“…ส่วนข้อเสียของการดำเนินนโยบายในลักษณะข้างต้น คือ ผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจมีผลบวกในระยะสั้นและลดลงในระยะต่อไป และในข้อเท็จจริงหากกระตุ้นผ่านการบริโภค ประชาชนอาจตัดสินใจที่จะเก็บเป็นเงินออมบางส่วนในส่วนที่ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ หรือซื้อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศบางส่วน ทำให้ผลการกระตุ้นเศรษฐกิจของโครงการลดลง…”
......................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเห็นชอบ 'หลักการ' ร่างข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จัดทำโดยคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet
พร้อมทั้งมีมติให้ กรรมการ ป.ป.ช. นำร่างข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาทฯ ไปพิจารณา เพื่อให้ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ก่อนนำเสนอที่ประชุม ป.ป.ช. อีกครั้งในอีก 2 สัปดาห์ นั้น (อ่านประกอบ : เปิด 9 ข้อเสนอแนะฯป้องกันทุจริต‘ดิจิทัลวอลเลต’ ชง‘บอร์ด ป.ป.ช.’เคาะอีกครั้งใน 2 สัปดาห์)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบว่า ในร่างข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ฉบับดังกล่าว
คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาทฯ ที่มี สุภา ปิยะจิตติ เป็นประธานฯ ได้มีการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานของรัฐ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการคลัง สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงบประมาณ ผ่านการประชุมร่วมกัน ตลอดจนการจัดทำหนังสือขอข้อมูล ข้อเท็จจริง และเอกสารหลักฐานจากหน่วยงานดังกล่าว
ในตอนแรกนี้ สำนักข่าวอิศรา ขอนำเสนอความคิดเห็นของหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงการคลัง 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมสรรพากร กรมบัญชีกลาง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่ได้ให้ความเห็นกรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาล มีรายละเอียด ดังนี้
@ประเมินความเสี่ยงทุจริตไม่ได้ เหตุโครงการฯยังไม่ชัดเจน
กระทรวงการคลัง
(1) กรมสรรพากร
สืบเนื่องจากความไม่ชัดเจนของนโยบาย Digital Wallet ทำให้กรมสรรพากรไม่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นกฎหมายที่พึงระมัดระวังได้ ตลอดจนข้อพึงระวัง หรือประเด็นความเสี่ยงที่อาจเกิดการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลดังกล่าว
การดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงิน 10,000 บาท จะทำให้ Tax Elasticity (ค่าความยืดหยุ่นของภาษีอากร) มีแนวโน้มสูงขึ้น หรือลดลงเพียงใด และการจัดเก็บภาษีจากโครงการ จะทำให้ Ratio ต่อ GDP ดีขึ้นหรือไม่ นั้น
ที่ผ่านมามีตัวเลขสถิติ Tax Elasticity ค่าเฉลี่ยประมาณ 1.1 ถึง 1.2 และ Ratio ต่อ GDP ถ้าหักภาษีคืน ผลจัดเก็บของกรมสรรพากรน่าจะอยู่ประมาณร้อยละ 11.8-12 ต่อ GDP อย่างไรก็ตาม ข้อมูลอาจจะไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่าจะเพิ่มขึ้นลดลงเท่าไหร่ เนื่องจากกรมสรรพากรต้องวิเคราะห์ตัวแปรและเงื่อนไขต่างๆ ประกอบกัน
ในส่วนของกระบวนการทางภาษีหรือระบบทางภาษี จะสามารถป้องกันการทุจริตระหว่างร้านค้ากับประชาชนที่ได้รับเงินแล้ว อย่างไร (การทุจริตในที่นี้คือ การซื้อขายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง)
กรมสรรพากรไม่ทราบแน่ชัดว่า การทุจริตจะเกิดขึ้นในขั้นตอนใด เนื่องจากรูปแบบการดำเนินตามนโยบาย Digital Wallet ไม่มีความชัดเจน แต่หากต้องพิสูจน์เรื่องการทุจริต ก็ต้องพิจารณาว่าโครงการฯ มีรายละเอียดอย่างไร
กรมสรรพากรมีหน้าที่และอำนาจเพียงแค่พิสูจน์รายได้เท่านั้น แต่หากผู้เสียภาษีมีรายได้แล้วปกปิด ก็มีกฎหมายกำหนดความผิดไว้ในมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากรเครื่องมือปัจจุบันของกรมสรรพากร คือ การตรวจสอบธุรกรรมพิเศษ ได้แก่ ธุรกรรม จำนวน 400 ครั้ง มูลค่า 2 ล้านบาท หรือ 3,000 ครั้ง ต่อปีเท่านั้น
ส่วนเครื่องมือที่กรมสรรพากรมีอยู่ในปัจจุบัน ไม่แน่ใจว่าจะตรวจจับธุรกรรมที่ทุจริตได้หรือไม่ เพราะยังไม่ทราบแน่ชัดได้ว่าการทุจริตจะเกิดขึ้นในรูปแบบใด เครื่องมือที่กรมสรรพากรมีจะช่วยได้หรือไม่ เพียงใด
ในการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร เมื่อโครงการฯ เริ่มในปี พ.ศ. 2567 และสามารถ Cash Out ได้จนถึงปี 2570 กรมสรรพากรอธิบายบนสมมติฐานที่ว่า หากเงินที่มีการให้ผ่านกระเป๋าเงิน Digital Wallet เป็นเงินได้พึงประเมิน ไม่ว่าจะ Cash Out หรือไม่ กรมสรรพากรมองว่าเป็นเงินได้พึงประเมินทั้งหมด
ดังนั้น วันที่บุคคลธรรมดาได้รับเงิน ก็มีหน้าที่เสียภาษี ณ วันนั้น กรณีของนิติบุคคลจะเสียภาษีตามรอบระยะเวลาบัญชีส่วนการ Cash Out น่าจะเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งไม่น่าถือเป็นเงินได้ กรมสรรพากรมองเปรียบเทียบกับกรณีการได้รับเช็ค เมื่อผู้มีรายได้ ได้รับเช็คมาก็เปรียบเสมือนมีการได้รับของแทนเงินแล้ว
การเข้าถึงฐานข้อมูลของร้านค้า ที่ผ่านมา กรณีโครงการคนละครึ่ง กรมสรรพากรไม่มีข้อมูล เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากร และสำหรับโครงการ Digital Wallet ก็ยังไม่ได้รับข้อมูลจากหน่วยงานที่กำหนดนโยบาย
ดังนั้น หากมีการแจกเงินในรูปแบบเงินดิจิทัล กรมสรรพากร จะใช้ระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมในการจัดเก็บรายได้พอสมควร โดยพิจารณาว่าการดำเนินงานตามนโยบายโครงการ Digital Wallet เป็นการค้าขายตามปกติแต่หากเป็นเงินดิจิทัล และมี Blockchain กรมสรรพากรก็ต้องหาวิธีการเพื่อให้มีการจัดเก็บรายได้ให้ได้เช่นเดียวกัน
@เตือนรัฐบาลต้องระมัดระวังในประเด็นข้อกฎหมาย 2 ฉบับ
(2) กรมบัญชีกลาง
กรมบัญชีกลางยังไม่ทราบรายละเอียดของนโยบาย ‘การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet’ ที่ชัดเจน โดยจากการเข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ) จำนวน 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 วันที่ 25 ตุลาคม 2566 และวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566
ซึ่งการประชุมครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ เห็นสมควรเสนอคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นการใช้งบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท และเงินกู้จำนวน 3.5 แสนล้านบาท รวมวงเงินของโครงการทั้งสิ้น 5 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ข้อมูลตามที่นายกรัฐมนตรีแถลง จะเป็นการใช้เงินกู้ทั้งหมด จำนวน 5 แสนล้านบาท โดยตราเป็นพระราชบัญญัติเงินกู้ โดยส่งเรื่องหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ได้ข้อยุติในประเด็นด้านกฎหมายก่อนที่จะพิจารณาการดำเนินการในขั้นตอนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ ดังนั้น ระยะเวลาและแผนงานที่จะจัดทำ จึงยังไม่ได้พิจารณา
ประเด็นทางกฎหมายที่พึงระมัดระวังในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรมบัญชีกลาง ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561
ส่วนที่ 1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 25600 มาตรา 140 การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง หรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ
เว้นแต่ในกรณีจำเป็นรีบด่วนจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีเช่นว่านี้ ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้ในพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายหรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป
ส่วนที่ 2 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 7 การกู้เงิน การลงทุน การตรากฎหมาย การออกกฎ หรือการดำเนินการใดๆ ของรัฐ ที่มีผลผูกพันทรัพย์สินหรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย
มาตรา 9 คณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัย ในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัตินี้อย่างเคร่งครัด ในการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการคลัง การจัดทำงบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับความคุ้มค่า และภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ
ในส่วนของช่องทางที่อาจเกิดการทุจริต กรมบัญชีกลางให้ความเห็นว่า การให้ประชาชนใช้เงินเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคตามที่กำหนดไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้จากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ยังมีข้อจำกัดในเรื่องข้อมูลที่จะตรวจสอบว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่
เนื่องจากไม่มีข้อมูลรายละเอียดของสินค้าที่ประชาชนซื้อ หรือร้านค้าขายสินค้านั้นๆ ให้แก่ประชาชน ซึ่งอาจเป็นจุดอ่อนให้เกิดการรับแลกเงินสด จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะว่า การกำหนดเงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการ ทั้งประชาชนและร้านค้า กรณีใช้เงินไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์จะต้องกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงเพื่อให้ตระหนักรู้กฎกติกา
ในส่วนของสวัสดิการที่ให้ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มิได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ.2562 แต่จะมีการเสนอคณะรัฐมนตรีว่า จะให้การช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยในส่วนของค่าอุปโภคบริโภค ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าเดินทาง จำนวนเท่าไหร่แล้ว
จึงออกหลักเกณฑ์ตามมาว่าจะจ่ายกลุ่มเป้าหมายใด เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ โดยมติคณะรัฐมนตรีจะให้วงเงินมา แต่จะอาศัยพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นฐานอำนาจในการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
แต่กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะยังไม่มีฐานรองรับ โดยการพิจารณาหลักเกณฑ์กลุ่มเป้าหมายว่าควรมาจากกลุ่มไหนบ้าง มาจากการพิจารณาในที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยที่ประชุมยังไม่มีการกล่าวถึงประเด็นกฎหมายนี้ กล่าวเพียงว่าเงินกู้นี้จะนำมาเพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางมีข้อกังวลเกี่ยวกับหน่วยรับงบประมาณและหน่วยเบิกจ่ายงบประมาณว่า ในหลักปฏิบัติหน่วยรับงบประมาณและหน่วยเบิกจ่ายงบประมาณไม่ควรเป็นหน่วยเดียวกัน เพราะจะทำให้หลักควบคุมภายในเสียหาย โดยการดำเนินการที่ผ่านมา หน่วยงานที่เสนอเสนอให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเป็นหน่วยรับงบประมาณ ซึ่งจะทำให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างหน่วยรับงบและหน่วยเบิกจ่าย
@พ.ร.บ.กู้ฯ 5 แสนล. ดันหนี้สาธารณะแตะ 66.65% ต่อ GDP
(3) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)
การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 53
ดังนั้น เมื่อรัฐบาลจะดำเนินการกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการดังกล่าว จะต้องคำนึงถึงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องดำเนินโครงการดังกล่าวโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศ เนื่องจากการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่ทัน
ในการนี้ สบน. ได้มีการจัดทำแผนการคลังระยะปานกลางกลาง (Medium Term Fiscal Framework) สำหรับปีงบประมาณ 2567–2570 ฉบับทบทวน ซึ่งไม่รวมโครงการ Digital Wallet คาดว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2567 จะมีหนี้สาธารณะ 12,089,379 ล้านบาท และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่เป็นการคำนวณตามปีงบประมาณ (Fiscal Year) 18,890,700 ล้านบาท โดยจะมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP คิดเป็นร้อยละ 64 (ซึ่งมีพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) เหลืออีกร้อยละ 6 คิดเป็น 1,134,111 ล้านบาท)
กรณีที่มีการออกพระราชบัญญัติกู้เงินเป็นจำนวน 500,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2567 และหากมีการใช้จ่ายในปี 2567 จะนับเป็นหนี้สาธารณะเพิ่มทั้งจำนวน คิดเป็นร้อยละ 2.65 ของ GDP (500,000/18,890,700*100 = 2.65%) ซึ่งจะส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 2567 เพิ่มจากร้อยละ 64 เป็นร้อยละ 66.65
จึงมี Fiscal Space เหลืออีกร้อยละ 3.35 (70-66.65) คิดเป็น 633,507.45 ล้านบาท เป็นผลให้มี Fiscal Space ลดลง แต่ยังคงอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลังที่ร้อยละ 70 สามารถรองรับกรณีที่มีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนมาตรการทางการคลัง การลงทุน ตลอดจนฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างจำกัด
โดย สบน. จะทำการกู้ผ่านการออกตราสารหนี้ประเภทต่าง ๆ เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรออมทรัพย์ ตั๋วสัญญาใช้เงิน และเงินกู้จากธนาคาร ซึ่งเป็นแหล่งเงินภายในประเทศเป็นสำคัญเพื่อนำมาสนับสนุนการดำเนินโครงการฯ ทั้งนี้ การกู้เงินในแต่ละครั้ง จะพิจารณาถึงความจำเป็นในการกู้เงิน ความพร้อมของโครงการ ตลอดจนสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาวะตลาดการเงินทั้งในและต่างประเทศ
และจะประกาศผลการกู้เงินในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา 16 พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548) โดยประกาศดังกล่าวจะระบุรายละเอียดผลการกู้เงินของรัฐบาล ซึ่งครอบคลุมถึงวัตถุประสงค์การกู้เงิน จำนวนเงินกู้ อัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายระยะเวลาการชำระเงินต้นคืน เป็นต้น รวมทั้งมีการเผยแพร่ประกาศดังกล่าวในเว็บไซต์ของ สบน. เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวได้
อย่างไรก็ตาม สบน. ได้อธิบายว่า Bond supply ที่เพิ่มสูงขึ้นในระยะที่ผ่านมา ประเทศมี funding need ปริมาณสูงจากการกู้เงินและการแพร่ระบาดโควิด-19 จึงทำให้ funding need อยู่ที่ประมาณ 2 ล้านล้านกว่าบาทในปี 2567 ซึ่งหมายถึงการก่อหนี้ใหม่ และจำเป็นต้องปรับโครงสร้างหนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นการกู้ระยะสั้น ส่งผลกระทบต่อตลาดของการระดมเงิน และอัตราดอกเบี้ยปรับตัวตามสถานการณ์ของภาวะเศรษฐกิจโลก
ดังนั้น สบน. จึงคาดการณ์การกู้เงินในการดำเนินโครงการดังกล่าวอยู่ในวิสัยที่สามารถบริหารจัดการหนี้สาธารณะได้โดยการปรับโครงสร้างหนี้เดิม โดยอัตราดอกเบี้ยจากการกู้ที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.67 สำหรับการกู้เพื่อมาดำเนินโครงการดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนในเงื่อนเวลา สำหรับการชำะหนี้ ดังนั้น สบน. จึงไม่สามารถประมาณการณ์อัตราดอกเบี้ยชำระคืนได้อย่างชัดเจน
@ยกรัฐธรรมนูญ ม.140 เตือนรบ.ใช้เงินอย่างคุ้มค่า-รอบคอบ
(4) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)
ปลัดกระทรวงการคลังเป็นฝ่ายเลขานุการในคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายฯ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สำหรับสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นฝ่ายเลขานุการร่วมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายฯ ที่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เป็นประธาน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังไม่ได้มอบหมายหน่วยงานใดในกระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ประกอบกับการตราพระราชบัญญัติกู้เงิน ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน โดยมีการมอบหมายหน่วยงานสำหรับภารกิจต่างๆ ดังนี้
-กระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ประเมินผลก่อนการดำเนินโครงการเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
-กรมบัญชีกลาง ทำหน้าที่ในการเบิกจ่ายเงิน
-กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่รับลงทะเบียนร้านค้า โดยมีวัตถุประสงค์ของนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet
โดยสรุป คือ เป็นการใส่เงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง กระจายไปทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอย ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจ ที่จะขยายการลงทุน ขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ และเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ซึ่งรัฐบาลจะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของภาษี และเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความโปร่งใสให้กับกลไกการชำระเงินของระบบเศรษฐกิจและรัฐบาล ซึ่งมีการมอบหมายให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดทำ ระบบ (Service Provider) สำหรับโครงการฯ โดยนำแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” มาพัฒนาต่อยอด
รวมถึงมีการพิจารณานำเทคโนโลยี Blockchain มาดำเนินการ รวมถึงกำหนดให้มีการยืนยันตัวตนและตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการให้ตรงกับเงื่อนไขที่กำหนด ก่อนที่จะได้รับสิทธิภายใต้โครงการฯ ประชาชนทุกคนต้องยืนยันตัวตนผ่านสมาร์ทโฟนก่อนเข้าร่วมโครงการฯ โดยกรมการปกครองจะตรวจสอบสถานะบุคคลและที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของผู้ใช้สิทธิ
นอกจากนี้ มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบ
สำหรับประเด็นทางกฎหมายที่พึงระมัดระวัง เห็นควรคำนึงถึงมาตรา 140 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่กำหนดว่า การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายการโอนงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง หรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ
ซึ่งรัฐบาลต้องดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวอย่างเคร่งครัด โดยต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ความยั่งยืนทางการคลังของรัฐ ตลอดจนประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับความคุ้มค่า
และภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ ตามมาตรา 7 ประกอบกับ มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561
@ชี้แจกเงินกระตุ้นศก.ระยะสั้น แต่ลดลงในระยะต่อไป
ประเด็นเศรษฐกิจและผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินการคลัง จากการดำเนินโครงการควรพิจารณาจาก
(1) สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ณ ช่วงเวลาที่ดำเนินโครงการ ซึ่งหากสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศแสดงทิศทางชะลอตัวลง การดำเนินโครงการ ย่อมส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและส่งผลให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน หากเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง การดำเนินโครงการเพิ่มเติมอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่ออัตราเงินเฟ้อ และกดดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แท้จริงได้
(2) สภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ หากตลาดตราสารหนี้มีสภาพคล่องตึงตัว การกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อดำเนินโครงการ อาจทำให้รัฐบาลต้องกู้ยืมเงินในต้นทุนที่สูงเกินความจำเป็น รวมถึงอาจเกิดการแย่งสภาพคล่องกับภาคเอกชนที่ต้องการระดมทุนและส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชนด้วยเช่นกัน
(3) ความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในอนาคต หากรัฐบาลพิจารณาแนวทางในการเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บรายได้ในอนาคตควบคู่ไปกับการดำเนินโครงการ จะทำให้รัฐบาลมีพื้นที่ทางการคลังเพียงพอในการชำระหนี้ในอนาคตได้ โดยไม่กระทบต่อรายจ่ายที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต เช่น รายจ่ายสวัสดิการหรือรายจ่ายลงทุน
ข้อดีของการดำเนินนโยบายที่มีลักษณะเป็นการโอนเงินโดยทั่วไป คือ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคภาคเอกชนได้อย่างทันท่วงทีและเห็นผลเร็ว และสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ตามความเหมาะสม
ส่วนข้อเสียของการดำเนินนโยบายในลักษณะข้างต้น คือ ผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจมีผลบวกในระยะสั้นและลดลงในระยะต่อไป และในข้อเท็จจริงหากกระตุ้นผ่านการบริโภค ประชาชนอาจตัดสินใจที่จะเก็บเป็นเงินออมบางส่วนในส่วนที่ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ หรือซื้อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศบางส่วน ทำให้ผลการกระตุ้นเศรษฐกิจของโครงการลดลง
ในขณะที่ข้อดีของการดำเนินนโยบายที่มีลักษณะเป็นการลงทุนทั่วไป คือ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของด้านการผลิต ในระยะยาว อาทิ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางกายภาพ ดิจิทัล และหรือบุคลากร เป็นต้น
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการลงทุนจะมีผลเชิงบวกในระยะยาว แต่ก็มีข้อจำกัดในด้านของระยะเวลาในการดำเนินการที่อาจจะมีความล่าช้า อันเนื่องจากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการเตรียมแผน การลงทุน
เหล่านี้เป็นความเห็นของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง 4 หน่วยงาน เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่อยู่ใน 'ร่างข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet' ที่ ป.ป.ช.จะเสนอให้รัฐบาลรับทราบต่อไป!
อ่านประกอบ :
เปิด 9 ข้อเสนอแนะฯป้องกันทุจริต‘ดิจิทัลวอลเลต’ ชง‘บอร์ด ป.ป.ช.’เคาะอีกครั้งใน 2 สัปดาห์
‘จุลพันธ์’ รับ ‘ดิจิทัลวอลเลต’ ส่อหลุด พ.ค. 67 ยืนยันเศรษฐกิจตอนนี้วิกฤติ
‘เลขากฤษฎีกา’ แนะรัฐบาลควรรับฟังความเห็น ป.ป.ช. ก่อนทำดิจิทัลวอลเลต
‘ภูมิธรรม’ เลื่อนถกบอร์ดดิจิทัลวอลเลต เหตุรอความเห็น ป.ป.ช. 1-2 สัปดาห์นี้
'เศรษฐา'ขอถก'บอร์ดนโยบายฯ'ก่อนกู้แจก'หมื่นดิจิทัล'-เผย'กฤษฎีกา'ไม่บอก'ทำได้หรือไม่ได้'
เปิดคำสั่ง‘ผู้ว่าฯสตง.’ ตั้ง‘คณะทำงานฯ’ศึกษา‘ความเสี่ยง-ผลกระทบ’แจก‘เงินหมื่นดิจิทัล’
‘รมช.คลัง’เผย‘กฤษฎีกา’ชี้รัฐบาลออก‘พ.ร.บ.กู้เงินฯ’ 5 แสนล.ได้-ยันแจก‘หมื่นดิจิทัล’พ.ค.67
อธิบายแค่ข้อกม.! ‘กฤษฎีกา’ตอบ‘คลัง’ ไม่ฟันธงออกพ.ร.บ.กู้ 5 แสนล.แจก 1 หมื่น ทำได้หรือไม่
ย้อนดู‘กม.กู้เงิน’ 9 ฉบับ ก่อน'รบ.เศรษฐา'จ่อชง'พ.ร.บ.กู้ฯ’5 แสนล.แจก‘เงินหมื่นดิจิทัล’
เป็นกลาง-รอบด้าน-ไม่ก้าวล่วงฝ่ายบริหาร! ป.ป.ช.เผยชื่อบอร์ดศึกษาฯ 'ดิจิทัลวอลเลต'
เบื้องหลัง! ‘ป.ป.ช.’ตั้งบอร์ดศึกษาฯ‘ดิจิทัลวอลเลต’-ขีดเส้น 60 วันชงข้อเสนอสกัดทุจริต
‘สุภา’นั่งประธาน! ‘ป.ป.ช.’มีมติตั้งบอร์ดศึกษาฯ‘ดิจิทัลวอลเลต’ ชงข้อเสนอป้องกันทุจริต
นโยบายแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาทในมุมมองการเมือง
ย้อนดู‘หนี้ประเทศ-ภาระผูกพัน’ ก่อน‘รบ.เศรษฐา’เร่งหาแหล่งเงิน 5.6 แสนล.โปะ‘ดิจิทัลวอลเลต’