‘คณะกรรมการ ป.ป.ช.’ เห็นชอบข้อเสนอแนะป้องกันทุจริตฯ ‘ดิจิทัลวอลเลต’ ฉบับสุดท้าย แก้เนื้อหา 3 ประเด็น ‘ไม่ฟังธงวิกฤติเศรษฐกิจ-ตัดถ้อยคำสัญญาว่าจะให้-ย้ำไม่ก้าวก่ายนโยบายรัฐบาล’ เตรียมส่งข้อเสนอแนะฯให้ ครม. ทราบ
...................................
เมื่อวันที่ 5 ก.พ. แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ในวันนี้ (5 ก.พ.) คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ฉบับปรับปรุงใหม่ หลังจากเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ป.ป.ช. มีมติอนุมัติหลักการร่างข้อเสนอแนะฯ แต่ไปให้ปรับปรุงรายละเอียดเพิ่มเติมตามความเห็นของกรรมการ ป.ป.ช.
สำหรับข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาทฯ ฉบับปรับปรุงใหม่ ที่ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบนั้น มีการปรับปรุงเนื้อหาของร่างข้อเสนอแนะฯฉบับเดิมใน 3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นที่ 1.การจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันทุจริตฯฉบับนี้ ไม่ถือว่าเป็นการก้าวก่ายนโยบายของรัฐบาล แต่เป็นการให้คำแนะนำตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ที่บัญญัติว่า
“คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจเสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) ปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริต การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
(2) จัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มงวด
(3) เสนอแนะให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมาตรการใดที่เป็นช่องทางให้มีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลดีต่อราชการได้
ในการจัดทำมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในเรื่องที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
เมื่อองค์กรตามวรรคหนึ่งได้รับแจ้งมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว หากเป็นกรณีที่ไม่อาจดำเนินการได้ ให้แจ้งปัญหาและอุปสรรคต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบต่อไป ทั้งนี้ ไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่ได้รับแจ้งจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.”
ประเด็นที่ 2 ปรับปรุงเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจ โดยลดโทนและไม่มีการฟันธงว่า เกิดวิกฤติเศรษฐกิจหรือไม่ เนื่องจากไม่มีการศึกษาปัญหาเศรษฐกิจระดับจุลภาคมาประกอบ และประเด็นที่ 3 ตัดถ้อยคำที่ว่า นโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นการหาเสียงที่ ‘อาจเข้าลักษณะเป็นสัญญาว่าจะให้’ ซึ่งขัดกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 เพราะมีอัยการเพียงรายเดียวที่ให้ความเห็นในเรื่องนี้
แหล่งข่าวกล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ช. จะนำข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ฉบับปรับปรุงใหม่ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ความเห็นชอบในวันนี้ (5 ก.พ.) ส่งไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
วันเดียวกัน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังหารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ในช่วงบ่ายวันนี้ (5 ก.พ.) ว่า ได้มีการพูดคุยกันถึงนโยบายดิจิทัลวอลเลต แต่ยังเปิดเผยรายละเอียดได้ โดยจะเปิดเผยรายละเอียดในวันพรุ่งนี้ (6 ก.พ.) ก่อนการประชุม ครม. อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้รับข้อเสนอแนะป้องกันทุจริตฯของ ป.ป.ช. ในเรื่องนี้ แต่เชื่อว่า มีคำตอบในทุกประเด็นอยู่แล้ว
@ย้อน 9 ข้อเสนอป้องกันทุจริตฯ ก่อน'ป.ป.ช.'ปรับปรุง
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้นำเสนอร่างข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา และคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบในหลักการร่างข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000บาทฯ ซึ่งมี 9 ประเด็น ได้แก่
1.รัฐบาลต้องศึกษา วิเคราะห์การดำเนินโครงการตามนโยบายฯ รวมทั้งชี้แจงความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมว่า ผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ จะไม่ตกแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บุคคลรายใดรายหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมากกว่าผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายที่อาจเข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบาย
รวมทั้งประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะได้รับประโยชน์จากดำเนินโครงการของรัฐบาลอย่างแท้จริง เช่น เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย หรือกลุ่มเปราะบาง พร้อมกับต้องมีขั้นตอนและวิธีการที่เป็นรูปธรรมชัดเจนเพื่อให้ สามารถกระจายการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
2.ในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 ต่อมาเมื่อพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล และได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2566 สำหรับโครงการดังกล่าวมีความแตกต่างกัน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งควรดำเนินการตรวจสอบว่าขัดรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาประกอบการพิจารณา มิฉะนั้น จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับพรรคการเมืองสามารถหาเสียงไว้อย่างไรก็ได้ เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วไม่ จำเป็นต้องปฏิบัติตาม
3.จากตัวเลขภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ ที่ได้จากการศึกษา และตัวทวีคูณทางการคลัง และตัวบ่งชี้ภาวะวิกฤตที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รวบรวมและประมวลข้อมูลจากงานศึกษาของธนาคารโลกและ IMF ปรากฏว่าอัตราความเจริญเติบโตของประเทศไทย ยังไม่เข้าข่ายประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจแต่ประการใด เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น
ดังนั้น ในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน จำเป็นต้องพิจารณาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น การบริโภคภาคเอกชน อัตราการว่างงาน การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การเพิ่มทักษะให้แก่แรงงาน เป็นต้น
4.การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนผลกระทบ และภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต ภายใต้หลักธรรมาภิบาล 4 ด้าน คือ ความโปร่งใส (Transparency) การถ่วงดุล (Checks and Balances) การรักษาความมั่นคงของระบบการคลัง (Fiscal Integrity) และความคล่องตัว (Flexibility)
ซึ่งโครงการนี้มีผลเสียมากกว่าผลดี กล่าวคือต้องกู้เงิน จำนวน 500,000 ล้านบาท ในขณะที่ตัวทวีคูณทางการคลังมีเพียง 0.4 การกู้เงินเป็นการสร้างภาระหนี้แก่รัฐบาลและประชาชนในระยะยาว ซึ่งจะต้องตั้งงบประมาณในการชำระหนี้จำนวนนี้เป็นระยะเวลา 4-5 ปี กระทบต่อตัวเลขการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ
5.การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบคอบ ประกอบด้วย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (มาตรา 172)
พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 (มาตรา 53) พระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (มาตรา 4 5 6) ตลอดจนกฎหมาย คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และระเบียบอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย
6.คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีการประเมินความเสี่ยงในการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet อย่างรอบด้าน โดยกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการบริหารความเสี่ยง และการป้องกันการทุจริต ตลอดจนมีกระบวนการในการตรวจสอบทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจากการดำเนินโครงการ
ซึ่งอาจพิจารณานำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องการบูรณาการป้องกันการทุจริตของโครงการภาครัฐ (โดยการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2553 มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet สามารถดำเนินการได้อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติอย่างแท้จริง
7.การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ควรพิจารณากลุ่มประชาชนเป้าหมายที่เปราะบางที่สุดที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 อาทิ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน
8.ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้กับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาถึงความจ าเป็นและความเหมาะสมตลอดจนระยะเวลา และงบประมาณที่ต้องใช้ในการพัฒนาระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และระยะเวลาในการดำเนินโครงการ ซึ่งโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นการแจกเงินเพียงครั้งเดียวโดยให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน
9.เนื่องจากปัจจุบันอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีลักษณะชะลอตัว มิใช่เศรษฐกิจหดตัวติดลบ หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องการช่วยเหลือประชาชน รัฐบาลก็ควรช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่มีฐานะยากจนที่เปราะบางที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้น มิใช่แจกทุกคนจากแหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่เงินกู้ตามพระราชบัญญัติเงินกู้โดยจ่ายในรูปเงินบาทปกติในอัตราที่เหมาะสม เพื่อพยุงการดำรงชีวิตของกลุ่มประชาชนที่ยากจน
โดยการกระจายจ่ายเงินเป็นงวดๆ หลายงวดผ่านระบบแอปเป๋าตังที่มีประสิทธิภาพ และมีฐานข้อมูลครบสามารถท าได้รวดเร็ว การดำเนินการกรณีนี้ใช้แหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่จากกู้เงินตามพระราชบัญญัติเงินกู้จะลดความเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ ขัดพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 และขัดพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 ประการสำคัญไม่สร้างภาระหนี้สาธารณะของประเทศในระยะยาว เพื่อสร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาวของประเทศได้
และหากการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจอย่างเพียงพอ ก็อาจแสดงให้เห็นได้ว่า ผู้ดำเนินโครงการอาจไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่อาจมีความประสงค์เพียงการแจกเงินให้กับประชาชนเป็นหลักตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้เท่านั้น ซึ่งหากพิจารณาตามหลักสัดส่วนของวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการ (Proportionality principle) แล้ว
อาจทำให้แปลความได้ว่า นโยบายการหาเสียงดังกล่าว อาจเข้าลักษณะเป็นสัญญาว่าจะให้ ซึ่งขัดกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 73 (1) หรือมาตรา 136 วรรคหนึ่งได้
อ่านประกอบ :
เปิดความเห็น 4 หน่วยงาน(จบ) ธปท.ย้ำ‘ดิจิทัลวอลเลต’ต้องไม่สร้าง‘เงินใหม่’-เตือนเสี่ยงทุจริต
เปิดความเห็น 4 หน่วยงาน(2) สศช.ห่วง‘ดิจิทัลวอลเลต’ดันหนี้สูง ฉุดเครดิตปท.-ชี้ศก.ไม่วิกฤติ
เปิดความเห็น 4 หน่วยงาน(1) ‘คลัง’เตือน‘ดิจิทัลวอลเลต’กระตุ้นศก.ระยะสั้น-หนี้ปท.พุ่ง 66.65%
เปิด 9 ข้อเสนอแนะฯป้องกันทุจริต‘ดิจิทัลวอลเลต’ ชง‘บอร์ด ป.ป.ช.’เคาะอีกครั้งใน 2 สัปดาห์
‘จุลพันธ์’ รับ ‘ดิจิทัลวอลเลต’ ส่อหลุด พ.ค. 67 ยืนยันเศรษฐกิจตอนนี้วิกฤติ
‘เลขากฤษฎีกา’ แนะรัฐบาลควรรับฟังความเห็น ป.ป.ช. ก่อนทำดิจิทัลวอลเลต
‘ภูมิธรรม’ เลื่อนถกบอร์ดดิจิทัลวอลเลต เหตุรอความเห็น ป.ป.ช. 1-2 สัปดาห์นี้
'เศรษฐา'ขอถก'บอร์ดนโยบายฯ'ก่อนกู้แจก'หมื่นดิจิทัล'-เผย'กฤษฎีกา'ไม่บอก'ทำได้หรือไม่ได้'
เปิดคำสั่ง‘ผู้ว่าฯสตง.’ ตั้ง‘คณะทำงานฯ’ศึกษา‘ความเสี่ยง-ผลกระทบ’แจก‘เงินหมื่นดิจิทัล’
‘รมช.คลัง’เผย‘กฤษฎีกา’ชี้รัฐบาลออก‘พ.ร.บ.กู้เงินฯ’ 5 แสนล.ได้-ยันแจก‘หมื่นดิจิทัล’พ.ค.67
อธิบายแค่ข้อกม.! ‘กฤษฎีกา’ตอบ‘คลัง’ ไม่ฟันธงออกพ.ร.บ.กู้ 5 แสนล.แจก 1 หมื่น ทำได้หรือไม่
ย้อนดู‘กม.กู้เงิน’ 9 ฉบับ ก่อน'รบ.เศรษฐา'จ่อชง'พ.ร.บ.กู้ฯ’5 แสนล.แจก‘เงินหมื่นดิจิทัล’
เป็นกลาง-รอบด้าน-ไม่ก้าวล่วงฝ่ายบริหาร! ป.ป.ช.เผยชื่อบอร์ดศึกษาฯ 'ดิจิทัลวอลเลต'
เบื้องหลัง! ‘ป.ป.ช.’ตั้งบอร์ดศึกษาฯ‘ดิจิทัลวอลเลต’-ขีดเส้น 60 วันชงข้อเสนอสกัดทุจริต
‘สุภา’นั่งประธาน! ‘ป.ป.ช.’มีมติตั้งบอร์ดศึกษาฯ‘ดิจิทัลวอลเลต’ ชงข้อเสนอป้องกันทุจริต
นโยบายแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาทในมุมมองการเมือง
ย้อนดู‘หนี้ประเทศ-ภาระผูกพัน’ ก่อน‘รบ.เศรษฐา’เร่งหาแหล่งเงิน 5.6 แสนล.โปะ‘ดิจิทัลวอลเลต’