“…นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 จนถึงวิกฤตโควิด-19 พบว่า ระหว่างปี 2541-2564 รัฐบาล 5 ชุด (รัฐบาลชวน หลักภัย ,รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ,รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ,รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้ออก พ.ร.ก.กู้เงินฯ หรือ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ วงเงินกู้ตั้งแต่ 3 แสนล้านบาทขึ้นไป อย่างน้อย 9 ฉบับ…”
.................................
แม้ว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา
รัฐบาลที่มี 'พรรคเพื่อไทย' เป็นแกนนำ ได้ยืนยันมาโดยตลอดว่า แหล่งเงินที่จะนำมาใช้ใน ‘โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet’ จะไม่มีการ ‘กู้เงิน’
แต่แล้วในที่สุด เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ก็ต้องกลับคำพูด โดยล่าสุด เศรษฐา ยอมรับว่า คำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุด ในการหาแหล่งทุนมาใช้ในการดำเนิน 'นโยบายดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท' คือ การออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งอนุมัติโดยรัฐสภา
“…แหล่งเงินทุนในโครงการทั้งหมดนี้ เราได้พิจารณาแหล่งเงินทุนที่เป็นไปได้อย่างรอบคอบ ซึ่งเราไม่ได้มองแค่การใช้ตัวเลือกใดตัวเลือกนึง เราดูถึง Hybrid option ที่ผสมผสานหลายๆแนวทางด้วย
ในวันนี้ คำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุดในการดำเนินนโยบายนี้ คือ การออก พ.ร.บ.เป็นวงเงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งต้องผ่านกระบวนการการตีความโดยกฤษฎีกา เพื่อให้การออก พ.ร.บ.กู้เงินดังกล่าว เป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม และไม่ขัดต่อหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การออก พ.ร.บ.จะมีความโปร่งใส ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภา
และผมมั่นใจว่า ในที่สุดแล้วจะได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภา และเป็นไปตามมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561” เศรษฐา แถลงความชัดเจน ‘นโยบายดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท’ เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2566 (อ่านประกอบ : เศรษฐา ทวีสิน : ชงออก 'พ.ร.บ.กู้เงินฯ' 5 แสนล้าน แจกเงินหมื่นดิจิทัลวอลเลต)
เพียงไม่กี่ชั่วโมง หลังการแถลงของ เศรษฐา มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า แนวคิดของรัฐบาลที่จะออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้จ่ายใน ‘โครงการเติมเงิน 10,000 บาทฯ’ นั้น ไม่เป็นไปตาม ‘นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล’ ที่ ‘พรรคเพื่อไทย’ หาเสียงไว้ในการเลือกตั้ง ปี 2566
เพราะจากเอกสารนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ซึ่งยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีระบุไว้อย่างชัดเจนว่า แหล่งที่มาของเงินที่ใช้ในการดำเนิน ‘นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล’ หรือ โครงการเติมเงิน 10,000 บาทฯ จะมาจาก “การบริหารงบประมาณปกติ และบริหารระบบภาษี’
(ที่มา : นโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่ยื่นต่อ กกต. ในการเลือกตั้งปี 2566)
@เงื่อนไขออก‘กฎหมายกู้เงินฯ’ต้องเป็นกรณี‘จําเป็นรีบด่วน’
ที่สำคัญการที่รัฐบาลเศรษฐา มีแผนที่จะผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ เพื่อนำมาใช้จ่ายใน ‘โครงเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet’ นั้น มีเสียงท้วงติงจากหลายฝ่ายว่า อาจสุ่มเสี่ยงขัดต่อกฎหมายต่างๆหรือไม่
ไม่ว่าจะเป็น มาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่บัญญัติว่า
“การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดำเนินการ โดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน
กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ
การดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้นเงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ เบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่กฎหมายกำหนดได้โดยไม่ต้องนําส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”
หรือ มาตรา 140 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่บัญญัติว่า
“การจ่ายเงินแผ่นดิน จะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง หรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ เว้นแต่ในกรณีจําเป็นรีบด่วนจะจ่ายไปก่อนก็ได้
แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีเช่นว่านี้ ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้ในพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายหรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป”
เนื่องจากทั้ง รัฐธรรมนูญ ปี 2560 และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ปี 2561 กำหนดเงื่อนไขในการออก พ.ร.บ.หรือ พ.ร.ก.กู้เงินฯ ว่า
ต้องเป็น ‘กรณีจําเป็นรีบด่วน’ หรือ ‘กรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดำเนินการ โดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน’ เท่านั้น
@5 รัฐบาลออก พ.ร.ก.-พ.ร.บ.กู้เงินฯ อย่างน้อย 9 ฉบับ
นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 จนถึงวิกฤตโควิด-19 พบว่า ระหว่างปี 2541-2564 รัฐบาล 5 ชุด (รัฐบาลชวน หลักภัย ,รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ,รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ,รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้ออก พ.ร.ก. หรือ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ วงเงินกู้ตั้งแต่ 3 แสนล้านบาทขึ้นไป อย่างน้อย 9 ฉบับ
ในจำนวนนี้มี ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ 2 ฉบับ ที่ไม่มีผลบังคับใช้ ได้แก่ ฉบับแรก คือ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ 4 แสนล้านบาท เนื่องจาก ครม.ในขณะนั้น (ครม.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ได้ขอถอนร่าง พ.ร.บ. ออกจากการพิจารณาของรัฐสภา และฉบับที่ 2 คือ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ 2 ล้านล้านบาท ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ
ส่วน พ.ร.ก.อีก 7 ฉบับ ซึ่งมีผู้ยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเช่นกันนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า การออก พ.ร.ก.ดังกล่าว ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีความจำเป็นเร่งด่วนที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้
สำหรับ พ.ร.ก.กู้เงิน และร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน ทั้ง 9 ฉบับ ประกอบด้วย
1.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2541 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2541 สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย
2.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2541 วงเงินไม่เกิน 3 แสนล้านบาท ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2541 สมัยรัฐบาลชวน หลักภัย ทั้งนี้
3.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง พ.ศ.2545 วงเงินไม่เกิน 7.8 แสนล้านบาท ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2545 สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
4.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 วงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2552 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
5.ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ..... วงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท หรือ 'ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท' โดยที่ประชุม ครม. ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2552
ต่อมาวันที่ 4 พ.ค.2553 ที่ประชุม ครม. (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) มีมติให้ 'ถอน' ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ออกจากการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมของ 2 สภา (สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) เนื่องจากเห็นว่า “ภาวะทางเศรษฐกิจและสถานะทางการคลังของประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีขึ้น”
6.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจดัการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 วงเงินไม่เกิน 3.5 แสนล้านบาท ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 ม.ค.2555 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
7.ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... วงเงินไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท หรือ 'ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท' โดยที่ประชุม ครม. ในสมัยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมติอนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2556 (อนุมัติปรับปรุง ร่าง พ.ร.บ.ฯอีกครั้งเมื่อวันที่ 26 มี.ค.2556)
อย่างไรก็ตาม ต่อมาวันที่ 12 มี.ค.2557 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มีข้อความขัดหรือแย้งต่อมาตรา 169 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญปี 2550
เนื่องจากศาลฯเห็นว่า การออกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ‘มิใช่กรณีจำเป็นเร่งด่วน’ จึงขัดหรือแย้งต่อมาตรา 169 วรรคหนึ่ง
ในขณะที่การควบคุมตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณไม่เป็นตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดของแผนงานหรือโครงการฯ อีกทั้งเป็นการสร้างภาระผูกพันทางการเงินแก่ประเทศเป็นจำนวนมหาศาลและเป็นระยะเวลายาวนาน
โดยไม่มีหลักประกันความเสี่ยงภัยทางการเงินการคลังและระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างเพียงพอ จึงมิได้ดำเนินการตามกรอบวินัยการเงินการคลังตามหมวด 8 ของรัฐธรรมนูญฯ จึงขัดหรือแย้งต่อมาตรา 170 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ (อ่านประกอบ : เปิดละเอียด!คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เอกฉันท์ตีตก กม.เงินกู้ 2 ล้านล.)
8.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2563 สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
9.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2564 สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
@หนี้โตเร็ว-ศก.โตค่อยเป็นค่อยไป กระทบเสถียรภาพการคลัง
นอกจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่า ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาท สุ่มเสี่ยงจะขัดต่อกฎหมายหรือไม่ แล้ว
การกู้เงินเพื่อนำมา ‘แจก’ ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet’ นั้น ทำให้หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการก่อหนี้ที่ไม่คุ้มค่าและสร้างภาระหนี้ในระยะยาวให้แก่ประเทศ จากปัจจุบันที่หนี้สาธารณะของไทย (ส.ค.2566) อยู่ที่ 61.78% ต่อจีดีพี
ขณะที่ เศรษฐา ในฐานะประธานกรรมการนโยบายและกำกับหนี้สาธารณะ ก็ 'รับรู้และรับทราบ' สถานการณ์ในเรื่องนี้ดี
สะท้อนได้จากหนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0905/14633 เรื่อง รายงานสถานะของหนี้สาธารณะตามมาตรา 35 (1) แห่ง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งรายงาน ครม. เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่มีการระบุตอนหนึ่งว่า
“การกู้เงินของรัฐบาลได้ถูกนำไปใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ วางรากฐานการพัฒนา สร้างรายได้ และเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่กระจายไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเป็นการลงทุนด้านคมนาคมสาธารณูปการ และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นสำคัญ เพื่อกระจายความเจริญ
ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ขยายโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตของประขาชน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งล้วนมีส่วนช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นและเศรษฐกิจของประเทศขยายตัว
อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะอย่างรวดเร็ว ขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะทำให้สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ” (อ่านเอกสารประกอบด้านล่าง)
จากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่า รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะสามารถผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาท เพื่อนำกู้เงินมาใช้ใน ‘โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet’ จะบรรลุผลตามแนวทางที่วางไว้หรือไม่ ?
อ่านประกอบ :
เศรษฐา ทวีสิน : ชงออก 'พ.ร.บ.กู้เงินฯ' 5 แสนล้าน แจกเงินหมื่นดิจิทัลวอลเลต
นายกฯเผยรับสิทธิ์ดิจิทัลวอลเลต ต้องมีรายได้ต่ำกว่า 7หมื่น/เดือน-เงินฝากไม่ถึง 5 แสน
ประชาชน 50.08% คิดว่าต้องแจกเงินดิจิทัลวอลเลตทุกกลุ่มโดยไม่มีเกณฑ์เงินเดือน-เงินฝาก
แจกเงินดิจิทัล 10,000 บ.! ทีดีอาร์ไอ : การรักษาวินัยการคลังในระบอบประชาธิปไตยเลือกตั้ง
เป็นกลาง-รอบด้าน-ไม่ก้าวล่วงฝ่ายบริหาร! ป.ป.ช.เผยชื่อบอร์ดศึกษาฯ 'ดิจิทัลวอลเลต'
เบื้องหลัง! ‘ป.ป.ช.’ตั้งบอร์ดศึกษาฯ‘ดิจิทัลวอลเลต’-ขีดเส้น 60 วันชงข้อเสนอสกัดทุจริต
‘เศรษฐา’ ขอรอคำตอบทั้งหมดเกี่ยวกับ ดิจิทัลวอลเลต หวั่นประชาชนสับสน
เปิด 3 เกณฑ์คัดคนรวย ‘ดิจิทัลวอลเลต’ ชง ‘เศรษฐา’ พิจารณาสัปดาห์หน้า
‘สุภา’นั่งประธาน! ‘ป.ป.ช.’มีมติตั้งบอร์ดศึกษาฯ‘ดิจิทัลวอลเลต’ ชงข้อเสนอป้องกันทุจริต
นโยบายแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาทในมุมมองการเมือง
ย้อนดู‘หนี้ประเทศ-ภาระผูกพัน’ ก่อน‘รบ.เศรษฐา’เร่งหาแหล่งเงิน 5.6 แสนล.โปะ‘ดิจิทัลวอลเลต’
ป.ป.ช.จับตานโยบายแจกเงินดิจิทัล เตรียมประสานนักวิชาการ-หน่วยงานให้ข้อมูล
‘จุรินทร์’ อัดเงินหมื่นดิจิทัล รัฐบาลต้องชัดที่มาของเงิน-วิธีแจก
‘นพ.วรงค์’ร้อง‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’หาข้อเท็จริง-ส่งเรื่อง‘ศาลปค.’สั่งระงับแจก‘เงินดิจิทัล’
‘เศรษฐา’ ปัดแบ่งแยกประชาชนปมดิจิทัลวอลเลต-สั่งเดินหน้า ‘แลนด์บริดจ์’
ปชช. 30.92% ค่อนข้างกังวลนโนบายดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท อาจได้ไม่คุ้มเสียกับประเทศ
‘เศรษฐา’ ขอคนเห็นด้วยดิจิทัลวอลเลตส่งเสริม-ลดวงเงินสี่แสนล้านข่าวมั่ว
การแจกเงินดิจิทัลเป็นการจ่ายเงินแผ่นดินที่ขัดรัฐธรรมนูญ
ป.ป.ช.จับตา 'แจกเงินดิจิทัล' เข้าข่ายทุจริตเชิงนโยบายหรือไม่