‘ผู้ว่าฯธปท.’ ย้ำเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง คาดจีดีพีปีนี้-ปีหน้าโต 3% กลางๆ แม้มองเศรษฐกิจไตรมาส 2/66 จะออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้ ระบุเปลี่ยนโจทย์ดำเนินนโยบายการเงินจาก ‘Smooth take off’ มาเป็น ‘landing’
...........................................
เมื่อวันที่ 9 ส.ค. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายในงานสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ในรายการสนทนากับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ ‘ก้าวต่อไปของเศรษฐกิจการเงินไทย’ โดยย้ำว่า เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แม้ว่าในบางช่วงจะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจบางตัวออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้บ้าง
“ภาพรวมของการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ทั้งในแง่การเติบโตเศรษฐกิจ ทั้งในเรื่องเงินเฟ้อที่เรามองว่าแนวโน้มว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายของเรา ภาพนี้ ยังไม่เปลี่ยน ยังเป็นไปอย่างที่เรามองไว้ อย่างตัวเลขในแง่การเติบโตเศรษฐกิจที่เราออกไปสู่สาธารณชนนั้น ตัวเลขที่เราออกไปครั้งก่อนออกมา 3.6% แต่ตอนนี้ด้วยความที่มันมีการชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลก และการส่งออกต่างๆ ซึ่งตัวเลขนี้คงมีการปรับลงบ้าง
แต่ในภาพรวมแล้ว ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ เราน่าจะเห็นตัวเลขที่อยู่ 3 กลางๆบวกลบ ทั้งปีนี้และปีหน้า ส่วนเงินเฟ้อจะทยอยกลับเข้าสู่เป้าเงินเฟ้อของเรา ซึ่งอยู่ระหว่าง 1-3% แม้ว่าบางช่วงเราอาจจะเห็นมันดูต่ำกว่าที่เราคาด ซึ่งในช่วงหลังตัวเลขในเดือนก่อนหน้าออกมา 0.2% และล่าสุดออกมาที่ 0.4% มันดูค่อนข้างต่ำ แต่แนวโน้มน่าจะค่อยๆเพิ่มกลับขึ้นไปใหม่ และกลับไปสู่กรอบระยะยาวของเรา
ส่วนตัวเลขจีดีพี เดี๋ยวสภาพัฒน์ (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) จะประกาศตัวเลขไตรมาส 2/2566 จากที่เราดูเบื้องต้นมีแนวโน้มว่า น่าจะออกมาต่ำหน่อย แต่อยากจะย้ำว่า ไม่ได้หมายความว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะไม่ไปต่อเนื่อง ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเรา หน้าตาหรือรูปแบบ จะถูกขับเคลื่อนหลักๆจากการบริโภคเอกชน รวมกับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ซึ่งสตอรี่ตัวนี้ เราไม่เห็นว่ามีอะไรที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะ
โดยการบริโภคเอกชน ตัวเลขจริงๆออกมาค่อนข้างดี ปีนี้น่าจะเห็นตัวเลขที่โตเกิน 4% ซึ่งถือเป็นระดับค่อนข้างสูง การท่องเที่ยว ถึงแม้จีนอาจจะไม่มาเร็วอย่างที่เราคิด แต่ตัวเลขที่เรามองไว้ ทั้งปีน่าจะเห็นตัวเลขนักท่องเที่ยว 29 ล้านคน ภาพนี้ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ เทียบกับปีที่แล้วที่มา 11 ล้านคน จาก 11 ล้านคน มา 29 ล้านคน ตัวนี้จะช่วยพยุงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นตัวบวก แต่ส่วนที่ทำให้ดูไม่ค่อยดีนัก คือ ส่งออกที่ไม่ค่อยดี ซึ่งมาจากโลกและจีน” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
นายเศรษฐพุฒิ ระบุด้วยว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีความเกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจจีนมาก มากจนกระทั่งในช่วงหลังจะเห็นว่าค่าเงินของไทยและจีนไปด้วยกัน เช่น เมื่อไหร่ที่มีข่าวว่าค่าเงินหยวนแข็ง ค่าเงินบาทก็จะแข็งตาม ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวมาก ในขณะที่นักท่องเที่ยวจีนคิดเป็น 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวที่มาไทย บวกกับการส่งออกไทยที่ไปจีน ซึ่งมีค่อนข้างสูงเช่นกัน
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วง 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ ว่า การท่องเที่ยวในช่วงครึ่งหลังของปีน่าจะดีขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะเป็นช่วงไฮซีซั่น ส่วนการบริโภคจะน่าเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แต่อันที่ยังต้องติดตาม คือ เรื่องการส่งออก ซึ่งการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกไม่ค่อยดี แต่เรามองว่าน่าจะค่อยๆดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังหรือในช่วงท้ายปี แต่ตรงนี้ยังมีคำถามว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวได้อย่างที่คาดไว้หรือไม่
“ส่วนหนึ่งที่ทำให้การส่งออกในโลก ไม่ใช่เฉพาะแค่ของเรา ไม่ดี เป็นเพราะวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ฟื้นช้ากว่าที่คิด และช่วงหลังเราเห็นตัวเลขในภาคการผลิตทั่วโลกค่อนข้างฟื้นช้า ตัวเลขจากจีนล่าสุดที่ออกมา ก็สะท้อนว่าภาคการผลิตไม่ค่อยดีนัก แต่ของที่เราสบายใจว่า ยังไงมันก็มา คือ บริโภคในประเทศ บริการ รวมถึงท่องเที่ยว อันนี้เคลียร์ แต่เรื่องการส่งออกยังมี question mark อยู่ว่า จะฟื้นอย่างที่เราอยากจะเห็นหรือเปล่า” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
@เตือนรัฐบาลใหม่ต้องไม่ดำเนินนโยบายที่กระทบเสถียรภาพ
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่มียังมีความไม่แน่นอน ว่า ที่หลายคนพูดว่า รัฐบาลจะตั้งช้าแล้วจะมีผลต่อการเบิกจ่ายงบประมาณ และเมื่องบประมาณไม่ออก เศรษฐกิจจะยิ่งทรุดและดิ่งลง ตรงนี้ถามว่า ธปท. เป็นห่วงมากหรือไม่ คำตอบ คือ ไม่ เพราะที่ ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตที่ระดับ 3% กว่าๆ นั้น ได้รวมเอาปัจจัยความล่าช้าของงบประมาณเข้าไปในระดับหนึ่งแล้ว โดยคาดว่างบประมาณจะล่าช้าไป 2 ไตรมาส
“เหตุผลที่ทำให้ผล มันไม่เป็นเยอะ เป็นเพราะโดยโครงสร้างของงบประมาณแล้ว งบประมาณที่มีลักษณะเป็นงบประจำต่างๆยังไงก็ออก แต่ตัวที่กระทบ คือ งบลงทุนที่เป็นของใหม่ ซึ่งเม็ดเงินตรงนี้ไม่ได้เยอะขนาดนั้น จึงไม่ได้ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะ ซึ่งในช่วงหลัง ท่านคงเจอว่า มีการส่งตามไลน์ว่า กลัวโน่น กลัวนี่ จนทำให้คนตกใจ ผมไม่เถียงว่า มันมีความเสี่ยงจริงๆ แต่ถ้าเชื่อทุกอย่างในไลน์คงไม่ต้องหลับ ไม่ต้องนอน และไม่ต้องทำงานอะไร
แต่ถ้าถามว่าความเสี่ยงจริงๆอยู่ตรงไหน ความเสี่ยงก็อยู่ตรงที่ นอกจากหน้าตาของรัฐบาลจะเป็นอย่างไรแล้ว ความเสี่ยงจะอยู่ที่นโยบาย เพราะยังดูไม่ออกว่านโยบายอะไรจะมา แต่สิ่งที่ทางเรากังวลในเรื่องนโยบาย คือ ตอนนี้เห็นชัดว่าทั่วโลกให้น้ำหนัก ให้ความสำคัญกับนโยบายที่เน้นเรื่องเสถียรภาพ อะไรที่ไปบั่นทอนเรื่องเสถียรภาพอย่างแรง จะสร้างความเสี่ยงเยอะมาก
ไม่ต้องมองไกลเลย ดูประเทศใหญ่อย่างอังกฤษ ตอนนั้นที่ออกมาประกาศว่าจะตัดรายจ่ายตรงนั้นตรงนี้ บอกว่าจะหาเงินมาจากไหน ปอนด์ร่วง รัฐบาลต้องเปลี่ยน ต้องล้ม ล่าสุดอเมริกาเอง โดน downgrade (ลดอันดับ) จาก AAA ตอนนี้มี 2 สำนักแล้วที่ downgrade จาก AAA ลงมา 1 อันดับ ซึ่งมาจากการที่กระบวนการฝั่งการคลัง และการจัดการการคลัง ดูเหมือนจะไม่มีเสถียรภาพ
ขนาดอเมริกายังโดน แล้วถ้าประเทศไทยทำอะไรที่ในแง่นโยบายที่ผิดเพี้ยนตลาด หรือบั่นทอนเสถียรภาพ แล้วเราจะโดนขนาดไหน ตรงนี้ต้องระวังให้มาก ดังนั้น สิ่งที่กังวลในเรื่องความเสี่ยง คือ ไม่รู้ใครจะมา รัฐบาลเป็นอย่างไร ถ้ามาแล้ว ก็ไม่อยากเห็นนโยบายรัฐบาลใหม่ที่ไปบั่นทอนเรื่องเสถียรภาพ ผมเข้าใจ รัฐบาล เรื่องการเมือง ต้องมีสไตล์รายจ่ายประชานิยม แต่ถ้าอยู่ในกรอบ ไม่มากเกินไป มีแหล่งเงินที่ชัดเจน ก็โอเค แต่ถ้ามากเกินไปจนกระทบเสถียรภาพ อันนี้น่าเป็นห่วง” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
@เปลี่ยนโจทย์ดำเนินนโยบายการเงินเป็น ‘landing’
นายเศรษฐพุฒิ ยังกล่าวถึงทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.ในระยะต่อไป ว่า บริบทเศรษฐกิจเมื่อปีที่แล้วแตกต่างจากในตอนนี้ คือ เมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว เศรษฐกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากโควิด ในขณะที่ภาพเงินเฟ้อก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งในปีที่แล้ว เงินเฟ้อพีคในเดือน ส.ค.65 ที่ 7.9% ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เริ่มขึ้นดอกเบี้ย เพื่อดูแลเงินเฟ้อ โดยประโยคที่เราใช้ในการขึ้นดอกเบี้ยตอนนั้น คือ เราจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป
เนื่องจากบริบทเศรษฐกิจของไทยในขณะนั้นไม่เหมือนกับในต่างประเทศ คือ เศรษฐกิจไทยเพิ่งฟื้นตัว และฟื้นช้ากว่าชาวบ้านเขา เพราะเราพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก หากขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง จะทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไปต่อลำบาก โจทย์ในการดำเนินนโยบายการเงินในตอนนั้น คือ ทำให้การฟื้นตัวไปได้อย่างต่อเนื่องไม่ให้สะดุด หรือ Smooth take off จึงต้องมีการขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ขึ้นก็ไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้นจะคุมเงินเฟ้อไม่ได้
แต่ตอนนี้บริบทเปลี่ยนไปแล้ว เศรษฐกิจเรากลับมาอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิดแล้ว ส่วนตัวเลขจีดีพีที่คาดว่าจะเติบโตได้ 3% กว่าๆ แม้ไม่เร็วเท่าที่อื่น แต่เป็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และเงินเฟ้อระยะยาวน่าจะกลับเข้ากรอบเป้าหมาย ดังนั้น โจทย์การดำเนินนโยบายการเงินจึงต้องเปลี่ยนไปเช่นกัน โดยตอนนี้เราจะเน้นเรื่อง landing คือ ทำอย่างไรให้การ landing ลงให้ได้อย่างดี
“ถามว่าอะไรที่ทำให้ landing มันลงได้ดี อันหนึ่งที่เราต้องดูให้ดี ดูให้แน่ คือ นอกจากดูปัจจัยระยะสั้นต่างๆ เช่น เงินเฟ้อ เศรษฐกิจเติบโตเป็นอย่างไรแล้ว เราต้องดูภาพระยะยาวด้วย มากขึ้น เอาภาพระยะยาวมาคำนึง ตอนนี้พูดง่ายๆ คือ เราจะลงตรงไหน จะอยู่ตรงไหน เหมือนปักหมุดระยะยาวหน่อยว่า เรื่องดอกเบี้ยในเศรษฐกิจที่จะอยู่ในระดับที่สร้างความสมดุลในระยะปานกลางและระยะยาวที่เหมาะสม เป็นอย่างไร คือ ดูปัจจัยระยะสั้นไม่ได้
โดยมี 3 เรื่องที่ต้องดูตรงนี้ คือ 1.ต้องดูว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในศักยภาพระยะยาวของเราหรือเปล่า ซึ่งศักยภาพระยะยาวของเศรษฐกิจเราอยู่ที่ประมาณ 3-4% ถ้าโตเร็วกว่านั้น จะเกิดปัญหาความร้อนแรง เพราะเศรษฐกิจเราเป็นสังคมผู้สูงวัย ไม่ได้โตเร็วเหมือนสมัยก่อน จึงอยากเห็นการเติบโตในระดับประมาณนั้น 2.เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายของเรา คือ 1-3% ซึ่งเราอยากเห็นเงินเฟ้ออยู่อย่างนั้นอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เข้ามาแล้วออก
3.การทำให้ดอกเบี้ย ไม่ไปสร้างปัญหาเชิงโครงสร้างหรือความสมดุลต่างๆที่เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ ถ้าพูดชัดๆ ง่ายๆเลย คือ เหตุผลที่ทำให้เรามีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90% ของจีดีพี ส่วนหนึ่งมาจากการที่เรามีดอกเบี้ยต่ำมาก และต่ำนานมาก เราเก็บดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% มายาวนานมาก ก็ทำให้หนี้เพิ่มขึ้น หากเราไม่ต้องการให้หนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เราต้องปรับดอกเบี้ยและดอกเบี้ยที่แท้จริงกลับมาสอดคล้องกับความสมดุลในระยะยาวมากขึ้น
ดังนั้น การ landing จึงต้องคำนึงถึงปัจจัยพวกนี้ด้วย ไม่ได้คำนึงเฉพาะเรื่องที่ออกมาระยะสั้นและล่าสุด ประโยคอันหนึ่งที่ผมพยายามใช้สื่อสารนโยบายของเรา คือ การดำเนินนโยบายของเรา เราใช้ outlook dependent หรือ มันขึ้นอยู่กับแนวโน้มที่เรามอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่ data dependent เหตุผลที่เราดูแนวโน้มมากกว่าข้อมูล อาจฟังดูว่าเป็นการเล่นคำ แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ เพราะ Data (ข้อมูล) ที่ออกมาแต่ละที มีความไม่เสถียร แปรผันได้ บางทีเจอปัจจัยเฉพาะชั่วคราว
ทำให้ผิดเพี้ยนได้ การที่เราจะตัดสินใจนโยบาย ซึ่งกระทบต่อภาพระยะยาว ด้วยข้อมูลที่มาระยะสั้น และข้อมูลมี noise (เสียงรบกวน) และมีความไม่เสถียรเยอะ จึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะ เราถึงบอกว่าเราจะเน้นเรื่องการดูแนวโน้ม แต่แน่นอนว่าแนวโน้มจะขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ออกมาว่าเป็นอย่างไร แต่เราต้องประเมินว่าข้อมูลที่ออกมาจะทำให้ภาพแนวโน้มเปลี่ยนหรือเปล่า ถ้าภาพรวมแนวโน้มยังเป็นค่าที่เรามองอยู่ นโยบายการเงินก็ยังเดินต่ออย่างที่ว่าไว้” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
นายเศรษฐพุฒิ ยังระบุว่า เมื่อโจทย์การดำเนินนโยบายการเงินเปลี่ยนจาก Smooth take off มาเป็น landing แล้ว หากใครไปอ่าน statement ของ กนง. จะพบว่าเราเปลี่ยนคำและภาษาที่เคยใช้ที่บอกว่า ‘ขึ้นอย่างค่อยเป็นไป’ เราถอดออกไปแล้ว ซึ่งสะท้อนว่าตอนนี้อยู่ใกล้จุดที่จะเปลี่ยน และการเปลี่ยนดังกล่าว ได้มีการเพิ่มศัพท์คำว่า ‘optionality’ คือ จะทำอย่างนี้หรืออย่างนั้นก็ได้ ดังนั้น คราวหน้ามีโอกาสจะคงหรือขึ้นก็ได้ แต่คงไม่ลงแน่
“ถ้าจะให้ชัด คราวหน้ามีโอกาสที่เราจะคง หรือมีโอกาสที่เราจะขึ้น แต่สิ่งที่ท่านคงไม่เห็นเหมือนที่อื่น ยังไงเราก็ยังไม่ลง เพราะยังไม่เหมาะที่จะลง ซึ่งการที่จะตัดสินใจอะไรไป ก็จะขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ออกมาจะทำให้แนวโน้มที่เรามองไว้เปลี่ยนไปจากที่คาดการณ์ไว้หรือเปล่า” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
และย้ำว่า “โจทย์เราเรื่อง landing ถ้าจะให้เครื่องลงได้ดี เราต้องเอาดอกเบี้ยเราขึ้น แล้วเข้ากับ Neutral rate โดยเราไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นสูงไปกว่า Neutral rate เพราะบริบทเรื่องเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเราไม่เหมือนเขา”
@ธปท.ย้ำมีมาตรการดูแลผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ย
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า ดอกเบี้ยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น คงไม่มีใครชอบ เพราะคนกู้ก็ลำบาก และอย่างที่ทราบขณะนี้หนี้ครัวเรือนของไทยก็อยู่ในระดับสูง แต่การขึ้นดอกเบี้ยเป็นสิ่งจำเป็น เพราะต้องทำให้เงินเฟ้อกลับมาอยู่ในกรอบเงินเฟ้ออย่างยั่งยืน และความสมดุลในเศรษฐกิจกลับเข้ามาอย่างที่ควรเป็น
“มีการถามว่า แบงก์ชาติไม่ได้เป็นห่วงเป็นใยประชาชนที่เดือดร้อนจากดอกเบี้ยที่ขึ้น และภาระหนี้ที่สูงขึ้นหรือเปล่า โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีภาระหนี้ต่อรายได้สูง ก็ตอบว่า เป็นห่วง แต่มันต้องดูในภาพรวม เพราะผลของเงินเฟ้อ มันจะหนักกว่าผลของดอกเบี้ยต่อภาระของประชาชนมาก ถ้าเราดูค่าใช้จ่ายครัวเรือนในภาคเหนือ จะเห็นว่าค่าใช้จ่ายเฉพาะในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม มัน 2 เท่าของค่าใช้จ่ายของเขาในการชำระหนี้
ถ้าเราปล่อยให้เงินเฟ้อในเรื่องอาหารและเครื่องดื่ม หรือหมวดที่คนต้องกิน ถ้าราคาพวกนี้ วิ่งไปเรื่อยๆ เช่น โต 6% โตไปอย่างนั้นต่อเนื่อง ภาระต่อประชาชนมันมากกว่าภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นบนหนี้ที่เขาต้องจ่ายค่อนข้างเยอะ เราจึงต้องจัดการเรื่องเงินเฟ้อ เพราะก้อนที่เงินเฟ้อมันกระทบ คือ ก้อนค่าใช้จ่ายของคน มันใหญ่กว่าก้อนที่เป็นภาระหนี้ของเขา แต่เราก็กังวลกับภาระหนี้ที่มีอยู่
และถ้าดูโครงสร้างหนี้ของครัวเรือนในภาคเหนือ 40% เป็นสินเชื่อแบบ fixed rate (ดอกเบี้ยคงที่) เช่น พีโลน และเช่าซื้อ ซึ่งพวกนี้แม้ว่าดอกเบี้ยจะขึ้น แต่ไม่ได้กระทบ เพราะดอกเบี้ยมัน fixed ส่วนอีกก้อนที่ใหญ่ คือ 20% เป็นสินเชื่อบ้าน แม้ว่าดอกเบี้ยจะเป็น float rate (ดอกเบี้ยลอยตัว) แต่ค่างวดมัน fixed (คงที่) เบ็ดเสร็จแล้ว 2 ก้อนรวม 70% ของหนี้ของครัวเรือนในภาคเหนือ ดอกเบี้ยที่ fixed และค่างวดที่ fixed
ดังนั้น การที่ดอกเบี้ยขึ้นนั้น ไม่ได้ทำให้ที่เขาต้องจ่ายเป็นรายเดือนเพิ่มขึ้นทันที แต่เป็นของแน่ว่าที่คนที่ค่างวด fixed ก็ต้องจ่ายยาวขึ้น แต่ผลไม่ได้มาเต็มๆขนาดนั้น ส่วนเรื่องการส่งผ่าน (ดอกเบี้ย) เราก็พยายามดู ไม่ให้กระทบกับคนมากเกินไป อย่างที่เราขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.5% เป็น 2.25% ถามว่าการส่งผ่านไป 100% หรือเปล่า คำตอบ คือ ไม่ อย่างดอกเบี้ย MRR การส่งผ่านประมาณ 50% บวกลบ” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า ธปท.เข้าใจดีว่า การขึ้นดอกเบี้ยจะสร้างปัญหาให้ครัวเรือน โดยเฉพาะครัวเรือนเปราะบาง แต่ ธปท.ได้จัดทำมาตรการมารองรับและดูแลกลุ่มที่เปราะบางที่จะถูกกระทบจากดอกเบี้ยเป็นพิเศษ ซึ่งทำมาโดยตลอดมาตั้งแต่ช่วงโควิด และล่าสุดได้ออกมาตรการดูแลเรื่องหนี้ 3 เรื่อง คือ เรื่อง responsible lending (การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม) ซึ่งรวมถึงการแก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง เรื่อง risk-based pricing (กำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้) และเรื่อง debt service ratio (การกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้)
“เราเข้าใจดีว่าการขึ้นดอกเบี้ย มันมีผลข้างเคียง และสร้างภาระให้กับคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ แต่มันจำเป็น มันจำเป็นในภาพรวม ดังนั้น เราก็ต้องมีมาตรการมารองรับกับผลข้างเคียง และดูแลพวกนี้”นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวย้ำถึงแนวโน้มหนี้เสีย (NPLs) ของไทย ว่า แม้ว่าหนี้เสียจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่คงไม่เป็น NPLs cliff หรือเกิด NPLs ก้อนมหาศาล จนกระทบต่อเสถียรภาพแน่นอน ส่วนที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับหนี้ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Special Mention :SM) ที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่ใช่สินเชื่อ SM ทั้งหมดที่จะกลายเป็น NPLs เช่น สินเชื่อบ้านที่เป็น SM จะมีเพียง 22% เท่านั้นที่เป็น NPLs แต่ที่กลับไปเป็นหนี้ปกติจะมี 30% เป็นต้น
อ่านประกอบ :
เงินเฟ้อลงชั่วคราว! ‘ผู้ว่าฯธปท.’ส่งสัญญาณยังไม่หยุดขึ้นดบ.-ห่วงตั้งรบ.ช้ากระทบเชื่อมั่น
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำระบบการเงินไทย‘มีเสถียรภาพ-ทำงานได้ดี’-ขอ‘นายแบงก์’ร่วมแก้หนี้ครัวเรือน
ต้องเน้นเสถียรภาพ! ‘ผู้ว่าฯธปท.’ห่วงนโยบาย‘พรรคการเมือง’มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำปี 66 ศก.ไทยโตเกิน 3% แม้โลกเสี่ยง-ดูแลปล่อยสินเชื่อใหม่ลด‘หนี้ครัวเรือน’
กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ.นโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25%-จับตาเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอกว่าคาด
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำไม่จำเป็นต้อง‘รีบเร่ง’ขึ้นดอกเบี้ย-คาด‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบกลางปี 66
‘ผู้ว่าฯธปท.’ยันการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ช้าไป-ชี้โอกาสเกิด Stagflation เป็นไปได้น้อย
ผู้ว่าฯธปท. : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-ทุนสำรอง’