‘จุลพันธ์’ เผย ‘กฤษฎีกา’ ระบุรัฐบาลสามารถออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน แจก ‘เงินหมื่นดิจิทัล’ ได้ แต่ต้องปฏิบัติตาม กม.วินัยการเงินการคลังฯ นัด ‘บอร์ดนโยบายฯ’ หารือสัปดาห์หน้า
....................................
เมื่อวันที่ 8 ม.ค. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบข้อซักถามกรณีการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต มายังกระทรวงการคลังแล้ว โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบว่า การออก พ.ร.บ.กู้เงิน สามารถดำเนินการได้ โดยเป็นไปตามอำนาจคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทฯ ที่จะออกกฎหมายกู้เงินฯ
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกฤษฎีกามีข้อสังเกตในบางข้อ เช่น การออกกฎหมายกู้เงิน จะต้องเป็นไปตามมาตรา 53 และมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังภาครัฐ พ.ศ.2561 และต้องมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ซึ่งประเด็นดังกล่าว ได้มีการพูดคุยกันในเบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ
นายจุลพันธ์ ระบุว่า คาดว่าในสัปดาห์หน้า จะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทฯ ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง เป็นประธาน เพื่อหารือในประเด็นข้อกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจะมีการหารือเรื่องนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันพรุ่งนี้ (9 ม.ค.) ด้วย ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะมีการดำเนินการต่อไป ส่วนการยกร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ นั้น กระทรวงการคลังได้ยกร่างบางส่วนแล้ว
“คำตอบของกฤษฎีกาบอกว่า เป็นอำนาจของทางกระทรวงการคลัง และของรัฐบาลที่จะดำเนินการได้ ในการออก พ.ร.บ.การกู้เงินฯ แต่มีข้อสังเกตมาด้วย มีข้อเสนอแนะในเรื่องให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ มาตรา 53 และมาตรา 57 ซึ่งเป็นเรื่องของความคุ้มค่า นั่นหมายความว่า ต้องมีการประเมินผลได้ ทั้งก่อนและหลังโครงการ
และในเรื่องกลไกที่จะเป็นไปตามข้อกฎหมายมาตรา 53 คือ เป็นวิกฤติหรือไม่ โดยเป็นภาระหน้าที่ของกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการนโยบายฯที่จะดำเนินการให้ครบถ้วน ส่วนที่มีข้อเสนอแนะให้รับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน ตรงจุดนี้จะต้องไปพิจารณากันดู สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ คงต้องมีการเชิญประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ โดยเชิญทุกฝ่ายมา
แล้วต้องรบกวนเลขาธิการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นคณะกรรมการนโยบายฯท่านหนึ่งด้วย ให้มานำเสนอต่อที่ประชุม เพื่อให้ทุกคนรับทราบถึงคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา และให้สรุปให้ที่ประชุมฟังด้วยว่า ในความเห็นนั้นๆมีความเช่นไร และควรดำเนินการเช่นไรต่อ พวกเราในฐานะกรรมการนโยบายฯ หลังจากประชุมกันแล้ว คงจะต้องมีมติว่าเราเดินขั้นต่อไปอย่างไร” นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ ยืนยันว่า การใช้จ่ายเงินในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต จะเป็นไปตามกรอบระยะเวลาเดิม หรือเดือน พ.ค.2567 โดยขณะนี้ยังไม่มีเหตุให้เลื่อนเป้าหมายไปจากเดิม จนกว่าจะมีข้อมูลเพิ่มเติมไปจากนี้ ทั้งนี้ กลไกของโครงการดิจิทัลวอลเลตเป็นเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่โครงการสำหรับสงเคราะห์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อให้สภาวการณ์ของเศรษฐกิจไทยกลับไปสู่ระดับการเติบโตที่เต็มศักยภาพ
นายจุลพันธ์ ยังกล่าวถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ว่า ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เราแสดงความเป็นห่วงเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยค่อนข้างเร็วและสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนในวงกว้าง และก็มีตัวเลขที่เป็นข่าวเกี่ยวกับผลกำไรของกลุ่มธนาคาร อันนั้นส่วนหนึ่งเป็นภาระที่ตกกับประชาชน แต่เนื่องจากกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องแบ่งแยกกัน รัฐบาลเป็นกลไกการคลัง ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นกลไกด้านการเงิน จึงเป็นภาระหน้าที่ของ ธปท. ในการกำกับและควบคุมเรื่องอัตราดอกเบี้ย
“อัตราเงินเฟ้อในช่วง 2-3 เดือนหลังอยู่ในระดับติดลบ เดือนล่าสุด (ธ.ค.2566) ลบ 0.83% ซึ่งกระทรวงการคลังเองก็ติดตามอย่างใกล้ชิด มีการสั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปถอดตัวเลขดู ให้เขาถอดพลังงานออก
เพราะแม้ว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้เงินเฟ้อติดลบ เป็นเพราะรัฐบาลมีกลไกเข้าไปช่วยประชาชน โดยเฉพาะเรื่องพลังงาน เราลดราคาพลังงานลงไป แต่พอเราถอดตัวเลขออกมาแล้ว เงินเฟ้อจากลบ 0.83% ก็ยังลบอยู่ 0.15% และถ้าเงินเฟ้อติดลบอย่างต่อเนื่องและยาวไป ก็จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ซึ่งอันนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย” นายจุลพันธ์ กล่าว
อ่านประกอบ :
อธิบายแค่ข้อกม.! ‘กฤษฎีกา’ตอบ‘คลัง’ ไม่ฟันธงออกพ.ร.บ.กู้ 5 แสนล.แจก 1 หมื่น ทำได้หรือไม่