‘เศรษฐพุฒิ’ ห่วงนโยบาย ‘พรรคการเมือง’ เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น หวั่นสร้างปัญหา ‘เงินเฟ้อ’ ตามมา ระบุตอนนี้ควรให้ความสำคัญเรื่อง ‘เสถียรภาพ’ มากกว่า
............................................
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายในงาน ‘ผู้ว่าการ ธปท. พบสื่อมวลชน’ โดยให้ความเห็นเกี่ยวกับนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ตอนหนึ่งว่า นโยบายเศรษฐกิจที่ ธปท. อยากเห็นในระยะข้างหน้านั้น ขณะนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวกว่า 3% ซึ่งใกล้เคียงกับศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวที่ระดับ 4%
ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตร้อนแรงเกินไป จนอาจทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อตามมาได้ และสิ่งที่ควรให้ความสำคัญในตอนนี้ คือ เรื่องเสถียรภาพ
“ถ้าเศรษฐกิจโต ร้อน เร็วเกินไปเมื่อเทียบกับศักยภาพ ก็มีโอกาสที่จะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อได้ ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจตอนนี้ อยู่ในระดับที่รองรับได้ และถ้าดูที่มา ก็มีความเสถียรระดับหนึ่ง เพราะท่องเที่ยวอย่างไรก็ฟื้นตัว และแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว แต่ความเสี่ยงที่การท่องเที่ยวจะหายไปนั้น โอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก จึงน่าจะให้ความสบายใจได้ว่า เศรษฐกิจจะไปได้ ถึงแม้ว่าการส่งออกจะยังมีคำถามอยู่ บวกกับการบริโภคที่ฟื้นอย่างต่อเนื่อง และโตค่อนข้างดี
จากสองตัวนี้ สะท้อนว่า ความจำเป็นของเราที่ต้องเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจ มันไม่ได้มากขนาดนั้น และในบริบทเศรษฐกิจของเราตอนนี้ มันจึงไม่ใช่โหมดของการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ควรเป็นโหมดของการปรับนโยบายให้เข้าสู่สภาวะปกติ หรือ normalize policy มากกว่า ซึ่งต่างจากในช่วงโควิดที่มีความจำเป็นต้องจัดเต็มจริงๆ ทั้งฝ่ายการคลังและนโยบายการเงิน เพราะผลกระทบหนักมากและกว้างมาก จึงต้องดูแลอย่างเต็มที่
แต่ภาพในตอนนี้กับภาพแย่ๆในช่วงโควิด ต่างกันมาก ดังนั้น นโยบายต่างๆควรเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งฝั่งการเงินก็ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนฝั่งการคลังนั้น การขาดดุลการคลังที่เคยเยอะๆ ก็ควรทยอยลดลง เพราะตอนนี้สิ่งที่ต่างชาติ นักลงทุน และ rating agency ให้ความสำคัญที่สุด คือ เรื่องเสถียรภาพ ทั้งฝั่งเสถียรภาพการคลัง ฝั่งเสถียรภาพด้านราคาหรือเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบสถาบันการเงินที่ต้องเข้มแข็ง และเสถียรภาพด้านต่างประเทศ” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
ทั้งนี้ นายเศรษฐพุฒิ ไม่ได้ระบุว่ามีนโยบายพรรคการเมืองใดบ้างที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพ แต่กล่าวถึงลักษณะนโยบายที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพใน 4 ลักษณะ ได้แก่ 1.นโยบายที่มีลักษณะเป็นการบั่นทอนเสถียรภาพด้านราคา จนเกิดปัญหา Hyperinflation คือ เงินเฟ้อวิ่งไปเป็น 10% ซึ่งส่วนใหญ่มีต้นตอจากเสถียรภาพทางการคลังไม่มี แต่มีรายจ่าย และไม่สามารถหาเงินได้ จะกู้ ก็ไม่มีใครให้กู้ จึงต้องพิมพ์เงิน โดยออกพันธบัตรแล้วบังคับให้ธนาคารกลางซื้อ
2.นโยบายที่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพด้านต่างประเทศ ซึ่งทำให้ค่าเงินไม่มีเสถียรภาพ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศน้อย และเงินไหลออกนอกประเทศ เช่นเดียวที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศไทยเมื่อปี 2540
3.นโยบายที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการคลัง คือ ทำให้ฐานะการคลังเละ ซึ่งมีตัวอย่าง คือ กรีซ ดังนั้น จึงต้องไม่ทำอะไรที่จะทำให้ภาระการคลังสูงเกินไป และต้องดูแลไม่ให้ภาระหนี้ต่องบประมาณสูงเกินไป ซึ่งขณะนี้ภาระดอกเบี้ยต่องบประมาณของไทยอยู่ที่ 8.5% และปลายปีจะเพิ่มไปอยู่ที่ 8.75% แต่หากตัวเลขนี้เกิน 10% หรือวิ่งไปถึง 12% ก็มีโอกาสที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (rating agency) จะลดอันดับความน่าเชื่อของไทยได้
และ 4.นโยบายที่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบสถาบันการเงิน เช่น หากไปทำอะไรที่ส่งผลกระทบต่อวินัยในการชำระหนี้ของลูกหนี้ หรือสร้างแรงจูงใจที่ผิด ซึ่งตรงนี้จะทำให้หนี้เสีย (NPL) มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นได้
“โจทย์ไม่น่าจะอยู่ที่การกระตุ้นเศรษฐกิจ ความสำคัญไม่น่าจะอยู่นั้น ความสำคัญน่าจะที่เรื่องเสถียรภาพมากกว่า อย่าไปทำอะไรที่บั่นทอนเสถียรภาพ” นายเศรษฐพุฒิย้ำ
นายเศรษฐพุฒิ ยังกล่าวว่า นโยบายที่อาจสำคัญกว่าการกระตุ้นในระยะสั้น คือ การสร้างศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยหรือเอื้อให้เศรษฐกิจไทยไปได้ในอนาคต ซึ่งเมื่อมองไปข้างหน้ามีนโยบายหลายอย่างที่ควรดำเนินการ เช่น การขับเคลื่อนไปสู่การเป็นเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งจะช่วยทำให้ประเทศไทยอยู่ในโลกใหม่ได้ดีและยั่งยืน มากกว่าการทำนโยบายที่มีลักษณะกระตุ้นระยะสั้น
“ถ้าเราถอยไปในอดีต เราก็เห็น ที่ผ่านมาก็ทำมาเยอะ สไตล์แบบนี้ สารพัดยุค สารพัดสมัย กระตุ้นโน่นนี่ แต่ในท้ายที่สุดเราก็เห็นว่า ได้ผลชั่วคราวในแง่ตัวเลข แถมยังมีผลข้างเคียง เช่น หนี้ที่โตขึ้นมา ดังนั้น การทำนโยบายจะต้องมองให้ครบ ทั้งผลที่เห็นในระยะสั้นในสไตล์กระตุ้น เทียบเคียงกับผลในระยะยาวที่เกิดขึ้น รวมทั้งค่าเสียโอกาสต่างๆด้วย เพราะงบประมาณของเรามีจำกัด
นอกจากเรื่องนโยบายกระตุ้นแล้ว นโยบายสไตล์ในเชิงประชานิยมต่างๆ ซึ่งอันหนึ่งบ้านเราน่าจะเห็น และคนพูดกันมายาวนาน คือ ระบบ safeness ที่ดูแลคนค่อนข้างครบช่วงชีวิต ในระดับที่เหมาะสมแต่ตั้งแต่เด็กยันแก่ แต่มันไม่ควรอยู่ในระดับที่เยอะเกินไป มากเกินไป เพราะตอนที่จะไปช่วยเหลืออะไร มักจะมาเป็นจุดๆ ไม่ได้มองครบ จึงต้องหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนระหว่างนโยบายต่างๆ และระหว่างหน่วยงานต่างๆ
ยกตัวอย่างผลการศึกษาในต่างประเทศก็โชว์ว่า นโยบายที่ช่วยในช่วงเด็ก มีผลเยอะ จึงน่าจะมีการใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์ ประกอบการการตัดสินใจว่างบประมาณที่ลง ควรลงตรงไหน แต่ตอนนี้อย่างที่เห็น มันจะมาเป็นจุดๆ ถ้าเอางบประมาณไปใช้ในสิ่งที่ยั่งยืนกว่า ไปเสริมศักยภาพการเติบโตระยะยาว รวมถึงในแง่ระบบสวัสดิการสังคม ก็น่าจะดีกว่า
และควรเป็นนโยบายที่พุ่งเป้า ไม่ควรทอดแห เช่น ลดค่าโน่นค่านี่ต่างๆที่ทำให้เงินไม่ไปในจุดที่ควรจะไป คือ ถ้าไปอุดหนุนแล้วคนรวยเขาใช้ ก็เท่ากับเอางบประมาณที่มีจำกัด ไปให้คนรวย ซึ่งไม่ใช่ ถ้าเอาเงินตรงนั้นใส่ให้กับคนที่ขาดจริงๆจะได้ประโยชน์และมีผลมากกว่าเยอะ เช่น บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย หรือบัตรคนจน อะไรที่ออกผ่านช่องนั้น จะลงไปที่คนจนมากกว่าจะทำแบบเหวี่ยงแห” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว