“…การดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนที่สูงมาก เพื่อไม่ให้เกิดภาระทางการคลังสะสมเพิ่มขึ้นในอนาคต รัฐบาลอาจเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามระบบงบประมาณปกติ…”
........................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2566 ประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในขณะนั้น ได้ลงนามคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ 305/2566 เรื่อง แต่งตั้ง ‘คณะทำงานศึกษาความเสี่ยงและผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet’
โดยคณะทำงานฯ มีอำนาจหน้าที่ศึกษาข้อมูล ข้อกฎหมาย วิเคราะห์ความเสี่ยงและผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet พร้อมทั้งจัดทำรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์ความเสี่ยงและผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet และเสนอต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
ต่อมามีการเสนอ ‘รายงานผลการศึกษาความเสี่ยงและผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet กรณีการดำเนินการตามนโยบายที่อาจส่งผลกระทบต่อวินัยการเงินการคลังของรัฐ’ ซึ่งจัดทำโดยคณะทำงานศึกษาความเสี่ยงฯ ให้ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) รับทราบแล้ว
อย่างไรก็ตาม คตง.เห็นควรให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมาศึกษาข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้งว่า สตง.มีอำนาจในการจัดทำรายงานผลการศึกษาฯฉบับดังกล่าวหรือไม่ นั้น (อ่านประกอบ : ระมัดระวังไม่ให้ระบบศก.เสียหาย! สตง.ชี้ความเสียงแจกเงินดิจิทัล แผนใช้หนี้ต้องชัดเจน)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปสาระสำคัญของรายงานผลการศึกษาความเสี่ยงและผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet กรณีการดำเนินการตามนโยบายที่อาจส่งผลกระทบต่อวินัยการเงินการคลังของรัฐ ให้สาธารชนรับทราบ มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@รายได้รัฐบาลลดลงต่อเนื่อง-รายจ่าย‘ยากลดทอน’สูง
ภาวะเศรษฐกิจของประเทศและสถานะทางการคลังของรัฐ
สถานการณ์คลังของรัฐ
พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 13 ได้กำหนดให้มีการจัดทำแผนการคลังระยะปานกลาง ซึ่งแผนการคลังระยะปานกลางให้มีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี และอย่างน้อยต้องประกอบด้วย (1) เป้าหมายและนโยบายการคลัง (2) สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ
(3) สถานะและประมาณการการคลัง ซึ่งรวมถึงประมาณการรายได้ ประมาณการรายจ่าย ดุลการคลัง และการจัดการกับดุลการคลังนั้น (4) สถานะหนี้สาธารณะของรัฐบาล (5) ภาระผูกพันทางการเงินการคลังของรัฐบาล โดยการอธิบายเนื้อหาในส่วนนี้จะจำแนกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านรายได้ ด้านรายจ่าย และด้านภาระหนี้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1) ด้านรายได้
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 มีจำนวน 2,531,656 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.57 จากปี พ.ศ.2564 และสูงกว่าประมาณการ (2,400,000 ล้านบาท) ร้อยละ 5.49 โดยผลการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19 (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562) ในขณะที่สัดส่วนรายได้รัฐบาลสุทธิต่อ GDP (ปีปฏิทิน) ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ยังลดลงต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ร้อยละ 14.58
2) ด้านรายจ่าย
วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2565 มีจำนวน 3,100,000 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 5.66 โดยกำหนดวงเงินรายจ่ายลงทุนตามเอกสารงบประมาณ 611,933 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.76 จากปีงบประมาณก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.74 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และต่ำกว่าวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล
ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากวงเงินการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลที่อยู่ในระดับสูง ตามประมาณการรายได้ที่ลดลงจากผลกระทบทางเศรษฐกิจของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง ประกอบกับการปรับตัวลดลงของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ทำให้รัฐบาลมีพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal space) ในการจัดสรรรายจ่ายลงทุนลดลง
นอกจากนี้ รายจ่ายส่วนหนึ่งเป็นภาระผูกพันที่รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณให้ตามนโยบายของรัฐบาลและเป็นรายจ่ายที่ยากต่อการลดทอน โดยอาจเป็นภาระผูกพันตามกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรีหรือสัญญาต่างๆ รวมไปถึงอาจเกิดจากแรงกดดันทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่รัฐบาลจำเป็นต้องเข้าไปจัดการดูแล
ทั้งนี้ รายงานความเสี่ยงทางการคลัง ได้รวบรวมรายจ่ายที่ยากต่อการลดทอนที่มีนัยสำคัญเชิงนโยบาย ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 มีสัดส่วนรายจ่ายที่ยากต่อการลดทอนต่องบประมาณรายจ่ายประจำปี รวมอยู่ที่ร้อยละ 66.72 ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 62.78 ในปีงบประมาณ พ.ศ.2564
โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการปรับตัวลดลงของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ในขณะที่รัฐบาลมีรายจ่ายเพื่อชำระหนี้และภาระผูกพันฯเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในอดีต รวมไปถึงรายจ่ายสวัสดิการบุคลากรภาครัฐที่เพิ่มขึ้นตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
3) ด้านภาระหนี้
จากผลการจัดเก็บรายได้และการเบิกจ่ายงบประมาณ ส่งผลให้ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ อยู่ที่ 614,585 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.54 ต่อ GDP
หากรวมรายจ่ายรัฐบาลที่มีแหล่งเงินจากเงินกู้ตามกฎหมายเฉพาะแล้ว (พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. กู้เงินฯ พ.ศ. 2563) และพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ.2564)
รัฐบาลจะขาดดุลการคลังรวมอยู่ที่ 1,008,717 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.81 ต่อ GDP ลดลงจาก 2 ปีงบประมาณที่ผ่านมา แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงสถานการณ์ปกติ
ทั้งนี้ เพื่อรองรับการขาดดุลการคลังดังกล่าว ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 รัฐบาลมีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 681,184 ล้านบาท ต่ำกว่ากรอบวงเงินกู้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากผลการจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการ และมีการกู้เงินตามกฎหมายเฉพาะ อีกจำนวน381,151 ล้านบาท ในขณะที่มีการชำระคืนเงินต้น (เฉพาะหนี้รัฐบาล) อยู่ที่ 66,482 ล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลมีการกู้เงิน (สุทธิ) อยู่ที่ 995,853 ล้านบาท
ระดับหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ.2565 มีจำนวน 10,373,937.59 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60.41 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้ประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง กำหนดกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564 ที่กำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ต้องไม่เกินร้อยละ 70
แต่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากร้อยละ 49.47 และ 58.38 ต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ.2563 และ 2564 ตามลำดับ จากการเพิ่มขึ้นของเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ เงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินฯ พ.ศ.2563 และ พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ.2564 เป็นสำคัญ
@คณะทำงานฯชี้ 3 ความเสี่ยงการคลัง-หนี้ม.28 ชนเพดาน
ความเสี่ยงทางการคลังตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ
จากกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ สามารถสรุปความเสี่ยงทางการคลังจากการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐและภาระผูกพันของรัฐบาลได้ ดังนี้
-ภาระผูกพันจากการดำเนินโครงการนโยบายของรัฐบาลตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ณ สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ภาระผูกพันดังกล่าวมีจำนวนรวมอยู่ที่ 1,039,920 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 33.35 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2565 แบ่งเป็นภาระผูกพันที่นับรวมอยู่ในหนี้สาธารณะแล้ว จำนวน 206,049 ล้านบาท ลูกหนี้รอการชดเชยจากรัฐบาล จำนวน 601,512 ล้านบาท และประมาณการภาระผูกพันที่ยังไม่มีการรับรู้ จำนวน 232,359 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รัฐบาลมีการอนุมัติโครงการใหม่ตามมาตรา 28 จำนวนทั้งสิ้น 210,039 ล้านบาท แบ่งเป็น มาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้มีรายได้น้อย จำนวน 186,217 16,764 และ 7,059 ล้านบาท ตามลำดับ (คิดเป็นร้อยละ 88.66 7.98 และ 3.36 ของยอดอนุมัติทั้งหมดในงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 ตามลำดับ)
ข้อสังเกตคณะทำงานฯ
คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ กำหนดอัตรายอดคงค้างรวมทั้งหมดของภาระที่รัฐต้องรับชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินกิจกรรม มาตรการหรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 ต้องมียอดคงค้างทั้งหมดรวมกันไม่เกินร้อยละ 32 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ทั้งนี้ จากข้อมูล ณ วันที่ 3 มี.ค.2566 ภาระที่รัฐต้องชดเชยตามมาตรา 28 มีจำนวน 1,017,442.49 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 31.94 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 (วงเงินงบประมาณรวม 3,185,000 ล้านบาท)
ในขณะที่คณะกรรมการกำหนดอัตรายอดคงค้างรวมทั้งหมดของภาระที่รัฐต้องรับชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินกิจกรรม มาตรการหรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 ต้องมียอดคงค้างทั้งหมดรวมกันไม่เกินร้อยละ 32 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ดังนั้น หากรัฐบาลไม่ได้มีการขยายกรอบอัตราคงค้างตามมาตรา 28 หรือไม่ได้โอนเป็นภาระผูกพันที่นับรวมในหนี้สาธารณะแล้ว รัฐจะเหลือวงเงินตามมาตรา 28 อีกประมาณ 1,911.29 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.06 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566
การดำเนินโครงการตามมาตรา 28 อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางการคลังในอนาคตและสร้างภาระให้กับหน่วยงานของรัฐเนื่องจากหน่วยงานจากรัฐต้องสำรองจ่ายเงินตนเองไปก่อน รัฐบาลจึงควรดำเนินโครงการตามมาตรา 28 เท่าที่จำเป็น
และจัดลำดับความสำคัญโครงการ โดยโครงการใดที่ดำเนินการเป็นประจำทุกปีและวางแผนล่วงหน้าได้ ก็ควรพิจารณาบรรจุไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี นอกจากนี้ ควรมีการพิจารณาปรับลดกรอบอัตราดังกล่าวให้กลับสู่ระดับร้อยละ 30 ในโอกาสแรกที่กระทำได้ด้วย
-งบประมาณเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้และงบประมาณเพื่อการชำระดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายในการกู้เงินของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ
1) คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ กำหนดสัดส่วนงบประมาณเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ ซึ่งรัฐบาลรับภาระต้องตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.5 แต่ไม่เกินร้อยละ 4 ของงบประมาณประจำปี
ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 และ พ.ศ.2566 มียอดชำระคืนต้นเงินกู้ของรัฐบาล จำนวน 100,000 ล้านบาท ทั้ง 2 ปีงบประมาณ หรือคิดเป็นร้อยละ 3.23 และร้อยละ 3.14 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้น ตามลำดับ
2) คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ กำหนดสัดส่วนงบประมาณเพื่อการชำระดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายในการกู้เงินของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ ซึ่งรัฐบาลรับภาระต้องตั้งตามภาระที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีงบประมาณนั้น ซึ่งงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 มียอดเพื่อการชำระดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายในการกู้เงิน จำนวน 199,540 ล้านบาท
3) คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ กำหนดสัดส่วนการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายข้ามปีงบประมาณ ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของงบประมาณประจำปี โดยข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2565 ภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ คิดเป็นร้อยละ 8.29 ของประมาณรายได้
ข้อสังเกตคณะทำงานฯ
จากเป้าหมายในแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) ด้านการบริหารหนี้สาธารณะ ระบุถึง ความสามารถในการชำระหนี้เป็นตัวชี้วัดที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศให้ความสำคัญ โดยประเมินจากภาระดอกเบี้ยในแต่ละปีงบประมาณต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ
หากสัดส่วนดังกล่าวสูงเกินกว่าร้อยละ 10 (เทียบเท่า Upper Medium Investment Grade)) อาจส่งผลกระทบต่อการจัดสรรบประมาณในภาพรวม หรืออาจทำให้ต้องลดงบประมาณรายจ่ายประจำในส่วนอื่นหรือปรับลดงบลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อพัฒนาประเทศในระยะยาวได้ โดย ณ สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 8.29 และ 8.30 ตามลำดับ
-รายจ่ายลงทุน และเงินกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ
กรอบวินัยการเงินการคลังตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 20 บัญญัติว่า การตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ โดยงบประมาณรายจ่ายลงทุนต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และต้องไม่น้อยกว่ายอดขาดดุลงบประมาณปีนั้น
ทั้งนี้ สัดส่วนรายจ่ายลงทุนต่องบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 ยังคงสูงกว่าช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 - 2558 (ซึ่งเป็นช่วงก่อน พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ มีผลบังคับใช้)
สะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์และผลสัมฤทธิ์ของการบังคับใช้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่ต้องการให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายลงทุน ซึ่งเป็นรายจ่ายที่ส่งผลระยะยาวต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และพยายามลดทอนรายจ่ายประจำเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะในกรณีที่วงเงินงบประมาณรายจ่ายขยายตัวได้ในระดับต่ำหรือมีการหดตัว
ข้อสังเกตคณะทำงานฯ
ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 (วงเงินงบประมาณรวม 3,285,962 ล้านบาท) และ พ.ศ. 2565 (วงเงินงบประมาณรวม 3,100,000 ล้านบาท) กำหนดวงเงินรายจ่ายลงทุนอยู่ที่ 649,310 ล้านบาท และ 611,933 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.76 และ 19.74 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่ากรอบวินัยการเงินการคลังตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 กำหนด
อีกทั้งในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงินรายจ่ายลงทุนยังต่ำกว่าวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล (700,000 ล้านบาท) ซึ่งถือว่าไม่เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 20 (1)
@ดิจิทัลวอลเลตใช้เงินสูง-แนะตั้งงบประมาณปกติแจก 1 หมื่น
จากข้อมูลความเสี่ยงทางการคลัง ข้อมูลวงเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ ที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการของรัฐบาล และการแถลงนโยบายของรัฐบาลดังกล่าวข้างต้น มีข้อสังเกตและความเห็น โดยสรุปดังนี้
1) รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายโดยให้ความสำคัญกับบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 62 และมาตรา 164 (2) ที่กำหนดให้รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืนตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ
และในการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด
แม้ว่ารัฐบาลสามารถดำเนินการขยายกรอบสัดส่วนวงเงินตามกรอบวินัยการเงินการคลัง โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ผ่านการเสนอเรื่องเข้าคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายการคลังและบริหารการเงินการคลังให้สอดคล้องกับแผนการคลังระยะปานกลางด้วย
2) ในระยะปานกลาง รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่อ GDP ที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องด้วย อย่างไรก็ดี อาจมีแรงกดดันจากรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้และภาระผูกพันของภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้นจากการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวในระดับสูงในช่วงวิกฤต COVID-19 ที่ผ่านมา รวมถึงรายจ่ายสวัสดิการของทั้งบุคลากรภาครัฐและประชาชนที่จะเพิ่มขึ้นตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ประกอบกับรัฐบาลควรเร่งรัดการดำเนินการเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บรายได้เพื่อเพิ่มสัดส่วนภาระดอกเบี้ยระยะปานกลางเมื่อเทียบกับศักยภาพในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ในระดับสากลด้วย
3) การดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนที่สูงมาก เพื่อไม่ให้เกิดภาระทางการคลังสะสมเพิ่มขึ้นในอนาคต รัฐบาลอาจเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามระบบงบประมาณปกติ และการดำเนินนโยบายโดยใช้มาตรการกึ่งการคลังตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ควรพิจารณาดำเนินการเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และไม่สามารถใช้จ่ายเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้เท่านั้น
หรือหากจะดำเนินการตรากฎหมายเฉพาะ เพื่อกู้เงินตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะใช้เงินจากแหล่งใด รัฐบาลต้องใช้จ่ายเงินแผ่นดินให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับ ต้นทุน ความคุ้มค่า ภาระการเงินการคลัง ที่จะเกิดขึ้นแก่รัฐในระยะยาว เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ
โดยต้องดำเนินนโยบายด้วยความระมัดระวังมิให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชน และต้องกำหนดให้มีขั้นตอนในการอนุมัติเบิกจ่ายเงินและการกำกับติดตามที่น่าเชื่อถือและรัดกุมรอบคอบ มีการบริหารจัดการกำกับการใช้จ่ายเงินที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และต้องกำหนดมาตรการในการป้องกันการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างเพียงพอและเหมาะสม
รวมถึงการกำหนดรายละเอียดของแผนงานหรือโครงการที่จะใช้จ่ายเงินอันเกี่ยวกับการวางแผนการเงินในส่วนของการจัดหารายได้เพื่อชดใช้หนี้ให้ชัดเจน ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง โดยให้ถือปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
เหล่านี้เป็นสรุป ‘รายงานผลการศึกษาความเสี่ยงและผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet กรณีการดำเนินการตามนโยบายที่อาจส่งผลกระทบต่อวินัยการเงินการคลังของรัฐ’ ฉบับ ‘สตง.’ และคงต้องติดตามกันว่ารัฐบาล ‘เศรษฐา ทวีสิน’ จะเดินหน้านโยบายแจก‘เงินดิจิทัลวอลเลต’ ต่อไปอย่างไร?
อ่านประกอบ :
‘เศรษฐา’ แย้ม 1-2 สัปดาห์นี้ นัดประชุมบอร์ดเงินหมื่นดิจิทัลวอลเลต
ครม.รับทราบ 8 ข้อเสนอแนะ‘ป.ป.ช.’ป้องกันทุจริต'ดิจิทัลวอลเลต'-มอบ'คกก.นโยบายฯ'หาข้อยุติ
ระมัดระวังไม่ให้ระบบศก.เสียหาย! สตง.ชี้ความเสียงแจกเงินดิจิทัล แผนใช้หนี้ต้องชัดเจน
บอร์ดเงินหมื่นตั้ง 2 คณะทำงาน ผ่าข้อเสนอ ‘กฤษฎีกา-ป.ป.ช.’
‘เศรษฐา’ รับหนังสือ ป.ป.ช.เตือน ‘ดิจิทัลวอลเลต’ ถึงมือแล้ว
ป.ป.ช.แนะ 8 ข้อนโยบายดิจิทัลวอลเลต-ปัดชี้นำให้ทำตาม รบ.ที่แล้ว ปมเสนอให้แจกเงินเป็นงวด
ฉบับสมบูรณ์! เปิดข้อเสนอแนะป้องทุจริต‘ดิจิทัลวอลเลต’ เสียงเตือนจาก‘ป.ป.ช.’ถึง‘รบ.เศรษฐา’
แก้เนื้อหา 3 ประเด็น! ป.ป.ช.เคาะข้อเสนอแนะฯ‘ดิจิทัลวอลเลต’ร่างสุดท้าย-ส่ง‘ครม.’รับทราบ
เปิดความเห็น 4 หน่วยงาน(จบ) ธปท.ย้ำ‘ดิจิทัลวอลเลต’ต้องไม่สร้าง‘เงินใหม่’-เตือนเสี่ยงทุจริต
เปิดความเห็น 4 หน่วยงาน(2) สศช.ห่วง‘ดิจิทัลวอลเลต’ดันหนี้สูง ฉุดเครดิตปท.-ชี้ศก.ไม่วิกฤติ
เปิดความเห็น 4 หน่วยงาน(1) ‘คลัง’เตือน‘ดิจิทัลวอลเลต’กระตุ้นศก.ระยะสั้น-หนี้ปท.พุ่ง 66.65%
เปิด 9 ข้อเสนอแนะฯป้องกันทุจริต‘ดิจิทัลวอลเลต’ ชง‘บอร์ด ป.ป.ช.’เคาะอีกครั้งใน 2 สัปดาห์
‘จุลพันธ์’ รับ ‘ดิจิทัลวอลเลต’ ส่อหลุด พ.ค. 67 ยืนยันเศรษฐกิจตอนนี้วิกฤติ
‘เลขากฤษฎีกา’ แนะรัฐบาลควรรับฟังความเห็น ป.ป.ช. ก่อนทำดิจิทัลวอลเลต
‘ภูมิธรรม’ เลื่อนถกบอร์ดดิจิทัลวอลเลต เหตุรอความเห็น ป.ป.ช. 1-2 สัปดาห์นี้
'เศรษฐา'ขอถก'บอร์ดนโยบายฯ'ก่อนกู้แจก'หมื่นดิจิทัล'-เผย'กฤษฎีกา'ไม่บอก'ทำได้หรือไม่ได้'
เปิดคำสั่ง‘ผู้ว่าฯสตง.’ ตั้ง‘คณะทำงานฯ’ศึกษา‘ความเสี่ยง-ผลกระทบ’แจก‘เงินหมื่นดิจิทัล’
‘รมช.คลัง’เผย‘กฤษฎีกา’ชี้รัฐบาลออก‘พ.ร.บ.กู้เงินฯ’ 5 แสนล.ได้-ยันแจก‘หมื่นดิจิทัล’พ.ค.67
อธิบายแค่ข้อกม.! ‘กฤษฎีกา’ตอบ‘คลัง’ ไม่ฟันธงออกพ.ร.บ.กู้ 5 แสนล.แจก 1 หมื่น ทำได้หรือไม่
ย้อนดู‘กม.กู้เงิน’ 9 ฉบับ ก่อน'รบ.เศรษฐา'จ่อชง'พ.ร.บ.กู้ฯ’5 แสนล.แจก‘เงินหมื่นดิจิทัล’
เป็นกลาง-รอบด้าน-ไม่ก้าวล่วงฝ่ายบริหาร! ป.ป.ช.เผยชื่อบอร์ดศึกษาฯ 'ดิจิทัลวอลเลต'
เบื้องหลัง! ‘ป.ป.ช.’ตั้งบอร์ดศึกษาฯ‘ดิจิทัลวอลเลต’-ขีดเส้น 60 วันชงข้อเสนอสกัดทุจริต
‘สุภา’นั่งประธาน! ‘ป.ป.ช.’มีมติตั้งบอร์ดศึกษาฯ‘ดิจิทัลวอลเลต’ ชงข้อเสนอป้องกันทุจริต
นโยบายแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาทในมุมมองการเมือง
ย้อนดู‘หนี้ประเทศ-ภาระผูกพัน’ ก่อน‘รบ.เศรษฐา’เร่งหาแหล่งเงิน 5.6 แสนล.โปะ‘ดิจิทัลวอลเลต’