เอ็กซ์คลูซีฟ 'อิศรา' : เปิดผลศึกษาความเสี่ยง/ผลกระทบโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท คณะทำงานชุด สตง. ชี้รัฐบาล-ครม.ต้องรักษาวินัยการเงินเคร่งครัด ให้ความสำคัญเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่อจีดีพีที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ระบุใช้เงินงบประมาณแผ่นดินสูงมาก แต่ไม่ว่าใช้เงินจากแหล่งใด ต้องใช้จ่ายเงินแผ่นดินให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ระมัดระวังมิให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ-ปชช. กำหนดมาตรการป้องกันทุจริต-วางแผนจัดหารายได้ชดใช้หนี้ให้ชัดเจน
จากกรณีในช่วงเดือนพ.ย.2566 นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ลงนามในคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ 305/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาความเสี่ยงและผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ลงวันที่ 15 ก.ย.2566 โดยมีอำนาจหน้าที่ศึกษาข้อมูล ข้อกฎหมาย วิเคราะห์ความเสี่ยงและผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet พร้อมทั้งจัดทำรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์ความเสี่ยงและผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet และเสนอต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
ล่าสุด แหล่งข่าวระดับสูงจาก สตง. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ขณะนี้คณะทำงานศึกษาความเสี่ยงและผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของ สตง. ได้มีการสรุปรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์ความเสี่ยงและผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เสนอต่อผู้ว่าฯ สตง.เรียบร้อยแล้ว
โดยจากการศึกษาข้อมูลความเสี่ยงทางการคลัง ข้อมูลวงเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ ที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการของรัฐบาล และการแถลงนโยบายของรัฐบาลดังกล่าวข้างต้น คณะทำงานมีข้อสังเกตและความเห็น โดยสรุปว่า รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายโดยให้ความสำคัญกับบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 62 และมาตรา 164 (2) ที่กำหนดให้รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืนตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ และในการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด แม้ว่ารัฐบาลสามารถดำเนินการขยายกรอบสัดส่วนวงเงินตามกรอบวินัยการเงินการคลัง โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ผ่านการเสนอเรื่องเข้าคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ
อย่างไรก็ตามรัฐบาลต้องดำเนินนโยบายการคลังและบริหารการเงินการคลังให้สอดคล้องกับแผนการคลังระยะปานกลางด้วย โดยในระยะปานกลาง รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่อ GDP ที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องด้วย นอกจากนี้ อาจมีแรงกดดันจากรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้และภาระผูกพันของภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้นจากการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวในระดับสูงในช่วงวิกฤต COVID – 19 ที่ผ่านมา รวมถึงรายจ่ายสวัสดิการของทั้งบุคลากรภาครัฐและประชาชนที่จะเพิ่มขึ้นตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุประกอบกับรัฐบาลควรเร่งรัดการดำเนินการเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บรายได้เพื่อเพิ่มสัดส่วนภาระดอกเบี้ยระยะปานกลางเมื่อเทียบกับศักยภาพในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ในระดับสากลด้วย
คณะทำงานฯ สตง. ยังระบุด้วยว่า ในการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนที่สูงมาก เพื่อไม่ให้เกิดภาระทางการคลังสะสมเพิ่มขึ้นในอนาคต รัฐบาลอาจเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามระบบงบประมาณปกติ และการดำเนินนโยบายโดยใช้มาตรการกึ่งการคลังตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ควรพิจารณาดำเนินการเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและไม่สามารถใช้จ่ายเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้เท่านั้น หรือหากจะดำเนินการตรากฎหมายเฉพาะเพื่อกู้เงินตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย
คณะทำงานฯ สตง. ยังระบุด้วยว่า ทั้งนี้ ไม่ว่าจะใช้เงินจากแหล่งใด รัฐบาลต้องใช้จ่ายเงินแผ่นดินให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับ ต้นทุน ความคุ้มค่า ภาระการเงินการคลังที่จะเกิดขึ้นแก่รัฐในระยะยาว เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ
โดยต้องดำเนินนโยบายด้วยความระมัดระวังมิให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชน และต้องกำหนดให้มีขั้นตอนในการอนุมัติเบิกจ่ายเงินและการกำกับติดตามที่น่าเชื่อถือและรัดกุมรอบคอบ มีการบริหารจัดการกำกับการใช้จ่ายเงินที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และต้องกำหนดมาตรการในการป้องกันการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างเพียงพอและเหมาะสม รวมถึงการกำหนดรายละเอียดของแผนงานหรือโครงการที่จะใช้จ่ายเงินอันเกี่ยวกับการวางแผนการเงินในส่วนของการจัดหารายได้เพื่อชดใช้หนี้ให้ชัดเจน ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง โดยให้ถือปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
รายงานข่าวแจ้งว่า การศึกษาความเสี่ยงและผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้มีการเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ให้พิจารณาเป็นทางการไปแล้ว แต่คตง.เห็นควรให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาศึกษาข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้ง