“…มีการชี้แนวเขตรับรองโดยวิศวกรของการรถไฟ แสดงว่าตรงนั้นจริงๆแล้ว มีพี่น้องประชาชนที่ได้อยู่อาศัยมานาน ซึ่งจะไปดูจากประวัติศาสตร์ก็ได้ เพราะบุรีรัมย์มีประวัติยาวนาน มีประชาชนอยู่ที่นั่นมายาวนานมาก นานจนกระทั่งผมคิดว่า เราเกิดไม่ทัน…”
...................
“…ท่านรัฐมนตรี เป็นตัวการผู้สนับสนุนให้ญาติพี่น้อง และพวกพ้องกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะที่ดินเขากระโดงนั้น หลังจากปี 2560 ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยที่ดินทั้งแปลง เป็นที่สาธารณะประโยชน์ สงวนหวงห้ามไว้และในคำพิพากษาก็บอกว่าใครที่เข้าไปอยู่จะต้องขับไล่และเพิกถอน….
…ท่านรัฐมนตรีก็อยู่ในพื้นที่แห่งนี้ ถ้าไปดูการแจ้งที่อยู่กับสภาฯแห่งนี้ บ้านท่านอยู่ตรงกลางๆที่การรถไฟฯ (รฟท.) วันนี้ท่านรัฐมนตรีก็เหมือนอยู่ในที่สาธารณะ ในที่สงวนหวงห้าม เพราะหลังจากปี 2560 สถานะของที่ดินแห่งนี้ เป็นที่สงวนหวงห้าม และไม่สามารถให้ใครเข้าไปอยู่ได้…”
เป็นข้อกล่าวหาที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ อภิปรายไม่ไว้วางใจ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ฐานไม่ปฏิบัติบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีตนเองและญาติมีบ้านพักบนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริเวณเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์
แต่สำหรับประชาชนทั่วไป การรถไฟฯ หน่วยงานในกำกับดูแลของรมว.คมนาคม เดินหน้าฟ้องเพิกถอนโฉนดที่ดิน น.ส.3 และน.ส. 3 ก ของประชาชนในพื้นที่เขากระโดง ซึ่งเป็นที่ดินในกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ แทนที่การรถไฟฯจะฟ้องร้องทุกคนที่อยู่ในพื้นที่นั้น ไม่ใช่ฟ้องแค่ใครคนใดคนหนึ่ง
“คนไทยทุกคนต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งเหมือนไม่ได้ถูกบังคับใช้กฎหมาย” พ.ต.อ.ทวีกล่าว
(พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปที่มาของที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณพื้นที่เขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ของพ.ต.อ.ทวี และข้อมูลเอกสารที่ใช้ในการอภิปราย ดังนี้
เมื่อปี 2462-2464 มีการสร้างทางรถไฟจากนครราชสีมาผ่านบุรีรัมย์ ไปสุรินทร์ ,ศรีษะเกษ และอุบลราชธานี แต่เนื่องจากต้องหาแหล่งหิน ระเบิดหินและย่อยหิน เพื่อนำมาสร้างทาง เจ้าหน้าที่ ‘กรมรถไฟแผ่นดิน’ สมัยนั้น จึงสำรวจที่ดินบริเวณเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เพื่อทำการจัดซื้อที่ดินตามพ.ร.ฎ.ฉบับปี พ.ศ.2464
“ปี 2462-64 เขาทำแผนที่จากสถานีบุรีรัมย์ พบว่าบริเวณนั้น (เขากระโดง) ไม่มีบ้านเรือนอยู่ หรือถ้ามีก็จ่ายค่าทำขวัญแล้ว และกำหนดแนวเขตขนาด 4 กิโลเมตร คูณ 2 กิโลเมตร บริเวณที่ดินเขากระโดง” พ.ต.อ.ทวี ระบุ
ต่อมามีการตราพ.ร.บ.จัดวางการรถไฟ แลทางหลวง พ.ศ.2464 โดยกำหนดนิยาม ‘ที่ดินรถไฟ’ ให้หมายความว่า ‘ที่ดินทั้งหลายที่ได้จัดหาหรือเช่าถือไว้ใช้ในการรถไฟโดยชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย’ และมาตรา 6 (2) ระบุว่า ‘ห้ามมิให้เอกชน หรือบริษัทใด หวงห้ามหรือถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินรถไฟหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น...’
ขณะที่กรมรถไฟฯมีการปักหลักเขต รวมแปลงที่ดินไว้ และมีการจัดให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดูแล และสงวนสิทธิ์ในการใช้ที่ดินโดยสม่ำเสมอ
เช่น ในปี 2466 การรถไฟฯได้ทำทางแยกจากสถานีบุรีรัมย์เข้าไปลำเลียงหินในเขากระโดง ผู้รับเหมาย่อยศิลาได้มีการก่อสร้างที่พักคนงานหลายแห่ง จนสารวัตรบำรุงทางลำปลายมาสเคยทำการขับไล่ แต่ได้รับการร้องขอจากผู้รับเหมาขออยู่เป็นการชั่วคราว และมีการทำบันทึกไว้เป็นหลักฐาน
แม้ว่าต่อมาจะยกเลิกพ.ร.บ.จัดวางการรถไฟ แลทางหลวง พ.ศ.2464 และตราพ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 แต่ที่ดินบริเวณเขากระโดง เนื้อที่ประมาณ 5,083 ไร่ ก็ยังคงเป็นของการรถไฟฯเหมือนเดิม
ซึ่งเป็นไปตามบัญญัติที่ว่า ‘ให้โอนทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดของกรมรถไฟให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ดินของการรถไฟที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินตามป.พ.พ.มาตรา 1304 ไม่มีเอกชนรายใดอ้างสิทธิ์รครอบครองได้’
ที่มา : เอกสารประกอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจของ พ.ต.อ.ทวี เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2564
อย่างไรก็ตาม ต่อมามีผู้บุกรุกเข้าไปอาศัยในพื้นที่บริเวณเขากระโดง ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ และเมื่อวันที่ 9 พ.ย.2513 การรถไฟฯได้ประชุมร่วมระหว่างผู้บุกรุกที่ดิน แม้ว่าตั้งแต่ปี 2502 เป็นต้นมา การรถไฟฯจะพยายามขอให้กรมที่ดินออกหนังสือสำคัญสำหรับ ‘ที่หลวง’ ให้กับการรถไฟฯ แต่ประชาชนที่บุกรุกคัดค้าน ทำให้มีปัญหาในการออกหนังสือ
กระทั่งต่อมามีผู้บุกรุกพื้นที่ฯบางรายได้นำที่ดินในพื้นที่เขากระโดงไปออกโฉนด เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2515 และได้ขายต่อให้บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด และบริษัทฯนำที่ดินไปจำนองกับธนาคารแห่งหนึ่ง ขณะที่ผู้บุกรุกรายอื่นๆได้ขอออกโฉนดที่ดินบนที่ดินดังกล่าวอีก 'หลายแปลง' และมีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันหลายทอดในเวลาต่อมา
แต่แล้วในอีก 25 ปีต่อมา หรือเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2540 จังหวัดบุรีรัมย์ได้ส่งเรื่องข้อพิพาทปัญหาที่ดินระหว่างการรถไฟฯกับประชาชนไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัย และคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 7 วินิจฉัยว่าที่ดินเขากระโดงเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟ (หนังสือที่ นร.0601/211) ลงวันที่ 17 มี.ค.2541
ต่อมาในปี 2552 การรถไฟฯส่งเรื่องไปยัง ‘กรมที่ดิน’ เพื่อขอให้เพิกถอนที่ดินของผู้บุกรุกที่ได้มีการออกโฉนดโดยมิชอบ โดยเฉพาะที่ดิน 2 แปลงของ ‘นักการเมือง’ ตระกูลหนึ่ง แต่ปรากฏว่ากรมที่ดินพิจารแล้วมีความเห็น ‘แย้ง’ กับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และไม่ดำเนินการ ‘เพิกถอน’ โฉนดดังกล่าว
โดยอ้างว่าการรถไฟฯไม่ส่งหลักฐาน ‘รูปแผนที่ประมาณที่กำหนดแนวเขตร์ทางรถไฟเพื่อสำรวจและทำการสงวนหวงห้ามตามพ.ร.ฎ.กำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี’ ฉบับลงวันที่ 8 พ.ย.2462 มาประกอบการพิจารณา ส่วนหลักฐานอื่นๆที่การรถไฟฯส่งไป ก็ไม่อาจรับฟังได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ
ส่งผลให้ในเวลาต่อมาได้มีประชาชนหลายราย ซึ่งอยู่อาศัยในพื้นที่บริเวณเขากระโดง ได้นำเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่มีอยู่ เช่น น.ส.3 ที่มีอยู่ ไปออกเป็นเอกสารสิทธิ์ ‘โฉนดที่ดิน’ กับกรมที่ดิน แต่กรมที่ดินไม่ออกโฉนดให้ เนื่องจากมีการคัดค้านจากการรถไฟฯ กระทั่งประชาชน 35 ราย ยื่นฟ้อง 'การรถไฟฯ' และ 'กรมที่ดิน' ต่อศาลแพ่ง และมีการต่อสู้กันถึงศาลฎีกา
ผลปรากฎว่าเมื่อวันที่ 16 ก.พ.2560 ศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 842-867/2560 ให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดินและ น.ส.3 ดังกล่าว ของผู้ฟ้อง 35 ราย เนื่องจากเป็นที่ดินบริเวณเขากระโดงเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ ขณะที่ศาลฯพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินและน.ส.3 อีกหลายแปลง เช่น คดีหมายเลขแดงที่ พ1317/2562 และคดีเลขที่แดงที่ 1112/2563
ที่มา : คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 842-876/2562 วันที่ 16 ก.พ.2560 ระหว่างประชาชน 35 ราย เป็นโจทก์ฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทย และกรมที่ดิน กรณีไม่ออกโฉนดที่ดินบริเวณเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์
“ท่านรัฐมนตรีต้องดำเนินการนำที่ดินการรถไฟฯแปลงนี้ ที่มีการนำไปออกโฉนด น.ส.3 ท่านไม่ต้องทำอะไรมาก ให้ยื่นฟ้องศาลเท่านั้น ศาลฯเขามีมาตรฐานอยู่แล้ว อย่างน้อยที่สุดจะทำให้แผ่นดินตรงนี้กลับมาอยู่กับการรถไฟฯ” พ.ต.อ.ทวี กล่าวและว่า “เมื่อสิทธิ์เป็นของรถไฟแล้ว เมื่อท่านนั่งอยู่ที่กระทรวงคมนาคม ท่านจะไม่ดำเนินการใดๆเลยหรือ”
พ.ต.อ.ทวี อ้างถึงที่ดินบริเวณเขากระโดงที่มีการออกสารสิทธิ์บนที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งการรถไฟฯต้องฟ้องเพิกถอนโฉนด เช่น สนามช้างอารีน่า ซึ่งรวมถึงบ้านพักของนายศักดิ์สยาม ญาติของนายศักดิ์สยาม เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบว่าบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด ซึ่งนายศักดิ์สยาม เคยแจ้งว่าเป็นที่ปรึกษาบริษัทฯ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย และญาติ ยังตั้งอยู่บนที่ดินกรรมสิทธิ์ของการรรถไฟฯด้วย
“ตามกฎหมายแล้วที่ดินแห่งนี้ (เขากระโดง) ออกเอกสารสิทธิไม่ได้ และที่ผ่านมาก็มีคำสั่งให้การรถไฟฯขับไล่เพิกถอน ซึ่งต้องทำทุกคน รวมทั้งรัฐมนตรีและญาติ” พ.ต.อ.ทวี กล่าวพร้อมย้ำว่า “ไม่ใช่คนกลุ่มหนึ่งที่เห็นว่าเป็นปกปักษ์ก็จะถูกบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งปฏิบัติไม่เหมือนกัน แม้แต่หลวงยังต้องขออนุญาตการรถไฟฯเลย”
พ.ต.อ.ทวี ทิ้งท้ายว่า “เท่าที่ประเมินมูลค่าที่ดิน (เขากระโดง) น่าจะอยู่ที่ 5,000 ล้าน 1 หมื่นล้าน เพราะมันใหญ่โตมาก ผมไม่ได้ตำหนิใคร เมื่อสถานะที่ดินได้ข้อยุติว่าเป็นที่ของรัฐ ท่านต้องดำเนินการ ท่านต้องรักษาสถานที่แห่งนี้ให้เป็นของประเทศ ถ้าปล่อยเวลาไปจะยิ่งเป็นการสร้างปัญหาให้คนที่มาซื้อที่ดิน และวันหนึ่งหากถูกเพิกถอนก็เกิดปัญหาขึ้น เว้นแต่ท่านจะแก้กฎหมายให้ที่ดินเขากระโดนไม่ใช่ที่ดินรถไฟ นี่ก็เป็นอีกเรื่อง”
ขณะที่ ศักดิ์สยาม ชี้แจงว่า ที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ที่มีข้อพิพาทนั้น เมื่อปี 2550 การรถไฟฯได้เข้าไปสำรวจผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ดังกล่าว พบผู้ถือครองเอกสารสิทธิ์ ส.ค.1 มากกว่า 35 ราย ถือครอง น.ส. 3 ก ประมาณ 500 ราย ถือครองโฉนดที่ดินมากกว่า 320 ราย และมีหน่วยราชการในพื้นที่หลายหน่วยงาน
อย่างไรก็ตาม การรถไฟฯได้ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายแล้ว 49 ราย แบ่งเป็น ส.ค. จำนวน 35 ราย น.ส. 3 ก จำนวน 7 ราย ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์การรถไฟฯ และขณะนี้คณะทำงานฯอยู่ระหว่างดำเนินการกับผู้บุกรุกเพิ่มเติม และรฟท.ได้เข้าไปจัดทำสัญญาเช่าให้เป็นไปตามระเบียบฯแล้ว
ศักดิ์สยาม ยังกล่าวถึงที่ดินที่เป็นที่ตั้งของ ‘สนามช้างอารีน่า’ ว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวมีเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดิน แปลงที่ 3466 ซึ่งเดิมที่ดินแปลงนี้เป็น น.ส.3 แต่เมื่อมีการซื้อขายแล้วก็นำไปยื่นขอออกเป็นโฉนด และวิศวกรของการรถไฟฯได้มารับรองแนวเขตเอง ซึ่งแสดงว่าที่ดินแปลงนี้มีประชาชนอาศัยอยู่นานแล้ว
“มีการชี้แนวเขตรับรองโดยวิศวกรของการรถไฟ แสดงว่าตรงนั้นจริงๆแล้ว มีพี่น้องประชาชนที่ได้อยู่อาศัยมานาน ซึ่งจะไปดูจากประวัติศาสตร์ก็ได้ เพราะบุรีรัมย์มีประวัติยาวนาน มีประชาชนอยู่ที่นั่นมายาวนานมาก
นานจนกระทั่งผมคิดว่า เราเกิดไม่ทัน นานตั้งแต่สมัยเก่าถึงขั้นว่ามีการไปปราบกบฏ โดยองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ซึ่งขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และมีการก่อสร้างอนุสาวรีย์ไว้ที่นั่น นั่นแสดงว่ามีคนอยู่
เพราะฉะนั้นเรื่องที่ต้องดำเนินการ ผมได้สั่งการว่าเราต้องปฏิบัติงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาล ต้องมีความยุติธรรม มีคุณธรรม โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และผมก็ไม่เคยแทรกแซงหรือสั่งการใดๆในเรื่องที่ดินดังกล่าว และต้องบอกว่าการดำเนินการกับที่ดินที่ที่มีข้อพิพาททั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะที่ดินที่เขากระโดง” ศักดิ์สยามชี้แจง
(ศักดิ์สยาม ชิดชอบ)
ศักดิ์สยาม ชี้แจงด้วยว่า กรณีการรถไฟฯขอให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินเมื่อปี 2552 นั้น ตนไม่ได้เป็นรมว.คมนาคม และสาเหตุที่ไม่ได้มีการเพิกถอนที่ดิน เพราะการรถไฟฯไม่ส่งแผนที่แนวเขตทางเมื่อปี 2462 มาให้กรมที่ดิน กรมที่ดินจึงไม่สามารถดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินได้ เรื่องก็ยุติ
“ผมยืนยันว่าในการดำรงรมว.คมนาคม ผมยึดหลักระเบียบกฎหมาย มติครม. ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ที่ของใคร ที่ของคนที่ใกล้ชิดหรือไม่ใกล้ชิด จะต้องอยู่ภายใต้พื้นฐานหลักกฎหมาย” ศักดิ์สยามย้ำ
ทั้งหมดนี้เป็นที่มาที่ไปและสาระสำคัญของการอภิปรายไม่ไว้วางใจกรณีที่ดิน ‘เขากระโดง’ ของพ.ต.อ.ทวี รวมทั้งเอกสารข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง และคำชี้แจงของรมว.คมนาคม ศักดิ์สยาม ชิดชอบ
หลังจากนี้ต้องติดตามต่อไปว่า การรถไฟฯจะฟ้องเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่มีการบุกรุกที่ดินของการรถไฟฯได้เพิ่มกี่ราย
อ่านประกอบ :
ชำแหละสายสีส้ม! ‘จิรายุ’ ร่าย 16 วันทันใจนาย-‘ศักดิ์สยาม’ถาม‘เอื้อประโยชน์ใคร’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/