“…ในขณะนั้นข้อมูลของนายทักษิณ คือ มีโรคแทรกซ้อนตรงนั้นจริงและได้ผ่านการดูแลมาเป็นระยะ ๆ แต่ออกซิเจนในเลือดก็ยังผิดปกติตั้งแต่ช่วงแรกเข้า ซึ่งตอนนั้นก็ดูร่างกายอิดโรย กลางคืนแพทย์ได้รับรายงานอีกทีหนึ่งว่านายทักษิณมีอาการผิดปกติดังกล่าว ทีนี้ความเห็นแพทย์ก็บอกว่าในเมื่อศักยภาพของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งเราก็รู้ดี เพราะว่าเราทำงานอยู่ทีนี่ว่ามีข้อจำกัดในการรักษา ก็เลยแนะนำท่านผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เห็นควรให้ท่านอนุญาตส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลภายนอกที่มีศักยภาพ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วโรคที่มีหลาย ๆ โรค แล้วก็มี MOU กับโรงพยาบาลตำรวจ เราก็เห็นว่าไปที่โรงพยาบาลตำรวจน่าจะเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุด...”
สืบเนื่องจาก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้เปิดเผยรายงานการบันทึกชวเลขของคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 กรณีกรมราชทัณฑ์ส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะเป็นนักโทษเด็ดขาด เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ไปแล้วนั้น
อ่านประกอบ : เปิดปากคำ 3 ใน 12 จนท.ราชทัณฑ์-รพ.ตำรวจ ให้การ ‘กมธ.ตำรวจ’ ปม ‘ชั้น14’ (1)
สำนักข่าวอิศราขอนำเสนอ รายงานการบันทึกชวเลขการการให้ข้อมูลของ 3 ใน 12 ราย ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งองค์คณะไต่สวน โดยได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 เป็นตอนสุดท้าย
โดยเป็นการเชิญ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มาให้ข้อมูล ประกอบด้วย นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ตัวแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ พลตำรวจตรี สามารถ ม่วงศิริ นายแพทย์ สบ.7 โรงพยาบาลตำรวจ โดยก่อนหน้านี้ได้เชิญนายนัสที ทองประหลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษ กรุงเทพมหานครมาชี้แจง
นายนัสที ทองประหลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษ กรุงเทพมหานคร
รวมถึงเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการประชุมครั้งที่ 8 ยังไม่สามารถชี้แจงประเด็น เหตุใดจึงต้องส่งตัวนายทักษิณรไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ และหลักเกณฑ์การวินิจฉัยส่งตัวไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ
@ ยืนยัน ‘ป่วยจริง’- เปิดเหตุผลส่งตัว ‘ทักษิณ’ ไป ‘รพ.ตำรวจ’
นายแพทย์พงค์ภัค อารียาภินันท์ แพทย์ชำนาญการพิเศษรักษาราชการผู้อำนวยการทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ : นายทักษิณมีโรคประจำตัวซึ่งได้อนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลที่นำมาจากโรงพยาบาลต่างประเทศ หลัก ๆ มีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งรักษาติดตามตลอด โรคไวรัสตับอักเสบบี ยืนยันว่ามีไวรัสตับอักเสบบีจริง แต่ทานยารักษาและติดตามอย่างใกล้ชิด กรณีนี้เท่าที่ดูไม่ได้มีโรคแทรกซ้อน กรณีของไวรัสตับอักเสบบี รวมถึงโรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อตรงบริเวณที่คอหรือที่สันหลังและโรคเส้นเอ็นบางจุดที่อาจจะมีปัญหาเรื่องการเสื่อมหรือการฉีกขาด เพราะฉะนั้นเป็นความข้อเท็จจริงของการ ‘เจ็บป่วยจริง’ ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทางกรมราชทัณฑ์เปิดเผย
ส่วนเหตุผลอะไรถึงส่งตัวนายทักษิณไปรักษาโรงพยาบาลตำรวจนั้น ผลก็คือว่าในเรื่องของอาการเจ็บหน้าอก อาการสัญญาณชีพอยู่ในเกณฑ์วิกฤต ออกซิเจนต่ำและมีอาการแน่นหน้าอก เหนื่อย ซึ่งทางแพทย์ที่ให้ความเห็นเรียนกับท่านผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งออกเป็นแพทย์ท่านที่ได้เข้าไปตรวจเมื่อตอนช่วงกลางวัน ได้ซักประวัติ ได้เรียบเรียงประวัติและได้อ่านข้อมูลอย่างละเอียด ซึ่งท่านก็ทราบว่ามีโรคตรงนี้อยู่ ซึ่งน่าจะเป็นโรคที่เป็นที่ต้องระวังที่สุด อย่างที่วันนั้นได้มีการแถลงกับสื่อมวลชนวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ขออภัยลืมโรคหนึ่งเกี่ยวกับโรคปอดที่ภาวะโควิด
ซึ่งในขณะนั้นข้อมูลของนายทักษิณ คือ มีโรคแทรกซ้อนตรงนั้นจริงและได้ผ่านการดูแลมาเป็นระยะ ๆ แต่ออกซิเจนในเลือดก็ยังผิดปกติตั้งแต่ช่วงแรกเข้า ซึ่งตอนนั้นก็ดูร่างกายอิดโรย กลางคืนแพทย์ได้รับรายงานอีกทีหนึ่งว่านายทักษิณมีอาการผิดปกติดังกล่าว ทีนี้ความเห็นแพทย์ก็บอกว่าในเมื่อศักยภาพของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งเราก็รู้ดี เพราะว่าเราทำงานอยู่ทีนี่ว่ามีข้อจำกัดในการรักษา ก็เลยแนะนำท่านผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เห็นควรให้ท่านอนุญาตส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลภายนอกที่มีศักยภาพ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วโรคที่มีหลาย ๆ โรค แล้วก็มี MOU กับโรงพยาบาลตำรวจ เราก็เห็นว่าไปที่โรงพยาบาลตำรวจน่าจะเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุด
@ บี้ เปิดชื่อนายแพทย์วินิจฉัย ‘ทักษิณ’
นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ในขณะนั้น
นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ตัวแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ : เรื่อง รท. 101 ซึ่งเป็นทะเบียนประวัติผู้ต้องขัง ยืนยันว่าผู้ต้องขังทุกคนจะต้องทำทะเบียนประวัติ รวมถึงของนายทักษิณ แต่เอกสารจะขออนุญาตให้คณะกรรมาธิการทำหนังสือขอผ่านไปทางกรมราชทัณฑ์เนื่องจากเป็น พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร
นายวัชระ เพชรทอง ผู้ร้อง : ขอทราบชื่อแพทย์ที่ตรวจและเซ็นใบดังกล่าว (คำวินิจฉัยส่งตัวนายทักษิณไปโรงพยาบาลภายนอก) นั้น ชื่อแพทย์ชื่ออะไร นามสกุลอะไร
นายพงศ์ภัค อารียาภินันท์ : ชื่อแพทย์หญิงรวมทิพย์ สุภานันท์ แพทย์อายุรกรรมทั่วไป นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ
พลตำรวจตรี สามารถ ม่วงศิริ นายแพทย์ สบ.7 โรงพยาบาลตำรวจ : การที่โรงพยาบาลตำรวจรับมาเนื่องจากราชทัณฑ์ส่งมา ถ้าราชทัณฑ์ไม่ส่งมาโรงพยาบาลตำรวจก็รับไม่ได้ เพราะมีข้อตกล เรื่องที่ 1 โรงพยาบาลตำรวจไม่ได้ไปเรียกคนไข้มา เนื่องจากราชทัณฑ์ส่งคนไข้มาเราจึงรับ สอบถามว่าห้องตัวนั้นก็พอดีวอร์ดนั้นเหมือนวอร์ดปิด เพราะตั้งแต่ตอนช่วงระบาดโควิดมามีหลายสิ่งหลายอย่างในการปรับปรุง ทั้งเรื่องกำลังพล สถานที่ วัสดุอุปกรณ์ พอดีตำแหน่งชั้น 14 ปิดอยู่ เนื่องจากเป็นวอร์ดโควิดเก่า แอร์ก็เสีย ก็เลยเอาไปอยู่ตรงนั้น เพราะเนื่องจากเครื่องมือเครื่องใช้ตอนช่วงหลังโควิดไม่ระบาดนี่ High Flow ก็ยังอยู่ Monitor ต่าง ๆ ก็ยังอยู่ กล้องวงจรปิดเสียหลายปีแล้ว ไม่ได้เสียแค่ปีเดียว และไม่ได้เสียแค่ชั้นเดียว เสียทั้งตึก เนื่องจากตอนนั้นมีรถชนที่จอดรถก็ไม่มีกล้อง เพราะระบบงบประมาณของรัฐบาล ขาดทั้งคน งบประมาณ และวัสดุอุปกรณ์
พลตำรวจตรี สามารถ ม่วงศิริ นายแพทย์ สบ.7 โรงพยาบาลตำรวจ
นายสิทธิ สุธีวงศ์ : ในเรื่องของการพักรักษาตัวเกินกว่า 120 วัน ตามระเบียบก็กำหนดไว้ว่าถ้าเกินกว่า 120 วันให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ แล้วรายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ครบ 120 วัน เมื่อวานนี้ (20 ธ.ค.66) วันนี้เป็นวันที่ 121 ซึ่งขณะนี้ทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครกับทางโรงพยาบาลตำรวจประสานกันอยู่ส่งเอกสาร เข้าใจว่าเอกสารจากทางโรงพยาบาลตำรวจจะถึงเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครในวันนี้ (21 ธ.ค.66) และทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครก็จะทำความเห็นเสนอมายังกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเมื่อเรื่องถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ก็จะเสนอความเห็นว่าจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ แล้วรายงานให้รัฐมนตรียุติธรรมทราบ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ
@ ออก ‘ระเบียบขังนอกคุก’ รับนโยบาย ‘บริหารโทษ’
นายเอกอิศร์ ทองเนื้อดี นักทัณฑวิทยา ชำนาญการพิเศษ กองทัณฑวิทยา : ข้อแรก ทำไมระเบียบ (ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ประกาศ ณ วันที่ 6 ธันวาคม 2566 ลงนามโดยนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในขณะนั้น ซึ่งออกตามกฎกระทรวง กำหนดสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2563 ประกาศ ณ วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2563 ลงนามโดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ในขณะนั้น) ออกมาปีนี้ ทั้ง ๆ ที่กฎกระทรวงปี 2563
ขอเรียนว่าจริง ๆ ระเบียบเริ่มทำกันมาตั้งแต่ปี 2563 แล้ว โดยกองกฎหมายตอนนั้นเป็นเจ้าของ แต่เผอิญว่าช่วงนั้นเรามีปัญหาคนล้นคุกที่หนักมาก แล้วก็ต้องแก้เร่งด่วนมาก ตอนนั้นมีอยู่ 380,000 คน ตอนนั้นทางกระทรวงก็เลยตัดสินใจใช้วิธีพักโทษระยะสั้น แล้วก็ระบายผู้ต้องขังออกไป ช่วงนั้นก็ระบายไปได้ประมาณแสนกว่าคนจนเหลือ 200,000 กว่าคน และหลังจากนั้นก็มีสถานการณ์โควิด เราก็ยุ่งอยู่กับโควิดจนมาถึงปี 2566 ที่โควิดมันเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว ทีนี้หลังจากนั้นเราก็ไม่ได้พูดถึงมันอีก เพราะเราเห็นว่าผู้ต้องขังยังพอควบคุมได้อยู่เพราะว่าตอนนั้นตัวผู้ต้องหาเข้าสัดส่วนอย่างน้อยอยู่ เพราะว่ามันเพิ่งพ้นโควิดมา
แล้วก็เผอิญว่าพอมาเดือนตุลาคมเปลี่ยนผู้บริหารก็มีนโยบายให้ออกระเบียบฉบับนี้ นโยบายของนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ คือเราต้องการจะยกระดับดัชนีนิติธรรม ต้องการเครื่องมือสำหรับการบริหารโทษใหม่ ๆ มาใช้ ประเด็นก็คือถึงได้ออกปี 2566 ทีนี้หลักเกณฑ์กระบวนการ หลักเกณฑ์ขอเรียนตามตรงว่าตอนนี้ยังไม่ได้ออก ซึ่งทางของผู้ปฏิบัติก็ยังเตรียมนัดประชุมเพื่อจะคุยกันเรื่องหลักเกณฑ์อยู่ เราก็งงเหมือนกันว่าทำไมทั้งข่าว ทั้งสื่อ ทั้งความสนใจของสังคม ถึงได้มองว่าเราจะรีบออก
ทั้งหมด คือ บันทึกปากคำ 3 ใน 12 ราย ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งองค์คณะไต่สวนเต็มคณะ ส่วนใครจะให้การเป็นประโยชน์หรือไม่ โปรดติดตามด้วยใจระทึก
อ่านประกอบ :