‘เศรษฐพุฒิ’ มั่นใจเศรษฐกิจไทยปีหน้าโตเกิน 3% แม้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง-ภาคการเงินโลกมีความเสี่ยง เดินหน้าดูแลการปล่อย ‘สินเชื่อใหม่’ หวังคุมสัดส่วน ‘หนี้ครัวเรือน’ ต่อจีดีพี ให้อยู่ในระดับเหมาะสม
......................................
เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาของวารสารการเงินธนาคาร “Thailand Next Move 2023 : The Nation Recharge” หัวข้อ Financial Landscape - Thailand’s Economic Challenge in 2023 ว่า ในปี 2566 เป็นปีที่เศรษฐกิจไทยจะเจอความท้าทายไม่น้อย ซึ่งหลักๆจะมาจากความท้าทายของเศรษฐกิจโลก และถ้ามองไปข้างหน้าเศรษฐกิจโลกปีหน้ามีสัญญาณชะลอตัวอย่างชัดเจน
“ถ้ามองไปข้างหน้า เศรษฐกิจโลกปีหน้ามีสัญญาณค่อนข้างชัดเจนว่า จะมีการชะลอตัว ซึ่งการชะลอตัวมาจากการที่ธนาคารกลางหลักของโลกขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรูปแบบที่มาพร้อมกัน และขึ้นค่อนข้างเร็ว ค่อนข้างแรง เป็นการเหยียบเบรกที่ค่อนข้างมีผลทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และนอกจากการขึ้นดอกเบี้ยที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกแล้ว ยังมีความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจโลกที่มีความหลากหลายไม่น้อย
เรามักจะพูดถึงวิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้ว่าเป็นวิกฤติโควิด แต่เมื่อไล่ดูที่มาของ Shock ต่างๆ ที่เราเห็น คงไม่ได้มาจากเฉพาะโควิดเท่านั้น เพราะหลังจากโควิดแล้ว ก็มี Shock ของสงครามในยูเครนที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ ราคาพลังงาน และราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น เรายังเห็น Shock ที่มาจากการที่ธนาคารกลางใหญ่ๆของโลก ปรับดอกเบี้ยขึ้นเร็ว ทำให้เงินดอลลาร์ฯแข็งค่าขึ้นเยอะ ส่งผลกระทบให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจหลายที่ด้วยกัน
เรายังเห็นความเสี่ยงที่มาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีการล็อกดาวน์ในช่วงโควิด และแม้ว่าขณะนี้มีกระแสว่าจะมีการเปิด แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่า การเปิดจะเปิดขึ้นเร็วอย่างไร แล้วเราก็เห็นความเสี่ยงที่หลายคนกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนที่มาจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสะท้อนว่าภาพเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยง และมาจากหลายมิติที่ไม่ใช่เฉพาะเรื่องโควิด และผลกระทบจะหลากหลาย
บางคนอาจจะรู้สึกว่าผลกระทบจะมาจากการส่งออกชะลอลง จากการที่เศรษฐกิจหลักๆ เช่น สหรัฐและยุโรปชะลอลง บางคนอาจรู้สึกว่าผลกระทบหลักๆ มาจากราคาอาหารและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น บางคนอาจรู้สึกว่าผลกระทบมาจากค่าเงินดอลลาร์ฯที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งสะท้อนว่ารอบนี้ ความเสี่ยงและผลกระทบมาในหลายมิติ และปีหน้าความไม่แน่นอนและความเสี่ยงพวกนี้ยังอยู่” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า นอกจากความเสี่ยงในแง่เศรษฐกิจโลก ยังมีความเสี่ยงในฝั่งตลาดการเงินโลก ที่จะมีความผันผวนไม่น้อย โดยมีปัจจัยหลักๆมาจากการขึ้นดอกเบี้ยที่ค่อนข้างเร็วและค่อนข้างแรงในหลายประเทศหลัก และการที่ดอกเบี้ยขึ้นเร็วนั้น ปกติแล้วที่ไหนที่มีหนี้สูงก็มักจะเจอปัญหา หรือถ้าเรียกตามสำนวนไทย คือ เมื่อน้ำลดตอก็จะผุด และคงไม่มีใครตอบได้ว่าตอจะโผล่ตรงไหน แต่เชื่อว่าโผล่แน่นอน
“เรารู้ว่าฝนมันตก ถนนมันมืด โอกาสเกิดอุบัติเหตุมันมีอยู่แล้ว แต่อุบัติเหตุจะเกิดที่ไหน เกิดกับใคร อันนั้นคงตอบยาก แต่เชื่อเถอะว่า สัญญาณต่างๆมันสะท้อนเรื่องเกี่ยวกับความเสี่ยงในตลาดการเงินโลก แต่ขอย้ำว่าเรื่องที่พูดมานี้เป็นเรื่องความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก และตลาดการเงินโลก” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ส่วนประเทศไทย เรามีความเชื่อและมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะยังฟื้นได้ต่อเนื่อง แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง และการส่งออกไทยถูกกระทบ จนทำให้คาดว่าการส่งออกในปีหน้าจะเติบโตเพียง 1% ก็ตาม เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะถูกเอื้อด้วยการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งมาจากรายได้ต่างๆที่มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และตัวสำคัญที่จะช่วยเศรษฐกิจเรา คือ ภาคการท่องเที่ยว
“ปีนี้เราคาดการณ์ว่าจะเห็นนักท่องเที่ยวประมาณ 10 ล้านคน ส่วนปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 20 ล้านคน บวกลบ และเนื่องจากรายได้แรงงานไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวเยอะ ก็จะเป็นตัวที่ช่วยเอื้อและสนับสนุนให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีอยู่ต่อเนื่อง ปีนี้เราคาดว่าจะเห็นตัวเลข (จีดีพี) 3% ต่ำๆ ส่วนปีหน้าจะเห็นตัวเลขที่ 3.7% และแม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ แต่มีโอกาสที่ตัวเลขจะสูงกว่า 3% ก็มีไม่น้อย” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
ส่วนปัจจัยความเสี่ยงด้านตลาดการเงินโลกนั้น แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อไทย แต่คงไม่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยสะดุด เพราะความเข้มแข็งด้านต่างประเทศของไทยค่อนข้างดี แม้ว่าในปี 2565 ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะขาดดุล แต่ในปี 2566 ด้วยการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว จะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยกลับมาเกินดุล ซึ่งจะมาช่วยเสริมในมิติความเข้มแข็งด้านต่างประเทศของไทย และเป็นภูมิคุ้มกันที่ช่วยให้ไทยผ่านพ้นความผันผวนต่างๆไปได้
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า ส่วนในระยะยาว ก็มีความท้าทายอยู่ไม่น้อยเช่นเดียวกัน เพราะบริบทของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไป เช่น การปรับเปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืน การปรับเปลี่ยนในเรื่องดิจิทัล ซึ่งเป็นกระแสของโลก ซึ่ง ธปท. ต้องดู และทำให้ภูมิทัศน์การเงินของไทยรองรับกระแสเหล่านั้นได้ ซึ่งในการทำหน้าที่ของ ธปท. นั้น แนวทางที่เราพยายามทำตลอดเวลา คือ การรักษาความสมดุลให้เหมาะสม เพราะไม่มีอะไรทำแบบสุดโต่งได้
ทั้งนี้ ในระยะสั้น โจทย์แรกของ ธปท. คือ ทำอย่างไรให้เราปรับนโยบายการเงินเข้าสู่สภาวะปกติ โดยเป้าหมายหลัก คือ ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยสิ่งที่จะมาทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไม่เกิดขึ้นต่อเนื่อง คือ การที่เงินเฟ้อขยับเพิ่มสูงขึ้น และไม่กลับสู่ระดับที่เหมาะสม ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่สามารถไปได้อย่างต่อเนื่อง หรือหากระบบการเงินหยุดชะงัก การปล่อยสินเชื่อไม่เดิน จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้
“เป้าหมายสำคัญของเราในการเผชิญความท้าทายของเศรษฐกิจ คือ ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งบทบาทของ ธปท. คือ การปรับนโยบายด้านการเงินให้เข้าสู่สภาวะปกติ จากช่วงวิกฤติที่จำเป็นต้องใช้ยาแรง แต่ตอนนี้บริบทเศรษฐกิจเริ่มเปลี่ยน จึงมีความจำเป็นต้องปรับนโยบายให้เหมาะสมกับบริบทใหม่ ซึ่งในฝั่งนโยบายการเงินสิ่งที่เราใช้ คือ การขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป และเหมาะสมกับสถานการณ์
อันนี้เป็นการปรับนโยบายที่แตกต่างจากในต่างประเทศ ซึ่งช่วงแรกมีการตั้งคำถามว่าสิ่งที่ ธปท.ทำ น้อยเกินไปหรือเปล่า ช้ากว่าชาวบ้านหรือเปล่า แต่สิ่งที่เราพยายามอธิบาย คือ ไม่ โดยสิ่งที่เราทำเหมาะสมกับบริบทของไทย เพราะสภาพเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจของไทย ไม่ได้เหมือนกับสถานการณ์ที่เห็นในต่างประเทศ ที่เขาจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยทีละเยอะ เร็วและแรง และของเราเอง เราขึ้นดอกเบี้ยก่อนที่เศรษฐกิจเราจะฟื้นด้วยซ้ำ และไม่ได้ช้า” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
@คาดเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมายภายในกลางปี 66
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า โจทย์หรือหน้าที่หลักของธนาคารกลาง คือ การรักษาเสถียรภาพด้านราคา ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่าได้ผล จากเดิมที่เงินเฟ้อที่เคยแตะจุดสูงสุดที่ 7.9% ก็ค่อยๆทยอยลดลงมาที่ 6.4% และ 6% และล่าสุดที่ออกมาไม่กี่วันนี้ก็ออกมาที่ 5.5% ซึ่งเทรนด์เงินเฟ้อค่อยๆลง เพราะเงินเฟ้อมาจากฝั่งอุปทานเป็นหลัก โดย ธปท.คาดว่าจะเห็นเงินเฟ้อกลับเข้ามาอยู่ในกรอบ 1-3% ภายในช่วงครึ่งหลังของปี 2566
ส่วนการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นโจทย์อันหนึ่งของ ธปท. จะพบว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยก็ยังเดินหน้าไปได้ ขณะที่โจทย์ในเรื่องการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน จะเห็นว่าระบบการเงินยังทำงานอยู่ สินเชื่อยังขยายตัวอยู่ และธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง ซึ่งสะท้อนว่าในภาพรวมยังดีอยู่ นอกจากนี้ ดำเนินนโยบายด้านต่างๆของ ธปท.จะต้องพิจารณาในเรื่องความสมดุลด้วย
“การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ต้องหาจุดสมดุลระหว่าง การดูเรื่องเงินเฟ้อ การดูเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และดูเรื่องเสถียรภาพการเงิน การทำอะไรที่ตอบโจทย์ด้านเดียว มักจะทำไม่ได้ ตอนแรกเงินเฟ้อสูง คนก็บอกว่าเราควรขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงกว่านี้ ถ้าเราทำอย่างนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็ถูกกระทบ หรือถ้าขึ้นดอกเบี้ยแรงเกินไป ภาระหนี้ก็จะสูงเกินไป ท้านที่สุดก็จะกระทบเสถียรภาพของหนี้ครัวเรือนและภาคการเงิน
ถ้าไม่ขึ้นดอกเบี้ยเลย แม้ว่าจะดูดี ไม่ทำให้ภาระหนี้ของครัวเรือนเพิ่มขึ้น แต่ถ้าทำอย่างนั้น ความเชื่อมั่นของคนเกี่ยวกับความใส่ใจของธนาคารกลางต่อเงินเฟ้อก็จะน้อยลง และโอกาสที่เงินเฟ้อจะไม่กลับลงสู่กรอบก็จะสูงขึ้น จึงเป็นที่มาของการดำเนินนโยบายของเรา ที่เป็นทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป พยายามที่จะหาจุดสมดุลในการดูแลเรื่องเงินเฟ้อและการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมทั้งเสถียรภาพระบบการเงิน” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
@ทำให้ ‘หนี้ครัวเรือน’ กลับสู่ระดับที่ยั่งยืน-ดูแลปล่อยสินเชื่อใหม่
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ในระยะยาว สิ่งที่ ธปท.ต้องทำเพื่อดูแลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง คือ ต้องทำให้หนี้ครัวเรือนอยู่ได้อย่างยั่งยืน เพราะวันนี้หนี้ครัวเรือนสูงกว่าที่เราอยากจะเห็น โดยล่าสุดหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 88-89% ต่อจีดีพี ซึ่งหากหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงอย่างนี้ จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีโอกาสสะดุด ขณะที่หลายประเทศมองว่าระดับหนี้ครัวเรือนน่าจะอยู่ที่ไม่เกิน 80% ต่อจีดีพี
“ถ้าเราปล่อยทุกอย่างเป็นไปตามยถากรรม โอกาสที่หนี้ครัวเรือนจะลงมาต่ำกว่า 80% คงมีไม่มาก จึงมีความจำเป็นต้องมีมาตรการ และออกนโยบาย เพื่อทำให้แนวโน้มหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีกลับลงมาสู่ระดับที่เราคิดว่าเหมาะสมกับความยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งอันแรกเลยต้องแก้หนี้ครบวงจร คือ ต้องทั้งก่อนการก่อหนี้ ระหว่างที่คนเป็นหนี้ และเมื่อคนเริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้ ต้องดูให้ครบวงจร
ขณะที่การแก้ปัญหาหนี้ ต้องทำให้ถูกหลักการ คือ ต้องไม่แก้ปัญหาในลักษณะปูพรม และไม่ควรเป็นมาตรการที่จะสร้างภาระเพิ่มให้กับลูกหนี้ เช่น การพักหนี้ ซึ่งอาจเหมาะสมในช่วงโควิดระยะสั้นๆ แต่ตอนนี้ไม่เหมาะสม เพราะการพักหนี้ไม่ได้ทำให้ภาระหนี้หายไป ดอกยังวิ่งอยู่ รวมทั้งอย่าไปทำอะไรที่จะลดโอกาสให้ลูกหนี้ในการเข้าถึงสินเชื่อของลูกหนี้ในอนาคต เช่น การทำอะไรที่ไปกระทบกับข้อมูลต่างๆ เช่น ลบประวัติเครดิตบูโรของลูกหนี้” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ ย้ำว่า สิ่งที่ ธปท.กำลังผลักดันอยู่ คือ การพยายามแก้ปัญหาหนี้เดิมและทำให้ครบวงจรมากขึ้น และในระยะข้างหน้าจะให้ความสำคัญตั้งแต่ก่อนก่อหนี้ เช่น การให้ความรู้ทางการเงิน นอกจากนี้ ธปท.ยังให้ความสำคัญกับการปล่อยหนี้ใหม่ คือ การให้สถาบันการเงินให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ ไม่สร้างภาระหนี้มากเกินไปให้กับลูกหนี้ แต่ทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลา อีกทั้งต้องหาจุดสมดุลระหว่างการให้คนเข้าหาสินเชื่อได้ และการไม่สร้างหนี้สูงจนเกินไป
“ถ้าอยากจะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ก็มีความจำเป็นต้องเข้ามาดูเรื่องการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ดีขึ้น แต่ทั้งหมดนี้ คงไม่เกิดขึ้นเร็ว ต้องใช้เวลา และจะแก้ในฝั่งหนี้อย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องดูในฝั่งรายได้ด้วย เพราะถ้ารายได้ไม่มา จะแก้หนี้ให้ตาย ก็ไม่จบไม่สิ้น” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
@ดึง ‘ภาคการเงิน’ สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า การที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องหนีไม่พ้นเรื่องความยั่งยืน เนื่องจากเป็นกระแสที่มาเร็วและแรง ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องสภาพภูมิอากาศที่จะเข้ามากระทบ แต่รวมถึงนโยบายด้านความยั่งยืนของประเทศต่างๆด้วย โดยโจทย์ของ ธปท. คือ จะทำอย่างไรให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนมีต้นทุนที่น้อยที่สุด เป็นการเปลี่ยนผ่านที่ไม่ส่งผลกระทบในวงกว้างและร้ายแรง เพื่อให้เศรษฐกิจโดยรวมเติบโตได้ และไม่ทิ้งคนไว้ข้างหลัง
“ธปท. ต้องทำให้ภาคการเงินปรับตัว โดยสิ่งที่ ธปท. อยากเห็น คือ ภาคการเงินต้องออกผลิตภัณฑ์และบริการที่เอื้อให้การเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้น และต้องนำประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมาผนวกกับการทำงานของสถาบันการเงิน ซึ่ง ธปท.ได้เข้าไปช่วย เช่น ทำให้นิยามชัดเจนมากขึ้นว่าอะไรเป็น Green มีข้อมูลที่จะนำมาใช้ได้ มีวิธีที่ทำให้สถาบันการเงินนำไปปฏิบัติได้จริง โดยเราทำงานร่วมกับสมาคมธนาคารไทยทำคู่มือให้สถาบันการเงินนำมาใช้ได้ชัดเจน” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
ส่วนกระแสสุดท้ายสำคัญ คือ การวางรากฐานเรื่องดิจิทัล โดยเป้าหมายของ ธปท. ในเรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจน ด้วยการใช้นวัตกรรมทางการเงินมาสร้างประโยชน์และโอกาสให้กับเศรษฐกิจโดยไม่ให้เกิดผลกระทบด้านเสถียรภาพ โดยปัจจุบันเรื่องของดิจิทัล ประเทศไทยไม่ได้ล้าหลังไปกว่าประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Mobile Banking, Cross Border QR Payment รวมถึงเรื่อง Central Bank Digital Currency (CBDC)
“ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะภาคการเงินมานาน การเงินดิจิทัลจะเป็นโอกาสที่จะทำให้ประชาชนหรือธุรกิจใหม่ๆ เข้าถึงภาคการเงินได้มากขึ้น ธปท. จึงเน้นเรื่อง Responsible Innovation หรือนวัตกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่นวัตกรรมที่สร้างความเสี่ยงจนเกินไปดังนั้นหน้าที่ของธปท. คือต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเรื่องการเงินดิจิทัลให้เกิดขึ้นให้ได้” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า สิ่งที่ ธปท. ต้องทำต่อคือ การต่อยอดระบบการชำระเงินหรือพร้อมเพย์ที่ปัจจุบันมีกว่า 70 ล้านบัญชี ไปสู่ Cross Border ซึ่งปัจจุบันมีกับหลายประเทศและเป็นประเทศแรกในโลกที่เชื่อมระบบ Fast Payment ข้ามประเทศกับสิงคโปร์ รวมถึงจะมีการพัฒนาระบบการชำระเงินไปสู่ภาคธุรกิจ หรือ PromptBiz ที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจทำธุรกรรมด้านการเงินได้อย่างครบวงจร ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อให้ภาคธุรกิจได้
ในส่วนของ Central Bank Digital Currency (CBDC) ธปท. ได้ทำในสองฝั่งคือ สำหรับการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) เพื่อให้การโอนเงินระหว่างประเทศมีต้นทุน ระยะเวลา และความเสี่ยงลดลง และสำหรับการทำธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน (Retail CBDC) ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาเพื่อให้เข้าใจความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งจะเอื้อในนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ธปท.ยังให้ความสำคัญในการเพิ่มผู้เล่นรายใหม่โดยใช้ Virtual Bank ซึ่งคาดว่าเกณฑ์จะออกได้ในเดือน ม.ค.2566 โดยจะมีการเปิดรับฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
“ธปท.พยายามทำเพื่อให้ภูมิทัศน์ทางการเงินใหม่ของไทยรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งทุกเรื่องที่ทำต้องให้ความสำคัญในเรื่องสมดุล เนื่องจากจะทำอะไรแบบสุดโต่งหรือให้ความสำคัญแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้ ธปท.ในฐานะที่ดูแลภาพรวมการเงินไทยมีความจำเป็นต้องหาความสมดุลเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจ การเงิน มีความยืดหยุ่น ทนทาน ปรับตัวได้ มีการต่อยอดนวัตกรรม รองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งความเสี่ยงและโอกาสที่เกิดขึ้นในโลกใหม่ได้” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
อ่านประกอบ :
กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ.นโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25%-จับตาเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอกว่าคาด
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำไม่จำเป็นต้อง‘รีบเร่ง’ขึ้นดอกเบี้ย-คาด‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบกลางปี 66
‘ผู้ว่าฯธปท.’ยันการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ช้าไป-ชี้โอกาสเกิด Stagflation เป็นไปได้น้อย
ผู้ว่าฯธปท. : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-ทุนสำรอง’
กลับสู่ภาวะปกติ!‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้ไม่ได้ขึ้น‘ดอกเบี้ย’ทีเดียวแล้วจบ-คาดGDPไตรมาส 2 โต 3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้บาทอ่อนสุดในรอบ 7 ปี เหตุดอลลาร์ฯแข็ง-ย้ำไม่จำเป็นต้องขึ้น‘ดบ.’ตามเฟด
เปิดรายงาน กนง. : ขึ้น'ดอกเบี้ย'ในช่วงเวลาเหมาะสม-'บาท'อ่อนสอดคล้องค่าเงินในภูมิภาค
ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ : ‘ความเสี่ยงไปอยู่ที่การดูแลเงินเฟ้อ-ขึ้นดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่จำเป็น’
น้ำมัน-อาหารแพง! 'กนง.'ปรับเป้าเงินเฟ้อฯคาดพุ่งแตะ 4.9%-หั่นจีดีพีปีนี้เหลือโต 3.2%