“…จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการ ทรัพย์สินหรือหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ…”
.......................................
“…จากข้อพิรุธหลายประการดังกล่าว ประกอบกับพฤติการณ์แวดล้อมทั้งปวงแห่งคดี
จึงฟังได้ว่าผู้ถูกร้อง (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ตกลงนำเงินของผู้ถูกร้อง ทำธุรกรรมต่างๆในนามของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ โดยขั้นตอนสุดท้าย มีการนำเงินนั้น ซื้อกองทุน TMB-T-ES-DPlus และกองทุน TMB-T-ES-IPlus ชื่อนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ แล้วขายกองทุนดังกล่าว ชำระค่าหุ้นให้แก่ผู้ถูกร้อง (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ)
เช่นนี้ เงินจำนวน 119.5 ล้านบาท ยังเป็นของผู้ถูกร้อง (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) ผู้ถูกร้อง จึงยังคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นใน หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น โดยมีนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เป็นผู้ครอบครองหุ้นของ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น และดูแล หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น แทนผู้ถูกร้องมาโดยตลอด
อันเป็นการถือหุ้นของรัฐมนตรี ที่อยู่ในความครอบครอง หรือดูแลของบุคคลอื่น ไม่ว่าโดยทางใดๆ ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 187 ดังนั้น ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้อง (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) จึงสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5)...
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า 3 มี.ค.2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องสั่งให้ผู้ถูกร้องพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น
ดังนั้น ความเป็นรัฐมนตรีของศักดิ์สยามจึงสิ้นสุดลงตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 170 ประกอบมาตรา 82 วรรคสอง นับแต่วันที่ 3 มี.ค.2566 เป็นต้นไป
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ โดยมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้อง (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา มาตรา 170 ประกอบมาตรา 82 วรรคสอง คือ วันที่ 3 มี.ค.2566”
นี่เป็นส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 17 ม.ค.2567 ในคดีที่ สส. 54 คน ได้ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ร้อง) เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2566 กล่าวหา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ขณะดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม (ผู้ถูกร้อง) ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้ผู้ถูกร้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วน
เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 มาตรา 4 (1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่ (อ่านประกอบ : สรุป! คำวินิจฉัยคดีหุ้น หจก.บุรีเจริญ หลักฐานมัดใบเสร็จติดตามนาย 'ศักดิ์สยาม’ เจ้าของตัวจริง)
อย่างไรก็ดี แม้ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ได้สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญฯแล้ว ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.2566 เนื่องจากนายศักดิ์สยาม ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ที่บัญญัติว่า
“รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไปตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ และต้องไม่เป็นลูกจ้างของบุคคลใด”
แต่ทว่าการที่นายศักดิ์สยาม เป็นเจ้าของ ‘ตัวจริง’ ของ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ในช่วงดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม ระหว่างวันที่ 10 ก.ค.2562-5 ก.ย.2566 (หยุดปฏิบัติหน้าที่ 3 มี.ค.2566) นั้น ทำให้นายศักดิ์สยาม อาจต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาในคดีต่างๆ อันเนื่องมาจากการเป็นเจ้าของ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างน้อย 4 ข้อกล่าวหา/คดี ดังนี้
@จงใจยื่นบัญชีบัญชีทรัพย์สินเท็จ โทษคุกไม่เกิน 6 เดือน
ข้อกล่าวหาแรก จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จหรือไม่
ในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2562 ,กรณีพ้นตำแหน่ง สส. เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2566 ,กรณีเข้ารับตำแหน่ง รมว.คมนาคม เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2562
กรณีพ้นจากตำแหน่ง รมว.คมนาคม เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2566 และกรณีเข้ารับตำแหน่ง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2566 นั้น ไม่ปรากฎข้อมูลในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯว่า นายศักดิ์สยาม ได้ระบุว่า มีเงินลงทุนใน หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น แต่อย่างใด
จึงเข้าข่ายว่าเป็นการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จหรือไม่
ทั้งนี้ กรณีการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์ อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น ผู้ยื่นฯต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข้อกฎหมาย
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 บัญญัติว่า
“มาตรา 28 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้…
(3) กําหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และเจ้าหน้าที่ของรัฐยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลดังกล่าว…”
“มาตรา 102 ในการดำเนินการตามมาตรา 28 (3) อย่างน้อยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องกําหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
(1) ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง…”
“มาตรา 114 เมื่อปรากฏว่าผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. กรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้นั้นทราบ และกำหนดระยะเวลาตามสมควรที่ผู้นั้นจะมาชี้แจงข้อกล่าวหา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด แล้วนําเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาต่อไป
กรณีตามวรรคหนึ่ง หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(1) กรณีเป็นบุคคลตามมาตรา 102 (1) (2) (3) และ (9) ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อวินิจฉัย ทั้งนี้ ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีของบุคคลตามมาตรา 102 (9) ด้วย….”
“มาตรา 167 ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ตามมาตรา 28 (3) กรรมการตามมาตรา 42 หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 158 ผู้ใดจงใจ ไม่ยื่นบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือประธานวุฒิสภา แล้วแต่กรณี ภายในเวลาที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนด หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการ ทรัพย์สินหรือหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ก่อนหน้านี้ คือ เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2565 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ให้ดำเนินการไต่สวน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กรณีการปกปิดและแจ้งทรัพย์สินในการเข้าดำรงตำแหน่งฯ ต่อ ป.ป.ช อันเป็นเท็จหรือส่อเจตนาปกปิดทรัพย์สิน กรณีบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด และหจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น (อ่านประกอบ : ยื่น ป.ป.ช.ฟัน'ศักดิ์สยาม' 3 เรื่อง! 'ทวี'แนะปมเขากระโดง ส่งศาลฎีกาสอบจริยธรรมทันที)
@รมต.ครอบงำ-สั่งการ‘หจก.-บริษัท’ โทษคุกสูงสุด 10 ปี
ข้อกล่าวหาที่สอง กรณีเป็นรัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ได้สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญฯ อันเนื่องมาจากการถือหุ้นใน หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ซึ่งอยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 187 นั้น
แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไม่ได้ระบุโทษทางอาญาเอาไว้ เพียงแต่ให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ใน พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 ได้กำหนด 'ข้อห้าม' มิให้รัฐมนตรีกระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหาร ครอบงำ หรือออกคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นหรือการจัดหาผลประโยชน์ในหุ้นส่วนหรือหุ้น
ทั้งนี้ หากรัฐมนตรีผู้ใด มีการกระทำในลักษณะเป็นการเข้าไปบริหาร ครอบงำ หรือออกคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นหรือการจัดหาผลประโยชน์ในหุ้นส่วนหรือหุ้น รัฐมนตรีที่ฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1 แสนบาทถึง 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข้อกฎหมาย
พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543
“มาตรา 4 รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ในห้างหุ้นส่วนจํากัด รัฐมนตรีเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดได้ไม่เกินร้อยละห้าของทุนทั้งหมดของห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้น
(2) ในบริษัทจํากัดหรือบริษัทมหาชนจํากัด รัฐมนตรีเป็นผู้ถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละห้าของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ในบริษัทนั้น”
"มาตรา 5 ในกรณีที่รัฐมนตรีประสงค์จะได้รับประโยชน์จากการเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทในส่วนที่เกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในมาตรา 4 ให้รัฐมนตรี ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) แจ้งเป็นหนังสือให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี และ
(2) โอนหุ้นส่วนหรือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้นิติบุคคลภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้แจ้งให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบ และเมื่อได้ดำเนินการโอนหุ้นส่วนหรือหุ้นให้กับนิติบุคคลใดแล้ว ให้รัฐมนตรีแจ้งเป็นหนังสือให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้โอนหุ้นส่วนหรือหุ้นนั้น”
“มาตรา 11 ห้ามมิให้รัฐมนตรีกระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหาร ครอบงำ หรือออกคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นหรือการจัดหาผลประโยชน์ในหุ้นส่วนหรือหุ้น”
“มาตรา 12 ห้ามมิให้นิติบุคคลยินยอมหรือดำเนินการด้วยวิธีการใดๆ เพื่อให้รัฐมนตรีมีโอกาสเข้าไปบริหาร ครอบงำ หรือออกคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นหรือการจัดหาผลประโยชน์ในหุ้นส่วนหรือหุ้น หรือเปิดเผยต่อบุคคลใดๆ ในลักษณะที่จะมีผลทำให้รัฐมนตรีทราบถึงการบริหารหรือจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นที่รับโอนมาจากรัฐมนตรีผู้นั้น เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นการรายงานการประกอบกิจการตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด”
“มาตรา 16 นิติบุคคลใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 10 หรือมาตรา 13 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท”
“มาตรา 17 รัฐมนตรีผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 11 หรือนิติบุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา 12 ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีหรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
“มาตรา 18 ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ให้ถือว่ากรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงานของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดกับนิติบุคคล เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำของนิติบุคคลนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย”
@กระทำขัดกันระหว่างผลประโยชน์ โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
ข้อกล่าวหาที่สาม มีการกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมหรือไม่
การที่นายศักดิ์สยาม ยังคงเป็นเจ้าของ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น มาโดยตลอด แต่ให้นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เข้ามาถือหุ้นแทนนั้น ปรากฎข้อมูลว่า ในช่วงนายศักดิ์สยาม ดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม และปฏิบัติหน้าที่ รมว.คมนาคม ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.2562-วันที่ 3 มี.ค.2566 นั้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ได้งานจากหน่วยงานของรัฐในช่วงปี 2563-2564 อย่างน้อย 1.1 พันล้านบาท
โดยรายได้ของ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ส่วนหนึ่ง มาจากการเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐสังกัดกระทรวงคมนาคม อาทิ แขวงการทางหลวงบุรีรัมย์ ,แขวงทางหลวงชนบทบุรีรัมย์ และการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นต้น (อ่านประกอบ : 4 ปีหลัง ‘ศักดิ์สยาม’ ขายกิจการให้เพื่อน 119 ล.! หจก.บุรีเจริญฯ รายได้ 2,012 ล.)
ดังนั้น หากมีผู้ยื่นคำร้องไปยัง ป.ป.ช. เพื่อขอให้ตรวจสอบว่า นายศักดิ์สยาม ในช่วงดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม มีการกระทำที่ขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม กรณี หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม หรือไม่ ตรงนี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งข้อกล่าวหาที่รอนายศักดิ์สยามอยู่
ทั้งนี้ หากปรากฏว่ามีการฝ่าฝืนมาตรา 126 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 แล้ว ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 168 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561)
ข้อกฎหมาย
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 บัญญัติว่า
“มาตรา 126 นอกจากเจ้าพนักงานของรัฐที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ห้ามมิให้กรรมการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และเจ้าพนักงานของรัฐที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกาศกำหนด ดำเนินกิจการดังต่อไปนี้
(1) เป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้น ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งมีอำนาจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการกำกับ ดูแลควบคุม ตรวจสอบหรือดำเนินคดี
(2) เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งมีอำนาจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบหรือดำเนินคดี เว้นแต่จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจํากัดหรือบริษัทมหาชนจํากัดไม่เกินจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
(3) รับสัมปทานหรือคงถือไว้ซึ่งสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งมีอำนาจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบหรือดำเนินคดี เว้นแต่จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจํากัดหรือบริษัทมหาชนจํากัดไม่เกินจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
(4) เข้าไปมีส่วนได้เสีย ในฐานะเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงานหรือลูกจ้างในธุรกิจของเอกชนซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่หรือปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของธุรกิจของเอกชนนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้น
ให้นําความในวรรคหนึ่ง มาใช้บังคับกับคู่สมรสของเจ้าพนักงานของรัฐตามวรรคหนึ่งด้วย โดยให้ถือว่าการดำเนินกิจการของคู่สมรสเป็นการดำเนินกิจการของเจ้าพนักงานของรัฐ เว้นแต่เป็นกรณีที่คู่สมรสนั้นดำเนินการอยู่ก่อนที่เจ้าพนักงานของรัฐจะเข้าดำรงตำแหน่ง
คู่สมรสตามวรรคสองให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
เจ้าพนักงานของรัฐที่มีลักษณะตาม (2) หรือ (3) ต้องดำเนินการไม่ให้มีลักษณะดังกล่าวภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เข้าดำรงตำแหน่ง”
“มาตรา 168 เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 126 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีความผิดตามมาตรา 126 วรรคสอง ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเจ้าพนักงานของรัฐนั้นรู้เห็นยินยอมด้วย เจ้าพนักงานของรัฐนั้นต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
ขณะที่ ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง กำหนดตำแหน่งเจ้าพนักงานของรัฐที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามความในมาตรา 126 พ.ศ. 2563 ข้อ 4 กำหนดว่า
“ข้อ 4 วัตถุประสงค์ของมาตรา 126 เป็นการป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งมีที่มาจากการที่เจ้าพนักงานของรัฐได้รับมอบอำนาจจากรัฐ ทำให้มีอำนาจในการอนุมัติ อนุญาต การให้สัมปทาน และลงนามในสัญญาต่างๆ รวมถึงเจ้าพนักงานของรัฐที่มีอำนาจในการกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงกำหนดตำแหน่งเจ้าพนักงานของรัฐที่อยู่ภายใต้บังคับตามมาตรา 126 ดังต่อไปนี้ และรวมถึงเจ้าพนักงานของรัฐที่ได้รับมอบอำนาจให้กระทำการดังกล่าว
(1) ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
1.1 นายกรัฐมนตรี
1.2 รัฐมนตรี….”
@ผิด‘พ.ร.บ.ฮั้วโทษ’คุกสูงสุดตลอดชีวิต-ปรับ 4 แสน
ข้อกล่าวหาที่สี่ กรณีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ
การที่ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น เข้าประมูลงานของภาครัฐและชนะประมูล โดยเฉพาะงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ในช่วงที่นายศักดิ์สยาม เป็น รมว.คมนาคม นั้น อาจทำให้นายศักดิ์สยาม ต้องถูก ป.ป.ช. ตรวจสอบว่า นายศักดิ์สยาม มีการกระทำอันขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือไม่
ทั้งนี้ หากปรากฎว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐฯ หรือกระทำการใดๆ ต่อเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจหรือหน้าที่ในการอนุมัติการพิจารณา หรือการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอราคา
เพื่อจูงใจ หรือทำให้จำยอมต้องยอมรับการเสนอราคาที่มีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐฯ ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 7 ปี ถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 140,000 บาทถึง 400,000 บาท
ข้อกฎหมาย
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542
“มาตรา 13 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือกรรมการหรืออนุกรรมการในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมิใช่เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใด กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกระทำการใดๆ ต่อเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจหรือหน้าที่ในการอนุมัติการพิจารณา หรือการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอราคาเพื่อจูงใจหรือทำให้จำยอมต้องยอมรับการเสนอราคาที่มีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปี ถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท”
“มาตรา 14 ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่เป็นความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้้
ในกรณีที่มีพฤติการณ์ปรากฏแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือมีการกล่าวหาร้องเรียนว่าการดำเนินการซื้อ การจ้าง การแลกเปลี่ยน การเช่า การจำหน่ายทรัพย์สิน การได้รับสัมปทานหรือการได้รับสิทธิใดๆ ของหน่วยงานของรัฐครั้งใด มีการกระทำอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยเร็ว และถ้าเห็นว่ามีมูลให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการกับผู้นั้นตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(2) ในกรณีที่เป็นบุคคลอื่นนอกจากบุคคลตาม (1) ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการกล่าวโทษบุคคลนั้้นต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป ในการดำเนินการของพนักงานสอบสวนให้ถือรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลัก
(3) ในกรณีที่การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตาม (1) และบุคคลอื่นที่ลักษณะคดีมีความเกี่ยวเนื่องเป็นความผิดเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน ถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควรดำเนินการสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในคราวเดียวกัน ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจดำเนินการสอบสวนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด และเมื่อดำเนินการเสร็จให้ส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการให้มีการฟ้องคดีในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีสำหรับผู้ที่กระทำความผิดนั้น โดยให้ถือว่ารายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าการกระทำความผิดดังกล่าวสมควรให้ดำเนินการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้คณะกรรมการป.ป.ช. ส่งผลการสอบสวนข้อเท็จจริงไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อเป็นผู้ดำเนินคดีต่อไป
การดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่เป็นการตัดสิทธิผู้เสียหายหรือหน่วยงานของรัฐที่เสียหายจากการกระทำความผิดในการเสนอราคา ในการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา”
เหล่านี้เป็นข้อกล่าวหา หรือ ‘วิบากกรรม’ ที่นายศักดิ์สยาม อาจต้องเผชิญต่อไป หลังจากเมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า นายศักดิ์สยาม ยังคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นใน หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น โดยมีนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เป็น ‘นอมินี’ ทั้งนี้ 1 ใน 4 ข้อหาดังกล่าว ได้มีการยื่นเรื่องไปให้ ป.ป.ช.ไต่สวนฯแล้ว!
อ่านประกอบ
- ‘ศักดิ์สยาม’ ลาออก สส.-เลขาภูมิใจไทย หลังศาลรธน.ให้สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี
- สรุป! คำวินิจฉัยคดีหุ้น หจก.บุรีเจริญ หลักฐานมัดใบเสร็จติดตามนาย 'ศักดิ์สยาม’ เจ้าของตัวจริง
- 'ศักดิ์สยาม'ไม่รอด! ศาล รธน. วินิจฉัยให้ความเป็น รมต. สิ้นสุดลง ปมถือหุ้น หจก.บุรีเจริญ
- 17 ม.ค 67 ศาลรธน.นัดลงมติ-ฟังคำวินิจฉัย สถานะรมว. 'ศักดิ์สยาม' ปมถือหุ้น หจก.บุรีเจริญ
- 'ศาล รธน.'สั่ง‘บุคคล-หน่วยงาน’ส่ง‘คำชี้แจง-พยานหลักฐาน’เพิ่ม คดีซุกหุ้น‘หจก.บุรีเจริญฯ'
- ไร้หุ้น หจก.บุรีเจริญฯ! เปิดทรัพย์สิน'ศักดิ์สยาม'ล่าสุดรับตำแหน่ง สส.ภูมิใจไทย 111 ล.
- 20 ก.ย. 66 ศาลรธน.นัดอภิปรายคำวินิจฉัยความเป็นรมต.'ศักดิ์สยาม' คดีซุกหุ้น 'บุรีเจริญ'
- พุ่งเป้าพิสูจน์ฐานะการเงิน'ศักดิ์สยาม-ศุภวัฒน์'! เปิดลิสต์31พยานคดีนอมินี'หจก.บุรีเจริญฯ'
- 'ก้าวไกล'ร้อง'ป.ป.ช'สอบ‘ศักดิ์สยาม’ซุกหนี้'หจก.บุรีเจริญฯ'38 ล.-พบพิรุธเอกสารยื่นศาล รธน.
- ย้อนไทม์ไลน์ ปมถือหุ้นรับเหมา‘ศักดิ์สยาม’ ก่อนศาล รธน.สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่
- เอื้องบบุรีรัมย์-เอี่ยวผู้รับเหมา! พรรคร่วมฝ่ายค้าน ลุยยื่นคำร้องถอดถอน 'ศักดิ์สยาม'
- คลี่12ปมส่อขายหุ้นให้นอมินี! เปิดคำร้องส่ง'ศาล รธน.'วินิจฉัย'ศักดิ์สยาม'พ้น‘รมต.’หรือไม่
- ภูมิใจไทย อัดฝ่ายค้าน ถอดถอน ‘ศักดิ์สยาม’ ใช้สิทธิไม่สุจริต - เป็นเกมการเมือง
- ยื่น ป.ป.ช.ฟัน'ศักดิ์สยาม' 3 เรื่อง! 'ทวี'แนะปมเขากระโดง ส่งศาลฎีกาสอบจริยธรรมทันที
- หจก.บุรีเจริญฯ สินทรัพย์ 205 ล้าน ไฉน!‘ศักดิ์สยาม’ ขายให้เพื่อน 119 ล.
- ย้อนดูข้อมูลอิศรา คุ้ย 'หจก.บุรีเจริญฯ' ก่อน ก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ 'ศักดิ์สยาม'
- คุ้ยทรัพย์สิน ส.ส.‘ศักดิ์สยาม’! ใช้ที่อยู่เดียว หจก.บุรีเจริญฯ 25 วันก่อนเปลี่ยน?
- เจาะ 4 โครงการทำถนน คค.-หจก.รับเหมาฯคดีเขากระโดงคว้างาน 122 ล.คู่เทียบเดิม?
- โชว์สัญญาจัดจ้าง! หจก.รับเหมาฯคดีเขากระโดง ใช้ที่อยู่‘ศักดิ์สยาม’คว้างานรัฐ 1.2 พันล.
- หจก.บุรีเจริญฯใช้บ้าน‘ศักดิ์สยาม’เป็นที่ตั้ง-แจ้งเปลี่ยนก่อนนั่ง รมว.คมนาคม 23 วัน
- โชว์สัญญาโอนหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ‘ศักดิ์สยาม-ศุภวัฒน์’ 119.4 ล.-ไม่ระบุจ่ายเงินหรือไม่?
- ปี 58‘ศักดิ์สยาม’คัมแบ็กหุ้นใหญ่ หจก.บุรีเจริญฯ เพิ่มทุน 119.5 ล.-โอนเกลี้ยงปี 61
- เจาะ หจก.บุรีเจริญฯ‘ศักดิ์สยาม-เพิ่มพูน’ ร่วมก่อตั้ง-ลงหุ้นปี 39 ก่อนไขก๊อกปี 40
- เปิดละเอียด! ข้อกล่าวหา’ศักดิ์สยาม-อนุพงษ์’ เอื้อพวกพ้อง-ไม่ถอนโฉนดรุก ‘เขากระโดง’
- ฝ่ายค้านยื่น ป.ป.ช.สอบอีก 2 รมต. ที่ดินเขากระโดง ‘ศักดิ์สยาม’-‘นิพนธ์’โดนนิคมฯจะนะ
- ออกไปนานแล้ว! 'ศักดิ์สยาม' แจงสัมพันธ์ หจก.บุรีเจริญฯ ปมที่ดิน ‘เขากระโดง’
- ‘ศุภวัฒน์-หจก.บุรีเจริญฯ’ 2 ตัวละครมหากาพย์ ‘เขากระโดง’ บริจาค ภท. ปี 62 รวม 7.5 ล.
- คำพิพากษาศาลฎีกาชี้ชัด! ‘เขากระโดง’ที่ดินรถไฟ สะเทือน‘ช้างอารีน่า-บุรีรัมย์คาสเซิล’
- 23 ปียังไม่เพิกถอนโฉนด! เปิดบันทึกกฤษฎีกาชี้ชัด ‘เขากระโดง’ 5 พันไร่ ที่ดินรถไฟ
- พลิกแฟ้มป.ป.ช.! สั่งถอนโฉนดตระกูล ‘ชิดชอบ’ ทับที่ดินรถไฟ ‘เขากระโดง’
- ได้งาน คค.7 ปีหลังสุด 1.9 พันล.! หจก.บุรีเจริญฯของ‘ตัวละครสำคัญ’มหากาพย์‘เขากระโดง’
- เปิดตัว ‘ศุภวัฒน์’ คู่พิพาทที่รถไฟ ‘เขากระโดง’-บริจาค ภท.-‘ศักดิ์สยาม’ เคยเป็นกุนซือ
- ควันหลงซักฟอก! 'ประเสริฐ'ร้อง ป.ป.ช.10 มี.ค.เอาผิด'บิ๊กตู่-จุรินทร์'คดีถุงมือยาง
- มหากาพย์ที่ดิน ‘เขากระโดง’ โยง ‘ศักดิ์สยาม-ญาติ’ มีบ้านพักบน ‘ที่หลวง’