"...จากคำอธิบายของพานิซซา วิเคราะห์ได้ว่าการที่นายกรัฐมนตรีพูดว่าคนจนอยู่ไหน ออกมาส่งเสียงตอบโต้นักวิชาการหน่อยสิ!! เป็นการแสดงออกตรงตามยุทธศาสตร์ประชานิยมเป๊ะ ๆ คือ (1) นายกรัฐมนตรีตัดสินใจเลือกข้างเพื่อช่วยคนจน (2) นายกรัฐมนตรีกำลังช่วยคนจน เห็นกันบ้างไหม?? (3) คนจนอยู่ไหนออกมาสนับสนุนนายกรัฐมนตรีกันหน่อย!!..."
เรื่องที่สังคมไทยสนใจกันมากในเวลานี้ ได้แก่ นโยบายแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาทแก่คนไทยที่มีอายุตั้งแต่สิบหกปีขึ้นไปทุกคน การวิเคราะห์ส่วนใหญ่เท่าที่ผู้เขียนอ่านหรือฟังเป็นมุมมองเศรษฐศาสตร์และกฎหมาย ยังไม่มีมุมมองการเมือง ผู้เขียนเห็นช่องที่จะเติมเต็มความคิดทางการเมืองลงในส่วนนี้
นายกรัฐมนตรีออกมาพูดทำนองว่า “นโยบายแจกเงินนี้มีประโยชน์ต่อคนจน คนจนที่ได้รับประโยชน์อยู่ที่ไหนกันบ้าง ให้ออกมาส่งเสียงตอบโต้นักวิชาการกันหน่อย” นอกจากเห็นภาพนักร้องทำท่ายื่นไมโครโฟนให้คนฟังแล้ว! ยังทำให้นึกถึงยุทธศาสตร์ประชานิยม (Populist Strategies) !!
พานิซซา (Panizza, 2005, pp. 1-9) ที่ศึกษานโยบายประชานิยม (Populist Policy) มาอย่างยาวนาน ระบุว่ายุทธศาสตร์ประชานิยมมีสามขั้น คือ (1) เลือกข้างคนจนและคนเสียเปรียบ (siding) (2) ออกชื่อว่าตนช่วยคนจนอย่างไร (naming) และ (3) เล่นการเมือง (politicizing) โดยการระดมมวลชนและใช้นโยบายสาธารณะครอบงำ
จากคำอธิบายของพานิซซา วิเคราะห์ได้ว่าการที่นายกรัฐมนตรีพูดว่าคนจนอยู่ไหน ออกมาส่งเสียงตอบโต้นักวิชาการหน่อยสิ!! เป็นการแสดงออกตรงตามยุทธศาสตร์ประชานิยมเป๊ะ ๆ คือ (1) นายกรัฐมนตรีตัดสินใจเลือกข้างเพื่อช่วยคนจน (2) นายกรัฐมนตรีกำลังช่วยคนจน เห็นกันบ้างไหม?? (3) คนจนอยู่ไหนออกมาสนับสนุนนายกรัฐมนตรีกันหน่อย!!!
นโยบายประชานิยมไม่ใช่ไม่ดี ส่วนดีสำคัญของนโยบายประชานิยมทางการเมือง คือ การระดมกำลังมวลชนเข้าสู่ระบบการเมือง ทำให้เกิดการเมืองภาคประชาชนที่เข้ามากดดันรัฐบาลและทำให้สังคมเข้มแข็ง จนอาจพัฒนาไปสู่ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนหรือประชาสังคม (civil movement or civil society)
ลาคราว (Laclau, 2005, pp.32-38) นักทฤษฎีการเมืองหลังมาร์กซิสต์ที่มีชื่อเสียงอธิบายว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้นโยบายประชานิยมประสบความสำเร็จ คือ สังคมมีความแตกต่างกันมาก ประชาชนรู้สึกว่าตนไม่มีความหมาย ไม่มีความสำคัญ หรือรัฐบาลไม่เห็นหัวคน เมื่อรู้สึกอย่างนี้กันมากเข้าก็รวมกลุ่มกันกลายเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน
ลาคราวเรียกทางทฤษฎีว่า “logic of difference and logic of equivalence” หรือ “ตรรกะของความแตกต่างและตรรกะของความเท่าเทียมกัน” หมายความว่าความแตกต่างเป็นที่มาของการเรียกร้องให้เกิดความเท่าเทียมกัน
ประชานิยมมีความสำคัญในทางทฤษฎีการเมืองตรงที่ประชาชนเกิดรู้สึกมีตัวตนและร่วมกันออกมาเคลื่อนไหวซึ่งเรียกว่า “popular subject” หรือการเป็นองค์ประธานของประชาชน หมายถึง การเกิดตัวตนของประชาชน ทำนอง “ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” อะไรอย่างนั้น!!
ลาคราว รวมถึงนักทฤษฎีอื่นหลายคนให้ข้อสังเกตไว้ว่า เมื่อประชานิยมจุดติดแล้ว จะเกิดปัญหาตรงที่ผู้นำไม่ยอมปล่อยวาง เพราะประชานิยมถูกกระตุ้นโดยผู้นำ
แต่ผู้นำกลับทวงบุญคุณและถือโอกาสเอาประชาชนเป็นเครื่องมือสร้างฐานอำนาจ ซึ่งภาษานโยบายสาธารณะ เรียกว่า “การสร้างชุมชนนโยบายหรือฐานลูกค้าในนโยบาย” (policy community or clientelisms)
พูดง่าย ๆ ว่า ผู้นำใช้คนจนเป็นเครื่องมือสร้างฐานเสียง โดยไม่ยอมปล่อยให้ขบวนการประชาชนเติบโตเอง เช่น กรณีเปรองเอาขบวนการแรงงานและคนจนเป็นเครื่องมือในการสร้างและรักษาอำนาจ หรือกรณีขบวนการเสื้อแดงของไทย ก็น่าจะมีส่วนทำนองนี้ไม่น้อย (กรณีหลังยังไม่ยืนยัน)
สรุปแล้วเอาเข้าจริง ๆ ขบวนการประชาชนกลับกลายเป็นเครื่องมือของการต่อสู้แย่งชิงอำนาจทางการเมือง และอ่อนแอลงทุกวัน ข้อสำคัญเขาไม่อาจยืนอยู่บนขาของตัวเองและขยายใหญ่ออกไปได้มากกว่าที่เป็นอยู่
ทางด้านนโยบายสาธารณะ การศึกษาช่วง ค.ศ. 1950-1980 มองนโยบายเป็นเพียงเครื่องมือของการปกครอง ไม่ต่างจากอาวุธ ยุทโธปกรณ์อื่น เช่น รถถังหรือเครื่องบินรบ
แต่ต่อมา การศึกษานโยบายสาธารณะเชิงวิพากษ์ (Critical Policy Studies) ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 หันมาสนใจศึกษาอำนาจการครอบงำของนโยบายหรือเรียกว่า “อำนาจทางวาทกรรม” (discursive power) เนื่องจากนโยบายไม่ใช่เครื่องมือธรรมดา แต่มีอำนาจการครอบงำความคิดและจิตใจของผู้คนด้วย
วิธีการศึกษากระทำโดยการศึกษาอำนาจของตัวบท (texts) เช่น คำพูด ได้แก่ การวิเคราะห์คำพูดและโครงสร้างภาษา เช่น คำสัมภาษณ์ของผู้ให้ข้อมูลที่มีต่อนโยบาย หรือภาษาที่ใช้ในนโยบาย (Howarth & Griggs, 2017)
ตัวอย่างงานวิจัยของผู้เขียนและคณะ (Ruangvit Getsuwan, Apikanittha Nalao, Worawut Inthanon & Pichit Ratchatapibhunphob, 2022) ศึกษาเรื่อง “Thailand’s Policy Discourses during Thaksin and Prayuth Governments, As Perceived by Thai Academics” พบว่าอาจารย์ที่ให้สัมภาษณ์ 30 คนจากมหาวิทยาลัยของรัฐจำนวน 6 แห่ง
(1) รู้จักนโยบายประชานิยมของทักษิณ และนโยบายประชารัฐของพลเอกประยุทธ์ เป็นอย่างดี (
2) เชื่อว่านโยบายประชานิยมของทักษิณใช้จ่ายเงินงบประมาณมากกว่าและมีประสิทธิผลกว่านโยบายประชารัฐของพลเอกประยุทธ์
(3) เชื่อว่านโยบายประชานิยมของทักษิณมีผลกระทบต่อสังคมมากกว่านโยบายประชารัฐของพลเอกประยุทธ์
และ (4) อาจารย์เกือบทั้งหมด (27 คนจากทั้งหมด 30 คน) ชอบนโยบายประชานิยมของทักษิณมากกว่านโยบายประชารัฐของพลเอกประยุทธ์
สรุปว่านโยบายประชานิยมของทักษิณมีอำนาจครอบงำมากกว่านโยบายประชารัฐของพลเอกประยุทธ์
เหตุผลสำคัญน่าจะเป็นเพราะ ประการแรก นโยบายพลเอกประยุทธ์เป็น “ประชารัฐ” แต่ชื่อ แต่ไม่มีอะไรเป็น “ประชารัฐหรือประชาสังคม” (civil society) ตามทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่เลย
หมายถึง ไม่มีอะไรเป็นขบวนการประชาชนหรือองค์กรประชาชน ทุกอย่างดำเนินการโดยระบบราชการซึ่งอุ้ยอ้าย เชื่องช้าและไม่ได้สนใจใคร ผิดกับนโยบายประชานิยมของทักษิณที่ประกาศเข้าข้างคนจนและคนเสียเปรียบมาตั้งแต่แรก ๆ ของการเป็นรัฐบาล (แม้ว่าระยะแรกสุดยังอิดออดไม่กล้าตัดสินใจอยู่นานหลายเดือนก็ตาม, Hewison, 2007, pp.238-239)
และประการที่สอง รัฐบาลประยุทธ์ไม่สนใจที่จะใช้ยุทธศาสตร์ประชานิยม เช่น การตัดสินใจเข้าข้างคนจน อาจรวมถึงกลยุทธ์การตลาดการเมือง (political marketing) มากเหมือนทักษิณ
ที่น่าแปลกมาก คือ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ไม่ได้เน้นเป้าหมายคนจนในพื้นที่ชนบทโดยเฉพาะเจาะจงเลย อาจมีการเน้นคนจนเป็นการทั่วไป เช่น บัตรสวัสดิการประชารัฐ หรืออีกนัยหนึ่งบัตรคนจน ทว่าการดำเนินนโยบายจริงเป็นการกระจายเงินไปสู่คนชั้นกลางและคนจนในเมืองมากกว่า เช่น โครงการบัตรสวัสดิการประชารัฐ ซึ่งใช้เงินหกปีมากถึง 2.5 แสนล้านบาท
ข้อที่น่าสังเกต คือ อำนาจการครอบงำนี้ยังสามารถสร้างมายาคติ (myth) ให้กับอาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นคนที่มีความรู้มากกว่าคนทั่วไป ว่านโยบายประชานิยมของทักษิณใช้เงินงบประมาณมากกว่านโยบายประชารัฐของพลเอกประยุทธ์
ทั้งที่ความเป็นจริง นโยบายประชารัฐของพลเอกประยุทธ์ในวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเงินกู้หนึ่งล้านล้านบาทรอบแรก มีวงเงิน 4 แสนล้านบาท กระตุ้นรอบสองวงเงิน 7 แสนล้านบาท และกระตุ้นรอบสาม วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ขณะที่นโยบายประชานิยมของทักษิณใช้เงินงบประมาณไม่เกินหนึ่งแสนล้านบาท
อำนาจการครอบงำและกลวิธีการหาความนิยมจากการใช้นโยบายสาธารณะจึงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลทุกรัฐบาลไม่อาจละเลยได้ แม้ใช้เงินมากมาย ก็ใช่ว่าจะครองใจคน
การกล่าวโทษว่า “ประชานิยมเป็นยาเสพติด” ไม่เพียงพอ ที่จริงประชานิยมเป็นเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม (social safety net) ที่สำคัญ เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ มีรากเหง้าของปัญหาที่ไม่ได้แก้ไข ได้แก่ ทุนนิยมพวกพ้อง (crony capitalism) และการขาดสัญญาประชาคมด้านสวัสดิการสังคม (the shortage of social contracts on social welfare) (Birdsall & Haggard, 1999, pp.3-5)
หลักฐานเชิงประจักษ์ของปัญหาทุนนิยมพวกพ้องในไทย ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำซึ่งตัวเลขสัมประสิทธิ์จีนีด้านความมั่งคั่งของเครดิตสวิส ค.ศ. 2018 สูงถึง 90.2% เป็นอันดับสี่ของโลก ทั้งที่วัดแค่ความเหลื่อมล้ำทางด้านความมั่งคั่งด้านทรัพย์สินที่เป็นตัวเงิน ส่วนตัวเลขปีหลัง เช่น ค.ศ. 2021 แม้ลดลงเหลือ 77.1% ก็ยังจัดว่าสูงมาก
นี่ยังไม่ได้วัดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งคนไทยสังเกตได้ชัด เช่น การเปลี่ยนความเร็วรถกรณีคดีลูกคนรวยขับรถชนคนตายในสำนวนคดี หรือกรณีการให้เอกสิทธิ์คุ้มครองสมาชิกรัฐสภาระหว่างสมัยประชุมที่กระทำผิดกฎหมายข้อหาร้ายแรง
ส่วนสวัสดิการสังคม ประเทศเราไม่ได้พิจารณาการให้สวัสดิการอย่างเป็นระบบ ทั้ง ๆ ที่มีนักวิชาการหลายคนได้ทุ่มเทและเสนอเรื่องนี้อย่างจริงจัง เนื่องจากรัฐบาลทุกสมัยมีปัญหาทางด้านการคลัง โดยเฉพาะภาระหนี้ ทุกรัฐบาลมีแนวโน้มขยายเพดานหนี้ออกไปเรื่อย ๆ
ประชานิยมเป็นสวัสดิการเลือกให้ ซึ่งมีเป้าหมายทางการเมืองมากกว่าอย่างอื่น ปัญหาของประชานิยมอยู่ที่การครอบงำทางการเมือง
นโยบายแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาท ไม่ใช่เป็นนโยบายที่มีเหตุผลอะไร จึงไม่สามารถหาเหตุหาผลทางเศรษฐศาสตร์และกฎหมายที่เน้นหลักเหตุผล (rationality) ได้ เช่น ทำไมนโยบายนี้แจกคนอายุ 16 ปีขึ้นไปทั้งหมด ไม่ยอมแบ่งกลุ่มเป็นรวย-จน ทำไมอ้างแค่ว่าแบ่งกลุ่มยาก
ทีคนชราให้พิสูจน์สิทธิว่ารายได้ไม่ถึงเกณฑ์หรือเปล่า?
อ้าวนี่!! กำลังคิดจะเอาเยาวชนและคนหนุ่มสาวมาเป็นฐานเสียงใช่หรือเปล่า?
หรือว่าจะเอาเงินงบประมาณมาจากไหน?
กู้มาหรือเปล่า? แล้วมันจะเป็นเงินโอน (transfer payment) ได้ยังไง?
เงินกู้ก็ต้องมาจากภาษีประชาชนละสิ
ถ้าเช่นนั้นก็เป็นเงินของภาคประชาชนเอง เพียงแต่เอาเงินอนาคตมาใช้ก่อน ไม่ใช่เงินจากภาครัฐโดยแท้ แล้วเงินกู้ก็แน่นอนว่ามีค่าเสียโอกาส ใครจะเป็นคนแบกดอกเบี้ยและแบกรับภาระหนี้ในอนาคต?
ท่านนายกรัฐมนตรีหรือเปล่า??
ประเทศอื่นที่เขาใช้นโยบายแจกเงิน เช่น ญี่ปุ่นและฮ่องกง เขากู้เงินหรือเปล่า? (ความจริงที่เขาแจกเงินได้ เพราะรัฐบาลเขามีเงินเหลือ ไม่ได้กู้มา มันจึงเป็นเงินโอนจากรัฐบาลไปเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชน และเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็กระตุ้นได้เพียงนิดหน่อยแค่นั้น? และเขาใช้เฉพาะกับสถานการณ์วิกฤติโควิด)
ถามจริง ๆ ว่ามีงานวิจัยอะไรสนับสนุนว่าแจกเงินดิจิทัลไปทั่วแล้วจะกระตุ้นอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แล้วในฐานะรัฐบาล ท่านคิดแต่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างนั้นหรือ?
ไม่คิดเรื่องความเหลื่อมล้ำบ้างหรืออย่างไร?
การแจกเงินระยะสั้นมันลดความเหลื่อมล้ำไหม? หรือว่ามันจะไหลกลับไปสู่ภาคใด?
มิน่า ภาคธุรกิจเขาถึงหัวร่อเอิ๊ก ๆ และส่งเสียงดังสนับสนุนท่าน!!
ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจ มันก็ขึ้นอยู่กับแนวโน้มการใช้เงินหรือค่า MPC (Marginal Propensity to Consume) กับวงรอบของการหมุนเงิน คนรวยได้เงินแจกไปเขาจะใช้จ่ายเงินในอัตราเดียวกันกับ คนจนยังงั้นหรือ?
เงินมันเปลี่ยนมือหลายรอบจริงหรือเปล่า?
เงินมันหายไปจากระบบเท่าไหร่?
ท่านคิดว่าเขาจะใช้เงินไปซื้ออะไรบ้าง?
แล้วก็การเร่งการใช้เงินระยะสั้นหกเดือนผ่านระบบกระจายคลังข้อมูลหรือระบบบล็อกเชน มีโสหุ้ยของการจัดการเท่าไหร่?
ท่านระวังเรื่องหลอกลวงออนไลน์ไหม?
มันจะถือโอกาสหลอกประชาชนได้หรือเปล่า?
ทำไมไม่แจกเงินสด เจตนาจริงกะว่าจะไปผ่อนจ่ายหรือหักลบกลบหนี้กันทีหลังใช่ไหม?
ร้านค้าได้เงินดิจิทัลไปแล้วกว่าจะขึ้นเงินได้ต้องทอดเวลาออกไปใช่หรือเปล่า?
รัฐบาลได้คะแนนเสียง แต่ร้านค้ารอคอยแลกเงินสดด้วยความทรมาน ใช่หรือไม่ ?
แล้วก็ท่านแน่ใจอย่างไรว่าจะไม่มีปัญหาการแสวงหาค่าเช่า (rent seeking) มีใครค้ากำไรเกินปกติจากการจัดการไหม?
หรือว่ามีวาระซ่อนเร้นเพื่อกระตุ้นตลาดดิจิทัลที่มีใครเกี่ยวข้องหรือเปล่า?
เพราะว่าตลาดดังกล่าวมันเคยบูมช่วงหนึ่ง แล้วก็เหี่ยวลง เพราะคนไม่เชื่อถือ?
ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจ ท่านรู้ได้อย่างไรว่ามันจะกระตุ้นเศรษฐกิจ ตอนนี้มันอยู่ในช่วงที่ต้องกระตุ้นหรือเปล่า แล้วก็การสร้างโมเดลทางเศรษฐกิจ มันก็คือการพยากรณ์อย่างหนึ่งไม่ใช่หรือ?
พยากรณ์ผิดมีบ้างไหม? มันสมมติว่าตัวอะไรคงที่บ้าง??
นโยบายแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาทจึงมีเป้าหมายทางการเมืองเพื่อการครอบงำผู้ได้รับเงินและสร้างกลุ่มลูกค้าของนโยบายเป็นหลัก มิได้มีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์และกฎหมาย โดยเฉพาะประเด็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่ได้มีน้ำหนักให้น่าเชื่อถือ
ส่วนทางด้านกฎหมาย ก็ต้องดูว่าพ.ร.ป.พรรคการเมืองเขียนไว้ว่า “นโยบายหาเสียงต้องระบุแหล่งเงิน” นโยบายนี้ระบุหรือเปล่า ถ้าไม่ระบุจะเกิดอะไรขึ้น หรือกฎหมายวินัยการเงินการคลังระบุชัดว่า “การก่อหนี้ต้องสมเหตุสมผล” การกู้เงินมาแจกมันสมเหตุสมผลหรือเปล่า?
ท่านต้องไปแก้กฎหมายเพื่อขยายเพดานหนี้หรือเปล่า?? ไม่รู้ โชคดีหรือโชคร้ายของท่านหรือของประชาชนหรือของประเทศ เพราะประเทศไทยมีปัญหาอย่างหนักในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายเสียด้วย เห็นป.ป.ช. ทำท่าฮึ่มๆ แฮ่ ๆ อยู่ แต่ไม่รู้ได้รับบทมาให้แสดงหรือว่าแสดงเองจากใจ!!!
นโยบายการแจกเงินดิจิทัลทำให้คนลืมปัญหารากฐานของประเทศ ที่จริงนักวิชาการเสนอไว้ว่าแนวทางการลดประชานิยมมีสองขั้น
ขั้นแรก เลือกจุดยืนของประเทศเสียก่อนว่าประเทศจะเป็นอะไร เช่น กิดเด้น (Gidden, 1998) เสนอ คือ (1) เสรีนิยมใหม่ (2) สังคมประชาธิปไตย และ (3) ทางสายกลาง (the third way)
ขั้นที่สอง หาทางแก้ปัญหาหลักของประเทศอย่างจริงจัง เช่น โรเบิร์ต (Robert, 2003) เสนอ ได้แก่ (1) การสร้างพลังให้กับระบบพรรคการเมือง
(2) สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาสังคมอย่างจริงจัง (อย่าไปเอาแค่ชื่อ “ประชารัฐ” มาใช้ แล้วอ้างว่ามาจากเพลงชาติ—มันตลกร้าย!!)
(3) ต่อสู้กับคอร์รัปชันอย่างเข้มแข็ง ไล่จับตั้งแต่หัว ไม่ใช่เอาแต่หาง
(4) มีเครือข่ายความปลอดภัยด้านประชาธิปไตยกับนานาชาติ เช่น ส่งเสริมให้คนไทยรวมกลุ่มเป็นองค์กรและมีเครือข่ายด้านประชาธิปไตยกับต่างชาติ ไม่ใช่สกัดกั้นอย่างที่ผ่านมา ซึ่งมันไม่เป็นสากล
และ (5) ข้อที่สำคัญที่สุด ลดความเหลื่อมล้ำ
นโยบายการแจกเงินดิจิทัลและนโยบายประชานิยมของไทย น่าจะเป็นบทเรียนที่สอนคนไทยหลายประการ ได้แก่
ประการแรก อำนาจการครอบงำของนโยบายจะกลายเป็นวิธีการสำคัญของนักการเมืองและพรรคการเมืองไทยในอนาคต ไม่ใช่ทักษิณรู้เคล็ดลับนี้คนเดียว!!
ประการที่สอง นักการเมืองต้องตัดสินใจเข้าข้างคนจนและคนเสียเปรียบก่อน หากนักการเมือง มีจุดยืนคลุมเครือเท่าไหร่ บทบาทการเมืองก็กลวงเท่านั้น!!
ประการที่สาม ระยะยาวเมื่อประชาชนเขาเข้มแข็งและสร้างขบวนการเคลื่อนไหวของเขาเองได้แล้ว ผู้นำการเมืองก็ออกมาเหอะ!! เขาจะได้เคลื่อนไหวด้วยสิทธิอันชอบธรรมของเขาเอง
ประการที่สี่ หัดจริงใจกับคนหรือทฤษฎีบ้าง!! รู้จักคิดเสียทีว่าจะให้สวัสดิการสังคมเป็นระบบอย่างไร เอาที่เขาศึกษาไว้แล้วมาเป็นจุดเริ่มต้นก็ได้
ประการที่ห้า รู้จักนโยบายศาสตร์ของประชาธิปไตย (policy science of democracy) บ้าง ขบวนการเคลื่อนไหวและการมีส่วนร่วมของประชาชน นั่นนะเป็นหัวใจของการกำหนดนโยบาย นำนโยบายไปปฏิบัติและประเมินผลนโยบายทีเดียวเชียวนะ ถ้านโยบายมันไม่มีประชาชน มันก็เป็นแค่เครื่องมือ (means) ไม่ใช่เป้าหมาย (ends) ในตัวเอง
ประการที่หก ประการสุดท้าย ตัวเลขความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยเอามาตีแผ่ให้คนได้รับรู้ความจริงกันอย่างชัดเจนได้แล้ว ทำให้เหมือนนานาอารยะประเทศหน่อย อย่าเอาแต่ปกปิดหรือพูดถึงแต่อ้อม ๆ เลย เลือกพูดถึงปัญหาที่ประเทศกำลังเผชิญอย่างจริงจังเสียที และเลือกเป็น open government กันดีกว่าไหม?
ผักชีโรยหน้ามันไม่ได้แก้ไขปัญหาอะไร แต่ทำไมมันอยู่กับประเทศเรานานจัง!!!