‘เศรษฐพุฒิ’ ย้ำเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง ย้ำเหยียบคันเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ‘อาจไม่จำเป็น’ ชี้เป้าแก้ ‘จุดอ่อน’ เชิงโครงสร้าง เผย 3 ปัจจัยหลักกดดัน ‘ค่าบาท’ อ่อนทะลุ 37 บาท/ดอลล์
....................................
เมื่อวันที่ 4 ต.ค. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ ‘ประเมินสุขภาพเศรษฐกิจไทย’ ภายในงาน ‘Thailand Economic Outlook 2024 Change the Future Today’ จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ตอนหนึ่งว่า โดยภาพรวมแล้ว ขณะนี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี และฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งสนับสนุนให้การบริโภคเติบโตได้ดี และมีเรื่องนักท่องเที่ยวที่เข้ามาช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วย
“พาดหัวข่าวที่ท่านได้เห็นว่า มีการปรับประมาณการอะไรต่างๆ เป็นการปรับประมาณการตัวเลขในปีนี้ แต่จริงๆแล้ว ในปีหน้า ธปท.ปรับประมาณการขึ้น เพื่อสะท้อนมาตรการที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ และสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มส่งอานิสงส์ทำให้การส่งออกดีขึ้น ดังนั้น ในภาพการฟื้นตัวแล้ว เศรษฐกิจยังฟื้นตัวต่อเนื่อง และเรามั่นใจว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังไปอย่างต่อเนื่อง โอกาสที่จะเห็นการ ‘ตกวูบ’ ในแง่การเติบโตมีน้อยมาก”นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
อย่างไรก็ดี นายเศรษฐพุฒิ ได้ระบุว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ในแง่การลงทุนเอกชนนั้น พบว่าการลงทุนเอกชนในช่วงที่ผ่านมา เติบโตแบบแผ่วๆ เติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และเติบโตต่ำกว่าชาวบ้าน ซึ่งเป็นอาการที่อยู่กับเศรษฐกิจไทยมานานแล้ว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวด้วยว่า ในด้านเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยนั้น โดยรวมแล้วถือว่าดี แต่อาจมีบางจุดที่ ธปท.เป็นกังวล เช่น ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นความเปราะบางที่อยู่มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว และจะต้องมีความระมัดระวังใส่ใจดูแลต่อไป อีกทั้งยังมีด้านที่เศรษฐกิจไทยมีความอ่อนแอมากๆ คือ ในเรื่องศักยภาพ ซึ่งเป็นเรื่องในเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะในเรื่องศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า หมวดนี้ยังมีปัญหามาก
“ถ้าเทียบเคียงเศรษฐกิจเป็นสุขภาพของคน เราคงไม่ใช่คนไข้ที่ยังนอนอยู่บนเตียงโรงพยาบาล แต่คนไข้คนนี้ออกจากโรงพยาบาลแล้ว ฟื้นจากไข้แล้ว กลับไปอยู่ที่บ้านได้แล้ว การฟื้นตัวมาได้ดี แม้ว่าการฟื้นตัวจะต้องใช้เวลาบ้าง หมออาจจะบอกว่าช่วงนี้อย่าไปวิ่งมาราธอน อย่าไปทำอะไรที่หักโหมเกินไป แต่การฟื้นตัวก็ยังไปได้ต่อเนื่อง และจะค่อยๆฟื้นกลับมาได้โอเค ส่วนโอกาสที่จะเกิดโรคฉับพลัน หัวใจจะวาย ไตจะวาย ล้มฟุบ ก็ไม่เยอะ
แต่ปัญหาที่คุณมี ก็คือ คุณเป็นโรคเรื้อรัง เป็นโรคที่จะอยู่กับคุณยาวนาน ถ้าเทียบเคียงก็เหมือนกับการเป็น เบาหวาน ถ้าไม่ปรับอะไร ก็จะอยู่กับคุณนาน กระทบสุขภาพ กระทบศักยภาพในระยะยาว ตัวนี้จึงเป็นตัวที่เป็นปัญหาจริงๆ ซึ่งวิธีการรักษาก็ต้องตรงกับอาการ หรือสภาพร่างกายของคน ซึ่งก็คือเศรษฐกิจตัวนี้ และเมื่อการฟื้นตัว (เศรษฐกิจ) ก็มาแล้ว ความจำเป็นที่พยายามเหยียบคันเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ อาจไม่ได้จำเป็นนัก
เพราะอาการของโรคจริงๆ เป็นเรื่องระยะยาว เป็นเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้าง ซึ่งในส่วน ธปท.ได้ปรับการรักษาให้ตรงกับบริบทของคนไข้ โดยในช่วงแรกคนไข้เจอโควิด น็อค ต้องอยู่ในโรงพยาบาล ตอนนั้นเราต้องจัดยาแบบจัดเต็ม เหยียบคันเร่งเต็ม ดอกเบี้ยต่ำ เอาให้ต่ำ เรื่องสภาพคล่องก็ออกซอฟต์โลน ออก พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ ลูกหนี้ไม่มีรายได้ก็พักหนี้ แต่เวลาผ่านไปแล้ว คนไข้เริ่มฟื้นแล้ว ถ้ารักษาแบบเดิม ใช้ยาแบบแรงๆ คงไม่เหมาะกับบริบท เพราะยาก็มีผลข้างเคียงทั้งนั้น
ดังนั้น สิ่งที่เราทำ คือ เริ่มถอนคันเร่ง ดอกเบี้ยที่เคยต่ำ 0.5% ก็ค่อยๆทยอยขึ้น แต่ด้วยความที่คนไข้อ่อนแอ และต้องใช้เวลาฟื้น เราก็ค่อยๆขึ้น (ดอกเบี้ย) ซึ่งไม่เหมือนกับประเทศอื่นที่เขาขึ้นเร็วขึ้นแรง ส่วนเรื่องฝั่งหนี้สิน ที่เคยพักในวงกว้าง เราก็ถอด เพราะเราไม่ชอบเลย เนื่องจากผลข้างเคียงแรงมาก แล้วก็ออกมาเป็นมาตรการที่ตรงจุด โดยเน้นมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ให้ตรงกับอาการของคนไข้แต่ละคน
และเมื่อมาถึงจุดนี้ สิ่งที่เราเน้น คือ เมื่อเป็นโรคเชิงโครงสร้าง...ไม่ใช่ปัญหาการฟื้นตัว และเสถียรภาพยังโอเค ส่วนตัวที่เป็นปัญหาจริงๆ คือ เรื่องศักยภาพ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่ถามว่าที่ผ่านมา การรักษาของเราคืออะไร ก็จะพบว่าเราเน้นเรื่องเงิน ทำให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา งบประมาณของเราเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ ขณะที่งบประมาณ 75% เป็นงบประจำ และในงบประจำเองพบว่ากว่า 70% เป็นงบที่เหมือนตัดยาก เช่น เงินเดือนข้าราชการ สวัสดิการ ซึ่งถอยยาก
จึงเหลือ room (ช่องว่าง) ที่จะใช้สำหรับอย่างอื่น เช่น การลงทุน ก็น้อย แล้วการลงทุนที่ผ่านมา เราจะไปเน้นโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ (hard infrastructure) ซึ่งก็ดี ผมไม่เถียง แต่จุดที่อ่อนแอจริงๆของเรา คือ เรื่องคุณภาพแรงงาน เรื่องการศึกษา ทักษะ นวัตกรรม การวิจัยและการพัฒนา ดังนั้น วิธีที่จะรักษาตัวนี้ได้ จะต้องไปดูที่ปัญหาในเชิงโครงสร้าง ยกตัวอย่างเช่น อินโดนีเซีย เขาออกกฎหมาย Omnibus Law ในปี 2563 ซึ่งโจทย์ของเราชัด
คือ เขาต้องการปลดล็อกกฎเกณฑ์ของภาครัฐที่เป็นอุปสรรค เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและการลงทุนของเขา เช่นเดียวกับที่เราพูดเรื่อง one stop service และการลดขั้นตอนที่สร้างภาระกับธุรกิจ โดยสิ่งเหล่านี้จะช่วยแก้ปัญหาเชิงศักยภาพและเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยได้ ขณะที่ยาที่มีผลข้างเคียงน้อย ต้นทุนต่ำ น่าใช้ และเหมาะสม ซึ่งควรนำมาใช้ นั่นก็คือ Regulatory Guillotine หรือการลด ละ เลิก อะไรที่เป็นอุปสรรค เพื่อช่วยให้การทำธุรกิจในไทยง่ายขึ้น
และตัวนี้จะช่วยเรื่องการลงทุน ช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ อีกทั้งของพวกนี้ ไม่ได้ต้องการงบประมาณ ไม่ได้ต้องการเงินมหาศาล แล้วการทำตัวนี้ ได้มีผลการศึกษาจาก TDRI ว่า จะช่วยลดต้นทุนเอกชนได้ 0.8% ของจีดีพี หรืออาจมากกว่านั้นก็ได้ นี่เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง แต่ประเด็น คือ มีสิ่งที่เราทำได้ โดยไม่ต้องใช้เงินเยอะ ผลข้างเคียงก็น้อย และตอบโจทย์ของเราในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาศักยภาพ และแก้จุดอ่อนที่เราเห็นได้” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า แม้ว่าปัจจุบันจะมีการเปลี่ยนแปลงในด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลก เช่น ระหว่างสหรัฐกับจีน การปรับเปลี่ยนเรื่องซัพพลายเชน ซึ่งส่งผลต่อการลงทุน แต่การที่ประเทศไทยเป็นมิตรที่ดีกับทุกคน แม้จะไม่ใช่เพื่อนซี้ที่สุดกับประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เมื่อประเทศอย่างสหรัฐ จีน และญี่ปุ่น ต่างก็ให้ความสำคัญกับประเทศไทย ดังนั้น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลก ไทยจะได้รับโอกาสตรงนี้ แม้ว่าเราจะมีปัญหาเรื่องศักยภาพก็ตาม
นายเศรษฐพุฒิ ย้ำว่า “ถ้าดูภาพรวมสุขภาพของเศรษฐกิจไทยแล้ว ในระยะสั้น ผมคิดว่าไม่น่าเป็นห่วงนัก แต่สิ่งที่ขาด คือ เรื่องระยะยาว เรื่องปัญหาเชิงโครงสร้าง และวิธีแก้ปัญหาก็อาจไม่ต้องใช้งบประมาณมาก แต่ถ้าเราทำพวกนั้น แก้ปัญหาพวกนั้น ทำเรื่อง easy of doing business ให้ดีขึ้น ลดอุปสรรค โอกาสสำหรับประเทศไทย ในการดึงดูดการลงทุนต่างๆมีอยู่”
@ชี้ 3 ปัจจัยหลักต้นเหตุ‘เงินบาท’อ่อนค่ากว่าเพื่อนบ้าน
นายเศรษฐพุฒิ ยังกล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าผ่านระดับ 37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และมีความผันผวนค่อนข้างสูง ว่า ในภาพรวมแล้ว ค่าเงินบาทถูกขับเคลื่อนด้วย 3 เรื่องหลัก ได้แก่ เรื่องแรก คือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเมื่อไหร่ที่เงินดอลลาร์ฯแข็งค่า ค่าเงินบาทก็อ่อน โดยในช่วงหลังปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าทะลุ 37 บาท/ดอลลาร์ฯ และค่าเงินดอลลาร์ฯที่แข็งค่าขึ้นนั้น ก็เป็นปัจจัยที่กระทบต่อค่าเงินทุกสกุลในภูมิภาคเช่นกัน
เรื่องที่สอง ขณะนี้เงินบาทเป็นสกุลเงินที่ค่อนข้างมีความสัมพันธ์มากกับเงินหยวน เพราะคนมองว่าเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจจีน มีความผูกพันหรือสัมพันธ์กันสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคแทบทุกประเทศ จึงจะเห็นได้ว่าเมื่อมีข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีน ก็จะมีผลทำให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหว ในขณะที่ประเทศอื่นอาจไม่เจออะไรเลย และเรื่องที่สาม คือ ค่าเงินบาทมีความสัมพันธ์กับราคาทองในตลาดโลกค่อนข้างสูง เมื่อราคาทองปรับตัวลดลง จึงทำให้เงินบาทผันผวน
“เรื่องดอลลาร์เป็นเรื่องที่กระทบทุกคนในภูมิภาค แต่ถามว่าทำไม เราถูกกระทบเหมือนว่า มากกว่าชาวบ้าน มากว่าเพื่อนบ้าน ซึ่งมันมีอีกประเด็นหนึ่ง คือ บาทของเรา เป็นสกุลเงินที่ค่อนข้าง correlate (มีความสัมพันธ์) มาก กับหยวน เพราะคนจะมองว่าเศรษฐกิจเรามีความผูกพันหรือสัมพันธ์กับจีนเยอะ correlation บาทกับหยวน จึงสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคแทบทุกที่ ซึ่งเราใกล้เคียงกับเกาหลี แต่ถ้าเป็นแถวเพื่อนบ้านอย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เรากินเขาขาดหมด
เช่น ตอนที่มีข่าวเรื่องเมืองจีนอะไรต่างๆ ก็เป็นอีก source (แหล่งที่มา) ที่ทำให้บาทเคลื่อนไหว แต่ประเทศอื่นอาจไม่ได้เจอ และประเด็นที่สาม คือ (บาท) เรามีความผันผวนเยอะกับราคาทอง โดยในช่วงหลังราคาทองมีการ drop ลง แล้วคนไทยก็ชอบซื้อขายทอง บาทเลยกลายเป็นเหมือน proxy (ตัวแทน) สำหรับราคาทอง และเมื่อดู correlation ระหว่างบาทและทองแล้ว ของเราสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย
ดังนั้น (เงินบาท) ของเรา นอกจากเจอปัจจัยจากดอลลาร์ฯแล้ว เรามีปัจจัยอื่นที่ทำให้ค่าเงินเรามีแนวโน้มผันผวนมากกว่าค่าเงินอื่นๆในภูมิภาค ทำให้ล่าสุด volatility (ความผันผวน) เราสูงไปถึง 9% ซึ่งค่อนข้างสูง และแซงเกาหลีใต้ไปแล้ว จากปกติที่เราจะเห็น volatility ของญี่ปุ่น และเกาหลีใต้จะสูงสุด ส่วนเราอยู่ตรงนี้ แล้วเพื่อนบ้านอยู่ตรงนี้ตามลงมา แต่ตอนนี้ของเราวิ่งไปแตะพวกเกาหลีใต้ไปแล้ว” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
อ่านประกอบ :
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ : เงินเฟ้อที่สูงมาก-หนี้สินที่คุมไม่ได้ ย่อมเสี่ยงเกิดวิกฤติ ศก.
‘ผู้ว่าฯธปท.’แนะรัฐบาล‘พักหนี้ฯ-แจกเงินดิจิทัล’เฉพาะกลุ่ม-ย้ำไม่เปลี่ยน‘นโยบายการเงิน’
ปีนี้โต3%กลางๆ! ‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำศก.ฟื้นต่อเนื่อง-เปลี่ยนโจทย์นโยบายการเงินเป็น‘landing’
เงินเฟ้อลงชั่วคราว! ‘ผู้ว่าฯธปท.’ส่งสัญญาณยังไม่หยุดขึ้นดบ.-ห่วงตั้งรบ.ช้ากระทบเชื่อมั่น
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำระบบการเงินไทย‘มีเสถียรภาพ-ทำงานได้ดี’-ขอ‘นายแบงก์’ร่วมแก้หนี้ครัวเรือน
ต้องเน้นเสถียรภาพ! ‘ผู้ว่าฯธปท.’ห่วงนโยบาย‘พรรคการเมือง’มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำปี 66 ศก.ไทยโตเกิน 3% แม้โลกเสี่ยง-ดูแลปล่อยสินเชื่อใหม่ลด‘หนี้ครัวเรือน’
กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ.นโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25%-จับตาเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอกว่าคาด
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำไม่จำเป็นต้อง‘รีบเร่ง’ขึ้นดอกเบี้ย-คาด‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบกลางปี 66
‘ผู้ว่าฯธปท.’ยันการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ช้าไป-ชี้โอกาสเกิด Stagflation เป็นไปได้น้อย
ผู้ว่าฯธปท. : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-ทุนสำรอง’