"...จากภาระหนี้สาธารณะที่รัฐบาลรับภาระในการชำระเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ย ได้แก่ หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง หนี้รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลให้กู้ต่อและรับภาระ และหนี้รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลค้ำประกันและรับภาระ พบว่าในปีงบ 2566 สัดส่วนรายจ่ายเพื่อชำระดอกเบี้ยต่องบประมาณรายจ่ายอยู่ที่ 6.03% และคาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้น..."
.........................................
แม้ว่าจนถึงขณะนี้
จะยังไม่มีความชัดเจนว่า ‘แหล่งเงิน’ ที่นำใช้จ่ายใน ‘โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet’ หรือการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่าน ‘กระเป๋าเงินดิจิทัล’ ให้คนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป กรอบวงเงิน 5.6 แสนล้านบาท เพื่อ ‘จุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นอีกครั้ง’ มาจากแหล่งใดบ้าง
ล่าสุด จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทฯ ระบุว่า แหล่งที่มาของเงิน ‘ยังไม่มีข้อสรุป’ และให้เลื่อนการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯเป็นสัปดาห์หน้า จากเดิมที่นัดประชุมกันในวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากคณะทำงานฯต้องประชุมเพิ่มเติม
แต่ทว่าในเบื้องต้น รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ได้กำหนดแนวทางในการหาแหล่งเงินมาใช้ในโครงการฯนี้แล้ว โดยเมื่อเร็วๆนี้ ‘หมอมิ้ง’ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุถึงแหล่งเงิน 5.6 แสนล้านบาท ที่จะนำมาทำโครงการฯ ว่า จะมาจากการผสมผสานกันของ 3 ทางเลือก ได้แก่
ทางเลือกที่ 1 บริหารจัดการงบประมาณปี 2567 โดยการปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น รวมทั้งเลื่อนหรือชะลอโครงการฯหรือการซื้อของขนาดใหญ่ออกไปก่อน
ทางเลือกที่ 2 ให้หน่วยงานของรัฐออกเงินให้ก่อน (กู้เงินจากธนาคารของรัฐ) โดยทางเลือกนี้ รัฐบาลจะต้องขยายเพดานหนี้ตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ซึ่งช่องทางนี้จะได้เงินมา 2-3 แสนล้านบาท
ทางเลือกที่ 3 การกู้เงินโดยตรง โดยปัจจุบันหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 60% ในขณะที่กรอบเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีกำหนดไว้ไม่เกิน 70% จึงเท่ากับว่ารัฐบาลมีช่องทางที่จะกู้เงินจากทางเลือกนี้เพิ่มขึ้น นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำสาธารณชนไปย้อนดูข้อมูลหนี้สาธารณะล่าสุด ภาระหนี้ผูกพันของรัฐบาล และสถานะการเงินการคลังต่างๆ ในขณะที่รัฐบาลเศรษฐา กำลังพิจารณาทางเลือกในการหาแหล่งเงินมาใช้จ่ายใน 'โครงการ 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet' วงเงิน 5.6 แสนล้านบาท มีดังนี้
@หนี้สาธารณะล่าสุด 11 ล้านล. แตะ 61.78% ต่อจีดีพี
หนี้สาธารณะคงค้าง
จากข้อมูลของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ พบว่าล่าสุด ณ เดือน ส.ค.2566 ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะคงค้าง ทั้งสิ้น 11,027,980.02 ล้านบาท หรือคิดเป็น 61.78% ต่อจีดีพี (ประมาณการจีดีพี 17,849,550.10 ล้านบาท ,อัตราแลกเปลี่ยน 35.09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ) ประกอบด้วย
1.หนี้รัฐบาล (หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง+หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ+หนี้เงินกู้ล่วงหน้าเพื่อปรับโครงสร้างหนี้) จำนวน 9,676,757.05 ล้านบาท
2.หนี้รัฐวิสาหกิจ (หนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน+หนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน) จำนวน 1,075,590.65 ล้านบาท
3.หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงินฯ (หนี้ต่างประเทศ+หนี้ในประเทศ) จำนวน 214,507.48 ล้านบาท
4.หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ (หนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน+หนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน) จำนวน 0 บาท
5.หนี้หน่วยงานของรัฐ (หนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน+หนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน) จำนวน 61,124.84 ล้านบาท
ทั้งนี้ หนี้สาธารณะ 11,027,980.02 ล้านบาท ดังกล่าว เป็นหนี้ต่างประเทศ 157,194.83 ล้านบาท และหนี้ในประเทศ 10,870,785.19 ล้านบาท เมื่อพิจารณาอายุของหนี้ตามเครื่องมือการกู้ (หนี้ระยะสั้นและยาวตามเครื่องมือการกู้) พบว่า หนี้ระยะสั้นมีจำนวน 582,953.43 ล้านบาท และหนี้ระยะยาว 10,445,026.59 ล้านบาท
(ที่มา : สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ คลิกดูรายะเอียด)
@หนี้ผูกพันนโยบายรัฐ 1.03 ล้านล.-ภาระดอกเบี้ยเพิ่ม
ภาระผูกพันทางการเงินการคลังของรัฐบาลและความเสี่ยงทางการคลังที่สำคัญ
จากข้อมูล แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) ฉบับทบทวน ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 13 ก.ย.2566 ปรากฏข้อมูลว่า รัฐบาลมีภาระหนี้ผูกพันโดยตรง และภาระผูกพันที่อาจเกิดขึ้น สรุปได้ดังนี้
ภาระผูกพันโดยตรง (ภาระผูกพันของรัฐบาลที่มีกฎหมาย สัญญา หรือข้อตกลง ที่รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณให้อย่างชัดเจน)
1.จากภาระหนี้สาธารณะที่รัฐบาลรับภาระในการชำระเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ย ได้แก่ หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง หนี้รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลให้กู้ต่อและรับภาระ และหนี้รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลค้ำประกันและรับภาระ พบว่าในปีงบ 2566 สัดส่วนรายจ่ายเพื่อชำระดอกเบี้ยต่องบประมาณรายจ่ายอยู่ที่ 6.03% และคาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นตามประมาณการหนี้ที่เพิ่มขึ้นตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบ 2567-2570)
2.ในปีงบ 2566 รัฐบาลมีภาระในการจัดสรรงบฯ เพื่อเป็นสวัสดิการด้านหลักประกันสุขภาพ ประกันสังคม และบำเหน็จบำนาญ ทั้งสิ้น 754,984 ล้านบาท หรือคิดเป็น 23.7% ของงบประมาณรายจ่าย โดยมีอัตราขยายตัวเฉลี่ย 4% ในช่วง 5 ปีงบประมาณที่ผ่านมา (ปีงบ 2562-2566) และรัฐบาลค้างเงินสมทบกองทุนประกันสังคม 79,077 ล้านบาท
3.ในปีงบ 2566 รัฐบาลมีภารระผูกพันที่มาจากรายจ่ายบุคลากร 768,109 ล้านบาท หรือคิดเป็น 24.12% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 โดยการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในช่วง 5 ปีงบประมาณที่ผ่านมา
4.รัฐบาลมีภาระผูกพันจากการดำเนินโครงการนโยบายของรัฐบาล ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2565 ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 มีจำนวน 1,039,920 ล้านบาท (เป็นยอดหนี้ที่นับรวมอยู่ในหนี้สาธารณะ 206,048 ล้านบาท) หรือคิดเป็น 33.55% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 และภาระหนี้ดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ภาระผูกพันที่อาจเกิดขึ้น (ภาระผูกพันที่รัฐบาลอาจจะต้องจ่ายหรือชำระหนี้แทนตามกฎหมาย สัญญา หรือข้อตกลง รวมไปถึงความคาดหวังจากสังคม หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น
1.หนี้สาธารณะที่รัฐบาลไม่ได้รับภาระ ได้แก่ (1) หนี้ที่รัฐบาลกู้เงินเพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) 672,614 ล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง (2) หนี้เงินกู้ของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานรัฐที่รัฐบาลให้กู้ต่อ/ค้ำประกัน แต่รัฐบาลไม่รับภาระ 458,856 ล้านบาท
(3) หนี้รัฐวิสาหกิจ (ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินและหน่วยงานของรัฐ) ที่รัฐบาลไม่ได้ค้ำประกัน 548,679 ล้านบาท สาวนใหญ่เป็นหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่มีความมั่นคง เช่น บมจ. ปตท. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้านครหลวง เป็นต้น
2.ภาระหนี้ผูกพันจากการชดเชยค่าใช้จ่ายและความเสียหายตาม พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก. Soft Loan) มีภาระผูกพันสูงสุดไม่เกิน 3,500 ล้านบาท
3.ภาระหนี้ผูกพันจากการชดเชยค่าใช้จ่ายและความเสียหายตาม พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 (พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ) มีภาระผูกพันสูงสุดไม่เกิน 67,520 ล้ายบาท
(ที่มา : แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) ฉบับทบทวน)
@ปีงบ 67 กู้ชดเชยขาดดุล 6.9 แสนล.-ก่อหนี้ใหม่ 1.94 แสนล.
นอกจากนี้ การที่ ครม.อนุมัติกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบฯ 2567 โดยกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่าย 3,480,000 ล้านบาท โดยคาดการณ์จัดเก็บรายได้ 2,787,000 ล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลต้องมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจำนวน 693,000 ล้านบาท
อีกทั้งภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบ 2567 (เฉพาะในส่วนที่ ครม.ได้มีมติอนุมัติแล้ว) ซึ่ง ครม. มีมติอนุมัติไปเมื่อวันที่ 26 ก.ย.2566 พบว่าประกอบด้วย 1.แผนการก่อหนี้ใหม่ 194,434.53 ล้านบาท 2.แผนการบริหารหนี้เดิม 1,621,135.22 ล้านบาท และ 3.แผนการชำระหนี้ 390,538.63 ล้านบาท
ทั้งนี้ การที่รัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่มขึ้น ทั้งการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ การกู้เงินตามแผนการก่อหนี้ใหม่ ซึ่งรวมไปถึงการกู้เงินเพื่อนำไปใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาทฯ เป็นต้น นั้น อาจทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินในตลาดการเงินปรับสูงขึ้น หากมีการออกพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้น
(ที่มา : แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบ 2567 เฉพาะในส่วนที่ ครม.ได้มีมติอนุมัติแล้ว)
ที่มา : รายงานเสถียรภาพระบบการเงินไทยรายไตรมาส ประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ธปท.)
เหล่านี้เป็นข้อมูลสถานะหนี้สาธารณะ และภาระหนี้ผูกพันต่างๆ ในช่วงที่ รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน กำลังเดินหน้าหาแหล่งเงินงบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท มาใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่น่าจะมีความชัดเจนในเร็วๆนี้!
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.จับตานโยบายแจกเงินดิจิทัล เตรียมประสานนักวิชาการ-หน่วยงานให้ข้อมูล
‘จุรินทร์’ อัดเงินหมื่นดิจิทัล รัฐบาลต้องชัดที่มาของเงิน-วิธีแจก
‘นพ.วรงค์’ร้อง‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’หาข้อเท็จริง-ส่งเรื่อง‘ศาลปค.’สั่งระงับแจก‘เงินดิจิทัล’
‘เศรษฐา’ ปัดเอื้อ ‘แสนสิริ’ ทำแอปฯรอ ‘ดิจิทัลวอลเลต’
‘เศรษฐา’ ปัดแบ่งแยกประชาชนปมดิจิทัลวอลเลต-สั่งเดินหน้า ‘แลนด์บริดจ์’
ปชช. 30.92% ค่อนข้างกังวลนโนบายดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท อาจได้ไม่คุ้มเสียกับประเทศ
‘เศรษฐา’ ขอคนเห็นด้วยดิจิทัลวอลเลตส่งเสริม-ลดวงเงินสี่แสนล้านข่าวมั่ว
วิพากษ์ รบ.มุ่ง‘ศก.โต ‘มากกว่า‘รัฐสวัสดิการ’แนะผัน‘เงินดิจิทัล’เพิ่มเบี้ยคนชรา-เด็ก
การแจกเงินดิจิทัลเป็นการจ่ายเงินแผ่นดินที่ขัดรัฐธรรมนูญ
ป.ป.ช.จับตา 'แจกเงินดิจิทัล' เข้าข่ายทุจริตเชิงนโยบายหรือไม่