‘เศรษฐพุฒิ’ แนะรัฐบาล ‘เศรษฐา’ ดำเนินนโยบาย ‘พักหนี้ฯ-แจกเงินดิจิทัล’ เฉพาะกลุ่ม ลดผลข้างเคียงการดำเนินนโยบาย-ประหยัดงบฯ พร้อมระบุ ‘ธปท.’ ยังไม่เปลี่ยน ‘นโยบายการเงิน’ หลังมองเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
..............................................
เมื่อวันที่ 14 ก.ย. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. หลังรัฐบาลใหม่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่า สิ่งที่พยายามย้ำในเรื่องการนโยบายการเงิน คือ ขณะนี้ ธปท. ดำเนินนโยบายการเงินที่เรียกว่า Outlook Dependent คือ การมองไปข้างหน้า และแม้ว่าในช่วงหลังเงินเฟ้อจะออกมาต่ำกว่าไว้ แต่ ธปท.จะยังไม่มีการปรับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินแต่อย่างใด
“ถ้าเราไปปรับนโยบายการเงิน ตามข้อมูลที่ออกมา นโยบายก็จะแกว่งไป แกว่งมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะตอนนี้มี Noise ในตลาดเยอะแล้ว เราในฐานะผู้กำหนดนโยบาย เราไม่อยากจะไปเสริมและไปเพิ่ม Noise ในตลาด ผมจึงคิดว่านโยบาย จึงควรมีความนิ่งระดับหนึ่ง โดยการมองข้างหน้า และอย่างที่ว่า บางทีข้อมูลออกมาในช่วงนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงไป
ตอนที่เรามองไปข้างหน้า ต้องบอกว่า ตาม Outlook ยังไงๆ เงินเฟ้อมีแนวโน้มว่า น่าจะขึ้นอยู่ ถึงแม้ว่าจะมีนโยบายระยะสั้นอย่างที่ว่า (ลดค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันดีเซล) เพราะความเสี่ยงที่เราเห็นชัด อันแรก คือ ราคาพลังงานโลกที่เห็นสัญญาณว่าจะกลับขึ้นมา ที่สำคัญมีอีกอันที่เราเป็นห่วงค่อนข้างมากหน่อย คือ เอลนีโญ ที่จะมีผลกระทบต่อราคาอาหาร เนื่องจากราคาอาหารมีน้ำหนักในตะกร้า (เงินเฟ้อ) ค่อนข้างสูง
และยังมีเรื่องสภาวะเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัว การท่องเที่ยวฟื้นตัว และการมีมาตรการกระตุ้นอะไรต่างๆ ซึ่งจะไปเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อในฝั่งอุปสงค์ โดยตัวหลักๆที่จะทำให้เงินเฟ้อปีหน้าขึ้น คือ เอลนีโญ และด้วยความที่เงินเฟ้อมันน่าจะขึ้น เราจึงต้องดูนโยบายการเงินในรูปแบบที่สอดคล้องกับภาพระยะยาว สอดคล้องกับ Neutral สอดคล้องกับการเติบโตในระยะยาว เงินเฟ้ออยู่ในกรอบอย่างยั่งยืนที่ 1-3%
และต้องไม่ไปสร้างความไม่สมดุลด้านการเงินต่างๆ ไม่ทำให้เกิดพฤติกรรม search for yield เหล่านี้เป็นประเด็นที่มีน้ำหนักในการพิจารณาว่าดอกเบี้ยควรเป็นอย่างไร และที่เราเน้นมาตลอด คือ เรื่อง normalize ซึ่งตอนนี้มันใกล้แล้ว และจากเดิมที่เราใช้ศัพท์ว่า Smooth take off ให้มันฟื้น ให้มันโตได้ต่อเนื่อง
ตอนนั้นเราขึ้นดอกเบี้ยเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ช่วงหลังเราถอดภาษานั้นออกไป ซึ่งตอนนี้โจทย์จากเรื่อง Smooth take off ได้เปลี่ยนเป็นเรื่อง Landing
และเราก็ใกล้จะ Landing แล้ว เพราะใกล้กับดอกเบี้ยที่เราคิดว่าเหมาะสมแล้วกับภาพระยะปานกลาง หรือที่เราเรียกว่า Neutral เหมาะกับภาวะเศรษฐกิจ” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
เมื่อถามว่าการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. จะขัดแย้งกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่หรือไม่ นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า การทำนโยบายต่างๆ จะต้องคำนึงถึงว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร แต่เมื่อ ธปท.คิดว่าจะต้องดูแลเรื่องเงินเฟ้อระยะยาว จึงต้องคำนึงถึงการที่จะมีรายจ่ายภาครัฐที่จะเข้ามาเพิ่มเติมในเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้เรามั่นใจว่า เมื่อมองไปข้างหน้าแล้ว เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นจากนโยบายการคลังที่จะออกมาด้วย
“โจทย์ของเรา (ธปท.) หน้าที่อะไรต่างๆ มันอยู่ในกฎหมายของผม ที่ต้องดูเรื่องเสถียรภาพ 3 ด้าน คือ เสถียรภาพราคา เสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน และเสถียรภาพระบบการชำระเงิน เรื่องการดูแลพวกนี้ต้องทำตามกรอบ ซึ่งการมีเสถียรภาพทางการเงิน ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งจำเป็นทางเศรษฐกิจ และอยากจะขอย้ำว่าดอกเบี้ยบ้านเราไม่เหมือนกับที่อื่น เราใช้คำว่า Neutral ซึ่งต้องดูว่ามันสอดคล้องกับภาพระยะยาวของเราหรือเปล่า
ที่ผ่านมาเราเหยียบคันเร่งเยอะช่วงโควิด เหยียบค่อนข้างแรง เพราะดอกเบี้ยต่ำมาก แต่ตอนนี้เราถอนคันเร่งออก แต่ยังไม่ถึงขั้นเหยียบเบรก เพราะถ้าเหยียบเบรก ดอกเบี้ยจะขึ้นไปมากกว่านี้ โดยต้องขึ้นเหมือนที่เราเห็นในต่างประเทศ ซึ่งขึ้นไปสูงกว่า Neutral เพราะเขาต้องการชะลอเศรษฐกิจ เพื่อให้เงินเฟ้อลง เพราะเงินเฟ้อของเขามาจากฝั่งอุปสงค์ แต่บ้านเรา เงินเฟ้อไม่ได้มาจากอุปสงค์เป็นหลัก แต่มาจากฝั่งอุปทานเยอะ จึงเป็นหน้าที่เราที่ต้องดูแลภาพรวมเงินเฟ้อ ไม่ให้การคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาวเริ่มหลุด” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
@แนะรัฐบาลให้ความสำคัญ‘เสถียรภาพการคลัง’
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ธปท.ได้มีการพูดคุยกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนกัน และก็เหมือนกับที่นายกฯได้พูดไปแล้วว่า ได้มีการรับฟังข้อกังวลและข้อระมัดระวังจาก ธปท. ส่วนที่รัฐบาลจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ตนเคยพูดมาก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจตอนนี้มีการฟื้นตัวอยู่แล้ว และแม้ว่าจะช้ากว่าที่อื่น แต่ภาพการฟื้นตัวก็ยังเห็นได้อยู่ ดังนั้น โจทย์สำคัญในฝั่งนโยบาย จึงเป็นเรื่องการทำนโยบายให้กลับสู่สภาวะปกติ
“ยังไง เราก็ต้องให้ความสำคัญในเรื่องเสถียรภาพ เพราะเป็นเรื่องที่หลายที่จับตามอง ซึ่งเสถียรภาพมีหลายมิติ แต่อันหนึ่งที่มีความกังวลเป็นพิเศษในช่วงนี้ คือ เสถียรภาพในฝั่งการคลัง ภาพรวมของการคลังต้องมีเสถียรภาพ เราเห็นตัวอย่างแล้ว ขนาดประเทศอเมริกา ยังโดนเครดิตเรตติ้ง เขาดาวน์เกรด เพราะไม่ได้ใส่ใจเพียงพอกับเรื่องเสถียรภาพทางการคลัง และเรื่องเสถียรภาพการคลัง ก็เป็นโจทย์สำคัญของเรา” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ ยังระบุว่า หลังจากที่ได้พูดคุยกันแล้ว รัฐบาลเองก็รับฟังข้อห่วงใยของ ธปท. แต่ท้ายที่สุดแล้ว การดำเนินนโยบายของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องการตัดสินใจของรัฐบาล
@ชี้นโยบาย‘พักหนี้ฯ’ไม่ควรทำเป็นวงกว้าง
เมื่อถามว่านโยบายพักหนี้ฯ จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินการคลังหรือไม่ นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า เรื่องการพักหนี้ ต้องขึ้นอยู่กับรูปแบบที่จะทำว่าจะเป็นอย่างไร โดย ธปท.เห็นว่า เรื่องการพักหนี้ฯควรเป็นหนึ่งในนโยบายที่อยู่ใน Tool Kit (ชุดเครื่องมือ) แต่ไม่ควรเป็น ‘เครื่องมือเอก’ ใน Tool Kit และหากจะมีการพักหนี้ฯแล้ว ก็เห็นว่าการพักหนี้ฯในวงกว้างไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสม ซึ่งเรื่องนี้ ธปท. ได้ให้ข้อกังวลกับรัฐบาลไปแล้ว
“ถามว่าทำไมเรื่องการพักหนี้ฯในวงกว้าง เราคิดว่าไม่ค่อยเหมาะสม ซึ่งเหตุผลก็คือ การพักหนี้ฯมันมีจังหวะที่อาจจำเป็น และเหมาะกับอะไรที่เป็นเรื่อชั่วคราว ซึ่งถ้าผ่านตรงนี้ไปแล้วลูกหนี้จะฟื้น เช่น ช่วงโควิดที่ทุกอย่างถูกล็อกดาวน์ก็อาจจะเหมาะ แล้วทำในวงกว้าง เพราะทุกคนถูกกระทบ แต่หลังจากทำแบบนั้น เราพยายามถอยแล้ว ไม่อยากทำนาน เพราะไม่ดี และแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราจะไปพักแบบทุกคนคงไม่เหมาะ
ทั้งนี้ การพักหนี้ฯ อาจจะเหมาะกับคนที่มีศักยภาพ แต่เจออะไรชั่วคราวที่ทำให้เขามีปัญหา และถ้าพักไปแล้ว เขากลับมาได้ มันอาจจะเหมาะ แต่การทำโดยปริยาย ทำในวงกว้าง มันเป็นอะไรที่ไม่เหมาะ เพราะมีผลข้างเคียงเยอะ ถ้าเราดูตัวอย่างหนี้เกษตรกร มีบางกลุ่มที่มีศักยภาพ ก็ควรหาวิธีให้เขาปิดจบหนี้ได้ หรือมีแรงจูงใจให้เขาชำระต่อ ส่วนบางกลุ่ม ซึ่งมีไม่น้อยที่เป็นหนี้เรื้อรัง ดูแล้วปิดจบยาก คือ อายุเยอะแล้วก็ยังปิดไม่ได้
กลุ่มนี้ถ้าพัก ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเขา เพราะปิดจบไม่ได้ เรา (ธปท.) จึงออกมาตรการปล่อยมาตรการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ซึ่งรวมถึงการดูแลกลุ่มหนี้เรื้อรัง โดยมาตรการลักษณะนี้จะทำให้คนปิดจบหนี้ได้ และการพักหนี้ฯเราก็เห็นประสบการณ์ที่ผ่านมาแล้วว่า 14 ครั้งในรอบ 8 ผลไม่ชัด และไม่ค่อยได้ผลดี โดย 70% ที่พักหนี้ มีหนี้มากขึ้นกว่าเดิม คนที่เข้าโครงการพักหนี้ฯ มีโอกาสเป็น NPL สูงขึ้น จึงเห็นได้ว่าผลข้างเคียงค่อนข้างเยอะ” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
@‘ธปท.’เสนอแจก‘เงินดิจิทัล’ทำแบบพุ่งเป้า
เมื่อถามว่า กรณีที่รัฐบาลมีนโยบายแจกเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเลตนั้น จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายของ ธปท. หรือไม่ นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า คงต้องขึ้นอยู่กับรูปแบบที่จะออกมาว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนดังนั้น จึงต้องรอดูก่อน อย่างไรก็ดี ในเรื่องการแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเลต สิ่งที่ ธปท. เป็นกังวลและได้พูดคุยกับนายกฯ คือ แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจในตอนนี้ออกไม่สวยนัก โดยตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2/2566 ออกมาต่ำกว่าคาดไว้
แต่หากไปดูที่มาของการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะเห็นว่าภาคการบริโภคมีการฟื้นตัวและเติบโตได้ค่อนข้างดี ทั้งไตรมาส 1/2566 และไตรมาส 2/2566 ดังนั้น ตัวที่ขาดจริงๆ จึงไม่ใช่เรื่องการบริโภค แต่เป็นหมวดอื่น โดยเฉพาะตัวที่บ้านเราสิ่งที่ขาดมานาน คือ การลงทุน และเมื่อพิจารณาภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเปรียบเทียบระหว่างการกระตุ้นการบริโภคกับการกระตุ้นภาคอื่นๆ โดยเฉพาะการลงทุน จะเห็นว่าการกระตุ้นตัวอื่นน่าจะสำคัญกว่าการกระตุ้นการบริโภค
นอกจากนี้ หากการแจกเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเลต ทำในรูปแบบ targeting (พุ่งเป้า) หรือทำเฉพาะกลุ่ม น่าจะช่วยประหยัดงบประมาณได้มาก และไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการเงิน 1 หมื่นบาท ซึ่งเรื่องนี้ ธปท.ก็ได้มีการพูดคุยและเสนอ นายกฯ เช่นกัน
“การทำนโยบายต่างๆ ต้องฉายภาพระยะปานกลางให้ชัดว่า ถ้าทำมาตรการอย่างนี้ๆ ภาพรวมของรายจ่าย ภาพรวมของหนี้ การขาดดุลอะไรต่างๆจะเป็นอย่างไร ซึ่งผมคิดว่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่าในเรื่องวินัยการคลังนั้น รัฐบาลและนายกฯมีความห่วงใย และจะมีมาตรการต่างๆที่จะทำอย่างนี้ ถ้าทำไปแล้วจะมีการบริหารให้ภาพรวมทางการคลังยังอยู่ในกรอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาระหนี้ต่องบประมาณ หนี้ต่อ GDP ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ ระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้ ธปท.เคยพูดมาตลอดว่า ไม่สนับสนุนให้สินทรัพย์ดิจิทัล เป็น digital payment เพราะการทำอย่างนั้น จะเป็นการไม่เอื้อต่อเสถียรภาพในระบบการชำระเงินที่ควรมีเพียง 1 ระบบ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าการแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเลตจะเป็นอย่างไร และถ้าเป็นการแจกเงินในรูปแบบ e-money ก็ถือว่ายังเป็นระบบที่เป็นอย่างในปัจจุบัน
อ่านประกอบ :
ปีนี้โต3%กลางๆ! ‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำศก.ฟื้นต่อเนื่อง-เปลี่ยนโจทย์นโยบายการเงินเป็น‘landing’
เงินเฟ้อลงชั่วคราว! ‘ผู้ว่าฯธปท.’ส่งสัญญาณยังไม่หยุดขึ้นดบ.-ห่วงตั้งรบ.ช้ากระทบเชื่อมั่น
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำระบบการเงินไทย‘มีเสถียรภาพ-ทำงานได้ดี’-ขอ‘นายแบงก์’ร่วมแก้หนี้ครัวเรือน
ต้องเน้นเสถียรภาพ! ‘ผู้ว่าฯธปท.’ห่วงนโยบาย‘พรรคการเมือง’มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำปี 66 ศก.ไทยโตเกิน 3% แม้โลกเสี่ยง-ดูแลปล่อยสินเชื่อใหม่ลด‘หนี้ครัวเรือน’
กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ.นโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25%-จับตาเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอกว่าคาด
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำไม่จำเป็นต้อง‘รีบเร่ง’ขึ้นดอกเบี้ย-คาด‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบกลางปี 66
‘ผู้ว่าฯธปท.’ยันการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ช้าไป-ชี้โอกาสเกิด Stagflation เป็นไปได้น้อย
ผู้ว่าฯธปท. : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-ทุนสำรอง’