"... แม้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ จะขายหุ้นและโอนหุ้นให้กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ไปแล้ว แต่กลับยังได้รับผลตอบแทนค่าที่ปรึกษาดังกล่าว ในทางกลับกันนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ซึ่งมีสถานะเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการหรือเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ กลับไม่ได้รับเงินหรือค่าตอบแทนใดๆ จากห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตัคชั่นแต่ประการใด จึงเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยการทำธุรกิจอย่างยิ่ง..."
นับเป็นข่าวใหญ่สะเทือนการเมืองไทย
กรณีเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญ มีการประชุมพิจารณาเรื่องที่ 8/2566 ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่
ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีมติเป็นเอกฉันท์ให้รับคำร้องไว้วินิจฉัย และให้นายศักดิ์สยาม (ผู้ถูกร้อง) ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง
นอกจากนี้ ยังมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 2566 ด้วย
เกี่ยวกับคดีนี้ หากสาธารณชนยังจำได้ ข้อมูลเกี่ยวกับ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และข้อสังเกตความสัมพันธ์กับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นั้น
เคยถูกสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกมาแล้ว ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 ดังนี้
1. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เคยเป็นผู้ก่อตั้ง และเคยเป็นหุ้นใหญ่ ก่อนโอนให้นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ จำนวน 119.4 ล้านบาท เมื่อปี 2561 แต่ยังใช้ที่อยู่ของนายศักดิ์สยาม เป็นที่ตั้งบริษัท จนกระทั่งเป็น ส.ส. เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2562 ก่อนที่ หจก.ดังกล่าวจะแจ้งย้ายที่ตั้งก่อนนายศักดิ์สยาม รับตำแหน่ง รมว.คมนาคม เพียง 23 วัน อันนำมาซึ่งคำถามสำคัญ 2 ประการ คือ
1.1. การโอนหุ้นเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2561 ระหว่างนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ (ปัจจุบันเป็น รมว.คมนาคม) และนายศุภวัฒน์ จำนวน 119.4 ล้านบาท มีการจ่ายเงินกันหรือไม่ หากเป็นการโอนหุ้นให้เปล่า นายศุภวัฒน์มีการเสียภาษีในส่วนนี้หรือไม่?
1.2.เหตุใดเมื่อนายศักดิ์สยามโอนหุ้นให้นายศุภวัฒน์ไปหมดแล้วเมื่อปี 2561 และออกจากหุ้นส่วน รวมถึงหุ้นส่วนผู้จัดการ ไฉนจึงใช้ที่อยู่บ้านตัวเองเป็นที่ตั้ง หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จนกระทั่งเพิ่งเปลี่ยนที่ตั้งก่อนหน้านั่งเก้าอี้ รมว.คมนาคม เพียง 23 วัน?
แม้ว่านายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ชี้แจงประเด็นนี้แก่สำนักข่าวอิศราอย่างน้อย 2 ครั้ง สรุปได้ว่า เป็นเรื่องเก่า และออกจาก หจก.แห่งนี้นานแล้ว ยืนยันไม่มีอะไรเกี่ยวข้องแล้วก็ตาม แต่ยังมิได้ตอบเงื่อนปม 2 กรณีข้างต้น
(อ่านประกอบ : 'ศักดิ์สยาม' แจงอีกรอบไม่เกี่ยว หจก.บุรีเจริญฯ - ถามกลับทำอาชีพสุจริตผิดตรงไหน)
2. หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ระหว่างปี 2558-2562 อย่างน้อย 60 รายการ รวมวงเงินกว่า 1,261.72 ล้านบาท โดยเกิดขึ้นในช่วงที่ หจก.แห่งนี้ใช้ที่อยู่ของนายศักดิ์สยามเป็นที่ตั้ง
(อ่านประกอบ : โชว์สัญญาจัดจ้าง! หจก.รับเหมาฯคดีเขากระโดง ใช้ที่อยู่‘ศักดิ์สยาม’คว้างานรัฐ 1.2 พันล.)
ขณะเดียวกันในช่วงเวลาดังกล่าว สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่ามีอย่างน้อย 4 โครงการ ที่ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น เป็นผู้ชนะการประกวดราคาของ 2 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม คือ กรมทางหลวงชนบท 2 โครงการ และกรมทางหลวง 2 โครงการ รวมวงเงิน 122.18 ล้านบาท พบว่า มีคู่เทียบหน้าเดิมเป็นผู้ยื่นเสนอราคาทุกครั้ง นั่นคือ บริษัท บุรีรัมย์พนาสิทธิ์ จำกัด
(อ่านประกอบ : เจาะ 4 โครงการทำถนน คค.-หจก.รับเหมาฯคดีเขากระโดงคว้างาน 122 ล.คู่เทียบเดิม?)
สำหรับ บริษัท บุรีรัมย์พนาสิทธิ์ จำกัด คือหนึ่งในเอกชนที่บริจาคเงินเข้าพรรคภูมิใจไทย เมื่อเดือน ม.ค. 2562 หรือก่อนการเลือกตั้ง 3 เดือน โดยบริจาคในช่วงเวลาเดียวกับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ (ผู้ถือหุ้นใหญ่ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น) ด้วย
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า ยอดเงินบริจาคพรรคภูมิใจไทยเดือน ม.ค. 2562 มีจำนวน 33,770,000 บาท โดยจำนวนนี้ บริษัท บุรีรัมย์พนาสิทธิ์ จำกัด บริจาค 5 ล้านบาท ส่วนนายศุภวัฒน์ บริจาคเป็นทรัพย์สิน/ประโยชน์อื่นใด 2,770,000 บาท
โดยข้อมูลเหล่านี้ เคยถูกส.ส.พรรคฝ่ายค้าน นำไปใช้ประกอบในการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 19 ก.ค.2565 ที่ผ่านมา ด้วย
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ย้อนกลับไปตรวจสอบข้อมูล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น และบริษัท บุรีรัมย์พนาสิทธิ์ จำกัด พบว่าปัจจุบันยังประกอบธุรกิจอยู่ นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจล่าสุด ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีรายได้รวมสูงถึงหลักร้อยหลักพันล้านบาทเลยทีเดียว
ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ข้อมูลปัจจุบันแจ้งว่า จดทะเบียนจัดตั้ง 8 มีนาคม 2539 ทุนปัจจุบัน 159,501,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 30/17 หมู่ 15 ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ แจ้งประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง
หุ้นส่วนผู้จัดการผู้มีอำนาจ ปัจจุบัน มี 2 คน คือ นาย ศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ นางสาว วรางสิริ ระกิติ
ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2564 นาย ศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ถือหุ้นใหญ่สุด 99.9968% มูลค่าหุ้นที่ถืออยู่ 159,496,000.00 บาท นางสาว วรางสิริ ระกิติ ถืออยู่ 0.0018% มูลค่า 3,000 บาท นางสาว ปริชาติ ขันเสน และนาย เอกราช ชิดชอบ ถือหุ้นเท่ากัน 0.0006% มูลค่าหุ้นคนละ 1,000 บาท
นำส่งงบการเงิน ณ 31 ธันวาคม 2564 แจ้งว่า มีรายได้รวม 629,478,943.03 บาท มีต้นทุนขาย และ/หรือบริการ 555,707,614.46 บาท กำไรสุทธิ 20,853,418.97 บาท
ส่วนข้อมูล บริษัท บุรีรัมย์พนาสิทธิ์ จำกัด นั้น จดทะเบียนจัดตั้ง 19 เมษายน 2561 ทุนปัจจุบัน 400 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 123 หมู่ 9 ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ แจ้งประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง
มีที่ตั้งอีก 2 สาขา คือ 41/1 หมู่ 14 ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ , 52/647 หมู่ 7 หมู่บ้านเมืองเอก โครงการ4 ตำบลหลักหก อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
กรรมการผู้มีอำนาจ มี 2 คน คือ นาย วิรุณ ชาญวิทยารมณ์ นางสาว จินดาภา ชาญวิทยารมณ์
ณ 30 เมษายน 2565 นาย วิรุณ ชาญวิทยารมณ์ ถือหุ้นใหญ่สุด 73.9997% มูลค่าหุ้น 295,999,000 บาท นางสาว จินดาภา ชาญวิทยารมณ์ ถือหุ้น 26.0000% มูลค่า 104,000,000 บาท นาง กนกพรรณ ชาญวิทยารมณ์ ถือหุ้น 0.0003% มูลค่า 1,000 บาท
นำส่งงบการเงิน ณ 31 ธันวาคม 2564 แจ้งว่ามีรายได้รวม 1,941,454,970.60 บาท ต้นทุนขาย และ/หรือบริการ 1,775,789,188.75 บาท กำไรสุทธิ 76,755,090.34 บาท
ในฐานข้อมูลเว็บไซต์ ACTAI ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2554 -ปัจจุบัน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น เข้าซื้อซอง 800 โครงการ เข้าเสนอราคา 172 โครงการ ได้งาน 213 สัญญา วงเงินสัญญารวม 1,842,845,640.75 บาท
ส่วน บริษัท บุรีรัมย์พนาสิทธิ์ จำกัด นับตั้งแต่ปี 2554 -ปัจจุบัน เข้าซื้อซอง 548 โครงการ เข้าเสนอราคา 0 โครงการ ได้งาน 90 สัญญา วงเงินสัญญารวม 3,073,055,180.32 บาท
หน่วยงานที่เป็นคู่สัญญาว่าจ้างงานเอกชนทั้ง 2 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม
หลังเสร็จสิ้นศึกอธิปรายไม่ไว้วางใจดังกล่าว เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านหลายพรรค ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติและพรรคเพื่อชาติ เข้ายื่นคำร้องถึง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรี ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม จะสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่ เป็นทางการ
ปรากฏรายละเอียดของหนังสือคำร้องดังนี้
ด้วยปรากฎข้อเท็จจริงว่านายศักดิ์สยาม ชิดซอบ ก่อนเข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 ) และก่อนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562)
มีอาชีพประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น โดยมีตำแหน่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และมีอาชีพประกอบกิจการทำโรงโม่หิน ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด โดยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท
ต่อมาได้ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทเมื่อ วันที่ 1 เมษายน 2562 ส่วนห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้ทำการโอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตัคชั่น ให้กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 จำนวน 119,500,000 บาท
แต่จากข้อมูลและพยานหลักฐานน่าเชื่อว่า การโอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตัคชั่น ให้กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ดังกล่าว เป็นนิติกรรมอำพรางหรือเป็นการแสดงเจตนาลวง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่กำหนดห้ามผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้
โดยแท้จริงแล้ว นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ยังคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตัคชั่น จำนวน 119,500,000 บาท ดังกล่าวโดยไม่เปลี่ยนแปลง การโอนหุ้นส่วนของตนให้นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เป็นเพียงการให้ถือหุ้นแทนเท่านั้น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ยังคงเป็นเจ้าของ และเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่นและมีอำนาจบริหารกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ในทางข้อเท็จจริงอย่างต่อเนื่องมา
การกระทำของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ดังกล่าวจึงเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 187 ประกอบมาตรา 4 (1) แห่งพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 จึงทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 190 (5)
(นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยพรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติและพรรคเพื่อชาติ ยื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้เสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามมาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่ เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2566 ที่มาภาพ : พรรคเพื่อไทย)
ข้าพเจ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้มีรายชื่อท้ายคำร้องนี้ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 เข้าชื่อร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร
เพื่อขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้โปรดเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 โดยมีข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพฤติการณ์แห่งการกระทำ ดังนี้
ข้อ 1 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2539 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กับเครือญาติได้ร่วมกันจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตัคชั่น ตามทะเบียนเลขที่ 0313539000337 โดยมีวัตถุประสงค์รับเหมาก่อสร้าง ทำถนน สะพาน เขื่อน อุโมงค์และงานก่อสร้างอย่างอื่นทุกชนิด รวมทั้งรับทำงานโยธาทุกประเภท
ต่อมาเมื่อปี 2540 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และออกจากการเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตัคชั่น โดยให้บริวารเครือญาติ เช่น นายเอกราช ชิดชอบ เป็นตัวแทนในการเป็นหุ้นส่วนและบริหารงานในกิจการห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตัคชั่น เรื่อยมา
เมื่อพิจารณาจากผลประกอบการและงบการเงินในช่วงปี 2540-2557 ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตัคชั่น อยู่ในสภาวะรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง
จนกระทั่งเมื่อปี 2558 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้เข้ามาบริหารกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตัคชั่นอีกครั้ง โดยเข้ามาเป็นหุ้นส่วนใหญ่ และเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตัคชั่น
โดยนายศักดิ์สยาม ชิดซอบ ได้แจ้งรายได้ดังกล่าวไว้กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ไว้ด้วยว่าได้รับเงินค่าที่ปรึกษาจากห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่นปีละ 400,000 บาท
การเข้ามาบริหารกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ในคราวนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ระบุว่ามีลงทุนเพิ่มเติมโดยการนำเงินสดเข้ามาเพิ่มทุนจำนวน 4 ครั้ง โดยการโอนเงินลงทุนเข้าบัญชี ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เลขที่ 4016051302 สาขาบุรีรัมย์ ชื่อบัญชี หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น
ครั้งที่ 1 วันที่ 26 มีนาคม 2558 จำนวน 1,000 บาท
ครั้งที่ 2 วันที่ 27 มีนาคม 2558 จำนวน 25,499,000 บาท
ครั้งที่ 3 วันที่ 30 มีนาคม 2558 จำนวน 40,000,000 บาท
ครั้งที่ 4 วันที่ 8 ตุลาคม 2558 จำนวน 54,000,000 บาท
รวมเป็นจำนวนเงินเพิ่มทุนทั้งสิ้นจำนวน 119,500,000 บาท ซึ่งเป็นการเพิ่มทุนด้วยเงินสดเป็นจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมกันนี้ยังได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงที่ตั้งห้างหุ้นส่วนฯ จากเดิมเลขที่ 229 หมู่ 11 ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ มายังบ้านเลขที่ 30/2 หมู่ 15 ตำบลอิสาณ อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกันกับบ้านพักอาศัยของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ
ข้อ 2 ในช่วงระยะเวลาที่มีการเพิ่มทุนของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตัคชั่น ดังกล่าว ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตัคชั่น โดยการบริหารของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้เริ่มเข้ามาประมูลงานในหน่วยงานราชการจนชนะการประมูล และได้ลงนามสัญญากับหน่วยงานของรัฐในสังกัดกระทรวงคมนาคมอย่างต่อเนื่อง
โดยใน ปี 2559 มีรายได้จากผลประกอบกิจการจำนวน 236,000,000 บาท ในปี 2560 มีรายได้ 340,000,000บาท และในปี 2561 มีรายได้ 456,000,000 บาท
เมื่อปรากฏว่ากิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น กำลังมีแนวโน้มผลประกอบการดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการได้รับงานจากภาครัฐดังกล่าว กลับปรากฏข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด
และโอนเงินลงหุ้นให้กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เป็นจำนวนเงิน 119,499,000 บาท (หนึ่งร้อยสิบเก้าล้านสี่แสนเก้าหมื่นเก้าพันบาท) และให้นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เข้าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการไม่จำกัดความรับผิด
กรณีดังกล่าวถือเป็นความผิดปกติวิสัยของวิญญูชนที่ประกอบธุรกิจ อันเป็นพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่าการโอนหุ้นดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาลวงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 154 หรือนิติกรรมอำพราง โดยข้อเท็จจริง ไม่มีนิติกรรมการโอนหุ้นดังกล่าวกันจริง เนื่องจากการโอนหุ้นดังกล่าวขัดต่อเหตุผลหลายประการ ดังนี้
ประการที่ 1 ธุรกิจของห้างหุ้นส่วน บุรีเจริญคอนสตัคชั่น เป็นกิจการภายในครอบครัวของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ และเครือญาติที่ได้ประกอบกิจการมาตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปี 2561 การโอนหุ้นให้กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ซึ่งมิใช่เครือญาติ และเป็นบุคคลภายนอก
จึงเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ยินยอมโอนหุ้นทั้งหมดจำนวน 99% และให้นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เข้ามาเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการด้วย
ประการที่ 2 การทำสัญญาโอนหุ้นในราคาพาร์ (ต้นทุน) ระหว่างนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ขัดต่อมูลค่าสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตัคชั่น ซึ่งจากหลักฐานงบการเงิน พบว่าสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนฯมีจำนวนมูลค่าที่สูงกว่าราคาที่ซื้อขายหุ้นให้กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ มาก
ประการที่ 3 การที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เพิ่งจะเข้ามาเพิ่มทุนด้วยจำนวนเงินสด 119,500,000 บาท และเป็นหุ้นส่วนใหญ่ในสัดส่วน 99% และช่วงระยะเวลาขณะโอนหุ้นให้กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ห้างฯ มีผลประกอบการที่กำลังมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างมากและมีกำไรเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2558 เรื่อยมา
แต่เหตุใดนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ จึงโอนหุ้นในราคาพาร์หรือเท่ากับที่ตนเองได้เพิ่มทุน จำนวน 119,500,000บาท ให้กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ โดยไม่คิดถึงผลกำไร หรือมูลค่าสินทรัพย์ของห้างฯ ตลอดจนผลประกอบการที่มีแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่อง อันเป็นเรื่องผิดวิสัยของการประกอบธุรกิจที่มุ่งประสงค์ผลกำไรจากการลงทุนประกอบกิจการ
ประการที่ 4 ไม่พบหลักฐานการโอนเงินชำระค่าหุ้นของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ให้กับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ที่สอดคล้องต้องกันกับช่วงระยะเวลาที่ซื้อขายหรือโอนหุ้น และไม่ปรากฏหลักฐานการทำธุรกรรมทางการเงิน หรือการแจ้งการเบิกถอนเงินต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตามระเบียบของธนาคารและตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
ประการที่ 5 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ยังเป็นผู้ก่อตั้ง และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2534 เลขทะเบียน 0315534000071 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโรงโม่หิน
ตามข้อมูลที่ปรากฎในแบบนำส่งงบการเงินรอบปีบัญชี 2557 ระบุว่า บริษัทมีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 30/6 หมู่ที่ 4 ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ มีนายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นกรรมการผู้จัดการ
ในปี 2540 จากข้อมูลการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการของบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท (ปี 2540 ก็ได้ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่นด้วย) และต่อมาในปี 2558 ได้มีการจดทะเบียนรับ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เข้ามาเป็นกรรมการและเป็นกรรมการผู้จัดการแต่เพียงผู้เดียวของบริษัทอีกครั้ง
และยังให้นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เข้ามาเป็นพนักงานของบริษัทในปีเดียวกัน (27 มีนาคม 2558 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เข้ามาเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น)
ต่อมาวันที่ 7 กันยายน 2560 ได้จดทะเบียนให้นายเอกราช ชิดชอบ เข้ามาเป็นกรรมการของบริษัท (ในวันเดียวกัน นายเอกราช ชิดชอบ ก็เข้ามาเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น) และต่อมาวันที่ 9 เมษายน 2562 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ก็ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการของบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด
โดยข้อมูลในงบการเงินยังปรากฎว่าในรอบปีบัญชี 2561 เป็นต้นมา บริษัทได้เปลี่ยนกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นนายเอกราช ชิดชอบ ซึ่งในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ก็ไม่ปรากฏว่ามีชื่อของนายเอกราช ชิดชอบ เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทแต่อย่างใดเช่นกัน
ตามงบแสดงฐานะทางการเงินของบริษัท ปี 2556 และปี 2557 ระบุว่า บริษัทมีเงินกู้ยืมระยะยาวจากบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกัน จำนวน 25,000,000 บาทเท่าเดิม ทั้ง 6 ปี และในปี 2558 ระบุว่า เป็นประมาณการหนี้สินระยะยาวจำนวน 67,250,655.69 บาท และในปี 2559 ระบุว่ามีเงินกู้ยืมระยะยาวจำนวน 137,000,000 บาท
และต่อมาในปี 2560 จำนวน 120,000,000 บาท โดยตามหมายเหตุประกอบงบการเงินที่ 12 ระบุว่า เป็นเงินกู้ยืมเพื่อเสริมสภาพคล่อง ไม่มีการทำสัญญาหรือคิดดอกเบี้ยระหว่างกันใดๆ (ไม่ได้ระบุว่าเงินดังกล่าวเป็นของใคร)
และต่อมางบการเงินในปี 2561 ปี 2562 ปี 2563 และปี 2564 ระบุหมายเหตุประกอบงบการเงินที่ 13 ว่าเป็นเงินกู้ยืมระยะยาวจากนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ โดยปี 2561 จำนวน 221,500,000 บาท ปี 2562 จำนวน 143,200,000 บาท ปี 2563 จำนวน 152,200,000 บาทและปี 2564 จำนวน 250,000,000 บาท ตามลำดับ โดยระบุว่าเป็นเงินกู้ยืมเพื่อเสริมสภาพคล่อง ไม่มีการทำสัญญา หรือคิดดอกเบี้ยระหว่างกันใดๆ
ขณะเดียวกัน ในงบการเงินรอบปี 2559 ปี 2560 ปี 2561 ระบุรายการเงินให้กู้ยืมระยะสั้นแก่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ด้วย โดยปี 2559 จำนวน 68,500,000 บาท ปี 2560 จำนวน 20,000,000 บาท และปี 2561 จำนวน 88,500,000 บาทตามลำดับ โดยเงินให้กู้ยืมข้างต้นไม่มีการทำสัญญาและไม่มีการคิดดอกเบี้ย
ต่อมาในปี 2562 โดยรายงานผู้สอบบัญชีรับอนุญาตลงวันที่ 17 เมษายน 2563 เรื่องอื่นๆ ข้อ 2.1 ระบุว่ากิจการปิดบัญชีเงินให้กู้ยืมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) ที่ยกมาจากปี 2561 จำนวน 88,500,000 บาท
เมื่อพิจารณาจากงบการเงินและหมายเหตุประกอบงบการเงินข้างต้น จึงมีข้อพิรุธว่า เมื่อนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ มิได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับบริษัท โดยไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นหรือกรรมการบริษัท เป็นเพียงพนักงานของบริษัทเท่านั้น แต่กลับให้บริษัทกู้ยืมเงินจำนวนกว่า 250 ล้านบาท โดยไม่ได้มีการทำสัญญาและไม่มีการคิดดอกเบี้ยระหว่างกันใดๆ
ซึ่งตามรายงานผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ระบุว่า “ยอดเงินกู้ยืมจากบุคคลภายนอก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 250,200,000 บาท เพิ่มขึ้นในรอบบัญชีนี้ 98,000,000 บาท เป็นการให้กู้เงินโดยไม่คิดดอกเบี้ย ตามหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 13”
และเมื่อพิจารณารายการเงินกู้ยืมระยะยาวที่ปรากฎในงบการเงินของบริษัทนั้น หากพิจารณาตั้งแต่ปี 2556 ถึงปี 2560 เป็นเงินกู้ยืมระยะยาวจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกันจนกระทั่งปี 2561 ที่อยู่ๆก็ปรากฏว่าเงินกู้ยืมดังกล่าว เป็นการกู้ยืมเงินจากนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ที่เข้ามาเป็นเจ้าหนี้เงินกู้ในบริษัทแห่งนี้แทนเจ้าหนี้เงินกู้คนก่อนหน้านั้น
กรณีที่บริษัทฯ ให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กู้ยืมเงินนั้น หากพิจารณาตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร การที่บริษัทให้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กู้ยืมเงินในปี 2559 ปี 2560 ปี 2561 ปี 2562
หากการให้กู้ยืมเงินดังกล่าว ไม่มีดอกเบี้ยหรือมีดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินดอกเบี้ยนั้น ตามราคาตลาดในวันที่ให้กู้ยืมเงิน
แต่ในงบการเงินและหมายเหตุประกอบงบการเงินที่ 18 การคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัท ไม่ปรากฎดอกเบี้ยที่เกิดจากเงินให้กู้ยืมแก่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ แต่อย่างใด
เมื่อปี 2558-2562 ปรากฎข้อเท็จจริงว่านายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ยื่นแบบการเสียภาษีแสดงรายได้ต่อกรมสรรพากรซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ระบุว่ามีรายได้จำนวนเพียง 108,000 บาท/ปี หรือเฉลี่ยเดือนละ 9,000 บาท/เดือนเท่านั้น
และรายได้ดังกล่าวเป็นรายได้ที่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ มีสถานะเป็นลูกจ้างพนักงานบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด ที่มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นกรรมการบริษัทหรือในฐานะ (นายจ้าง) รายได้ดังกล่าวของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ จึงไม่อยู่ในเกณฑ์การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับกรมสรรพากร
ข้อมูลดังกล่าวน่าเชื่อว่า นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ไม่มีเงินเพียงพอต่อการซื้อหุ้นและชำระค่าหุ้นจำนวน 119,500,000 ให้กับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ
และเมื่อปรากฎว่านายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ มีรายได้เพียงเดือนละ 9,000 บาท จากการเป็นพนักงานบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด ตามที่ได้แสดงรายได้ต่อสรรพกรข้างต้น
ยังพบว่าในช่วงเวลาเดียวกันกับที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ โอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ให้กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ นั้น บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด ได้ลงรายการในงบการเงินระบุว่า เป็นลูกหนี้กู้ยืมเงินนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ในช่วงที่นายศุภวัฒน์ยังคงมีสถานะเป็นพนักงานลูกจ้าง จำนวนรวมกว่า 240 ล้านบาท
จึงทำให้เห็นได้อย่างประจักษ์ชัดแจ้งว่า จำนวนเงินดังที่ปรากฎตามงบการเงินของบริษัทที่ปรากฎรายได้ของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ มีไม่เพียงพออย่างแน่นอน จึงเชื่อได้ว่าธุรกรรมการเงินที่ปรากฎตามงบการเงิน หรือตามสัญญาโอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ระหว่างนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ นั้นไม่ได้มีขึ้นจริง
นิติกรรมการโอนหุ้นดังกล่าวจึงเป็นเพียงนิติกรรมอำพราง หรือการแสดงเจตนาลวงเท่านั้น หุ้นจำนวน 99% ในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตัคชั่น จึงน่าเชื่อว่ายังคงเป็นของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ
ประการที่ 6 หลังจากที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ทำนิติกรรมโอนหุ้นให้กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ แล้วยังปรากฎข้อเท็จจริงว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตัคชั่น
และยังยินยอมอนุญาตให้นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ และห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตัคชั่น ใช้สถานที่พักอาศัยของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ใช้ประกอบกิจการอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งต่อมาได้แจ้งย้ายสถานประกอบการ ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพียง 23 วัน
ย่อมแสดงให้เห็นได้ว่าการที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อ้างว่าได้ขายหุ้นและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตัคชั่น จึงขัดแย้งต่อข้อเท็จจริง และเป็นเพียงเพื่อต้องการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 เท่านั้น แท้จริงแล้ว นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ยังคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น มาโดยตลอด
ประการที่ 7 ภายหลังจากที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ โอนขายหุ้นให้กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 แล้ว แต่กลับพบว่ายังได้รับประโยชน์ผลตอบแทนจากห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตัคชั่น เป็นจำนวนมากถึง 400,000 บาทต่อปี
และจากการที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ระบุรายได้การเป็นที่ปรึกษาของห้างหุ้นส่วน บุรีเจริญคอนสตัคชั่นนั้น สอดคล้องกับการยื่นแบบรายการเสียภาษีบุคคลธรรมดาต่อกรมสรรพากร และเจือสมกับการแสดงรายการยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อสำนักงาน ป.ป.ช.
ประการสำคัญจะเห็นได้ว่า แม้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ จะขายหุ้นและโอนหุ้นให้กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ไปแล้ว แต่กลับยังได้รับผลตอบแทนค่าที่ปรึกษาดังกล่าว ในทางกลับกันนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ซึ่งมีสถานะเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการหรือเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ กลับไม่ได้รับเงินหรือค่าตอบแทนใดๆ จากห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตัคชั่นแต่ประการใด จึงเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยการทำธุรกิจอย่างยิ่ง
ประการที่ 8 จากข้อมูลการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาระหว่างปี 2558-2562 ได้พบว่านายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ มีสถานะเป็นพนักงานของบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด ซึ่งประกอบกิจการโรงโม่หิน จำหน่ายหิน ซึ่งเป็นธุรกิจในครอบครัวของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ มากว่า 30 ปี
โดยช่วงปี 2558-2562 พบว่านายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นกรรมการของบริษัทดังกล่าวด้วย จนถึงวันที่ 9 เมษายน 2562 ในระหว่างที่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ มีสถานะเป็นพนักงานของบริษัทศิลาชัย บุรีรัมย์ 1991 จำกัด จากหลักฐานที่ปรากฎในงบการเงินพบว่านายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ได้นำเงินส่วนตัวให้บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด กู้ยืมหลายครั้งโดยไม่มีการทำสัญญาและไม่มีการคิดดอกเบี้ยรวมจำนวนกว่า 240,000,000 บาท
และบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด ได้นำเงินดังกล่าว มาให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กู้ยืมเงินโดยไม่ปรากฎหลักฐานการกู้ยืม และไม่พบหลักฐานการโอนเงินหรือการทำธุรกรรมทางการเงิน ประกอบกับไม่พบการแจ้งต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตามระเบียบของธนาคารและตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงบ่งชี้ให้เห็นว่า ในเมื่อนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ไม่ได้เป็นผู้มีรายได้เพียงพอต่อการชำระค่าหุ้น แล้วนำเงินจำนวนมากมาจากแหล่งใดในการมาซื้อหุ้นอีกจำนวน 119,500,000 บาท ดังที่ได้กราบเรียนข้างต้น
ประการสำคัญในขณะที่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ดำรงสถานะเป็นหุ้นส่วนใหญ่และหุ้นส่วนผู้จัดการ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตัคชั่น ได้บริจาคเงินให้กับพรรคภูมิใจไทย ในนามห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตัคชั่น เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 จำนวนเงินมากถึง 4,800,000 บาท
อีกทั้งได้บริจาคเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 อีกจำนวน 5,997,000 บาท และบริจาคในนามส่วนตัวเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2562 อีกจำนวน 2,770,000 บาท รวมเป็นเงิน 13,567,000 บาท ซึ่งขณะนั้น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทยในตำแหน่งเลขาธิการพรรคด้วย
ในประเด็นดังกล่าวนี้จึงเชื่อได้ว่า เมื่อนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ไม่ได้มีทรัพย์สินหรือรายได้ที่สอดคล้องกับรายจ่ายจำนวนมากดังกล่าว ดังนั้น จึงแสดงให้เห็น และน่าเชื่อได้ว่านายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เป็นเพียงตัวแทนหรือนอมินีให้กับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เท่านั้น
ดังนั้น นิติกรรมการโอนขายหุ้นให้กับ นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ จึงเป็นเพียงการทำนิติกรรมอำพรางหรือเจตนาลวงเพื่อปกปิดมิให้บุคคลภายนอก รับรู้และเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543
และเมื่อเป็นการแสดงเจตนาลวงนิติกรรมการโอนหุ้นย่อมเป็นโมฆะ หุ้นจำนวน 119,500,000 ในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตัคชั่น ยังคงถือได้ว่าเป็นของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์คงเดิม
ประการที่ 9 นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เป็นคนที่มีภูมิสำเนาอยู่จังหวัดนนทบุรี และไม่เคยประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างมาก่อน โดยเฉพาะการประมูลงานกับหน่วยงานราชการในกระทรวงคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นกรมทางหลวง ทางหลวงชนบท การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นต้น
แต่กลับปรากฎว่าในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 หลังจากที่มีการโอนหุ้นจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ มาเป็นนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2561 และนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เข้ามาเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตัคชั่น และเป็นช่วงเวลาที่ นายศักดิ์ สยาม ชิดชอบ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
พบว่าห้างฯ ได้รับงานจากกระทรวงคมนาคม และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในจังหวัดบุรีรัมย์ เช่น จากกรมทางหลวงชนบท กรมทางหลวง อบจ. อบต. เทศบาล จำนวนรวม 38 โครงการ เป็นเงินกว่า 657,021,414 บาท โดยได้รับงานจากภาครัฐและลงนามทำสัญญารับเหมามากกว่าเมื่อครั้งที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการอย่างเสียอีก
จึงเชื่อได้ว่านายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้กระทำการใดๆเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตัคชั่น ที่ตนเองเป็นเจ้าของกิจการอย่างแท้จริง
ประการที่ 10 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีอำนาจตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 มาตรา 25 ที่ระบุว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 28 ให้รัฐมนตรีที่ กำกับดูแลหน่วยรับงบประมาณมีหน้าที่ยื่นคำขอตั้งงบประมาณของหน่วยงานนั้นต่อผู้อำนวยการงบประมาณ” และเสนองบประมาณในฐานะเป็นรองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564
หากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้โอนขายหุ้นหรือโอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ให้กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ไปแล้วจริง เหตุใดห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ได้รับงานและลงนามสัญญาจากหน่วยงานของรัฐภายใต้กำกับดูแลในกระทรวงคมนาคมเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะในช่วงปีงบประมาณที่นายศักดิ์สยามชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเป็นรองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564
และการที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น เคยเป็นผู้ที่มีรายชื่อบริจาคเงินให้พรรคภูมิใจไทยเป็นจำนวนมาก และนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ในฐานะส่วนตัวก็บริจาคด้วยเช่นกัน ประกอบกับบุคคลดังกล่าวยังมีสถานะเป็นเจ้าหนี้บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือญาติของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ
อีกทั้งนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ มีความสัมพันธ์ ในฐานะเพื่อนสนิทกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ขณะที่ข้อเท็จจริงกลับพบว่าสถานะทางการเงินจากการยื่นภาษีเงินได้ประจำปีของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ไม่อยู่ในฐานะที่จะซื้อหุ้นและให้บริษัทกู้ยืมเงินจำนวนมากเช่นนั้นได้
ข้อเท็จจริงอันแสดงให้เห็นว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อยู่ในระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมนั้น ปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ได้ทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐบาลหลายสัญญาในระหว่างที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ดังนี้
สัญญาเลขที่ บร.24/2564 ฉบับลงวันที่ 21 ม.ค.64 ระหว่างกรมทางหลวง กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น วงเงินงบประมาณ 18,267,300 บาท
สัญญาเลขที่ บร.26/2564 ฉบับลงวันที่ 21 ม.ค.64 ระหว่างกรมทางหลวง กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น วงเงินงบประมาณ 14,779,700 บาท
สัญญาเลขที่ บร.29/2564 ฉบับลงวันที่ 21 ม.ค.64 ระหว่างกรมทางหลวง กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น วงเงินงบประมาณ 13,221,600 บาท
สัญญาเลขที่ บร.25/2564 ฉบับลงวันที่ 21 ม.ค.64 ระหว่างกรมทางหลวง กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น วงเงินงบประมาณ 9,289,800 บาท
สัญญาเลขที่ บร.1/2564 ฉบับลงวันที่ 15 ต.ค.63 ระหว่างกรมทางหลวง กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น วงเงินงบประมาณ 79,916,161 บาท
สัญญาเลขที่ บร.65/2564 ฉบับลงวันที่ 15 ก.พ.64 ระหว่างกรมทางหลวง กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น วงเงินงบประมาณ 76,323,610 บาท
สัญญาเลขที่ บร.74/2564 ฉบับลงวันที่ 30 มี.ค.64 ระหว่างกรมทางหลวง กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น วงเงินงบประมาณ 33,555,600 บาท
สัญญาเลขที่ บร.66/2564 ฉบับลงวันที่ 15 ก.พ.64 ระหว่างกรมทางหลวง กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น วงเงินงบประมาณ 29,080,813 บาท
สัญญาเลขที่ 163/2564 ฉบับลงวันที่ 23 มี.ค.64 ระหว่างกรมทางหลวงชนบท กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น วงเงินงบประมาณ 49,970,000 บาท
สัญญาเลขที่ 162/2564 ฉบับลงวันที่ 23 มี.ค.64 ระหว่างกรมทางหลวงชนบท กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น วงเงินงบประมาณ 29,985,000 บาท
สัญญาเลขที่ 135/2564 ฉบับลงวันที่ 12 มี.ค.64 ระหว่างกรมทางหลวงชนบท กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น วงเงินงบประมาณ 29,980,000 บาท
สัญญาเลขที่ 81/2564 ฉบับลงวันที่ 18 ก.พ.64 ระหว่างกรมทางหลวงชนบท กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น วงเงินงบประมาณ 19,480,000 บาท
สัญญาเลขที่ 90/2564 ฉบับลงวันที่ 22 ก.พ.64 ระหว่างกรมทางหลวงชนบท กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น วงเงินงบประมาณ 19,980,000 บาท
สัญญาเลขที่ 101/2564 ฉบับลงวันที่ 25 ก.พ.64 ระหว่างกรมทางหลวงชนบท กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น วงเงินงบประมาณ 14,987,000 บาท
สัญญาเลขที่ 64/2564 ฉบับลงวันที่ 11 ก.พ.64 ระหว่างกรมทางหลวงชนบท กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น วงเงินงบประมาณ 14,981,000 บาท
สัญญาเลขที่ 113/2564 ฉบับลงวันที่ 5 มี.ค.64 ระหว่างกรมทางหลวงชนบท กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น วงเงินงบประมาณ 12,000,000 บาท
สัญญาเลขที่ 158/2564 ฉบับลงวันที่ 22 มี.ค.64 ระหว่างกรมทางหลวงชนบท กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น วงเงินงบประมาณ 9,990,000 บาท
สัญญาเลขที่ 35/2564 ฉบับลงวันที่ 2 ก.พ.64 ระหว่างกรมทางหลวงชนบท กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น วงเงินงบประมาณ 9,980,000 บาท
สัญญาเลขที่ 34/2564 ฉบับลงวันที่ 2 ก.พ.64 ระหว่างกรมทางหลวงชนบท กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น วงเงินงบประมาณ 9,979,000 บาท
สัญญาเลขที่ 112/2564 ฉบับลงวันที่ 5 มี.ค.64 ระหว่างกรมทางหลวงชนบท กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น วงเงินงบประมาณ 9,880,000 บาท
สัญญาเลขที่ 31/2564 ฉบับลงวันที่ 2 ก.พ.64 ระหว่างกรมทางหลวงชนบท กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น วงเงินงบประมาณ 9,580,000 บาท
สัญญาเลขที่ สทช.ที่ 53/2564 ฉบับลงวันที่ 10 มี.ค.64 ระหว่างกรมทางหลวงชนบท กับห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น วงเงินงบประมาณ 49,970,000 บาท
สัญญาเลขที่ สทช.ที่ 529/64 ฉบับลงวันที่ 25 ก.พ.64 ระหว่างกรมทางหลวงชนบท กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น วงเงินงบประมาณ 29,979,000 บาท
ทั้งนี้ โดยหลังจากที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และกรรมาธิการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตัคชั่น ที่อ้างว่ามีการโอนหุ้นให้กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์กลับได้เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานภายใต้กำกับดูแลในกระทรวงคมนาคม และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในจังหวัดบุรีรัมย์ มากกว่าก่อนที่มีการโอนหุ้น อาทิ กรมทางหลวงชนบท กรมทางหลวง อบจ. อบต. เทศบาล
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 รวมกว่า 37 โครงการ เป็นเงินจำนวน 470,500,491 บาท
ในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 รวมกว่า 44 โครงการ เป็นเงินจำนวน 563,850,276 บาท
ในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 รวมกว่า 38 โครงการ เป็นเงินจำนวน 657,021,414 บาท
และในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 รวมกว่า 32 โครงการ เป็นเงินจำนวน 527,429,173 บาท
ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงเชื่อได้ว่าการได้รับงานของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตัคชั่น น่าจะเป็นผลจากการที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและกรรมาธิการงบประมาณ ไม่ว่าทั้งทางตรงและทางอ้อม
ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ย่อมเป็นหลักฐานที่เชื่อได้ว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นเจ้าของในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่นตลอดมา แต่ให้นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เป็นหุ้นส่วนแทนเท่านั้น เพื่อมิต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการเป็นหุ้นส่วนหรือการคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตัคชั่น ตามพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543
ประการที่ 11 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้โอนหุ้นให้กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 แต่ได้ชี้แจงต่อคณะกรรม ป.ป.ช. ในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินเมื่อปี 2562 และยื่นรายการแสดงการเสียภาษีระบุว่า มีรายได้จากการเป็นที่ปรึกษาของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น
จึงเป็นข้อเท็จจริงที่สอดคล้องถึงความสัมพันธ์ การมีส่วนได้เสียในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างลึกซึ้งแนบแน่นว่า แม้จะมีการโอนขายหุ้นให้กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ แล้วยังเข้ามาเป็นที่ปรึกษาและได้รับค่าตอบแทนปีละ 400,000 บาท ย่อมบ่งชี้ให้เห็นถึงความเกี่ยวพันมีส่วนได้เสียกับห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่นอย่างชัดแจ้ง
การโอนหุ้นดังกล่าวจึงเป็นเพียงการแสดงเจตนาปกปิดช่อนเร้นสถานะความสัมพันธ์ระหว่างนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กับห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่นเท่านั้น ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 187 ประกอบมาตรา 4 (1) แห่งพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543
ประการที่ 12 สถานที่ประกอบการห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ก่อนที่จะมีการจดแจ้งแก้ไขทางทะเบียนเปลี่ยนแปลงเป็นเลขที่ 30/19 หมู่ 15 ตำบลอิสาณ อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์นั้น ก่อนนี้ได้ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 30/2 หมู่ 15 ตำบลอิสาณ อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นที่อยู่เดียวกันกับทะเบียนบ้านของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ (ซึ่งมีสถานะเป็นเจ้าบ้านและไม่มีบุคคลใดมีรายชื่อในทะเบียนบ้านนอกจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ)
และบ้านเลขที่ 30/2 และ 30/17 ทั้ง 2 แห่ง ดังกล่าวมีอาคารตั้งอยู่ในรั้วเดียวกันบนโฉนดเลขที่ 3466 ตำบลอิสาณ อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เนื้อที่ 7-1-55 ไร่ ซึ่งเป็นบริเวณที่ดินพิพาทกับการรถไฟ และอยู่ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยยื่นฟ้องเพิกถอนโฉนดต่อศาลปกครองกลาง
นอกจากนี้ โฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยวินิจฉัยว่าเป็นที่ดินของการรถไฟตามหนังสือ นร.0601/211 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2541 นอกจากนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของการรถไฟ และให้ดำเนินการขับไล่ดังปรากฎตามหนังสือที่ ปช.0081/1085 ลงวันที่ 15 กันยายน 2564
ตลอดจนศาลฎีกาได้พิจารณาวินิจฉัยว่าที่ดินในบริเวณพื้นที่จำนวน 5,038 ไร่ เป็นที่ดินของการรถไฟดังปรากฎตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 และ 842-876/2560
ดังนั้น การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ประกอบกิจการดังกล่าวในที่ดินตามโฉนดข้างต้น ในขณะที่ยังมีข้อพิพาท จึงเป็นการผิดวิสัยที่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ซึ่งรู้อยู่แล้วและเคยถูกศาลพิพากษาให้ขับไล่ในบริเวณที่ดินดังกล่าว ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 แต่ยังกล้าที่จะซื้อหุ้นและประกอบกิจการในที่ดินแปลงดังกล่าว
อีกทั้งการประกอบกิจการดังกล่าวย่อมต้องได้รับความยินยอมอนุญาตจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ โดยตรง มิเช่นนั้นแล้วย่อมไม่สามารถที่จะตั้งสถานประกอบการทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวได้
และย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น มีความเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งแนบแน่นกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อย่างยิ่ง ทั้งๆที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้โอนหุ้นหรือขายกิจการให้กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2561 แล้วก็ตาม
แต่ยังยินยอมให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น สามารถใช้สถานที่พักอาศัยส่วนตัว ประกอบกิจการได้จนถึงก่อนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 เพียง 23 วันเท่านั้น
อันเป็นข้อพิรุธที่บ่งชี้ได้อีกประการว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ยังคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตัคชั่นโดยแท้จริง โดยนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์เป็นเพียงตัวแทนหรือนอมินีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เท่านั้น
ด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผลตามที่ได้กราบเรียนข้างต้น ย่อมทำให้เชื่อได้ว่าการโอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ระหว่างนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่เป็นเพียงการทำนิติกรรมอำพรางหรือการแสดงเจตนาลวงของบุคคลทั้งสองเท่านั้น
เมื่อนิติกรรมการโอนหุ้นดังกล่าว ไม่มีผลทางกฎหมายสัญญาการโอนหุ้นฉบับลงวันที่ 26 มกราคม 2561 ดังกล่าว จึงเป็นโมฆะ ดังนั้น หุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จำนวนมูลค่า 119,499,000 บาท ยังเป็นของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ มิใช่ของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์
และถือได้ว่านายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ มีสถานะเป็นเพียงตัวแทนหรือนอมินี ในการครอบครองดูแลหุ้น ผู้ถูกใช้ หรือผู้ถูกรับมอบหมายจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ดำเนินการแทนเท่านั้น แท้จริงแล้วนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญ คอนสตรัคชั่นมาโดยตลอด
โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 ที่ห้ามรัฐมนตรีเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทตามจำนวนที่กำหนดไว้ นั้น
ก็เพื่อป้องกันมิให้รัฐมนตรีใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทอันจะเป็นการกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนรวมและประโยชน์ส่วนตน ซึ่งข้อห้ามดังกล่าวให้ใช้บังคับกับคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของรัฐมนตรี และการถือหุ้นของรัฐมนตรีที่อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่น ไม่ว่าในทางใดๆ ด้วย
ซึ่งในกรณีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม นั้น เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่านายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ยังคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ที่อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ อันจะทำให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวได้
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 แต่เมื่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่นตลอดมา โดยให้นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เป็นผู้ถือหุ้นแทน
การกระทำของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ จึงเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 187 ประกอบมาตรา 4 (1) แห่งพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 ดังนั้น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่นอย่างแท้จริงดังกล่าว
ถือเป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 187 ประกอบมาตรา 4 (1) แห่งพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 จึงทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว
จึงกราบเรียนมายังประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 170 วรรคสามประกอบมาตรา 82 เพื่อขอได้โปรดส่งคำร้องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 ต่อไป
ขณะที่เมื่อวันที่ 8 ก.พ.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้ทำหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ขอคัดค้านกรณีขอให้เสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 โดยมีเนื้อหา ดังนี้
“ข้าพเจ้านายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้คัดค้าน ขอคัดค้านคำร้องของผู้ร้อง กรณี ร้องขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้คัดค้านสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 โดยมีเหตุผลตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังจะกราบเรียนต่อไปนี้
ผู้ร้องได้บรรยายคำร้องรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า ก่อนผู้คัดค้านเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (วันที่ 10 กรกฎาคม 2562) ผู้คัดค้าน เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ประกอบกิจการ การรับเหมาก่อสร้าง และเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด ประกอบกิจการ โรงโม่หิน
โดยผู้คัดค้านได้โอนหุ้นท้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ให้กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 และได้ลาออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 โดยผู้คัดค้านก็ไม่มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น หรือเป็นกรรมการในรายการจดทะเบียนของนิติบุคคลที่กล่าวมาอีกต่อไป
ข้อเท็จจริงนี้ปรากฏตามหลักฐานของผู้ร้อง แต่ผู้ร้องกลับอ้างข้อเท็จจริงที่ไม่มีอยู่จริงอันขัดแย้งกับเอกสารมหาชนมาใช้เป็นเหตุในการเสนอเรื่องร้องผู้คัดค้านในครั้งนี้ว่า การโอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ให้กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ข้างต้น เป็นนิติกรรมอำพราง เป็นการแสดงเจตนาลวง เพื่อหลีกเลี่ยง ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ที่กำหนดห้ามผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นหุ้นส่วน หรือถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทเกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้
คำกล่าวอ้างดังกล่าวล้วนเป็นเพียงข้อสงสัยของผู้ร้องแต่เพียงฝ่ายเดียว และยังไม่มีข้อยุติตามกฎหมาย อันจะนำมาเป็นเหตุในการยื่นร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรให้เสนอเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 ได้
กล่าวคือ ผู้ร้องก็รู้ดีว่า ผู้ร้องได้เคยไปยื่นร้องต่อคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแล้ว เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 เรื่องให้ตรวจสอบ บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้คัดค้าน ที่มีมูลน่าเชื่อว่าเป็นเท็จ กรณีที่เกี่ยวข้องกับ บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น โดยมีเนื้อหาคำร้องในทำนองเดียวกันกับคำร้องของผู้ร้องในเรื่องนี้
คำร้องของผู้ร้องดังกล่าว ยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 จนถึงปัจจุบันยังไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะได้มีมติในมูลคำร้องว่า ผู้คัดค้านได้กระทำการโดยผ่าฝืนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 หมวด 6 การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม มาตรา 126 (2) แต่อย่างใด
ผู้คัดค้านขอกราบเรียนต่อไปว่า โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2561 มาตรา 170 (5) ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ (5) กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 187 คือ จะต้องปรากฎข้อเท็จจริงอันเป็นยุติจนสิ้นสงสัยเสียก่อนว่า รัฐมนตรีได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายด้วยการเป็นหุ้นส่วนหรือถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือยังคงไว้ ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทอยู่ต่อไป
ดังนั้น เมื่อได้ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามหลักฐานของผู้ร้องเองว่า ผู้คัดค้านมิได้มีชื่อปรากฏเป็นผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น และมิได้คงไว้ในความเป็นหุ้นส่วนของห้างฯ ดังกล่าว และมิได้เป็นกรรมการหรือมีหุ้นในบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด จึงต้องถือว่า ผู้คัดค้านมิได้ถือหุ้นหรือคงหุ้นในนิติบุคคลทั้งสองแห่งดังกล่าวตามที่ผู้ร้องอ้างเหตุตามข้อสงสัย
จากข้อเท็จจริงข้างต้นจะเห็นได้ว่า การใช้สิทธิร่วมกันเข้าชื่อเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 ได้ นั้น อย่างน้อยผู้ร้องต้องมีพยานหลักฐานที่บ่งชี้เป็นประจักษ์ว่า ผู้คัดค้านมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น หรือยังคงไว้ในหุ้น หรือยังคงเป็นกรรมการในนิติบุคคลอยู่เข้ามาประกอบด้วย ซึ่งหากตรวจพยานหลักฐานของผู้ร้องตามสิ่งที่ผู้ร้องส่งมาด้วยทั้ง 19 ฉบับ ก็จะเห็นว่าผู้ร้องไม่มีหลักฐานใดๆ ที่จะใช้ประกอบการพิจารณาคำร้องนี้ได้เลย
ผู้คัดค้านขอกราบเรียนว่า การยื่นคำร้องของผู้ร้อง โดยรู้หรือควรจะรู้อยู่แล้วว่า เหตุที่ผู้ร้องนำมาใช้สิทธินี้ไม่ใช่เหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญตามมาตราดังกล่าวกำหนดไว้ และรู้ดีว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการไต่สวนว่า ผู้คัดค้านยังคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วน หรือถือหุ้นในนิติบุคคลตามคำร้องหรือไม่ เพราะผู้ร้องรู้ดีว่าหน้าที่การไต่สวนในมูลเหตุที่ร้องในครั้งนี้ เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2561
และผู้ร้องยังทราบดีว่าการจะพิพากษาชี้ขาดในเรื่องที่ผู้ร้องได้ร้องนี้ อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ใช่หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ประการสุดท้าย ผู้ร้องรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธินำประเด็นที่ยังไม่มีข้อยุติมาร้องผู้คัดค้าน เนื่องจากเป็นประเด็นเดียวกันกับที่ได้ยื่นร้องไว้ต่อคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแล้ว
ดังนั้น การที่ผู้ร้องนำประเด็นซึ่งไม่ใช่เหตุที่รัฐธรรมนูญตามมาตราดังกล่าวกำหนดไว้ อันจะทำให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรสามารถเสนอไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้มายื่นร้องผู้คัดค้านในครั้งนี้
จึงเป็นการใช้สิทธิทางรัฐสภาโดยไม่สุจริต เพราะจงใจกระทำการในลักษณะใช้ประธานสภาผู้แทนราษฎร และศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งผู้คัดค้าน เพื่อหวังประโยชน์ในทางการเมืองของผู้ร้อง และจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อใส่ความผู้คัดค้านโดยเจตนาทุจริต ทำให้ผู้คัดค้านได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง เดือดร้อนรำคาญ ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายในการปกป้องสิทธิโดยชอบธรรมของผู้คัดค้านไม่ให้เสียไป
ประการสำคัญ คือ ความจริงแล้วผู้ร้องมิได้หวังผลอันเป็นธรรมดาแห่งการทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และข้อต่อประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง อาศัยเหตุผลดังที่กราบเรียนมาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายข้างต้นนี้ จึงขอกราบเรียนมายังท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรได้โปรดเพื่อพิจารณาให้ความเป็นธรรม คุ้มครองและป้องกันการยื่นร้องเพื่อกลั่นแกล้งผู้คัดค้าน โดยมีคำสั่งไม่รับคำร้องของผู้ร้องด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง”
*****************
หลังจากนั้น เรื่องก็เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนที่ ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีมติเป็นเอกฉันท์ให้รับคำร้องไว้วินิจฉัย และให้นายศักดิ์สยาม (ผู้ถูกร้อง) ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง
นอกจากนี้ ยังมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 2566 ด้วย ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว
ผลการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ จากนี้เป็นอย่างไร ต้องติดตามดูกันต่อไป
แต่ในส่วนของ "สำนักข่าวอิศรา" ถือว่า ได้ทำหน้าที่ "สื่อมวลชน" ตามบทบาทในการนำเสนอความจริงต่อสาธารณชนแล้ว
อ่านข่าวเกี่ยวข้องทั้งหมด
- เอื้องบบุรีรัมย์-เอี่ยวผู้รับเหมา! พรรคร่วมฝ่ายค้าน ลุยยื่นคำร้องถอดถอน 'ศักดิ์สยาม'
- คลี่12ปมส่อขายหุ้นให้นอมินี! เปิดคำร้องส่ง'ศาล รธน.'วินิจฉัย'ศักดิ์สยาม'พ้น‘รมต.’หรือไม่
- ภูมิใจไทย อัดฝ่ายค้าน ถอดถอน ‘ศักดิ์สยาม’ ใช้สิทธิไม่สุจริต - เป็นเกมการเมือง
- ยื่น ป.ป.ช.ฟัน'ศักดิ์สยาม' 3 เรื่อง! 'ทวี'แนะปมเขากระโดง ส่งศาลฎีกาสอบจริยธรรมทันที
- หจก.บุรีเจริญฯ สินทรัพย์ 205 ล้าน ไฉน!‘ศักดิ์สยาม’ ขายให้เพื่อน 119 ล.
- ย้อนดูข้อมูลอิศรา คุ้ย 'หจก.บุรีเจริญฯ' ก่อน ก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ 'ศักดิ์สยาม'
- คุ้ยทรัพย์สิน ส.ส.‘ศักดิ์สยาม’! ใช้ที่อยู่เดียว หจก.บุรีเจริญฯ 25 วันก่อนเปลี่ยน?
- เจาะ 4 โครงการทำถนน คค.-หจก.รับเหมาฯคดีเขากระโดงคว้างาน 122 ล.คู่เทียบเดิม?
- โชว์สัญญาจัดจ้าง! หจก.รับเหมาฯคดีเขากระโดง ใช้ที่อยู่‘ศักดิ์สยาม’คว้างานรัฐ 1.2 พันล.
- หจก.บุรีเจริญฯใช้บ้าน‘ศักดิ์สยาม’เป็นที่ตั้ง-แจ้งเปลี่ยนก่อนนั่ง รมว.คมนาคม 23 วัน
- โชว์สัญญาโอนหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ‘ศักดิ์สยาม-ศุภวัฒน์’ 119.4 ล.-ไม่ระบุจ่ายเงินหรือไม่?
- ปี 58‘ศักดิ์สยาม’คัมแบ็กหุ้นใหญ่ หจก.บุรีเจริญฯ เพิ่มทุน 119.5 ล.-โอนเกลี้ยงปี 61
- เจาะ หจก.บุรีเจริญฯ‘ศักดิ์สยาม-เพิ่มพูน’ ร่วมก่อตั้ง-ลงหุ้นปี 39 ก่อนไขก๊อกปี 40
- เปิดละเอียด! ข้อกล่าวหา’ศักดิ์สยาม-อนุพงษ์’ เอื้อพวกพ้อง-ไม่ถอนโฉนดรุก ‘เขากระโดง’
- ฝ่ายค้านยื่น ป.ป.ช.สอบอีก 2 รมต. ที่ดินเขากระโดง ‘ศักดิ์สยาม’-‘นิพนธ์’โดนนิคมฯจะนะ
- ออกไปนานแล้ว! 'ศักดิ์สยาม' แจงสัมพันธ์ หจก.บุรีเจริญฯ ปมที่ดิน ‘เขากระโดง’
- ‘ศุภวัฒน์-หจก.บุรีเจริญฯ’ 2 ตัวละครมหากาพย์ ‘เขากระโดง’ บริจาค ภท. ปี 62 รวม 7.5 ล.
- คำพิพากษาศาลฎีกาชี้ชัด! ‘เขากระโดง’ที่ดินรถไฟ สะเทือน‘ช้างอารีน่า-บุรีรัมย์คาสเซิล’
- 23 ปียังไม่เพิกถอนโฉนด! เปิดบันทึกกฤษฎีกาชี้ชัด ‘เขากระโดง’ 5 พันไร่ ที่ดินรถไฟ
- พลิกแฟ้มป.ป.ช.! สั่งถอนโฉนดตระกูล ‘ชิดชอบ’ ทับที่ดินรถไฟ ‘เขากระโดง’
- ได้งาน คค.7 ปีหลังสุด 1.9 พันล.! หจก.บุรีเจริญฯของ‘ตัวละครสำคัญ’มหากาพย์‘เขากระโดง’
- เปิดตัว ‘ศุภวัฒน์’ คู่พิพาทที่รถไฟ ‘เขากระโดง’-บริจาค ภท.-‘ศักดิ์สยาม’ เคยเป็นกุนซือ
- ควันหลงซักฟอก! 'ประเสริฐ'ร้อง ป.ป.ช.10 มี.ค.เอาผิด'บิ๊กตู่-จุรินทร์'คดีถุงมือยาง
- มหากาพย์ที่ดิน ‘เขากระโดง’ โยง ‘ศักดิ์สยาม-ญาติ’ มีบ้านพักบน ‘ที่หลวง’