"...การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ยังมีประเด็นความเสี่ยงในแง่ของกระบวนการที่อาจนำไปสู่การทุจริตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระบวนการในการตรวจสอบคุณสมบัติของประชาชนและร้านค้าที่ในการเข้าร่วมโครงการ (ร้านค้าม้า) และการกำหนดเงื่อนไขในการใช้งาน เช่น ประเภทสินค้าหรือบริการที่ประชาชนสามารถใช้เงิน 10,000 บาท ใน Digital Wallet ไปชำระราคาได้ การกำหนดเงื่อนไขในการ cash out ซึ่งอาจเป็นการเอื้อประโยชน์กับคนบางกลุ่ม และอาจก่อให้เกิดการขายลด (discount) ระหว่างประชาชนเพื่อให้ได้เงินสดไปใช้ต่อได้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการและอาจทำให้โครงการไม่บรรลุผล..."
....................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเห็นชอบ 'หลักการ' ร่างข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จัดทำโดยคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet
พร้อมทั้งมีมติให้ กรรมการ ป.ป.ช. นำร่างข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาทฯ ไปพิจารณา เพื่อให้ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ก่อนนำเสนอที่ประชุม ป.ป.ช. อีกครั้งในอีก 2 สัปดาห์ นั้น (อ่านประกอบ : เปิด 9 ข้อเสนอแนะฯป้องกันทุจริต‘ดิจิทัลวอลเลต’ ชง‘บอร์ด ป.ป.ช.’เคาะอีกครั้งใน 2 สัปดาห์)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบว่า ในร่างข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ฉบับดังกล่าว
คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาทฯ ที่มี สุภา ปิยะจิตติ เป็นประธานฯ ได้มีการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานของรัฐ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการคลัง สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงบประมาณ ผ่านการประชุมร่วมกัน ตลอดจนการจัดทำหนังสือขอข้อมูล ข้อเท็จจริง และเอกสารหลักฐานจากหน่วยงานดังกล่าว
ทั้งนี้ ใน 2 ตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา ได้นำเสนอความคิดเห็นของหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงการคลัง 4 หน่วยงาน และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ ‘สภาพัฒน์’ แล้ว โดยในตอนสุดท้าย สำนักข่าวอิศรา ขอนำเสนอความคิดเห็นของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงบประมาณ ที่ได้ให้ความเห็นกรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ต่อคณะกรรมการฯ มีรายละเอียด ดังนี้
@ยกความเห็น‘ธปท.’แจกหมื่นดิจิทัลต้องมีเงินครบ 5 แสนล.ก่อน
สำนักงบประมาณ
ในช่วงแรกมีการพิจารณาจะใช้แหล่งเงินจากงบประมาณ ประมาณ 1 แสนล้านบาท สำหรับดำเนินการโครงการนี้ (นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet) อย่างไรก็ตาม ในการประชุมยังไม่มีการสรุปเนื่องจากวงเงินทั้งโครงการจะสูงกว่านี้
โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นว่า หากจะดำเนินโครงการ จำเป็นต้องมีเงินรองรับครบเต็มจำนวน มิเช่นนั้นอาจผิดมาตรา 9 พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 ต่อมา จึงมีการพิจารณาแหล่งเงินโดยใช้งบประมาณผูกพันข้ามปี
อย่างไรก็ตาม งบประมาณในลักษณะผูกพันข้ามปีงบประมาณ สามารถกำหนดวงเงินทั้งสิ้นได้ และจะกำหนดว่าระยะเวลาผูกพันไว้กี่ปี อาทิ กำหนดวงเงินงบประมาณปีละ 1 แสนล้านบาท จำนวน 5 ปี จะมีการทยอยจัดสรรงบประมาณในแต่ละปี แต่ไม่สามารถนำเงินมาใช้ครั้งเดียว 5 แสนล้านบาทได้ ซึ่งประเด็นนี้ทางผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ในการดำเนินโครงการนี้จะต้องมีเงินครบทั้งจำนวน จึงจะสามารถดำเนินการได้
ทั้งนี้ ในกระบวนการจัดทำงบประมาณ จะต้องมีการเสนอคำของบประมาณส่งมายังสำนักงบประมาณ ซึ่งปัจจุบันขั้นตอนของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2567 ได้ผ่านขั้นตอนการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณารายละเอียดงบประมาณแล้ว
โดยในช่วงแรกของการพิจารณา ซึ่งมีการกล่าวถึงวงเงินที่จะใช้จ่ายประมาณ 150,000 ล้านบาท นั้น หากได้มีการพิจารณาและทราบว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ก็สามารถเป็นหน่วยขอรับงบประมาณในการเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ตามกระบวนการงบประมาณได้
โดยในที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 เสนอให้มีการใช้งบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้เปลี่ยนเป็นการใช้เงินกู้ทั้งหมด จำนวน 5 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ งบประมาณจำนวน 1.5 แสนล้านบาท ไม่ได้เสนอตั้งงบประมาณโดยใช้จากงบกลาง หากต้องใช้งบประมาณสำหรับโครงการนี้จริง ก็ต้องปรับลดงบประมาณที่จะตั้งให้หน่วยงานต่างๆ ซึ่งย่อมกระทบต่อหน่วยงานอื่นโดยเฉพาะเรื่องระยะเวลาการดำเนินการที่อาจต้องเลื่อนออกไป อาทิ งานก่อสร้างอาจต้องมีการขยายระยะเวลา
โดยพิจารณาว่า พอจะเลื่อนระยะเวลาของโครงการไหนออกไปได้บ้าง ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้นายกรัฐมนตรีไม่ใช้แหล่งเงินจากงบประมาณ และไปใช้การกู้เงินแทน ซึ่งในส่วนของเงิน 1.5 แสนล้านบาท ที่ตอนแรกมีการคาดว่าจะนำมาสนับสนุนโครงการจะนำไปเป็นรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังของ ปี พ.ศ.2566 ที่ตอนนี้มีรายงานการใช้วงเงินคงคลังของปี 2566 แล้ว ประมาณกว่า 80,000 ล้านบาท
หลักการของการเป็นหน่วยรับงบประมาณ คือ หน่วยงานที่จะเป็นหน่วยรับงบประมาณ ต้องมีภารกิจหน้าที่ในการดำเนินงานที่สอดคล้องกับภารกิจหน้าที่ของหน่วยงาน
ในส่วนของกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย จะอยู่ในความรับผิดชอบของ BOI โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2567 มิได้ใช้เงินกู้ โดยงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2567 ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว มีงบประมาณสำหรับกองทุนเพิ่มขีดความสามารถฯ ประมาณ 1 หมื่นกว่าล้านบาท
@ห่วงกระตุ้นช่วงการบริโภคขยายตัว ส่งผลให้เกิด ‘เงินเฟ้อ’
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ตัวทวีคูณทางการคลัง คือ เม็ดเงินที่รัฐบาลอัดฉีดลงไปหนึ่งบาทจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเป็นเท่าใด โดยค่าทวีคูณทางการคลังที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการวิเคราะห์แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
(1) การใช้จ่ายอุปโภคบริโภคของภาครัฐ เช่น เงินเดือน ตัวทวีคูณทางการคลังเท่ากับ 1
(2) การลงทุน ตัวทวีคูณทางการคลัง อยู่ที่ประมาณ 0.8 และ
(3) ประเภทเงินโอนซึ่งมีสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากการที่รัฐบาลนำเงินไปให้ประชาชน ต้องพิจารณาว่าประชาชนสามารถนำเงินไปใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดิมได้มากน้อยขนาดไหน ตัวทวีคูณทางการคลังอยู่ที่ประมาณ 0.4
อีกทั้งค่าทวีคูณทางการคลังขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ลักษณะของมาตรการความเชื่อมั่นของผู้บริโภค แหล่งที่มาของเงิน โครงสร้างทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
ตัวทวีคูณทางการคลังมีค่าที่แตกต่างกันผันแปรไปตามปัจจัยต่างๆ ไม่สามารถยึดได้ว่าจะมีค่าอยู่ที่เท่าใด ส่วนตัวทวีคูณทางการคลังที่มีค่าเกิน 2 ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ในบางประเทศ ขึ้นอยู่กับสถานะทางเศรษฐกิจ
เช่น ถ้าสภาพเศรษฐกิจแย่มาก ๆ แล้วกลับมาฟื้นตัวได้ดีก็อาจจะมีค่าตัวทวีคูณที่มากขึ้น แต่ค่าเฉลี่ยโดยทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 0.7 โดยค่า 0.7 ดังกล่าวนี้ เป็นค่าของตัวทวีคูณทางการคลังของภาครัฐทั้งหมด ไม่ใช่มาตรการที่เป็นเงินโอนเพียงอย่างเดียว ซึ่งรวมถึงการอุปโภคบริโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐด้วย
จากผลการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ของตัวทวีคูณทางการคลัง จะเป็นการวิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้นภายหลังการดำเนินโครงการไปแล้ว ซึ่งจะเอาหลักเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้มาชี้วัดว่าควรดำเนินโครงการหรือไม่ เป็นสิ่งที่ยาก เป็นแค่เพียงการวิเคราะห์ว่าโครงการดังกล่าวส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไร
หากมีการกระตุ้นการบริโภคในช่วงเวลาที่การบริโภคยังขยายตัวในเกณฑ์ดี ก็อาจจะมีผลให้เกิดเงินเฟ้อโดยเฉพาะอาจเกิดขึ้นในสินค้าบางกลุ่มที่ผู้บริโภคแห่กันไปซื้อและสินค้าขาดตลาด ส่วนจะมีผลต่อเงินเฟ้อคาดการณ์ หรือจะเกิดกรณีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นหรือไม่นั้น ไม่สามารถจะระบุได้ในตอนนี้ เนื่องจากต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายประการและสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินในขณะนั้น
แต่โดยหลักวิชาการแล้วอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ จะถูกกำหนดโดยหลายปัจจัย เช่น การคาดการณ์ความต้องการสินค้าการคาดการณ์ภาวะต้นทุนการผลิต หรือภาวะการแข่งขันในตลาด
ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านมา อยู่ภายใต้เหตุผล 3 ประการ คือ
(1) เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามศักยภาพ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 3-4
(2) การดูแลให้เงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย คือ ร้อยละ 1-3
(3) การดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงินไม่ให้เกิดการสะสมความเปราะบางในระบบเศรษฐกิจ
แม้จะไม่มีผลตามนโยบาย Digital Wallet เข้ามาร่วมด้วย การดำเนินการดังกล่าว ก็ได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว
@เผยข้อมูล 10 ปีย้อนหลังการลงทุนเอกชนโตเฉลี่ย 0.6%
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี พ.ศ.2566 จะขยายตัว ร้อยละ 2.8 และปี พ.ศ.2567 ขยายตัว ร้อยละ 4.4 ซึ่งตัวเลขนี้มีการรวมผลของ Digital Wallet เข้าไปด้วย โดยแรงส่งเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ การบริโภคภาคเอกชน เพราะปี พ.ศ.2566 การส่งออกสินค้าจะเป็นตัวที่ติดลบ
อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ.2567 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศและมีแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่าการส่งออกจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ รวมทั้งมีแรงส่งเพิ่มเติมของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
ส่วนอัตราเงินเฟ้อปี พ.ศ.2566 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 และปี พ.ศ.2567 อยู่ที่ ร้อยละ 2.6 โดยในปี พ.ศ.2566 ที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากมีมาตรการการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐชั่วคราว โดยอัตราเงินเฟ้อในปี พ.ศ. 2567 ที่คาดการณ์อยู่ที่ ร้อยละ 2.6 ได้คำนวณรวมนโยบาย Digital Wallet เข้าไว้ด้วยแล้ว หากไม่รวมนโยบายดังกล่าว ตัวเลขเงินเฟ้อก็จะต่ำกว่า ร้อยละ 2.6 (ข้อมูลก่อนปรับประมาณการ-สำนักข่าวอิศรา)
เมื่อพิจารณาอัตราตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยย้อนหลัง 10 ปี จะเห็นชัดว่า การลงทุนภาคเอกชนเติบโตเฉลี่ย อยู่ที่ร้อยละ 0.6 และการส่งออกสินค้าที่เติบโตเพียง ร้อยละ 1.5 ซึ่งจะเห็นว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในหมวดอื่นๆ รวมทั้งค่าเฉลี่ยของ GDP ที่เติบโตร้อยละ 1.9
จึงต้องยกระดับตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าดังกล่าวให้ดีขึ้น โดยควรเพิ่มการลงทุนด้านดิจิทัล และการปรับเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวให้สอดคล้องกับกระแสโลก เพื่อให้ยังรักษาความสามารถในการแข่งขันได้ ในส่วนของความเห็นอื่นๆ ก็จะสอดคล้องกับที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้กล่าวไว้
@ธปท.เตือน‘สร้างเงิน’ขึ้นมาใหม่ ขัดกฎหมายเงินตรา
นอกจากข้อพิจารณาในมิติทางเศรษฐศาสตร์ข้างต้นแล้ว หากพิจารณาในมิติทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นั้น กฎหมายเงินตรากำหนดกลไกในการควบคุมระบบเงินตรา ที่ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือชำระหนี้เป็นการทั่วไป และมีสถานะทางกฎหมายเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (recognized by law as a legal tender) ไว้ในหลายมิติ
กล่าวคือ กำหนดหน่วยวัดมูลค่าของประเทศขึ้นเป็นระบบเดียว เรียกว่า “บาท” (single official unit of measurement) และกำหนดรูปแบบของเงินที่ตราหน่วยวัดมูลค่า (form of currency) ไว้สองรูปแบบ คือ “เหรียญกษาปณ์ (physical token)” ที่เป็นโลหะซึ่งมีค่าในตัวเอง และ “ธนบัตร” ที่เป็นสิ่งซึ่งไม่ได้มีค่าในตัวเอง (no intrinsic value)
กำหนดกลไกในการควบคุมการออกเงินที่ตราหน่วยวัดมูลค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกธนบัตรซึ่งไม่ได้มีค่าในตัวเอง โดยให้อำนาจ ธปท. เพียงผู้เดียวในการออกธนบัตร (monopoly authority of note issuance) และกำหนดกลไกในการดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพของเงินตรา โดยให้มีทุนสำรองเงินตรา (currency reserve) เป็นหลักประกันในการออกธนบัตร
นอกจากนั้น ยังกำหนดความผิด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการทำ จำหน่าย ใช้ หรือนำออกใช้ซึ่งทรัพย์สินใดๆ เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการ หรือเพื่อการชำระหนี้ ที่ทำให้มีสาระและลักษณะการใช้งานโดยทั่วไปเป็นเงิน (money-like functionality) แทน “เงินตรา”ของรัฐ ซึ่งจะเป็นการทำลายหลักการและเจตนารมณ์กฎหมายเงินตราที่ประสงค์ให้มีระบบเงินตราของประเทศเพียงระบบเดียว
อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีของ “การเปลี่ยนรูปแบบ (form) ของเงินตรา” ที่มีอยู่ในมือ ไปอยู่ในรูปอื่น เพื่อความสะดวกในการชำระหรือส่งมอบเงินตรา ย่อมสามารถทำได้ภายใต้กฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงินหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ถือว่าเป็นการทำวัตถุหรือเครื่องหมายอื่นใดแทนเงินตรา เนื่องจากเป็นเพียงวิธีการในการชำระเงินรูปแบบหนึ่งเท่านั้น (payment method for delivery of currency from one to another)
ตัวอย่างของกรณีนี้ เช่น เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money) ซึ่งเป็นบริการชำระเงินรูปแบบหนึ่ง ที่ผู้ใช้บริการได้ชำระเงินให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจไว้ล่วงหน้า (pre-paid) และผู้ประกอบธุรกิจได้ออกบัตรอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้ใช้บริการ โดยมีการบันทึกมูลค่าหรือจำนวนเงินที่ชำระไว้ล่วงหน้าในบัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว (store monetary value) เพื่อให้ผู้ใช้บริการนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์นั้นไปใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการกับร้านค้าที่กำหนดแทนการชำระด้วยเงินสด
เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงในการดำเนินโครงการของรัฐบาล ที่แม้ว่าจะมีการแถลงว่าเป็นการพัฒนาต่อยอดระบบแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นบริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money) ให้มี Blockchain เป็นโครงสร้างพื้นฐาน (underlying technological infrastructure) แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนทั้งในแง่ของหลักการ วิธีการ และเงินงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการ
ดังนั้น รัฐบาลจึงพึงระมัดระวังในการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ในประเด็นดังนี้
1.การพิจารณาของคณะกรรมการโครงการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet และการดำเนินการของหน่วยรับงบประมาณ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะดำเนินการตามโครงการดังกล่าว จะต้องเป็นไปด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง (due care / due process) สอดคล้องกับกรอบอำนาจหน้าที่ (authority) หลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย และไม่ขัดกับบทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินและการคลังภาครัฐอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเงินตรา
2.การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ให้ประชาชนและร้านค้าสามารถนำไปใช้จ่าย เป็นสื่อกลางในการชำระราคาสินค้า บริการ ต้องไม่ใช่การสร้างหรือนำ “วัตถุ เครื่องหมาย หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือสินทรัพย์อื่น” มาใช้ในสาระเช่นเดียวกับเงินตรา (money printing) หรือ “สร้างเงิน” ขึ้นมาใหม่ ซึ่งขัดกฎหมายเงินตรา
โดยรัฐบาลจะต้องมีแหล่งที่มาของเงินที่ชัดเจนและมีเงินงบประมาณรองรับการใช้จ่ายของประชาชนตามโครงการ (payment transaction) เต็มจำนวนตั้งแต่บาทแรก (ไม่ว่ารัฐบาลจะกำหนดเงื่อนไขในการ cash out ไว้อย่างไร) ทั้งนี้ หาก ณ วันที่เริ่มโครงการ รัฐบาลไม่มีเงินงบประมาณรองรับเต็มจำนวน แต่จะอาศัยการกู้เงินเมื่อมีความต้องการใช้จ่ายเงิน กล่าวคือ ณ วันที่รัฐบาลรับ cash out ก็อาจเข้าข่ายที่ผิดกฎหมายเงินตราได้
@แจกเงิน‘หมื่นดิจิทัล’มีความเสี่ยงอาจนำไปสู่การทุจริต
นอกจากนี้ การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ยังมีประเด็นความเสี่ยงในแง่ของกระบวนการที่อาจนำไปสู่การทุจริตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
-กระบวนการในการตรวจสอบคุณสมบัติของประชาชนและร้านค้าที่ในการเข้าร่วมโครงการ (ร้านค้าม้า)
-การกำหนดเงื่อนไขในการใช้งาน เช่น ประเภทสินค้าหรือบริการที่ประชาชนสามารถใช้เงิน 10,000 บาท ใน Digital Wallet ไปชำระราคาได้ การกำหนดเงื่อนไขในการ cash out ซึ่งอาจเป็นการเอื้อประโยชน์กับคนบางกลุ่ม และอาจก่อให้เกิดการขายลด (discount) ระหว่างประชาชนเพื่อให้ได้เงินสดไปใช้ต่อได้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการและอาจทำให้โครงการไม่บรรลุผล
ดังนั้น รัฐบาลจะต้องมีการประเมินความเสี่ยงในการดำเนินโครงการอย่างรอบด้าน และกำหนดแนวทางป้องกันการทุจริต รวมถึงกระบวนการตรวจสอบ เพื่อปิดความเสี่ยงอย่างชัดเจน
เหล่านี้เป็นความเห็นของ ‘แบงก์ชาติ’ เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่อยู่ใน 'ร่างข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet' ที่รอคณะกรรมการ ป.ป.ช. อนุมัติในขั้นตอนสุดท้าย ก่อนนำเสนอให้รัฐบาลรับทราบต่อไป
อ่านประกอบ :
อ่านประกอบ :
เปิดความเห็น 4 หน่วยงาน(2) สศช.ห่วง‘ดิจิทัลวอลเลต’ดันหนี้สูง ฉุดเครดิตปท.-ชี้ศก.ไม่วิกฤติ
เปิดความเห็น 4 หน่วยงาน(1) ‘คลัง’เตือน‘ดิจิทัลวอลเลต’กระตุ้นศก.ระยะสั้น-หนี้ปท.พุ่ง 66.65%
เปิด 9 ข้อเสนอแนะฯป้องกันทุจริต‘ดิจิทัลวอลเลต’ ชง‘บอร์ด ป.ป.ช.’เคาะอีกครั้งใน 2 สัปดาห์
‘จุลพันธ์’ รับ ‘ดิจิทัลวอลเลต’ ส่อหลุด พ.ค. 67 ยืนยันเศรษฐกิจตอนนี้วิกฤติ
‘เลขากฤษฎีกา’ แนะรัฐบาลควรรับฟังความเห็น ป.ป.ช. ก่อนทำดิจิทัลวอลเลต
‘ภูมิธรรม’ เลื่อนถกบอร์ดดิจิทัลวอลเลต เหตุรอความเห็น ป.ป.ช. 1-2 สัปดาห์นี้
'เศรษฐา'ขอถก'บอร์ดนโยบายฯ'ก่อนกู้แจก'หมื่นดิจิทัล'-เผย'กฤษฎีกา'ไม่บอก'ทำได้หรือไม่ได้'
เปิดคำสั่ง‘ผู้ว่าฯสตง.’ ตั้ง‘คณะทำงานฯ’ศึกษา‘ความเสี่ยง-ผลกระทบ’แจก‘เงินหมื่นดิจิทัล’
‘รมช.คลัง’เผย‘กฤษฎีกา’ชี้รัฐบาลออก‘พ.ร.บ.กู้เงินฯ’ 5 แสนล.ได้-ยันแจก‘หมื่นดิจิทัล’พ.ค.67
อธิบายแค่ข้อกม.! ‘กฤษฎีกา’ตอบ‘คลัง’ ไม่ฟันธงออกพ.ร.บ.กู้ 5 แสนล.แจก 1 หมื่น ทำได้หรือไม่
ย้อนดู‘กม.กู้เงิน’ 9 ฉบับ ก่อน'รบ.เศรษฐา'จ่อชง'พ.ร.บ.กู้ฯ’5 แสนล.แจก‘เงินหมื่นดิจิทัล’
เป็นกลาง-รอบด้าน-ไม่ก้าวล่วงฝ่ายบริหาร! ป.ป.ช.เผยชื่อบอร์ดศึกษาฯ 'ดิจิทัลวอลเลต'
เบื้องหลัง! ‘ป.ป.ช.’ตั้งบอร์ดศึกษาฯ‘ดิจิทัลวอลเลต’-ขีดเส้น 60 วันชงข้อเสนอสกัดทุจริต
‘สุภา’นั่งประธาน! ‘ป.ป.ช.’มีมติตั้งบอร์ดศึกษาฯ‘ดิจิทัลวอลเลต’ ชงข้อเสนอป้องกันทุจริต
นโยบายแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาทในมุมมองการเมือง
ย้อนดู‘หนี้ประเทศ-ภาระผูกพัน’ ก่อน‘รบ.เศรษฐา’เร่งหาแหล่งเงิน 5.6 แสนล.โปะ‘ดิจิทัลวอลเลต’