"...นายศุภวัฒน์ เมื่อเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการใน หจก.บุรีเจริญฯ มิได้กำหนดค่าตอบแทนแก่ตนเอง ดังที่นายศักดิ์สยามเคยทำเมื่อเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแต่อย่างใด แต่หากเมื่อใดนายศุภวัฒน์ต้องการนำเงินใน หจก.มาใช้จ่ายส่วนตัว จะรวบรวมใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมัน มาตั้งเบิกเพื่อบันทึกค่าใช้จ่าย รับเป็นเงินสดแต่ละเดือน โดยปรากฏใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมันจำนวนหนึ่ง มีการระบุเลขทะเบียนรถยนต์ของนายศักดิ์สยาม 2 คัน ตามที่แจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สินของ ป.ป.ช. โดยเกิดขึ้นภายหลังนายศักดิ์สยาม โอนหุ้นให้แก่นายศุภวัฒน์ไปแล้ว โดยระบุว่าในใบเสร็จว่า “ติดตามนาย”..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เป็นรายละเอียดโดยสรุปคำวินิจฉัยองค์คณะศาลรัฐธรรมนูญในคดีที่ สส.จำนวน 54 คน ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ร้อง) เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2566 ว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง (รมว.) คมนาคม (ผู้ถูกร้อง) ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างแท้จริง โดยผลคำวินิจฉัยระบุว่านายศักดิ์สยาม ต้องถูกตัดสิทธิ์ความเป็น รมว.คมนาคม ให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.2566 ซึ่งเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งให้นายศักดิ์สยามหยุดปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากการถือหุ้นดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ม.187 ประกอบพ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 ม.4 (1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง เฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ ม.170 วรรคหนึ่ง (5)
*********
@ ข้อเท็จจริงในคดี
ข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่า นายศักดิ์สยาม เป็น รมว.คมนาคม เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2562 ก่อนดำรงตำแหน่ง เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการใน หจก.บุรีเจริญฯ เมื่อ 21 มี.ค. 2558 และในปีเดียวกันเป็นหุ้นส่วนในบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ จำกัด
ต่อมาเมื่อ 6 เม.ย. 2560 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 นายศักดิ์สยาม ประสงค์เตรียมลงสมัคร สส. จึงตกลงโอนหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ ให้แก่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ซึ่งโอนให้แก่นายศักดิ์สยาม รวม 3 งวด ได้แก่ งวดแรก 2 ส.ค. 2560 จำนวน 3 ล้านบาท งวดสอง 5 ก.ย. 2560 จำนวน 35 ล้านบาท และงวดสาม 5 ม.ค. 2560 จำนวน 49.5 ล้านบาท รวม 119.5 ล้านบาท
ต่อมาเมื่อ 6 ก.พ. 2561 มีการแจ้งจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แจ้งนายศักดิ์สยามลาออกจากหุ้นส่วน และหุ้นส่วนผู้จัดการ พร้อมกับโอนหุ้นให้นายศุภวัฒน์ จำนวนเงิน 119.5 ล้านบาท คิดเป็น 99% ของทุนจดทะเบียน
@ เส้นทางการเงินโอน 3 งวดของนายศุภวัฒน์
ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบพยานหลักฐานจากบัญชีธนาคาร กองทุน และสถาบันการเงินต่าง ๆ พบเส้นทางการเงินว่า การโอนเงินทั้ง 3 งวดของนายศุภวัฒน์ ในการซื้อหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ อ้างว่า มาจากการขายกองทุน TMBT จำนวน 2 กองทุน
จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่า การซื้อกองทุนดังกล่าวของนายศุภวัฒน์ พบว่า มีการโอนเงินในวัน และเวลาใกล้เคียงกันจากบริษัท ศิลาชัยฯ และ หจก.บุรีเจริญฯ ให้แก่นายศุภวัฒน์ โดยทั้ง 2 บริษัทดังกล่าว ได้รับการโอนเงินมาจากนายศักดิ์สยาม
โดยเงินที่นำไปซื้อกองทุนช่วงแรก มียอดเงินบางส่วนจำนวน 35 ล้านบาท ในวันเวลาใกล้เคียงกันได้รับการโอนจากบริษัท ศิลาชัยฯ และในวันเวลาใกล้เคียงกันนายศักดิ์สยามได้โอนเงินให้กับบริษัท ศิลาชัยฯ จำนวน 40 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีการซื้อกองทุนเพิ่มเติม พบว่า ในวันเวลาใกล้เคียงกันได้รับการโอนจาก บริษัท ศิลาชัยฯ 36.7 ล้านบาทเศษ และจาก หจก.บุรีเจริญฯ 20 ล้านบาท ซึ่งมีนายศักดิ์สยาม ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจบริษัท ศิลาชัยฯ และหุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.บุรีเจริญฯ เป็นผู้นำมาฝากเงิน 2 ก้อนดังกล่าว เป็นต้น
ทั้งนี้นายศุภวัฒน์ นายศักดิ์สยาม และพยานที่เป็นพนักงานบัญชีในบริษัท ศิลาชัยฯ และ หจก.บุรีเจริญฯ ให้การสอดคล้องกันว่า เงินที่นิติบุคคลทั้ง 2 แห่ง โอนให้นายศุภวัฒน์ เป็นเงินค่าจ้างจัดหาอะไหล่ เครื่องจักร ค่าซ่อมบำรุงเครื่องจักรของ หจก.บุรีเจริญฯ และค่ารับอุปกรณ์ ค่ารับจ้างตักหินให้โรงโม่ของบริษัท ศิลาชัยฯ รวมถึงเป็นเงินจากการชำระหนี้กู้ยืมเงิน
ทั้งนี้นายศักดิ์สยาม และพยานที่เป็นพนักงานบัญชีใน 2 นิติบุคคลดังกล่าว บันทึกถ้อยคำต่อศาลสอดคล้องกัน อ้างว่า บริษัท ศิลาชัยฯ และ หจก.บุรีเจริญฯ มีพนักงานทุจริตภายใน ทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน จึงต้องให้นายศุภวัฒน์ ออกค่าอุปกรณ์ อะไหล่ ฯลฯ ไปก่อน และมีการชำระคืนทีหลังด้วยเงินสด และมีบางส่วนโอนเข้าบัญชี ขณะที่นายศักดิ์สยาม เบิกความอ้างว่า ได้ทำสัญญากู้เงินจากบริษัท ศิลาชัยฯ เช่นเดียวกัน
@ สัญญากู้ยืมเงินมีพิรุธ-ไม่อาจรับฟังได้
จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินจากสถาบันการเงิน และงบดุลบริษัทจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า การชำระเงินไม่ตรงกัน นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังพิเคราะห์แล้วเห็นว่า สัญญากู้ยืมเงินระหว่างนายศุภวัฒน์ กับนิติบุคคล 2 แห่งข้างต้น มีพิรุธหลายประการ และไม่อาจรับฟังได้
นอกจากนี้ที่อ้างว่านิติบุคคลขาดสภาพคล่องทางการเงิน แต่บริษัท ศิลาชัยฯ กลับจัดซื้อเครื่องบินส่วนบุคคล มูลค่า 12 ล้านบาท ตามความประสงค์ของนายศักดิ์สยาม ที่เป็นกรรมการผู้มีอำนาจขณะนั้น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ในฐานะเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย แม้ว่าสภาพคล่องของบริษัทไม่ดีเท่าที่ควร
กรณีการโอนเงิน 36.7 ล้านบาทของบริษัท ศิลาชัยฯ ให้แก่นายศุภวัฒน์โดยอ้างว่าชำระหนี้เงินกู้นั้น ในวันเวลาใกล้เคียงกันนายศักดิ์สยาม ได้โอนเงินเข้าบัญชีบริษัท ศิลาชัยฯ 40 ล้านบาท โดยอ้างว่าชำระหนี้เงินกู้เช่นกัน แต่ในวันดังกล่าวบริษัทมีเงินในบัญชี 40-50 ล้านบาท เพียงพอกับการสำรองจ่ายแก่นายศุภวัฒน์ โดยไม่มีความจำเป็นต้องมีเงินของนายศักดิ์สยามเข้าบัญชีก่อน
นอกจากนี้พยานที่เป็นพนักงานบัญชีของ 2 นิติบุคคลข้างต้น ยืนยันข้อเท็จจริงว่า บริษัทและ หจก.มีเงินคืนสำรองค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์ ค่าเครื่องจักร อะไหล่ ในรอบปี 2560 แต่กลับไม่มีเอกสารฉบับใด หรือใบวางบิลใดที่แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า นายศุภวัฒน์ เป็นผู้ชำระเงินแก่คู่ค้าต่าง ๆ ออกไปก่อน มีเพียงเอกสารที่จัดทำขึ้นภายในบริษัทเท่านั้น แม้นายศุภวัฒน์ อ้างว่าเป็นวิธีการทำธุรกิจ โดยหาผู้อื่นมารับรายได้และจัดการภาษีแทน แต่ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวไม่มีน้ำหนัก เมื่อเทียบกับพยานหลักฐานต่าง ๆ ตามข้อสงสัยที่กล่าวมาข้างต้น คำชี้แจงของนายศุภวัฒน์ และนายศักดิ์สยาม ไม่มีเหตุผลรับฟังได้
ทั้งนี้ ระหว่างปี 2558-2562 งบการเงินของ หจก.บุรีเจริญฯ ที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีผลกำไรเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท รายได้จากผลประกอบการมีแนวโน้มโตต่อเนื่อง ไม่เคยประสบภาวะขาดทุน หรือขาดสภาพคล่องทางการเงิน
เมื่อพิจารณาข้อพิรุธหลายประการ ประกอบพยานหลักฐาน พฤติการณ์แวดล้อม กรณีสอดรับกันแล้ว เงินที่นายศุภวัฒน์ นำมาซื้อกองทุน 2 รายการ ก้อนแรก 35 ล้านบาท จากบริษัท ศิลาชัยฯ ก้อนสอง 56.7 ล้านบาท จากบริษัท ศิลาชัยฯ 36.7 ล้านบาท และ หจก.บุรีเจริญฯ 20 ล้านบาท ไม่ได้เกิดจากธุรกรรมการกู้ยืมเงิน หรือสำรองค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามที่นายศักดิ์สยาม และนายศุภวัฒน์ กล่าวอ้าง แต่ข้อกล่าวอ้างของทั้ง 2 คนรวมถึงพยานบุคคลต่าง ๆ เป็นเพียงการกล่าวอ้าง เพื่อให้เจือสมกับพยานหลักฐานของสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่ปรากฏความสัมพันธ์ของเส้นทางการเงิน ระหว่างนายศักดิ์สยาม นายศุภวัฒน์ บริษัท ศิลาชัยฯ และ หจก.บุรีเจริญฯ
ประกอบกับแม้เงินที่นายศุภวัฒน์ นำมาซื้อกองทุนรายการต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ได้โอนจากบัญชีธนาคารของนายศักดิ์สยามโดยตรง แต่โอนจากบัญชีบริษัท ศิลาชัยฯ และ หจก.บุรีเจริญฯ ในช่วงเวลาดังกล่าว นายศักดิ์สยาม อยู่ในฐานะผู้มีอำนาจใช้จ่ายเงินของนิติบุคคล 2 แห่ง ประกอบคำเบิกความของนายศักดิ์ยาม กรณีบริษัท ศิลาชัยฯ จัดซื้อเครื่องบินส่วนบุคคล 12 ล้านบาท ในปี 2560 แม้บริษัทจะขาดสภาพคล่องตามที่กล่าวอ้าง แต่นายศักดิ์สยามใช้อำนาจกรรมการ จัดซื้อเครื่องบินดังกล่าวเพื่อประโยชน์กิจกรรมทางการเมืองของตน แม้ไม่เกี่ยวกับการทำธุรกิจ นับเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงอำนาจในการใช้จ่ายเงินที่อยู่ในอำนาจของนายศักดิ์สยาม
แม้แหล่งที่มาของเงินซื้อกองทุนจะเกิดขึ้นปี 2560 เกิดขึ้นก่อนนายศักดิ์สยามเป็น รมว.คมนาคม ปี 2562 แต่ช่วงเวลาดังกล่าวนายศักดิ์สยาม และนายศุภวัฒน์ ยอมรับว่า การโอนหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ เกิดขึ้นเนื่องจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 นายศักดิ์สยามประสงค์เตรียมลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.อันแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่แท้จริงของนายศักดิ์สยาม
ดังนั้นข้อเท็จจริงที่ได้จากพฤติการณ์แวดล้อม เป็นพิรุธ น่าสงสัยหลายประการ ประกอบกันมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า เงินที่นายศุภวัฒน์ นำมาชำระค่าเงินลงหุ้นแก่นายศักดิ์สยาม เป็นเงินของนายศักดิ์สยามเอง
นอกจากนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ทรัพย์สินของนายศุภวัฒน์ และครอบครัวหลายรายการ เป็นทรัพย์สินได้ก่อนการซื้อหุ้นเป็นเวลานาน หรือเกิดขึ้นการซื้อขายหุ้นกับนายศักดิ์สยามในปี 2561 อีกทั้งรายการบัญชีเงินฝาก กองทุนเปิดจำนวนมากของนายศุภวัฒน์ ล้วนมีความเคลื่อนไหวบัญชี มีเงินเข้า และออกหลายครั้ง โดยไม่ได้มีเงินฝากสุทธิจำนวนหลายพันล้านบาท ตามที่นายศักดิ์สยาม หรือนายศุภวัฒน์ กล่าวอ้าง
จากการตรวจสอบเอกสารการแสดงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.91) ของนายศุภวัฒน์ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ระหว่างปี 2556-2565 นายศุภวัฒน์ มีรายได้ต่อปี เฉลี่ยไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี จากการเป็นลูกจ้างของบริษัท เอ เอ็น อาร์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด และบริษัท ศิลาชัยฯ รวมถึงไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดที่เห็นว่านายศุภวัฒน์ ประกอบธุรกิจกับบริษัท ศิลาชัยฯ และ หจก.บุรีเจริญฯ นอกจากนี้ยังเป็นลูกจ้างในบริษัท ศิลาชัยฯ ได้เงินเดือน 9 พันบาท ต่อมาได้รับการเพิ่มเงินเดือนเป็น 15,000 บาท โดยนายศุภวัฒน์ อ้างว่า เข้าเป็นพนักงานเพื่อได้รับสิทธิประกันสังคมก็ตาม
ดังนั้นคำชี้แจงและคำเบิกความของนายศุภวัฒน์ มีพิรุธ น่าสงสัยหลายประการ ไม่อาจรับฟังได้ว่านายศุภวัฒน์ เป็นผู้มีความสามารถเพียงพอในการชำระค่าหุ้นให้แก่นายศักดิ์สยาม
@ สถานที่ทั้ง 2 แห่ง อยู่บนที่ดินบริษัท ศิลาชัยฯ
นอกจากนี้ข้อเท็จจริงปรากฏอีกว่า ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ หจก.บุรีเจริญฯ เปลี่ยนแปลงจากเลขที่ 30/2 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นที่อยู่ของนายศักดิ์สยาม เป็นที่ตั้งใหม่ 30/17 ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เมื่อ 18 มิ.ย. 2562 เกิดขึ้นก่อนนายศักดิ์สยามดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม เพียง 23 วัน ขณะที่สถานที่ทั้ง 2 แห่ง ล้วนตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน โดยอยู่บนที่ดินของบริษัท ศิลาชัยฯ
และยังตรวจสอบพบเอกสารการวางบิลของ หจก.บุรีเจริญฯ ระหว่าง ก.พ. 2561-7 มิ.ย. 2562 พบว่า ระบุที่อยู่เป็น 30/17 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ทั้งที่ในช่วงเวลาดังกล่าว หจก.แห่งนี้ยังตั้งอยู่ที่บ้านนายศักดิ์สยาม แม้นายศุภวัฒน์ อ้างว่า การแจ้งเปลี่ยนแปลงที่อยู่ ดำเนินการจดทะเบียนภายหลัง แต่เมื่อพิจารณาเอกสารการวางบิลตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ช่วงเวลาดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงที่อยู่นานถึง 1 ปีเศษ ผิดปกติวิสัยการทำธุรกิจ จึงไม่น่าเชื่อถือ
@ หลักฐานมัดใบเสร็จระบุ “ติดตามนาย”
นอกจากนี้นายศุภวัฒน์ เมื่อเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการใน หจก.บุรีเจริญฯ มิได้กำหนดค่าตอบแทนแก่ตนเอง ดังที่นายศักดิ์สยามเคยทำเมื่อเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแต่อย่างใด แต่หากเมื่อใดนายศุภวัฒน์ต้องการนำเงินใน หจก.มาใช้จ่ายส่วนตัว จะรวบรวมใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมัน มาตั้งเบิกเพื่อบันทึกค่าใช้จ่าย รับเป็นเงินสดแต่ละเดือน โดยปรากฏใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมันจำนวนหนึ่ง มีการระบุเลขทะเบียนรถยนต์ของนายศักดิ์สยาม 2 คัน ตามที่แจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สินของ ป.ป.ช. โดยเกิดขึ้นภายหลังนายศักดิ์สยาม โอนหุ้นให้แก่นายศุภวัฒน์ไปแล้ว โดยระบุว่าในใบเสร็จว่า “ติดตามนาย”
กรณีดังกล่าวนายศักดิ์สยามชี้แจงตามคำแถลงปิดคดี ว่า ไม่ทราบว่านายศุภวัฒน์ เคยขอใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมันจากพนักงานขับรถของตนหรือไม่ และไม่เคยได้รับเงินค่าน้ำมันจาก หจก.บุรีเจริญฯ หรือสั่งพนักงานขับรถนำบิลไปเบิกค่าน้ำมันจาก หจก.บุรีเจริญฯ
เมื่อพิจารณาคำชี้แจงของนายศุภวัฒน์ ที่ทราบดีว่า หากนายศักดิ์สยามเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง หจก.บุรีเจริญฯ เป็นธุรกิจต้องห้าม นายศักดิ์สยามไม่อาจเป็นเจ้าของได้ โดยวิญญูชนทั่วไปแล้ว ย่อมไม่นำใบเสร็จรับเงิน หรือความสัมพันธ์กับนายศักดิ์สยาม เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาใช้เบิกเงินกับ หจก.บุรีเจริญฯ ที่เป็นธุรกิจต้องห้าม เพื่อไม่ให้ผู้ถูกร้องมาเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม กรณีพิรุธน่าสงสัยว่า ผู้ถูกร้องคงมีส่วนเกี่ยวข้องกับ หจก.บุรีเจริญฯ
@ บริจาคเงินให้แก่พรรคภูมิใจไทย
นอกจากนี้ข้อเท็จจริงการบริจาคเงินของนายศุภวัฒน์ ให้แก่พรรคภูมิใจไทย ระหว่างที่นายศักดิ์สยามเป็นเลขาธิการพรรค ตามประกาศนายทะเบียนพรรคการเมืองของ กกต. นายศักดิ์สยาม เป็นเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ตั้งแต่ 2555-ปัจจุบัน
จากเอกสารของพรรคภูมิใจไทย ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายศุภวัฒน์ บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรค โดยบริจาคในนามส่วนตัวเป็นทรัพย์สินประเภท ผลงานวิจัย มูลค่า 2.7 ล้านบาทเศษ เมื่อปี 2562 และบริจาคในนาม หจก.บุรีเจริญฯ จำนวน 4.8 ล้านบาท เมื่อปี 2562 และจำนวน 6 ล้านบาท ในปี 2565 โดยเป็นช่วงระยะเวลาภายหลังที่นายศักดิ์สยาม โอนหุ้นใน หจก.บุรีเจริญฯ ให้กับนายศุภวัฒน์ ในปี 2561 แล้ว
ไม่ปรากฏว่า ช่วงเวลาก่อนการโอนหุ้นดังกล่าว นายศุภวัฒน์ และ หจก.บุรีเจริญฯ เคยบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคภูมิใจไทย หรือเกี่ยวข้อง หรือสัมพันธ์ใด ๆ กับพรรคภูมิใจไทยมาก่อน ประกอบกับศุภวัฒน์ เบิกความว่า ก่อนหน้าที่จะรับโอนหุ้นจากนายศักดิ์สยาม ไม่เคยบริจาคเงินให้กับพรรคภูมิใจไทย
กรณีเป็นข้อพิรุธน่าสงสัยว่า นายศุภวัฒน์ และ หจก.บุรีเจริญฯ ไม่เคยเกี่ยวข้อง หรือสัมพันธ์ใด ๆ กับพรรคภูมิใจไทย แต่ช่วงเวลาภายหลังนายศักดิ์สยามโอนหุ้นให้นายศุภวัฒน์ และ หจก.บุรีเจริญฯ กลับบริจาคเงิน หรือทรัพย์สินให้กับพรรคการเมือง ที่นายศักดิ์สยามมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรค
ดังนั้น จากข้อพิรุธหลายประการดังกล่าว ประกอบพฤติการณ์แวดล้อมทั้งปวงแห่งคดี จึงฟังได้ว่า นายศักดิ์สยาม และนายศุภวัฒน์ ตกลงนำเงินของนายศักดิ์สยาม ทำธุรกรรมต่าง ๆ ในนามนายศุภวัฒน์ โดยขั้นตอนสุดท้ายนำเงินนั้นซื้อกองทุนต่าง ๆ ในชื่อนายศุภวัฒน์ แล้วขายกองทุนดังกล่าว ชำระค่าหุ้นแก่นายศักดิ์สยาม
@ ชี้ 'ศุภวัฒน์' ครอบครองหุ้นแทน ศักดิ์สยาม มาโดยตลอด
เช่นนี้ เงิน 119.5 ล้านบาท ยังเป็นของนายศักดิ์สยาม จึงยังคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นใน หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น โดยมีนายศุภวัฒน์ ครอบครองหุ้นของ หจก.บุรีเจริญ และดูแล หจก.บุรีเจริญ แทนนายศักดิ์สยาม มาโดยตลอด อันเป็นการถือหุ้นของรัฐมนตรี อยู่ในความครอบครอง หรือดูแลของบุคคลอื่น ไม่ว่าโดยทางใด ๆ เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้าม มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ดังนั้นความเป็นรัฐมนตรีของศักดิ์สยามจึงสิ้นสุดลงเฉพาะตัว มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า 3 มี.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายศักดิ์สยาม หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย ศาลจึงต้องสั่งให้นายศักดิ์สยามพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น ดังนั้นความเป็นรัฐมนตรีของศักดิ์สยามจึงสิ้นสุดลงตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 170 นับแต่วันที่ 3 มี.ค. 2566 เป็นต้นไป
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญมีมติด้วยเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยามสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบ มาตรา 82 นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ คือวันที่ 3 มี.ค. 2566
******
อนึ่งก่อนอ่านคำพิพากษา ศาลรัฐธรรมนูญชี้แจงว่า นายวิรุฬห์ แสงเทียน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลาป่วย ไม่สามารถมาร่วมทำคำวินิจฉัยได้ อย่างไรก็ดีตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 52 วรรคสอง บัญญัติว่า องค์คณะของศาลในการพิจารณาคดีและในการทำคำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการไม่น้อยกว่า 7 คน จึงทำคำวินิจฉัยต่อไปได้ โดยในวันนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมี 8 คน จึงสามารถทำคำวินิจฉัยได้
อ่านประกอบ
- ไร้หุ้น หจก.บุรีเจริญฯ! เปิดทรัพย์สิน'ศักดิ์สยาม'ล่าสุดรับตำแหน่ง สส.ภูมิใจไทย 111 ล.
- 20 ก.ย. 66 ศาลรธน.นัดอภิปรายคำวินิจฉัยความเป็นรมต.'ศักดิ์สยาม' คดีซุกหุ้น 'บุรีเจริญ'
- พุ่งเป้าพิสูจน์ฐานะการเงิน'ศักดิ์สยาม-ศุภวัฒน์'! เปิดลิสต์31พยานคดีนอมินี'หจก.บุรีเจริญฯ'
- 'ก้าวไกล'ร้อง'ป.ป.ช'สอบ‘ศักดิ์สยาม’ซุกหนี้'หจก.บุรีเจริญฯ'38 ล.-พบพิรุธเอกสารยื่นศาล รธน.
- ย้อนไทม์ไลน์ ปมถือหุ้นรับเหมา‘ศักดิ์สยาม’ ก่อนศาล รธน.สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่
- เอื้องบบุรีรัมย์-เอี่ยวผู้รับเหมา! พรรคร่วมฝ่ายค้าน ลุยยื่นคำร้องถอดถอน 'ศักดิ์สยาม'
- คลี่12ปมส่อขายหุ้นให้นอมินี! เปิดคำร้องส่ง'ศาล รธน.'วินิจฉัย'ศักดิ์สยาม'พ้น‘รมต.’หรือไม่
- ภูมิใจไทย อัดฝ่ายค้าน ถอดถอน ‘ศักดิ์สยาม’ ใช้สิทธิไม่สุจริต - เป็นเกมการเมือง
- ยื่น ป.ป.ช.ฟัน'ศักดิ์สยาม' 3 เรื่อง! 'ทวี'แนะปมเขากระโดง ส่งศาลฎีกาสอบจริยธรรมทันที
- หจก.บุรีเจริญฯ สินทรัพย์ 205 ล้าน ไฉน!‘ศักดิ์สยาม’ ขายให้เพื่อน 119 ล.
- ย้อนดูข้อมูลอิศรา คุ้ย 'หจก.บุรีเจริญฯ' ก่อน ก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ 'ศักดิ์สยาม'
- คุ้ยทรัพย์สิน ส.ส.‘ศักดิ์สยาม’! ใช้ที่อยู่เดียว หจก.บุรีเจริญฯ 25 วันก่อนเปลี่ยน?
- เจาะ 4 โครงการทำถนน คค.-หจก.รับเหมาฯคดีเขากระโดงคว้างาน 122 ล.คู่เทียบเดิม?
- โชว์สัญญาจัดจ้าง! หจก.รับเหมาฯคดีเขากระโดง ใช้ที่อยู่‘ศักดิ์สยาม’คว้างานรัฐ 1.2 พันล.
- หจก.บุรีเจริญฯใช้บ้าน‘ศักดิ์สยาม’เป็นที่ตั้ง-แจ้งเปลี่ยนก่อนนั่ง รมว.คมนาคม 23 วัน
- โชว์สัญญาโอนหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ‘ศักดิ์สยาม-ศุภวัฒน์’ 119.4 ล.-ไม่ระบุจ่ายเงินหรือไม่?
- ปี 58‘ศักดิ์สยาม’คัมแบ็กหุ้นใหญ่ หจก.บุรีเจริญฯ เพิ่มทุน 119.5 ล.-โอนเกลี้ยงปี 61
- เจาะ หจก.บุรีเจริญฯ‘ศักดิ์สยาม-เพิ่มพูน’ ร่วมก่อตั้ง-ลงหุ้นปี 39 ก่อนไขก๊อกปี 40
- เปิดละเอียด! ข้อกล่าวหา’ศักดิ์สยาม-อนุพงษ์’ เอื้อพวกพ้อง-ไม่ถอนโฉนดรุก ‘เขากระโดง’
- ฝ่ายค้านยื่น ป.ป.ช.สอบอีก 2 รมต. ที่ดินเขากระโดง ‘ศักดิ์สยาม’-‘นิพนธ์’โดนนิคมฯจะนะ
- ออกไปนานแล้ว! 'ศักดิ์สยาม' แจงสัมพันธ์ หจก.บุรีเจริญฯ ปมที่ดิน ‘เขากระโดง’
- ‘ศุภวัฒน์-หจก.บุรีเจริญฯ’ 2 ตัวละครมหากาพย์ ‘เขากระโดง’ บริจาค ภท. ปี 62 รวม 7.5 ล.
- คำพิพากษาศาลฎีกาชี้ชัด! ‘เขากระโดง’ที่ดินรถไฟ สะเทือน‘ช้างอารีน่า-บุรีรัมย์คาสเซิล’
- 23 ปียังไม่เพิกถอนโฉนด! เปิดบันทึกกฤษฎีกาชี้ชัด ‘เขากระโดง’ 5 พันไร่ ที่ดินรถไฟ
- พลิกแฟ้มป.ป.ช.! สั่งถอนโฉนดตระกูล ‘ชิดชอบ’ ทับที่ดินรถไฟ ‘เขากระโดง’
- ได้งาน คค.7 ปีหลังสุด 1.9 พันล.! หจก.บุรีเจริญฯของ‘ตัวละครสำคัญ’มหากาพย์‘เขากระโดง’
- เปิดตัว ‘ศุภวัฒน์’ คู่พิพาทที่รถไฟ ‘เขากระโดง’-บริจาค ภท.-‘ศักดิ์สยาม’ เคยเป็นกุนซือ
- ควันหลงซักฟอก! 'ประเสริฐ'ร้อง ป.ป.ช.10 มี.ค.เอาผิด'บิ๊กตู่-จุรินทร์'คดีถุงมือยาง
- มหากาพย์ที่ดิน ‘เขากระโดง’ โยง ‘ศักดิ์สยาม-ญาติ’ มีบ้านพักบน ‘ที่หลวง’