"...สำหรับที่ดินแปลงอื่นๆ ในบริเวณเขากระโดงนั้น มีที่ดินหลายแปลงที่ยังไม่มีการฟ้องศาลฯขอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดิน เช่น สนามช้างอารีนา ของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มูลค่าการก่อสร้างกว่า 500 ล้านบาท ไม่รวมราคาที่ดิน, โฉนดที่ดินเลขที่ 8564 ของ กรุณา ชิดชอบ เนื้อที่ 37 ไร่เศษ และโฉนดที่ดินของ บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด ที่ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เคยเป็นที่ปรึกษาฯ โครงการ 'บุรีรัมย์ คาสเซิล' คอมมูนิตี้มอลล์และที่ตั้งปราสาทหินพนมรุ้งจำลอง มูลค่ากว่า 400 ล้านบาท ของ บริษัท ศิวะ บาร์ณา จำกัด ที่มี เนวิน ชิดชอบ เป็นประธานกรรมการ เป็นต้น..."
..................
กรณีพิพาทที่ดิน ‘เขากระโดน’ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์
แม้ว่าในปี 2541 คณะกรรมการกฤษฎีกาจะมีคำวินิจฉัยว่า เป็น ‘ที่ดินรถไฟ’ ตามมาตรา 3 (2) และได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 ก่อนโอนมาเป็นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) (อ่านประกอบ : 23 ปียังไม่เพิกถอนโฉนด! เปิดบันทึกกฤษฎีกาชี้ชัด ‘เขากระโดง’ 5 พันไร่ ที่ดินรถไฟ)
ขณะที่เมื่อปี 2554 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้รฟท. แจ้งกรมที่ดิน เพื่อเพิกถอนโฉนดที่ดิน 2 แปลงของนักการเมืองตระกูลดังของจ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นการโฉนดโดยมิชอบทับที่ดินรถไฟบริเวณเขากระโดง (อ่านประกอบ : พลิกแฟ้มป.ป.ช.! สั่งถอนโฉนดตระกูล ‘ชิดชอบ’ ทับที่ดินรถไฟ ‘เขากระโดง’)
แต่ปรากฏว่าข้อมูลว่า การดำเนินการ ‘เพิกถอน’ เอกสารสิทธิ์ที่ดิน เช่น ส.ค.1 น.ส.3 ,น.ส.3 ก. ,น.ส. 3 ข บริเวณเขากระโดง เนื้อที่รวมกว่า 5,000 ไร่นั้น มีที่ดินหลายแปลงที่ รฟท.ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ โดยเฉพาะการขอให้เพิกถอนโฉนดที่หรือหนังสือรับการทำประโยชน์ที่ดิน ขณะที่ รฟท.ชี้แจงว่า จะสรุปความคืบหน้าการดำเนินการในเรื่องนี้ในเร็วๆนี้
“กรณีที่ดินแยกเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ที่มีข้อพิพาทนั้น เมื่อปี 2550 การรถไฟฯได้เข้าไปสำรวจผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ดังกล่าว พบผู้ถือครองเอกสารสิทธิ์ ส.ค.1 มากกว่า 35 ราย ถือครอง น.ส. 3 ก ประมาณ 500 ราย ถือครองโฉนดที่ดินมากกว่า 320 ราย และมีหน่วยราชการในพื้นที่หลายหน่วยงาน
การรถไฟฯได้ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายแล้ว 49 ราย เช่น ส.ค.1 จำนวน 35 ราย ,น.ส. 3 ก จำนวน 7 ราย ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์การรถไฟฯ และขณะนี้คณะทำงานฯอยู่ระหว่างดำเนินการกับผู้บุกรุกเพิ่มเติม และรฟท.เข้าไปทำสัญญาเช่าให้เป็นไปตามระเบียบฯแล้ว”
เป็นคำชี้แจงของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เกี่ยวกับความคืบหน้ากรณีที่ดินเขากระโดง ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 18 ก.พ.2564
แต่นั่นก็ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เหตุใดการฟ้องเพิกถอนโฉนดที่ดินและเอกสารสิทธิ์ที่ดินอื่นๆบริเวณเขากระโดงอีกกว่า 800 แปลง จึงเป็นไปด้วยความล่าช้า และเหตุใด รฟท. จึงฟ้องร้องต่อศาลฯเพื่อขับไล่และขอเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินของประชาชนเฉพาะ ‘บางแปลง’ เท่านั้น
ทั้งๆที่หากอ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกา 2 ครั้ง ได้แก่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 เมื่อวันที่ 16 ก.พ.2560 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2561 จะพบว่า ที่ดินบริเวณเขากระโดงกว่า 5,000 ไร่นั้น เป็นส่วนหนึ่งของพ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทางหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พ.ย.2462 และเป็นที่ดินรถไฟอย่างแน่นอน
@ที่มาแนวเขตที่ดินรถไฟ ‘เขากระโดง’
จากส่วนหนึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 ศาลฯฟังข้อเท็จจริงได้ว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2462 มีประกาศพ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทางหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ให้กรมรถไฟหลวงเริ่มลงมือตรวจและวางแนวรถไฟอันแน่นอนช่วงตั้งแต่นครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ให้แล้วเสร็จใน 2 ปีนับจากประกาศ
มีการแต่งตั้ง ‘ข้าหลวงพิเศษ’ ให้ทำหน้าที่จัดการที่ดินดังกล่าว
และในระหว่าง 2 ปีที่กำหนดไว้นี้ ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดจับจองที่ดินซึ่งว่างเปล่าไม่มีเจ้าของ ส่วนที่ดินที่มีเจ้าของก่อนวันประกาศพ.ร.ฎ. ห้ามมิให้เจ้าของที่ดินที่อยู่ในเขตทางรถไฟตามที่ปรากฎในแผนที่ไปยกให้หรือขายซื้อ แลกเปลี่ยนกับผู้หนึ่งผู้ใด และห้ามมิให้สร้างบ้านเรือนหรือปลูกต้นไม้ หรือทำไร่ ก่อนได้รับอนุญาตจากข้าหลวงหรือผู้แทน
อย่างไรก็ดี หลังจากมีการประกาศพ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทางหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พ.ย.2462 แล้ว ข้าหลวงพิเศษเห็นว่า การก่อสร้างทางรถไฟมีความจำเป็นต้องใช้หินเพื่อโรยทาง จึงวางแนวและดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณ ‘เขากระโดง’ และ ‘บ้านตะโก’ จ.บุรีรัมย์ อันเป็นแหล่งระเบิดหินและย่อยหิน
มีระยะทาง 8 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งในช่วง 4 กม.แรก มีผู้เป็นเจ้าของที่ดิน 18 ราย ส่วนอีก 4 กม.ถัดไปจนถึงบริเวณที่มีการระเบิดและย่อยหินนั้น เป็น ‘ป่าไม้เต็งรัง’ ไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครอง โดยช่วง 4 กม.หลัง มีความกว้างจากแนวกึ่งกลางทางรถไฟข้างละ 1 กม. (1,000 เมตร)
ทั้งนี้ ได้มีการจัดทำแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดิน สายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375-650 และมีการจัดทำบัญชีรายชื่อเจ้าของที่ดิน 18 ราย ระบุไว้ในแผนที่ด้วย
ต่อมาวันที่ 15 ส.ค.2464 พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ.2464 มีผลบังคับใช้
โดยมาตรา 3 (2) บัญญัติว่า ‘ที่ดินรถไฟ’ หมายความว่า ที่ดินทั้งหลายที่ได้จัดหาหรือเช่าถือไว้ใช้ในการรถไฟ โดยชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย
มาตรา 25 บัญญัติว่า จำเดิมแต่วันที่ได้ออกประกาศพ.ร.ฎ.ให้จัดซื้อที่ดินในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นดังได้ระบุกล่าวไว้ในพ.ร.ฎ.นั้น ตกมาเป็นของกรมรถไฟทันที แต่กรมรถไฟแผ่นดินจะมีสิทธิเข้าเข้าปกครองทรัพย์นั้นได้ ต่อเมื่อได้ใช้เงินหรือวางเงินทำขวัญแล้ว
มาตรา 20 บัญญัติว่า ให้กรมรถไฟแผ่นดินเป็นธุระจัดการในการจัดซื้อที่ดินตามที่เห็นจำเป็นเพื่อสร้างทางรถไฟ
มาตรา 6 บัญญัติว่า ห้ามไม่ให้เอกชนหรือบริษัทใดๆ หวงห้ามหรือถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินรถไฟหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เว้นไว้แต่จะได้มีการประกาศกระแสพระบรมราชโองการเป็นพิเศษว่าทรัพย์นั้นๆได้ขาดจากการเป็นที่ดินรถไฟแล้ว
ต่อมาวันที่ 7 พ.ย.2464 มีประกาศพ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทางหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ขยายระยะเวลาการตรวจและวางแนวเขตทางรถไฟช่วงจังหวัดสุรินทร์ถึงอุบลราชธานีออกไปอีก 1 ปี นับจากวันที่ 8 พ.ย.2464
ในวันเดียวกัน คือ วันที่ 7 พ.ย.2464 ยังมีการออกพ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อก่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง และให้ยกเลิกพ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทางหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พ.ย.2462 เฉพาะตอนตั้งแต่ต.ท่าช้าง จ.นครราชสีมา ถึงจ.สุรินทร์ ซึ่งตรวจและวางแนวรถไฟได้แน่นอนแล้ว และให้ใช้พ.ร.ฎ.นี้แทนในเขตเดียวกัน
ทั้งให้ 'กรมรถไฟแผ่นดิน' เป็นธุระจัดหาซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อื่น ตามที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อสร้างทางรถไฟ จาก ต.ท่าช้าง จ.นครราชสีมา ถึงจ.สุรินทร์ โดยที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นซึ่งต้องจัดซื้อที่ระบุไว้ท้ายพ.ร.ฎ. และให้นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของพ.ร.ฎ.ด้วย
ต่อมาวันที่ 27 ก.ย.2465 มีพ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง และให้ยกเลิกพ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทางหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ฉบับลงวันที่ 8 พ.ย.2462 และฉบับลงวันที่ 7 พ.ย.2464
(แผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดิน สายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375-650)
@ศาลฎีการะบุ ‘เขากระโดง’ ที่ดินรถไฟ
ศาลฯ เห็นว่า เมื่อพิจารณาแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดิน สายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375-650 ปรากฏว่า มีแนวทางรถไฟ 2 ส่วน
ส่วนแรก 4 กม.แรก (ตั้งแต่ กม. 0+000 ถึง กม. 4+540) ซึ่งระบุความกว้างจากกึ่งกลางไม่ชัดเจน และมีการระบุชื่อเจ้าของที่ดิน 18 รายนั้น จากการเบิกความนายตรวจทางบุรีรัมย์ มีการยืนยันว่าในช่วง 3 กม.แรก (กม. 0+000 ถึง 3+000) เขตที่ดินรถไฟมีความกว้างจากกึ่งกลางทางรถไฟข้างละ 15 เมตร ถัดไปจนถึง กม.4+540 กว้างข้างละ 20 เมตร
เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินจ่ายเงินค่าทำขวัญให้เจ้าของที่ดิน 18 ราย และมีการลงลายมือชื่อและพิมพ์ลายนิ้วมือรับเงินทำขวัญแล้ว ดังนั้น ที่ดินตามแนวทางรถไฟ 4 กม.แรก และพื้นที่ข้างทางข้างละ 15 เมตรและ 20 เมตร จึงเป็นที่ดินที่กรมรถไฟแผ่นดินจัดซื้อเพื่อประโยชน์ของการรถไฟ
ขณะที่การจ่ายเงินค่าทำขวัญให้เจ้าของที่ดิน 18 รายดังกล่าว นายช่างก่อสร้างเอก สายตะวันออกเฉียงเหนือ ได้มีหนังสือเลขที่ ค.อ.508/67 ลงวันที่ 24 พ.ย.2567 ทูลอำมาตย์โท หม่อมเจ้าฉลาดลบเลอสรร รักษาราชการแทนผู้บัญชาการกรมรถไฟขณะนั้นทรงทราบ พร้อมทั้งใบสำคัญแสดงรายละเอียดแห่งค่าทำขวัญลงวันที่ 9 พ.ย.2464
ส่วนที่สอง ช่วง 4 กิโลเมตรถัดไป (จนถึงบริเวณที่มีการระเบิดและย่อยหิน) ซึ่งเป็นที่ดินที่ไม่มีเจ้าของนั้น การที่พ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทางหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พ.ย.2462 ระบุว่า ในช่วง 2 ปีที่กำหนดไว้ในพ.ร.ฎ. ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าจับจองที่ดินซึ่งเป็นที่ว่างเปล่าไม่มีเจ้าของ
ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่า ข้าหลวงพิเศษที่ได้รับแต่งตั้งตามพ.ร.ฎ. และกรมรถไฟแผ่นดินมีอำนาจกำหนดพื้นที่ ซึ่งเป็นที่ว่างเปล่าไม่มีเจ้าของเป็นที่หวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์ในการก่อสร้างทางรถไฟได้ ข้าหลวงพิเศษและกรมรถไฟแผ่นดิน จึงมีอำนาจเจ้าไปยึดถือที่ดินที่ไม่มีเจ้าของในช่วง 4 กม.ถัดไปด้วย
“ที่ดินตามแผนที่ที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดิน สายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375-650 เป็นส่วนหนึ่งของพ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทางหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ฉบับลงวันที่ 8 พ.ย.2462” ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 8027/2561 ระบุ
(เอกสารคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 8027/2561 เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2561)
@รฟท.จ่อฟ้องเพิกถอนโฉนด-เอกสารสิทธิ์ที่ดิน
จากคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว เมื่อที่ดินบริเวณเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เป็นที่ดินรถไฟ รฟท.จึงมีหน้าที่ดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินหรือเอกสารสิทธิ์ที่ดินทุกแปลงบริเวณเขากระโดง เพราะเป็นที่ดิน ‘หวงห้าม’ ไม่ให้เอกชนหรือบริษัทใดๆถือครองกรรมสิทธิ์ รวมทั้งห้ามไม่ให้ยกกำหนดอายุความขึ้นต่อสู้สิทธิของแผ่นดินเหนือที่ดินรถไฟด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในช่วงปี 2561 จะปรากฏข้อมูลว่า รฟท. เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่ และขอเพิกถอนโฉนดที่ดิน 2 แปลง ได้แก่ โฉนดที่ดินเลขที่ 5272 , 2971 และเพิกถอนหนังสือรับรองประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 206 ต.เสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ พร้อมทั้งเรียกค่าขาดประโยชน์จากจำเลยเป็นเงินกว่า 2 แสนบาท
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 ส.ค.2562 ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ พิพากษาให้ รฟท. ‘มีสิทธิเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดิน’ ทั้ง 3 แปลงได้ และให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้ รฟท.เดือนละ 23,706 บาท ซึ่งต่อมาจำเลยอุทธรณ์ และเมื่อวันที่ 22 เม.ย.2563 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษาให้ รฟท. ‘มีสิทธิเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดิน’ เช่นเดิม รวมทั้งให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้รฟท.ด้วย
แต่สำหรับที่ดินแปลงอื่นๆ ในบริเวณเขากระโดงนั้น มีที่ดินหลายแปลงที่ยังไม่มีการฟ้องศาลฯขอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดิน เช่น สนามช้างอารีน่า ของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มูลค่าการก่อสร้างกว่า 500 ล้านบาท ไม่รวมราคาที่ดิน, โฉนดที่ดินเลขที่ 8564 ของ กรุณา ชิดชอบ เนื้อที่ 37 ไร่เศษ และโฉนดที่ดินของ บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด ที่ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เคยเป็นที่ปรึกษาฯ
โครงการ 'บุรีรัมย์ คาสเซิล' คอมมูนิตี้มอลล์และที่ตั้งปราสาทหินพนมรุ้งจำลอง มูลค่ากว่า 400 ล้านบาท ของ บริษัท ศิวะ บาร์ณา จำกัด ที่มี เนวิน ชิดชอบ เป็นประธานกรรมการ เป็นต้น รวมถึงบ้านเรือนประชาชนอีกหลายร้อยหลังคาเรือน
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดิน สายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375-650 ยังพบว่า บางส่วนของสนามแข่งรถ ‘ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต’ ยังเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินรถไฟที่หวงห้ามไม่ให้เอกชนถือครองด้วย
(ที่ตั้งที่ดินแปลงสำคัญที่อยู่ในพื้นที่รถไฟ 'เขากระโดง' ที่มา Google earth)
จากนี้ไปคงต้องติดตามว่า รฟท. จะดำเนินการฟ้องเพิกถอนโฉนดที่ดินและเอกสารสิทธิ์ที่ดินต่างๆกว่า 800 แปลงได้เมื่อใด
และ รฟท.จะมีทางออกของในการจัดการที่ดินรถไฟ ‘เขากระโดง’ อย่างไร?
อ่านประกอบ :
23 ปียังไม่เพิกถอนโฉนด! เปิดบันทึกกฤษฎีกาชี้ชัด ‘เขากระโดง’ 5 พันไร่ ที่ดินรถไฟ
พลิกแฟ้มป.ป.ช.! สั่งถอนโฉนดตระกูล ‘ชิดชอบ’ ทับที่ดินรถไฟ ‘เขากระโดง’
ได้งาน คค.7 ปีหลังสุด 1.9 พันล.! หจก.บุรีเจริญฯของ‘ตัวละครสำคัญ’มหากาพย์‘เขากระโดง’
เปิดตัว ‘ศุภวัฒน์’ คู่พิพาทที่รถไฟ ‘เขากระโดง’-บริจาค ภท.-‘ศักดิ์สยาม’ เคยเป็นกุนซือ
ควันหลงซักฟอก! 'ประเสริฐ'ร้อง ป.ป.ช.10 มี.ค.เอาผิด'บิ๊กตู่-จุรินทร์'คดีถุงมือยาง
มหากาพย์ที่ดิน ‘เขากระโดง’ โยง ‘ศักดิ์สยาม-ญาติ’ มีบ้านพักบน ‘ที่หลวง’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/