“…นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องการขับเคลื่อน ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. ควรจะดำเนินการศึกษาให้รวดเร็ว ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ ต้องระมัดระวังไม่ให้เป็นการก้าวล่วงการดำเนินงานของฝ่ายบริหาร หรือเป็นการระงับยับยั้งการดำเนินนโยบายโดยไม่มีเหตุอันควร…”
.....................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2566 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet’ ที่มี สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานฯ
โดยคณะกรรมการฯ มีหน้าที่ เช่น การเสนอมาตรการ ความเห็น หรือข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ต่อ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณา นั้น (อ่านประกอบ : ‘สุภา’นั่งประธาน! ‘ป.ป.ช.’มีมติตั้งบอร์ดศึกษาฯ‘ดิจิทัลวอลเลต’ ชงข้อเสนอป้องกันทุจริต)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอ ‘เบื้องหลัง’ การแต่งตั้งคณะกรรมการฯชุดดังกล่าว ผ่านรายงานการประชุม ป.ป.ช. เรื่อง ‘เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet’ เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2566 ดังนี้
@เฝ้าระวังแจกเงิน‘ดิจิทัลวอลเลต’ เหตุใช้งบสูง-สังคมสนใจ
ประธานกรรมการ ป.ป.ช. (พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ) เสนอว่า สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ได้ดำเนินการศึกษาข้อมูล ข้อเท็จจริงเบื้องต้นจากเอกสารคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี และจากข้อมูลที่ปรากฏตามสื่อมวลชนต่างๆ พบว่านโยบาย ‘การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet’ เป็นหนึ่งในนโยบายที่มีการแถลงต่อรัฐสภา
และเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจมาโดยตลอดตั้งแต่ช่วงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ประกอบกับเป็นนโยบายที่คาดว่าจะมีการใช้งบประมาณมากถึง 560,000 ล้านบาท จึงเห็นควรให้มีการเฝ้าระวังการดำเนินนโยบายดังกล่าว
คณะกรรมการเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ในการประชุมครั้งที่ 15/2566 เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2566 ได้พิจารณารายงานการเฝ้าระวังการทุจริต จากคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11-12 ก.ย.2566 กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet แล้ว
มีมติเห็นชอบให้มีการเฝ้าระวังการทุจริต กรณีนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาล และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการนำเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงฯ มาพิจารณาดำเนินการวิเคราะห์ว่า ควรมีหนังสือสอบถามเกี่ยวกับนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ไปยังหน่วยงานใดบ้าง
พร้อมทั้งแก้ไขปรับปรุงประเด็นคำถามในส่วนของกระทรวงการคลัง และเพิ่มเติมประเด็นคำถามในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงาน กกต.) ก่อนนำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาต่อไป
ข้อเท็จจริง
1.คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมฯ เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2566 ได้พิจารณา เรื่อง การเฝ้าระวังการทุจริตจากคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11-12 ก.ย.2566 กรณีนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet แล้วมีมติให้สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต
ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 32 วรรค 2 โดยให้วิเคราะห์องค์ประกอบของคณะกรรมการ เพื่อการศึกษาและรับฟังความเห็นจากผลกระทบนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ว่า
คณะกรรมการดังกล่าว ควรประกอบไปด้วยบุคคลใดบ้าง มีหน้าที่และอำนาจในการศึกษาเรื่องดังกล่าวอย่างไร โดยให้นำไปหารือกับ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ (กรรมการ ป.ป.ช.) และนางสุวณา สุวรรณจูฑะ (กรรมการ ป.ป.ช.) แล้วเสนอต่อที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยให้ดำเนินการต่อไป โดยมิต้องรอรับรองรายงานการประชุมครั้งนี้ก่อน
@ศึกษาแจกเงินดิจิทัลฯ ต้องเร็ว-ไม่ก้าวล่วงฝ่ายบริหาร
2.คณะกรรมการเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ในการประชุมฯ เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2566 ได้พิจารณาร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet แล้ว มีความเห็น ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะดังนี้
(1) เห็นควรให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตามกรอบหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการป้องกันความเสี่ยงต่อการทุจริต โดยเน้นการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล ข้อเท็จจริง
จากผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ทักษะ และประสบการณ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามหลักความเป็นกลาง รอบคอบ รอบด้าน และเป็นธรรม เพื่อให้ได้ข้อมูลและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการทุจริต อันอาจส่งผลให้การดำเนินนโยบายไม่ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
(2) ในการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลเข้ามาเป็นกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เห็นควรให้คำนึงถึงความเหมาะสม ทั้งด้านความรู้ ความสามารถ ความน่าเชื่อถือ และไม่ควรมีคดีร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริต
(3) เห็นควรเสนอรายชื่อของคณะกรรมการฯ เพิ่มเติม
(4) ในส่วนขององค์ประกอบคณะกรรมการฯ ที่เป็นผู้แทนจากพรรคการเมือง เห็นควรเชิญมาให้ข้อมูลเป็นรายครั้ง
(5) นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องการขับเคลื่อน ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. ควรจะดำเนินการศึกษาให้รวดเร็ว ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ ต้องระมัดระวังไม่ให้เป็นการก้าวล่วงการดำเนินงานของฝ่ายบริหาร หรือเป็นการระงับยับยั้งการดำเนินนโยบายโดยไม่มีเหตุอันควร
(6) เห็นควรนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาในเรื่องความชัดเจนของหลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความเห็นสาธารณะ ตามมาตรา 32 วรรค 2 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 เนื่องจากที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช. ยังไม่เคยดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการนำความเห็น ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะของที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาต่อไป
3.สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ได้แก้ไขปรับปรุงร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet และดำเนินการหารือกับ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ และนางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับองค์ประกอบ
ตลอดจนหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการฯ ตามนัยมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. และมติคณะกรรมการเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริตข้างต้นเรียบร้อยแล้ว
@ป.ป.ช.ตั้งบอร์ดศึกษาฯ-ให้เวลา 60 วันชงข้อเสนอป้องกันทุจริต
ข้อพิจารณา
เนื่องจากนโยบาย ‘การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet’ เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลซึ่งมีการใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก และยังไม่มีความชัดเจนในการดำเนินนโยบาย อีกทั้งยังเป็นนโยบายที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ
จึงเห็นควรให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เพื่อดำเนินการศึกษารวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet
และหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริต รวมถึงจัดทำข้อเสนอแนะอื่นๆ ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนดำเนินการรับฟังความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
มติที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet’ โดยให้ปรับแก้ไของค์ประกอบคณะกรรมการบางส่วน และให้คณะกรรมการดังกล่าวดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน
จากนี้ต้องติดตามกันต่อไปว่า คณะกรรมการศึกษาฯกรณีการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต ซึ่งอยู่ระหว่างรอ ‘พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ’ ประธาน ป.ป.ช. ลงนามคำสั่งแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ นั้น จะมีข้อเสนอแนะในการป้องกันการทุจริตฯ โครงการมูลค่า 5.6 แสนล้าน ของรัฐบาล ‘เศรษฐา ทวีสิน’ อย่างไร?
อ่านประกอบ :
‘เศรษฐา’ ขอรอคำตอบทั้งหมดเกี่ยวกับ ดิจิทัลวอลเลต หวั่นประชาชนสับสน
เปิด 3 เกณฑ์คัดคนรวย ‘ดิจิทัลวอลเลต’ ชง ‘เศรษฐา’ พิจารณาสัปดาห์หน้า
‘สุภา’นั่งประธาน! ‘ป.ป.ช.’มีมติตั้งบอร์ดศึกษาฯ‘ดิจิทัลวอลเลต’ ชงข้อเสนอป้องกันทุจริต
นโยบายแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาทในมุมมองการเมือง
‘จุลพันธ์’ ยังไม่เลื่อนแจกเงินหมื่นดิจิทัล รับที่มาเงินยังไม่ชัด
ย้อนดู‘หนี้ประเทศ-ภาระผูกพัน’ ก่อน‘รบ.เศรษฐา’เร่งหาแหล่งเงิน 5.6 แสนล.โปะ‘ดิจิทัลวอลเลต’
ป.ป.ช.จับตานโยบายแจกเงินดิจิทัล เตรียมประสานนักวิชาการ-หน่วยงานให้ข้อมูล
‘จุรินทร์’ อัดเงินหมื่นดิจิทัล รัฐบาลต้องชัดที่มาของเงิน-วิธีแจก
‘นพ.วรงค์’ร้อง‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’หาข้อเท็จริง-ส่งเรื่อง‘ศาลปค.’สั่งระงับแจก‘เงินดิจิทัล’
‘เศรษฐา’ ปัดเอื้อ ‘แสนสิริ’ ทำแอปฯรอ ‘ดิจิทัลวอลเลต’
‘เศรษฐา’ ปัดแบ่งแยกประชาชนปมดิจิทัลวอลเลต-สั่งเดินหน้า ‘แลนด์บริดจ์’
ปชช. 30.92% ค่อนข้างกังวลนโนบายดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท อาจได้ไม่คุ้มเสียกับประเทศ
‘เศรษฐา’ ขอคนเห็นด้วยดิจิทัลวอลเลตส่งเสริม-ลดวงเงินสี่แสนล้านข่าวมั่ว
วิพากษ์ รบ.มุ่ง‘ศก.โต ‘มากกว่า‘รัฐสวัสดิการ’แนะผัน‘เงินดิจิทัล’เพิ่มเบี้ยคนชรา-เด็ก
การแจกเงินดิจิทัลเป็นการจ่ายเงินแผ่นดินที่ขัดรัฐธรรมนูญ
ป.ป.ช.จับตา 'แจกเงินดิจิทัล' เข้าข่ายทุจริตเชิงนโยบายหรือไม่