‘ธปท.’เตรียมหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจปี 67 หากแจก ‘เงินดิจิทัล’ ไม่ถึง 5.6 แสนล้านบาท แนะตุนกระสุนฝั่ง ‘การเงิน-การคลัง’ รับมือความเสี่ยง
...................................
เมื่อวันที่ 28 ต.ค. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในการประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุด ซึ่ง ธปท. คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัวที่ 4.4% นั้น ได้รวมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต เข้าไปแล้ว แต่หากในท้ายที่สุดแล้ววงเงินที่ใช้ในโครงการฯ ไม่ใช่ตัวเลข 5.6 แสนล้านบาท ธปท. ก็ต้องปรับประมาณการเศรษฐกิจปีหน้าลง แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะปรับเท่าไหร่ เพราะโครงการฯยังไม่ชัดเจน
“ตัวเลข 4.4% ที่ออกไป ต้องตอบว่า รวม (การเติมเงินดิจิทัลวอลเลต) แต่รวมในแบบที่เราเรียกว่า conservative หน่อย เพราะผลจาก multiplier (ตัวคูณ) ที่เรามองจากวงเงินที่เดิมประกาศไว้ 5.6 แสนล้าน เรามองว่าไม่ได้เยอะ แต่ถ้าสุดท้ายไซไม่ใช่ 5.6 แสนล้าน ตัวเลข (จีดีพี) ก็ต้องลง แต่อย่างที่ทราบกันดีว่า ความชัดเจนตรงนี้ยังไม่มี จึงยังตอบไม่ได้ว่าจะปรับมาเป็นเท่าไหร่” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ ย้ำว่า ในการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจของ ธปท. นั้น เป็นการประเมินภายใต้สมมติฐานต่างๆ รวมถึงมาตรการภาครัฐ แต่หากมีปัจจัยเหล่านี้ไม่เป็นไปตามนั้น ตัวเลขก็ต้องลดลงมา
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ส่วนเรื่อง fiscal consolidation (การเพิ่มศักยภาพทางการคลัง) ธปท.จะมองในเรื่อง Resilience เป็นหลัก ซึ่งการมองในเรื่อง Resilience นั้น ธปท.ให้ความสำคัญกับเรื่องเสถียรภาพทางด้านเศรษฐกิจการเงิน (macro financial stability) โดยตอนนี้เสถียรภาพที่ ธปท.กังวล จะมีเรื่องหนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะฝั่งภาครัฐ และในภาพรวมก็อยากเห็น fiscal consolidation มากขึ้น เช่นเดียวกับที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มอง
“หนี้สาธารณะ มันวิ่งมาจากก่อนโควิดที่ประมาณ 40% มา 60% ขึ้นมาค่อนข้างเร็วด้วยความจำเป็น เพราะมัน Need ในช่วงโควิด แต่อย่างที่บอก Need อาจไม่ได้เยอะขนาดนั้น ก็อาจเหมาะที่จะทำเรื่อง fiscal consolidation บวกกับยังไงๆเราก็ต้องกังวลกับมุมมองเรื่องความมั่นใจนักลงทุน เครดิตเรตติ้งเอเจนซี่ แล้วทุกคนก็บอกว่าเขากังวลเรื่องนี้ แต่เราบอกว่าเราไม่แคร์เลย คงไม่เหมาะ และถ้าเรามองว่ามีความเสี่ยงเยอะ
สิ่งที่เราควรทำ คือ เก็บลูกกระสุนเอาไว้ ซึ่งลูกกระสุนก็มีหลักๆ ฝั่งเราเป็นเรื่อง policy space (ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน) มีเรื่องดอกเบี้ย ก็มีช่องว่างหน่อย และฝั่งการคลัง ก็ต้องมีกระสุนทางด้านการคลัง ซึ่งเรื่อง policy space เราจะไม่เห็นความสำคัญของมัน จนกระทั่งมันหมดไปแล้ว แต่เรา Need มัน เช่น มีการบอกว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังไม่ทั่วถึง ก็เลยยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย
เราพูดมานานจนเกิด low for too long คือ ต่ำไปนานเกินไป แล้วเรามาเริ่มขึ้นดอกเบี้ยตอนท้าย แต่ขึ้นไปได้ไม่กี่ขยัก ก็โควิดมา ตอนนั้นช่องว่างจึงน้อยไป ถ้ามองย้อนหลัง ก็เข้าใจว่าไม่มีใครรู้ว่าโควิดจะมา แต่ความที่เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ในยามที่ควรทำอะไรได้ ก็ควรทำ เก็บเผื่อไว้ รองรับของที่เราไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่อย่างไร” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ ระบุด้วยว่า สิ่งที่เครดิตเรตติ้งเอเจนซี่มีความกังวล คือ ภาพรวมในด้านการคลัง ไม่ว่ารายจ่ายนั้นจะมาจากตรงไหน และสิ่งที่เขาอยากเห็น คือ fiscal consolidation ซึ่งก็คือการขาดดุลการคลังที่ทยอยลดลง เรื่องหนี้สาธารณะ บางที่ก็เขียนไว้เลยว่า อยากเห็นหนี้สาธารณะต่อจีดีพีมีแนวโน้มลดลง บางที่ตัวเลขที่เขาดู คือ ภาระหนี้ต่องบประมาณ เขาอยากเห็นไม่เกิน 12% ซึ่งตอนนี้ตัวเลขอยู่ที่ 10% และดูเหมือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
“หน้าที่ของเรา เรามีหน้าที่ต้องระวังไว้ก่อน เป็นหน้าที่ของผม ที่ต้องระวังไว้ก่อน” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. ระบุว่า ความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นการบริโภคในขณะนี้มีไม่มาก เพราะการบริโภคยังขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง ตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคนั้น จะเป็นการกระตุ้นเพียงระยะสั้น
ด้าน นางอลิศรา มหาสันทนะ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวถึงสถานการณ์ว่าเงินบาท ว่า ในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ธปท. อยากจะให้อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวไปตามกลไกตลาด ไม่เคลื่อนไหวผันผวนเกินปัจจัยพื้นฐาน และไม่ผันผวนเกินกว่าไป จนมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ โดย ธปท.มีกลไกที่จะเข้าไปดูแลอัตราแลกเปลี่ยน หากมีความจำเป็น
“ในภาพใหญ่ โลกผันผวน อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลหลักผันผวน ค่าเงินหยวนผันผวน ก็คงไม่น่าแปลกไปว่าค่าเงินบาทมีความผันผวนไปตามแรงกดดันของตลาด แต่เราไม่ได้ปล่อย เราติดตามตลาดใกล้ชิด และมีกลไกในการเข้าดูแล ถ้ามีความจำเป็น” นางอลิศรากล่าว
@ตั้งเป้าลดหนี้สินครัวเรือนลงสู่ 80%
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ขณะนี้หนี้สินครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 90.7% ต่อจีดีพี โดยเป้าหมายของ ธปท. คือ หนี้ครัวเรือนควรลงมาอยู่ที่ 80% ต่อจีดีพี ให้ได้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาต้องบอกว่าโชคไม่ดีที่เกิดวิกฤติต่างๆ รวมถึงสถานการณ์โควิดที่ไม่เอื้อให้หนี้ครัวเรือนลดลง ดังนั้น เป้าหมายที่ผ่านมาจึงช่วยเป็นเป้าหมายใหญ่และในวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม เพื่อทำให้สามารถแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ถูกจุด และแก้ในระยะยาว รวมทั้งทำให้หนี้ครัวเรือนลดลงมาถึงเป้า 80% ต่อจีดีพี ธปท.ได้ออกนโยบายที่ตอบโจทย์ในเรื่องนี้ ได้แก่ 1.เรื่องการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (responsible lending) ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ คือ การให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ และต้องคำนึงถึงเรื่องหนี้ครัวเรือนเป็นตัวตั้ง โดยเรื่อง responsible lending จะมีผลในวันที่ 1 ม.ค.2567
2.เรื่องการแก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง ซึ่งเป็นหนี้ที่จ่ายแต่ดอกเบี้ย ไม่เคยตัดต้นเลย จึงไม่สามารถปิดจบหนี้ได้ โดยกลุ่มคนที่เป็นหนี้เรื้อรังมีค่อนข้างมาก ทั้งนี้ การแก้หนี้เรื้อรังจะเริ่มจากสินเชื่อส่วนบุคคลก่อน โดยให้ลูกหนี้ที่ต้องการปิดจบหนี้เข้ามาหาสถาบันการเงิน และหาวิธีที่จะปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี และให้คิดดอกเบี้ยที่ 15% ซึ่งมาตรการแก้หนี้เรื้อรังจะเริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย.2567
3.อีกเรื่องที่จะออกมา คือ เรื่อง risk-based pricing (RBP) ซึ่งตอนนี้จะเห็นได้ว่ามีสินเชื่อที่กำหนดเพดานเอาไว้ เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล โดยสถาบันการเงินส่วนใหญ่จะปล่อยสินเชื่อตามเพดานที่กำหนด แต่การกำหนดเพดานดังกล่าว บางทีเป็นดาบ 2 คม คือ ทำให้มีลูกหนี้บางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ดังนั้น การทำเรื่อง risk-based pricing จะให้ลูกหนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ตามความเสี่ยง และก็หวังว่ากลุ่มที่ได้อัตราดอกเบี้ยชนเพดาน จะได้ดอกเบี้ยลดลงด้วย
อ่านประกอบ :
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ : เรื่องเสถียรภาพ เราจะชะล่าใจไม่ได้
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำเหยียบคันเร่งกระตุ้นศก.‘อาจไม่จำเป็น’-ชี้เป้าแก้‘จุดอ่อน’เชิงโครงสร้าง
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ : เงินเฟ้อที่สูงมาก-หนี้สินที่คุมไม่ได้ ย่อมเสี่ยงเกิดวิกฤติ ศก.
‘ผู้ว่าฯธปท.’แนะรัฐบาล‘พักหนี้ฯ-แจกเงินดิจิทัล’เฉพาะกลุ่ม-ย้ำไม่เปลี่ยน‘นโยบายการเงิน’
ปีนี้โต3%กลางๆ! ‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำศก.ฟื้นต่อเนื่อง-เปลี่ยนโจทย์นโยบายการเงินเป็น‘landing’
เงินเฟ้อลงชั่วคราว! ‘ผู้ว่าฯธปท.’ส่งสัญญาณยังไม่หยุดขึ้นดบ.-ห่วงตั้งรบ.ช้ากระทบเชื่อมั่น
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำระบบการเงินไทย‘มีเสถียรภาพ-ทำงานได้ดี’-ขอ‘นายแบงก์’ร่วมแก้หนี้ครัวเรือน
ต้องเน้นเสถียรภาพ! ‘ผู้ว่าฯธปท.’ห่วงนโยบาย‘พรรคการเมือง’มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำปี 66 ศก.ไทยโตเกิน 3% แม้โลกเสี่ยง-ดูแลปล่อยสินเชื่อใหม่ลด‘หนี้ครัวเรือน’
กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ.นโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25%-จับตาเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอกว่าคาด
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำไม่จำเป็นต้อง‘รีบเร่ง’ขึ้นดอกเบี้ย-คาด‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบกลางปี 66
‘ผู้ว่าฯธปท.’ยันการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ช้าไป-ชี้โอกาสเกิด Stagflation เป็นไปได้น้อย
ผู้ว่าฯธปท. : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-ทุนสำรอง’