‘ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ’ ส่งสัญญาณยังไม่หยุดขึ้น ‘ดอกเบี้ย’ หลังมอง ‘เงินเฟ้อ’ ลดลงชั่วคราว ขณะที่ ‘ดอกเบี้ยที่แท้จริง’ ยังติดลบ ระบุจะพิจารณา 3 ปัจจัย หาระดับดอกเบี้ยที่ ‘สมดุล’ ห่วงจัดตั้ง ‘รัฐบาลใหม่’ ล่าช้า กระทบความเชื่อมั่น
.........................................
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายในงาน ‘Meet the Press 2/2566’ โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะเติบโตได้ตามที่คาดการณ์ไว้ คือ ครึ่งปีแรกเติบโตที่ 2.9% และครึ่งปีหลังเติบโตประมาณ 4% เพราะแม้ว่าเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว จะส่งผลให้การส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีแรกติดลบ แต่ ธปท. ไม่ได้ประเมินตัวเลขการส่งออกในปีนี้ไว้ในระดับสูงมาตั้งแต่แรกแล้ว
ส่วนในเรื่องการท่องเที่ยวนั้น แม้ว่านักท่องเที่ยวจีนจะมาไทยน้อยกว่าที่คาดไว้ แต่นักท่องเที่ยวจากชาติอื่นที่เติบโตได้ดีและอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ยังคงทำให้ภาคการท่องเที่ยวในปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
“ในช่วงหลังมีข่าวที่เกี่ยวกับจีนที่ไม่ค่อยดี คือ ตอนแรกดูดี แต่ช่วงหลังแผ่วลง มีความกังวลในภาคอสังหาฯ ภาคบริโภค และการส่งออกของจีน แต่ในทางกลับกัน ข่าวจากทางสหรัฐดีขึ้น จากเดิมที่บอกว่าเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยชัวร์ แต่ตอนนี้โอกาสที่สหรัฐจะถดถอยนั้น คนให้น้ำหนักน้อยลง จึงไม่มีอะไรร้ายแรงในภาพรวมของโลก ซึ่งเราเองก็ไม่ได้ให้การส่งออกแรงตั้งแต่แรกอยู่แล้ว และได้ Take ความเสี่ยงเศรษฐกิจของโลกเข้าไปแล้ว” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
@ห่วงตั้ง‘รัฐบาลใหม่’ล่าช้า กระทบความเชื่อมั่นในภาพรวม
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวถึงสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย ทั้งในแง่ตัวบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯและในแง่นโยบายรัฐบาลใหม่ ว่า ขณะนี้ยังมีความไม่แน่นอนเรื่องรัฐบาลว่าใครจะมา และจะมาเมื่อไหร่ แต่ภาพรวมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในปีนี้ คิดว่าไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากที่ได้ประเมินไว้ เนื่องจากปัจจัยการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า และการจัดทำงบประมาณรายจ่ายที่ล่าช้า ได้ถูกรวมปัจจัยดังกล่าวไว้ในประมาณการเศรษฐกิจแล้ว
“งบประมาณของเรา เราสามารถเบิกจ่ายได้ตามกรอบงบประมาณอยู่แล้ว ยกเว้นงบลงทุน ซึ่งถ้าเทียบดูแล้ว งบลงทุนในช่วงไตรมาส 1 ของปีงบประมาณ หรือไตรมาส 4 ของปีปฏิทิน ไม่ได้เยอะขนาดนั้น ดังนั้น ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลในแง่งบประมาณ คงจะไม่กระทบตัวเลขในปีนี้ แต่จะไปโผล่ในปีหน้า ส่วนการฟอร์มรัฐบาลได้เร็ว หรือไม่เร็ว ช้า หรือไม่ช้า ผลจริงๆไม่ได้อยู่ที่งบประมาณ แต่เป็นเรื่องความเชื่อมั่นโดยรวมมากกว่า” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า เมื่อนโยบายของรัฐบาลมีผลต่อความเชื่อมั่น ดังนั้น การดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเสถียรภาพ
“โจทย์ตอนนี้เป็นเรื่องของเสถียรภาพ และการ normalize (การทำให้กลับสู่ภาวะปกติ) มากกว่าการกระตุ้น เพราะเศรษฐกิจตอนนี้ ก็โตตามศักยภาพของมันที่ 3-4% การบริโภคก็โตค่อนข้างดี ความจำเป็นที่ต้องกระตุ้นเรื่องการบริโภค จึงไม่น่าจะเยอะขนาดนั้น และการที่ท่องเที่ยวกลับมา ก็เพิ่มรายได้ให้ประเทศชัดเจน แต่ถ้ามองในเรื่องความเสี่ยง โดยเฉพาะในเรื่องหนี้ เราเป็นห่วงเรื่องหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับค่อนสูง” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
นายเศรษฐพุฒิ เสนอว่า หากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตด้วยการเป็นหนี้และการกู้แล้ว น่าจะสนับสนุนให้เอกชนเป็นผู้กู้ เพราะเมื่อเอกชนกู้แล้วก็จะนำไปลงทุน แต่หากเป็นรัฐบาลหรือภาคครัวเรือนกู้ ก็จะนำไปใช้จ่ายในเรื่องการบริโภค ในขณะที่สิ่งที่เศรษฐกิจไทยขาดในเวลานี้ คือ การลงทุน ดังนั้น สิ่งที่ควรทำในแง่ของนโยบายเรื่องการเป็นหนี้ คือ การทำให้เอกชนลงทุน ซึ่งไม่เพียงช่วยเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างศักยภาพของเศรษฐกิจด้วย
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาท ว่า ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น โดยเฉพาะในวันนี้ (19 ก.ค.) ที่ค่าเงินบาทแข็งค่าค่อนข้างเร็ว เป็นผลมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1.ค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง และ 2.มีความรู้สึกว่าสถานการณ์การเมืองไทยจะมีทางออก อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของค่าเงินบาทจะอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง
นอกจากนี้ นายเศรษฐพุฒิ กล่าวด้วยว่า หากมีการชุมนุมทางการเมืองบนท้องถนน แต่การชุมนุมดังกล่าวไม่ส่งกระทบต่อการท่องเที่ยวแล้ว ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเป็นไปตามกรอบที่วางไว้
“ยกเว้นว่ากระทบท่องเที่ยว คือ ถ้าลง (ถนน) แล้วไม่กระทบท่องเที่ยว ก็ยังอยู่ในกรอบ แต่ที่กลัวสุด คือ อะไรก็ตามที่ไปกระทบการท่องเที่ยว เพราะผลมันกว้างไกล” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
@ประเมิน‘เงินเฟ้อ’ในระยะข้างหน้า มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของไทย ว่า แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จะปรับตัวลดลงตามที่ได้คาดการณ์ไว้ แต่ตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน พ.ค.และ มิ.ย.ที่ออกมา 0.53% และ 0.23% นั้น ถือว่าต่ำกว่าที่ ธปท.มองไว้ ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยเฉพาะและปัจจัยชั่วคราว เช่น มาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของภาครัฐ ราคาอาหารที่ลดลง โดยเฉพาะราคาเนื้อหมู และราคาพลังงานที่ลดลง แต่เมื่อมองไปข้างหน้าแล้ว เงินเฟ้อยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น
“ที่เราเห็นตรงนี้ คงไม่ใช่อะไรที่จะอยู่กับเรานาน มันเป็นปัจจัยที่ค่อนข้างชั่วคราว และเดี๋ยวเงินเฟ้อจะกลับขึ้นมา โดยเงินเฟ้อที่ปรับลดลงชั่วคราวนั้น มาจากฐานของปีที่แล้วที่มีอิทธิพลเยอะ บวกกับมาตรการลดค่าไฟฟ้าที่ดึงเงินเฟ้อลงมา แต่เมื่อมองไปข้างหน้า เราจะเห็นว่าฐานในปีหน้าจะไม่มี effect แล้ว เราจึงคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อจะลง แล้วก็จะขึ้น ดังนั้น โอกาสที่เราจะเห็นเงินเฟ้อต่ำสุดๆอย่างนี้ จะอยู่ต่อเนื่องไปข้างหน้า ก็คงไม่ใช่” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวด้วยว่า ปัจจัยที่จะทำเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น การท่องเที่ยวที่กลับมา ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อในหมวดบริการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น การส่งผ่านต้นทุนของภาคธุรกิจ อันเนื่องมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และรัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาจะมีนโยบายในเชิงการเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐ รวมถึงสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต เป็นต้น
@เดินหน้า normalize ‘ดอกเบี้ย’-ชู 3 ปัจจัยหาจุดสมดุล
นายเศรษฐพุฒิ ระบุว่า แม้ว่าภาพของเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า จะมีนัยยะต่อการดำเนินนโยบายการเงิน แต่สิ่งที่ ธปท.ย้ำมาตลอด คือ การตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการเงินนั้น จะให้มุ่งเน้นไปที่ outlook dependent ไม่ใช่แค่ data dependent เท่านั้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับนโยบาย normalize (การทำให้กลับสู่ภาวะปกติ) และทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งในการ normalize นั้น จะไม่ใช่แค่ดูว่าช่วงนี้เงินเฟ้อเป็นเท่าไหร่ แต่ต้องพิจารณาปัจจัยในเชิงระยะยาวด้วย
“การ normalize หรือการทำให้กลับไปสู่ภาวะปกติ จะต้องหาจุดที่เหมาะสม หาจุดสมดุลของดอกเบี้ย ซึ่งเรามี 3 วัตถุประสงค์ คือ 1.เศรษฐกิจโตได้ตามศักยภาพของเศรษฐกิจที่ควรเป็น และไม่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในขณะนั้น 2.เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบที่เรากำหนดไว้ คือ 1-3% และ 3.ไม่สร้างปัญหาในเรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน ดังนั้น ตอนที่ดู จึงไม่ใช่แค่การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อไปจัดการเงินเฟ้อ แต่ต้องดูภาพระยะยาวหน่อย และหามีจุดสมดุลในเรื่องพวกนี้
ถ้าดูตอนนี้ เศรษฐกิจก็เริ่มเข้าสู่ศักยภาพของเราแล้ว ซึ่งเศรษฐกิจของเรามีศักยภาพการเติบโตอยู่ประมาณ 3-4% ส่วนกรอบเงินเฟ้อก็กลับเข้ามาอยู่ในเป้าแล้ว แต่เราอยากให้อยู่ในเป้าอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เข้ามาชั่วคราวแล้วออก และอย่างสุดท้ายในเรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน โดยดอกเบี้ยที่ต่ำผิดปกติมายาวนาน และดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไป มีผลทำให้เกิดพฤติกรรม search for yield และปัญหาหนี้ รวมถึงพฤติกรรมการออมและการกู้” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ ย้ำว่า การ normalize ดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าว ไม่ใช่การเหยียบเบรก แต่เป็นการถอนคันเร่ง เพราะในช่วงโควิดที่ผ่านมามีการเหยียบคันเร่งอย่างเต็มที่ ในขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงในปัจจุบันยังติดลบอยู่
“ดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงของเราติดลบมานานมาก และถ้าดูตอนนี้ ดอกเบี้ยและเงินเฟ้อในปัจจุบัน ดอกเบี้ยที่แท้จริงยังติดลบอยู่” นายเศรษฐพุฒิ กล่าวและว่า “ตอนนี้ ด้วยภาพรวม ความจำเป็นที่ต้องหยุดเรื่อง normalize เรายังไม่เห็น และสิ่งที่เราไม่อยากให้คนหรือตลาดเข้าใจ คือ เงินเฟ้อลงมาแล้ว เหมาะที่จะหยุด แต่ด้วยเงินเฟ้อลงมานั้น เราเห็นว่าเป็นเรื่องชั่วคราว และมีโอกาสที่กลับขึ้นมาอีก เราจึงอยากให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน”
นายเศรษฐพุฒิ ระบุด้วยว่า โดยหลักการแล้ว เรื่องการมี policy space (ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน) เป็นสิ่งที่ควรมี เพราะโลกมีความไม่แน่นอนสูง แต่ทั้งนี้ ธปท.ต้องชั่งน้ำหนักในหลายๆเรื่องด้วย เช่น เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า และสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความไม่แน่นอน เป็นต้น
@เตรียมประกาศมาตรการแก้‘หนี้ครัวเรือน’เพิ่มเติม
นายเศรษฐพุฒิ ยังกล่าวถึงสถานการณ์หนี้สินครัวเรือน ว่า ปัจจุบันหนี้สินครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับ 90.6% ต่อจีดีพี ซึ่งสูงกว่าระดับที่ควรจะเป็น คือ ไม่เกิน 80% ต่อจีดีพี ดังนั้น ธปท.มีความจำเป็นต้องประกาศมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยกำหนดเป้าหมายไปที่หนี้ 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่เป็นหนี้เสียในปัจจุบัน 2.กลุ่มที่เป็นหนี้เรื้อรัง หรือหนี้ที่ไม่จบ 3.กลุ่มหนี้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นเร็ว และ4.หนี้นอกระบบ
ทั้งนี้ มาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนฯ จะเน้นไปที่การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ให้กู้และผู้กู้ โดยการกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ซึ่งก่อนหน้านี้ ธปท.ได้เผยแพร่ directional paper มาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนไปแล้ว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวถึงแนวโน้มหนี้เสีย (NPLs) ว่า ในระยะข้างหน้า หนี้เสียก็คงเพิ่มขึ้น แต่จะไม่เพิ่มจนเป็น cliff หรือเพิ่มแบบสึนามิ ส่วนหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ในหมวดต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่ใช่ว่า SM ทั้งหมดจะกลายเป็น NPLs ยกตัวอย่าง เช่น สินเชื่อหมวดรถยนต์ที่เป็น SM มีเพียง 12% ที่กลายเป็นหนี้เสีย หากเป็นสินเชื่อบ้าน มีเพียง 22% ที่กลายเป็นหนี้เสีย 22% และหากเป็นบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล มีประมาณ 50% ที่กลายเป็นหนี้เสีย
@ชงร่างหลักเกณฑ์ตั้ง‘virtual bank’ให้‘คลัง’ภายในเดือนนี้
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ว่า ธปท.จะจัดส่งร่างหลักเกณฑ์การขออนุญาตจัดตั้ง virtual bank ไปให้กระทรวงคลังได้ภายในสิ้นเดือน ก.ค.นี้ หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ จะมีเปิดรับสมัครผู้ประกอบการที่สนใจภายในปีนี้ ซึ่งมีผู้สนใจพอสมควรและจับมือกันมา จากนั้นจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับใบอนุญาตฯในปี 2567 และเปิดให้บริการ Virtual Bank ได้ในปี 2568
ทั้งนี้ ธปท.เห็นว่า การให้ใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ไม่เกิน 3 ใบอนุญาต มีความเหมาะสมแล้ว และการให้ใบอนุญาตฯ Virtual Bank มากกว่านี้ ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้อัตราดอกเบี้ยถูกลง ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจเช่าซื้อรถฯ ซึ่งมีผู้ประกอบการหลักพันราย แต่ดอกเบี้ยส่วนใหญ่ก็ยังกระจุกตัวในระดับเพดานดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ เพราะมีเรื่องความเสี่ยงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อย่างไรก็ตาม ในอนาคต ธปท.สามารถให้ใบอนุญาตฯจัดตั้ง Virtual Bank เพิ่มได้
“ถ้าเราเปิด (Virtual Bank) เยอะๆเลย ผมรับประกันได้เลยว่า เราจะต้องไปตามปิด ซึ่งการปิดธนาคารเป็นเรื่องใหญ่ ปวดหัว กระทบคนเยอะ และเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความเชื่อมั่นต่างๆ” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
อ่านประกอบ :
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำระบบการเงินไทย‘มีเสถียรภาพ-ทำงานได้ดี’-ขอ‘นายแบงก์’ร่วมแก้หนี้ครัวเรือน
ต้องเน้นเสถียรภาพ! ‘ผู้ว่าฯธปท.’ห่วงนโยบาย‘พรรคการเมือง’มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำปี 66 ศก.ไทยโตเกิน 3% แม้โลกเสี่ยง-ดูแลปล่อยสินเชื่อใหม่ลด‘หนี้ครัวเรือน’
กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ.นโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25%-จับตาเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอกว่าคาด
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำไม่จำเป็นต้อง‘รีบเร่ง’ขึ้นดอกเบี้ย-คาด‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบกลางปี 66
‘ผู้ว่าฯธปท.’ยันการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ช้าไป-ชี้โอกาสเกิด Stagflation เป็นไปได้น้อย
ผู้ว่าฯธปท. : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-ทุนสำรอง’