำงานในราชอาณาจักรได้เป็นระยะเวลา 1 ปี และ
1.2 การต่ออายุใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวที่ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางตามมติคณะรัฐมนตรีที่ได้รับอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ในลักษณะ MOU ซึ่งเป็นมาตรการกำหนดให้คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่และทำงานในราชอาณาจักรถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมาสามารถดำเนินการขออนุญาตเพื่อให้อยู่และทำงานในราชอาณาจักรได้ต่อไปเป็นระยะเวลา 2 ปี และสามารถต่ออายุได้อีก 2 ปี รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 4 ปี
รวมทั้งได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่คนต่างด้าว ได้แก่ การกำหนดให้ขยายระยะเวลาที่คนต่างด้าวต้องหานายจ้างรายใหม่ภายหลังออกจากงาน จากเดิม 30 วัน เป็น 60 วัน และกำหนดยกเว้นให้คนต่างด้าวไม่ต้องแจ้งข้อมูลแก่นายทะเบียนเกี่ยวกับการจ้างงาน เว้นแต่มีการเพิ่มหรือเปลี่ยนนายจ้าง ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวได้เห็นชอบกับมาตรการดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการเปิดรับแรงงานต่างด้าวเพื่อตอบสนองความต้องการทรัพยากรบุคคลและแรงงานทั้งภาคการผลิต ภาคการบริการ ภาคการพัฒนาเทคโนโลยี ที่แรงงานกลุ่มดังกล่าวยังมีความจำเป็นในการสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
2. กระทรวงแรงงาน ได้เสนอเรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2567 โดยประกอบด้วยมาตรการในการบริหารจัดการคนต่างด้าวในด้านต่าง ๆ รวมทั้งได้ยกร่างประกาศที่เกี่ยวข้องกับมาตรการต่าง ๆ ด้วย ดังนี้
จากข้อมูลรายละเอียดสรุปข่าวการประชุม ครม. วันที่ 24 ก.ย. 2567 ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์รัฐบาลไทย https://www.thaigov.go.th/ เกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2567 ตามที่นำเสนอไปข้างบน จะพบว่ามีการระบุเรื่องประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ไว้ว่า "กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพให้แก่คนต่างด้าวที่นายจ้างเลือกใช้บริการ" มิได้ลงลึกในรายละเอียดขั้นตอนปฏิบัติการกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานบริษัทเอกชนที่จะเข้ามารับทำประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว จำนวน 13 ประการไว้แต่อย่างใด
เมื่อตรวจสอบข้อมูลในหนังสือ กรมการจัดหางาน (กกจ.) ที่แจ้งเวียนถึงบริษัททำธุรกิจประกันภัย ให้เข้าร่วมการดำเนินการประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ภายในวันที่ 19 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา มีการระบุว่า ด้วยครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 24 ก.ย.2567 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยกำหนดให้คนต่างด้าวจะต้องทำประกันสุขภาพกับสถานพยาบาลของรัฐ หรือบริษัทประกันภัยที่มีสถานะมั่นคงตามหลักเกณฑ์ที่กรมการจัดหางานกำหนดและเชื่อมโยงข้อมูลการประกันสุขภาพกับกรมการจัดหางานเท่านั้น
ขณะที่เว็บไซต์รัฐบาลไทย https://www.thaigov.go.th/ ได้เผยแพร่ข่าวคำชี้แจง นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) ต่อกรณีนี้เป็นทางการ ยืนยันว่า การดำเนินการประกันสุขภาพแรงงานต่างชาติ ดังกล่าว กรมการจัดหางาน ดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2567 ที่กำหนดให้คนต่างชาติ สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซื้อประกันสุขภาพกับโรงพยาบาลของรัฐหรือบริษัทประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยที่มีสถานะมั่นคงตามหลักเกณฑ์ที่กรมการจัดหางานกำหนด ดังนั้นกรมการจัดหางานจึงได้ตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรฐานด้านความมั่นคงของบริษัทประกัน ซึ่งบริษัทประกันภัยทุกบริษัทที่ได้มาตรฐานตามกำหนด สามารถขอเข้าเชื่อมโยงระบบกับกรมการจัดหางานได้ ทั้งนี้ได้กำหนดระยะเวลา
ในการยื่น ตั้งแต่วันที่ 11 - 19 พฤศจิกายน 2567 จึงขอยืนยันไม่มีการล็อกสเปกบริษัทประกันภัยที่รับประกันสุขภาพให้กับแรงงานต่างชาติ เนื่องจากไม่ใช่การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง กรมการจัดหางานเป็นเพียงผู้กำหนดหลักเกณฑ์ของบริษัทประกันตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยฯ เท่านั้น นอกจากนี้กรมฯ จะประชาสัมพันธ์รายชื่อบริษัทประกันภัยทุกรายที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ให้บริษัทผู้ยื่นความจำนงทราบเพื่อความโปร่งใส (https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/90406)
จากข้อมูลทั้งหมด จึงคำถามสำคัญต่อประเด็นนี้ คือ
1. เนื้อหาเรื่องประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ที่กระทรวงแรงงาน นำเสนอข้อมูลอะไรต่อ ครม. เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2567 มีรายละเอียดเป็นอย่างไร? ครม.มีความเห็นอย่างไรต่อข้อเสนอนี้?
2. การกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานบริษัทเอกชนที่จะเข้ามารับทำประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว จำนวน 13 ประการ มีการนำเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาด้วยหรือไม่? ครม.รับรู้รับทราบหรือไม่ /ครม.มีความเห็นอย่างไรต่อเรื่องนี้?
3. บริษัทประกันภัยที่มีสถานะมั่นคง ตามมติครม.หรืออะไร?
เพราะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ว่าในขณะที่กรมการจัดหางาน อ้างถึงมติ ครม. วันที่ 24 ก.ย.2567 นี้เป็นกรอบในการดำเนินงาน แต่ผลสรุปการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2567 ที่เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์รัฐบาลไทย https://www.thaigov.go.th/ ถึงไม่มีรายละเอียดเรื่องการทำประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวไว้ ทั้งที่ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ มีผลต่อ แรงงานต่างด้าวกว่า 3 ล้านคน มูลค่าวงเงินการทำประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว สูงถึงกว่า 5 พันล้านบาท
ขณะที่การกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไข คุณสมบัติเรื่องทรัพย์สินรวมที่ต้องมีทรัพย์สินรวม ณ สิ้นปี 2566 จำนวนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท และต้องมีอัตราส่วนความเพียงพอของการดำรงเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (Car Ratio) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 200 ณ สิ้นปี 2566 ส่งผลทำให้เหลือบริษัทประกันภัยที่สามารถเข้าร่วมประกันภัยเพียง 2 บริษัท จากเดิม 17 บริษัท ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจของบริษัทประกันภัยทั้งระบบ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการกีดกัน ล็อกสเปก ทำลายอุตสาหกรรมประกันภัย เอื้อประโยชน์ให้แกเอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่?
ประเด็นว่าด้วยรายละเอียด มติ ครม. 24 ก.ย.2567 เกี่ยวกับการทำประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว จึงนับเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ควรที่จะต้องมีคำตอบที่กระจ่างชัดเจนต่อสาธารณชนโดยเร็วที่สุด และอาจเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ชี้ให้เห็นว่า เหตุผลของกรมการจัดหางาน และ ตัวแทนบริษัทประกันภัยกลุ่มหนึ่ง
ต่อกรณีนี้ฝ่ายใดมีน้ำหนักมากกว่ากัน!