มติพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นฟ้อง-สานต่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ เอาผิดนายกฯ และ 6 รัฐมนตรี 'ประเสริฐ' ยื่นคนแรกไป ป.ป.ช. 10 มี.ค. เอาผิดคดีถุงมือยาง โดนทั้ง 'จุรินทร์' และ 'บิ๊กตู่' ส่วน 3 รัฐมนตรีที่ถูกซักฟอก แต่รอดคือ 'อนุทิน-สุชาติ-ธรรมนัส'
..........................................................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2564 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย แถลงผลประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน ว่าที่ประชุมได้พิจารณาผลสืบเนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และมีมติยื่นเรื่องดำเนินการตามกฎหมาย กับนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวม 7 คน ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลรัฐธรรมนูญ
สำหรับบุคคลที่ถูกฝ่ายค้านดำเนินการต่อเนื่องทางกฎหมาย ประกอบด้วย 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม , 2.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี , 3.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย , 4.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ , 5.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมช.คมนาคม , 6.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ และนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย
นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า ในการยื่นเรื่องตามกฎหมายของแต่ละบุคคลนั้นแตกต่างกันไป บางคนจะยื่นเฉพาะ ป.ป.ช. บางคนจะยื่นเฉพาะที่ศาลรัฐธรรมนูญ หรือบางคนอาจจะถูกยื่นทั้ง 2 องค์กร โดยทั้งหมดคาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน มี.ค.นี้ อย่างไรก็ตามในวันที่ 10 มี.ค. เวลาประมาณ 10.00 น. ตนเองจะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้พิจารณาเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์ และ นายจุรินทร์ กรณีจัดซื้อถุงมือยางขององค์การคลังสินค้า (อคส.)
ด้านนายทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานด้นกฎหมาย เพื่อดูแลรายละเอียดทางคดีว่า รัฐมนตรีแต่ละคนจะถูกยื่นคำร้องที่ใดบ้าง โดยมอบหมายให้นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นประธาน เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการจัดเตรียมข้อมูล รวบรวมพยานหลักฐาน ส่วนรายละเอียดของแต่ละคดีนั้น จะปรากฎในคำร้องของแต่ละบุคคลอยู่แล้ว ทั้งนี้ขอยืนยันว่า เราจะทำหน้าที่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า รัฐมนตรีบางคนอาจจะถูกยื่นคำร้องทั้ง 3 ประเด็น คือ ขัดกันแห่งผลประโยชน์ต้องไปยื่นที่ศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนกรณีทุจริตเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง ต้องไปยื่น ป.ป.ช. หรือบางเรื่องปฏิบัติผิดจริยธรรม ซึ่งเป็นประเด็นที่กว้างขวางมาก ก็จะส่งไปที่ ป.ป.ช.ที่จะต้องประมวลเรื่องส่งให้กับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม หากกรณีศาลรับเรื่องไว้พิจารณา กรณีประมวลจริยธรรมนั้น โดยปกติศาลจะสั่งให้รัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ไปก่อน โดยขั้นตอนจากนี้สิ่งที่เราต้องทำก็คือ ประมวลเรื่องทั้งหมดก่อนว่า ใครจะถูกส่งเรื่องไปที่ไหน เพราะบางคนโดน 1 เรื่อง บางคนก็โดนทั้ง 3 เรื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 17-19 ก.พ.ที่ผ่านมามีรัฐมนตรี รวม 10 คนถูกอภิปรายในครั้งนี้ ส่งผลให้การยื่นดำเนินการตามมติพรรคร่วมฝ่ายค้านต่อจากนี้ มีรัฐมนตรี 3 คนไม่ถูกยื่นเรื่องเอาผิดในองค์การต่างๆ ประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข , นายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.แรงงาน และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/