"...โดยที่ที่ดินบริเวณที่หารือ (เขากระโดง อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์) ซึ่งเป็นที่ดินที่อยู่ในแนวเขตที่ดินของกรมรถไฟในขณะนั้น มีสภาพเป็นที่ป่ายังไม่มีผู้ใดครอบครองทำประโยชน์ เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินได้เข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นแหล่งวัสดุสำหรับการก่อสร้างทางรถไฟ จึงถือได้ว่าเป็นการ ‘หวงห้าม’ ที่ดินรกร้างว่างเปล่าไว้ใช้ในราชการตามกฎหมายแล้ว..."
...............
ยังคงต้องรอความชัดเจนจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกรมที่ดิน
กรณีการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดิน บริเวณ ‘เขากระโดง’ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เนื้อที่รวมกว่า 5,000 ไร่ ซึ่งเป็นการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินรถไฟ (อ่านประกอบ : มหากาพย์ที่ดิน ‘เขากระโดง’ โยง ‘ศักดิ์สยาม-ญาติ’ มีบ้านพักบน ‘ที่หลวง’)
เพราะแม้ว่าเมื่อ 23 ปีก่อน หรือเมื่อปี 2541 คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) ได้มีคำวินิจฉัยว่า ที่ดินบริเวณเขากระโดง เป็น ‘ที่ดินรถไฟ’ ตามมาตรา 3 (2) และได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 ก่อนจะโอนมาเป็นทรัพย์สินของ รฟท. หลังจากมีการตรา พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494
แต่จนถึงปัจจุบันที่ดินหลายแปลงยังถือครอง 'กรรมสิทธิ์' โดยเอกชน ทั้งๆที่เป็น 'ที่ดินหวงห้าม' รวมทั้งมีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันเรื่อยมา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปประเด็นเกี่ยวกับบันทึก เรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณเขากระโดง อ.บุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยระเบิดหินเพื่อใช้ในการก่อสร้างทางรถไฟ ของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 7 เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2541 เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบที่มาที่ไปว่าเหตุใดที่ดินบริเวณ 'เขากระโดง' จึงเป็นที่ดินของรฟท. ดังนี้
@ที่มาก่อนส่งกฤษฎีกาตีความ
เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2539 ที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ประชุมพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินของ รฟท. บริเวณเขากระโดง ในท้องที่ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นกรณีมีความเห็นแตกต่างกันระหว่าง รฟท. กับ กรมที่ดิน
เนื่องจากกรมที่ดินได้ออก 'เอกสารสิทธิ์' ในที่ดินบริเวณดังกล่าวให้ราษฎรบางราย ซึ่ง รฟท.ได้อ้างว่าได้เอกสารสิทธิ์มาโดย พ.ร.ฎ.กำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี (พ.ศ. 2462) และพ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ (พ.ศ.2464)
แต่กรมที่ดินเห็นว่า พ.ร.ฎ.กำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี พ.ศ. 2462 มีเจตนาหรือวัตถุประสงค์เพียงเพื่อกำหนดพื้นที่หรือบริเวณที่ดินที่จะจัดสร้างทางรถไฟไว้อย่างกว้างๆ เท่านั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมการรถไฟสามารถเข้าไปดำเนินการตรวจวางแนวทาง และจัดทำแผนที่เพื่อแบ่งเขตที่ดินที่จัดสร้างทางรถไฟให้แน่นอนอีกครั้ง
โดย พ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าว ‘ไม่มีข้อความตอนใด’ ที่กำหนดให้ที่ดินในระวางแผนที่ตรงเป็นกรรมสิทธิ์ของ ‘กรมรถไฟหลวง’ ในสมัยนั้นแต่อย่างใด
ที่ประชุมเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ ระหว่าง รฟท. กับกรมที่ดิน จึงมีมติให้นำปัญหานี้เสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ทั้งนี้ เพื่อที่ จ.บุรีรัมย์ จะได้ใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในบริเวณดังกล่าวให้เสร็จสิ้นต่อไป
ต่อมา จ.บุรีรัมย์มีหนังสือ ที่ บร. 0011/13853 ลงวันที่ 18 ก.ค.2540 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว
@รฟท.โชว์แผนที่ยัน ‘เขากระโดง’ เป็นที่ดินรถไฟ
ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) พิจารณาเรื่องหารือดังกล่าว โดยฟังคำชี้แจงจากผู้แทนกรมธนารักษ์กระทรวงการคลัง ผู้แทนกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย และผู้แทน รฟท.แล้ว สรุปข้อเท็จจริงได้ว่า
ในการสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ได้มีการตรา พ.ร.ฎ.กำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี (พ.ศ.2462) โดยให้กรมรถไฟหลวงเริ่มลงมือตรวจแนวทางรถไฟอันแน่นอนให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้ประกาศเป็นต้นไป
ต่อมาในปี 2463 กรมรถไฟหลวงได้ทำการสำรวจเส้นทางตั้งแต่สถานีรถไฟนครราชสีมาจนถึง ต.ท่าช้าง จ.นครราชสีมา เป็นช่วงแรก จึงได้มีการตราพ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือฯ ซึ่งทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ 'กรมรถไฟหลวง' จัดการสร้าง
โดยมาตรา 1 แห่ง พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์ฯ ให้ยกเลิก พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินฯ ฉบับลงวันที่ 8 พ.ย.2462 เฉพาะเขตระหว่างสถานีรถไฟนครราชสีมาถึง ต.ท่าช้าง จ.นครราชสีมา และให้กรมรถไฟหลวงจัดซื้อที่ดินตามบัญชีรายชื่อเจ้าของที่ดินท้าย พ.ร.ฎ.ฉบับนี้
ส่วนแผนที่แสดงเขตที่ดินที่ต้องเวนคืนมิได้พิมพ์ไว้ท้ายกฎหมาย แต่ให้กรมรถไฟจัดทำ ‘แผนที่แสดงแนวเขต’แสดงไว้ให้ผู้เกี่ยวข้องตรวจดู ณ สถานที่ราชการที่กำหนด
ต่อมาในปี 2464 ได้มีการตรา พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ (พ.ศ.2464) ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง
โดยให้กรมรถไฟแผ่นดิน ‘จัดซื้อ’ ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางรถไฟ จาก ต.ท่าช้าง จ.นครราชสีมาถึง จ.สุรินทร์ บริเวณที่ดิน ต.เขากระโดง อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ในช่วงของการสำรวจและจัดซื้อที่ดินตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์ฯ
ทั้งนี้ ผู้แทน รฟท.ได้เสนอสำเนาแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการสำรวจแนวทางรถไฟ และจัดซื้อที่ดินตามพ.ร.ฎ. ฉบับ พ.ศ. 2464 เพื่อประกอบการพิจารณาจำนวน 3 ฉบับ
โดยในแนวเขตที่ดินนั้น มีทั้งบริเวณที่ดินเอกชนมีกรรมสิทธิ์ซึ่งต้องจัดซื้อ และบริเวณที่ดินรกร้างเปล่าที่ยังไม่มีการครอบครองทำประโยชน์ และได้เสนอแผนที่ที่ได้สำรวจเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2539 ซึ่งแสดงบริเวณที่ดินที่เอกชนครอบครองภายในแนวเขตที่ดินที่ได้สำรวจไว้เมื่อปี พ.ศ.2464 ซึ่งในขณะนั้นระบุว่า ‘เป็นที่ป่า’
(แนวเขตที่ดินรถไฟ 'เขากระโดง' อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ที่มา : google map)
@กรมที่ดินโต้ออกเอกสารสิทธิ์ได้
แต่ผู้แทนกรมที่ดินเห็นว่า พ.ร.ฎ. ฉบับ พ.ศ.2462 เป็นเพียงการกำหนดแนวเขตที่ดินเพื่อนำการสำรวจ และที่ดินบริเวณที่มีปัญหานี้ อยู่ในช่วงการจัดซื้อตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. 2464
ดังนั้น หากเป็นที่ดินของบุคคลที่ถูกระบุชื่อและจำนวนที่ดินที่ถูกจัดซื้อท้าย พ.ร.ฎ.ดังกล่าว ที่ดินดังกล่าวก็ตกเป็นที่ดินรถไฟมาตรา 3 (2) แห่ง พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟและทางหลวงฯ ส่วนที่ดินที่เหลือ ก็พ้นจากการ ‘ห้ามจับจอง’ ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ฎ.ฉบับ พ.ศ. 2462
เพราะมาตรา 1 แห่ง พ.ร.ฎ.ฉบับ พ.ศ.2464 ให้ยกเลิก พ.ร.ฎ.ฉบับ พ.ศ.2462 ตั้งแต่ ต.ท่าช้าง จ.นครราชสีมาถึง จ.สุรินทร์ ราษฎรจึงสามารถจับจองที่ดินได้ และหากมาขอเอกสิทธิ์ที่ดิน พนักงานเจ้าหน้าที่ก็สามารถออกให้ได้
ขณะที่ผู้แทนกรมธนารักษ์ ชี้แจงว่า ก่อนการตรา พ.ร.บ.ว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างปล่อยอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ.2478 ยังมิได้มีหลักเกณฑ์การสงวนหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าไว้ใช้ในราชการเป็นการแน่นอน แต่หากมีประกาศของเทศาภิบาลมณฑล หรือประกาศของนายอำเภอท้องที่ ก็ถือว่าเป็นการหวงห้ามตามกฎหมายแล้ว
@กฤษฎีกาชี้ ‘เขากระโดง’ เป็นที่ดินหวงห้ามของรถไฟฯ
คณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ยุติว่า ที่ดินที่ราษฎรครอบครองบริเวณเขากระโดง อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ อยู่ภายในแนวเขตตามแผนที่ที่เจ้าหน้าที่กรมรถไฟแผ่นดินได้สำรวจและจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการจัดซื้อที่ดินตาม พ.ร.ฎ.ฉบับ พ.ศ.2464
แต่ที่ดินในส่วนที่เป็นปัญหากรณีนี้ (เขากระโดง อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์) มิได้ดำเนินการจัดซื้อ เพราะในแผนที่กำหนดไว้ว่า ‘เป็นที่ป่า’ ยังไม่มีเอกชนครอบครองทำประโยชน์
แม้ว่า พ.ร.ฎ.พ.ศ. 2464 ได้กำหนดแนวเขตอย่างกว้างไว้ สำหรับการสำรวจเพื่อสร้างทางรถไฟ และไม่มีผลเป็นการเวนคืนที่ดินตามความเห็นของผู้แทนกรมที่ดินก็ตาม
แต่เมื่อได้ทำการสำรวจเส้นทางที่แน่นอน และทราบจำนวนที่ดินที่มีความจำเป็นต้องใช้แล้ว ก็จะมีการตรา พ.ร.ฎ.จัดซื้อจากเอกชนและยกเลิก พ.ร.ฎ. พ.ศ.2462 เป็นตอนๆ ซึ่งแนวทางที่สำรวจแน่นอนแล้วนี้ ประกอบด้วย ที่ดินของเอกชนที่จะต้องจัดซื้อตาม พ.ร.ฎ. และที่ดินรกร้างว่างเปล่าของรัฐที่ 'ไม่จำเป็นต้องจัดซื้อ' แต่มีสภาพเป็นที่ดิน 'ที่หวงห้ามไว้ในราชการ'
การยกเลิก พ.ร.ฎ. พ.ศ. 2462 ย่อมหมายถึง 'ยกเลิกการสงวนหวงห้ามที่ดิน ซึ่งเป็นของเอกชนในส่วนที่นอกเหนือจากแนวเขตที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ฎ.จัดซื้อที่ดินเท่านั้น มิใช่ยกเลิกการหวงห้ามทั้งหมด'
เมื่อปรากฏว่า การสำรวจที่ดินเพื่อกำหนดแนวเขตที่ดินที่ใช้สร้างทางรถไฟในปี พ.ศ. 2464 ได้ดำเนินการโดยครบถ้วน รวมทั้งกรมรถไฟแผ่นดินได้จัดทำแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินของกรมรถไฟแสดงไว้โดยชัดแจ้งแล้ว และโดยที่ที่ดินบริเวณที่หารือ (เขากระโดง อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์) ซึ่งเป็นที่ดินที่อยู่ในแนวเขตที่ดินของกรมรถไฟในขณะนั้น มีสภาพเป็นที่ป่ายังไม่มีผู้ใดครอบครองทำประโยชน์
เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินได้เข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นแหล่งวัสดุสำหรับการก่อสร้างทางรถไฟ จึงถือได้ว่าเป็นการ ‘หวงห้าม’ ที่ดินรกร้างว่างเปล่าไว้ใช้ในราชการตามกฎหมายแล้ว ที่ดินนั้นจักเข้าลักษณะเป็นที่ดินรถไฟตามมาตรา 3 (2) และได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 6 แห่งพ.ร.บ.จัดวางการรถไฟแลทางหลวงฯ
เหล่านี้เป็นคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อ 23 ปีก่อน และเป็นสิ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตาม
“เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นทางกฎหมายเป็นประการใดแล้ว โดยปกติให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น” มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2482 เกี่ยวกับการวางระเบียบในเรื่องการตีความและการให้ความเห็นในทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุ
แต่ปรากฏว่าจนถึงปัจจุบัน ที่ดินหลายแปลงบริเวณ ‘เขากระโดง’ ยังไม่ถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ซึ่งมีทั้งที่เป็น ส.ค.1 ,น.ส.3 ก น.ส.3 ข และโฉนดที่ดิน อีกทั้งมีการนำเอกสารสิทธิ์ที่ดินต่างๆมาขอออกเป็น ‘โฉนดที่ดิน’ กับกรมที่ดิน กระทั่ง รฟท.ต้องคัดค้านการขอรังวัดที่ดินเพื่อขอออกเป็นโฉนดดังกล่าว จนถูกประชาชนฟ้องร้องหลายคดี
นอกจากนี้ ที่ดินบางแปลง ซึ่งมีการรังวัดและออกเป็น ‘โฉนดที่ดิน’ โดยมิชอบนั้น ได้ถูกนำไปใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงินจากธนาคาร
ที่สำคัญการที่ รฟท. และกรมที่ดิน ไม่ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ออกทับ ‘ที่ดินรถไฟ’ สุ่มเสี่ยงที่ขัดต่อมติ ครม. และอาจเข้าข่ายกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอีกด้วย
จึงต้องติดตามต่อไปว่าการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ‘เขากระโดง’ จะมีบทสรุปอย่างไร
อ่านประกอบ :
พลิกแฟ้มป.ป.ช.! สั่งถอนโฉนดตระกูล ‘ชิดชอบ’ ทับที่ดินรถไฟ ‘เขากระโดง’
ได้งาน คค.7 ปีหลังสุด 1.9 พันล.! หจก.บุรีเจริญฯของ‘ตัวละครสำคัญ’มหากาพย์‘เขากระโดง’
เปิดตัว ‘ศุภวัฒน์’ คู่พิพาทที่รถไฟ ‘เขากระโดง’-บริจาค ภท.-‘ศักดิ์สยาม’ เคยเป็นกุนซือ
ควันหลงซักฟอก! 'ประเสริฐ'ร้อง ป.ป.ช.10 มี.ค.เอาผิด'บิ๊กตู่-จุรินทร์'คดีถุงมือยาง
มหากาพย์ที่ดิน ‘เขากระโดง’ โยง ‘ศักดิ์สยาม-ญาติ’ มีบ้านพักบน ‘ที่หลวง’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/